φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ศาลเจ้าเหวินเทียนเสียง วีรบุรุษแห่งราชวงศ์ซ่งใต้
เขียนเมื่อ 2015/06/20 17:35
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#จันทร์ 8 มิ.ย. 2015

ในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของจีนมีการผลัดเปลี่ยนราชวงศ์มาแล้วหลายครั้ง ถึงอย่างนั้นอาณาจักรของจีนก็ยังคงอยู่มาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนผู้ครอบครองไปเรื่อยๆเท่านั้น

เวลาที่เกิดการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินขึ้นมาวิถีชีวิตของผู้คนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับข้าราชการหรือขุนศึกต่างๆแล้วถ้าหากปรับตัวเพื่อเข้ากับผู้ปกครองใหม่ได้ก็สามารถใช้ชีวิตตามเดิมต่อไป

แต่ก็บ่อยครั้งที่มีบุคคลผู้ภักดีต่อราชวงศ์เก่ามากจนยอมตายตาม ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแผ่นดิน ยอมตายดีกว่าที่จะต้องมารับใช้ราชวงศ์ผู้ปกครองใหม่ จนผู้คนชื่นชมยกย่องให้เป็นวีรบุรุษผู้ซื่อสัตย์แห่งราชวงศ์นั้น

ครั้งนี้ขอพูดถึงวีรบุรุษคนหนึ่งซึ่งเป็นคนของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ยืนหยัดต่อสู้กับราชวงศ์หยวนจนถึงที่สุดก่อนที่จะพ่ายแพ้แล้วตายตามราชวงศ์ไป เขาคือเหวินเทียนเสียง (文天祥)

เหวินเทียนเสียงมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1236 - 1283 ซึ่งเป็นปลายยุคราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋, ปี 1127 - 1279) จนถึงต้นราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) เป็นข้าราชการและกวีที่มีความสามารถมากคนหนึ่ง เขามีบทบาทอย่างมากในการประคับประคองราชวงศ์ซ่งที่ต้องรับศึกหนักจากการโจมตีของราชวงศ์หยวนที่นำโดยกุบไลข่าน ก่อนที่จะพ่ายแพ้และถูกจับเป็นเชลยแล้วก็ถูกประหารในที่สุด

เขามักถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามวีรบุรุษปลายราชวงศ์ซ่ง (宋末三杰, ซ่งมั่วซานเจี๋ย) ร่วมกับลู่ซิ่วฟู (陆秀夫) และจางซื่อเจี๋ย (张世杰) ซึ่งต่างก็ช่วยกันต่อสู้เพื่อราชวงศ์ซ่งใต้จนตัวตายเช่นเดียวกัน

เหวินเทียนเสียงเกิดในปี 1236  บ้านเกิดอยู่ที่มณฑลเจียงซี เขาสอบได้จอหงวนในปี 1256 และเข้ารับราชการเขามาทำงานที่เมืองหางโจว (杭州) ซึ่งในขณะนั้นมีชื่อว่าเมืองหลินอาน (临安) มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งใต้

ในช่วงนั้นราชวงศ์ซ่งได้ปกครองแผ่นดินจีนทางตอนใต้อยู่ ในขณะที่ชนเผ่ามองโกลซึ่งนำโดยเจงกิสข่านและผู้นำรุ่นต่อๆมาก็เริ่มเข้าตียึดแผ่นดินทางตอนเหนือของจีน ในปี 1234 ได้โค่นล้มราชวงศ์จิน (金朝, ปี 1115 - 1234) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวหนวี่เจิน (女真族) ซึ่งปกครองแผ่นดินจีนทางตอนเหนือในตอนนั้น แล้วยึดแผ่นดินมาได้ทั้งหมด จากนั้นก็ตั้งปักกิ่งเป็นเมืองหลวงโดยในตอนนั้นใช้ชื่อว่าหยวนต้าตู (元大都) หลังจากนั้นในปี 1271 กุบไลข่านซึ่งเป็นผู้นำมองโกลในขณะนั้นก็ได้ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิปกครองแผ่นดินจีน ชื่อว่าราชวงศ์หยวน

ในปี 1274 กองทัพของราชวงศ์หยวนได้เริ่มบุกโดยมุ่งหมายที่จะตีราชวงศ์ซ่งให้แตกเพื่อรวบรวมแผ่นดินจีนให้มาอยู่ในมือทั้งหมด ทำให้ทางราชวงศ์ซ่งต้องรับศึกหนัก แม่ทัพที่สำคัญๆที่มีบทบาทมากในการรับศึกในตอนนั้นก็คือเหวินเทียนเสียง ลู่ซิ่วฟู และจางซื่อเจี๋ย วีรบุรุษทั้ง ๓

ผลของสงครามนั้นค่อนข้างจะขาดลอย กองทัพของราชวงศ์ซ่งไม่มีทางที่จะต้านทางกองทัพของราชวงศ์หยวนอันทรงพลังได้เลย กองทัพของราชวงศ์หยวนบุกตียึดเมืองต่างๆไปเรื่อยๆ

