φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



หอมุมตะวันออกเฉียงใต้กำแพงเมืองปักกิ่ง ปีนกำแพงชมรถไฟ
เขียนเมื่อ 2015/04/27 09:43
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 12 เม.ย. 2015

เมื่อ ๓ ปีก่อนเคยมีโอกาสได้มาชมดอกบ๊วยบานที่ชมดอกบ๊วยบานที่สวนสาธารณะซากกำแพงเมืองสมัยราชวงศ์หมิง https://phyblas.hinaboshi.com/20120406

บริเวณนี้เป็นส่วนของซากกำแพงเมืองเก่าของปักกิ่งซึ่งถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีในขณะที่ส่วนอื่นถูกรื้อทิ้งไปหมดแล้ว ปัจจุบันก็กลายเป็นสวนสาธารณะริมทางซึ่งปลูกดอกบ๊วยไว้เต็ม พอถึงฤดูใบไม้ผลิก็สวยงามเป็นที่สุด

หลังจากที่ตอนนั้นเคยได้ชมดอกบ๊วยไปแล้ว ครั้งนี้เรากลับมาที่นี่อีกครั้งเพื่อชมสิ่งที่ยังไม่ได้ชมไปในคราวนั้น นั่นคือ เข้าชมภายในหอมุมตะวันออกเฉียงใต้กำแพงเมืองปักกิ่ง (北京城东南角楼) ซึ่งอยู่ปลายตะวันออกสุดของกำแพงส่วนที่เหลือนี้

กำแพงส่วนบริเวณนี้อยู่ใกล้กับตงเปี้ยนเหมิน (东便门) ซึ่งเป็นป้อมประตูในส่วนของกำแพงส่วนนอก ตำแหน่งของตงเปี้ยนเหมินอยู่ตรงข้ามกับซีเปี้ยนเหมิน (西便门) ซึ่งเล่าถึงไปคราวก่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20150415

แต่ว่าทั้งป้อมประตูตงเปี้ยนเหมินและซีเปี้ยนเหมินต่างก็ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว ตอนนี้ที่เหลืออยู่คือส่วนของกำแพงที่อยู่ใกล้ๆ กับหอมุมตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตอนนี้ได้กลายมาเป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับกำแพงเมืองและป้อมประตู



ครั้งก่อนเราเดินทางมาที่นี่โดยลงรถไฟฟ้าที่สถานีรถไฟปักกิ่ง (北京火车站) แต่ว่าครั้งนี้เราแวะมาที่นี่หลังจากที่เที่ยวรื่อถาน (日坛) เสร็จ https://phyblas.hinaboshi.com/20150425

ดังนั้นจึงเดินมาจากทางเหนือ โดยผ่านรถไฟฟ้าสถานีเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门站) เจี้ยนกั๋วเหมินคือประตูที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1939 โดยเป็นแค่การเจาะรูปเปิดบนกำแพงเพื่อให้สามารถจราจรผ่านได้เท่านั้น เช่นเดียวกับฟู่ซิงเหมิน (复兴门) ที่แวะไปลงเมื่อครั้งเดินทางไปซีเปี้ยนเหมิน นี่ก็ไม่ใช่ป้อมประตูเก่าที่สร้างสมัยราชวงศ์หมิง

เจี้ยนกั๋วเหมินได้ถูกทำลายลงในปี 1969 พร้อมกับกำแพงในส่วนนี้เพื่อที่จะสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และในปี 1977 ได้มีการสร้างสะพานข้ามแยกขึ้น ใช้ชื่อว่าสะพานเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门桥) ปัจจุบันเจี้ยนกั๋วเหมินเป็นจุดเปลี่ยนรถไฟฟ้าระหว่างสาย 1 และสาย 2



