φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



javascript เบื้องต้น บทที่ ๒: เริ่มต้นการใช้งาน
เขียนเมื่อ 2019/07/31 22:51
แก้ไขล่าสุด 2024/03/28 23:06


เริ่มต้นการใช้งาน

การเริ่มต้นใช้งานจาวาสคริปต์นั้นง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเป็นพิเศษ เพราะจาวาสคริปต์รันได้ในเบราว์เซอร์ทุกชนิด

ดังนั้นขอแค่มีเบราว์เซอร์ เช่น firefox, google chrome, microsoft edge, safari, ฯลฯ อยู่ก็สามารถรันจาวาสคริปต์ได้แล้ว

นอกจากนี้แล้ว ยังต้องมีโปรแกรมสำหรับใช้ในการเขียนโค้ด อาจใช้แค่โปรแกรมแก้ข้อความธรรมดาก็ได้ เช่น notepad

เพียงแต่ว่าทางที่ดีควรจะใช้โปรแกรมสำหรับเขียนโค้ดโดยเฉพาะอย่างเช่น

- atom
- vscode (visual studio code)

เมื่อพิมพ์โค้ดในโปรแกรมพวกนี้ จะมีความสามารถช่วยในการตรวจสอบไวยากรณ์ภาษา แล้วแสดงแยกสีส่วนต่างๆชัดเจน ช่วยให้มั่นใจได้ว่าเขียนได้อย่างถูกต้องและเป็นระเบียบ



การรันจาวาสคริปต์ในเบราว์เซอร์

การใช้งานในเว็บนั้นโดยทั่วไปจะต้องเขียนโค้ด html แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาจาวาสคริปต์เพื่อไปเขียนเว็บอยู่แล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องรู้ html เลยก็ได้ เพียงแต่ว่าในที่นี้จะอธิบายโดยใช้เบราว์เซอร์เป็นตัวรัน ก็ขอแค่รู้ว่าสามารถรันยังไงก็พอ

เพื่อที่จะสามารถรันโค้ดสำหรับเนื้อหาที่จะเขียนถึงต่อไปนี้ทั้งหมดได้ เริ่มแรกให้เปิดโปรแกรมแก้ไขข้อความ สร้างไฟล์ตัวหนังสือขึ้น พิมพ์ข้อความลงไปตามนี้ บันทึกไฟล์ชื่อว่าอะไรก็ได้โดยใช้สกุลเป็น .html เช่น maccha.html
<meta charset="UTF-8">
<script>
  alert("สวัสดีชาวโลก! 你好,世界");
</script>

จากนั้นเปิดไฟล์ที่บันทึกไว้ขึ้นมา โดยทั่วไปถ้าบันทึกเป็น .html ไว้แค่ดับเบิลคลิกก็จะเป็นการเปิดในเบราว์เซอร์อยู่แล้ว

จากนั้นก็จะปรากฏกล่องข้อความเด้งขึ้นมาแบบนี้



ลักษณะกล่องข้อความอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใช้เบราว์เซอร์อะไรเปิด และระบบปฏิบัติการที่ใช้ ในนี้ใช้ microsoft edge ใน windows10 เป็นตัวอย่าง

ถ้าขึ้นมาตามนี้ได้สำเร็จ ก็แสดงว่าโค้ดจาวาสคริปต์ทำงานเรียบร้อยตามปกติ สามารถเริ่มไปต่อได้

ต่อไปเป็นคำอธิบายโค้ด

ส่วนที่ล้อมรอบไปด้วยเครื่องหมายน้อยกว่าและมากกว่าแบบนี้ < > เรียกว่าเป็นแท็ก (tag) ใน html

แท็กที่ไม่มี / อยู่ข้างในจะเรียกว่าเป็นแท็กเปิด เช่น <script> ส่วนที่ขึ้นต้นด้วย / เช่น </script> แบบนี้เรียกว่าเป็นแท็กปิด

