φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



[python] การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักของข้อมูลที่ใช้ในการเรียนรู้ของเครื่อง
เขียนเมื่อ 2018/07/27 10:29
แก้ไขล่าสุด 2022/07/19 05:31
เมื่อวิเคราะห์ปัญหาต่างๆโดยอาศัยการเรียนรู้ของเครื่องนั้น การเลือกตัวแปรต่างๆที่จะนำมาพิจารณาให้เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ

การพิจารณาตัวแปรที่ไม่จำเป็นเยอะเกินจำเป็นอาจทำให้เกิดปัญหาการเรียนรู้เกิน (过学习, overlearning)

ก่อนหน้านี้ได้แนะนำเรื่องการลดตัวแปรของปัญหาในการเรียนรู้ของเครื่องด้วยวิธีการคัดเลือกลักษณะเฉพาะ (特征选择, feature selection) https://phyblas.hinaboshi.com/20171211

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงแค่การคัดเลือกตัวแปรจากเดิมทีที่มีอยู่แล้วว่าตัวไหนจำเป็นและตัดบางตัวทิ้งเท่านั้น

แต่มีอีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะได้ผลดีกว่า ก็คือสร้างชุดตัวแปรใหม่ขึ้นจากชุดตัวแปรเดิมที่มีอยู่

วิธีการหนึ่งที่เป็นที่นิยมก็คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (主成分分析, principle component Analysis) หรือนิยมเรียกย่อว่า PCA



แนวคิด

การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักคือการเอาข้อมูลซึ่งอยู่ในระบบพิกัดของชุดตัวแปรเดิมมาแปลงให้อยู่ในรูปของชุดตัวแปรใหม่ โดยเมื่อแปลงเสร็จแล้วตัวแปรใหม่จะมีทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญก็ตัดตัวที่ไม่สำคัญทิ้งไป

ยกตัวอย่างเช่นมีข้อมูลสามมิติที่มีการแจกแจงตามนี้



พอพลิกแกนดูในแนวนึงจะเห็นว่ามันวางตัวเกือบจะเป็นแผ่นจานแบน



แบบนั้นแล้วหากเราแค่พิจารณาค่าแค่ตามแนวระนาบสองมิติก็น่าจะพอ

การที่จะพิจารณาข้อมูลตามแนวนั้นได้สะดวกก็คือ ทำการย้ายพิกัด สร้างแกนใหม่ให้วางแนวตามนี้



แล้วพอหมุนเปลี่ยนระบบพิกัดมาเป็นตามแกนนั้นก็จะกลายเป็นแบบนี้



เท่านี้ก็จะสามารถละแกนตั้งทิ้งไปได้เลย แล้วเขียนเป็นสองมิติได้แบบนี้



นี่คือแนวคิดของการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก คือตั้งระบบพิกัดใหม่ หาแกนที่มีการกระจายตัวสูง แล้วตัดเอาแกนที่มีการกระจายตัวต่ำทิ้ง ช่วยลดจำนวนมิติของข้อมูลได้



วิธีการ

ในการแปลงระบบพิกัดนั้นวิธีพื้นฐานที่ง่ายที่สุดคือการแปลงเชิงเส้น คือเขียนระบบพิกัดใหม่โดยคำนวณจาก
..(1)

โดยในที่นี้ใช้ ξ12,... แทนระบบพิกัดใหม่ ส่วน x1,x2,... แทนระบบพิกัดเดิม มีจำนวน m มิติ แต่ละตัวมีคุณสมบัติตั้งฉาก (正交, orthogonal)

v คือค่าน้ำหนักในการแปลง

เขียนค่าพิกัดใหม่แต่ละตัวในรูปเวกเตอร์ได้แบบนี้
..(2)

เอาองค์ประกอบทั้งหมดมาเขียนในรูปเมทริกซ์ก็จะได้แบบนี้
..(3)

โดย
..(4)
..(5)

โดย V เป็นเมทริกซ์เชิงตั้งฉาก (正交矩阵, orthogonal matrix) รวบรวมค่าน้ำหนักทั้งหมดในการแปลง
..(6)

ในบทความนี้จะใช้สัญลักษณ์ลูกศรบนหัวแทนเวกเตอร์ (= เมทริกซ์มิติเดียว) ส่วนอักษรตัวหนาแทนเมทริกซ์สองมิติ ถ้าอักษรตัวเอียงธรรมดาจะแทนเลขเดี่ยว

ดังนั้นระบบพิกัดใหม่เขียนสั้นๆได้เป็น
..(7)

หรือเขียนใหม่แสดงเป็นเมทริกซ์ในแนวตั้งก็เป็น (จากสมบัติของเมทริกซ์)
..(8)

