φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ปีนเขาโอโมชิโระบนเทือกเขาโอวอุที่กั้นระหว่างจังหวัดมิยางิและยามางาตะ
เขียนเมื่อ 2022/10/16 23:32
แก้ไขล่าสุด 2023/11/01 20:45
#เสาร์ 15 ต.ค. 2022

ช่วงนี้ที่ญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อากาศกำลังเย็นสบาย และใบไม้เริ่มเปลี่ยนสี เป็นช่วงที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยว

ครั้งนี้มีโอกาสได้ไปเที่ยวปีนเขาด้วยกันกับเพื่อนคนญี่ปุ่น เป็นการเดินทางที่สาหัสมากทีเดียว ลำบากที่สุดเท่าที่เคยปีนมาเลย หมดเวลาไปทั้งวัน แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี

สถานที่ที่พวกเราไปปีนเขากันก็คือเขาโอโมชิโระ (面白山おもしろやま) ตั้งอยู่บนเทือกเขาโอวอุ (奥羽山脈おううさんみゃく) ที่กั้นระหว่างจังหวัดยามางาตะกับจังหวัดมิยางิ

ยอดเขาโอโมชิโระนั้นมีจุดยอดสูงสุดคือ ๑๒๖๔ เมตร ซึ่งอาจจะดูแล้วเหมือนไม่ได้สูงมากนัก แต่ว่าเส้นทางเดินไปถึงนั้นค่อนข้างลำบากพอดูเลยทีเดียว และด้วยความที่เป็นพรมแดนกั้นระหว่างจังหวัด เมื่อขึ้นไปยังจุดยอดจะมองเห็นได้ทั้ง ๒ จังหวัด

การเดินทางไปปีนเขาแห่งนี้สามารถไปได้โดยนั่งรถไฟไปลงที่สถานีโอโมชิโระยามะโควเงง (面白山高原駅おもしろやまこうげんえき) ซึ่งอยู่ในทางรถไฟสายเซนซัง (仙山線せんざんせん) ซึ่งเชื่อมระหว่างเมืองเซนไดกับเมืองยามางาตะ ตัวสถานีนี้อยู่ฝั่งจังหวัดยามางาตะ คือทางด้านตะวันตก

ก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสนั่งรถไฟสายนี้มาแล้ว เพื่อไปเที่ยวยามาเดระ (山寺やまでら) โดยครั้งนั้นได้ไปลงที่สถานียามาเดระ (山寺駅やまでらえき) https://phyblas.hinaboshi.com/20220925

ส่วนสถานีโอโมชิโระยามะโควเงงนี้เป็นสถานีที่อยู่ถัดจากสถานียามาเดระนั่นเอง โดยเป็นสถานีที่อยู่ค่อนไปทางตะวันออกมากที่สุดของฝั่งยามางาตะ

เพียงแต่ว่าสถานีนี้ไม่ใช่สถานีหลักของสายนี้ รถไฟส่วนหนึ่งจะผ่านสถานีนี้ไปเลย มีบางขบวนเท่านั้นที่จอด ดังนั้นรถไฟที่มาที่ได้จึงมีจำกัด ต้องวางแผนให้ดี

ตารางเวลาแสดงรถไฟที่จอดที่สถานีนี้ https://ekitan.com/timetable/railway/line-station/126-12/d1

การเดินทางนั้นสามารถมาจากฝั่งเมืองยามางาตะหรือเมืองเซนไดก็ได้ สำหรับครั้งนี้ไปด้วยกันทั้งหมด ๔ คน โดยมี ๒ คนที่อาศัยอยู่เมืองยามางาตะ ส่วนเรากับอีกคนอยู่เมืองเซนได ดังนั้นครั้งนี้จึงนัดเจอกันที่สถานีโอโมชิโระยามะโควเงง โดยเลือกรอบรถไฟที่มาถึงในเวลาใกล้เคียงกัน

เรากับเพื่อนที่มาจากเซนไดนั่งรถไฟเที่ยวที่ออกจากสถานีเซนไดเวลา 7:07 แล้วถึงสถานีโอโมชิระยามะโควเงงเวลา 8:06 ส่วนเพื่อนที่มาจากทางยามางาตะนั้นนั่งรถที่ออกจากสถานียามางาตะ 7:55 แล้วถึงสถานีโอโมชิระยามะโควเงงเวลา 8:21



