φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



แนะนำหนังเกี่ยวกับสุริยุปราคา 天地明察 / tenchi meisatsu
เขียนเมื่อ 2016/03/07 20:09
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนคงกำลังจับตาดูสุริยุปราคาในวันที่ 9 มีนาคมที่จะถึงนี้กันอยู่ วันนี้ขอถือโอกาสนี้แนะนำหนังเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสุริยุปราคาสักหน่อย

หนังเรื่องนี้ชื่อ tenchi meisatsu (天地明察) แปลว่า "รู้แจ้งฟ้าดินอย่างแม่นยำ" นอกจากนี้ก็มีชื่อภาษาอังกฤษว่า tenchi samurai

ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าถ้ามีเวลาจะมาเขียนเล่าเรื่องอย่างละเอียด เพราะมีรายละเอียดทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจแทรกอยู่มากมาย แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีเวลาสักทีก็เลยจะแค่ขอเขียนแนะนำสั้นๆสักหน่อย หากมีเวลาอาจจะมาขยายความเนื้อหาดาราศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอีกที



ดูพากย์ไทยได้ในเว็บนี้ พร้อมมีซับอังกฤษประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม มีส่วนที่พากย์ผิดอยู่
http://www.seriesoho.com/ดูหนังญี่ปุ่น-tenchi-meisatsu-นักดารา/

ส่วนใครอยากดูต้นฉบับพากย์ญี่ปุ่นก็ดูได้ในนี้ มีซับญี่ปุ่นตามคำพูด พร้อมซับจีนด้วย
http://www.tudou.com/programs/view/RKIq0WjajD8



เรื่องนี้เป็นหนังที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ที่ทำออกมาได้ดีเรื่องหนึ่ง ฉายตั้งแต่ปี 2012 โดยมีที่มาจากนิยายซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2009 แต่งโดยอุบุกาตะ โทว (冲方 丁) นอกจากนี้ยังถูกสร้างเป็นมังงะด้วย

ฉากของเรื่องเป็นสมัยเอโดะ เรื่องราวเกี่ยวกับนักดาราศาสตร์คนสำคัญคนหนึ่งของญี่ปุ่น ชื่อชิบุกาวะ ฮารุมิ (渋川 春海, ปี 1639 - 1715) หรือชื่อเดิมคือยาสึอิ ซันเทตสึ (安井 算哲)
**(ในเรื่องใช้ชื่อยาสึอิ ซันเทตสึเป็นหลัก ส่วนชื่อชิบุกาวะ ฮารุมิ เป็นชื่อที่ได้รับแต่งตั้งตอนหลัง)

ยาสึอิ ซันเทตสึ แสดงโดยโอกาดะ จุนอิจิ (岡田 准一) นักร้องนักแสดง สมาชิกกลุ่มไอดอล V6



***ข้อความต่อจากนี้เป็นเรื่องย่อตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อให้เห็นเค้าโครง แม้ไม่ได้เล่าละเอียดในจุดสำคัญเพื่อให้ไปตามลุ้นดูเอาเอง แต่ก็อาจถือเป็นสปอยล์สำหรับบางคนได้



เรื่องราวเริ่มต้นในปี 1661 ซันเทตสึในตอนนั้นอายุ 22 ปี เป็นนักเล่นโกะมืออาชีพ เขาได้รับเชิญให้ไปเล่นโกะต่อหน้าโชกุนโทกุงาวะ อิเอตสึนะ (徳川 家綱, ปี 1641 - 1680, โชกุนโทกุงาวะรุ่นที่ 4)



แต่เล่นไปได้สักพักก็เกิดสุริยุปราคาขึ้นซึ่งคนสมัยนั้นถือว่าไม่เป็นมงคล ทำให้กิจกรรมทุกอย่างถูกสั่งยกเลิก หมากกระดานนี้ก็ต้องยุติลง

หลังจากนั้นซันเทตสึได้ถูกเรียกให้ไปเข้าพบโฮชินะ มาซายุกิ (保科正之, ปี 1611 - 1673) ไดเมียวแห่งไอซึมัตสึไดระ ซึ่งได้มาชมโกะตานั้นพร้อมกับโชกุน

โฮชินะรู้ว่าซันเทตสึเป็นผู้มีฝีมือด้านคณิตศาสตร์จึงมอบหมายหน้าที่ให้ออกเดินทางไกลไปตามที่ต่างๆในแผ่นดินญี่ปุ่นเพื่อวัดตำแหน่งดาวเหนือเพื่อระบุที่ตั้ง นั่นเพราะตำแหน่งดาวเหนือบนท้องจะเปลี่ยนแปลงไปตามละติจูดของจุดที่ผู้สังเกตยืนอยู่

