เมืองเจิ้งโจว (郑州市) เป็นเมืองเอกและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของ
มณฑลเหอหนาน (河南省) เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของทั้งมณฑล
อีกทั้งมณฑลเหอหนานก็เป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ค่อนข้างจะใจกลางประเทศจีน เป็นศูนย์กลางการปกครองของจีนมาช้านาน เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมาหลายยุคหลายสมัย เคยเป็นมณฑลที่ประชากรมากที่สุดในจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
ดังนั้นเมืองเจิ้งโจวจึงมีความสำคัญมาก ในฐานะประตูสู่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายนั้น
แผนที่ สีแดงในแผนที่ด้านบนแสดงตำแหน่งมณฑลเหอหนานในประเทศจีน สีเหลืองในแผนที่ด้านล่างแสดงตำแหน่งเมืองเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน ในมณฑลเหอหนานยังมีเมืองอื่นที่เป็นที่รู้จักมาก เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
เช่น เมืองเหล่านี้ซึ่งเคยเป็นถึงเมืองหลวงเก่าในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน
-
ไคเฟิง (开封) หรือไคฟง เมืองหลวงหลายสมัย เช่นยุคราชวงศ์ซ่ง เป็นที่ทำงานของเปาบุ้นจิ้น
-
ลั่วหยาง (洛阳) หรือเมืองลกเอี๋ยงในสามก๊ก เป็นเมืองหลวงหลายสมัย เช่นสมันฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก
-
สวี่ชาง (许昌) หรือเมืองฮูโต๋ในสามก๊ก เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของวุยก๊ก ตั้งโดยโจโฉ
-
อานหยาง (安阳) เมืองหลวงสมัยราชวงศ์ซาง เหลือซากเมืองขนาดใหญ่ เป็นมรดกโลก
รวมถึงเมืองเจิ้งโจวเองก็พบหลักฐานว่าเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อนด้วยเช่นกัน โดยเป็นในช่วงเวลาหนึ่งในยุคราชวงศ์ซาง มีการค้นพบซากเมืองเก่าสมัยนั้นอยู่กลางเมือง
และหากดูตำแหน่งของทั้ง ๔ เมืองนี้ จะพบว่าตั้งอยู่ในทิศเหนือใต้ออกตกของเจิ้งโจว โดยมีเจิ้งโจวเป็นศูนย์กลางพอดี
|
อานหยาง 安阳 ān yáng |
|
ลั่วหยาง 洛阳 luò yáng |
เจิ้งโจว 郑州 zhèng zhōu |
ไคเฟิง 开封 kāi fēng |
|
สวี่ชาง 许昌 xǔ chāng |
|
อย่างไรก็ตาม เจิ้งโจวก็ไม่ใช่เมืองที่เป็นที่รู้จักดีมากถึงขนาดนั้น เพราะพูดถึงเมืองขนาดใหญ่ในจีนก็มีอยู่มากมาย เจิ้งโจวไม่ได้มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ และหากพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวมณฑลเหอหนานแล้ว คนมักจะนึกเมืองไคเฟิงและลั่วหยางมากกว่าเจิ้งโจว เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากกว่า และเป็นเมืองขนาดใหญ่มาตลอดตั้งแต่อดีตนานแล้ว
ไคเฟิงเคยเป็นเมืองหลวงในหลายสมัย ที่สำคัญที่สุดคือในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, 960-1127) ในยุคนั้นถือว่าเป็นเมืองใหญ่เจริญรุ่งเรืองมาก แม้หลังจากที่ไคเฟิงจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงอีกเลยก็ยังถือเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญมาอีกเป็นเวลานาน