เราตื่นแต่เช้าเพื่อมาที่สถานีเซนไดตั้งแต่เวลา 6:43



สถานีโอโมชิโระยามะโควเงงนั้นเป็นสถานีไร้คนและไม่มีสามารถใช้ Suica ได้ การไปจึงจำเป็นต้องไปซื้อตั๋วที่เครื่องขายตั๋ว ค่าโดยสารจากสถานีเซนไดไปคือ ๗๗๐ เยน




จากนั้นก็ใช้ตั๋วนี้ผ่านเข้าไปยังชานชลาที่รอรถไฟ



ไปขึ้นสายซันเซง เช่นเดียวกับตอนที่ไปเที่ยวยามาเดระครั้งก่อน คราวนี้ขึ้นรถไฟเที่ยว 7:07 ซึ่งเป็นเที่ยวรถไฟแบบธรรมดาที่จอดหมดทุกสถานี





แล้วรถไฟก็วิ่งไปทางตะวันตกเรื่อยๆมุ่งไปเทือกเขาที่เป็นพรมแดนกั้นระหว่างจังหวัดมิยางิกับจังหวัดยามางาตะ ทางรถไฟนั้นต้องผ่านอุโมงค์เซนซัง (仙山せんざんトンネル) ก่อนที่จะข้ามอุโมงค์ไปนั้นรถไฟมาจอดที่สถานีโอกุนิกกาวะ (奥新川駅おくにっかわえき) ซึ่งเป็นสถานีที่อยู่ทางตะวันตกที่สุดของฝั่งมิยางิ ผ่านสถานีนี้ไปก็เป็นยามางาตะแล้ว




จากนั้นรถไฟก็ลอดผ่านอุโมงค์มา แล้วพอออกจากอุโมงค์มาก็ถึงสถานีโอโมชิโระยามะโควเงงซึ่งเป็นเป้าหมายในเวลา 8:06 สถานีนี้อยู่หน้าทางออกอุโมงค์พอดี



ป้ายเขียนบอกว่าตัวสถานีนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๔๐ เมตร



ตารางเวลาแสดงเที่ยวรถไฟที่จอดที่สถานีนี้ ซึ่งมีค่อนข้างน้อย ราว ๒ ชั่วโมงต่อขบวนเท่านั้น



เห็นคนมาลงที่สถานีนี้กันเยอะมาก ดูเหมือนหลายคนก็จะสนใจมาปีนเขาที่นี้ในช่วงนี้เหมือนกัน



จากนั้นเดินขึ้นบันไดออกจากบริเวณชานชลา



ในบริเวณนี้มีห้องน้ำและร้านอาหารอยู่ด้วย แต่ว่านอกนั้นก็ไม่มีอะไรเลย รอบๆเป็นภูเขา



ป้ายบอกเส้นทางปีนเขาในบริเวณนี้ มีบอกเวลาที่ต้องใช้ในการเดินด้วย แต่ว่าเวลาที่เขียนนี้น่าจะสำหรับคนที่เดินเขาเก่งหน่อย แต่เวลาที่เราใช้จริงนั้นช้ากว่าที่เขียนในนี้ไปพอสมควร



เป้าหมายหลักคือยอดเขาคิตะโอโมชิโระยามะ (北面白山きたおもしろやま) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของที่นี่ สูง ๑๒๖๔ เมตร มีเส้นทางไปได้หลายทาง ถ้าเส้นทางที่ไปถึงยอดเขาได้ใกล้ที่สุดคือทางที่เรียกว่าคาโมชิกะคอร์ส (かもしかコース) แต่เห็นว่าเป็นเส้นทางที่ปีนโหดมาก ส่วนที่เราเลือกนั้นเป็นทางที่อ้อมผ่านจุดที่เรียกว่าโจวซาเอมนไดระ (長左ェ門平ちょうさえもんだいら) ซึ่งสูง ๙๑๐ เมตร

มีป้ายเตือนว่าที่นี่ลิงดุ อย่าเข้าใกล้เพื่อไปถ่ายรูป



หลังจากนั้นก็รอสักพักจน 8:21 ที่รถไฟจากฝั่งยามางาตะมา แล้วก็รวมตัวกับเพื่อนอีก ๒ คนที่อยู่ยามางาตะ