จากบนสะพานเจี้ยนกั๋วเหมินมองทิวทัศน์ด้านล่าง



ข้างๆสถานีเจี้ยนกั๋วเหมินนั้นมีหอสังเกตการณ์โบราณปักกิ่ง กู่กวานเซี่ยงไถ (古观象台) ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวน่าสนใจอีกแห่ง สำหรับนักดาราศาสตร์แล้วย่อมสนใจที่นี่ เราเองก็เคยแวะมาเที่ยวที่นี่แล้วพร้อมกับเพื่อนในมหาวิทยาลัย แต่ว่ายังไม่มีโอกาสได้เล่าถึง ไว้จะหาโอกาสเขียนถึงอย่างละเอียดแน่นอน



เดินถัดลงมาทางใต้เรื่อยๆตามถนนวงแหวนที่สอง



แล้วก็มาถึงตรงหัวมุมที่ใกล้กับซากกำแพงเมืองเก่า ตรงนี้เห็นดอกกานพลู (丁香, ติงเซียง) สีม่วงบานเต็มอยู่




แล้วเราก็มาถึง นี่คือหอมุมตะวันออกเฉียงใต้ที่คราวนั้นไม่ได้เข้าไป



เมื่อถึงก็พบว่าดอกบ๊วยที่เคยบานอยู่เมื่อตอนมาครั้งที่แล้วนั้น ตอนนี้ไม่เหลืออยู่เลย เพราะครั้งนี้มาค่อนข้างช้ากว่าฤดูที่ดอกบ๊วยบาน น่าเสียดายอยู่ แต่ว่าเป้าหมายคราวนี้ไม่ใช่มาชมดอกบ๊วยดังนั้นไม่เป็นไร



ทางเข้าสู่หอมุมตะวันออกเฉียงใต้ ที่เห็นเป็นรูเปิดบนกำแพงนี้เป็นรูที่เปิดขึ้นในสมัยที่ปักกิ่งเริ่มสร้างทางรถไฟ สมัยนั้นกำแพงเมืองยังไม่ถูกรื้อทิ้ง เพื่อจะลากทางรถไฟเชื่อมจากในเมืองสู่นอกเมืองจำเป็นต้องเปิดช่องบนกำแพง ช่องนี้ถูกเจาะเมื่อปี 1915 เพื่อให้รถไฟวิ่งผ่าน



ค่าเข้าชมด้านในแค่ ๑๐ หยวน ใช้บัตรนักเรียนก็เลยลดได้ครึ่งราคาเหลือ ๕ หยวน
เมื่อเข้ามาด้านในก็จะเจอทางขึ้นสู่บนกำแพง



แต่ว่าข้างๆกันนั้นก็มีทางเข้าอาคารซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไรมาก แต่มีชั้นใต้ดิน ตรงนี้ที่จริงแล้วเป็นส่วนที่จะเข้าได้เมื่อมาเที่ยวกันเป็นกลุ่มแล้วมีคนนำเที่ยว แต่ตอนไปถึงเราไม่รู้ แล้วก็มีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเที่ยวพอดีก็เลยตามเขาเข้าไป



บังเอิญว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่มาเป็นคนไทยด้วย เราก็เลยยิ่งกลมกลืนกับกลุ่ม แปลกใจอยู่เหมือนกันที่เห็นคนไทยมาเที่ยวที่นี่ ที่จริงมันไม่ใช่ที่เที่ยวที่ดังที่คนไทยพูดถึงกันเท่าไหร่ แต่ว่าช่วงที่ไปนี้เป็นวันหยุดสงกรานต์ คนไทยเที่ยวเยอะอยู่แล้ว จะมาที่นี่บ้างก็คงไม่แปลก

เมื่อเข้าไปในอาคารก็มีแต่บันไดลงข้างล่าง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ชั้นใต้ดิน ระหว่างทางมีพวกภาพอะไรต่างๆติดอยู่บนผนังเต็มไปหมด แต่หลายอย่างมีราคาติด ดูเหมือนจะตั้งแสดงไว้ขาย