โดยมากแล้วแท็กจะต้องมีแท็กเปิดและปิด แต่แท็กบางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องมีแท็กปิด เช่นแท็ก <meta> เป็นต้น

แท็กแต่ละชนิดมีไว้ทำหน้าที่ต่างกัน สำหรับแท็ก <script> นี้มีไว้เขียนจาวาสคริปต์ โดยให้ใส่โค้ดจาวาสคริปต์ที่ต้องการรันไว้ระหว่าง <script> และ </script> โค้ดที่อยู่ข้างในก็จะถูกรัน

ในที่นี้โค้ดจาวาสคริปต์ที่รันคือ alert("สวัสดีชาวโลก! 你好,世界!"); ส่วนนี้เท่านั้นที่เป็นจาวาสคริปต์ ส่วนส่วนอื่นเป็น html

ในที่นี้คำสั่ง alert เป็นคำสั่งให้ปรากฏข้อความตามที่กำหนดไว้เป็นหน้าต่างขึ้นมา โดยโค้ดนี้จะทำงานเมื่อมีการเปิดหน้า html นี้ขึ้น หรือเวลาที่กด refresh ก็จะมีการรันโค้ดนี้ใหม่อีกครั้ง

ปกติถ้าต้องการรันโค้ดจาวาสคริปต์​แค่ใส่แท็ก <script></script> แค่นี้ก็พอแล้ว แต่ว่าที่แนะนำให้ใส่ <meta charset="UTF-8"> ลงไปด้วยก็เพื่อเป็นการระบุว่าจะใช้ยูนิโค้ด ซึ่งทำให้สามารถแสดงภาษาต่างๆเช่นภาษาไทยได้อย่างปกติ

หากไม่ใส่ไว้ก็ยังสามารถรันจาวาสคริปต์ได้อยู่ แต่ถ้าใส่ตัวหนังสือภาษาไทยอาจจะออกมาเป็นตัวประหลาดแทน ดังนั้นจึงแนะนำให้ใส่ไว้ ส่วนความหมายในรายละเอียดนั้นยังไม่จำเป็นต้องเข้าใจมากก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของ html ในระดับลึกลงไป ในนี้ต้องการเน้นที่การเขียนโค้ดจาวาสคริปต์

นอกจากนี้มีส่วนประกอบอื่นที่มักจะจำเป็นต้องเสริมหากต้องการให้เป็นหน้าเว็บที่สมบูรณ์ได้ โดยพื้นฐานแล้วอาจเขียนประมาณนี้
<!doctype html>
<html>
  <head>
    <meta charset="UTF-8">
    <title>ชื่อหัวข้อ</title>
  </head>
  <body>
  </body>
  <script type="text/javascript">
    alert("สวัสดีชาวโลก! 你好,世界");
  </script>
</html>

แต่ถ้าแค่ต้องการรันจาวาสคริปต์เฉยๆ ไม่ได้จะเขียนเว็บ ใส่แค่แท็ก meta กับ script ก็น่าจะเพียงพอ

ส่วน type="text/javascript" ที่ตามหลังในแท็ก script นั้นเป็นส่วนที่ระบุว่าสคริปต์ที่จะเขียนนั้นเป็นภาษาจาวาสคริปต์ เพียงแต่ว่าตรงนี้แม้จะไม่ระบุ โดยปกติแล้วก็จะถือว่าเป็นจาวาสคริปต์อยู่แล้ว จึงอาจไม่จำเป็น



ในโค้ดจาวาสคริปต์นั้น นอกจากแสดงข้อความตามที่ป้อนเข้าไปแล้ว ยังสามารถใส่ตัวเลขลงไปเพื่อคำนวณได้ด้วย เช่น
alert(1+2);
จะขึ้นกล่องข้อความที่ปรากฏเลข 3 ขึ้นมา



