φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



วิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกด้วย sklearn
เขียนเมื่อ 2017/10/10 07:31
แก้ไขล่าสุด 2022/07/21 15:15
ก่อนหน้านี้ได้เขียนบทความแนะนำเกี่ยวกับการสร้างคลาสแบบจำลองการถดถอยโลจิสติกเพื่อวิเคราะห์จัดข้อมูลเป็นหมวดหมู่มามากมาย ซึ่งได้สรุปรวบยอดไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20171006

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงเราอาจไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดมากมายขนาดนั้นเพื่อที่จะใช้งานการถดถอยโลจิสติกก็ได้

เหมือนกับที่คนขับรถไม่จำเป็นต้องเข้าใจกลไกการทำงานภายในของรถ ไม่ต้องรู้ว่าทำไมหมุนพวงมาลัยแล้วรถถึงเลี้ยว ทำไมเหยียบเบรกแล้วรถหยุด แค่เข้าใจว่าขับยังไงก็พอแล้ว

แต่นั่นหมายความว่าต้องมีคนที่มีความรู้ความเข้าใจการทำงานภายในเป็นอย่างดีได้สร้างระบบอะไรบางอย่างให้คนทั่วไปใช้ได้และมีการเขียนคู่มือบอกไว้เป็นอย่างดี

เรื่องของการเขียนโปรแกรมก็เช่นเดียวกัน หากแค่ต้องการใช้งานแบบผิวเผินแล้วจะใช้มอดูลที่คนเตรียมเอาไว้เลยโดยไม่ต้องเข้าใจอะไรภายในก็ได้

มอดูล sklearn ได้เตรียมแบบจำลองต่างๆสำหรับการวิเคราะห์ต่างๆในการเรียนรู้ของเครื่องไว้มาก ใช้งานง่ายถึงขนาดที่ผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้มาก่อนก็สามารถใช้งานได้

สำหรับการถดถอยโลจิสติกนั้นสามารถใช้คลาสชื่อ LogisticRegression ใน sklearn.linear_model

หากต้องการแบ่งข้อมูลเป็นหมวดหมู่สามารถใช้คลาสนี้จัดการได้ทันที



การใช้งานเบื้องต้น
ตัวอย่างเช่นมีข้อมูลกลุ่มก้อนแบบในรูปนี้



โค้ดที่ใช้สร้างข้อมูลและวาดภาพเป็นดังนี้ (คำอธิบายฟังก์ชัน make_blobs ที่ใช้สร้างอยู่ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161127)
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt
from sklearn import datasets
np.random.seed(0)
X,z = datasets.make_blobs(n_samples=1000,n_features=2,centers=3,cluster_std=0.7)
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(X[:,0],X[:,1],c=z,s=30,edgecolor='k',cmap='brg')
plt.show()

ในที่นี้ z คือเลขกลุ่ม โดยเลข 0 คือสีน้ำเงิน เลข 1 คือสีแดง เลข 2 คือสีเขียว

จากนั้นต้องการใช้การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเพื่อแบ่งก็เขียนได้ดังนี้
from sklearn.linear_model import LogisticRegression as Lori
lori = Lori()
lori.fit(X,z)

ในที่นี้ขอย่อคลาส LogisticRegression เป็นสั้นๆเหลือแค่ Lori

เริ่มจากสร้างออบเจ็กต์จากคลาสขึ้น จากนั้นก็ใช้เมธอด fit ป้อนข้อมูลให้แบบจำลองนี้ไปทำการเรียนรู้

พอเรียนรู้เสร็จ คราวนี้ออบเจ็กต์แบบจำลองของเราก็พร้อมที่จะไปใช้เพื่อทำนายแบ่งกลุ่มของข้อมูลต่อไปแล้ว

จากนั้นขั้นต่อไปก็คือใช้เมธอด predict ซึ่งเป็นการให้แบบจำลองที่เรียนรู้แล้วมาทำนายผลให้เรา

เช่นอยากรู้ว่าจุด (0.1,0.2) จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มไหนก็แค่พิมพ์
print(lori.predict(np.array([[0.1,0.2]]))) # ได้ [1]

แบบนี้แสดงว่าตำแหน่งนั้นถูกจัดกลุ่มเป็นกลุ่ม 1 ก็คือสีแดง

ให้ระวังว่าอาเรย์ที่ใส่จำเป็นต้องเป็นอาเรย์สองมิติ แม้ว่าจะต้องการทำนายแค่จุดเดียวก็ตาม เพราะโดยทั่วไปแล้วเรามักจะให้ทำนายหลายจุดพร้อมกัน ซึ่งจะใช้งานสะดวกมาก

