φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ว่าด้วยเรื่องปริญญาจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะนำไปใช้ในไต้หวัน
เขียนเมื่อ 2017/06/15 16:21
แก้ไขล่าสุด 2023/02/25 22:33
ในการสมัครเรียนต่อต่างประเทศนั้นมักจะประกอบไปด้วยขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนมากมายทำให้ต้องวุ่นวายและกินเวลาพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องการเตรียมเอกสาร

โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่จบมาและประเทศที่จะไปเรียนต่อเป็นคนละประเทศกัน แบบนี้ก็ยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก

ความยุ่งยากนั้นไม่ได้มาจากแค่เรื่องภาษา แต่มาจากนโยบายการดำเนินการต่างๆข้ามประเทศและอาจรวมถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศด้วย

หลายคนอาจคิดว่าจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวันนั้นก็คล้ายๆกัน จบจากจีนแผ่นดินใหญ่น่าจะไปต่อไต้หวันได้ง่ายๆ (หรือกลับกัน)

แต่ในความจริงแล้วมันมีความยุ่งยากกว่าที่คิด ซึ่งในบทความนี้จะมาเล่าประสบการณ์ตรงนี้



เรื่องเริ่มมาจากตอนที่เราเริ่มตัดสินใจทีจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว (國立清華大學) หลังจากที่เรียนจบจากจีนมาแล้วเริ่มทำงานมาสักพัก

ในการสมัครเรียนต่อ แน่นอนว่าต้องใช้ปริญญาบัตรและผลการเรียนจากมหาวิทยาลัยที่จบมา ซึ่งตอนจบก็ได้รับมาอยู่แล้วทั้งใบจบ, ปริญญาบัตร และผลการเรียน จึงคิดว่าใช้เป็นเอกสารสำหรับสมัครได้เลยไม่มีปัญหา

แต่พอลองสมัครดูจริงๆก็มีเมลแจ้งมาว่าเอกสารเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งเรียกว่า กงเจิ้ง (公证, 公證) ซะก่อน

ตอนแรกเขาก็ไม่ได้ข้อมูลมาจนเข้าใจได้ดีพอ พอถามทางเจ้าหน้าที่ที่รับสมัครเขาก็ไม่รู้รายละเอียด บอกให้ถามทางจีนเอาเอง

เลยต้องลองติดต่อถามอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเรียนที่ปักกิ่ง จึงได้ความว่าต้องไปยื่นเรื่องทำเอกสารที่ปักกิ่ง โดยต้องนำเอาตัวหลักฐานการศึกษาฉบับจริงที่เราได้ตอนจบไปด้วย

สถานที่ทำรับรองเอกสารเรียกว่ากงเจิ้งชู่ (公证处) มีอยู่หลายแห่งกระจายในเมืองต่างๆทั่วประเทศ แต่ละแห่งจะมีขอบเขตหน้าที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับกรณีรับรองผลการเรียนของมหาวิทยาลัยในปักกิ่งจะไปที่ทำการแห่งไหนก็ได้ในปักกิ่ง

ที่จริงหากจะทำตั้งแต่ตอนที่จบมาก็ทำได้ แต่ว่าการรับรองเอกสารเพื่อไปเรียนต่อแต่ละประเทศนั้นมีความต้องการที่ต่างกัน ขั้นตอนต่างกัน ค่าธรรมเนียมการทำก็ต่างกัน ดังนั้นหากยังไม่ได้แน่ชัดว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนก็ยังไม่อาจทำล่วงหน้าไว้ได้อยู่ดี

และเท่าที่รู้มา สำหรับไต้หวันจะยุ่งยากยิ่งกว่าไปเรียนต่อประเทศไหนๆ สถานที่ที่รับทำเอกสารสำหรับไปไต้หวันก็มีน้อย จำกัดกว่ามาก



