φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาชานเมืองตะวันออก
เขียนเมื่อ 2015/04/03 12:11
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 29 มี.ค. 2015

วันก่อนไป
พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาเจิ้งหยางเหมิน (中国铁道博物馆正阳门管) มาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20150330

ครั้งนี้ก็มาต่อกันที่
พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนสาขาชานเมืองตะวันออก (中国铁道博物馆东郊馆) ที่นี่เน้นจัดแสดงรถไฟของจริงที่เคยใช้งานจริงแต่ตอนนี้ไม่ใช้แล้วจึงนำมาตั้งแสดงให้คนทั่วไปชมได้

ที่นี่อยู่ค่อนข้างไกล ค่อนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองปักกิ่ง ไม่มีรถไฟฟ้าไปถึง สามารถนั่งรถเมล์ไปได้แต่ว่าต้องเดินไกลสักหน่อย

สถานที่นี้ตั้งอยู่ติดกับทางรถไฟที่วนเป็นวงกลม ทางรถไฟส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ทดลองทางรถไฟแห่งชาติ (国家铁道试验中心) โดยวงรอบรางรถไฟมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ กม.

พิพิธภัณฑ์รถไฟจีนตั้งอยู่ด้านนอกของวงรอบรางรถไฟ ส่วนภายในวงรอบรางรถไฟนี้ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์อีกสองแห่งที่น่าสนใจ เช่นพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน (中国电影博物馆) และพิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินและยานอวกาศปักกิ่ง (北京航空航天模型博物馆)

รถเมล์มีอยู่สองป้ายที่สามารถไปได้คือป้ายหนานเกาซี (南皋西) กับป้ายหวนสิงเถี่ยเต้า (环行铁道) ทั้งสองป้ายนี้อยู่คนละทิศกันเลย



เรานั่งรถเมล์ไปลงที่ป้ายหวนสิงเถี่ยเต้าเพราะว่าสะดวกมากกว่าในการนั่งรถมาจากทางมหาวิทยาลัย แม้ว่าจะเดินไกลสักหน่อยก็ตาม

ตำแหน่งที่ลงนั้นมีลักษณะเป็นย่านชุมชนเล็กๆ



เมื่อเดินไปตามทางสักพักก็เห็นป้ายชี้บอกทางไปพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน ซึ่งต้องไปทางเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนอยู่แล้ว แต่ไม่ยักจะมีป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์รถไฟจีน



ระหว่างทางผ่านศูนย์ทดลองทางรถไฟแห่งชาติ



ถนนระหว่างทางมีคนวางขายมะพร้าวอยู่เต็มเลย



เดินไปสักพักก็เริ่มเคว้ง แถวนี้เป็นชานเมืองจริงๆ ดูว่างเปล่าไม่ค่อยมีอะไร



ถึงถนนด้านหน้าที่จะเลี้ยวเข้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ตรงนี้เหมือนจะเป็นดงแท็กซี มีรถแท็กซีเต็มไปหมดเลย เหมือนกับว่าจะมาส่งคนลงมาเที่ยวที่นี่แล้วจอดรอ



ป้ายหน้าทางเข้า ถึงแล้วนะ



ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์เป็นสีฟ้าสลับขาว ดูไม่ค่อยเหมือนพิพิธภัณฑ์เท่าไหร่เลย ลักษณะอาคารเป็นแบบโกดัง



ทางเข้า ซื้อตั๋วแล้วเข้าไปได้เลย ราคา ๒๐ หยวนเช่นเดียวกับสาขาเจิ้งหยางเหมิน แต่เรามีบัตรนักเรียนเลยลดครึ่งราคาเหลือ ๑๐ หยวนอีกเช่นเคย



ข้างในมีรถไฟตั้งเรียงกันอยู่เป็นแถวๆ แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ๘ ส่วน ไล่ตั้งแต่ A เรียงตามอักษรไปถึง H แต่ละส่วนมีป้ายบอกว่ามีรถไฟอะไรบ้าง เริ่มจากส่วน A มีรถไฟ ๑๓ ชนิด เรียงตัวกันอยู่ซ้ายขวา



ในนี้มีรถไฟอยู่หลากหลายชนิดมาก คงยกมาพูดถึงไม่หมด จะยกเฉพาะอันที่เด่นๆมาบางส่วน

ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าขบวนแรกสุดคือรถไฟรุ่น NY6 หมายเลข 0007 เป็นรถไฟพลังดีเซล สร้างโดยโรงงานผลิตของเยอรมันตะวันตก สร้างเมื่อปี 1972 ความเร็ว ๑๐๘ กม./ชม.



