φυβλαςのβλογ
phyblas的博客



พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาเจิ้งหยางเหมิน
เขียนเมื่อ 2015/03/30 12:28
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 28 มี.ค. 2015

ปักกิ่งอากาศอุ่นขึ้นเรื่อยๆในช่วงที่ผ่านมา ค่อยๆสมกับเป็นฤดูใบไม้ผลิมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงเวลาที่อากาศน่าเที่ยวมากที่สุด

คราวนี้มีโอกาสได้แวะไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์รถไฟจีน (中国铁道博物馆) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจแห่งหนึ่งในปักกิ่ง จัดแสดงข้อมูลประวัติศาสตร์ต่างๆเกี่ยวกับรถไฟ

ที่ที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนนั้นมีอยู่สองแห่งในปักกิ่ง คือพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาเจิ้งหยางเหมิน (中国铁道博物馆正阳门馆) ซึ่งเน้นจัดแสดงประวัติศาสตร์และมีแผ่นป้ายและแบบจำลองต่างๆให้ดู

ส่วนอีกแห่งหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาชานเมืองตะวันออก (中国铁道博物馆东郊馆) ซึ่งตั้งอยู่นอกตัวเมืองไกลออกไปหน่อยไม่มีรถไฟฟ้าไปถึง ที่นั่นเน้นจัดแสดงรถไฟสมัยก่อนที่เลิกใช้แล้วเอามาวางไว้ให้คนชมเพื่อจะสัมผัสรถไฟของจริงอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีหออนุสรณ์จานเทียนโย่ว (詹天佑纪念馆) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนเหมือนกัน อยู่ใกล้กับกำแพงเมืองจีนด่านปาต๋าหลิ่ง (八达岭长城) จานเทียนโย่ว (詹天佑) คือวิศวกรรถไฟคนสำคัญของจีน มีบทบาทสำคัญตั้งแต่ยุคแรกๆที่จีนเริ่มมีการใช้รถไฟ

ตอนนี้ขอเริ่มจากสาขาเจิ้งหยางเหมินก่อนเพราะไปง่ายและเน้นจัดแสดงข้อมูลต่างๆมากกว่า โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ ทำให้ได้รู้วิวัฒนาการรถไฟตั้งแต่ยุคแรกเริ่มมาจนถึงปัจจุบัน

เจิงหยางเหมิน (正阳门) หรือที่ปกติเรียกกันว่าเฉียนเหมิน (前门) เป็นประตูเมืองทางทิศใต้ของปักกิ่ง เป็นย่านท่องเที่ยวที่สำคัญ เคยเขียนถึงไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120403

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเฉียนเหมิน การเดินทางมาก็ทำได้ง่ายโดยนั่งรถไฟฟ้ามาลงสถานีเฉียนเหมิน (前门站) แล้วเดินมาทางตะวันออกแป๊บเดียวก็ถึง



อาคารที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์นี้เมื่อก่อนเคยใช้เป็นสถานีรถไฟสมัยยุคแรกๆ เรียกว่าท่ารถตะวันออกเจิ้งหยางเหมิน (正阳门东车站) และได้เปิดทำการเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2010

อาคารนี้สร้างตั้งแต่ปี 1901 ออกแบบโดวิศวกรชาวอังกฤษ เป็นอาคารลักษณะแบบตะวันตก ถูกใช้เป็นสถานีรถไฟมาตลอดจนถึงปี ถือเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในจีนในยุคนั้น 1959 ช่วงปี 1949 - 1959 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของการใช้งาน สถานีนี้ถูกเรียกว่าสถานีปักกิ่ง

หลังจากนั้นในปี 1959 สถานีปักกิ่ง (北京站) ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกสร้างเสร็จ ทำให้สถานีที่เจิ้งหยางเหมินนี้ถูกเลิกใช้งาน สถานีปักกิ่งแห่งใหม่ได้ใช้งานเป็นสถานีกลางของปักกิ่งมาจนถึงปัจจุบัน

อาคารสถานีเจิ้งหยางเหมินเก่านี้ได้ถูกเปลี่ยนไปใช้งานเป็นอย่างอื่น เปลี่ยนการใช้งานอยู่หลายครั้งจนในปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์