สำหรับการไปยื่นขอนั้น ขอแค่เอาเอกสารตัวจริงไปได้จะไปด้วยตัวเองหรือให้คนอื่นไปแทนก็ได้ แต่ถ้าจะให้คนอื่นทำให้ก็ต้องเอาเอกสารส่งไปรษณีย์ไปให้เพื่อนที่อยู่ปักกิ่งก็ดูจะลำบากอยู่ดี เรื่องสำคัญแบบนี้ก็ไม่อยากรบกวนคนอื่นมากไป ในที่สุดจึงตัดสินใจไปที่ปักกิ่งเอง

ผลก็คือต้องไปปักกิ่งในช่วงวันอาทิตย์ที่ 13 ถึงศุกร์ที่ 18 พ.ย. เป็นเวลา ๖ วัน

ต้องเสียเวลาไปหลายวันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ แต่การไปปักกิ่งครั้งนั้นก็ได้อะไรเพิ่มเติมหลายอย่างนอกเหนือไปจากแค่ไปทำธุระ

เช่นได้กลับไปเก็บรายละเอียดหอดูดาวโบราณปักกิ่งซึ่งเล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170203

แล้วก็ไปซื้อหนังสือมามากมาย https://phyblas.hinaboshi.com/20161220

ที่ต้องไปหลายวันเพราะจากการหาข้อมูลผ่านทางเว็บพบว่าต้องใช้เวลาทำเอกสาร ๓ วัน จึงกะว่าไปถึงวันอาทิตย์ วันรุ่งวันจันทร์รีบไปทำ พอวันพฤหัสก็น่าจะได้รับ แต่เผื่อไว้อีกวันเผื่อล่าช้าจึงกลับเป็นวันศุกร์



วางแผนไว้พร้อมแล้ว ก็หวังว่าทุกอย่างจะราบรื่น แต่... ก็เจอปัญหาตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลย นั่นคือพอไปที่สุวรรณภูมิตอนกลางดึกของวันที่ 12 เพื่อจะออกเดินทางด้วยเครื่องบินไปปักกิ่งรอบตี ๒ ของสายการบินเซี่ยงไฮ้ พอเช็คอินเขาก็บอกว่าไม่มีชื่อเราอยู่ในผู้โดยสารที่ได้จองไว้

ปัญหานี้เกิดจากการที่ตอนจอง จองกับทางเว็บ cheapticket ซึ่งเป็นเว็บตัวแทนจำหน่าย ดูเหมือนจะเกิดการผิดพลาดบางอย่างขึ้นมาทำให้ในระบบบอกว่าเราจองไว้แล้ว จ่ายเงินแล้วทุกอย่างไม่มีปัญหา แต่ในข้อมูลของสายการบินบอกว่าเราได้จองไว้จริงแต่ยกเลิกไป จึงไม่มีชื่อในผู้โดยสาร

ผลก็คือเราอดขึ้นเครื่องบินรอบนี้ จึงรีบหาเที่ยวบินถัดไปที่ใกล้เคียงที่สุดแทน ก็พบเที่ยวบินของการบินไทยรอบเช้า ซึ่งโชคดีว่าราคาไม่แพงทั้งๆที่จองแบบกะทันหัน

เนื่องจากเป็นเที่ยวบินรอบเช้าจึงต้องรอจนถึงเช้า จะให้นอนที่สนามบินก็ลำบาก จึงต้องหาที่พัก ผลก็คือต้องไปเสียค่าโรงแรมสำหรับพักค้างแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่ยังไงก็จำเป็นเพราะต้องพักเอาแรง

เรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เราได้ส่งเมลติดต่อสอบถามปัญหากับทาง cheapticket แล้ว ทางนั้นรับผิดชอบด้วยการคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินที่จองผิดพลาดนั้นให้ แค่นั้น ไม่มีการบวกค่าเสียเวลาใดๆให้ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าจะฟ้องก็อาจจะได้ แต่เราไม่พร้อมที่จะทำเรื่องยุ่งๆขนาดนั้น

ได้แต่บอกให้คนอื่นรู้ว่าอย่าไว้ใจเว็บตัวแทนขายตั๋ว เพราะเวลามีปัญหาจะติดต่อหาความรับผิดชอบได้ยาก ถ้าจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บของสายการบินโดยตรงก็ควรจะไม่เกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ทำให้เสียแผนแต่อย่างใด หากตามกำหนดการณ์เดิมเราควรถึงปักกิ่งตอนเช้า แต่พอเลื่อนมาไปรอบเช้าก็เลยถึงตอนบ่าย แต่ยังไงก็เป็นวันอาทิตย์ ไม่ได้กะจะทำอะไรมากอยู่แล้ว

