φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



หอจัดแสดงร่องรอยธารน้ำแข็งยุคควอเทอร์นารี
เขียนเมื่อ 2015/05/25 16:48
แก้ไขล่าสุด 2023/07/01 20:18
#พุธ 29 เม.ย. 2015

ปักกิ่งถือเป็นเมืองที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างมาก นอกจากจะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานจนมีโบราณสถานมากมายแล้ว ก็ยังพบร่องรอยของมนุษย์สมัยโบราณก่อนประวัติศาสตร์อย่างมนุษย์ปักกิ่งด้วย แต่ไม่เพียงแค่นั้น ในปักกิ่งยังสามารถพบร่องรอยทางธรณีวิทยาสมัยโบราณเก่าแก่เป็นล้านปีอีกด้วย

ปี 1954 ร่องรอยของธารน้ำแข็งโบรารณได้ถูกขุดพบโดยนักธรณีวิทยาหลี่เจี๋ย (李捷) ที่เขาชุ่ยเวย์ (翠微山) เขตสือจิ่งซาน (石景山) ของปักกิ่ง เมื่อตรวจสอบก็พบว่าน่าจะเป็นร่องรอยของธารน้ำแข็งเมื่อ ๑ - ๒ ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นยุคควอเทอร์นารี หลังจากนั้นก็ได้ขึ้นทะเบียนคุ้มครองโดยหน่วยงานอนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมของปักกิ่ง ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

หลังจากนั้นบริเวณที่ค้นพบธารน้ำแข็งนี้ก็ได้ถูกทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า หอจัดแสดงร่องรอยธารน้ำแข็งยุคควอเทอร์นารี (中国第四纪冰川遗迹陈列馆, จงกั๋วตี้ซื่อจี้ปิงชวานอี๋จี้เฉินเลี่ยกว่าน) เปิดในปี 1992

อาคารพิพิธภัณฑ์สร้างครอบร่องรอยธารน้ำแข็งที่ขุดพบ ผู้ที่เข้าชมสามารถเข้าไปเดินชมร่องรอยธารน้ำแข็งได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้แล้วก็ยังมีจัดแสดงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธารน้ำแข็ง การเกิดยุคน้ำแข็ง และความเป็นมาของโลกตั้งแต่ยุคโบราณด้วย ก็ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งแม้ว่าอาจจะขนาดเล็กไปสักหน่อย

ดังนั้นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าธารน้ำแข็งคืออะไรและที่นี่มีความสำคัญยังไงนั้นจะค่อยๆเล่าไปพร้อมๆกับที่พูดถึงส่วนจัดแสดงภายใน เพราะในนั้นอธิบายเนื้อหาที่จำเป็นอยู่แล้ว



ด้วยความน่าสนใจของสถานที่นี้เองที่ดึงดูดให้เราเดินทางมาถึงย่านหมัวซื่อโข่ว (模式口) ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และสถานที่เที่ยวน่าสนใจอีก ๒ แห่งซึ่งได้ถือโอกาสเที่ยวไปด้วยพร้อมๆกัน

ในตอนที่แล้วเราได้เดินทางมาจนถึงย่านหมัวซื่อโข่วและเที่ยวชมสุสานเถียนอี้ (田义墓) เสร็จ https://phyblas.hinaboshi.com/20150523

หลังจากที่เดินต่อมาบริเวณถัดจากทางเข้าสุสานเถียนอี้นั้นเป็นตลาดทีคนพลุกพล่าน



เดินถัดต่อมาพ้นบริเวณตลาดแถวนี้ก็ยังเห็นคนเดินพลุกพล่านอยู่



หลังจากที่เดินไปตามถนนหมัวซื่อโข่วสักระยะก็จะเจอทางขึ้นเขาซึ่งเป็นทางไปสู่หอธารน้ำแข็ง



มีคุณลุงคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะมาเที่ยวเหมือนกันเขาขี่จักรยานมาเที่ยวที่นี่ ดูเหมือนจะมีเป้าหมายเดียวกัน เห็นตั้งแต่ตอนที่เขาถามทางมาที่นี่จากคนแถวนี้แล้ว