ข้างๆรถไฟขบวนนี้มีตั้งโทรทัศน์และที่นั่ง เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับรถไฟ มีคนมานั่งดู ส่วนใหญ่เป็นเด็ก




แล้วก็มีเกมให้เล่นอีกด้วย



รถไฟขบวนนี้รุ่น ND3 หมายเลข 0001 สร้างโดยโรงงานผลิตของประเทศรูมาเนีย ในปี 1984



ตรงตัวรถไฟมีชื่อประเทศแล้วก็ชื่อโรงงานผลิตอยู่ด้วย



รถไฟขบวนนี้มีชื่อรุ่นว่าตงฟางหง 1 (东方红1) เป็นรถไฟพลังดีเซล เริ่มสร้างขึ้นใช้เมื่อปี 1964 ส่วนขบวนนี้เป็นหมายเลข 4290 สร้างในปี 1971 ความเร็ว ๑๒๐ กม./ชม.



ชื่อตงฟางหงนี้เหมือนกับดาวเทียมดวงแรกของจีนที่ถูกส่งออกไปโคจรรอบโลกเมื่อปี 1970

ถัดมาดูต่อที่ส่วน B บ้าง ขบวนนี้เป็นรุ่นตงเฟิง 4C (东风4C) ก็เป็นรถไฟพลังดีเซลเหมือนกัน สร้างตั้งแต่ปี 1991 ความเร็ว ๑๐๐ กม./ชม.



สามารถเข้าไปดูด้านในตรงส่วนที่นั่งคนขับได้ด้วย ผู้ชายหน้าดุๆคนที่อยู่ในรูปนี้ดูเหมือนจะพาลูกมาเที่ยว



ข้างๆกันมีรถไฟหัวจรวด จงหัวจือซิง (中华之星) แปลว่าดาวแห่งจีน เป็นรถไฟกลุ่มแรกที่จีนออกแบบสร้างเอง เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2002 และเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2005 ออกแบบมาให้มีความเร็ว ๒๗๐ กม./ชม. ความเร็วสูงสุด ๓๒๑.๕ กม./ชม.



ตราสัญลักษณ์



ข้างๆกันนี้มีทางให้ขึ้นไปด้านบนเหมือนเป็นสะพานลอย ขึ้นจากตรงนี้



เมื่อขึ้นไปด้านบนก็จะมองเห็นทิวทัศน์ของที่นี่ทั้งหมด



อีกซีกนึงที่ยังไม่ได้ไปเดิน ทางโน้นจะเป็นรถไฟพวกรุ่นเก่ากว่า หน้าตาดูแตกต่างกันออกไปเลย



สะพานนี้พาดข้ามมายังส่วน C มาดูกันต่อ ขบวนนี้คือรุ่นเสาซาน1 (韶山1) เป็นรถไฟพลังไฟฟ้า ความเร็ว ๙๐ กม./ชม.



คันนี้ก็สามารถเข้าไปดูด้านในตรงที่นั่งคนขับได้



เดินเข้าไปลึกๆในส่วนนี้มีรถไฟตู้นอนรุ่น YW22 อักษร YW ย่อมาจาก ying wo พินอินของคำว่าอิ้งว่อ (硬卧) แปลว่าที่นอนแบบแข็ง



ต่อมาที่ส่วน D นี่คือรถไฟรุ่น ND4 หมายเลข 15 เป็นรถไฟพลังดีเซล ความเร็ว ๑๐๐ กม./ชม.



ส่วนนี้ยังจัดแสดงพวกป้ายบนรถไฟที่แสดงชื่อสถานที่ต้นทางและปลายทาง



นี่เป็นเส้นที่เชื่อมถึงต่างประเทศ อันที่เชื่อมไปถึงรัสเซียหรือมองโกเลียมีภาษารัสเซียกับมองโกเลียซึ่งเขียนเป็นอักษรซิริลลิกกำกับด้วย ส่วนอันล่างสุดเชื่อมกับเปียงยางเมืองหลวงเกาหลีเหนือ มีภาษาเกาหลีด้วย



จากนั้นข้ามมาอีกฟากแล้ว เดินถัดมาตรงส่วน E ทางนี้จะเป็นรถไฟที่ค่อนข้างเก่าลงมาหน่อยแล้ว นี่คือรถไฟรุ่น BTS สร้างโดยเยอรมัน ใช้ในพม่าตั้งแต่ปี 1966 จนถึงปี 2006 หลังเลิกใช้ทางการพม่าได้มอบเป็นของขวัญให้กับการรถไฟจีน ก็เลยนำมาแสดงที่นี่



รถไฟรุ่น SN หมายเลข 23 สร้างในปี 1929 เป็นรถไฟพลังไอน้ำที่ใช้วิ่งบนรางแคบ



สามารถขึ้นมาชมด้านบนได้



ส่วนนี่คือรุ่นเซิ่งลี่ 3 (胜利3) หมายเลข 152 รถไฟพลังไอน้ำ สร้างโดยบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นปี 1939 ความเร็ว ๑๐๐ กม./ชม.