ในขณะที่เจิ้งโจวนั้นเดิมทีเป็นเพียงเมืองเล็กมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นเมืองใหญ่อย่างไคเฟิงหรือลั่วหยาง ไม่เคยมีแววว่าจะได้กลายมาเป็นเมืองใหญ่ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกแบบนี้ แต่เพิ่งถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น ช้ากว่าเซี่ยงไฮ้เสียอีก
ดังนั้นเมืองเจิ้งโจวจึงเพิ่งเป็นที่รู้จักดีและมีความสำคัญมาแค่ร้อยกว่าปีเท่านั้น เทียบความสำคัญแล้วจึงน้อยกว่าลั่วหยางหรือไคเฟิงมาก
แต่ว่าสาเหตุที่ทำให้เจิ้งโจวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในมณฑล และกลายมาเป็นเมืองเอกในที่สุดนั้น ก็คือการปรากฏตัวของเทคโนโลยีที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็คือรถไฟนั่นเอง
ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็คือปลายยุคราชวงศ์ชิง (清, 1644-1911) รถไฟได้เริ่มเข้ามาในจีน มีการริเริ่มสร้างทางรถไฟเส้นทางสายหลักขึ้นมาเรื่อยๆ
หนึ่งในสายสำคัญที่ถูกสร้างในช่วงนั้นก็คือ ทางรถไฟระหว่าง
ปักกิ่ง (北京) ซึ่งเป็นเมืองหลวง กับเมืองสำคัญในภาคกลางอย่าง
ฮ่านโข่ว (汉口) เส้นทางนี้มีชื่อเรียกว่า
จิงฮ่านเถี่ยลู่ (京汉铁路) ระหว่างเส้นทางสายนี้ต้องผ่านมณฑลเหอหนาน และจุดที่ถูกเลือกให้ทางรถไฟลากผ่านก็ไม่ใช่ทั้งเมืองสำคัญไคเฟิงหรือลั่วหยาง แต่เป็นเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองเมืองนี้พอดี คือเจิ้งโจวนั่นเอง
ทางรถไฟเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสำคัญของเมือง เมืองที่มีทางรถไฟลากผ่านเป็นเมืองที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 20
การก่อสร้างทางรถไฟระหว่างปักกิ่งและอู่ฮ่านสายนี้เริ่มในปี 1897 และสร้างเสร็จในปี 1906
และในเวลาต่อมาทางรถไฟสายนี้ได้ขยายต่อไปถึง
เมืองกว่างโจว (广州市) ในปี 1957 ยิ่งเพิ่มความสำคัญให้เส้นทางรถไฟสายนี้
ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองไคเฟิงกับลั่วหยาง โดยผ่านเมืองเจิ้งโจว ซึ่งเริ่มสร้างในปี 1905 และสร้างเสร็จในปี 1909
อีกทั้งหลังจากนั้นทางรถไฟระหว่างลั่วหยางและไคเฟิงได้ถูกขยายต่อไปอีกจนตะวันออกสุดไปจบที่ริมฝั่งทะเลที่
เมืองเหลียนหยวินก่าง (连云港市) มณฑลเจียงซู (江苏省) และตะวันตกจรด
เมืองหลานโจว (兰州市) เมืองเอกของ
มณฑลกานซู่ (甘肃省) มณฑลที่อยู่ห่างไกลทางตะวันตก
เส้นทางนี้โดยรวมแล้วถูกเรียกว่า
หลงไห่เถี่ยลู่ (陇海铁路) โดย "หล่ง" (
陇) เป็นชื่อย่อเดิมของมณฑลกานซู่ ส่วน "ไห่" (
海) ย่อมาจาก
ไห่โจว (海州) ซึ่งเป็นชื่อเขตการปกครองบริเวณเมืองเหลียนหยวินก่าง ในยุคราชวงศ์ชิง
ด้วยความที่เจิ้งโจวจึงเป็นจุดตัดระหว่างทางรถไฟสำคัญ ๒ สายนี้ จึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
แผนที่มณฑลเหอหนาน เส้นแดงคือทางรถไฟ ๒ สายดังที่กล่าวไป จุดตัดระหว่างทั้ง ๒ สายนี้ก็คือเจิ้งโจว อีกทั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 รถไฟความเร็วสูงได้ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางรถไฟระหว่างปักกิ่งและกว่างโจวถูกทำให้เป็นรางสำหรับรถไฟความเร็วสูง ส่วนเส้นทางระหว่างหลานโจวและเหลียนหยวินก่างนั้นแม้ว่าจะยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นความเร็วสูงทั้งหมด แต่บริเวณช่วงตรงกลาง คือแถบมณฑลเหอหนานได้เปลี่ยนเป็นความเร็วสูงหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่เจิ้งโจวถูกเลือกให้เป็นเมืองทางผ่านของทางรถไฟระหว่างปักกิ่งกับฮ่านโข่วนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องของโชคในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง
แต่ไหนแต่ไรการเลือกเส้นทางรถไฟนั้นมักจะเลือกลากผ่านเมืองสำคัญเป็นหลัก ซึ่งในสมัยนั้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลเหอหนานก็คือเมืองไคเฟิง ดังนั้นเดิมทีเส้นทางควรจะถูกเลือกให้ตัดผ่านเมืองไคเฟิง และเมืองไคเฟิงน่าจะกลายเป็นเมืองจุดตัดทางรถไฟที่สำคัญแทน
แต่ปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินให้ทางรถไฟต้องไปตัดผ่านเจิ้งโจวแทนที่จะไปผ่านไคเฟิงนั้น ก็คือแม่น้ำ
หวงเหอ (黄河) หรือ
แม่น้ำเหลือง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายสำคัญของจีนมาแต่โบราณนั่นเอง
แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านทางเหนือของเมืองเจิ้งโจวและไคเฟิง และเนื่องจากมีความกว้างมากจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างทางรถไฟ
สะพานข้ามทางรถไฟขนาดใหญ่จำเป็นต้องถูกสร้างเพื่อให้ทางรถไฟสามารถผ่านไปได้
แผนที่เมืองไคเฟิง แสดงตำแหน่งของแม่น้ำหวงเหออยู่ทางเหนือ แผนที่เมืองเจิ้งโจว แม่น้ำหวงเหออยู่ทางเหนือเช่นกัน ผู้ที่เป็นคนตัดสินใจคือขุนนางคนสำคัญปลายยุคราชวงศ์ชิง จางจือต้ง (
张之洞, 1837-1909)
รูปจางจือต้ง หลังจากพิจารณาปัจจัยต่างๆดูแล้วเขาก็พบว่าแม่น้ำในช่วงที่ตัดผ่านเจิ้งโจวนั้นเหมาะที่จะสร้างสะพานมากกว่าช่วงไคเฟิง ดังนั้นจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางนั้น
แล้วสะพานข้ามแม่น้ำหวงเหอแห่งแรกที่เจิ้งโจว สะพาน
ผิงฮ่านเถี่ยลู่เจิ้งโจวหวงเหอเฉียว (平汉铁路郑州黄河桥) ยาว ๓๐๑๕ เมตร ก็สร้างเสร็จในปี 1905
ด้วยเหตุนี้ไคเฟิงจึงสูญเสียโอกาสในการพัฒนา เปิดโอกาสให้เจิ้งโจวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของมณฑลแทน
แม่น้ำสายใหญ่สายนี้มีผลต่อประวัติศาสตร์ของจีนมาช้านาน และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่มันตัดสินชะตาให้กับเมืองเจิ้งโจวและไคเฟิง
แต่ไหนแต่ไรไคเฟิงเป็นเมืองหลวงได้ก็เพราะตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เปรียบเพราะติดแม่น้ำหวงเหอ แต่สุดท้ายความยิ่งใหญ่ของไคเฟิงก็ต้องสิ้นสุดลงเพราะหวงเหออีก
แต่นอกจากนี้ มีอีกข้อมูลที่บอกว่าเหตุผลที่ทำให้เจิ้งโจวถูกเลือกเป็นทางผ่านรถไฟแทนนั้นมีส่วนมาจากหยวนซื่อไข่ (
袁世凯, 1859-1916)
รูปหยวนซื่อไข่ หยวนซื่อไข่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นผู้นำทหารที่มีส่วนสำคัญในการล้มราชวงศ์ชิงและพาจีนก้าวสู่ยุคใหม่
ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง หยวนซื่อไข่ก็ถือได้ว่าเป็นขุนนางคนสำคัญที่มีตำแหน่งใหญ่โต บ้านเกิดเขาอยู่ที่
อำเภอเซี่ยงเฉิง (项城县) ใกล้
เมืองโจวโข่ว (周口市) ทางใต้ของเมืองไคเฟิง