ระหว่างที่เดินทางซันเทตสึได้เรียนรู้อะไรต่างๆและ ทำให้เริ่มตระหนักถึงความจริงที่ว่าปฏิทินที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นไม่แม่นยำ ไม่สามารถทำนายสุริยุปราคาและจันทรุปราคาที่เกิดขึ้นได้เลย การที่เกิดสุริยุปราคาในวันที่เขาเล่นโกะโดยไม่ได้ถูกทำนายล่วงหน้าก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด

ปฏิทินหลักที่ใช้ในญี่ปุ่นขณะนั้นเรียกว่าปฏิทินเซมเมียว (宣明暦) ซึ่งเป็นปฏิทินจีน (เรียกตามภาษาจีนว่า "เซวียนหมิง") ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 823 ซึ่งเป็นสมัยราชวงศ์ถังแล้ว พอมาถึงยุคของซันเทตสึก็ผ่านมาแปดร้อยกว่าปี แม้จะมีการปรับปรุงก็ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่

"หากว่าวันนี้เป็นวันมะรืนจะเป็นยังไง?" คำพูดของทาเกเบะ (建部) ผู้ร่วมเดินทางของซันเทตสึ สั้นๆแต่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่หนักอึ้งเกินกว่าที่ใครคาด

สาเหตุที่ไม่มีการเปลี่ยนปฏิทินก็เป็นเพราะทางราชสำนักเป็นผู้มีอำนาจใจการกำหนดปฏิทิน แต่กลับไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง

ญี่ปุ่นในสมัยนั้นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศคือโชกุนโทกุงาวะซึ่งอยู่ที่ โตเกียว (เอโดะ) แต่ก็ยังต้องยำเกรงบารมีของราชสำนักที่เกียวโตอยู่เช่นกันจึงไม่ใช่ว่าจะใช้อำนาจได้เต็มที่เสียทีเดียว ดังนั้นปัญหาของเรื่องนี้คือทำอย่างไรทางราชสำนักจึงจะยินยอม

เมื่อกลับมาถึงซันเทตสึจึงได้รับมอบหมายจากโฮชินะให้ทำการวิจัยเรื่องปฏิทิน ในที่สุดซันเทตสึก็ตัดสินใจเลือกใช้ปฏิทินจุจิ (授時暦) ซึ่งเป็นปฏิทินจีน (เรียกตามภาษาจีนว่า "โซ่วสือ") ที่สร้างโดยนักดาราศาสตร์ชื่อดังของจีน กัวโส่วจิ้ง (郭守敬) และใช้ในจีนช่วงราชวงศ์หยวน (จักรวรรดิมองโกล)

ซันเทตสึได้ใช้ปฏิทินจุจิทำนายสุริยุปราคาโดยเทียบกับปฏิทินอื่น และพบว่าปฏิทินนี้ทายได้แม่นยำที่สุด แต่แล้วก็มาพบข้อผิดพลาด ซึ่งทำให้เขาทำนายสุริยุปราคาบางส่วนปี 1675 พลาดไป



ซันเทตสึถึงกับหมดอาลัยตายอยากไปพักหนึ่ง แต่เขาก็กลับมาสู้ต่ออีกครั้ง เขาได้ค้นหาสาเหตุของความผิดพลาด จนสรุปได้ว่าเกิดจากความแตกต่างของเวลา นั่นเพราะปฏิทินทั้งหมดที่ญี่ปุ่นใช้อยู่นั้นรับมาจากจีน แต่ญี่ปุ่นรับมาใช้โดยไม่ได้ปรับแก้เรื่องความต่างของเวลาจึงเกิดข้อผิดพลาดขึ้น ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ญี่ปุ่นจะต้องสร้างปฏิทินของตัวเองขึ้นมา

หลังจากรู้สาเหตุแล้วซันเทตสึจึงได้พยายามจนสามารถสร้างปฏิทินของตัวเองขึ้นมาได้ เป็นปฏิทินอันแรกที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นใช้เองไม่ได้นำจากจีน ดังนั้นจึงถูกตั้งชื่อว่าปฏิทินยามาโตะ (大和暦)

แต่พอยื่นเรื่องไปถึงทางราชสำนักกลับถูกปฏิเสธ ทางราชสำนักกลับตัดสินใจที่จะเลือกใช้ปฏิทินไทโตว (大統暦) ซึ่งเป็นปฏิทินจีน (เรียกตามภาษาจีนว่า "ต้าถ่ง") ที่ใช้ในยุคราชวงศ์หมิง ซึ่งที่จริงแล้วก็แค่ดัดแปลงจากปฏิทินจุจิมานิดหน่อยเท่านั้น

ซันเทตสึได้ทำนายว่าจะเกิดสุริยุปราคาขึ้นจากปฏิทินยามาโตะของเขา ในขณะที่ปฏิทินไทโตวไม่ได้ทำนายเอาไว้ หากเกิดสุริยุปราคาขึ้นจริงจะเป็นการยืนยันความถูกต้องของปฏิทินยามาโตะ

