φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ฟังบรรยายจากนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยนาโงยะ
เขียนเมื่อ 2015/02/02 02:22
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 31 ม.ค. 2015

ช่วงปิดเทอมนี้หลังจากที่กลับไทยมาก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำวิทยานิพนธ์ ยุ่งอยู่พอสมควร แต่วันก่อนพอดีไปเจอข่าวเรื่องกิจกรรมที่น่าสนใจอันหนึ่งที่จัดขึ้นโดยสำนักงานมหาวิทยาลัยนาโงยะในกรุงเทพฯ http://www.vcharkarn.com/service/501568

ซึ่งในกิจกรรมนี้ได้มีการเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนาโงยะซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ถึง ๒ ท่าน คือ อ. มาสึกาวะ โทชิฮิเดะ (益川敏英) และ อ. อามาโนะ ฮิโรชิ (天野浩)

เลยคิดว่านี่เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะได้เจอกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบล

อ. อามาโนะ ฮิโรชิ ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2014 แล้วร่วมกับ อ. อากาซากิ อิซามุ (赤崎勇) และ อ. นากามุระ ชูจิ (中村修二) จากผลงานการสร้างไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน

อ. มาสึกาวะ โทชิฮิเดะ ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2008 ร่วมกับ อ. โคบายาชิ มาโกโตะ (小林誠) และ อ. นัมบุ โยวอิจิโรว (南部陽一郎) จากผลงานวิจัยเรื่องอนุภาคมูลฐาน

ส่วนสำคัญที่สุดของงานนี้คือการได้ฟังบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทั้ง ๒ ท่านซึ่งต่างก็ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาโงยะ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการฟังการแนะนำมหาวิทยาลัยนาโงยะ นอกจากนี้ก็มีเรื่องเล่าจากรุ่นพี่คนไทยที่เป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนาโงยะด้วย



งานจัดขึ้นที่คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มเวลาบ่ายโมงที่หอประชุม แต่ก่อนหน้านั้นด้านนอกมีกิจกรรมเสริมเล็กๆน้อยๆเช่นการพับกระดาษ (โอริงามิ) หรือการจัดดอกไม้ (อิเกบานะ) แบบญี่ปุ่น แล้วก็มีพัดให้เขียนชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วย

งานเริ่มต้นด้วยการจัดแสดงดนตรีญี่ปุ่นสั้นๆโดยวงเฮย์อันซากุระ (平安桜) เป็นวงดนตรีญี่ปุ่นโดยนักดนตรี ๒​ คนที่แสดงด้วยการเป่าโอการีนา และสีชามิเซง มักจะมาแสดงในไทยอยู่บ่อยๆ คนร้องกล่าวคำทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วตามด้วยภาษาไทยนิดหน่อยด้วย ดนตรีที่บรรเลงเป็นพวกดนตรีเก่าแก่ของญี่ปุ่น เพราะดี



มีเว็บไซต์ของวง http://office-ecole.com/heianzakura-web/Thai_profile.html

เมื่อแสดงจบก็เริ่มกล่าวเปิดงานโดย อ. วาตานาเบะ โยชิฮิโตะ (渡辺芳人) ผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัยนาโงยะในกรุงเทพฯ ตามด้วยทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แล้วก็คุณกมล ศิริบรรณ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ



จากนั้นก็เริ่มกล่าวแนะนำเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนาโงยะโดย อ. ฮามางุจิ มิจินาริ (濵口道成) อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาโงยะ



เขากล่าวชื่นชมนาโงยะเป็นอย่างมาก พยายามเชิญชวนให้มาเรียนที่นาโงยะกัน มหาวิทยาลัยนาโงยะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมากที่สุดในญี่ปุ่น และวันนี้ก็มาอยู่ที่นี่แล้วถึง ๒ คน

มหาลัยแห่งนี้ก็เป็นแห่งหนึ่งที่สนใจไม่น้อยที่อยากจะไปเรียนต่อ ว่าไปแล้วเมื่อ ๒ ปีก่อนตอนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็แวะไปเดินเล่นในนั้นมาด้วย https://phyblas.hinaboshi.com/20130713

ต่อด้วย อ. Marion Kinder ซึ่งเป็นอาจารย์ชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยนาโงยะ เขาพูดถึงเกี่ยวกับวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนาโงยะ



จากนั้นจึงมาถึงส่วนสำคัญคือการฟังบรรยายจาก อ. อามาโนะ โดยเริ่มแรกเขาเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ไปสตอกโฮล์มเพื่อรับรางวัลโนเบลเมื่อปีที่แล้ว