ข้างๆทางเข้าพิพิธภัณฑ์มีที่ขายตั๋วรถไฟอยู่ ถึงจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกันโดยตรงแต่ก็รู้สึกได้ว่าเขาพยายามเอาอะไรที่เกี่ยวกับรถไฟมาตั้งไว้ที่นี่



ซื้อตั๋วแล้วเดินเข้ามาด้านใน ค่าตั๋ว ๒๐ หยวน แต่เป็นนักศึกษาแสดงบัตรนักเรียนก็ลดเหลือ ๑๐ หยวน



ที่นี่แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือชั้น ๑ ถึง ๓ แล้วก็มีชั้นใต้ดิน โดยชั้น ๑ กับ ๒ จะบรรยายถึงประวัติรถไฟของจีนไล่เรียงปีไปเรื่อยๆโดยแบ่งเป็นช่วงยุคต่างๆ

เริ่มจากยุคแรก 1876 - 1911

เรื่องเริ่มเล่าย้อนไปตั้งแต่ที่ปี 1825 รถไฟคันแรกถูกสร้างขึ้นในอังกฤษ จากนั้นในปี 1865 พ่อค้าชาวอังกฤษก็ได้มาสร้างรถไฟในปักกิ่ง เส้นทางยาวแค่ ๕๐๐ เมตร เป็นแค่รถไฟสำหรับนั่งชมเท่านั้น



จากในปี 1876 มีการเปิดทางรถไฟสายแรกในจีนขึ้น เป็นเส้นทางจากเซี่ยงไฮ้ไปยังอู๋ซง (吴淞) เป็นระยะทาง ๑๔.๕ กม. เป็นราง ๗๖๒ มม. ตามมาตรฐานอังกฤษ นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของรถไฟจีน



จากนั้นในปี 1881 จึงได้มีการสร้างทางรถไฟสายแรกที่สร้างโดยทางการจีนเอง นี่คือแบบจำลองของรถไฟที่ใช้ในเส้นนั้น มีชื่อรุ่นว่าจงกั๋วหั่วเจี้ยน (中国火箭) แปลว่าจรวดจีน



จากนั้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นช่วงที่จีนตกต่ำสุดๆ ชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศได้เข้ามากอบโกยผลประโยชน์และได้ยึดกรรมสิทธิ์กิจการต่างๆในจีนเป็นจำนวนมาก รวมถึงรถไฟจีนด้วย ช่วงนั้นก็ได้มีการสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ



สถานีท่ารถตะวันออกเจิ้งหยางเหมินซึ่งก็คืออาคารที่เป็นพิพิธภัณฑ์ในตอนนี้ก็ได้ถูกสร้างขึ้นในปี 1901 นี่คืออิฐที่ใช้ในการก่อสร้างตอนนั้น



หลังจากนั้นพอเข้าศตวรรษที่ 20 ได้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อจะนำกรรมสิทธิ์รถไฟในจีนกลับมาสู่คนจีน ได้มีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา รวบรวมเงินทุนและสร้างทางรถไฟขึ้นมาเองใหม่ ในช่วงปี 1903 - 1907 มีการสร้างทางรถไฟใหม่ขึ้นเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือทางรถไฟสายเฉาซ่าน (潮汕) คือรถไฟระหว่างเมืองแต้จิ๋วกับซัวเถา ขอยกสายนี้มาเป็นตัวอย่างสักหน่อยเพราะเป็นบ้านเกิดบรรพบุรุษเราเอง ตลอดสายยาว ๓๙ กม. เริ่มสร้างปี 1904 เสร็จในปี 1906 ในรูปนี้คือสถานีแต้จิ๋ว นอกจากนี้ก็ยังมีสร้างอีกหลายเส้นเซี่ยงไฮ้-หางโจว, จางโจว-เซี่ยเหมิน, ฯลฯ



ทางรถไฟสายจิงจาง (京张铁路) เป็นรถไฟที่เชื่อมระหว่างปักกิ่งกับจางเจียโข่ว (张家口) เริ่มสร้างปี 1905 เปิดใช้งานปี 1909