สามารถขึ้นไปชมด้านบนได้



ตรงนี้คือรุ่น KD3 หมายเลข 373 สร้างโดยญี่ปุ่นในปี 1921 ความเร็ว ๕๐ กม./ชม.



ตรงนี้จัดแสดงป้ายชื่อบริษัทที่ติดบนรถไฟ



เทียบยุคต่างๆ



มีของญี่ปุ่นด้วย ป้ายเป็นภาษาญี่ปุ่น อันนี้มีเขียนปีเอาไว้ปีโชววะที่ 18 หรือก็คือปี 1943



ขบวนนี้คือรุ่น PL9 หมายเลข 146 เป็นรถไฟพลังไอน้ำ สร้างโดยโรงงานของเบลเยียมเมื่อปี 1922 ความเร็ว ๘๐ กม./ชม. ใช้ในเส้นทางรถไฟระหว่างปักกิ่งกับอู่ฮั่น



ตรงนี้อยู่มุมด้านในสุดของอาคาร มองออกไปนอกหน้าต่างเห็นดอกไม้บานเต็มสวน



จากนั้นไปต่อส่วน F นี่คือรถไฟรุ่น เจี่ยฟ่าง (解放) หมายเลข 2101 หรือมีอีกชื่อว่ารุ่นกั๋วชิ่ง (国庆) ซึ่งหมายถึงวันชาติ เพราะถูกสร้างขึ้นเพื่อต้อนรับวันครบรอบก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนปีแรก คือปี 1950 เป็นรถไฟพลังไอน้ำ ความเร็ว ๗๐ กม./ชม.



ขบวนนี้ก็เป็นรุ่นเจี่ยฟ่างเหมือนกัน หมายเลข 1191 ขบวนนี้ได้ชื่อว่ารุ่นจูเต๋อ (朱德) สร้างขึ้นโดยญี่ปุ่นเมื่อปี 1942



ต่อมาไปที่ส่วน G ตรงนี้มีรุ่นเจี่ยฟ่างอีกขบวน หมายเลข 304 ขบวนนี้ได้ชื่อว่าเหมาเจ๋อตง สร้างขึ้นในปี 1941 โดยญี่ปุ่น โดดเด่นตรงที่มีรูปเหมาเจ๋อตงติดอยู่ด้านหน้าด้วย



ขบวนนี้มีการนำหุ่นมาวางไว้ด้วย ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่าหุ่นตัวนี้ที่อยู่บนรถไฟหน้าคล้ายใคร...




ถัดมาส่วนสุดท้าย ส่วน H ตรงนี้มีรถบริการราชการ (公务车) เป็นรถไฟขบวนที่ถูกใช้โดยคนสำคัญของรัฐบาล ในนี้มีทั้งหมด ๔ คันจัดเรียงวางต่อเนื่องกัน



ด้านในเปิดให้เข้าชมได้ ภายในมีจัดวางของตั้งแสดงอยู่ แต่จะเข้าไปต้องต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก ๑๐ หยวน ตรงนี้เราไม่ได้เข้าไป



ถึงจะไม่ได้เข้าไปแต่ก็สามารถมองส่องภายในจากด้านนอกได้บางส่วน นี่ส่วนหัวขบวน



รุ่น YW หมายเลข 60959 นี้เป็นขบวนที่เหมาเจ๋อตงใช้ มีหุ่นจำลองตั้งไว้ข้างๆด้วย



ด้านในมีหุ่นเหมาเจ๋อตงอยู่ด้วย



ทางออก ถ้าเดินภายในรถไฟโดยเริ่มจากตรงทางเข้าก็จะมาสิ้นสุดตรงนี้



ดูจบหมดแล้ว เดินกลับมาที่หน้าทางเข้า ตรงนี้เป็นร้านขายของที่ระลึก



ก็มีพวกแบบจำลองรถไฟมากมาย แพงๆทั้งนั้น



ที่ถูกๆหน่อยก็เป็นพวกของเล่น อย่างอันนี้เลโก้





จบแล้วออกมาเข้าห้องน้ำ มีเรื่องที่ต้องระวังอย่างหนึ่งก็คือภายในส่วนจัดแสดงไม่มีห้องน้ำ ถ้าจะเข้าก็ต้องออกมาด้านนอกเท่านั้น ดังนั้นก่อนเข้าควรจะเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อน