จากนั้นพวกเราก็เริ่มปีนเขากันตอนเวลา 8:35

เส้นทางช่วงแรกๆนั้นไม่ค่อยชัน แต่มีหลายช่วงที่แคบๆถ้าไม่ระวังก็ตกลงไปได้ง่าย



บ้างก็ต้องผ่านสะพานแคบๆเสียวๆ ทางเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ





หลังจากเดินไปประมาณ ๔๐ นาทีก็เจอทางแยกเป็นครั้งแรก ตรงนี้เป็นป้ายบอกว่ามีทางแยกไปยังช่องเขากงเงงซามะ (権現様峠ごんげんさまとうげ) ซึ่งเป็นคนละทางกับทางยอดเขาที่จะไป ส่วนเป้าหมายของเราคือโจวซาเอมนไดระ ซึ่งต้องตรงต่อไป



เส้นทางจากตรงนี้ไปก็ยังคงยากลำบาก




มีหลายจุดที่ต้องผ่านลำธารซึ่งไม่มีสะพาน แต่ต้องเหยียบหินข้ามไป ถ้าก้าวพลาดก็ตก รองเท้าเปียก





แล้วก็มาถึงทางแยกอีกจุด เวลาจากจุดเริ่มต้นมาถึงตรงนี้คือ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที ตรงนี้ชี้ทางแยกไปยังช่องเขาโอกุนิกกาวะ (奥新川峠おくにっかわとうげ) แต่ว่าป้ายอยู่ในสภาพพังอยู่



เรามุ่งหน้าสู่โจวซาเอมงไดระกันต่อไป จากตรงนี้เส้นทางก็ยังคงโหดหินต่อไป





ระหว่างทางก็เจอคนสวนทางมาเป็นครั้งแรก หลังจากที่ที่ผ่านมามีแต่กลุ่มเราเดิน คนนี้ดูเหมือนจะมาแค่คนเดียว ดูแล้วน่าจะเป็นนักปีนเขามืออาชีพ



แล้วในที่สุดก็มาถึงโจวซาเอมนไดระ จุดซึ่งสูง ๙๑๐ เมตร ตรงนี้เป็นทางแยกสำคัญ มองไปทางเหนือก็เห็นยอดเขาคิตะโอโมชิโระยามะที่เป็นเป้าหมาย หนทางยังอีกยาวไกล แต่แค่เดินมาถึงตรงนี้เราก็ใช้เวลาไปแล้ว ๒ ชั่วโมง ๑๐ นาที จากจุดเริ่มต้น



เส้นทางจากตรงนี้ไปจะเป็นทางลาดชันขึ้นไปเรื่อยๆ ปีนลำบาก โหดยิ่งกว่าเดิมไปอีก แต่ถ้ามองย้อนกลับไปด้านหลังก็สามารถเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามได้







ทางนี้มองเห็นย่านตัวเมืองด้วย น่าจะเป็นเมืองยามางาตะ





เส้นทางลาดชันโหดๆยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆอีกยาวนานถึง ๓ ชั่วโมง มีทั้งเดินขึ้นและลงสลับกันไปแทบไม่ได้เดินสบายๆเลย ทั้งเหนื่อยและลำบากมากทีเดียว แต่ก็มีทิวทัศน์สวยๆเป็นที่ปลอบใจ
















หลังจากผ่านเส้นทางปีนเขาสุดโหดมายาวนาน แล้วในที่สุดเราก็มาถึงส่วนยอดเขาคิตะโอโมชิโระยามะซึ่งสูง ๑๒๖๔.๔ เมตรที่เป็นเป้าหมาย เวลาที่ใช้ไปทั้งหมดจากจุดเริ่มต้นคือ ๕ ชั่วโมง ๑๐ นาที เวลาขณะนั้นคือ 13:45 จากนั้นเราก็นั่งพักอยู่ตรงนี้แล้วกินข้าวปั้นที่เตรียมมาเพื่อเอาแรงสำหรับการเดินขาลง



ตอนที่ขึ้นมาถึงเจอกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นอยู่ไม่น้อย มีนักศึกษาชาวอินโดนีเซียที่เป็นคนรู้จักที่มาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันอยู่ด้วย พวกเขาปีนขึ้นมาจากคนละทางกับที่เรามา