เมื่อลงไปถึงชั้นใต้ดินก็มีคนทักเรา โดยเขาทักเป็นภาษาไทยและภาษาจีนพร้อมกัน ถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า พอบอกไปว่าเป็นคนไทยเขาก็เข้าใจว่าเรามากับกลุ่ม ก็เลยบอกว่าคนอื่นเดินเข้าไปในห้องด้านในกันหมดแล้ว เราก็เลยรีบบอกเขาไปว่าเราไม่ได้มากับกลุ่ม แต่ก็เดินตามไป ซึ่งเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร คนที่คุยกับเรานี้คาดว่าน่าจะเป็นมัคคุเทศน์ที่นำพานักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาจึงพูดได้ทั้งสองภาษา

เราตามกลุ่มคนไทยเข้ามายังห้องด้านในก็พบว่าทุกคนกำลังนั่งฟังพนักงานในนี้กำลังอธิบายอะไรบางอย่างอยู่ ดูเหมือนกำลังเสนอขายของอยู่



เมื่อดูรอบๆห้องก็เจอของจัดแสดงที่มีราคาติดอยู่เต็ม ในนี้ดูเหมือนจะเป็นห้องที่เรียกนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อแนะนำให้ซื้อของเท่านั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น



ดูแล้วไม่มีอะไรน่าสนใจเราก็เลยเดินทะลุห้องนี้เดินต่อไป มีทางขึ้นสู่ชั้นพื้นดินอีกทาง



เราขึ้นไปด้านบนโดยบันไดนี้แล้วเห็นห้องอีกห้องที่มีจัดแสดงอะไรบนผนังอยู่เล็กน้อย แต่ก็ไม่มีอะไรมาก แต่ที่น่าสนใจคือเห็นมีแผนที่เมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์ชิงอยู่ด้วย



แต่เราอยู่ในห้องนี้ได้ไม่นานก็มีพนักงานเข้ามาแล้วบอกว่าคนไม่เกี่ยวข้องห้ามเข้า เราจึงมารู้ความจริงเอาตอนนี้ว่าส่วนจัดแสดงในนี้เขาให้เฉพาะคนที่มาเป็นกลุ่มเข้าชมเท่านั้น ดังนั้นส่วนจัดแสดงตรงนี้เลยดูไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ พอเราออกจากตรงนี้ไปเขาก็รีบปิดประตูทันที


ดังนั้นการที่เราได้เข้าไปเดินชมข้างในนี้แม้ว่าจะมาแค่คนเดียวก็เลยอาจถือเป็นกำไร แม้ว่าจริงๆแล้วในนี้มันจะไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเลยก็ตาม



ออกจากส่วนใต้ดินนั่นแล้วต่อไปก็จะขึ้นไปบนกำแพงซึ่งเป็นส่วนที่เขาเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมจริงๆแล้ว



แผนที่ส่วนบนกำแพงที่เขาเปิดให้เข้าชมได้ จะเห็นว่าไม่ค่อยกว้างมากสักเท่าไหร่



ตอนที่เดินขึ้นมาก็เห็นว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวไทยกำลังเดินออกมาจากอาคารใต้ดินนั่นพอดี แล้วก็กำลังเดินขึ้นมาบนกำแพงเหมือนกัน




ด้านบนกำแพง



จากบนนี้เป็นตำแหน่งที่ดีในการมองดูรถไฟที่วิ่งออกจากสถานีปักกิ่ง สามารถเฝ้ามองรถไฟจากตรงนี้ได้เรื่อยๆ เห็นทางรถไฟชัดเจน




มองออกไปไม่ไกลมากเห็นสถานีปักกิ่งอยู่โน่น



ตรงข้ามกับทางรถไฟ อีกด้านหนึ่งเป็นฝั่งติดถนนใหญ่ มีที่จอดรถ



กำแพงส่วนที่เดินได้นั้นสั้นนิดเดียว จากตรงนี้ไม่สามารถเดินต่อได้แล้วเพราะเขากั้นไว้แค่นี้ แต่จะเห็นได้ว่ากำแพงยังยาวต่อไปจากตรงนี้อีกเยอะ



มองลงจากตรงนี้ไปเห็นสวนซึ่งถ้าดอกบ๊วยกำลังบานอยู่ก็คงจะสวยมากกว่านี้มาก แต่ตอนนี้มีแต่ต้นไม้เขียวๆไม่มีอะไรเป็นพิเศษ



