φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



ความเป็นมาของเมืองเจิ้งโจว เมืองเอกแห่งมณฑลเหอหนาน
เขียนเมื่อ 2019/08/24 17:39
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
เมืองเจิ้งโจว (郑州市zhèng zhōu shì) เป็นเมืองเอกและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลเหอหนาน (河南省hé nán shěng) เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของทั้งมณฑล

อีกทั้งมณฑลเหอหนานก็เป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ค่อนข้างจะใจกลางประเทศจีน เป็นศูนย์กลางการปกครองของจีนมาช้านาน เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงมาหลายยุคหลายสมัย เคยเป็นมณฑลที่ประชากรมากที่สุดในจีนในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

ดังนั้นเมืองเจิ้งโจวจึงมีความสำคัญมาก ในฐานะประตูสู่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายนั้น

แผนที่ สีแดงในแผนที่ด้านบนแสดงตำแหน่งมณฑลเหอหนานในประเทศจีน สีเหลืองในแผนที่ด้านล่างแสดงตำแหน่งเมืองเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน



ในมณฑลเหอหนานยังมีเมืองอื่นที่เป็นที่รู้จักมาก เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์

เช่น เมืองเหล่านี้ซึ่งเคยเป็นถึงเมืองหลวงเก่าในช่วงเวลาหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน
- ไคเฟิง (开封kāi fēng) หรือไคฟง เมืองหลวงหลายสมัย เช่นยุคราชวงศ์ซ่ง เป็นที่ทำงานของเปาบุ้นจิ้น
- ลั่วหยาง (洛阳luò yáng) หรือเมืองลกเอี๋ยงในสามก๊ก เป็นเมืองหลวงหลายสมัย เช่นสมันฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก
- สวี่ชาง (许昌xǔ chāng) หรือเมืองฮูโต๋ในสามก๊ก เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของวุยก๊ก ตั้งโดยโจโฉ
- อานหยาง (安阳ān yáng) เมืองหลวงสมัยราชวงศ์ซาง เหลือซากเมืองขนาดใหญ่ เป็นมรดกโลก

รวมถึงเมืองเจิ้งโจวเองก็พบหลักฐานว่าเคยเป็นเมืองหลวงมาก่อนด้วยเช่นกัน โดยเป็นในช่วงเวลาหนึ่งในยุคราชวงศ์ซาง มีการค้นพบซากเมืองเก่าสมัยนั้นอยู่กลางเมือง

และหากดูตำแหน่งของทั้ง ๔ เมืองนี้ จะพบว่าตั้งอยู่ในทิศเหนือใต้ออกตกของเจิ้งโจว โดยมีเจิ้งโจวเป็นศูนย์กลางพอดี

  อานหยาง
安阳
ān yáng
 
ลั่วหยาง
洛阳
luò yáng
เจิ้งโจว
郑州
zhèng zhōu
ไคเฟิง
开封
kāi fēng
  สวี่ชาง
许昌
xǔ chāng
 


อย่างไรก็ตาม เจิ้งโจวก็ไม่ใช่เมืองที่เป็นที่รู้จักดีมากถึงขนาดนั้น เพราะพูดถึงเมืองขนาดใหญ่ในจีนก็มีอยู่มากมาย เจิ้งโจวไม่ได้มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ และหากพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวมณฑลเหอหนานแล้ว คนมักจะนึกเมืองไคเฟิงและลั่วหยางมากกว่าเจิ้งโจว เพราะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากกว่า และเป็นเมืองขนาดใหญ่มาตลอดตั้งแต่อดีตนานแล้ว

ไคเฟิงเคยเป็นเมืองหลวงในหลายสมัย ที่สำคัญที่สุดคือในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, 960-1127) ในยุคนั้นถือว่าเป็นเมืองใหญ่เจริญรุ่งเรืองมาก แม้หลังจากที่ไคเฟิงจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงอีกเลยก็ยังถือเป็นเมืองใหญ่ที่สำคัญมาอีกเป็นเวลานาน

ในขณะที่เจิ้งโจวนั้นเดิมทีเป็นเพียงเมืองเล็กมาโดยตลอด ไม่ได้เป็นเมืองใหญ่อย่างไคเฟิงหรือลั่วหยาง ไม่เคยมีแววว่าจะได้กลายมาเป็นเมืองใหญ่ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกแบบนี้ แต่เพิ่งถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น ช้ากว่าเซี่ยงไฮ้เสียอีก