จากนั้นก็ต่อด้วยพูดถึงเรื่องงานวิจัยที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล นั่นคือเรื่องไดโอดเปล่งแสง หรือที่เรียกกันว่า LED (ย่อมาจาก light-emitting diode) เป็นการนำไดโอดซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายในวงจรไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่สร้างจากสารกึ่งตัวนำเอามาทำเป็นหลอดไฟเปล่งแสง

ในยุคแรกเริ่มนั้นไดโอดเปล่งแสงในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นที่มีการผลิตมาใช้มีแค่สีแดงเท่านั้นซึ่งมีมานานแล้ว ส่วนสีน้ำเงินและสีเขียวยังไม่สามารถสร้างออกมาได้ดี หากสามารถสร้างได้ครบทั้ง ๓ สี คือ แดง เขียว น้ำเงิน แล้วละก็จะสามารถรวมกันเป็นแสงขาวและใช้สร้างภาพสีต่างๆได้

ซึ่งต้องเรียกได้ว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกไปมากเลยทีเดียวเพราะสามารถนำมาใช้ในอุปกรณ์หลากหลาย มันทำให้เกมบอยหรือโทรศัพท์มือถือมีสีได้



วัตถุดิบที่เหมาะจะนำมาใช้สร้างไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินก็คือแกเลียมไนไตรด์ (GaN) ซึ่งผู้ที่เริ่มวิจัยเพื่อหาทางสังเคราะห์มันให้นำมาใช้ได้ก็คือ อ. อากาซากิ อิซามุ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกัน ท่านเป็นอาจารย์ของ อ. อามาโนะ ทั้ง ๒ คนทำงานร่วมกันเพื่ออุทิศให้กับการวิจัยไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน

การสังเคราะห์ผลึก GaN เพื่อจะมาใช้ในไดโอดเปล่งแสงนั้นยากมากทีเดียว อ. อามาโนะ เล่าว่าการทดลองล้มเหลวไปกว่า ๑๕๐๐ ครั้งเลยทีเดียว แต่ก็ยังไม่ละความพยายาม ท่านบอกว่าไม่เคยคิดว่าตัวเองล้มเหลว เพราะทุกครั้งที่ล้มเหลวก็ได้รู้ข้อบกพร่องเพื่อปรับปรุงในครั้งต่อไปขึ้นมาเสมอ



จนในที่สุดก็สามารถผลิตไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินจาก GaN ขึ้นมาได้ตามที่ต้องการจริงๆ และในปี 1993 อ. นากามุระ ชูจิ ซึ่งขณะนั้นทำงานในบริษัทอุตสาหกรรมเคมีนิจิอะ (日亜化学工業) ก็ได้คิดวิธีทำให้ไดโอดเปล่งแสงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะแก่การนำไปใช้ทั่วไปอย่างแพร่หลาย ทำให้เขาเป็นอีกคนที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมด้วย



และนี่ก็คือวิวัฒนาการกว่าจะได้มาซึ่งเทคโนโลยิซึ่งนำไปสู่ไดโอดเปล่งแสง ซึ่งทำให้พวกเรามีสมาร์ตโฟนใช้กันอย่างทุกวันนี้



พอพูดจบก็เปิดให้คนถามคำถาม จากนั้นก็เป็นช่วงพัก ๕ นาที เสร็จแล้วต่อด้วยช่วงต่อไปคือช่วงพูดคุยสัมภาษณ์ อ. อามาโนะ และ อ. มาสึกาวะ โดย อ. ฮามางุจิ เป็นคนถามแล้วทั้ง ๒​ คนตอบ บทสนทนาเป็นภาษาญี่ปุ่นแต่มีล่ามแปลให้เป็นภาษาไทยทั้งหมด



ตรงนี้ก็เลยได้เห็นการทำงานของล่าม เขาต้องฟังพวกอาจารย์พูดเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วก็แปลเป็นภาษาไทยในทันที บางทีอาจารย์พูดซะยาวกว่าจะเปิดโอกาสให้เขาแปลเขาก็ต้องจำเนื้อหาที่อาจารย์พูดทั้งหมดไม่ให้ตกหล่นแล้วแปล