ป้ายเขียนบอกชื่อยอดเขา คิตะโอโมชิโระยามะซันโจว (北面白山山頂きたおもしろやまさんちょう) มีเขียนบอกความสูงของยอดเขา และชี้บอกทางแยก



ป้ายหินเขียนว่า "โอโมชิโระยามะไดงงเงง" (面白山大権現おもしろやまだいごんげん)



รูปปั้นหินเล็กๆ



นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไร นอกจากเป็นพื้นที่ให้เดินชมทิวทัศน์ได้



เราพักอยู่ตรงนี้ประมาณ ๑๕ นาที ไหนๆก็อุตส่าห์ขึ้นมาถึงแล้วก็ขอถ่ายภาพจากยอดเขาเก็บไว้เยอะๆหน่อย ทิวทัศน์ที่นี่สวยงามมากทีเดียว คุ้มค่าที่อุตส่าห์ปีนขึ้นมาเหนื่อยแทบแย่โดยใช้เวลาตั้ง ๕ ชั่วโมงกว่า








หลังจากที่ปีนมาถึงยอดแล้วก็ไม่ใช่ว่าจะจบแค่นั้น ต่อไปก็ได้เวลาลงจากเขา ซึ่งก็ยังมีความลำบากรอคอยอยู่ต่อไปอีก

แต่พอมาถึงตรงนี้เราก็ต้องมาวางแผนกันใหม่สักหน่อย เพราะเพื่อนคนญี่ปุ่นเขาเดินเก่งๆกันทั้งนั้น ในขณะที่เราเดินช้าและล้มบ่อยกว่าคนอื่น ดังนั้นเลยให้เพื่อน ๒ คนที่เดินเขาเก่งรีบล่วงหน้าไปตามเส้นทางคาโมชิกะที่ว่าเป็นเส้นทางโหดแต่ใกล้กว่าเพื่อกลับไปยังสถานีรถไฟ เพราะดูแล้วเส้นทางนั้นเราคงปีนไม่ไหว ส่วนเราก็แยกไปยังเส้นทางที่มุ่งไปยังที่ราบสูงเทนโดว (天童高原てんどうこうげん) ซึ่งอยู่ในเมืองเทนโดว (天童市てんどうし) ตั้งอยู่ทางเหนือของเมืองยามางาตะ

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองเทนโดวภายในจังหวัดยามางาตะ เป็นช่องสีชมพูเข้ม ทางใต้คือเมืองยามางาตะ



จากตรงนี้ไปยังที่ราบสูงเทนโดวนั้นจะใกล้กว่าไปยังสถานีรถไฟที่เรามาตอนแรก เพียงแต่จากตรงนั้นไปจะไม่มีรถไฟไป ต้องขับรถเอาเองเท่านั้น แผนคราวนี้จึงเอาเป็นว่าให้เพื่อนที่กลับไปที่สถานีรถไฟรีบล่วงหน้านั่งรถไฟเข้าเมืองยามางาตะแล้วไปเช่ารถมารับเราตรงที่ราบสูงเทนโดว

เมื่อตัดสินใจเช่นนั้นแล้วก็เริ่มออกเดินทางต่อ เส้นทางขากลับนี้ก็โหดเหมือนกัน แต่ไม่ลำบากเท่าตอนขามา ระหว่างทางเขาไม่ค่อยได้ตั้งใจถ่ายรูปมากเท่าตอนขามา และรีบกว่าเดิมด้วยเพราะอยากกลับไปพักเร็วๆเหนื่อยจะแย่แล้ว จึงมีรูปมาลงน้อย

ระหว่างทางเจอป้ายบอกทางที่พังจนแทบอ่านไม่ออก แต่ดูแล้วน่าจะชี้บอกว่าตรงนี้ห่างจากส่วนยอดอยู่เท่าไหร่



หลังจากเดินออกจากเขาสูงสุดของเขาโอโมชิโระแล้วเราก็ใช้เวลาประมาณ ๕๐ นาทีเดินข้ามมายังยอดเขาอีกยอดที่อยู่ใกล้กัน คือมิซาวะ (三沢山) สูง ๑๐๔๑ เมตร




