φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



บ้านเก่าของจางเสวียเหลียงในเทียนจิน
เขียนเมื่อ 2015/10/04 18:56
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42

#พฤหัส 18 มิ.ย. 2015

หายจากการเล่าเรื่องเที่ยวในจีนไปเดือนกว่าเพราะมีอย่างอื่นมาคั่น วันนี้ขอเริ่มนำสถานที่ที่ยังไม่ได้เล่าถึงมาเล่าต่อล่ะ

เมื่อตอนช่วงที่ยังอยู่ปักกิ่งอยู่นั้นก่อนที่จะกลับไทยไม่นานเราได้มีโอกาสไปเที่ยวเทียนจินอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ไปมาตั้งนาน เมื่อก่อนเคยไปครั้งล่าสุดก็ตอนปีใหม่ 2012 ผ่านไป ๓ ปีครึ่งแล้ว

เทียนจินเป็นเมืองที่ใหญ่แต่ว่าไม่ได้มีสถานที่เที่ยวมากมายนัก ครั้งก่อนที่ไปนั้นก็ได้เก็บสถานที่หลักๆไปเยอะแล้วตอนแรกก็เลยคิดว่าคงไม่มีอะไรที่จะต้องแวะไปอีก แต่ว่าสุดท้ายก็พบว่ามีสถานที่น่าสนใจอีกจำนวนหนึ่งที่น่าลองแวะไปเหมือนกัน ก็เลยลองแวะมาเที่ยวอีกครั้ง

ครั้งนี้เน้นการเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ แต่ละที่ที่ไปแวะมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ในฐานะเมืองท่าที่สำคัญเทียนจินมีบทบาทความสำคัญในยุคหลังๆมานี้ซึ่งมีการติดต่อกับต่างชาติ ส่วนประวัติศาสตร์สมัยเก่านั้นค่อนข้างน้อย

การเดินทางจากปักกิ่งไปเทียนจินนั้นครั้งนี้ก็เหมือนที่ผ่านมาคือนั่งรถไฟความเร็วสูงโดยใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ไปตอนเช้าแล้วตอนเย็นก็เดินทางกลับ

ครั้งนี้เทียนจินได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปมากพอสมควร เช่น มีการต่อขยายรถไฟฟ้าให้ทั่วถึงมากขึ้น เพิ่มรถไฟฟ้าสาย 2 และ 3 ขึ้นมาซึ่งเป็นสายที่ผ่านสถานีรถไฟ ทำให้การเดินทางเมื่อเรามาถึงสถานีรถไฟแล้วสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยรถไฟฟ้าในทันที ไม่ต้องนั่งรถเมล์เป็นหลัก ถึงอย่างนั้นรถไฟฟ้าในเทียนจินก็ยังคงไม่ถือว่าทั่วถึงมากนักหากเทียบกับปักกิ่งแล้ว ยังต้องใช้เวลาพัฒนาต่อไปอีกเยอะ

เมื่อครั้งแรกที่เราไปเทียนจินนั้นได้ทำบัตรเทียนจินเฉิงซื่อข่า (天津城市卡) สำหรับโดยสารรถไฟฟ้าและรถเมล์ภายในเทียนจินทั้งหมดเอาไว้ แต่ว่าบัตรนี้เมื่อผ่านไปนานเกิน ๒ ปีโดยไม่ได้ใช้ก็จะเข้าสู่สภาวะจำศีล ไม่สามารถใช้ได้ทันที ต้องไปยังเคาน์เตอร์ที่ทำการให้เขาช่วยทำให้มันกลับมาใช้งานได้ใหม่

เราได้เก็บบัตรนั้นไว้อย่างดีตั้งแต่ตอนนั้น แล้วครั้งนี้ได้พกบัตรนั้นไปด้วย ตอนแรกเรากะว่านั่งรถไฟไปถึงสถานีเทียนจินแล้วจะไปทำให้มันใช้งานขึ้นมาได้ แต่ปรากฏว่าพอไปถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้สถานีรถไฟเขาก็บอกว่าที่นี่ไม่สามารถทำได้ ต้องไปทำที่สถานีของรถไฟฟ้าสาย 1 เท่านั้นจึงจะมีเคาน์เตอร์ที่ดำเนินการเกี่ยวกับบัตรนี้ ทั้งการทำบัตรใหม่และการเติมเงินด้วย ซึ่งสถานีรถไฟไม่ได้อยู่บนสาย 1 เลยทำไม่ได้