เราฟังออกทั้ง ๒ ภาษาก็เลยฟังแล้วเทียบกัน คนแปลค่อนข้างดีมาก และบางทีเราก็มีการพูดขยายความ ไม่ใช่แค่แปลไปตรงๆ นอกจากนี้คิดว่าเขาน่าจะไม่ใช่แค่ล่ามธรรมดาแต่เป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์และเคมีพอสมควร ไม่ใช่ว่าใครที่ไหนจะมาแปลก็ได้

สำหรับ อ. มาสึกาวะ นั้น เท่าที่เคยอ่านประวัติดูแล้วท่านพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ตอนบรรยายเมื่อครั้งที่รับรางวัลโนเบลก็บรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด ดูเหมือนว่าท่านจะไม่ชอบออกต่างประเทศด้วย การรับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2008 ถือเป็นการออกต่างประเทศครั้งแรก ดังนั้นจึงน่ายินดียิ่งที่ท่านอุตส่าห์เดินทางมาถึงเมืองไทยในครั้งนี้



เนื้อหาที่คุยก็เล่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แล้วก็ความหมายในการศึกษา ทั้ง ๒ ท่านก็แนะนำอะไรต่างๆดีมาก



พอเสร็จแล้วก็เป็นช่วงที่เปิดให้ผู้ชมได้ตอบคำถาม โดยถามเป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่ก็พบว่ามีหลายคนที่ถามเป็นภาษาญี่ปุ่น แถมบางคนอยู่แค่ ม.ปลาย เท่านั้นแต่ก็สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ แม้ว่าจะไม่ถึงกับคล่องก็ตาม ก็นับว่าน่าดีใจที่คนไทยมีคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้เยอะจริงๆ แต่หากคิดในแง่หนึ่งก็คือคนที่มางานนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่สนใจญี่ปุ่นไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว ดังนั้นจะพูดได้ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก

คำถามเท่าที่จำได้ก็มีเกี่ยวกับว่าฟิสิกส์คืออะไร แล้วก็การศึกษาทางวิทยาศาสตร์จะสามารถไขปริศนาของจักรวาลได้หรือไม่ อาจารย์ก็ตอบอย่างมั่นใจว่าต้องได้แน่นอน

มีคนถามว่าท่านคิดยังไงกับสิ่งลี้ลับ ท่านก็ตอบไปอย่างดีว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไรที่คนเราจะไปสนุกกับเรื่องพวกนั้น แต่โดยส่วนตัวท่านซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุมีผลและอธิบายได้

ตอนท้ายสุดมีนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาคนหนึ่งขึ้นมาพูดกล่าวส่งท้ายเป็นภาษาญี่ปุ่น บอกว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมที่มางานนี้บอกว่าอยากจะขอไปทัศนศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาโงยะ อ. ฮามางุจิ ก็รีบตอบทันทีว่ายินดีต้อนรับ

จากนั้นหลังจบตรงส่วนนี้ไปแล้วก็ยังเหลือส่วนสุดท้ายอีกเล็กน้อย นั่นคือการเล่าประสบการณ์จากรุ่นพี่ที่เคยเรียนที่มหาวิทยาลัยนาโงยะ ทั้ง ๒ ท่านไปเรียนมาตั้งแต่สมัยปี 198x แล้ว ปัจจุบันก็มีหน้าที่การงานในระดับดี พวกเขาเล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานและก็พยายามเชิญชวนอยากให้ไปเรียนที่นาโงยะกันเยอะๆ นอกจากนี้ยังบอกว่าการมาเรียนที่ญี่ปุ่นให้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากมาย ที่สำคัญคือทำให้ได้รู้ภาษาญี่ปุ่นซึ่งมันมีประโยชน์มาก



งานจบลงเท่านี้ ปิดท้ายด้วยการถ่ายรูปคู่กับอาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน เป็นโอกาสดีที่จะได้เข้าไปใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล แต่เราเห็นคนมารอกันเยอะซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ม. ปลาย ก็เลยขอตัวก่อนดีกว่าเพราะว่านัดเจอเพื่อนไว้หลังจากเลิกงานด้วย



เราเดินออกจากงานไปพร้อมกับความรู้สึกว่างานนี้มาแล้วคุ้มดี ได้มีโอกาสเจอนักฟิสิกส์ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง ๒ คน ได้เห็นการสนทนาเป็นภาษาญี่ปุ่นอีกทั้งเห็นการทำงานของล่าม และก็ยังได้เห็นว่ามีคนไทยที่พูดภาษาญี่ปุ่นเก่งอยู่มากมาย เท่านี้ก็ทำให้รู้สึกดีมากมาย
 
 
 
 
 
 
 


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- บันทึก

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文