แบบจำลองภูมิทัศน์เส้นทางรถไฟสายจิงจางตรงช่วงที่ผ่านแถวกำแพงเมืองจีนด่านปาต๋าหลิ่ง



รูปปั้นจานเทียนโย่ว วิศวกรรถไฟคนสำคัญของจีน เป็นผู้นำการสร้างทางรถไฟสายจิงจาง



รูปขบวนรถไฟในช่วงยุคแรกๆ



ตรงนี้เล่าถึงความเกี่ยวพันระหว่างรถไฟกับการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) นั่นเพราะรัฐบาลของราชวงศ์ชิงนำกิจการรถไฟไปขายให้ต่างชาติทำให้ประชาชนไม่พอใจ จึงเป็นเหตุของการลุกฮือที่อู่ชาง (武昌革命) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงและนำประเทศเข้าสู่ยุคสาธารณรัฐจีน



เมื่อมาถึงตรงนี้ก็เข้าสู่ช่วงที่ ๒ ต่อไป ช่วงนี้คือช่วงยุคสาธารณรัฐจีน คือปี 1911 - 1949 หลังการปฏิวัติสำเร็จซุนยัดเซนได้มาบริหารกิจการรถไฟด้วยตัวเอง
เพราะเห็นความสำคัญของรถไฟเป็นอย่างมาก



ตั้งแต่ปี 1906 ญี่ปุ่นได้เข้ามาก่อตั้งบริษัทการรถไฟที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และได้ควบคุมกิจการรถไฟแถบนั้น



นี่คือใบหุ้นของบริษัทมหาชนการรถไฟหมั่นโจวใต้ (南满洲铁道株式会社) ที่ญี่ปุ่นมาตั้ง



เหมาอี่เซิง (茅以升, 1896 - 1989) บุคคลสำคัญอีกคนในวงการรถไฟจีน เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสะพาน เป็นคนออกแบบสะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเฉียนถาง (钱塘江大桥) ที่เมืองหางโจว ซึ่งเริ่มสร้างในปี 1934 และสร้างเสร็จในปี 1937 เคยเล่าถึงไปตอนที่เที่ยวหางโจว https://phyblas.hinaboshi.com/20120307



รถไฟที่ตั้งชื่อรุ่นเป็นบุคคลสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามคนคือ เหมาเจ๋อตง (毛泽东) โจวเอินไหล (周恩来) และ จูเต๋อ (朱德) แบบจำลองสีทองตรงกลางคือรุ่นเหมาเจ๋อตง ขวาล่างคือรุ่นโจวเอินไหล ซ้ายล่างคือรุ่นจูเต๋อ



ต่อมาเข้าสู่ช่วงที่ ๓ คือช่วงปี 1949 - 1978 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนถูกปกครองโดยเหมาเจ๋อตง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ก่อตั้งขึ้นมา การรถไฟก็ได้ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาล และที่อยู่ในกรอบแดงนี่คือตราสัญลักษณ์ของรถไฟจีนซึ่งถูกใช้มาจนปัจจุบัน ใช้มาตั้งแต่ปี 1950 แล้ว



ช่วงนั้นได้มีการซ่อมแซมทางรถไฟที่ถูกทำลายไปในช่วงสงครามจำนวนมากมาย



และได้สร้างทางรถไฟขยายเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง



รถไฟพลังไอน้ำเป็นที่นิยมในช่วงนั้น



ปี 1958 ได้มีการเริ่มสร้างรถไฟพลังไฟฟ้าขึ้นใช้ รถไฟพลังไฟฟ้าที่สร้างขึ้นมาแรกๆนั้นตั้งชื่อว่ารุ่นเสาซาน (韶山) ซึ่งเป็นชื่อเมืองบ้านเกิดของเหมาเจ๋อตง



นี่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับภายในรถไฟพลังไฟฟ้า



จนถึงปี 1978 รถไฟในจีนได้ขยายไปทั่วประเทศโดยเฉพาะเมืองสำคัญทางฝั่งตะวันออก รถไฟยังเชื่อมไปไกลถึงซินเจียง แต่ยังไม่มีรถไฟไปถึงทิเบต





ส่วนจัดแสดงของชั้น ๑ จบลงเพียงเท่านี้ ต่อไปขึ้นต่อที่ชั้น ๒ ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์ของรถไฟในช่วงถัดไป