แล้วก็ขึ้นมาจนถึง



ค่าเข้าชม ๑๐ หยวน ภายในนี้แบ่งเป็นห้องเล็กๆหลายห้อง รวมแล้วมี ๒ ชั้น ส่วนใหญ่แต่ละห้องมีของจัดแสดงไม่ค่อยมาก มีทั้งแผ่นป้ายแล้วก็แบบจำลองแสดงให้เห็น แต่ว่ามีอยู่ห้องเดียวที่เป็นห้องขนาดใหญ่ซึ่งมีร่องรอยธารน้ำแข็งของจริงอยู่ภายในนั้น ซึ่งเราจะไปชมห้องนั้นกันตอนท้ายสุด ก่อนอื่นเริ่มจากเดินดูตามห้องที่เล่าข้อมูลความรู้ต่างๆก่อน





ห้องแรกอธิบายว่าธารน้ำแข็งคืออะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร



ธารน้ำแข็งนั้นเกิดจากการที่หิมะตกลงมาแล้วกองทับถมกันเป็นระยะเวลานาน พอกองซ้อนกันสูงเข้าก็อัดตัวจนกลายเป็นน้ำแข็ง นำแข็งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้อยู่กับที่แต่จะมีการไหลจากที่สูงลงต่ำไปเรื่อยๆอย่างช้าๆเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก เช่นเดียวกับลำธารซึ่งพาน้ำจากบนเขาไหลลงสู่ทะเลแต่ว่าช้ากว่ามากเนื่องจากน้ำแข็งเป็นของแข็ง

เนื่องจากกระบวนการเกิดที่แตกต่างทำให้ธารน้ำแข็งนั้นมีคุณสมบัติต่างจากน้ำแข็งทั่วไปที่เกิดโดยการเย็นตัวของน้ำตามปกติ การเกิดธารน้ำแข็งต้องใช้เวลานานถึงเป็นร้อยปี

ห้องถัดมาพูดถึงชนิดของธารน้ำแข็งและการเคลื่อนที่



ธารน้ำแข็งแบ่งออกเป็นธารน้ำแข็งพื้นทวีปกับธารน้ำแข็งภูเขา ธารน้ำแข็งพื้นทวีปหมายถึงธารน้ำแข็งที่ปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ มีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยหลักแล้วมีอยู่แค่ที่ขั้วโลกใต้และกรีนแลนด์ ส่วนธารน้ำแข็งภูเขานั้นเป็นธารน้ำแข็งที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูงในบริเวณต่างๆของโลก มีขนาดเล็กกว่าธารน้ำแข็งพื้นทวีปมาก การเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็งทั้งสองแบบนั้นต่างกันมาก

แบบจำลองธารน้ำแข็ง



ห้องถัดมาอธิบายเกี่ยวกับความสำคัญของธารน้ำแข็งในทางธรณีวิทยา ธารน้ำแข็งนั้นขณะที่มันไหลไปเรื่อยๆก็ได้พาเอาวัตถุต่างๆที่อยู่บนพื้นผิวดินไปด้วย



ตัวอย่างพื้นที่โดนธารน้ำแข็งกัดกร่อนแล้วเหลือร่องรอยให้เห็น



เมื่อธารน้ำแข็งหายไปแล้วอาจทิ้งร่องรอยในลักษณะเป็นเนินเตี้ยๆที่เป็นแนวยาวซึ่งเรียกว่าดรัมลิน (drumlin) ในภาษาจีนเรียกว่ากู่ชิว (鼓丘) มักพบอยู่เป็นกลุ่มหลายๆเนินตามธารน้ำแข็งพื้นทวีป สาเหตุการเกิดยังไม่เป็นที่สรุปแน่นอน



ปรากฏการณ์น่าสนใจอีกอย่างคือบางครั้งหากมีวัตถุตะกอนใหญ่ๆอยู่บนผิวธารน้ำแข็ง เวลาที่ธารน้ำแข็งเริ่มละลายไปวัตถุนั้นจะบังแสงอาทิตย์ให้เข้าถึงด้านใต้วัตถุนั้นได้น้อยจนน้ำแข็งบริเวณนั้นละลายช้ากว่าบริเวณอื่น เมื่อส่วนอื่นละลายไปหมดแล้วก็จะทำให้ส่วนนั้นกลายเป็นเหมือนเสาน้ำแข็ง พอมองดูแล้วก็คล้ายเป็นดอกเห็ด