หน้าอาคารจัดแสดงดอกยวี่หลานบานส่วนก็กำลังบานสวย



เดินออกมาห่างจากอาคารจัดแสดงก็จะเห็นทางรถไฟซึ่งมีรถไฟวางเฉยๆอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่ตรงนี้ไม่ได้มีป้ายติดบอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถไฟไว้



นี่คือรถไฟโบกี้อาหาร ซึ่งจอดเฉยๆอยู่ตรงนี้ทำเป็นภัตตาคารให้คนเข้าไปกินได้



ดูเหมือนว่าจะเอามาจากขบวนที่วิ่งระหว่างเมืองจิ่วเจียง (九江) มณฑลเจียงซี กับกว่างโจวหรือเซี่ยงไฮ้



เข้ามาด้านใน ตรงนี้เป็นส่วนขายของเล็กๆน้อยๆ



ส่วนตรงนี้คือส่วนที่เป็นร้านอาหาร มีคนมานั่งทานอยู่เยอะเลยเพราะใกล้เที่ยง



เราเองก็หิวพอดีเช่นกัน ก็จัดไปสักหน่อย ไม่งั้นก็ไม่รู้จะไปกินที่ไหน ที่นี่ก็ไม่น่าหาร้านอาหารง่ายๆด้วย อาหารที่นี่มีให้เลือกแค่ไม่กี่อย่างราคา ๒๘ หยวนหมดทุกอย่าง ถือว่าแพงแต่ก็เป็นปกติสำหรับสถานที่เที่ยว อันนี้ที่เราสั่งคือข้าวเป็ดราดซอสไต้หวัน (台湾酱鸭饭)



โบกี้อาหารของขบวนรถไฟนี้เท่าที่เห็นก็ไม่ได้ต่างอะไรจากรถไฟที่เคยนั่งมานัก เพียงแต่อันนี้เขาเอามาจอดอยู่เฉยๆเท่านั้นเอง


กินเสร็จแล้วท้องอิ่มก็ได้เวลาออกจากที่นี่ ที่หน้าอาคารจัดแสดงเห็นเด็กกำลังเล่นว่าวอยู่



มองขึ้นไปดูว่าวที่เด็กกำลังชักอยู่ ว่าวหน้าตาคุ้นๆล่ะ



จากตรงนี้มองไปเห็นพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีนอยู่ฟากโน้นด้วย แม้จะเห็นอยู่กับตาแบบนี้แต่จริงๆแล้วการจะเดินไปถึงทีนั่นไม่ใช่ใกล้ๆเลยเพราะต้องอ้อมไกล ที่นั่นอยู่ส่วนด้านในวงรอบรางรถไฟ



แต่เราไม่ได้ตั้งใจที่จะไปเที่ยวที่นั่นต่อ เพราะปกติแล้วก็ไม่ค่อยได้ดูหนังจีนเท่าไหร่ด้วยสิ ถึงไปก็คงจะไม่ค่อยเข้าใจอะไร ถ้าเป็นหนังหรืออนิเมะญี่ปุ่นก็ละก็คงจะไปแน่นอน เป้าหมายที่เราจะไปต่อคือพิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินยานอวกาศซึ่งอยู่ด้านในวงรอบรางรถไฟเหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินยานอวกาศเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงแบบจำลองพวกเครื่องบินแล้วก็ยานอวกาศต่างๆ ซึ่งก็ดูแล้วก็น่าสนใจมากเหมือนกัน แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีคนรู้จักนักหากเทียบกับพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน



เราออกไปนอกประตูเพื่อลองหารถแท็กซีที่จะพาไปปรากฏว่าที่เห็นจอดกันเยอะๆตั้งแต่แรกนั้นไม่มีคนขับเลย มีอยู่คันนึงมีคนขับแต่เขาก็กลับไม่รู้จักสถานที่ก็เลยไปไม่ได้

สุดท้ายจึงตัดสินใจเดินไปซะเลย มันค่อนข้างไกลอยู่แต่ไม่เป็นไร ได้นั่งพักกินข้าวแล้วมีแรงน่าจะเดินไปไหวอยู่

