φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



มาดูส่วนที่ทางรถไฟสายโอมุตะเปลี่ยนจากทางยกระดับเป็นบนพื้นดิน โดยเดินไล่ดูจากสถานีโอฮาชิไปยังสถานีอิจิริ
เขียนเมื่อ 2024/12/22 20:18
# อาทิตย์ 22 ธ.ค. 2024

วันนี้ได้ออกไปเดินเล่นตามสายรถไฟสายโอมุตะ (大牟田線おおむたせん) ของนิชิเทตสึภายในเมืองฟุกุโอกะมาอีก หลังจากที่เมื่อวานก็ได้ไปสถานที่น่าสนใจมาแล้วดังที่เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20241221

เป้าหมายวันนี้อยู่ใกล้กว่านั้นหน่อย นั่นคือที่สถานีอิจิริ (井尻駅いじりえき) ซึ่งอยู่ในเขตมินามิ อยู่เกือบจะใต้สุดของเมืองฟุกุโอกะ

ที่เกิดคิดอยากไปที่สถานีนี้นั้นก็มาจากการที่ไปเจอคลิปนี้ในยูทูบเข้า https://www.youtube.com/watch?v=wNu7PxbgeLs

ในนี้ได้พูดถึงเรื่องที่น่าสนในว่าสถานีอิจิรินี้เป็นสถานีเดียวในเมืองฟุกุโอกะของสายนี้ที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน ในขณะที่สถานีอื่นบนสายเดียวกันนี้อยู่บนทางยกระดับทั้งหมด ก็คือเหมือนกับ BTS นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้วตามเมืองใหญ่จะนิยมสร้างทางรถไฟให้อยู่บนทางยกระดับหรือไม่ก็ลงใต้ดินไปเลย เพื่อไม่ให้ขัดขวางทางรถวิ่ง เพราะถ้าทางรถไฟอยู่บนพื้นดินก็ต้องสร้างที่กั้นทางรถไฟเพื่อกันไม่ให้คนหรือรถไปชนกับรถไฟ ซึ่งมันเป็นต้นเหตุทำให้รถติด เป็นอะไรที่ไม่ค่อยสะดวก

ดังนั้นทางรถไฟสายโอมุตะซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเทนจิงกลางเมืองฟุกุโอกะก็ได้ทำสถานีเป็นแบบยกระดับทั้งหมด และทางรถไฟเกือบตลอดเส้นล้วนลอยอยู่ข้างบน ไม่มาขัดขวางการจราจรบนท้องถนน การทำเป็นทางยกระดับแบบนี้เพิ่งเริ่มไม่นานมานี้ในยุคสมัยใหม่ ในขณะที่เมื่อตอนสร้างใหม่เมื่อประมาณร้อยปีก่อนนั้นทุกสถานีก็อยู่บนดินหมด แต่เวลาผ่านไปเมื่อเป็นเมืองใหญ่ก็ต้องทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัด

แต่ก็มีอยู่เพียงสถานีเดียวที่ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ยังคงอยู่บนพื้นดิน ทำให้ทางรถไฟต้องกลับลงมาอยู่บนพื้นดิน ก่อนที่จะกลับมายกระดับอีกที ซึ่งนั่นก็คือสถานีอิจิริที่กำลังพูดถึงนั่นเอง

สถานีก่อนสถานีอิจิริก็คือสถานีโอฮาชิ (大橋駅おおはしえき) ตั้งแต่สถานีเทนจิงจนถึงสถานีโอฮาชินั้นทั้งหมดถูกเปลี่ยนเป็นทางยกระดับไปหมดแล้ว และหลังจากสถานีอิจิริไปก็คือสถานีซัชโชโนกุมะ (雑餉隈駅ざっしょのくまえき) และ สถานีซากุระนามิกิ (桜並木駅さくらなみきえき) ซึ่งอยู่ในเมืองฟุกุโอกะ รวมถึง ๓ สถานีถัดไปที่อยู่ในเขตปริมณฑลของฟุกุโอกะด้วย

ดังนั้นจึงเป็นคำถามน่าสนใจว่าทำไมสถานีอิจิริจึงเป็นสถานีเดียวที่อยู่บนพื้นดิน แน่นอนว่าเรื่องนี้มีเหตุผลอยู่ พอดูในคลิปนั้นก็เข้าใจได้ ครั้งนี้เราจะไปลองดูให้เห็นกับตาถึงความแตกต่างระหว่างส่วนที่ยกระดับกับที่อยู่บนพื้นดิน

เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ก็คือไปเริ่มต้นที่สถานีโอฮาชิ แล้วเดินเลียบข้างทางรถไฟไปเรื่อยๆจนถึงสถานีอิจิริ ซึ่งระยะทางตามเส้นรถไฟคือ ๑.๘ กิโลเมตร ก็เป็นระยะที่เดินได้ไม่ยาก ในระหว่างทางนั้นก็จะมาดูว่าตรงไหนที่เป็นจุดเปลี่ยน



เริ่มแรกนั่งรถไฟมาลงที่สถานีโอฮาชิ ตรงนี้คือจุดเริ่มต้น ขณะนั้นเป็นเวลา 17:06 แต่วันนี้ดวงอาทิตย์ตก 17:15 จึงเริ่มมืดแล้ว ภาพนี้ถ่ายจากฝั่งใต้ของสถานี จะเห็นว่าสถานีนี้มีชานชลาอยู่ด้านบน



ช่วงนี้ใกล้คริสต์มาส ที่ลานด้านหน้าสถานีก็เลยมีประดับต้นคริสต์มาสด้วย



จากนั้นก็เริ่มเดินเลียบไปตามทางรถไฟซึ่งอยู่ทางซ้าย




จากตรงนี้เดินห่างจากทางรถไฟมานิดหน่อย



มองย้อนไปเห็นจังหวะที่รถไฟผ่านพอดี ตรงนี้มีตู้โทรศัพท์สาธารณะด้วย



แล้วก็เดินต่อมาตามถนนที่อยู่ทางใต้ห่างมาจากทางรถไฟนิดหน่อย



ตรงนี้ผ่านสวนสาธารณะโอฮาชินิชิ (大橋西公園おおはしにしこうえん) ก็เป็นพื้นที่สนามเด็กเล่นและสนามกีฬา อยู่ติดทางรถไฟเลย




เดินผ่านตรงนี้ไป



จากนั้นเดินแยกห่างจากทางรถไฟมาอีก เดินผ่านย่านที่อยู่อาศัย แถวนี้มีร้านอาหารเนปาลด้วย ที่จริงข้างๆนี้ยังมีร้านอาหารโอกินาวะด้วยแต่ไม่ได้ถ่ายมา



แล้วก็ยังเดินต่อไป




มาถึงตรงสะพานข้ามแม่น้ำนากะ (那珂川なかがわ) ชื่อว่า สะพานอิจิริ (井尻橋いじりばし) ชื่อเดียงกับสถานีเลย ที่จริงแล้วอิจิริเป็นชื่อย่าน ซึ่งถ้าเดินข้ามสะพานแล้วเดินต่อไปนิดหน่อยก็ถึงย่านอิจิริซึ่งสถานีอิจิริตั้งอยู่แล้ว




ทิวทัศน์บนสะพานอิจิริ มองไปทางเหนือเห็นรางรถไฟซึ่งรถไฟกำลังวิ่งข้ามแม่น้ำพอดี



แต่พอข้ามมาถึงฝั่งตรงข้ามเราก็เริ่มสังเกตได้ว่าทางรถไฟตรงนี้มันไม่ได้ยกระดับแล้วนี่ แค่เดินห่างออกมาจากรางรถไฟแค่แป๊บเดียวไม่รู้ตัวเลยว่าเลยจุดเปลี่ยนมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนแรกคิดว่าอยู่หลังข้ามฝั่งแม่น้ำมาแล้ว แต่ที่จริงเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิด



ครั้งนี้เป้าหมายหลักอย่างหนึ่งคือการมาดูตรงจุดเปลี่ยน ดังนั้นเลยต้องยอมเดินข้ามสะพานกลับไปแล้วเดินเข้าไปใกล้ทางรถไฟเพื่อสำรวจอย่างละเอียดอีกที

ตรงนี้มีทางให้ลงไปเดินเลียบริมแม่น้ำ



ลองลงมาตรงนี้แล้วเห็นทางรถไฟอยู่ด้านบน



แต่ว่าพอลองดูแล้วแค่ตรงส่วนริมฝั่งแม่น้ำนี้พื้นต่ำกว่าบริเวณรอบๆเท่านั้น ทางรถไฟตรงนี้อยู่ระดับเดียวเดียวกับพื้นดินโดยรอบ



ระหว่างที่เดินลอดใต้ผ่านมาได้ถ่ายจังหวะที่รถไฟวิ่งข้ามแม่น้ำพอดี



จากนั้นเดินกลับขึ้นมา ก็พบว่าทางรถไฟตรงนี้อยู่บนพื้นดินแล้วจริงๆ โดยตรงนี้ถือเป็นจุดข้ามทางรถไฟแรกสุดฝั่งเหนือของทางรถไฟสายนี้เลย เพราะเป็นส่วนแรกที่ทางรถไฟเพิ่งลงมาอยู่บนพื้น