ดังนั้นการเขียนโปรแกรมสามารถใช้แทนเครื่องคิดเลขได้ด้วย

ให้สังเกตว่าตัวเลขต่างจากข้อความตรงที่จะไม่มีเครื่องหมายคำพูด

ในจาวาสคริปต์ตัวเลขคือข้อมูลชนิดตัวเลข (number) ส่วนตัวหนังสือ คือข้อมูลชนิดสายอักขระ (string) สายอักขระนั้นเวลาเขียนจะต้องมีเครื่องหมายคำพูดคร่อมเสมอ ส่วนตัวเลขจะไม่ใช้เครื่องหมายคำพูด

เกี่ยวกับเรื่องนี้จะอธิบายอย่างละเอียดในบทต่อไป สำหรับตอนนี้ให้เข้าใจก่อนแค่ว่าข้อมูลตัวเลขกับตัวหนังสือนั้นต่างกัน



เขียนโค้ดจาวาสคริปต์แยก

ปกติแล้วการรันจาวาสคริปต์สามารถฝังลงไปในโค้ด html ที่เขียนเว็บโดยตรงแบบนี้ได้ ทำแบบนี้ก็สะดวกดี แต่ก็ทำให้โค้ดสองภาษาปนกันในหน้าเดียว จึงมักไม่ค่อยนิยม

อีกวิธีที่นิยมก็คือเขียนโค้ดจาวาสคริปต์แยกเอาไว้ในอีกไฟล์ แล้วเรียกใช้ไฟล์นั้นขึ้นมาจาก html อีกที

ให้ลองสร้างไฟล์ขึ้น บันทึกสกุลเป็น .js เช่น maccha.js เขียนโค้ดจาวาสคริปต์ไว้ เช่นแบบนี้
alert("สวัสดีชาวโลก! 你好,世界");

จากนั้นสร้างไฟล์ mocha.html ไว้ในโฟลเดอร์เดียวกันเขียนโค้ดแบบนี้
<meta charset="UTF-8">
<script src="./maccha.js"></script>
ตรง src="ชื่อไฟล์" นี้เป็นการระบุตำแหน่งของไฟล์จาวาสคริปต์ที่ต้องการเรียกมาใช้

เขียนแบบนี้ผลที่ได้ก็จะไม่ต่างอะไรกับการเขียนโค้ดไว้ในไฟล์ html โดยตรง เพียงแต่ว่าคราวนี้แยกไฟล์จาวาสคริปต์ไว้อีกไฟล์ ทำให้ดูแล้วสบายขึ้น เวลาเขียนโค้ดจาวาสคริปต์ก็สนแต่จาวาสคริปต์ ไม่ต้องสนโค้ด html และพวกแท็ก <script></script> ต่างๆที่คร่อมอยู่

เมื่อเปิด mocha.html ขึ้นมาในเบราว์เซอร์ก็จะมีการไปเรียกโค้ดคำสั่ง alert ที่อยู่ใน maccha.js แล้วโค้ดก็จะแสดงผลออกมาเป็นหน้าต่างข้อความ



อนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เขียนโค้ดอะไรไว้ข้างในแล้ว แต่ก็ยังต้องเขียนแท็กสองอันแบบนี้ <script src="./ชื่อไฟล์ "></script> โดยใส่ชื่อไฟล์ไว้ที่แท็กเปิด ส่วนแท็กปิดก็ยังคงต้องใส่ เพราะโดยทั่วไปแท็กใน html ส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีเปิดและปิด

สิ่งที่อยู่ใน src=" " นั้นคือชื่อและพาธไฟล์ที่ต้องการอ่าน ถ้าอยู่ในโฟลเดอร์เดียวกันก็ให้เขียน src="./ชื่อไฟล์" แบบนี้ แต่ถ้าวางไฟล์ .js เอาไว้ในโฟลเดอร์ที่ลึกเข้าไปในโฟลเดอร์นั้นก็อาจใส่ src="./ชื่อโฟลเดอร์/ชื่อไฟล์" หรือถ้าวางโค้ดไว้ที่อื่นในเครื่องจะเขียนเป็นพาธสัมบูรณ์ก็ได้

