φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



พิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น นักเขียนผู้พยายามเปลี่ยนโลกด้วยวรรณกรรม
เขียนเมื่อ 2015/06/16 01:46
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 7 มิ.ย. 2015

เมื่อก่อนเคยมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองเซ่าซิง (绍兴) ในมณฑลเจ้อเจียง และได้เที่ยวบ้านเก่าของบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจีน คือหลู่ซวิ่น (鲁迅) https://phyblas.hinaboshi.com/20120720

หลู่ซวิ่นนั้นเป็นปรมาจารย์วรรณคดีจีนยุคใหม่ที่มีชื่อเสียงมาก เขาเกิดที่เมืองเซ่าซิงและก็ย้ายที่อยู่ไปอีกหลายแห่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาอาศัยอยู่ปักกิ่งดังนั้นจึงมีบ้านเขาอยู่ในปักกิ่ง

ปัจจุบันบ้านเก่าของเขาในปักกิ่งได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่น (鲁迅博物馆) ซึ่งเป็นที่จัดแสดงบอกเล่าชีวประวัติเขา ตั้งอยู่แถวฟู่เฉิงเหมิน (阜成门) เขาเริ่มอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 1924 บริเวณบ้านเป็นซื่อเหอย่วน หลู่ซวิ่นเป็นคนออกแบบเอง

เมื่อสมัยที่เราไปเที่ยวเซ่าซิงนั้นยังไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับหลู่ซวิ่นมากนัก จึงไม่ได้ตั้งใจเขียนข้อมูลอย่างละเอียดสักเท่าไหร่ ทั้งๆที่หากเขียนถึงโดยจริงๆแล้วละก็ที่นั่นมีอะไรน่าพูดถึงยาวกว่ามากมาย

แต่เมื่ออยู่เมืองจีนมาเป็นเวลานานเราก็ได้ยินคนพูดถึงหลู่ซวิ่นอยู่ไม่น้อย ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเขามากขึ้นและรู้ว่าเขาเป็นคนที่มีความสำคัญไม่น้อยในประวัติศาสตร์จีน ทำให้ครั้งนี้สนใจที่จะเล่าถึงหลู่ซวิ่นอย่างละเอียดมากขึ้นสักหน่อย





เราแวะมาที่นี่หลังจากที่เพิ่งไปเที่ยวหอคอยโทรทัศน์กลาง (中央电视塔) และหอจัดแสดงโลกใต้น้ำไท่ผิงหยาง (太平洋海底世界展览馆) เสร็จไป https://phyblas.hinaboshi.com/20150614

ที่เราแวะมาเที่ยวที่นี่ครั้งนี้ถือว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เดิมทีตั้งใจว่าจะเที่ยววัดไป๋ถ่า (白塔寺) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่มีเจดีย์โดดเด่นสวยงามอีกแห่ง แต่ระหว่างทางเดินไปวัดไป๋ถ่าก็พบที่นี่ก่อนก็เลยลองแวะเข้าไปชมสักหน่อย

หากให้เทียบกับบ้านเก่าของหลู่ซวิ่นที่เซ่าซิงแล้วต้องถือว่าไม่ค่อยมีอะไรมาก มีแค่ส่วนจัดแสดงเล็กๆ อย่างไรก็ตามก็อธิบายชีวประวัติเขาตั้งแต่เกิดจนตาย ทำออกมาได้ดี โดยรวมแล้วคิดว่าใครที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องราวของหลู่ซวิ่นแต่ไม่อยากต้องไปไกลถึงเมืองเซ่าซิงก็น่าลองแวะมาเหมือนกัน

พิพิธภัณฑ์นี้สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียตังค์ แต่ต้องพกพาสปอร์ตไปด้วย

ด้านหน้าทางเข้า



ในสวนกลางบริเวณบ้านมีรูปปั้นหลู่ซวิ่นตั้งอยู่เด่น



อาคารนี้เป็นที่จัดแสดง



เริ่มต้นเข้ามาห้องแรกเป็นโถงโล่งๆ มีจัดแสดงพวกภาพเขียนอยู่ตามผนัง



ส่วนสำคัญจริงๆเดินถัดเข้ามาทางนี้



นี่เป็นห้องที่จัดแสดงชีวประวัติของหลู่ซวิ่นตั้งแต่เกิดจนตาย มีทั้งหมด ๒ ชั้น ชั้นบนซึ่งเป็นชั้นเริ่มต้นนั้นเป็นช่วงต้น จากนั้นถ้าเดินลงไปชั้นล่างก็จะเป็นช่วงท้าย