แล้วพอเดินย้อนถัดมาจากตรงนี้ก็ได้เห็นว่าทางค่อยๆยกระดับขึ้นเรื่อยๆ



ลองเดินเลียบไปตามทาง ยังดีมีซอยให้เดินผ่านไปได้ ตอนแรกไม่รู้ไม่งั้นก็คงจะมาเดินตรงนี้ตั้งแต่แรก



แล้วย้อนมาแค่นิดหน่อยก็กลับมาเห็นส่วนที่ถนนลอดใต้ทางรถไฟที่ยกระดับอยู่ เท่ากับว่าตรงนี้เป็นแยกสุดท้ายที่ลอดใต้ทางรถไฟได้ไม่ต้องเดินบนรางรถไฟโดยผ่านที่กั้น



เดินย้อนกลับมาตรงแยกที่มีที่กั้นทางรถไฟอีกที อยู่ห่างไปแค่นิดเดียแต่ก็เห็นความต่างได้ชัดระหว่างจุดตัดที่ลอดผ่านไปได้เลยกับที่ใช้ที่กั้นทางรถไฟ



จากนั้นก็ย้อนไปเดินข้ามสะพานเดิมอีกรอบแล้วก็เดินต่อไป



เดินต่อมาอีกหน่อยก็เจอสิ่งที่เป็นสาเหตุแล้ว นั่นคือทางรถไฟชิงกันเซงนั่นเอง ทิศทางตัดขวางสายโอมุตะเลย ใช่แล้ว สาเหตุที่ทำให้ทางรถไฟสายโอมุตะไม่ยกระดับในช่วงนี้ก็เพราะว่ามีทางชิงกันเซงยกระดับอยู่แล้วนั่นเอง ถ้าจะยกก็ต้องยกให้สูงกว่านั้น ไม่งั้นก็ชนกัน แต่ว่าต้องใช้งบสูงก็เลยปล่อยไว้บนพื้น



ตรงนี้เห็นสายโอมุตะตัดที่อยู่บนพื้นดินตัดกับชิงกันเซงที่ลอยอยู่ชัดเจน



เดินลอดใต้ทางชิงกันเซงมา



แล้วก็ไปต่อ เลียบตามสายโอมุตะต่อไป



มองย้อนกลับมาดูทางชิงกันเซงอีกที



แล้วก็เดินต่ออีกหน่อย เจอจุดข้ามรางรถไฟอีกแล้ว



แล้วเดินผ่านตามย่านชุมชนตรงนี้ต่อไปก็มาเจอจุดข้ามทางรถไฟอีกแล้ว




แล้วถัดมาก็เจออีกที่



จากตรงนี้ยังเดินต่อผ่านย่านในเมืองต่อไป หลายช่วงไม่สามารถเดินเลียบทางรถไฟได้ ต้องออกมาเดินตามถนนที่อยู่ห่างไปนิดหน่อย



แล้วก็กลับมาเจอจุดข้ามรางรถไฟอีกแล้ว อันนี้เป็นทางข้ามสุดท้ายก่อนจะถึงสถานีอิจิริแล้ว



หลังจากตรงนี้ไปก็มีถนนเล็กๆให้เดินเลียบไปตามทางรถไฟจนถึงสถานีได้



ตรงนี้เห็นชานชลาของสถานีอิจิริจากด้านนอก



มองเข้าไปเห็นป้ายสถานีด้วย



แล้วก็เดินต่อมาอีกหน่อยก็ถึงตัวอาคารสถานี



ด้านหน้าทางเข้าสถานี ตรงนี้ก็มีจุดข้ามทางรถไฟอีก



ทางรถไฟเบื้องหน้าต่อจากตรงนี้ไปก็ยังจะเป็นทางบนดินต่อไปอีกสักพักกว่าจะยกระดับอีกที แต่เราไม่ได้ไปเดินต่อแล้ว ยังไงตอนนี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของวันนี้แล้ว เดินมาถึงสถานีอิจิริอล้ว จากนั้นก็แค่ไปหากินมื้อเย็นเสร็จแล้วก็นั่งรถไฟกลับจากสถานีนี้



ลองข้ามรางรถไฟมาดูจากอีกฝั่ง



ที่ฝั่งใต้ของสถานีมีป้ายรถเมล์อิจิริเอกินิชิงุจิ (井尻駅西口いじりえきにしぐち)