ดังนั้นเมืองเจิ้งโจวจึงเพิ่งเป็นที่รู้จักดีและมีความสำคัญมาแค่ร้อยกว่าปีเท่านั้น เทียบความสำคัญแล้วจึงน้อยกว่าลั่วหยางหรือไคเฟิงมาก

แต่ว่าสาเหตุที่ทำให้เจิ้งโจวเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในมณฑล และกลายมาเป็นเมืองเอกในที่สุดนั้น ก็คือการปรากฏตัวของเทคโนโลยีที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในยุคศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็คือรถไฟนั่นเอง

ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็คือปลายยุคราชวงศ์ชิง (清, 1644-1911) รถไฟได้เริ่มเข้ามาในจีน มีการริเริ่มสร้างทางรถไฟเส้นทางสายหลักขึ้นมาเรื่อยๆ

หนึ่งในสายสำคัญที่ถูกสร้างในช่วงนั้นก็คือ ทางรถไฟระหว่างปักกิ่ง (北京běi jīng) ซึ่งเป็นเมืองหลวง กับเมืองสำคัญในภาคกลางอย่างฮ่านโข่ว (汉口hàn kǒu) เส้นทางนี้มีชื่อเรียกว่า จิงฮ่านเถี่ยลู่ (京汉铁路jīng hàn tiě lù)

ระหว่างเส้นทางสายนี้ต้องผ่านมณฑลเหอหนาน และจุดที่ถูกเลือกให้ทางรถไฟลากผ่านก็ไม่ใช่ทั้งเมืองสำคัญไคเฟิงหรือลั่วหยาง แต่เป็นเมืองที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองเมืองนี้พอดี คือเจิ้งโจวนั่นเอง

ทางรถไฟเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสำคัญของเมือง เมืองที่มีทางรถไฟลากผ่านเป็นเมืองที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 20

การก่อสร้างทางรถไฟระหว่างปักกิ่งและอู่ฮ่านสายนี้เริ่มในปี 1897 และสร้างเสร็จในปี 1906

และในเวลาต่อมาทางรถไฟสายนี้ได้ขยายต่อไปถึงเมืองกว่างโจว (广州市guǎng zhōu shì) ในปี 1957 ยิ่งเพิ่มความสำคัญให้เส้นทางรถไฟสายนี้

ในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างเมืองไคเฟิงกับลั่วหยาง โดยผ่านเมืองเจิ้งโจว ซึ่งเริ่มสร้างในปี 1905 และสร้างเสร็จในปี 1909

อีกทั้งหลังจากนั้นทางรถไฟระหว่างลั่วหยางและไคเฟิงได้ถูกขยายต่อไปอีกจนตะวันออกสุดไปจบที่ริมฝั่งทะเลที่เมืองเหลียนหยวินก่าง (连云港市lián yún gǎng shì) มณฑลเจียงซู (江苏省jiāng sū shěng) และตะวันตกจรดเมืองหลานโจว (兰州市lán zhōu shì) เมืองเอกของมณฑลกานซู่ (甘肃省gān sù shěng) มณฑลที่อยู่ห่างไกลทางตะวันตก

เส้นทางนี้โดยรวมแล้วถูกเรียกว่า หลงไห่เถี่ยลู่ (陇海铁路lǒng hǎi tiě lù) โดย "หล่ง" (lǒng) เป็นชื่อย่อเดิมของมณฑลกานซู่ ส่วน "ไห่" (hǎi) ย่อมาจากไห่โจว (海州hǎi zhōu) ซึ่งเป็นชื่อเขตการปกครองบริเวณเมืองเหลียนหยวินก่าง ในยุคราชวงศ์ชิง

ด้วยความที่เจิ้งโจวจึงเป็นจุดตัดระหว่างทางรถไฟสำคัญ ๒ สายนี้ จึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

แผนที่มณฑลเหอหนาน เส้นแดงคือทางรถไฟ ๒ สายดังที่กล่าวไป จุดตัดระหว่างทั้ง ๒ สายนี้ก็คือเจิ้งโจว



อีกทั้งในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 รถไฟความเร็วสูงได้ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางรถไฟระหว่างปักกิ่งและกว่างโจวถูกทำให้เป็นรางสำหรับรถไฟความเร็วสูง ส่วนเส้นทางระหว่างหลานโจวและเหลียนหยวินก่างนั้นแม้ว่าจะยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นความเร็วสูงทั้งหมด แต่บริเวณช่วงตรงกลาง คือแถบมณฑลเหอหนานได้เปลี่ยนเป็นความเร็วสูงหมดแล้ว