นอกจากนี้ยังสามารถดึงโค้ดจาวาสคริป์ที่เขียนไว้ในเว็บได้ด้วย เช่นโค้ดไลบรารีของจาวาสคริป์ที่ชื่อว่า jquery นั้นถูกลงเอาไว้ในเว็บ url คือ https://ajax.aspnetcdn.com/ajax/jQuery/jquery-3.4.1.min.js ให้ใครก็ได้สามารถใช้ได้โดยตรงได้โดยแค่เขียนว่า
<script src="https://ajax.aspnetcdn.com/ajax/jQuery/jquery-3.4.1.min.js"></script>

ไม่ว่าจะเป็นโค้ดที่เขียนอยู่ในเครื่องตัวเองหรือโค้ดที่อยู่ในเว็บก็ตามโค้ดก็จะถูกดึงมารันในเบราว์เซอร์ที่เปิดหน้านี้ขึ้นมา

ถ้าเป็นโค้ดที่อยู่ตามเว็บ ทุกครั้งที่เรียกใช้จะมีการดึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ดังนั้นแน่นอนว่าจะต้องต่อเน็ตจึงจะทำงานได้

เนื้อหาที่จะแนะนำต่อจากนี้ไปจะเขียนแต่โค้ดจาวาสคริปต์โดยไม่กลับมาสนโค้ด html อีก ไฟล์ html ให้เขียนไว้แค่นั้นแล้วปล่อยทิ้งเอาไว้แบบนั้น ให้รู้ว่าเวลาบอกให้รันก็คือให้แก้โค้ดจาวาสคริปต์จากในไฟล์ .js แล้วมาเปิดหน้า html นี้หรือ refresh ใหม่ขึ้นมา

แค่แก้โค้ดจาวาสคริปต์ในไฟล์ .js พอโหลดหน้า html ขึ้นมาใหม่โค้ดใหม่ก็จะถูกรัน

สำหรับการแสดงผลข้อความจะใช้ alert เป็นหลัก ซึ่งเทียบเท่าได้กับ printf ในภาษาซี หรือ print ในภาษาไพธอน หรือ echo ในภาษา php

แต่ว่าในจาวาสคิปต์นั้นโดยทั่วไปจะแสดงผลโดยการให้เด้งหน้าต่างขึ้นมาแบบนี้มากกว่า เพราะโดยทั่วไปเป็นโค้ดที่เอาไว้รันในเบราว์เซอร์ มากกว่าที่จะเอามารันผ่านคอมมานด์ไลน์หรือเชลโต้ตอบ

นอกจากนี้ก็ยังมีคำสั่ง console.log ซึ่งจะแนะนำต่อไป



การเปิดคอนโซลขึ้นมาดู

ในเบราว์เซอร์ต่างๆจะมีเครื่องมือสำหรับตรวจสอบโค้ดจาวาสคริปต์ที่รันอยู่ในตัวเรียกว่าเป็น "เครื่องมือสำหรับนักพัฒนา" (developer tools)

เวลารันจาวาสคริปต์แล้วเกิดบั๊ก (ข้อผิดพลาด) อะไรขึ้นมาจะพบว่าไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมาในหน้าเว็บเลย แต่ถ้าอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็สามารถทำได้โดยการไปดูในคอนโซล (console) ซึ่งอยู่ในเครื่องมือสำหรับนักพัฒนา

ลักษณะโดยละเอียดของคอนโซลนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเบราว์เซอร์ แต่โดยรวมแล้วจะมีลักษณะร่วมเหมือนๆกันอยู่

โดยทั่วไปสามารถเปิดได้โดยกด F12 หรือถ้าเป็นใน firefox หรือ chrome ก็อาจกด ctrl+shit+c ในวินโดวส์หรือลีนุกซ์ หรือ command+shift+c ใน mac

หรืออาจเปิดผ่านแถบเมนูด้านบนได้ เช่นใน microsoft edge อาจคลิกที่ ... มุมขวาบน แล้วเลือก "เครื่องมือสำหรับนักพัฒนา"