ใกล้ๆกันมีทางลงอีกทางแต่ปิดอยู่ไม่สามารถลงจากทางนี้ได้



เดินย้อนกลับไปตรงใกล้กับทางขึ้นเดิม ก็จะเห็นตัวอาคารหอมุมตะวันออกเฉียงใต้ตั้งเด่นอยู่




ภายในนี้ชั้นสองจัดแสดงเกี่ยวกับกำแพงเมืองและป้อมประตูของปักกิ่ง



ในนี้จัดแสดงแบบจำลองขนาดย่อของป้อมประตูทั้งหมดในปักกิ่งซึ่งมีทั้งหมด ๑๖ แห่ง



ที่เด่นสุดก็คือเจิ้งหยางเหมิน (正阳门) หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่าเฉียนเหมิน (前门) เพราะเป็นประตูสำคัญซึ่งอยู่ตรงกลางทางทิศใต้ของกำแพงส่วนใน อยู่หน้าทางเข้าสู่พระราชวังต้องห้าม



ฟู่เฉิงเหมิน (阜成门)



ส่วนอันนี้คือประตู ๓ แห่งทางทิศใต้ของกำแพงส่วนนอก โย่วอันเหมิน (右安门) หย่งติ้งเหมิน (永定门) จั่วอันเหมิน (左安门) แต่ว่าของจริงไม่ได้ตั้งติดๆกันแบบนี้ แต่กระจายห่างกันออกไปไกล



กว่างอันเหมิน (广安门) ป้อมประตูทิศตะวันตกของกำแพงส่วนนอก



ส่วนอันนี้คือกว่างฉวีเหมิน (广渠门) ป้อมประตูทิศตะวันออกของกำแพงส่วนนอก ตำแหน่งอยู่ตรงข้ามกับกว่างอันเหมินพอดีแต่กลับขนาดเล็กกว่ามาก



และป้อมประตูเล็กๆอีก ๒ อันนี้คือซีเปี้ยนเหมินกับตงเปี้ยนเหมิน ซึ่งเป็นประตูในส่วนของกำแพงส่วนนอกที่ตั้งอยู่ใกล้รอยต่อระหว่างกำแพงส่วนนอกกับส่วนใน ซึ่งเป็นส่วนของกำแพงที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างที่เห็น



รูปถ่ายที่พวกคนใหญ่คนโตมาเยี่ยมกำแพง



ส่วนจัดแสดงชั้น ๒ ก็จบแค่นี้ ไม่มีอะไรแล้ว ส่วนชั้น ๑ ไม่เปิดให้เข้าชมตอนนี้ เหมือนกำลังจัดเตรียมปรับปรุงอะไรอยู่



หมดแค่นี้สำหรับที่นี่ ว่าไปแล้วก็ไม่ค่อยมีอะไรมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็คิดว่าคุ้มค่าที่ได้มา

หลังจากเสร็จแล้วก็เดินออกจากที่นี่แล้วเดินเลียบไปตามกำแพงไปทางตะวันตกเหมือนครั้งก่อน แต่ครั้งนี้ไม่มีดอกบ๊วยบานสวยแล้วก็เลยไม่รู้จะถ่ายอะไร

พอเดินไปก็เจอบริเวณหนึ่งที่มีดอกกานพลูกำลังบานสวยอยู่ สำหรับช่วงนี้ที่จะบานสวยก็คือดอกกานพลูนี่แหละ แต่ก็มีอยู่แค่นิดเดียวจึงไม่ได้เด่นอะไรนัก



แล้วก็เดินไปสุดทางที่รถไฟฟ้าสถานีฉงเหวินเหมินแล้วนั่งรถไฟฟ้ากลับจากที่นี่

นี่น่าจะเป็นสถานที่เที่ยวสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับกำแพงและป้อมประตูสมัยราชวงศ์หมิงแล้ว แต่โบราณสถานอื่นๆในปักกิ่งยังมีอีกหลายแห่งที่น่าไปชม



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文