อย่างไรก็ตาม การที่เจิ้งโจวถูกเลือกให้เป็นเมืองทางผ่านของทางรถไฟระหว่างปักกิ่งกับฮ่านโข่วนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องของโชคในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง

แต่ไหนแต่ไรการเลือกเส้นทางรถไฟนั้นมักจะเลือกลากผ่านเมืองสำคัญเป็นหลัก ซึ่งในสมัยนั้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลเหอหนานก็คือเมืองไคเฟิง ดังนั้นเดิมทีเส้นทางควรจะถูกเลือกให้ตัดผ่านเมืองไคเฟิง และเมืองไคเฟิงน่าจะกลายเป็นเมืองจุดตัดทางรถไฟที่สำคัญแทน

แต่ปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินให้ทางรถไฟต้องไปตัดผ่านเจิ้งโจวแทนที่จะไปผ่านไคเฟิงนั้น ก็คือแม่น้ำหวงเหอ (黄河huáng hé) หรือแม่น้ำเหลือง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่สายสำคัญของจีนมาแต่โบราณนั่นเอง

แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านทางเหนือของเมืองเจิ้งโจวและไคเฟิง และเนื่องจากมีความกว้างมากจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างทางรถไฟ

สะพานข้ามทางรถไฟขนาดใหญ่จำเป็นต้องถูกสร้างเพื่อให้ทางรถไฟสามารถผ่านไปได้

แผนที่เมืองไคเฟิง แสดงตำแหน่งของแม่น้ำหวงเหออยู่ทางเหนือ



แผนที่เมืองเจิ้งโจว แม่น้ำหวงเหออยู่ทางเหนือเช่นกัน



ผู้ที่เป็นคนตัดสินใจคือขุนนางคนสำคัญปลายยุคราชวงศ์ชิง จางจือต้ง (张之洞zhāng zhī dòng, 1837-1909)

รูปจางจือต้ง



หลังจากพิจารณาปัจจัยต่างๆดูแล้วเขาก็พบว่าแม่น้ำในช่วงที่ตัดผ่านเจิ้งโจวนั้นเหมาะที่จะสร้างสะพานมากกว่าช่วงไคเฟิง ดังนั้นจึงตัดสินใจเลือกเส้นทางนั้น

แล้วสะพานข้ามแม่น้ำหวงเหอแห่งแรกที่เจิ้งโจว สะพานผิงฮ่านเถี่ยลู่เจิ้งโจวหวงเหอเฉียว (平汉铁路郑州黄河桥píng hàn tiě lù zhèng zhōu huáng hé qiáo) ยาว ๓๐๑๕ เมตร ก็สร้างเสร็จในปี 1905

ด้วยเหตุนี้ไคเฟิงจึงสูญเสียโอกาสในการพัฒนา เปิดโอกาสให้เจิ้งโจวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของมณฑลแทน

แม่น้ำสายใหญ่สายนี้มีผลต่อประวัติศาสตร์ของจีนมาช้านาน และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่มันตัดสินชะตาให้กับเมืองเจิ้งโจวและไคเฟิง

แต่ไหนแต่ไรไคเฟิงเป็นเมืองหลวงได้ก็เพราะตำแหน่งที่ตั้งที่ได้เปรียบเพราะติดแม่น้ำหวงเหอ แต่สุดท้ายความยิ่งใหญ่ของไคเฟิงก็ต้องสิ้นสุดลงเพราะหวงเหออีก



แต่นอกจากนี้ มีอีกข้อมูลที่บอกว่าเหตุผลที่ทำให้เจิ้งโจวถูกเลือกเป็นทางผ่านรถไฟแทนนั้นมีส่วนมาจากหยวนซื่อไข่ (袁世凯yuán shì kǎi, 1859-1916)

รูปหยวนซื่อไข่



หยวนซื่อไข่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์จีนที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นผู้นำทหารที่มีส่วนสำคัญในการล้มราชวงศ์ชิงและพาจีนก้าวสู่ยุคใหม่

ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง หยวนซื่อไข่ก็ถือได้ว่าเป็นขุนนางคนสำคัญที่มีตำแหน่งใหญ่โต บ้านเกิดเขาอยู่ที่อำเภอเซี่ยงเฉิง (项城县xiàng chéng xiàn) ใกล้เมืองโจวโข่ว (周口市zhōu kǒu shì) ทางใต้ของเมืองไคเฟิง