เริ่มจากเดินไปทางเหนือไกลพอสมควรจนมาถึงป้ายรถเมล์หนานเกาซีซึ่งเป็นอีกป้ายรถเมล์ที่สามารถมาลงเพื่อมาพิพิธภัณฑ์รถไฟจีนได้ จากตรงนี้ถัดไปอีก ๑ ป้ายรถเมล์ก็จะไปถึงพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน



ระยะทางไม่ได้ไกลมากสามารถเดินไปได้ เดินมาสักระยะก็เห็นป้ายชี้บอก



ในที่สุดก็มาถึงพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์จีน



จุดขายตั๋วและทางเข้า



แต่เป้าหมายเราไม่ใช่ที่นี่ ต้องเดินผ่านตรงนี้ออกไปไกลออกไปอีก



ระหว่างทางมันดูโล่งและเคว้งจนสงสัยว่าทำไมเขาต้องมาสร้างพิพิธภัณฑ์ไว้ในที่แบบนี้ แต่ก็คงเป็นเพราะต้องใช้พื้นที่มากจึงต้องมาตั้งไกลตัวเมือง



เดินสักพักก็มาถึงหมู่บ้านเล็กๆชื่อหมู่บ้านเฮย์เฉียว (黑桥村)



เป็นย่านชุมชนเล็กๆที่ไม่ได้มีอะไรมาก



เดินผ่านตรงนี้ในที่สุดก็มาถึงพิพิธภัณฑ์แบบจำลองยานบินยานอวกาศซึ่งเป็นเป้าหมาย



แต่แล้วพอมาที่ประตูทางเข้าก็ต้องมาพบกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งเขียนบอกความจริงอันโหดร้ายที่ทำให้หัวใจแตกสลายได้ นั่นคือที่นี่ปิดปรับปรุงอยู่ เท่ากับที่อุตส่าห์เดินมาตั้งไกลนี่เสียเที่ยวเสียแล้ว



ครั้งก่อนที่ไปวัดเจินเจวี๋ย (真觉寺) ก็เหมือนกัน ไปถึงแล้วปิดปรับปรุงเลยต้องเสียเที่ยว https://phyblas.hinaboshi.com/20141224

ไปโดยไม่ได้รู้เลยว่าที่เที่ยวมันปิดอยู่ ก็เป็นบทเรียนว่าควรจะหาข้อมูลให้ดีว่าสถานที่ที่จะไปนั้นปิดหรือเปล่า โดยเฉพาะที่ที่ไปลำบาก แต่ว่าต้องยอมรับว่าบางทีก็หาลำบาก โดยเฉพาะสถานที่ที่ไม่ค่อยมีคนไปมากต่อให้ปิดไปก็ไม่มีใครมาพูดถึงในเว็บ ถ้าเป็นที่ที่มีเว็บเป็นของตัวเองก็คงไม่มีปัญหา แต่ที่นี่ไม่มีเว็บ ต้องไปดูตามเว็บท่องเที่ยวซึ่งบางเว็บก็ไม่ได้แก้ข้อมูลว่าปิดไปหรือยัง ต้องตั้งใจค้นอย่างละเอียดดูเอง ซึ่งปกติแล้วก็คงจะไม่มีใครจะมาค้นโดยละเอียดขนาดนั้นเพราะที่เที่ยวก็ไม่ได้ปิดกันบ่อยๆ อย่างไรก็ตามครั้งนี้เราก็ไม่ถึงกับเสียดายมากนักเพราะยังไงก็อยู่ปักกิ่งอยู่แล้ว ไม่ได้มาลำบากเกินไป แต่ถ้าไปเที่ยวต่างเมืองมีเวลาจำกัดแล้วเจอแบบนี้ก็คงหดหู่อยู่เหมือนกัน

เมื่อเป้าหมายที่เล็งไว้พลาดไปเสียแล้วก็ไม่เป็นไร ยังมีสถานที่อื่นที่ตั้งเป้าอยากจะไป นั่นคือย่านศิลปะ 798 (798艺术区) เป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ ระหว่างที่เรากำลังพยายามหาว่าขึ้นรถที่ไหนดีก็เห็นรถเมล์คันหนึ่งวิ่งผ่านมา เราจึงสังเกตว่าป้ายรถเมล์อยู่ไม่ไลกจากตรงนี้จึงรีบวิ่งไปยังป้ายทันก่อนที่รถเมล์จะมาถึง รถเมล์คันนั้นเป็นสาย 851 ซึ่งสามารถนั่งไปถึงที่หมายที่ต้องการได้โดยตรงพอดี เท่ากับว่าโชคดีไป

พลาดที่เที่ยวที่นึงไปไม่เป็นไรสถานที่ต่อไปรออยู่ https://phyblas.hinaboshi.com/20150405



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文