ทีนี้เป้าหมายก็คือหาว่าเมทริกซ์ V ควรจะหน้าตาเป็นยังไง

เป้าหมายของเราคือการหาแกนใหม่ตามขนาดการกระจายตัวของข้อมูล ดังนั้นสิ่งที่ควรจะพิจารณาก็คือ ความแปรปรวนร่วมเกี่ยว (协方差, covariance) ของข้อมูล

เกี่ยวเรื่องความแปรปรวนร่วมเกี่ยวได้เขียนถึงไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20180517

เมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยวแสดงได้โดย
..(9)

โดยที่ c เป็นค่าความแปรปรวนร่วมเกี่ยวของข้อมูลแต่ละมิติ ในที่นี้เพื่อความง่ายจะพิจารณาข้อมูลที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0 (เพียงแต่ในการใช้งานจริงต่อให้ไม่ปรับข้อมูลให้ค่าเฉลี่ยเป็น 0 ก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน)
..(10)

โดยเลขที่ยกแล้วใส่วงเล็บอยู่ด้านบนคือดัชนีแสดงลำดับของข้อมูล บอกว่าเป็นจุดที่เท่าไหร่ ให้แยกแยะจากเลขด้านล่างซึ่งเป็นตัวบอกถึงมิติ

แล้วก็จะได้ว่า
..(11)

ในทำนองเดียวกัน เมทริกซ์ความแปรปรวนของพิกัดใหม่ก็จะสามารถเขียนได้เป็น
..(12)

หากแทนสมการสมการ (7) และ (8) แล้วจัดรูปจะได้ว่า
..(13)

ตรงนี้สาเหตุที่ VVT หายไปเพราะเป็นคุณสมบัติของเมทริกซ์เชิงตั้งฉาก

ทีนี้เป้าหมายของเราคือต้องการให้ระบบพิกัดใหม่แสดงการกระจายของข้อมูลตามแกนอย่างชัดเจนแยกจากกัน ดังนั้น Λ ควรเป็นเมทริกซ์แนวทแยง
..(14)

โดยที่ λ คือค่าความแปรปรวนของค่าต่างๆในพิกัดใหม่ ที่จริงต้องเป็นความแปรปรวนร่วมเกี่ยว λi,j แต่เนื่องจากเหลือแต่องค์ประกอบแนวทแยง คือ i=j กรณีนี้จะเป็นแค "ความแปรปรวน" เฉยๆ ไม่มี "ร่วมเกี่ยว" ในที่นี้เพื่อความง่ายก็เขียนเหลือแค่ λi
..(15)

แล้วฝั่งซ้ายของสมการ (13) ก็จะได้เป็น
..(16)

แบบนี้ก็จะได้ว่า
..(17)

ซึ่งเป็นรูปแบบของปัญหาการวิเคราะห์หาเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ (本征向量, eigenvector)

โดยในที่นี้ vi คือเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ C คือเมทริกซ์จตุรัส ส่วน λi คือค่าคงที่ เรียกว่าค่าลักษณะเฉพาะ (本征值, eigenvalue)

เกี่ยวกับเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะในที่นี้จะไม่ลงรายละเอียด หากสนใจอาจอ่านเพิ่มได้ที่อื่นเช่นในวิกิ https://th.wikipedia.org/wiki/เวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ

อนึ่ง คำว่า "ลักษณะเฉพาะ" ในที่นี้แปลจากคำว่า eigen ส่วน "ลักษณะเฉพาะ" ซึ่งหมายถึงตัวแปรต่างๆที่นำมาพิจารณานั้นแปลมาจากคำว่า feature เป็นคนละคำ คนละเรื่องกัน ดังนั้นต้องระวังอย่าจำสับสนกัน

เวกเตอร์ลักษณะเฉพาะคือเวกเตอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือเมื่อถูกคูณด้วยเมทริกซ์จตุรัสตัวนึงแล้วจะได้ผลออกมาเป็นค่าคงที่คูณกับเวกเตอร์ตัวเดิม

จากนั้นก็แก้สมการ (17) หาค่า λ และเวกเตอร์ v
..(18)

แล้วก็จะกลายเป็นปัญหา m สมการ โดยมีตัวแปรที่ไม่รู้อยู่ m+1 ตัว คือ v1,...vm และ λ
..(19)

ถ้าเป็นแบบนี้จะมีคำตอบได้ไม่จำกัด แต่เนื่องจากนี่เป็นเวกเตอร์สำหรับแปลงระบบพิกัด คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือขนาดจะต้องเป็น 1
..(20)