เช่น ลองพิจารณา ๕ จุดทีเดียวพร้อมกัน แล้วก็วาดรูปแสดงตำแหน่งพร้อมแสดงสีตามที่ทายได้
X2 = np.array([[0,0.],[3,2.],[-1,1.],[4,4],[-2,5]])
z2 = lori.predict(X2)
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(X[:,0],X[:,1],c=z,s=30,alpha=0.3,edgecolor='k',cmap='brg')
plt.scatter(X2[:,0],X2[:,1],c=z2,s=700,marker='*',edgecolor='k',cmap='brg')
plt.show()


ในที่นี้ดาวคือจุดที่ทาย จะเห็นว่าสีดาวที่ได้สัมพันธ์กับสีของจุดที่อยู่ใกล้

คราวนี้เพื่อให้เห็นภาพชัดลองให้แบบจำลองทำการทำนายจุดบริเวณรอบๆ
nmesh = 100 # สร้างจุดที่จะให้ทำนาย เป็นตาราง 100x100 รอบบริเวณนี้
mx,my = np.meshgrid(np.linspace(X[:,0].min(),X[:,0].max(),nmesh),
                    np.linspace(X[:,1].min(),X[:,1].max(),nmesh))
# ปรับให้เรียงต่อกันเป็นอาเรย์หนึ่งมิติ แล้วรวมค่า x และ y เข้าเป็นอาเรย์เดียว
mX = np.stack([mx.ravel(),my.ravel()],1)
mz = lori.predict(mX) # ทำการทำนาย
mz = mz.reshape(nmesh,nmesh) # เปลี่ยนรูปกลับเป็นอาเรย์สองมิติ
plt.figure()
plt.axes(aspect=1)
plt.pcolormesh(mx,my,mz,alpha=0.6,cmap='brg') # วาดสีพื้น
plt.scatter(X[:,0],X[:,1],c=z,s=30,edgecolor='k',cmap='brg') # วาดจุดข้อมูล
plt.show()



สามารถสรุปง่ายๆว่าขั้นตอนการใช้งานหลักๆก็คือ

1. สร้างออบเจ็กต์จากคลาส LogisticRegression (ในที่นี้ย่อเป็น Lori)
2. นำออบเจ็กต์ที่ได้มาใช้เมธอด fit เพื่อทำการเรียนรู้ข้อมูลที่ป้อนเข้าไป
3. ทำนายหมวดหมู่ของจุดที่ต้องการโดยใช้เมธอด predict



การทำนายเอาผลแบบละเอียดด้วย predict_proba
นอกจากการใช้งานเบื้องต้นที่ว่ามาแล้วในนี้ยังมีเมธอดที่น่าใช้งานอยู่อีกหลายตัว

เช่น predict_proba ซึ่งเอาไว้คำนวณความน่าจะเป็นในการถูกจัดเป็นแต่ละกลุ่ม

ปกติถ้าใช้ pridict เฉยๆจะเป็นการทำนายหากลุ่มที่มีความน่าจะเป็นสูงสุด แต่ถ้า predict_proba จะแยกออกมาชัดเลยว่ากลุ่มไหนมีความน่าจะเป็นเท่าไหร่ มีประโยชน์เวลาจะแยกวิเคราะห์ให้เห็นชัด

ตัวอย่างการใช้ ลองนำแบบจำลองอันเดิมมาใช้ predict_proba แทน แล้ววาดแสดงความน่าจะเป็นแยกแต่ละกลุ่ม และสุดท้ายเอามาวาดรวมกัน
mz = lori.predict_proba(mX)
mz = mz.reshape(nmesh,nmesh,3)
plt.figure(figsize=[7,8])
zs = np.zeros([100,100])
plt.subplot(221) # กลุ่ม 0 สีน้ำเงิน
plt.imshow(np.stack([zs,zs,mz[:,:,0]],2),origin='lower')
plt.subplot(222) # กลุ่ม 1 สีแดง
plt.imshow(np.stack([mz[:,:,1],zs,zs],2),origin='lower')
plt.subplot(223) # กลุ่ม 2 สีเขียว
plt.imshow(np.stack([zs,mz[:,:,2],zs],2),origin='lower')
plt.subplot(224) # นำมารวมกัน
plt.imshow(np.stack([mz[:,:,1],mz[:,:,2],mz[:,:,0]],2),origin='lower')
plt.show()


ในภาพนี้ถ้าส่วนไหนเป็นสีอะไรมากก็มีโอกาสเป็นกลุ่มนั้นสูงมาก บริเวณที่เป็นสีผสมนั้นมีความก้ำกึ่ง แต่เวลาต้องทายผลออกมาให้ชัดว่ากลุ่มไหนก็ตัดสินที่ว่ามีความเป็นสีไหนมากกว่า ก็คือมีค่าความน่าจะเป็นมากกว่า ก็จะตัดสินว่าเป็นกลุ่มนั้น