แล้วก็จะเข้าสู่หน้าของเครื่องมือสำหรับนักพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วยหลายส่วน



ให้กดเลือก "คอนโซล"



จะเห็นว่ามีช่องที่มีข้อความปรากฏขึ้นเป็นบรรทัด ตรงนี้เองที่จะแสดงข้อความเตือนหรือข้อผิดพลาดต่างๆเมื่อมีการรันจาวาสคริปต์

ตัวอย่างเช่น ลองพิมพ์โค้ดตามนี้ในไฟล์ .js แล้วเปิดหน้าเว็บขึ้นมาดูคอนโซล
alert("กิมแม้ไอ๊เจียะมิไก๊);

ก็จะมีข้อความเตือนข้อผิดพลาดปรากฏขึ้นมาในคอนโซลประมาณนี้



ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าปกติเวลาใส่คำพูดต้องมีเครื่องหมายคำพูดเปิดและปิด แต่อันนี้ใส่ไปแค่เปิดจึงผิดไวยากรณ์ โค้ดจึงไม่ทำงาน

ข้อความที่ปรากฏขึ้นมาในคอนโซลจะทำให้เรารู้ว่ามีอะไรผิดพลาด จะได้แก้ไขได้ถูกจุด

ถ้ารันโค้ดจาวาสคริปต์ที่อื่นนอกจากในเบราว์เซอร์แบบนี้ก็อาจไม่มีคอนโซล แต่ก็จะมีช่องทางในการแสดงข้อผิดพลาดปรากฏขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ หากมีข้อความบางอย่างที่ต้องการให้แสดง
console.log("สะบายดีก่อ");
ก็จะมีข้อความที่พิมพ์ไปปรากฏขึ้นมาในคอนโซล



โดยมากแล้วจะเป็นข้อความที่ใช้สำหรับเป็นช่องทางแสดงผลให้กับผู้เขียนโปรแกรมหรือเขียนเว็บ สะดวกกว่า alert ตรงที่ไม่ต้องมาคอยกดปิดกล่องข้อความ

เพียงแต่ console.log นี้ใช้ได้แค่เฉพาะเวลารันผ่านเบราว์เซอร์ ส่วน alert นั้นใช้ได้ทั้งในเบราว์เซอร์และใน extendscript ของ adobe ก็ใช้ได้เหมือนกัน

ดังนั้นต่อไปก็จะใช้แต่ alert เป็นหลัก ส่วนคอนโซลนั้นมีไว้แค่ใช้ดูเวลาเกิดบั๊กขึ้นมาก็พอ

อนึ่ง นอกจากนี้ข้อความที่ปรากฏขึ้นในคอนโซลอาจมีจุดประสงค์อื่น เช่นหากใครเปิดหน้าเว็บ facebook แล้วเปิดคอนโซลขึ้นก็จะพบอะไรแบบนี้



เป็นข้อความเตือนด้วยความหวังดีจากทาง facobook ว่าอย่ามาทำอะไรผ่านเว็บด้วยช่องทางนี้ถ้าหากไม่รู้เรื่องจริงๆ

เพราะส่วนใหญ่แล้วคอนโซลเอาไว้ให้นักเขียนโปรแกรมหรือพัฒนาเว็บใช้ ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้ใช้เว็บทั่วไป



นอกจากนี้แล้ว ในคอนโซลยังสามารถป้อนโค้ดลงไปให้แสดงผลได้ทันทีโดยตรง เช่นลองป้อนตามนี้เข้าไป
alert("ลื่อฮ่อ สวัสดีเจ้า");
ก็จะมีหน้าต่างเด้งขึ้นมาทันที



หรือถ้าแค่ป้อนข้อความหรือตัวเลขอะไรไปในนี้ ผลก็จะออกมาในทันที เช่นลองป้อนไปแค่สั้นๆว่า
1+1
ก็จะปรากฏเลข 2 ขึ้นมา