ทางราชสำนักได้ท้าให้ซันเทตสึเดิมพันด้วยชีวิต ถ้าหากปฏิทินทำนายสุริยุปราคาครั้งนี้ผิดพลาดจะต้องคว้านท้องตัวเองตาย ซันเทตสึรับคำท้า



และพอถึงเวลาสุริยุปราคาก็เกิดขึ้นจริงๆ เป็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่สวยงาม

จากความสำเร็จในการทำนายครั้งนี้ทำให้ปฏิทินยามาโตะได้รับการยอมรับในที่สุด โดยตอนหลังเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นปฏิทินโจวเกียว (貞享暦) เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1685 เป็นต้นมา

ผลงานนี้ทำให้ซันเทตสึได้รับชื่อใหม่เป็นชิบุกาวะ ฮารุมิ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานดาราศาสตร์ เทมมงกาตะ (天文方) ขึ้น



โดยรวมแล้วถือว่าได้เรียนรู้อะไรมากมายจากเรื่องนี้ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ได้เห็นอุปกรณ์ดาราศาสตร์โบราณหลายชิ้น อีกทั้งวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น

ในเรื่องนี้ยังสามารถเห็นอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์โบราณหลายชิ้นด้วย



เช่นนี่คือลูกโลกกระดาษลูกแรกซึ่งสร้างโดยซันเทตสึเอง



อย่างไรก็ตาม ในประวัติศาสตร์จริงลูกโลกลูกแรกของญี่ปุ่นซึ่งซันเทตสึสร้างเองจากกระดาษนั้นต้องถูกสร้างในปี 1690 ซึ่งเป็นตอนที่ซันเทตสึอายุ 52 ปีแล้ว และได้เลยช่วงเวลาของเนื้อเรื่องในหนังไปหลายปี

แล้วก็ยังได้เห็นอุปกรณ์คิดเลขที่คนญี่ปุ่นใช้ในสมัยนั้นด้วย เรียกว่าซังงิ (算木)



แผ่นป้ายเอมะ (絵馬) สำหรับเขียนคำถามตอบในศาลเจ้า





บุคคลส่วนใหญ่ที่ปรากฏในเรื่องนี้มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แม้ว่าการปรากฏตัวในเรื่องจะดูแตกต่างไปจากข้อมูลในประวัติศาสตร์อยู่บ้าง

เช่น เซกิ ทากากาซึ (関 孝和, ปี 1642 - 1708) นักคณิตศาสตร์คนสำคัญของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนที่วิจัยปฏิทินจุจิซึ่งซันเทตสึใช้ในตอนแรก เขายังมีส่วนช่วยในเรื่องการสร้างปฏิทินของซันเทตสึ



แล้วก็ฮนอิมโบว โดวซากุ (本因坊道策, ปี 1645 - 1702) คู่แข่งโกะของซันเทตสึในเรื่อง ก็เป็นนักเล่นโกะที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของญี่ปุ่น

ในเรื่องของความถูกต้องทางประวัติศาสตร์นั้นที่จริงต้องบอกว่าเรื่องนี้มีการแต่งเติมไปจากเรื่องจริงพอสมควร เช่นที่ตอนจบของเรื่องซันเทตสึได้ทำนายสุริยุปราคาเต็มดวงโดยเดิมพันด้วยชีวิตนั้นเป็นเรื่องแต่ง

เพราะในความเป็นจริงแล้วตลอดชีวิตของซันเทตสึนั้นไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงหรือสุริยุปราคาวงแหวนเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเลย ส่วนเรื่องการที่ปฏิทินยามาโตะของซันเทตสึได้รับการยอมรับหลังจากที่ถูกปฏิเสธไปแล้วครั้งหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างราบรื่นกว่านั้นมาก ไม่ได้มีเหตุการณ์ให้ต้องลุ้นระทึกหนักเหมือนอย่างในเรื่อง



แม้ว่าเรื่องจะมีส่วนแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์จึงพอสมควร แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของหนังแนวอิงประวัติศาสตร์ ถือว่าทำออกมาได้ดี การที่เลือกสุริยุปราคาเต็มดวงมาเป็นฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยดึงอารมณ์ได้ดี ดูแล้วรู้สึกว่าเป็นฉากจบที่สมบูรณ์ เพราะถ้าตามประวัติศาสตร์จริงก็จะดูน่าเบื่อไม่มีอะไรตื่นเต้น การจะนำประวัติศาสตร์มาเป็นหนังหรือนิยายนั้นเขาต้องคิดดีแล้วว่าส่วนไหนที่ดัดแปลงเชื่อมโยงผูกกันแล้วทำให้เนื้อเรื่องน่าสนใจขึ้น

สรุปโดยรวมแล้วจึงคิดว่าเป็นหนังที่น่าแนะนำเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

หวังว่าหนังนี้จะมีส่วนเป็นแรงบันดาลใจให้คนสนใจดาราศาสตร์ขึ้นมาไม่มากก็น้อย





แหล่งข้อมูลอ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文