แล้วข้างๆนั้นก็เป็นย่านร้านค้าอิจิริ (井尻商店街いじりしょうてんがい) มีพวกร้านอาหารหลายร้านให้เดินเลือกได้ แต่ดูแล้วคนไม่ได้เยอะ บริเวณก็ไม่ได้กว้าง



ที่จริงแล้วในนี้มีร้านที่เราเล็งไว้อยู่ว่าจะแวะมากิน นั่นคือร้าน เมนยะจาระจาระโดว (麺屋めんやじゃらじゃらどう) แต่พอลองมาก็พบว่ามันปิดอยู่



ตอนหลังจึงไปค้นดูก็พบว่าร้านนี้ปิดวันอาทิตย์ แต่ว่าในกูเกิลแมปกลับบอกว่าเปิดทุกวัน ก็เลยคิดว่าวันนี้น่าจะเปิดอยู่ พอมาแล้วก็ต้องผิดหวัง น่าเสียดาย ดูรูปแล้วน่าอร่อยอยู่ ไว้มีโอกาสอาจแวะมาอีกทีตอนวันเสาร์

แม้จะไม่ได้กินร้านที่ตอนแรกเล็งไว้ แต่ก็ไม่เป็นไร แถวนี้มีร้านอะไรต่างๆอีกเยอะ



ลองค้นดูก็เจอร้านราเมงซากาบะยาโซอิจิ (らーめん酒場さかば八十一やそいち) ก็เป็นร้านราเมงร้านหนึ่งที่มีสาขาหลักอยู่ที่แถวสถานียากุอิง (薬院駅やくいんえき) ซึ่งก็เป็นอีกสถานีของสายโอมุตะ แต่เป็นสถานีติดกับสถานีเทนจิงซึ่งอยู่ใจกลางเมืองเลย ตรงนั้นเราก็เคยแวะไปมาเหมือนกัน อยู่ไม่ไกล ถ้ามีโอกาสก็อาจค่อยลองแวะไปกินที่สาขาหลักดู แต่สำหรับร้านนี้ที่เจอในครั้งนี้เป็นอีกร้านที่มาตั้งสาขา ที่จริงนอกจากสาขาหลักก็มีแค่ร้านนี้อีกสาขา ยังมีแค่ ๒ แห่งเท่านั้น



ภายในร้าน



เมนู โดยหลักแล้วแบ่งเป็นฮากาตะราเมง (ราเมงกระดูกหมู) กับมาเซโซบะ (ราเมงแบบแห้ง)



ครั้งนี้เราเลือกสั่งเมนไตทสึกิมิมาเซโซบะ (明太月見めんたいつきみまぜそば) ราคา ๙๐๐​ เยน อร่อยดีไม่ผิดหวัง แม้จะรู้สึกว่าน้อยไปนิด



อนึ่ง มาเซโซบะนั้นแม้ชื่อจะใช้คำว่า "โซบะ" แต่จริงๆแล้วเป็นเส้นแบบราเมง แค่ต่างจากราเมงทั่วไปตรงที่กินแบบแห้งไม่ใส่น้ำซุป นอกจากนี้แล้วบางร้านอาจเรียกว่าอาบุระโซบะ (あぶらそば) แต่ก็ถือเป็นอาหารชนิดเดียวกัน

จากนั้นตรงนี้มีซูเปอร์มาร์เกตเลยแวะเข้าสักหน่อยก่อนจะกลับ



เดินซื้อของเสร็จก็กลับมาที่สถานีเพื่อขึ้นรถไฟกลับ




จากด้านในชานชลาขณะรอรถเห็นร้านราเมงอีกร้านด้วย ชื่อว่า ฟุกุโอกะฟุโตเมงโนราเมง (福岡太麺ふくおかふとめん NO RAMEN) แต่ว่าร้านนี้เสาร์อาทิตย์จะเปิดแค่ตอนเที่ยง ตอนนี้ก็ปิดอยู่เหมือนกัน ที่จริงก็ดูแล้วน่าอร่อย ไว้มีโอกาสคงลองแวะมาตอนกลางวันอีกที



แล้วรถไฟก็มา ได้เวลาเดินทางกลับ



ครั้งนี้ได้มาสำรวจบริเวณที่ไม่เคยมา ถือว่าได้เปิดหูเปิดตาไม่น้อย แล้วก็ได้กินมาเซโซบะอร่อยด้วย ถือว่าดีทีเดียว



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฟุกุโอกะ
-- ท่องเที่ยว >> ราเมง
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文