การเล่าเรื่องนั้นแบ่งเป็นช่วงๆซึ่งแบ่งตามสถานที่ที่หลู่ซวิ่นอาศัยอยู่ในช่วงชีวิตนั้น ช่วงแรกคือที่เมืองเซ่าซิง บ้านเกิดของเขา เขาอยู่ที่นั่นตั้งแต่ปี 1881 ที่เกิดจนมาถึงปี 1898



หลู่ซวิ่นมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1881 - 1936 ชื่อหลู่ซวิ่นนั้นเป็นนามปากกา ชื่อจริงของเขาคือโจวซู่เหริน (周树人) แต่ชื่อจริงตอนเกิดคือโจวจางโซ่ว (周樟寿)



แบบจำลองย่านบ้านเกิดของเขาที่เซ่าซิงซึ่งเราเคยไปมาแล้วนั่นเอง เป็นย่านเมืองเก่าที่สวยมากยังไงก็แนะนำว่าให้หาโอกาสไปกัน



จากนั้นในปี 1898 หลู่ซวิ่นได้ย้ายไปอยู่ที่หนานจิงเพื่อเรียนมหาวิทยาลัยในระบบการศึกษาสมัยใหม่สาขาโดยมีทุนการศึกษา ในตอนนั้นเองที่เขาเริ่มเปลี่ยนชื่อเป็นโจวซู่เหริน



ในปีเดียวกันนั้นเกิดเหตุการณ์การปฏิรูปร้อยวัน (戊戌变法) ซึ่งจักรพรรดิกวางซวี่ (光绪) พยายามจะปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่ แต่ว่าโดนซูสีไทเฮา (慈禧太后) ต่อต้านทำให้การปฏิรูปล้มเหลวจนทำให้ผู้สนับสนุนการปฏิรูปแต่ละคนโดนจับหรือไม่ก็หนีออกนอกประเทศไป

พอปี 1900 ก็เกิดเหตุการณ์ที่กองทัพพันธมิตร ๘ ชาติมาบุกปักกิ่ง เหตุการณ์ต่างๆที่ประทังเข้ามาในช่วงนี้ทำให้หลู่ซวิ่นคิดเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์ของประเทศชาติมากขึ้น

ปี 1901 เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยที่หนานจิง ต่อมาปี 1902 ก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น สองปีแรกศึกษาภาษาญี่ปุ่นและความรู้ทั่วไป ระหว่างนั้นสถานการณ์ในจีนความเคลื่อนไหวปฏิวัติเพื่อล้มราชวงศ์ชิงก็ร้อนแรงขึ้นทุกที หลู่ซวิ่นก็มีความคิดโน้มเอียงไปกับคณะปฏิวัติ เขาตัดสินใจตัดผมเปียซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกครองของราชวงศ์ชิงทิ้งไป



นอกจากนี้เขายังได้เริ่มทำการแปลนิยายไซไฟของทางตะวันตก และยังเริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรณีวิทยาและแร่ธาตุของจีนด้วย


พอถึงปี 1904 เขาก็เริ่มเข้าเรียนในสถาบันแพทยศาสตร์ที่เมืองเซนได

นี่คือใบประกาศอนุญาตให้เขาเข้าเรียนแพทย์ที่เซนไดด้วยทุนการศึกษา



ในช่วงนั้นเขามีโอกาสได้ดูคลิปที่เกี่ยวกับสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซียเข้า ในนั้นมีคนจีนที่ถูกจับด้วยขอหาเป็นไส้ศึกให้กับทางรัสเซียและกำลังถูกทหารญี่ปุ่นประหารตัดหัว แต่คนจีนที่อยู่รอบๆกลับไม่มีทีไม่รู้ไม่ชี้อะไร นั่นทำให้เขารู้สึกขึ้นมาว่าสิ่งที่คนจีนป่วยอยู่นั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องร่างกายแต่กลับเป็นจิตใจมากกว่า เขาจึงเลิกเรียนหมอแล้วหันไปเรียนวรรณกรรมแทน