ห้องถัดมาอธิบายเรื่องยุคน้ำแข็ง

ยุคน้ำแข็งหมายถึงช่วงเวลาที่โลกอุณหภูมิต่ำกว่าปกติจนปกคลุมไปด้วยหิมะเป็นบริเวณกว้างแม้แต่บริเวณนอกขั้วโลก

จากการวิจัยทำให้รู้ว่าตลอดตั้งแต่กำเนิดโลกมาจนถึงปัจจุบันพบหลักฐานการมีอยู่ของยุคน้ำแข็งอยู่หลายครั้ง และครั้งล่าสุดก็คือยุคน้ำแข็งยุคควอเทอร์นารี ซึ่งความจริงแล้วตอนนี้พวกเราก็ถือว่ายังอยู่ในยุคน้ำแข็งนี้

ลักษณะของยุคน้ำแข็งควอเทอร์นารีนี้คืออากาศจะเปลี่ยนแปลงร้อนขึ้นและกลับมาเย็นลงในคาบประมาณหนึ่งแสนปี โดยจะมีช่วงที่อากาศจะกลับมาอุ่นขึ้นประมาณหมื่นกว่าปีเรียกว่ายุคระหว่างน้ำแข็ง (间冰期) ซึ่งเรากำลังอยู่ในช่วงนี้พอดี ดังนั้นอากาศจึงอุ่น โดยที่เริ่มอุ่นขึ้นเรื่อยๆแบบนี้มาตั้งแต่ประมาณหมื่นกว่าปีก่อน แต่ในไม่ช้าโลกก็จะหนาวขึ้นและกลับมาปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งอีกครั้ง

การศึกษาร่องรอยของธารน้ำแข็งในอดีตนั้นสำคัญเพราะจะทำให้เรารู้ว่าภูมิอากาศในอดีตเป็นยังไง ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยา ดังนั้นจึงต้องอนุรักษ์เอาไว้

สำหรับสาเหตุการเกิดยุคน้ำแข็งนั้นมีข้อสันนิษฐานอยู่หลายแบบ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างมากเช่นนี้อาจประกอบไปด้วยหลายอย่าง แบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายในเช่นการที่โลกเกิดภูเขาไฟระเบิดอย่างรุนแรงจนมีฝุ่นควันทำให้แสงอาทิตย์ผ่านเข้ามาได้น้อยลงจึงเย็นตัวลง

หรืออาจเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกทำให้ทวีปเคลื่อนตัวแยกออกหรือชนกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีความสำคัญมากเพราะคอยถ่ายเทอุณหภูมิระหว่างขั้วโลกกับศูนย์สูตร

และก็อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะเปลี่ยนอัตราการเป็นเรือนกระจกของโลก คาร์บอนไดออกไซด์ยิ่งมีมากโลกยิ่งเก็บความร้อนที่รับมาจากดวงอาทิตย์ได้มาก ถ้าหากคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงอุณหภูมิก็จะลดลงและเข้าสู้ยุคน้ำแข็งได้



ส่วนปัจจัยภายนอกนั้นถูกอธิบายโดยนักคณิตศาสตร์ชาวเซอร์เบียชื่อมิลูทิน มิลานคอวิช (Milutin Milanković) ว่าการเปลี่ยนแปลงของแกนหมุนของโลกและการเปลี่ยนแปลงของวงโคจรของโลกนั้นสามารถทำให้เกิดวัฏจักรยุคน้ำแข็งหนึ่งแสนปีได้

อย่างแรกคือการเปลี่ยนแปลงแกนหมุนของโลก เกิดจากการที่แกนหมุนของโลกนั้นมีการหมุนควงในขณะที่โลกหมุนอยู่ นั่นคือส่ายเปลี่ยนตำแหน่งที่เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ อย่างที่รู้กันว่าโลกหมุนรอบตัวเองโดยที่แกนการหมุนนั้นทำมุมเอียงกับดวงอาทิตย์ประมาณ ๒๓.๕ องศา เช่นเดียวกับลูกข่างที่กำลังหมุนเอียงๆอยู่ มันไม่อาจเอียงไปทางด้านเดิมได้ตลอดเวลาแต่ละเอียงไปด้านโน้นนี้เปลี่ยนไปตามเวลา ดวงอาทิตย์ก็เป็นแบบนั้น คาบการหมุนควงของดวงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ ๒๖๐๐๐ ปี