ก็ได้แต่แปลกใจว่าทำไมมันมีข้อจำกัดแบบนี้ด้วย ถ้าเป็นที่ปักกิ่งละก็ทุกสถานีสามารถทำบัตรโดยสารหรือเติมเงินได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นสายไหน แต่ที่เทียนจินกลับทำได้แค่ที่สาย 1 ซึ่งเป็นสายที่เก่าแก่ที่สุด แต่สายที่เพิ่งเปิดใหม่อย่างสาย 2 และ 3 กลับไม่ได้ทำระบบให้สามารถจัดการอะไรเกี่ยวกับบัตรนี้ได้

สรุปแล้วทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนลำดับการเที่ยวสักหน่อย โดยไปเที่ยวสถานที่ที่อยู่บนรถไฟฟ้าสาย 1 ก่อนเพื่อจะไปทำให้บัตรใช้งานได้

นั่นทำให้เป้าหมายแรกในการเยือนเทียนจินวันนี้คือบ้านเก่าของจางเสวียเหลียง (张学良故居)



เทียนจินเป็นเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประวัติศาสตร์ในช่วง ๒ ศตวรรษที่ผ่านมาของจีน ทำให้มีความเชื่อมโยงกับบุคคลหลายคนในยุคนั้น บุคคลสำคัญหลายคนเคยอาศัยอยู่เทียนจินทำให้มีสถานที่ที่ถูกเรียกว่าเป็นบ้านเก่าของคนโน้นคนนี้มากมายซึ่งถูกอนุรักษ์เอาไว้

ปัจจุบันบ้านเก่าของบุคคลสำคัญต่างๆนั้นบางแห่งก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ทำการ แต่บางแห่งก็ถูกทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้คนได้เข้าไปชม

บ้านเก่าของจางเสวียเหลียงเป็นแห่งหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นสถานท่องเที่ยวให้คนเข้าชมข้างในได้ ดังนั้นจึงสนใจที่จะลองแวะไปชมสักหน่อย

สำหรับจางเสวียเหลียงถือว่าเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของจีนในยุคสมัยใหม่ซึ่งมีชะตากรรมค่อนข้างน่าสงสาร เขามีบทบาทในเหตุการณ์สำคัญช่วงเริ่มสงครามต่อต้านญี่ปุ่น แต่นั่นทำให้เขาต้องแลกมาด้วยชีวิตอีกครึ่งชีวิตที่เหลือของเขา



จางเสวียเหลียงเกิดในปี 1901 บ้านเกิดอยู่ที่มณฑลเหลียวหนิง เขาเป็นลูกของจางจั้วหลิน (张作霖) ขุนศึกผู้นำคนสำคัญแห่งรัฐบาลเป่ย์หยางสายเฟิ่งเทียนผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศในช่วงหนึ่ง

ปี 1927 กองทัพเป่ย์หยางพ่ายแพ้ให้กับก๊กมินตั๋งทำให้เจียงไคเชกเริ่มสามารถกุมอำนาจในแผ่นดินจีน ในเดือนมิถุนายนปี 1928 จางจั้วหลินรู้ว่ายังไงก็ไม่มีทางสู้ก๊กมินตั๋งได้จึงหนีออกจากปักกิ่งเพื่อไปยังเสิ่นหยาง แต่ก็โดนระเบิดของกองทัพญี่ปุ่นขณะนั่งรถไฟอยู่จนเสียชีวิต

หลังจากนั้นจางเสวียเหลียงจึงรับสืบทอดอำนาจต่อจากจางจั้วหลินผู้เป็นพ่อ ในปลายปีเขาประกาศยอมแพ้ขอสวามิภักดิ์กับก๊กมินตั๋ง เป็นการยุติความขัดแย้งภายในประเทศ แผ่นดินจีนตกเป็นของก๊กมินตั๋งที่นำโดยเจียงไคเชก

ปี 1931 เกิดเหตุการณ์สิบแปดกันยายน (九一八事变, จิ่วอีปาซื่อเปี้ยน) ขึ้น โดยรถไฟในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนใกล้เมืองเสิ่นหยางซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ประกอบการอยู่ได้เกิดระเบิดขึ้นโดยไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร ทางญี่ปุ่นอ้างว่าเป็นฝีมือของจีนก็เลยใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังทหารโจมตีบุกยึดแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จางเสวียเหลียงเป็นผู้นำทหารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนนั้นมองว่าศึกนี้ไม่มีทางชนะได้จึงไม่ต่อต้าน ได้แต่ล่าถอย ทำให้ญี่ปุ่นยึดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ และตั้งบริเวณนี้เป็นประเทศแมนจูกัว (满洲国, หมั่นโจวกั๋ว) ขึ้นเป็นประเทศหุ่นเชิดของญี่ปุ่น