ลักษณะวิธีการเขียน

โดยพื้นฐานแล้วการอ่านโค้ดจะเป็นไปตามลำดับจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา

สิ่งที่เป็นตัวแยกระหว่างคำสั่งแต่ละคำสั่งก็คือการขึ้นบรรทัดใหม่ หรือไม่ก็เครื่องหมายอัฒภาค (semicolon) ;

หมายความว่าปกติแล้วถ้าหากในแต่ละบรรทัดเขียนคำสั่งเดียวก็จะไม่จำเป็นต้องใส่ ; ก็ได้ เพราะพอขึ้นบรรทัดใหม่ก็จะถือเป็นคำสั่งใหม่

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมเนียมปฏิบัติแต่นานมา เวลาเขียนจาวาสคริปต์คนมักจะทั้งเขียนแค่บรรทัดละคำสั่ง และที่ท้ายคำสั่งก็ยังใส่ ; ไว้ด้วย

เพียงแต่ว่าถึงไม่ใส่ ; ปิดท้ายก็ไม่ได้มีผลอะไร เพียงแต่ว่าการใส่จะช่วยทำให้โค้ดดูอ่านง่ายขึ้น

ภายในวงเล็บหรือนอกวงเล็บจะเคาะวรรคหรือไม่ก็ได้ และจะเคาะวรรคกี่ตัวก็ได้ มีความหมายไม่ต่างกัน
alert (   "สวัสดี" );

การขึ้นบรรทัดใหม่ไม่ใช่การจบคำสั่งเสมอไป หากเปิดวงเล็บเอาไว้แล้วภายในจะเว้นกี่บรรทัดก็ได้
alert(
"สวัสดี");

ภายในเครื่องหมายคำพูด ปกติจะขึ้นบรรทัดใหม่ไม่ได้ แต่สามารถทำได้โดยลงท้ายด้วยแบ็กสแลช (backslash) \
alert("ส\
วั\
ส\
ดี"); // ได้ สวัสดี

หรือแม้แต่หลังคำสั่งจะเว้นบรรทัดก็ได้ ทำให้ถ้าจะเขียนแบบนี้ก็ทำได้ไม่ผิดเช่นกัน
alert
(
"สวัสดี"
);

คำสั่งที่มีจุด สามารถขึ้นบรรทัดใหม่ได้
console
.log(
  "สวัสดี"
);

หรือ
console.
log(
  "สวัสดี"
);

หรือแม้แต่เขียนทุกอย่างไว้คนละบรรทัดแบบนี้
console
.
log
(
  "สวัสดี"
)
;

เพียงแต่จะแยกข้อความไม่ได้ ข้อความต้องเขียนติดกันเท่านั้น เช่นแบบนี้ไม่ได้เพราะ con กับ sole โดนแยก
con
sole.log(  "สวัสดี"  );


ภายในวงเล็บอาจมีการเขียนคำสั่งย่อยใส่ลงไปได้มากมาย

และในจาวาสคริปต์ บ่อยครั้งที่แค่เปิดวงเล็บคำสั่งหนึ่ง ก็มีการยัดคำสั่งย่อยต่างๆไว้ภายในมากมาย ทำให้โดยพื้นฐานแล้วค่อนข้างอ่านยาก ต้องใช้เวลาในการทำความเคยชิน

เวลาอ่านโค้ดจาวาสคริปต์มักจะเห็นวงเล็บซ้อนกันหลายๆชั้นทำให้โครงสร้างดูวุ่นวาย จึงไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนที่เพิ่งหัดเขียนโปรแกรมนัก

หากอ่านต่อไปจะเจอโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่านี้อีกเรื่อยๆ และภาษาจาวาสคริปต์ก็มีความอิสระในการเขียนค่อนข้างมาก ถ้าหากเขียนแบบไม่มีระเบียบก็จะยิ่งอ่านยาก ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วจึงมักมีกฎการเขียนอยู่