นอกจากนี้มุมของแกนหมุนของโลกที่ทำต่อดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่ ๒๓.๕ องศาตลอดเวลาแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปตามเวลา โดยเอียงมากขึ้นแล้วก็กลับมาเอียงน้อยลง อยู่ระหว่าง ๒๑.๕ - ๒๔.๕ องศา คาบการเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ประมาณ ๔๐๐๐๐ ปี

ต่อมาก็คือการเปลี่ยนแปลงของวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ คือโดยปกติโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีโดยมีความเยื้องศูนย์กลางอยู่เล็กน้อย แต่วงโคจรนี้ไม่ได้คงเดิมอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆทำให้วงโคจรมีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยทีละนิด โดยมีทั้งการเปลี่ยนแปลงของความรีของวงโคจร และตำแหน่งที่โลกอยู่ใกล้สุดและไกลสุดจากดวงอาทิตย์ในวงโคจร

เมื่อรวมผลของการเปลี่ยนแปลงของแกนหมุนของโลกและวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เข้าด้วยกันก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเป็นคาบๆดังที่ปรากฏนี้ได้





ห้องถัดมาจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโลกตั้งแต่กำเนิดและวิวัฒนาการขึ้นมาเรื่อยๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตในยุคต่างๆ อีกทั้งอธิบายความรู้พื้นฐานทางธรณีวิทยา



ตรงนี้อธิบายถึงแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของโลกและหินชนิดต่างๆ



ตารางแสดงการแบ่งยุคต่างๆไล่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการแบ่งมีหลายระดับตั้งแต่หน่วยใหญ่สุดไปยังหน่วยที่ย่อยลงมา หน่วยใหญ่สุดนั้นเรียกว่าบรมยุค (宙, โจ้ว) รองลงมาเรียกว่ามหายุค (代, ไต้) ถัดมาเป็นยุค (纪, จี้) แล้วก็สมัย (世, ซื่อ)



นี่คือสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตอยู่ในยุคน้ำแข็งของปลายบรมยุคโพรเทโรโซอิก (元古宙) ซึ่งสิ่งมีชีวิตเป็นแบบยุคแรกเริ่ม เป็นยุคน้ำแข็งที่สำคัญครั้งหนึ่ง



ยุคน้ำแข็งที่สำคัญอีกครั้งเกิดตอนปลายมหายุคพาเลโอโซอิก (古生代) หลังจากผ่านพ้นยุคน้ำแข็งนั้นมาโลกก็เข้าสู่ยุคเมโซโซอิก (中生代) ซึ่งเป็นยุคของไดโนเสาร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง



มีไข่ไดโนเสาร์จัดแสดงอยู่ให้เห็นด้วย



และหลังจากนั้น ๖๕ ล้านปีก่อนไดโนเสาร์ก็สูญพันธ์ โลกเข้าสู่มหายุคใหม่คือมหายุคเซโนโซอิก (新生代) ซึ่งเป็นมหายุคที่เราอยู่ ช่วงนี้เองที่บรรพบุรุษของมนุษย์ได้เริ่มวิวัฒนาการขึ้นมา มหายุคนี้แบ่งออกเป็น ๓ ยุค เราอยู่ในยุคสุดท้ายก็คือควอเทอร์นารี



เกี่ยวกับเรื่องยุคต่างๆและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นความจริงมีรายละเอียดเยอะและยืดยาว แต่ที่จัดแสดงอธิบายอยู่ในนี้พูดถึงแค่โดยย่อๆสั้นๆเพราะยังไงมันก็ไม่ใช่หัวเรื่องหลักของที่นี่ซึ่งเน้นเรื่องยุคน้ำแข็งเป็นหลัก แต่ในปักกิ่งเองก็มีพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงอยู่ กะว่ามีเวลาก็จะแวะไปชมเหมือนกัน ถึงตอนนั้นคงจะมาเขียนถึงอีกที