ว่ากันว่าในช่วงแรกที่มีแผนการสร้างทางรถไฟจากปักกิ่งไปฮ่านโข่วนั้นเดิมทีมีแผนจะลากเส้นทางผ่านเมืองไคเฟิง ซึ่งเมื่อผ่านตามเส้นทางนี้แล้วก็จะต้องผ่านไปถึงเมืองโจวโข่ว ซึ่งเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองในสมัยนั้น

แต่ว่าในปี 1900 เกิดกบฏนักมวย อี้เหอถวาน (义和团yì hé tuán) ขึ้น ขณะนั้นรถไฟบางสายแถวๆปักกิ่งได้สร้างเสร็จและเริ่มใช้งานแล้ว และพวกกบฏได้ใช้เส้นทางรถไฟเป็นที่ก่อเหตุโจมตี

เหตุการณ์นี้ทำให้หยวนซื่อไข่ฝังใจว่าทางรถไฟจะกลายเป็นตัวชักศึกเข้าบ้าน เมื่อรู้ว่าแถวโจวโข่วซึ่งเป็นบ้านเกิดเขาจะมีทางรถไฟผ่านจึงรู้สึกกลัวและสั่งให้เปลี่ยนเส้นทาง ไม่ให้ผ่านไคเฟิง แต่ให้เลื่อนไปทางตะวันออก ผ่านเมืองเจิ้งโจวแทน เมื่อไม่ผ่านไคเฟิงก็จะไม่ผ่านโขวโข่วซึ่งอยู่ทางใต้ด้วย

ดังนั้นเจิ้งโจวถูกเลือกเป็นทางผ่านทางรถไฟในช่วงที่ผ่านแม่น้ำหวงเหอ ไม่ได้ผ่านทั้งไคเฟิงและโจวโข่ว ทำให้ทั้ง ๒ เมืองนี้ไม่ได้เติบโตขึ้นมากนัก

แผนที่มณฑลเหอหนาน มีแม่น้ำหวงเหอตัดผ่าน เขตที่ตัวหนังสือเป็นสีฟ้าอยู่ติดแม่น้ำคือเจิ้งโจว ทางซ้ายคือลั่วหยาง ทางขวาคือไคเฟิง ส่วนใต้ไคเฟิงคือโจวโข่ว





สรุปโดยรวมแล้วก็คือ รถไฟเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจิ้งโจวเติบโตและกลายเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญในที่สุด

ไม่เพียงแต่เจิ้งโจว แต่อีกหลายเมืองที่เป็นจุดตัดของทางรถไฟก็เติบโตเป็นเมืองที่สำคัญเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เรารู้ว่าการคมนาคมนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาของเมืองมากแค่ไหน

ปัจจุบันนอกจากความเป็นศูนย์กลางทางรถไฟแล้ว เจิ้งโจวยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศที่สำคัญแห่งหนึ่งด้วย

สนามบินนานาชาติเจิ้งโจวซินเจิ้ง (郑州新郑国际机场) ของเมืองเจิ้งโจวเป็นสนามบินขนาดใหญ่ที่มีเที่ยวบินมากมายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยความที่ได้เปรียบเรื่องตำแหน่งที่ตั้งจึงเป็นจุดเปลี่ยนเครื่องบินที่สำคัญด้วย

และด้วยความที่เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังล้อมรอบไปด้วยเมืองอื่นๆที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นกัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังด้วย จึงทำให้ยิ่งมีความสำคัญ



==อ่านเพิ่มเติม==

ผู้ที่สนใจอยากรู้เพิ่มเติมสามารถอ่านบทความเหล่านี้ในบล็อก

- เรื่องของหยวนซื่อไข่และสุสานที่เมืองอานหยาง
https://phyblas.hinaboshi.com/20120907

- มองประวัติศาสตร์รถไฟจีนผ่านพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนที่ปักกิ่ง
https://phyblas.hinaboshi.com/20150330

- บันทึกการเที่ยวลั่วหยาง
https://phyblas.hinaboshi.com/20120730

- บันทึกการชมมรดกโลก ณ เมืองหลวงโบราณอานหยาง ลานจัดแสดงซากโบราณสมัยราชวงศ์ซาง
https://phyblas.hinaboshi.com/20120915

- ชมวัดขงจื๊อและซากกำแพงเมืองเก่าสมัยราชวงศ์ซางในเจิ้งโจว
https://phyblas.hinaboshi.com/20190825


==อ้างอิง==


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน
-- ประเทศจีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