แน่นอนว่าถึงเขียนแบบไม่เป็นระเบียบแค่ไหน ขอแค่ไม่ผิดหลักไวยากรณ์โปรแกรมก็ยังทำงานได้ตามปกติ แต่ควรจะต้องคิดถึงเวลาที่มาตามอ่านทีหลังด้วย ถ้าเขียนไม่เป็นระเบียบก็อ่านเข้าใจยาก

เพื่อความเข้าใจง่าย โดยทั่วไปแล้ววงเล็บเปิดจะวางไว้บรรทัดเดียวกับคำสั่งเสมอ และกรณีที่มีการเขียนโครงสร้างหลายบรรทัดภายในวงเล็บจะมีการเคาะวรรคให้ร่นเข้าไป ส่วนวงเล็บปิดจะขึ้นบรรทัดใหม่และกลับมาชิดซ้ายในระดับเดียวกับตัวคำสั่ง
alert(
  "โลกนี้นี่ดูยิ่งดูยอกย้อน เปรียบเหมือนละคร ถึงบทเมื่อตอนเร้าใจ บทบาทลีลาแตกต่างกันไป ถึงสูงเพียงใด ต่างจบลงไปเหมือนกัน"
);



การเคาะร่นเคาะกี่เคาะก็ได้ ที่นิยมกันมากคือ ๒ และ ๔ เคาะ แต่ในจาวาสคริปต์นั้น ๒ เคาะจะนิยมใช้มากกว่า เพราะยิ่งซ้อนกันไปก็ยิ่งลึก โครงสร้างของจาวาสคริปต์ก็มักมีการซ้อนหลายชั้น ถ้าใช้ ๔ เคาะจะร่นเยอะเกิน



การคอมเมนต์

โค้ดที่เขียนลงไปนั้นโดยทั่วไปจะถูกอ่านทั้งหมด แต่หากมีการพิมพ์ทับ (slash) ๒ ตัวซ้อน // แบบนี้ ข้อความที่อยู่ถัดต่อจากตรงนั้นไปจะไม่ถูกอ่าน ข้อความตรงนี้จะเรียกว่าเป็นการ "คอมเมนต์" (comment)

การเขียนคอมเมนต์นั้นมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นข้อความประกอบเพื่ออธิบายเฉยๆ หรืออาจคอมเมนต์เพื่อเก็บโค้ดที่ไม่ใช้งานแล้วแต่ในอาจนำกลับมาใช้งานอีก ถึงตอนที่อยากใช้ก็แค่เอา // ออกก็ใช้ได้
// ตรงนี้คือคอมเมนต์เฉยๆ ไม่ทำงาน
alert(14*2); // ได้ 28
// alert("โค้ดตรงนี้ไม่ทำงาน");

จากตรงนี้ไปจะเขียนผลที่ได้ใน alert โดยใส่ไว้ข้างหลัง // แบบนี้

สำหรับการคอมเมนต์หลายบรรทัดจะใช้ ทับดอกจัน...ดอกจันทับ ล้อมแบบนี้ /*...*/
/*
  ข้อความส่วนนี้คือคอมเมนต์
ขึ้นบรรทัดใหม่ได้ 
alert("โค้ดตรงนี้ไม่ทำงาน");
*/
alert("เฉพาะโค้ดตรงนี้จะทำงาน");

ในบทต่อจากนี้ ไปจะใช้คำสั่ง alert ตลอด ซึ่งเป็นการใช้กล่องข้อความเด้งขึ้นมาในการแสดงผล แต่จะใช้คอมเมนต์โดยเขียนต่อจาก // เพื่อแสดงผล ให้รู้กันว่าหมายถึงข้อความที่เด้งขึ้นมาเป็นกล่องข้อความ

เพียงแต่กรณีที่มีการแสดงผลค่อนข้างยาว หรือมากกว่าหนึ่งบรรทัดจะใช้การเขียนผลลัพธ์แยกไว้อีกช่องต่อด้านล่างเพื่อให้เห็นชัด




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> javascript

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文