อีกทั้งพอถึงปี 1933 กองทัพแมนจูกัวภายใต้คำสั่งของญี่ปุ่นได้เริ่มรุกรานมณฑลเร่อเหอ (热河省) จางเสวียเหลียงก็ยังไม่มีความคิดที่จะต่อต้านญี่ปุ่นจึงได้แต่เจรจาสงบศึกโดยผลก็คือจีนถูกบังคับให้ยอมรับการมีอยู่ของประเทศแมนจูกัวอย่างเป็นทางการ

เหตุการณ์ต่างๆทำให้เกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นอย่างรุนแรงในจีน อย่างไรก็ตามทางก๊กมินตั๋งก็ยังคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูตัวสำคัญที่ควรกำจัดมากกว่าอยู่จึงเอาแต่ตั้งกองกำลังปราบพรรคคอมมิวนิสต์แทนที่จะปราบญี่ปุ่นโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของคนทั้งประเทศ

ปี 1934 จางเสวียเหลียงรับตำแหน่งในหน่วยบัญชาการใหญ่ปราบคอมมิวนิสต์ แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก อีกทั้งเหตุการณ์ที่เสียดินแดนยังทำให้เขาถูกประณามโดยฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ว่าเป็นนายพลผู้ไม่ยอมต่อต้านญี่ปุ่น หรือถึงขั้นถูกเรียกว่าเป็นสุนัขรับใช้ของญี่ปุ่น

ตอนหลังเขาเริ่มเปลี่ยนความคิดโดยเริ่มคิดว่าญี่ปุ่นต่างหากที่เป็นศัตรูที่แท้จริงที่ควรจัดการ และด้วยความรู้สึกผิดที่ตัวเองทำให้จีนต้องเสียดินแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือไปทำให้เขาไปเข้าร่วมกับหยางหู่เฉิง (杨虎城) ที่ซีอานซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งในก๊กมินตั๋งที่ไม่เห็นด้วยกับเจียงไคเชก และหันมาติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์อย่างลับๆเพื่อสงบศึกเพื่อจะร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น

เจียงไคเชกได้รู้ข่าวก็รีบมาที่ซีอานในปลายปี 1936 เพื่อเจรจากับจางเสวียเหลียงและหยางหู่เฉิงให้เลิกติดต่อกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยอมแต่กลับทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดขึ้น นั่นก็คือการจับเจียงไคเชกเป็นตัวประกันเพื่อเจรจาให้สงบศึกกับพรรคคอมมิวนิสต์และร่วมกันสู้กับญี่ปุ่น อีกทั้งยังเรียกให้พรรคคอมมิวนิสต์ส่งคนมาร่วมเจรจาด้วย โดยทางคอมมิวนิสต์ได้ส่งโจวเอินไหล (周恩来) มา

หลังเจรจากันในที่สุดเจียงไคเชกก็ยอมทำตามข้อเรียกร้องของจางเสวียเหลียงและหยางหู่เฉิง ทำให้ความขัดแย้งของก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ยุติลงชั่วคราว ทั้งสองพรรคร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่นไปจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒

เหตุการณ์ครั้งนี้เรียกว่าเหตุการณ์ซีอาน (西安事变, ซีอานซื่อเปี้ยน) เป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน

อย่างไรก็ตามผลพวงจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้ทำให้จางเสวียเหลียงและหยางหู่เฉิงต้องถูกลงโทษเนื่องจากขัดขืนผู้บังคับบัญชา ทั้งคู่ถูกจองจำโดยก๊กมินตั๋ง จนถึงปี 1949 ที่ก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์และเตรียมหนีไปตั้งตัวที่ไต้หวัน หยางหู่เฉิงถูกสั่งประหาร ส่วนจางเสวียเหลียงถูกนำตัวไปไต้หวันด้วยเพื่อจองจำต่อ

หลังจากถึงไต้หวันแล้วจางเสวียเหลียงก็ยังถูกกักบริเวณต่อไปอีกเป็นเวลายาวนานจนถึงปี 1991 เมื่ออายุ ๙๐ ปีเขาก็ได้ย้ายไปอยู่ฮาวายและอยู่ที่นั่นไปจนเสียชีวิตในปี 2001 เมื่ออายุ ๑๐๐ ปี

จากเหตุการณ์ซีอานนี้ทำให้ทางจีนแผ่นดินใหญ่มองว่าเขาเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งเพราะทำให้ก๊กมินตั๋งต้องหันไปสู้กับญี่ปุ่นโดยเลิกทำสงครามกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มีเวลาได้ลืมตาอ้าปาก สามารถสั่งสมกำลังขึ้นมาได้ก่อนจะสามารถยึดประเทศได้ในภายหลัง