จากตรงนี้จึงมีสมการควบคุมเพิ่มอีกสมการ

เมื่อแก้สมการออกมาได้ก็จะพบว่ามีคู่ของเวกเตอร์และค่าลักษณะเฉพาะออกมาเป็นจำนวน m คู่ โดย v แต่ละตัวก็คือเวกเตอร์แสดงการแปลงพิกัดแกนที่เราต้องการ และ λ ที่เข้าคู่กับ v นั้นจะบอกถึงความแปรปรวนภายในแกนนั้น

ความแปรปรวนบอกถึงความสำคัญของแกนนั้น ปกติแล้วมักนำมาหารด้วยผลรวมของค่าความแปรปรวน แล้วเรียกว่า อัตราความบ่งบอกความแปรปรวน (解释方差占比, variance explained ratio)
..(21)

ค่านี้เองที่จะเป็นตัวที่พิจารณาว่าควรเก็บตัวแปรใหม่ตัวไหนไว้ ตัดตัวไหนทิ้ง ตัวที่ความแปรปรวนน้อยจะถูกตัดทิ้งได้ ดังนั้นสุดท้ายแล้วจำนวนแกนของระบบพิกัดใหม่ก็จะลดลงจากเดิม

วิธีการแก้สมการหาเวกเตอร์และค่าลักษณะเฉพาะจะไม่แสดงในนี้ แต่ว่า numpy มีฟังก์ชันสำหรับหาค่านี้ให้ นั่นคือ np.linalg.eig และ np.linalg.eigh ดังนั้นจะดึงมาใช้เลย

np.linalg.eig จะใช้กับเมทริกซ์ทั่วไปซึ่งค่าลักษณะเฉพาะที่ได้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนจริงเสมอไป แต่ np.linalg.eigh จะใช้กับเมทริกซ์แอร์มีต (埃尔米特矩阵, Hermitian matrix) ซึ่งเป็นเมทริกซ์ที่ค่าลักษณะเฉพาะทั้งหมดเป็นจำนวนจริงแน่นอน

ผลที่ได้จาก np.linalg.eigh จะเรียงลำดับตามค่าลักษณะเฉพาะเสมอ โดยเรียงจากน้อยไปมาก ในขณะที่ np.linalg.eig อาจไม่เรียงให้ ดังนั้นในที่นี้จะใช้ np.linalg.eigh



เขียนโปรแกรม

ขอยกตัวอย่างด้วยข้อมูลสองมิติ
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt
x = np.random.normal(0,2,1000)
y = np.random.normal(x*0.7,0.7)
c = np.random.random(1000) # ใส่สีเพื่อความสวยงามเฉยๆ ไม่มีความหมายอะไร
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(x,y,c=c,edgecolor='k',alpha=0.1,cmap='rainbow')
plt.show()



คำนวณหาเมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยว เสร็จแล้วก็หาเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะดู
praeruam = np.cov(x,y)
print('เมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยว\n',praeruam)
kha_eig,vec_eig = np.linalg.eigh(praeruam)
print('ค่าลักษณะเฉพาะ\n',kha_eig)
print('เวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ\n',vec_eig)

ได้
เมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยว
 [[3.90083866 2.68839157]
 [2.68839157 2.31209055]]
ค่าลักษณะเฉพาะ
 [0.30316666 5.90976256]
เวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ
 [[ 0.59859366 -0.80105282]
 [-0.80105282 -0.59859366]]

ฟังก์ชัน np.linalg.eig จะคืนค่ามา ๒ ตัว อันแรกคืออาเรย์ของค่าลักษณะเฉพาะทุกค่า อันหลังคืออาเรย์ซึ่งเอาเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะมาเรียงต่อกันในแนวนอน

ในที่นี้มีสองมิติจึงได้อาเรย์ของเวกเตอร์เป็น 2x2 หลักทางซ้ายเป็นเวกเตอร์ตัวนึง ทางขวาเป็นอีกตัว

ลองแสดงทิศทางของแกนใหม่ที่ได้ภายในระบบพิกัดเดิมดู โดยคูณค่าลักษณะเฉพาะที่เข้าคู่กันไปด้วย เพื่อแสดงถึงขนาดความสำคัญ
kaen_x_mai = kha_eig[1]*vec_eig[:,1]
kaen_y_mai = kha_eig[0]*vec_eig[:,0]
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(x,y,c=c,edgecolor='k',alpha=0.1,cmap='rainbow')
plt.arrow(0,0,kaen_x_mai[0],kaen_x_mai[1],head_width=0.2)
plt.arrow(0,0,kaen_y_mai[0],kaen_y_mai[1],head_width=0.2)
plt.show()