ในช่วงนั้นเขาพยายามตีพิมพ์บทความหลากหลาย งานของเขาส่วนใหญ่เป็นงานแปล

นี่คือบทความเกี่ยวกับการค้นพบธาตุเรเดียมของมารี กูรี (Marie Curie) แปลเป็นภาษาจีนโดยหลู่ซวิ่น



ปี 1909 หลู่ซวิ่นกลับมายังบ้านกลางคันเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเงิน เขามาสอนหนังสือในเมืองหางโจว แล้วต่อมาไม่นานก็ได้ย้ายมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนที่เมืองเซ่าซิงบ้านเกิด

ในปี 1911 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) โค่นล้มราชวงศ์ จีนเข้ายุคสาธารณรัฐได้สำเร็จ แต่หลู่ซวิ่นก็พบว่านั่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย จิตใจของประชาจนก็ยังเหมือนเดิม นั่นทำให้เขารู้สึกผิดหวังอย่างมากและไม่พอใจต่อรัฐบาล ในปี 1912 เขาได้มารับตำแหน่งในกระทรวงศึกษาทิการของรัฐบาลชั่วคราวที่หนานจิง

ในเดือนพฤษภาคม 1912 ได้ตามกระทรวงศึกษาธิการมาทำงานที่ปักกิ่ง เวลาที่ว่างจากงานเขายังทำการวิจัยนวนิยายสมัยเก่าของจีน พอถึงปี 1918 เขาเริ่มตีพิมพ์ผลงานชื่อ "บันทึกของคนบ้า" (狂人日记) ซึ่งเปิดโปงความไม่มีมนุษยธรรมและจอมปลอมของระบบศักดินาในประวัติศาสตร์จีน นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาเริ่มใช้นามปากกา "หลูซวิ่น"



จากนั้นต่อมาในปี 1921 เขาได้ตีพิมพ์นิยายเรื่อง "เรื่องจริงของอา Q" (阿Q正传) ซึ่งเป็นผลงานโด่งดังที่สุดของเขา เนื้อหาเป็นการเสียดสีสังคมโดยผ่านตัวละครชื่ออา Q ซึ่งเป็นตัวอย่างของบุคคลที่ใช้ชีวิตอยู่กับความจอมปลอม ผลงานนี้ของหลู่ซวิ่นได้มีผลกระทบต่อสังคมจีนในสมัยนั้นอยู่ไม่น้อย

นี่คือพู่กันและจานหมึกที่ใช้โดยหลู่ซวิ่นในช่วงที่อยู่ปักกิ่ง



ของเก่าที่หลู่ซวิ่นสะสม



ชามและกระจกเก่าสมัยราชวงศ์หมิงที่หลู่ซวิ่นมอบให้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จีน



ในปี 1926 เกิดเหตุการณ์ที่รัฐบาลทำร้ายประชาชนที่ต่อต้านจนบาดเจ็บล้มตาย ในจำนวนผู้เคราะห์ร้ายมีนักเรียนของหลู่ซวิ่นอยู่ด้วย เขาจึงประนามเหตุการณ์นี้จนถูกออกหมายจับไปด้วย ทำให้เขาต้องหนีออกจากปักกิ่งมาอยู่ที่เซี่ยเหมิน ช่วงนั้นเขายังได้มีโอกาสเจอและพบรักกับสวี่กว่างผิง (许广平) ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกัน

เรื่องราวต่อจากนี้ไปลงมาดูต่อที่ชั้นล่าง



เมื่อหลู่ซวิ่นย้ายมาอยู่ที่เซี่ยเหมินเขาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมจีนและสถาบันวิจัยจีนศึกษาในมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน

บันทึกประจำวันของหลู่ซวิ่นในช่วงที่รับหน้าที่อยู่ที่นั่น



ไปรษณีย์บัตรที่หลู่ซวิ่นส่งให้สวี่กว่างผิงซึ่งอยู่ที่กว่างโจว เป็นภาพทิวทัศน์ของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน



ในปี 1927 เขาได้ย้ายไปอยู่กว่างโจวเพื่อเป็นศาสตาจารย์ที่มหาวิทยาลัยซุนยัดเซน ในช่วงนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นอีก พรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กมินตั๋งเกิดความแตกแยกกัน นักเรียนจำนวนหนึ่งของหลู่ซวิ่นถูกจับ เขาพยายามจะช่วยนักเรียนแต่ไม่ได้ผล สุดท้ายจึงขอลาออกจากตำแหน่งมหาวิทยาลัย