เที่ยวบินถึงตอนบ่ายและเรานั่งรถไฟฟ้าสายสนามบินเข้าเมืองแล้วต่อรถไฟฟ้าในเมืองเข้าไปพักในโรงแรม

ภาพสถานีรถไฟฟ้าสถานีซานหยวนเฉียว (三元桥站) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อ ไม่ได้มาซะนาน เวลาขณะนั้นหกโมงกว่า



จากนั้นก็พักในโรงแรม วันแรกจบไปโดยไม่มีอะไรมาก



ต่อมาวันจันทร์ที่ 13

ตอนเช้าเรารีบเดินทางไปยังสถานที่ออกใบรับรองกั๋วซิ่น (北京市国信公证处) ซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ดูแล้วไปง่ายที่สุดจึงเลือกมาที่นี่

แต่เมื่อไปถึงก็พบว่าที่นี่ไม่รับทำเอกสารสำหรับคนที่จะไปเรียนต่อไต้หวันไม่สามารถรับทำที่นี่ได้ และเขาแนะนำว่าในปักกิ่งมีแค่ ๓ แห่งเท่านั้นทีรับทำเอกสารไปไต้หวัน

หนึ่งในนั้นก็คือ สถานที่ออกใบรับรองฟางเจิ้ง (北京市方正公证处) ซึ่งใกล้ที่สุด และเป็นที่ที่เราเลือกไป

สถานที่ตั้งอยู่ที่ย่านซีจื๋อเหมิน (西直门) อยู่ในตึกหน้าตาประหลาดที่มี ๓ ส่วน ทั้ง ๓ ส่วนนี้มีฐานเป็นอาคารเดียวกัน พื้นที่มีทั้งใช้เป็นอาคารสำนักงานแล้วก็มีส่วนที่เป็นห้างด้วย



พอเข้าไปยื่นเรื่องทำจริงๆก็ต้องพบเรื่องผิดคาดอีกเรื่อง นั่นคือสำหรับการทำเอกสารรับรองสำหรับไต้หวันต้องใช้เวลาอย่างน้อยสัปดาห์นึง นี่คือเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อเร่งแบบด่วนแล้ว หากไม่เพิ่มอาจต้องรอนานครึ่งเดือน

สาเหตุที่เป็นแบบนี้เพราะเอกสารต้องส่งไปทางไต้หวันแล้วส่งกลับมาอีกที แล้วการติดต่อระหว่างสองฝั่งก็ไม่ใช่ง่ายๆ จึงต้องใช้เวลา

ตอนแรกหาข้อมูลบอกว่าต้องใช้เวลา ๓ วันนั่นคือสำหรับทำเอกสารไปประเทศอื่น แต่ไต้หวันจะลำบากเป็นพิเศษ ดังนั้นเท่ากับแผนที่วางไว้ก็พังแล้ว

สุดท้ายจึงได้แต่ให้เพื่อนช่วยเป็นคนไปรับเอกสารแทน เพราะเราไม่อาจอยู่ถึงวันที่เอกสารเสร็จได้อยู่แล้ว

หลังจากเสร็จเรื่องตรงนี้เรากลับไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย หาอาจารย์และเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ฟัง เขาก็เลยบอกให้รุ่นน้องในกลุ่มวิจัยเป็นคนช่วยไปเอาเอกสารแล้วส่งไปให้เมื่อถึงวันที่รับได้ โดยค่าไปรษณีย์อาจารย์จะเป็นคนออกให้เอง อาจารย์ใจดีมาก

จบเรื่องที่ต้องทำแล้ว แต่ยังเหลือเวลาในปักกิ่งอีก ๔ วัน เวลาที่เหลือก็เอาไปเที่ยว ซึ่งได้เขียนเล่าไปแล้ว แน่นอนว่าไม่ปล่อยเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์~