ปี 1276 เมื่อเห็นว่ายังไงก็สู้ไม่ได้ทางราชวงศ์ซ่งจึงพยายามเจรจาสงบศึก แต่ก็ไม่เป็นผล จักรพรรดิราชวงศ์ซ่งในขณะนั้นคือจักรพรรดิซ่งกงตี้ (宋恭帝) ซึ่งเพิ่งขึ้นครองราชย์เมื่อยังเด็กได้ถูกบังคับให้สละราชสมบัติและบังคับให้ไปบวช เมืองหลวงหลินอาน (หางโจว) โดนราชวงศ์หยวนยึดไป แต่ก็ยังมีกลุ่มผู้รักชาติที่ไม่ยอมแพ้แล้วตั้งพี่ชายของจักรพรรดิซ่งกงตี้ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นชื่อจักรพรรดิซ่งตวานจง (宋端宗) แล้วย้ายเมืองหลวงหนีลงใต้มาอยู่ที่เมืองฝูโจว (福州) มณฑลฝูเจี้ยน

ทัพราชวงศ์หยวนยังตามมาบุกต่อที่ฝูเจี้ยน ทางราชวงศ์ซ่งซึ่งไม่มีทางสู้ได้ก็แพ้แล้วต้องถอยลงใต้ไปอีก สุดท้ายถอยไปจนถึงมณฑลกวางตุ้ง

การต่อสู้ไปสิ้นสุดลงที่หยาซาน (厓山) ซึ่งเป็นบริเวณที่ปัจจุบันตั้งอยูในเขตเมืองเจียงเหมิน (江门) มณฑลกวางตุ้ง ในปี 1279 การต่อสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่าศึกทะเลที่หยาซาน (厓山海战) โดยทัพของราชวงศ์ซ่งถูกไล่ต้นจนมุมทำให้ลู่ซิ่วฟูพาจักรพรรดิโดดน้ำตายไปเพื่อหนีทัพราชวงศ์หยวน ส่วนจางซื่อเจี๋ยก็ต้องเผชิญกับพายุที่โหมกระหน่ำเข้ามาจนทำให้เขาจมน้ำตาย

วีรบุรุษทั้ง ๒ คนได้ตายลงแล้วพร้อมกับจุดจบของราชวงศ์ซ่ง ส่วนเหวินเทียนเสียงนั้นได้ถูกจับไปเป็นเชลยพาตัวกลับไปหยวนต้าตู (ปักกิ่ง) เมืองหลวงของราชวงศ์หยวน จักรพรรดิกุบไลข่านต้องการให้เหวินเทียนเสียงมาช่วยทำงาน จะมอบตำแหน่งการงานดีๆให้ แต่เขาก็ปฏิเสธมาโดยตลอดเพราะถือว่าตัวเองเป็นข้ารับใช้ของราชวงศ์ซ่ง ไม่ต้องการทำงานให้พวกมองโกล ในที่สุดกุบไลข่านก็ได้แต่ตัดใจ เวลาผ่านไปจนถึงปี 1283 ในที่สุดเหวินเทียนเสียงก็ถูกสั่งประหาร จบชีวิตลงด้วยวัย ๔๗ ปี

ช่วงที่เหวินเทียนเสียงถูกจองจำอยู่ที่ปักกิ่งนั้นเขาได้เขียนบทกวีต่างๆซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักขึ้นมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทประพันธ์ที่ชื่อว่า กั้วหลิงติงหยาง (过零丁洋) ซึ่งท่อนสุดท้ายนั้นโด่งดังมาก เขียนว่า 人生自古谁无死, 留取丹心照汗青 "ชีวิตคนตั้งแต่โบราณมามีใครไม่ตายบ้าง เหลือไว้แค่เพียงหัวใจอันภักดีที่เจิดจรัสอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์"



เวลาผ่านไปจนถึงคราวที่ราชวงศ์หยวนของพวกมองโกลล่มสลายลงในปี 1368 แผ่นดินตกเป็นของราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644) พอถึงปี 1376 ได้มีการสั่งให้สร้างศาลเจ้าเหวินเทียนเสียง (文天祥祠) ไว้ในที่ที่เหวินเทียนเสียงเคยถูกจองจำอยู่

ศาลเจ้านั้นยังคงตั้งอยู่ตรงนั้นมาถึงปัจจุบัน พอถึงปี 1979 ได้ขึ้นทะเบียนโดยหน่วยงานปกป้องสมบัติทางวัฒนธรรมของปักกิ่ง และในปี 1983 ก็ได้มีการปรับปรุงและเริ่มเปิดเป็นสถานที่เที่ยวให้คนทั่วไปได้เข้าชมตั้งแต่ปี 1984



การเดินทางมาที่นี่สามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีจางจื้อจงลู่ (张自忠路站) แล้วเดินต่อมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ว่าครั้งนี้เราแวะมาเที่ยวหลังจากที่เที่ยวหอระฆังและหอกลอง (钟鼓楼) ซึ่งอยู่ใกล้สถานีสือช่าไห่ (什刹海站) https://phyblas.hinaboshi.com/20150618