มิซาวะยามะนี้มีความสำคัญเพราะเป็นจุดที่อยู่ตรงพรมแดนระหว่างเมืองยามางาตะกับเมืองเทนโดวและเมืองฮิงาชิเนะ (東根市ひがしねし) ซึ่งก็เป็นอีกเมืองในจังหวัดยามางาตะ อยู่ค่อนไปทางเหนือจากเมืองเทนโดว

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองฮิงาชิเนะภายในจังหวัดยามางาตะ เป็นช่องสีชมพูเข้ม ทางใต้คือเมืองเทนโดว และมีส่วนเล็กๆที่ติดกับเมืองยามางาตะด้วย



จากยอดนี้มองออกไปเห็นยอดเขาสูงสุดคิตะโอโมชิโระยามะสูง ๑๒๖๔ ที่เราเพิ่งไปปีนมาด้วยเห็นแล้วก็รู้ว่าเดินมาได้ไกลจริงๆ



แล้วก็มุ่งหน้าต่อไป อีกครึ่งชั่วโมงต่อมาก็ถึงตรงจุดที่เรียกว่าโจวเมย์สึย (長命水ちょうめいすい)



ถัดมาไม่ไกลจากตรงนั้นมีป้ายที่เขียนบอกว่าจากตรงนี้ปีนไปถึงยอดเขามิซาวะยามะใช้เวลา ๕๐ นาที และถึงยอดเขาคิตะโอโมชิโระยามะใช้เวลา ๔๐ นาที



จากนั้นเดินต่อมาอีก ๑๐ นาทีเจอทางแยกที่แยกไปยังเส้นทางอื่นซึ่งดูแล้วน่ายิ่งออกนอกเส้นทางไปอีก ยังไงเป้าหมายเราก็คือที่ราบสูงเทนโดว มุ่งหน้าต่อไป



แล้วในเวลา 16:00 เราก็เริ่มมาถึงบริเวณที่เห็นสิ่งก่อสร้างและผู้คน



ผ่านประตูรั้วตรงนี้เข้ามา



ในที่สุดก็มาถึงสถานที่ตั้งแคมป์ที่ราบสูงเทนโดว (天童高原てんどうこうげんキャンプじょう) แล้วการปีนเขาของเราก็จบลงเท่านี้




ที่นี่เป็นสถานที่ที่คนมาตั้งแคมป์กัน นอกจากนั้นก็มีลานเล่นสกีด้วย แต่ว่าลานสกียังไม่เปิดเพราะยังฤดูใบไม้ร่วงอยู่



เรามานั่งพักตรงนี้ซึ่งมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ แล้วก็มีเครื่องขายน้ำอัตโนมัติด้วย มาพักดื่มน้ำกันตรงนี้ระหว่างรอให้เพื่อนที่รีบกลับไปเอารถที่เมืองยามางาตะมารับเราที่นี่



ระหว่างรอไปเรื่อยๆตะวันก็เริ่มคล้อย ฟ้าเริ่มเปลี่ยนเป็นสีส้ม มืดลงเรื่อยๆ





มองไปทางโน้นเห็นแสงไฟจากตัวเมืองฮิงาชิเนะ



รอจนมืดค่ำ ๖ โมงเย็น



ในที่สุดรถที่เพื่อนเช่าขับมาก็มารับถึงที่นี่ แล้วเราก็เดินทางกลับเข้าตัวเมืองกัน ระหว่างทางผ่านตัวเมืองเทนโดว



แต่เรายังไม่ได้รีบกลับทันที หลังจากปีนเขากันเหนื่อยแล้วเป้าหมายต่อไปก็คือต้องไปแช่อนเซงกัน ซึ่งเราก็เลือกไปที่ยามาโนเบะอนเซง (山辺温泉やまのべおんせん) ซึ่งอยู่ในเมืองยามาโนเบะ (山辺町やまのべまち) เมืองเล็กๆทางตะวันตกของเมืองยามางาตะ

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองยามาโนเบะเป็นสีเหลืองเข้มเล็กๆ