แต่ว่าเนื่องจากอากาศปักกิ่งช่วงนั้นแย่ ทำให้เราป่วย ต้องซื้อยามากิน หมดไปอีกเยอะ วันท้ายๆแทบไปไหนไม่ได้



จากนั้นก็กลับบ้านในวันที่ 18 แล้วพอถึงวันอังคารถัดมาคือวันที่ 22 เอกสารก็เสร็จเรียบร้อย รุ่นน้องช่วยสแกนเอกสารที่ไปรับมาส่งให้เราทางเวย์ซิ่นก่อน จากนั้นตัวจริงจึงไปรษณีย์ตามมา

ในขั้นตอนการสมัครเรียนจะใช้แค่เอกสารที่สแกนส่งทางเน็ต แต่เอกสารตัวจริงก็ต้องเก็บไว้เพื่อยื่นตอนที่ได้ไปเรียนจริงๆ

หลังจากส่งเอกสารสแกนไปเอกสารทั้งหมดก็พร้อม เราจึงได้สมัครเข้าเรียนในที่สุด



จากนั้นพอได้เข้ามาเรียนเราก็เอาเอกสารตัวจริงมายื่น เรื่องดูเหมือนจะเรียบร้อยดี แต่... ไม่ช้าทางฝ่ายทะเบียนก็มาแจ้งเตือนว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำการรับรองอยู่อีก

ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมอุตส่าห์ไปทำการรับรองถึงปักกิ่งแล้วยังจะต้องรับรองอะไรอีก และข้อมูลที่เขาให้มาเกี่ยวกับการทำเรื่องรับรองก็ซับซ้อนอ่านยาก

สาเหตุที่ไปขอใบรับรองอย่างเป็นทางการมาแล้วยังต้องขออะไรอีกเขาอธิบายว่ามันเป็นคนละอย่างกัน ที่ขอตอนที่สมัครนั้นเรียกว่า กงเจิ้ง (公證) แต่ที่ต้องทำคราวนี้เรียกว่าเริ่นเจิ้ง (認證) ซึ่งที่จริงมันก็ฟังดูความหมายคล้ายๆกัน ก็คือการรับรอง จะแปลเป็นภาษาไทยให้แยกกันชัดเจนก็ยากอยู่

เราจึงไปปรึกษาเรื่องนี้กับฝ่ายบริการนักศึกษาต่างชาติ เขาก็บอกว่าการรับรองนี้ไม่ยาก แค่เอาใบหลักฐานการศึกษาไปยื่นเรื่องที่ไห่จีฮุ่ย (海基會) ซึ่งอยู่ในไทเป

ไห่จีฮุ่ย ย่อมาจาก มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนข้ามสองฝั่งช่องแคบ (海峽交流基金會, ไห่เสียเจียวหลิวจีจินฮุ่ย) เป็นมูลนิธิที่ตั้งมาเพื่อช่วยในการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน

เรามีเรื่องต้องแวะไปไทเปอยู่แล้วในช่วงเดือนเมษายน จึงถือโอกาสนี้แวะไปที่ไห่จีฮุ่ย

การเดินทางนั้นมาได้ง่าย ตั้งอยู่ติดกับรถไฟฟ้าสถานีต้าจื๋อ (大直站)



เมื่อนั่งมาลงก็จะเห็นอาคารหน้าตาสวยๆ คือที่นี่เอง



การทำเอกสารสามารถรับได้โดยรอแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างรอก็ไปเดินเล่นแถวๆนั้นได้ มีสวนสาธารณะหมิงสุ่ย (明水公園)





เอกสารที่ได้มาเป็นแบบนี้



พอได้เอกสารแล้วเราก็รีบเอามาให้ที่ฝ่ายทะเบียน แต่ก็พบว่าสิ่งที่เขาถามหาต้องการจริงๆไม่ใช่เอกสารอันนี้ ฝ่ายบริการนักศึกษาต่างชาติเข้าใจผิดไปเอง