จะเห็นว่าแกนใหม่วางตัวตามการกระจายของข้อมูล ขนาดของแกนก็สอดคล้องกับการกระจาย

สำหรับการแปลงพิกัดไปอยู่ในแกนนี้สามารถทำได้ด้วยการคูณเมทริกซ์
X = np.array([x,y]).T
Xi = X.dot(vec_eig[:,::-1])
xi,yi = Xi.T
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(xi,yi,c=c,edgecolor='k',alpha=0.1,cmap='rainbow')
plt.show()

ในที่สุดก็ได้จุดข้อมูลในระบบพิกัดใหม่



และหากนำข้อมูลนี้มาหาเมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยวก็จะพบว่านอกจากแนวทแยงแล้วค่าแทบเป็น 0 คือการกระจายในแต่ละแกนเป็นอิสระต่อกัน ซึ่งตรงกับสิ่งที่ต้องการ
print(np.cov(xi,yi))

ได้
[[5.90976256e+00 1.58698546e-16]
 [1.58698546e-16 3.03166658e-01]]

ต่อมาทีนี้ลองสร้างภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยวและเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะที่หาได้ เพื่อให้เห็นภาพ
cov = np.array([[[1,0],[0,1]],
                [[1,-1],[-1,1]],
                [[1,-0.8],[-0.8,1]],
                [[1,0.8],[0.8,1]],
                [[1,1],[1,1]],
                [[0.5,0.5],[0.5,1.5]],
                [[1.5,0.5],[0.5,0.5]],
                [[1.5,-0.5],[-0.5,0.5]],
                [[0.5,-0.5],[-0.5,1.5]],
                ])
plt.figure(figsize=[7,8])
for i,c in enumerate(cov):
    x,y = np.random.multivariate_normal([0,0],c,2000).T
    X = np.array([x,y]).T
    kha_eig,vec_eig = np.linalg.eigh(c)
    plt.subplot(331+i,aspect=1)
    plt.scatter(x,y,s=20,edgecolor='k',alpha=0.01)
    plt.title('%.1f %.1f\n%.1f %.1f'%(c[0,0],c[0,1],c[1,0],c[1,1]))
    kv = kha_eig*vec_eig
    plt.arrow(0,0,kv[0,0],kv[1,0],color='r',head_width=0.4,head_length=0.2)
    plt.arrow(0,0,kv[0,1],kv[1,1],color='m',head_width=0.4,head_length=0.2)
plt.tight_layout()
plt.show()



การสร้างกระจุกข้อมูลที่มีความแปรปรวนร่วมเกี่ยวตามที่ต้องการทำด้วยฟังก์ชัน multivariate_normal รายละเอียดได้แนะนำไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20180525



สร้างเป็นคลาส

กระบวนการตั้งแต่หาเมทริกซ์ความแปรปรวนร่วมเกี่ยว หาเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ และคูณเพื่อให้อยู่ในระบบพิกัดใหม่ อาจนำมาเขียนในรูปของคลาสเพื่อความสะดวกได้ดังนี้
class WikhroOngprakopLak:
    def rianru(self,X):
        praeruam = np.cov(X.T)
        kha_eig,vec_eig = np.linalg.eigh(praeruam)
        self.V = vec_eig[:,::-1]
        self.a = kha_eig[::-1]/kha_eig.sum()

    def plaeng(self,X):
        return X.dot(self.V)

    def rianru_plaeng(self,X):
        self.rianru(X)
        return self.plaeng(X)

การใช้ก็เริ่มจากสร้างออบเจ็กต์จากคลาสขึ้นมา แล้วก็ใส่ให้เรียนรู้ข้อมูลด้วยเมธอด .rianru() แล้วโปรแกรมก็จะคำนวณเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะ (V) และอัตราความบ่งบอกความแปรปรวน (a) จากนั้นพอใช้เมธอด .plaeng() ก็จะเป็นการแปลงพิกัดของข้อมูลโดยคูณกับเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะที่ได้มา

แต่ถ้าหากต้องการแปลงแค่ข้อมูลที่ใช้เรียนรู้แล้วให้คืนค่ามาทันทีก็อาจใช้เมธอด .rianru_plaeng() ก็จะเป็นการทำทั้ง rianru และ plaeng ไปเลยในคราวเดียว