หลังจากนั้นหลู่ซวิ่นได้ย้ายไปอยู่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นที่ที่เขาอยู่ไปตลอดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต



ปี 1929 ภรรยาเขาได้ให้กำเนิดลูกชายคนเดียวของเขาชื่อโจวไห่อิง (周海婴)

ระหว่างที่อยู่เซี่ยงไฮ้เขาได้เป็นนักเขียนอิสระ ตั้งหน้าตั้งตาตีพิมพ์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายหลักคือเปลี่ยนแปลงสังคมจีน

ของใช้ในช่วงที่หลู่ซวิ่นอยู่เซี่ยงไฮ้



รวบรวมเรื่องสั้นของหลู่ซวิ่นซึ่งแปลเป็นภาษาเชค



เขาได้ทำงานตรากตรำอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1936 ได้เสียชีวิตลงด้วยวัณโรคที่เซี่ยงไฮ้ ผู้คนมากมายต่างไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของเขา

ข้อความที่หลู่ซวิ่นเหลือทิ้งเอาไว้ "คนตายหากไม่ฝังลงภายในใจของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แบบนั้นก็เท่ากับตายไปจริงๆแล้ว" (死者倘不埋在活人的心中,那就真真死掉了)



เป็นข้อความที่โดนใจจริงๆ ต่อให้เราตายไปหากมีผลงานเหลือไว้ให้ผู้คนรู้จักเราก็ไม่ถือว่าตายไปจริงๆ แต่จะมีชีวิตอยู่ในใจของคนอื่นไปอีกตราบนานเท่านาน

งานครบรอบวันตาย ๒๐ ปีของหลู่ซวิ่นในปี 1956 จัดโดยโจวเอินไหล



งานจัดแสดงชีวประวัติของหลู่ซวิ่นที่สวีเดนปี 1978



ผลงานของหลู่ซวิ่นที่ได้แปลเป็นภาษาต่างๆ ทางซ้ายคือภาษาฝรั่งเศส ทางขวาคือภาษาสเปน



เรื่องจริงของอา Q ในภาษาโรมาเนีย



หนังต่างๆที่ทำออกมาจากเรื่องที่หลู่ซวิ่นแต่ง



ภายในส่วนจัดแสดงชีวประวัติจบลงเท่านี้ ที่หน้าทางออกมีร้านขายของที่ระลึก



เสร็จแล้วก็ออกมา ตอนที่ออกมาฝนเริ่มตกแล้ว ข้างๆกันนั้นมีส่วนจัดแสดงอีกส่วนซึ่งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมยุคใหม่ในช่วงร้อยปีมานี้



เราไม่ได้ดูในนี้อย่างละเอียดเพราะห่วงเรื่องฝนเลยอยากรีบออกจากที่นี่ไปแล้ว ได้แต่ดูผ่านๆแล้วก็รีบออกมาเลย





ตอนขาออกมาเจอรูปปั้นของอักเนส สเมดลีย์ (Agnes Smedley) นักเขียนชาวสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาเรื่องประเทศจีน อาศัยอยู่ในจีนนาน ๑๒ ปี คุ้นเคยกับบุคคลสำคัญในจีนหลายคนรวมทั้งหลู่ซวิ่นด้วย สเมดลีย์เสียชีวิตที่ลอนดอนแต่ศพนำมาฝังไว้ที่สุสานปาเป่าซาน (八宝山公墓) ในปักกิ่ง





เราออกมาจากพิพิธภัณฑ์หลู่ซวิ่นแล้วมุ่งหน้าไปยังวัดไป๋ถ่าซึ่งเป็นเป้าหมายหลักจริงๆที่มาที่นี่ แต่ก็ต้องมาพบว่ามันปิดซ่อมอยู่ หอคอยสีขาวอันโด่งดังก็ปกคลุมไปด้วยม่านสีเขียวทำให้ไม่อาจชมความงดงามของมันได้ เป็นที่น่าเสียดายที่มาเสียเที่ยว แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะอย่างน้อยก็ได้มาแวะเยี่ยมบ้านเก่าของหลู่ซวิ่นแทน ไม่ผิดหวัง



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文