เราเดินทางมาถึงยามาโนเบะอนเซงเวลาทุ่มนึง




ทางเข้าไปด้านใน



เข้ามาถึงก็เริ่มจากถอดรองเท้าวางไว้ด้านหน้า




ส่วนทางเข้าไปยังห้องอาบน้ำอยู่ตรงนี้



ก่อนจะเข้าไปต้องจ่ายค่าเข้าโดยใช้เครื่องซื้อตั๋ว ค่าเข้าอนเซงราคา ๓๕๐ เยน



แล้วก็เอาตั๋วเข้าออนเซงมายื่นให้คนนี้ก่อนเข้า นอกนั้นแล้วเราก็ไม่ได้เตรียมผ้าเช็ดตัวมา จึงซื้อผ้าเช็ดตัวผืนเล็กๆจากตรงนี้ได้ด้วย ราคา ๒๕๐ เยน



นอกจากนั้นภายในนี้ยังมีขายพวกของกินของใช้เล็กๆน้อยๆ







ส่วนตู้ตรงนี้ขายนม ยามาเบะงิวนิว (やまべ牛乳ぎゅうにゅう) เป็นผลิตภัณฑ์ของที่นี่ ราคา ๑๔๐ เยน เห็นคนญี่ปุ่นบอกว่าแช่อนเซงเสร็จต้องดื่มนมก็เลยซื้อมาดื่มด้วย




หลังจากแช่อนเซงเสร็จแล้วเราก็นั่งรถเข้ามาในตัวเมืองยามางาตะ



หลังจากคืนรถที่เช่ามาไปแล้วเราก็มากินมื้อเย็นกันที่ร้านอิซากายะ ชือร้านมันเรียว (萬両まんりょう) อยู่ใกล้สถานียามางาตะ



มากินกัน ๔ คนสั่งอาหารหลายอย่างมาแบ่งกันกิน เพื่อนมีสั่งเหล้ามาดื่มด้วย แต่เราไม่ได้ดื่มด้วยเพราะปกติไม่ดื่ม จึงแค่กินอาหาร










หลังจากนั้นก็ไปนั่งรถบัสที่ท่ารถใกล้สถานียามางาตะ เพื่อเดินทางกลับเซนได



รถบัสรอบที่ขึ้นนั้นเป็นรอบเวลา 21:50 เป็นรอบสุดท้ายพอดี ถ้าเลยเวลานี้ไปก็ไม่มีรถให้กลับเซนไดแล้ว ถือว่าเวลากำลังดี




แล้วรถบัสก็ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเดินทางกลับมาถึงเซนได กว่าจะกลับถึงบ้านก็ห้าทุ่มแล้ว เท่ากับว่าวันนี้ใช้เวลาไปทั้งวันเลยทีเดียว ถ้านับเวลาจากที่ออกจากเซนไดเจ็ดโมงเช้า จนกลับมาห้าทุ่มเท่ากับใช้เวลาไปรวมทั้งหมด ๑๖ ชั่วโมง

หนึ่งวันที่แสนเหนื่อยก็จบลงเพียงเท่านี้ กลับไปก็หมดแรงและทรมานปวดเต็มตัว วันต่อมาไม่อยากขยับไปไหนเลย ไม่เคยปีนเขาที่ยากสาหัสขนาดนี้มากก่อน ลำบากกว่าที่คิดไว้มาก ถึงอย่างนั้นก็ได้ประสบการณ์มาไม่น้อย ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ไป ถ้ามีโอกาสก็ยังอยากจะไปปีนเขาอีก



สุดท้ายนี้ขอสรุปเรื่องเวลาที่ใช้ในการปีนเขาครั้งนี้ไว้ตรงนี้สักหน่อย โดยรวมๆแล้วก็คือใช้เวลาเดินขึ้นถึงยอดสูงสุดประมาณ ๕ ชั่วโมง แล้วขาลงใช้เวลา ๒ ชั่วโมง

ตำแหน่ง ความสูงจากระดับน้ำทะเล (เมตร) เวลา ใช้เวลารวม
สถานีโอโมชิโระยามะโควเงง 440 8:35 -
  โจวซาเอมนไดระ 910 10:45 2 ชั่วโมง 10 นาที
  ยอดเขาคิตะโอโมชิโระยามะ 1264 13:45 5 ชั่วโมง 10 นาที
  ยอดเขามิซาวะยามะ 1041 14:55 6 ชั่วโมง 20 นาที
สถานที่ตั้งแคมป์ที่ราบสูงเทนโดว 600 16:05 7 ชั่วโมง 30 นาที



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> ภูเขา
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประเทศญี่ปุ่น >> มิยางิ
-- ประเทศญี่ปุ่น >> ยามางาตะ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文