หากใช้ argmax(1) กับ predict_proba ก็จะได้ผลเป็นเท่ากับ predict

ลองตรวจสอบดูได้
np.all(lori.predict_proba(X).argmax(1)==lori.predict(X)) # ได้ True

นอกจากนี้ยังมีเมธอด predict_log_proba ซึ่งจะให้ค่าเป็นค่า log ของ predict_proba



การเอาค่าน้ำหนักและไบแอสที่เรียนรู้ได้มา
ค่าพารามิเตอร์น้ำหนักและไบแอสที่คำนวณได้จากในนี้จะถูกเก็บไว้ในแอตทริบิวต์ coef_ และ intercept_

โดย coef_ คือค่าน้ำหนัก เป็นอาเรย์สองมิติ ส่วน intercept_ คือค่าไบแอส เป็นอาเรย์มิติเดียว

ลองดู
print(lori.coef_)
print(lori.intercept_)
ได้
[[ 1.39321745  2.54867122]
 [ 2.49034169 -2.80449884]
 [-4.41410752 -0.98528598]]
[-9.0248292   3.13710958  1.7673895 ]

พารามิเตอร์นี้เองที่จะถูกใช้เวลาที่ทำนายผล

เช่น predict_z = lori.predict(X) นั้นที่จริงแล้วหากจะเขียนคำนวณเองก็สามารถเขียนเป็น
predict_z = (np.dot(X,lori.coef_.T)+lori.intercept_).argmax(1)



คำนวณคะแนนความแม่นด้วย score
ปกติเวลาจะทดสอบประสิทธิภาพของผลการเรียนรู้ วิธีที่ง่ายก็คือดูว่าทายถูกมากแค่ไหน ซึ่งอาจคำนวณคะแนนความแม่นได้ง่ายๆโดย
khanaen = (lori.predict(X)==z).mean()

จะได้คะแนนความแม่นซึ่งถ้าหากถูกหมดจะเป็นค่า 1 ถ้าผิดหมดจะเป็น 0

แต่ว่าในคลาส LogisticRegression นั้นได้เตรียมเมธอดสำหรับคำนวณตรงนี้ไว้ได้ง่ายๆ คือเมธอด score กล่าวคือสามารถเขียนแทนได้โดย
khanaen = lori.score(X,z)

X และ z ที่เราใช้ในครั้งนี้คือข้อมูลที่ใช้ฝึกนั่นเอง ดังนั้นจึงได้ออกมาแม่น ผลการคำนวณพบว่าได้คะแนนความแม่นยำเป็น 0.98

ที่ไม่ได้คะแนนเต็มเพราะข้อมูลมีการปะปนกัน มีบางส่วนที่ล้ำไปอยู่ในวงล้อมของกลุ่มอื่น จึงไม่มีทางทายถูกได้หมด ดังที่จะเห็นได้จากในรูปข้างบนที่แสดงการแบ่งเขต จุดเขียวไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีเขียวทั้งหมด จุดแดงจุดน้ำเงินก็เช่นกัน



การปรับไฮเพอร์พารามิเตอร์
ไฮเพอร์พารามิเตอร์คือค่าที่เป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของแบบจำลองของเรา ปกติเป็นสิ่งที่เราต้องกำหนดใส่ลงไปเอง แต่ว่าใน sklearn นั้นไฮเพอร์พารามิเตอร์ทั้งหมดล้วนมีค่าตั้งต้น ถ้าเราสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้กำหนดอะไรเลยก็จะเป็นการใช้ค่าตั้งต้นนั้น

เราสามารถดูค่าไฮเพอร์พารามิเตอร์ทั้งหมดได้โดยแค่สั่ง print ตัวออบเจ็กต์นั้น

เช่น
lori = Lori()
print(lori)

ได้
LogisticRegression(C=1.0, class_weight=None, dual=False, fit_intercept=True,
          intercept_scaling=1, max_iter=100, multi_class='ovr', n_jobs=1,
          penalty='l2', random_state=None, solver='liblinear', tol=0.0001,
          verbose=0, warm_start=False)

หรือถ้าใช้เมธอด get_params ก็จะได้ค่าพารามิเตอร์ทั้งหมดมาในรูปดิกชันนารี
lori.get_params()

ได้
{'C': 1.0,
 'class_weight': None,
 'dual': False,
 'fit_intercept': True,
 'intercept_scaling': 1,
 'max_iter': 100,
 'multi_class': 'ovr',
 'n_jobs': 1,
 'penalty': 'l2',
 'random_state': None,
 'solver': 'liblinear',
 'tol': 0.0001,
 'verbose': 0,
 'warm_start': False}

จะเห็นว่ามีค่าอะไรต่างๆเยอะมากที่สามารถปรับแต่งได้ ซึ่งในขั้นตอนการสร้างออบเจ็กต์เราสามารใส่คีย์เวิร์ดเพื่อเปลี่ยนแปลงพวกไฮเพอร์พารามิเตอร์ต่างๆเหล่านี้