ว่ากันว่าในช่วงแรกที่มีแผนการสร้างทางรถไฟจากปักกิ่งไปฮ่านโข่วนั้นเดิมทีมีแผนจะลากเส้นทางผ่านเมืองไคเฟิง ซึ่งเมื่อผ่านตามเส้นทางนี้แล้วก็จะต้องผ่านไปถึงเมืองโจวโข่ว ซึ่งเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองในสมัยนั้น
แต่ว่าในปี 1900 เกิด
กบฏนักมวย อี้เหอถวาน (义和团) ขึ้น ขณะนั้นรถไฟบางสายแถวๆปักกิ่งได้สร้างเสร็จและเริ่มใช้งานแล้ว และพวกกบฏได้ใช้เส้นทางรถไฟเป็นที่ก่อเหตุโจมตี
เหตุการณ์นี้ทำให้หยวนซื่อไข่ฝังใจว่าทางรถไฟจะกลายเป็นตัวชักศึกเข้าบ้าน เมื่อรู้ว่าแถวโจวโข่วซึ่งเป็นบ้านเกิดเขาจะมีทางรถไฟผ่านจึงรู้สึกกลัวและสั่งให้เปลี่ยนเส้นทาง ไม่ให้ผ่านไคเฟิง แต่ให้เลื่อนไปทางตะวันออก ผ่านเมืองเจิ้งโจวแทน เมื่อไม่ผ่านไคเฟิงก็จะไม่ผ่านโขวโข่วซึ่งอยู่ทางใต้ด้วย
ดังนั้นเจิ้งโจวถูกเลือกเป็นทางผ่านทางรถไฟในช่วงที่ผ่านแม่น้ำหวงเหอ ไม่ได้ผ่านทั้งไคเฟิงและโจวโข่ว ทำให้ทั้ง ๒ เมืองนี้ไม่ได้เติบโตขึ้นมากนัก
แผนที่มณฑลเหอหนาน มีแม่น้ำหวงเหอตัดผ่าน เขตที่ตัวหนังสือเป็นสีฟ้าอยู่ติดแม่น้ำคือเจิ้งโจว ทางซ้ายคือลั่วหยาง ทางขวาคือไคเฟิง ส่วนใต้ไคเฟิงคือโจวโข่ว สรุปโดยรวมแล้วก็คือ รถไฟเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจิ้งโจวเติบโตและกลายเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญในที่สุด
ไม่เพียงแต่เจิ้งโจว แต่อีกหลายเมืองที่เป็นจุดตัดของทางรถไฟก็เติบโตเป็นเมืองที่สำคัญเช่นกัน
ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เรารู้ว่าการคมนาคมนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาของเมืองมากแค่ไหน
ปัจจุบันนอกจากความเป็นศูนย์กลางทางรถไฟแล้ว เจิ้งโจวยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศที่สำคัญแห่งหนึ่งด้วย
สนามบินนานาชาติเจิ้งโจวซินเจิ้ง (郑州新郑国际机场) ของเมืองเจิ้งโจวเป็นสนามบินขนาดใหญ่ที่มีเที่ยวบินมากมายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความที่ได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งจึงเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องบินที่สำคัญด้วย
และด้วยความที่เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังล้อมรอบไปด้วยเมืองอื่นๆที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นกัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังด้วย จึงทำให้ยิ่งมีความสำคัญ
==อ่านเพิ่มเติม==
ผู้ที่สนใจอยากรู้เพิ่มเติมสามารถอ่านบทความเหล่านี้ในบล็อก
- เรื่องของหยวนซื่อไข่และสุสานที่เมืองอานหยาง
https://phyblas.hinaboshi.com/20120907 - มองประวัติศาสตร์รถไฟจีนผ่านพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนที่ปักกิ่ง
https://phyblas.hinaboshi.com/20150330 - บันทึกการเที่ยวลั่วหยาง
https://phyblas.hinaboshi.com/20120730 - บันทึกการชมมรดกโลก ณ เมืองหลวงโบราณอานหยาง ลานจัดแสดงซากโบราณสมัยราชวงศ์ซาง
https://phyblas.hinaboshi.com/20120915 - ชมวัดขงจื๊อและซากกำแพงเมืองเก่าสมัยราชวงศ์ซางในเจิ้งโจว
https://phyblas.hinaboshi.com/20190825 ==
อ้างอิง==