แต่ในมุมมองของทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แล้วกลับมองว่าเขาเป็นอาชญากรเพราะทำให้สงครามต้านญี่ปุ่นต้องเริ่มขึ้นเร็วกว่าที่ควรจะเป็นทั้งๆที่เจียงไคเชกวางแผนว่าจะเริ่มต่อต้านญี่ปุ่นหลังจากที่จัดการพรรคคอมมิวนิสต์จนสิ้นซากแล้ว พอเป็นแบบนี้เลยทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เหลือรอดอยู่จนเติบโตขึ้นและกลับมาโค่นล้มเขาและยึดครองประเทศได้ในที่สุด

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวโดยย่อของจางเสวียเหลียง เรื่องที่ว่าเขาเป็นวีรบุรุษหรืออาชญากรนั้นก็คงแล้วแต่คนจะมอง เล่ามายาวเพื่อจะบอกว่าจางเสวียเหลียงเป็นบุคคลดังคนหนึ่งที่มีประวัติน่าสนใจดี อย่างไรก็ตามตอนนี้กลับมาที่เรื่องของบ้านเก่าของเขาที่เทียนจินดีกว่า



บ้านเก่าของจางเสวียเหลียงในเทียนจินสร้างขึ้นในปี 1921 แต่จางเสวียเหลียงเขาอาศัยอยู่เทียนจินแค่ไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้นที่นี่ก็อาจเรียกได้ว่าไม่ใช่สถานที่สำคัญอะไรในชีวิตเขามากมาย

ภายในบ้านนี้เองก็ไม่ได้จัดแสดงอะไรเกี่ยวกับประวัติของเขา ไม่ได้ให้ข้อมูลความรู้อะไรเท่าไหร่ เน้นจัดแสดงความสวยงามภายในตัวบ้านมากกว่า ว่าไปแล้วก็เหมือนมาเยี่ยมชมบ้านเศรษฐีคนหนึ่งในสมัยหลายสิบปีก่อนเท่านั้น โดยเฉพาะห้องอาหาร สวยมาก มีคอมเมนต์หนึ่งในเน็ตวิจารณ์ว่ามาที่นี่เหมือนมาเพื่อชมห้องอาหาร

หากให้แสดงความเห็นอย่างไม่เกรงใจละก็ อาจถือว่าที่นี่แค่เอาชื่อของคนดังอย่างจางเสวียเหลียงมาเป็นจุดขายเท่านั้นเอง ในบ้านแม้จะสวยแต่ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นจุดเด่น ไม่ได้ใหญ่โตมากมาย เข้าไปชมแป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว

สถานที่ตั้งอยู่ระหว่างสถานีเหอผิงลู่ (和平路站) กับสถานีอิ๋งโข่วเต้า (营口道站) โดยค่อนไปทางสถานีเหอผิงลู่มากกว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากสถานีอิ๋งโข่วเต้าตั้งอยู่บนรถไฟฟ้าสาย 1 ซึ่งเราต้องมาจัดการเรื่องบัตรที่นี่จึงตัดสินใจมาลงสถานีนี้ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเทียนจินไป ๓ สถานี



เมื่อมาถึงเราก็รีบตรงไปยังเคาน์เตอร์เพื่อทำให้บัตรโดยสารสามารถใช้การได้ ในตอนนั้นบัตรเหลือเงินอยู่ ๑๙.๗ หยวน

บรรยากาศบริเวณแถวสถานีอิ๋งโข่วเต้า รถไฟฟ้าสถานีนี้ประตูที่ออกมาไม่มีป้ายทางเข้าเด่นชัดเพราะอยู่ใต้อาคารห้าง



แถวนี้คือถนนชื่อเฟิง (赤峰道) เมื่อก่อนเคยเป็นย่านที่ถูกครอบครองโดยฝรั่งเศส เมื่อก่อนมีชื่อว่าถนนฟงตานีเย (Rue Fontanier) ดังนั้นจึงมีบ้านในแบบฝรั่งเศสอยู่มากมาย



ระหว่างทางเดินผ่านบ้านเก่าของหลี่โฮ่วจี (李厚基旧居) สร้างเมื่อปี 1920 เป็นที่อยู่ของหลี่โฮ่วจี (李厚基) ผู้นำทหารและนักการเมืองคนหนึ่งของจีนในช่วงปลายยุคราชวงศ์ชิงจนถึงยุคสาธารณรัฐ



เดินถัดมาก็ถึงบ้านเก่าของจางเสวียเหลียงแล้ว



ป้ายที่ติดอยู่ข้างรั้วบ้าน เป็นข้อความแสดงว่าที่นี่เป็นบ้านที่ได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์