ช่วงที่ ๔ คือช่วงปี 1978 - 2002 หลังจากที่ประเทศจีนเปิดประเทศแล้ว และเข้าสู่ยุคใหม่ ทางรถไฟยังคงขยายต่อไปอีกเรื่อยๆ



นี่เป็นรถไฟสายสำคัญที่เชื่อมระหว่างปักกิ่งกับฮ่องกง ความยาว ๒๔๐๖ กม. เราเคยนั่งสายนี้มาแล้วจากปักกิ่งไปกว่างโจว https://phyblas.hinaboshi.com/20120624



รูปสถานีตะวันตกปักกิ่ง (北京西站) ซึ่งเป็นต้นทางของทางรถไฟสายนี้



ป้ายรถไฟ จากสถานีตะวันตกปักกิ่งไปยังสถานีเกาลูน (九龙, จิ่วหลง) โดยผ่านสถานีตะวันตกกว่างโจว (广州东)



เส้นทางรถไฟที่เชื่อมเอเชียกับยุโรปเข้าด้วยกัน



ตามทางมีพวกอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในรถไฟจัดแสดงอยู่ประปรายด้วย




ตรงนี้พูดถึงรถไฟขนส่งสินค้า  แบบจำลองในตู้กระจกด้านล่างคือขบวนรถไฟขนน้ำมัน


ขบวนรถขนของ



เทคโนโลยีการสร้างสะพาน



แบบจำลองสะพานแบบมีฐานโค้งด้านล่างรองรับ



เทคโนโลยีการสร้างอุโมงค์



ทางรถไฟในจีนจนถึงปี 2002 มันขยายขึ้นไปอีกมาก



จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงสุดท้าย คือปี 2002 ถึงปัจจุบัน ช่วงนี้เป็นยุคที่เริ่มมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงขึ้น นี่คือรถไฟความเร็วสูงสายแรกของจีน เชื่อมระหว่างปักกิ่งกับเทียนจิน เรียกว่าสายจิงจิน (京津) เริ่มสร้างในปี 2005 และเปิดใช้ตั้งแต่ปีะ 2008 ความยาวแค่ ๑๒๐ กม. แต่เป็นก้าวแรกที่สำคัญ



ปี 2010 รถไฟเชือมเมืองเซี่ยงไฮ้กับหางโจว สายฮู่หาง (沪杭) เปิดทำการ สายนี้เราเคยได้นั่งมาแล้วตอนที่ไปอยู่หางโจว



จากนั้นปี 2011 รถไฟเชื่อมระหว่างปักกิ่งกับเซี่ยงไฮ้ เรียกว่าสายจิงฮู่ (京沪) ก็เปิดทำการ เป็นสายที่สำคัญเพราะเชื่อมเมืองใหญ่สองเมืองเข้าด้วยกัน สายนี้เสร็จก่อนที่เราจะเริ่มมาอยู่ปักกิ่งพอดี แต่ว่าก็ยังไม่มีโอกาสได้นั่งเลย



แล้วก็มีอีกหลายสายทั้งที่เปิดแล้วและวางแผนไว้กำลังสร้าง



นี่คือทางรถไฟทั้งหมดในปี 2010 เส้นหนาคือรถไฟความเร็วสูง ข้อมูลนี้ไม่เป็นปัจจุบัน จะเห็นว่าสายที่เชื่อมปักกิ่งกับเซี่ยงไฮ้ซึ่งเปิดเมื่อปี 2011 ไม่ได้อยู่ในนี้ด้วย



แบบจำลองรถไฟหัวจรวด รุ่นเหอเสีย (和谐) ขนาด 1:10



ส่วนอันนี้เป็นแบบจำลองขนาดใกล้เคียงของจริงสามารถเข้าไปนั่งแล้วจำลองเหมือนได้นั่งอยู่จริง แต่ว่าตอนนี้งดให้บริการอยู่