จากนั้นเดินถัดไปมาทางห้องนี้มีรูปจำลองของสัตว์ในยุคน้ำแข็งเช่นช้างแมมมอธและเสือเขี้ยวดาบ



มีทางให้ขึ้นไปชั้นบน



ตู้นี้จัดแสดงหินชนิดต่างๆ แต่ละก้อนมีติดราคาไว้ด้วย ดูเหมือนจะเป็นของสำหรับขาย



เห็นก้อนเล็กๆแค่นี้แต่ว่าราคาไม่ใช่น้อยทั้งนั้นเลย



เดินไปทางโน้นมีห้องจัดแสดงอีกห้องหนึ่ง



ตรงนี้อธิบายถึงการกระจายของธารน้ำแข็งในปัจจุบัน สำหรับในจีนนั้นธารน้ำแข็งกระจายอยู่ในมณฑลที่เป็นภูเขาหรือที่ราบสูง ได้แก่ มณฑลชิงไห่, กานซู่, ยูนนาน, เสฉวน แล้วก็เขตปกครองตัวเองทิเบตและซินเจียง



เข้าไปในห้องนี้ก็มีแบบจำลองของพวกสัตว์ชนิดต่างๆในยุคน้ำแข็ง เช่นแรดขนดก และมีคำอธิบายประกอบ





และห้องสุดท้าย ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของที่นี่คือส่วนร่องรอยธารน้ำแข็งของจริงซึ่งถูกครอบไว้ด้วยอาคารนี้ เป็นส่วนที่กินพื้นที่มากที่สุดของอาคาร เป็นทางลาดที่กินพื้นที่ชั้น ๑ และ ๒



มีเส้นทางไม้ที่เขาจัดไว้ให้เดินด้านบน เพื่อไม่ให้ผู้เข้าชมเอาเท้าเหยียบย่ำลงบนรอยโดยตรง



ร่องรอยธารน้ำแข็งบนพื้นที่นี่ จะเห็นรอยตัดที่เกิดจากธารน้ำแข็งอยู่บนพื้นหิน



ตามทางมีการเอาแบบจำลองฟอสซิลสัตว์ต่างๆในยุคน้ำแข็งมาวาง นี่คือกระดูกวัวป่าจีนอีสาน (东北野牛, Bison exiguus) ซึ่งใช้ชีวิตอยู่เมื่อหมื่นกว่าปีก่อน สูญพันธุ์ไปเนื่องจากโดนมนุษย์ล่าจนหมด



กระดูกช้างแมมมอธ (猛犸象, Mammuthus primigenius)



กระดูกแรดขนดก (披毛犀, Coelodonta antiquitatis)



หินก้อนนี้มีรอยแยกแตกเป็นลายๆคล้ายหลังเต่า ลักษณะหินแบบนี้เรียกว่าเซปตาเรียม (septarium) ในภาษาจีนเรียกว่ากุยเป้ย์สือ (龟背石) แปลว่าหินหลังเต่า เป็นผลผลิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากการกัดเซาะและขูดลากของน้ำแข็ง



ส่วนยอดของที่นี่มีรูปปั้นของหลี่ซื่อกวาง (李四光) นักธรณีวิทยาชาวจีนเชื้อสายมองโกลซึ่งมีชื่อเสียง เขาเป็นคนวางรากฐานโลกศาสตร์และธรณีวิทยาของจีนในยุคสมัยใหม่



ส่วนจัดแสดงร่องรอยธารน้ำแข็งก็หมดแค่นี้ ไม่ได้กว้างสักเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นร่องรอยของจริงจำนวนหนึ่ง



ร้านขายของที่ระลึกเล็กๆหน้าทางออก



ก็หมดแค่นี้แล้วสำหรับที่นี่ จะเห็นว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ขนาดค่อนข้างเล็กไม่ได้มีจัดแสดงอะไรมากนักและค่อนข้างเงียบๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็คิดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่ไม่ผิดหวังที่ได้มา โดยเฉพาะสำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์และธรณีวิทยาด้วยแล้วก็ไม่น่าพลาดเหมือนกัน

เสร็จจากที่นี่ก็เดินไปเที่ยววัดฝาไห่ (法海寺) ต่อ https://phyblas.hinaboshi.com/20150527



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文