ลองทดลองใช้กับข้อมูลสามมิติแบบนี้ (คำสั่ง make_blobs อ่านรายละเอียดได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161127)
from sklearn import datasets
from mpl_toolkits.mplot3d import Axes3D
np.random.seed(10)
X,z = datasets.make_blobs(200,n_features=3,centers=4,cluster_std=2.5)
mm = X.min(),X.max()
plt.figure(figsize=[6,6])
ax = plt.axes([0,0,1,1],projection='3d',xlim=mm,ylim=mm,zlim=mm)
ax.scatter(X[:,0],X[:,1],X[:,2],c=z,cmap='rainbow',edgecolor='k')
plt.show()



ให้เรียนรู้แล้วหาค่าในระบบพิกัดใหม่ แสดงค่าในสองแกนแรกออกมา จะเห็นว่ามีการกระจายออกมาดี
wol = WikhroOngprakopLak()
wol.rianru(X)
Xi = wol.plaeng(X)
# หรือ Xi = WikhroOngprakopLak().rianru_plaeng(X)
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(Xi[:,0],Xi[:,1],c=z,cmap='rainbow',edgecolor='k')
plt.show()



คราวนี้ลองเปลี่ยนมาเป็นใช้สองแกนหลัง จะกลายเป็นว่าแกนหลังมีการกระจายน้อย
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(Xi[:,1],Xi[:,2],c=z,cmap='rainbow',edgecolor='k')
plt.show()



ดังนั้นแบบนี้ใช้แค่ ๒ แกนแรกในการวิเคราะห์ปัญหาก็เพียงพอ สามารถลดมิติของปัญหาลงได้



ทดลองใช้กับข้อมูลไวน์

เพื่อให้เห็นภาพชัดลองดูตัวอย่างของข้อมูลที่มีจำนวนมิติมาก ข้อมูลชุดหนึ่งที่นิยมถูกใช้เป็นตัวอย่างก็คือข้อมูลไวน์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้เคยใช้ยกตัวอย่างไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20171207
w = datasets.load_wine()
X,z = w.data,w.target
X = (X-X.mean(0))/X.std(0) # แปลงข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน
wol = WikhroOngprakopLak()
Xi = wol.rianru_plaeng(X)
print(wol.a) # แสดงค่าอัตราความบ่งบอกความแปรปรวน
# แสดงการกระจายตัวของสองแกนแรก
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(Xi[:,0],Xi[:,1],c=z,cmap='jet',edgecolor='k')
plt.show()

จะได้ค่าอัตราความบ่งบอกความแปรปรวน
[ 0.36198848  0.1920749   0.11123631  0.0706903   0.06563294  0.04935823
  0.04238679  0.02680749  0.02222153  0.01930019  0.01736836  0.01298233
  0.00795215]

และนี่เป็นผลการวาดแสดงการกระจายตัวของค่าในสองแกนแรก





ความสำคัญของการทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน

สิ่งหนึ่งที่ควรทำก่อนทำการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักก็คือ ข้อมูลที่นำมาใช้นั้นหากตัวแปรต้นแต่ละตัวไม่ใช่หน่วยเดียวกันแล้วควรต้องปรับข้อมูลให้เป็นมาตรฐานก่อน เพราะมีผลมาก

เกี่ยวกับเรื่องการทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเขียนไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161124

จะเห็นว่าตัวอย่างข้อมูลไวน์ที่ใช้เมื่อครู่มีการแปลงค่าทำให้เป็นมาตรฐานก่อนที่จะนำมาใช้ด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือเช่นข้อมูลลักษณะแบบนี้



จะเห็นว่าค่าแกนนอนมีขนาดใหญ่กว่าแกนตั้งมาก แบบนี้ต่อให้ทำการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักก็จะได้แกนที่แทบไม่ต่างจากเดิม

แต่ถ้าทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานแล้วก็จะกลายเป็นแบบนี้ ผลที่ได้จะต่างออกไปมาก คราวนี้การย้ายแกนดูแล้วมีประโยชน์ขึ้นมาก



ส่วนผลการวิเคราะห์องค์ประกอบของไวน์นั้น หากไม่ทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานก่อนก็จะได้ผลเป็นแบบนี้แทน ซึ่งจะเห็นว่าผลต่างกันมาก



ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าถ้าไม่ทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานก่อน ถึงจะทำการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักไปก็อาจไม่ได้ช่วยอะไร



การวิเคราะห์องค์ประกอบหลักด้วยการแยกค่าเอกฐาน (SVD)

ในทางปฏิบัติแล้ว แทนที่จะคำนวณหาเวกเตอร์ลักษณะเฉพาะของเมทริกซ์คามแปรปรวนร่วมเกี่ยว วิธีที่มักใช้แทนคือใช้วิธีการแยกค่าเอกฐาน (SVD)

รายละเอียดเขียนไว้ในบทความนี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20190916



อ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> ปัญญาประดิษฐ์
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文