เราพยายามบอกว่าไม่เข้าใจจริงๆว่าต้องการอะไรกันแน่ แต่เขาเองก็ไม่รู้อะไรมากเพราะเป็นข้อกำหนดที่ทางหน่วยงานที่มหาวิทยาลัยจงซิงแห่งชาติ (國立中興大學) เป็นผู้กำหนดขึ้น

เขาก็เลยให้นักศึกษาอีกคนที่เคยทำเรื่องคล้ายๆกันนี้ช่วย นักศึกษาคนนั้นเป็นคนไต้หวันที่ไปเรียนจบมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ จึงต้องทำเรื่องยุ่งยากในแบบเดียวกัน

เขาให้คำแนะนำอย่างดี อย่างไรก็ตามในรายละเอียดแล้วดูเหมือนเขาจะเจออะไรที่ต่างออกไปเล็กน้อย และตอนที่เขาทำกับตอนนี้มีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลง

สรุปได้ว่าการรับรองหลักฐานการศึกษานั้นต้องทำโดยผ่านทางเว็บของหน่วยงานที่จีน โดยสิ่งที่ต้องทำแบ่งเป็น ๒ ส่วน

สำหรับผลการศึกษาและปริญญาบัตรทำการยืนยันที่เว็บ
http://www.chinadegrees.cn/cqva/account/register.html?_r=0.024032043162355965

สำหรับใบจบการศึกษาทำผ่านเว็บ
https://my.chsi.com.cn/archive/index.jsp

ที่ต้องทำแยกกันเพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องใบจบกับปริญญาบัตรเป็นคนละแห่งกัน

ใบจบการศึกษา (畢業證) กับปริญญาบัตร (學位證) นั้นฟังดูคล้ายกันและสับสนได้ง่าย แต่มีความต่างกันอยู่เล็กน้อย ใบจบการศึกษาคือใบที่รับรองว่าเราจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ส่วนปริญญาบัตรคือใบที่รับรองว่าเราได้ตำแหน่งทางการศึกษา

บางครั้งสองอย่างนี้อาจใช้แทนกันได้ แต่อย่างไรก็ตามครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยต้องการทั้งสองอย่างนี้พร้อมกันทั้งคู่

ทั้งสองส่วนนี้เหมือนกันคือยื่นเรื่องทางเว็บ โดยต้องสแกนเอกสารที่จำเป็นต่างๆส่งให้เขา แล้วก็จ่ายเงินทางเน็ต ใช้บัตรเครดิตจ่ายได้ จากนั้นเขาก็จะส่งเอกสารมาทาง EMS กว่าจะได้แล้วเสร็จก็กินเวลาหลายวัน และค่าใช้จ่ายก็ไม่น้อย

และหลังจากรอนานอยู่พอสมควร ในที่สุดเอกสารก็ถูกส่งมาถึง ภาพนี้เป็นส่วนของใบจบการศึกษา ส่วนปริญญาบัตรกับผลการศึกษาก็ส่งมาในลักษณะเดียวกัน แยกกัน มาทีหลังเพราะติดเรื่องปัญหาบางอย่างวุ่นวายพอดู ซึ่งตรงนี้จะไม่ขอลงรายละเอียด





รวมทั้งหมดนี้แล้วก็หมดไปหลายพันบาท เสียเวลาศึกษาหาข้อมูลไม่น้อย ยังไม่รวมค่าเดินทางไปยังปักกิ่งเพื่อทำใบรับรองซึ่งหมดไปเป็นหมื่น

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สามารถมาเรียนต่อในไต้หวันได้ จะเห็นว่ายุ่งยากมากมาย

ที่จริงแล้วเรื่องของเอกสารทางการศึกษาก็เป็นอะไรที่ยุ่งยากแบบนี้อยู่แล้ว เพราะต้องการความรัดกุม

เพียงแต่ว่าสำหรับเรื่องของจีนกับไต้หวันนั้นจะมีความยุ่งยากเป็นพิเศษ ต้องไปทำยืนยันขั้นตอนมากมายหลายอย่าง

ปัญหานี้น่าจะดีขึ้นหากความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งนี้ดีขึ้นมา การติดต่ออะไรต่างๆจะง่ายขึ้น ลดปัญหาได้แน่นอน



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文