ทางนี้จัดแสดงอุปกรณ์ต่างๆสำหรับรถไฟสมัยใหม่





ชั้น ๒ หมดเท่านี้ ต่อมาขึ้นไปชั้น ๓ มีส่วนจัดแสดงข้อมูลอื่นๆอยู่อีกเล็กน้อย



ตรงนี้พูดถึงรถไฟที่ข้ามชายแดน ใช้เดินทางระหว่างประเทศ



แล้วก็มีแสดงรูปที่ผู้นำจากประเทศต่างๆมาชมรถไฟ รูปนี้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยมาลองนั่งรถไฟรุ่นเหอเสียเมื่อปี 2009



เปรียบเทียบรถไฟจีนกับรถไฟประเทศอื่นในด้านต่างๆ ของจีนเป็นสีแดง จะเห็นว่าดีกว่าประเทศอื่นแทบทุกด้าน



นอกจากส่วนจัดแสดงแล้วชั้น ๓ ก็มีส่วนสำหรับเด็กเล่นด้วย มีเกมให้เล่นกัน



แล้วก็ตรงนี้เป็นร้านขายของที่ระลึก



มีพวกแบบจำลองอยู่เยอะ ส่วนใหญ่ก็แพงทั้งนั้น แต่ก็มีพวกที่เป็นของเล่นถูกๆ





ส่วนจัดแสดงยังไม่หมดแค่นี้ ยังมีด้านล่างชั้นใต้ดินอีก กลับลงมาดูตรงนี้ ชั้นนี้ค่อนข้างมืดๆหน่อย ชั้นนี้เป็นที่จัดแสดงพวกแบบจำลองต่างๆ มีแบบจำลองของหลายสถานีหลักๆที่สำคัญ อันนี้คือสถานีใต้กว่างโจว (广州南站) เราเคยไปขึ้นรถไฟที่นี่มาแล้วตอนที่อยู่กว่างโจว ตอนนั้นไปเที่ยวเมืองจงซาน https://phyblas.hinaboshi.com/20120811



ตรงนี้เป็นรางรถไฟขนาดและแบบต่างๆ



สิ่งที่ดูอลังการมากที่สุดในชั้นนี้ก็คือแบบจำลองเส้นทางรถไฟที่เชื่อมชิงไห่กับทิเบต ทางรถไฟนี้ยาว ๑๙๗๒ กม. ตัดซอกซอนในหุบเขาเส้นทางทรหด



บริเวณแถวเมืองลาซ่า (拉萨) เมืองเอกของทิเบต สีเหลืองคือทางรถไฟ กว่าทางรถไฟจะมาถึงที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย



ส่วนนี่คือเส้นทางรถไฟจากปักกิ่งสู่กว่างโจว ซึ่งเราก็เคยนั่งผ่านมาแล้ว



เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ เราไม่เคยมีโอกาสได้นั่งสายนี้ก็เลยลองมาดูสักหน่อย หน้าจอนี้จะจำลองเหมือนกับว่าเรากำลังนั่งรถไฟผ่านสถานีต่างๆมองเห็นสถานที่เที่ยวระหว่างทาง เห็นแล้วก็อยากไปเที่ยวขึ้นมา



แบบจำลองสะพานต้าเซิ่งกวานข้ามแม่น้ำฉางเจียง (大胜关长江大桥) ที่หนานจิง เป็นสะพานข้ามแม่น้ำฉางเจียง (长江) แม่น้ำที่ยาวที่สุดในจีน



ใช้เวลาเดินทั้งหมดประมาณสองชั่วโมงกว่า การเดินชมพิพิธภัณฑ์ก็จบเท่านี้ แต่ว่านี่เป็นแค่แห่งหนึ่งเท่านั้น พิพิธภัณฑ์รถไฟปักกิ่งยังเหลืออีกสาขาหนึ่งซึ่งอยู่ที่ชานเมือง ซึ่งเรามีโอกาสไปเที่ยวในวันต่อมา https://phyblas.hinaboshi.com/20150403





-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目录

从日本来的名言
模块
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
机器学习
-- 神经网络
javascript
蒙古语
语言学
maya
概率论
与日本相关的日记
与中国相关的日记
-- 与北京相关的日记
-- 与香港相关的日记
-- 与澳门相关的日记
与台湾相关的日记
与北欧相关的日记
与其他国家相关的日记
qiita
其他日志

按类别分日志



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  查看日志

  推荐日志

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