ป้ายแสดงราคา ค่าเข้าชม ๓๐ หยวน สำหรับนักเรียนนักศึกษาลดเหลือ ๒๐ หยวน เวลาเปิดคือ 9:00 - 11:00 และ 14:30 - 17:00 ที่ต้องระวังก็คือมีเวลาพักเที่ยงค่อนข้างยาวนาน 11:00 - 14:30 ถ้าตอนเช้ามาไม่ทันก็ต้องรอตอนบ่ายเลย



เข้ามาด้านใน นี่เป็นห้องแรกสุด มีคนเฝ้าอยู่คอยตรวจบัตร



ดูเหมือนเราจะเป็นคนแรกที่เข้ามาเยี่ยมชมในวันนี้เพราะมาตอนเก้าโมงพอดี เขาเพิ่งจะเปิด พอเราเดินเข้าไปคนเฝ้าเขาก็ค่อยๆทยอยมาเปิดไฟในห้องด้านในให้ ซึ่งทำแบบนี้ก็ดีแล้วช่วยให้ประหยัดดี เพราะถ้าไม่มีคนอยู่แล้วเปิดไฟทิ้งไว้ตลอดก็เปลืองแย่



ในนี้มีของสะสมเก่าๆที่เก็บไว้เต็มไปหมด






เปียโน



ประตูทางเข้าห้องอาหารแบบตะวันตก (西式餐厅, ซีซื่อชานทิง)




เพดานสวย



ข้างๆยังมีห้องอาหารอีกห้อง ชื่อว่าห้องอาหารเสวียเหลียง (学良餐厅, เสวียเหลียงชานทิง)





มุมด้านในห้อง



ต่อไปก็ขึ้นไปชมชั้นสองต่อเลย



มาชั้นนี้ก็เจอเปียโนอีกเครื่อง




ห้องประชุมด้านการทหารและการเมือง (军政议事厅, ซื่อเจิ้งอี้ซื่อทิง)



ด้านใน



ห้องนี้มีระเบียงด้วย แต่ไม่สามารถออกไปยังระเบียงได้ ภาพนี้ถ่ายผ่านหน้าต่างประตูระเบียง



ส่วนนี่เป็นห้องรับรองของคุณนายสี่ (四小姐接待室, ซื่อเสียวเจี่ยเจียไต้ซื่อ) คุณนายสี่หมายถึงเจ้าอีตี๋ (赵一荻) ภรรยาของจางเสวียเหลียง



ภายในก็เป็นห้องที่มีโต๊ะอาหารอยู่ตรงกลางอีกแล้ว



ในนี้มีเครื่องเย็บจักร



แล้วก็ถ้วยชาม



ห้องนอนอีตี๋ (一荻卧房, อีตี๋ว่อฝาง) คือห้องนอนเจ้าอีตี๋ ในนี้ก็มีโต๊ะอาหารอีกเช่นกัน บ้านนี้เต็มไปด้วยโต๊ะอาหารจริงๆเลย



อีกมุมหนึ่งในห้อง




ส่วนตรงนี้เป็นห้องหนังสือเสวียเหลียง (学良书房, เสวียเหลียงซูฝาง)



ซึ่งด้านในก็มีโต๊ะอาหารอีกแล้ว



ส่วนที่เปิดให้ชมก็มีอยู่แค่นี้ ส่วนตรงนี้เป็นบันไดขึ้นชั้นสามซึ่งเขาไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม



กลับออกมาข้างนอก



ตอนที่เดินออกมาถึงหน้าบ้านก็มองเห็นคนเดินออกมาที่ระเบียงชั้นสามซึ่งเป็นชั้นที่ไม่เปิดให้คนเข้าชม ดูแล้วก็คงเป็นเจ้าของสถานที่หรือคนที่เกี่ยวข้อง



โดยรวมแล้วบ้านหลังนี้เหมือนเข้าไปเพื่อชมโต๊ะอาหาร ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อะไรสักเท่าไหร่ คนที่ชอบประวัติศาสตร์อาจจะผิดหวังก็เป็นได้ แต่ยังไงก็ถือว่ามาเดินเล่นชมบ้านสวยๆหลังหนึ่ง

เมื่อชมเสร็จก็เดินไปเที่ยวสถานที่เที่ยวแห่งถัดไปซึ่งอยู่ใกล้ๆกันนี้เอง การเที่ยวเทียนจินหนึ่งวันเที่ยวนี้เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น เดี๋ยวยังจะแวะเวียนไปอีกหลายแห่ง https://phyblas.hinaboshi.com/20151006




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> เทียนจิน
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文