ก็เลยเดินมาจากตรงนั้นซึ่งอยู่ไกลออกไปมากกว่า ใช้เวลาเดินพอสมควรแต่ก็สามารถมาได้เหมือนกัน

นี่คือหน้าทางเข้าฝู่เสวียหูท่ง (府学胡同) ซึ่งเป็นซอยที่เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าเหวินเทียนเสียง ที่นี่เป็นย่านเมืองเก่าแห่งหนึ่งที่มีสิ่งก่อสร้างหลายหลังที่ได้ขึ้นทะเบียนสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของปักกิ่ง



เดินเข้ามาไม่นานก็เจอซุ่นเทียนฝู่เสวีย (顺天府学) ซึ่งเป็นอาคารเก่าเคยใช้เป็นสถาบันการศึกษามาตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง เดิมทีตัวอาคารสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์หยวนเป็นวัดชื่อวัดเป้าเอิน (报恩寺) หลังจากนั้นพอเข้ายุคราชวงศ์หมิงแล้วจักรพรรดหย่งเล่อได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ปักกิ่งก็ได้ปรับปรุงที่นี่ใหม่แล้วก็ขยายเพิ่มเติมออกไป




ปัจจุบันอาคารเก่านี้ถูกใช้เป็นโรงเรียนประถมชื่อโรงเรียนประถมฝู่เสวีย (府学小学) ไม่ใช่สถานที่เที่ยวที่สามารถเข้าชมได้


มองเข้าไปภายใน



จากนั้นเดินถัดมาติดกันก็คือศาลเจ้าเหวินเทียนเสียงที่เราตั้งใจจะมา



เข้าไปข้างในค่าเข้าชม ๕ หยวน นักเรียนสามารถลดเหลือ ๒ หยวนได้ แต่ไม่นับนักศึกษามหาวิทยาลัยเราจึงยังต้องจ่ายเต็มราคา อาคารที่เห็นตรงหน้านี้คืออาคารหลักที่ชื่อว่ากั้วทิง (过厅)



บัตรเข้าชม



ที่ผนังนี้คือบทกวี เจิ้งชี่เกอ (正气歌) ที่เหวินเทียนเสียงเขียนขึ้นเมื่อถูกจองจำในช่วงสุดท้ายก่อนตาย



เข้าไปภายในตัวอาคารกั้วทิง ภายในนี้จัดแสดงประวัติของเหวินเทียนเสียงตั้งแต่เกิดจนเริ่มรับราชการแล้วก็ตาย







นี่เป็นเส้นทางที่เหวินเทียนเสียงเดินทางเพื่อหนีทัพราชวงศ์หยวน



ทางซ้ายคือข้อความที่เหวินเทียนเสียงเหลือทิ้งไว้ก่อนตาย ส่วนทางขวาคือภาพวาดเหวินเทียนเสียงภายในคุก



บริเวณที่เหวินเทียนเสียงถูกประหาร เป็นย่านที่เรียกว่าไฉซื่อ (柴市) ปัจจุบันคือไช่ซื่อโข่ว (菜市口)



ข้อความที่เหวินเทียนเสียงเขียน



ภาพวาดเหวินเทียนเสียงที่ถูกวาดในช่วงยุคราชวงศ์หมิง



ข้อความเขียนถึงเกี่ยวกับเหวินเทียนเสียงซึ่งเขียนโดยเหมาเจ๋อตง



หนังสือต่างๆที่เขียนเกี่ยวกับเหวินเทียนเสียง



ตารางไล่เรียงเหตุการณ์ในชีวิตของเหวินเทียนเสียงตั้งแต่เกิดจนตายโดยย่อ



จากนั้นเดินทะลุผ่านอาคารนี้ออกมาก็จะเจอลานด้านหลังซึ่งมองเข้าไปด้านในสุดจะเห็นอาคารเสี่ยงถาง (享堂) มีขนาดเท่ากับอาคารกั้วทิง



ด้านหน้ามีต้นไม้อยู่ ต้นไม้นี้เชื่อกันว่าปลูกโดยเหวินเทียนเสียงเอง มันงอกหันไปทางทิศใต้โดยบังเอิญ ทำให้ดูเหมือนเป็นสิ่งแสดงถึงจิตวิญญาณของเหวินเทียนเสียงที่เคารพรักแผ่นดินเกิดซึ่งอยู่ทางใต้



ภายในอาคารเสี่ยงถางมีรูปปั้นของเหวินเทียนเสียง



สำหรับศาลเจ้าเหวินเทียนเสียงก็มีอยู่แค่นี้ ถือว่าเล็กมากจริงๆ แต่ก็ไม่ผิดหวังที่ได้มา ถือว่ามารู้จักบุคคลที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง ในปักกิ่งยังมีสถานที่สำคัญเกี่ยวกับบุคคลสำคัญอยู่อีกหลายคนซึ่งตั้งใจว่าจะไปแวะเวียนแล้วนำมาพูดถึง



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文