เนื่องจากมีรายละเอียดเยอะจะขอยกมาพูดถึงแค่ส่วนเดียว ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเป็นเรื่องของไฮเพอร์พารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับการเรกูลาไรซ์

ค่าที่เกี่ยวข้องกับเรกูลาไรซ์คือ penalty และ C

เรื่องเกี่ยวกับเรกูลาไรซ์ได้เขียนถึงไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20170928

เพียงแต่ว่ามีส่วนแตกต่างที่ต้องเสริมสักหน่อย คือค่า C ในที่นี้เป็นส่วนกลับของค่า λ ที่อธิบายในนั้น กล่าวคือ C=1/λ หมายความว่า C ยิ่งน้อยยิ่งเรกูลาไรซ์แรง หากไม่ต้องการให้ไม่มีการเรกูลาไรซ์ก็ต้องปรับ C เป็นค่าสูงมากๆ

ส่วน penalty คือชนิดของการเรกูลาไรซ์ เลือกได้ระหว่าง l1 และ l2 ค่าตั้งต้นคือ l2

เนื่องจากค่า C เป็นส่วนกลับของ λ ดังนั้น C ยิ่งน้อยก็จะยิ่งทำให้ค่าน้ำหนักถูกถ่วงให้ไม่สามารถสูงขึ้นได้มาก หากน้อยเกินไปก็จะทำให้การเรียนรู้ไม่คืบหน้าได้

ลองเขียนโปรแกรมที่เปรียบเทียบผลของค่า C ที่มีต่อความแม่นยำและค่าน้ำหนัก โดยตัวอย่างคราวนี้ยังใช้เป็นข้อมูลเดิม ซึ่งมีพารามิเตอร์น้ำหนักอยู่ ๖ ตัว เนื่องจากมีตัวแปรต้น ๒ ตัว (๒ มิติ) และเป็นการแบ่ง ๓ กลุ่ม เราจะลองมาดูว่าหากเปลี่ยนค่า C แล้วจะส่งผลต่อค่าพารามิเตอร์ที่ได้ยังไง
ccc = 10**np.linspace(-5,3,18)
coef = []
sco = []
for C in ccc:
    lori = Lori(C=C)
    lori.fit(X,z)
    sco.append(lori.score(X,z)*100)
    coef.append(lori.coef_.ravel())
plt.subplot(211,xscale='log')
plt.title(u'ความแม่น (%)',family='Tahoma')
plt.tick_params(labelbottom='off')
plt.plot(ccc,sco,'k.-')
plt.subplot(212,xscale='log')
plt.title(u'ค่าน้ำหนัก',family='Tahoma')
plt.plot(ccc,coef,'.-')
plt.show()


ผลที่ได้จะเห็นว่าค่า C ยิ่งสูง ค่าน้ำหนักแต่ละตัวก็สามารถไกลจาก 0 ได้มาก เกิดการกระจายค่ามากขึ้น แต่พอต่ำแล้วแต่ละค่าจะถูกบีบให้เข้าใกล้ 0

ส่วนเรื่องของความแม่นยำก็จะเห็นว่าถ้า C ต่ำจนถึงค่านึงความแม่นยำจะลด เพราะจะค่าน้ำหนักถูกหน่วงรั้งให้จำกัดอยู่ใกล้ 0 มากไปจนไม่เกิดผลในการเรียนรู้



ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของการใช้ LogisticRegression ของ sklearn

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ยังไม่ได้กล่าวถึง เช่นการปรับไฮเพอร์พารามิเตอร์ตัวอื่นๆ แล้วก็เมธอดอื่นๆ

รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านต่อในเว็บคู่มือ sklearn
>> http://scikit-learn.org/stable/modules/generated/sklearn.linear_model.LogisticRegression.html



LogisticRegression ของ sklearn ใช้งานได้สะดวกดี แม้คนที่ไม่ค่อยมีพื้นฐานเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องเลยก็สามารถพอใช้งานได้

เพียงแต่หากรู้รายละเอียดมากขึ้นก็จะสามารถใช้งานได้อย่างเข้าใจขึ้น รู้ว่าปรับอะไรตรงไหนจะมีผลยังไง ถ้ามีปัญหาต้องแก้ยังไง จำเป็นต้องรู้มากแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคน

เหมือนกับคนที่เป็นแต่ขับรถ พอวันนึงรถเกิดมีปัญหาขึ้นมาก็จะไม่สามารถไปต่อได้ ต้องรอให้คนที่รู้กลไกมาช่วยซ่อม

หากสนในรายละเอียดเรื่องการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก สามารถอ่านบทความที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ได้


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> ปัญญาประดิษฐ์
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> sklearn

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文