φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



opencv-python เบื้องต้น บทที่ ๗: การหมุนหรือบิดแปลงภาพ
เขียนเมื่อ 2020/06/28 18:50
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 10:26

ต่อจาก บทที่ ๖

ในบทนี้จะเป็นเรื่องของการแปลงภาพในลักษณะที่นำภาพมาบิดดัดหรือหมุน โดยฟังก์ชันหลักๆที่ใช้ก็คือ cv2.warpAffine() และ cv2.warpPerspective() และมีฟังก์ชันอื่นๆที่เป็นตัวช่วยเสริมคือ cv2.getAffineTransform() cv2.getRotationMatrix2D() cv2.getPerspectiveTransform()




การบิดแปลงภาพด้วยการคูณเมทริกซ์

cv2.warpAffine() เป็นฟังก์ชันสำหรับเอารูปภาพมาดัดบิดแปลงตำแหน่ง

เพื่อให้เห็นภาพว่าการบิดแปลงภาพนี้เป็นไปในลักษณะแบบไหนขอเริ่มจากตัวอย่างผลจากการบิดแปลงโดย cv2.warpAffine()

สมมุติว่ามีรูปนี้อยู่เป็นภาพตั้งต้น



พอใช้ cv2.warpAffine() แล้วก็จะถูกบิดแปลงรูปร่างได้หลากหลาย ยกตัวอย่าง ๗ ภาพนี้



จะเห็นว่ามีทั้งการหมุน พลิกกลับ ย่อขยาย รูปร่างจะถูกแปลงไปจากที่เดิมเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก็กลายเป็นสี่เหลี่ยมด้านขนานไป

ต่อไปจะอธิบายหลักการ ซึ่งเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ วิธีที่ใช้ในการแปลงก็คือ การคูณเมทริกซ์

ถ้ามีจุดพิกัดอยู่จุดหนึ่งในรูปภาพ ๒ มิติ พิกัด (x1,y1) อาจเขียนเป็นเมทริกซ์ได้ว่า



โดยที่ 1 นี้เป็นแกน z ซึ่งจะให้เป็น 1 เสมอ เพราะจริงๆแล้วภาพมีแค่ ๒​ มิติ ไม่ได้ต้องใช้มิติที่ ๓ แต่เพิ่มเข้ามาเพื่อใช้แทนมิติที่เป็นค่าคงที่

ถ้ามี n จุดก็เอาพิกัดของแต่ละจุดมาเขียนรวมกันเป็นเมทริกซ์แบบนี้



เมทริกซ์ที่ใช้บิดแปลงภาพด้วย cv2.warpAffine() คือเมทริกซ์ขนาด 2×3



เมทริกซ์ของพิกัดที่จะได้หลังแปลงนั้นจะได้มาจากการเอาเมทริกซ์การแปลงมาคูณเข้ากับเมทริกซ์พิกัดเดิม



ก็จะได้เมทริกซ์ของพิกัดใหม่



ค่าพิกัดใหม่ในแต่ละจุดเป็น



ลองสร้างเมทริกซ์ขึ้นมาโดยใช้อาเรย์ใน numpy แล้วทำการคูณเมทริกซ์ดูเป็นตัวอย่าง
import cv2
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt

# เมทริกซ์พิกัด
X = np.array([[4,7,6], # x1,x2,x3
              [1,2,4], # y1,y2,y3
              [1,1,1]])
# เมทริกซ์การแปลง
M = np.array([[0,1,-1],   # ax,bx,cx
              [1,0,-1]]) # ay,by,cy
# แปลงเอาพิกัดใหม่
X2 = np.dot(M,X)
plt.axes(aspect=1)
# วาดจุดพิกัดเก่าและใหม่
plt.scatter(X[0],X[1],c='r',marker='x')
plt.scatter(X2[0],X2[1],c='m',marker='x')
for i in range(3): # วาดลูกศรที่ลากจากจุดเก่าไปใหม่
    plt.arrow(X[0,i],X[1,i],X2[0,i]-X[0,i],X2[1,i]-X[1,i],head_width=0.2,head_length=0.4,length_includes_head=1,color='k')
plt.grid()
plt.show()


การใช้ cv2.warpAffine() จะเป็นการย้ายจุดทุกจุดพิกเซลบนภาพจากพิกัดเก่าไปพิกัดใหม่ในลักษณะเช่นนี้



จากนั้นก็จะทำการประมาณค่าในช่วงโดยใช้หลักการเดียวกับตอนที่ย่อขยายรูป เพื่อหาค่าของแต่ละพิกเซลใหม่ แล้วก็จะได้ภาพใหม่ที่ถูกบิดไปจากตำแหน่งเดิม




วิธีใช้ฟังก์ชัน warpAffine

ฟังก์ชัน cv2.warpAffine() มีค่าที่ต้องใส่ดังนี้

ลำดับ ชื่อ สิ่งที่ต้องใส่ ชนิดข้อมูล
1 src อาเรย์รูปภาพ np.array
2 M เมทริกซ์แปลง np.array
3 dsize ขนาดของภาพหลังแปลง np.array

ค่าที่จำเป็นต้องใส่คือ ๓ ตัวแรก คือตัวอาเรย์ภาพ เมทริกซ์ที่จะใช้แปลงภาพนั้น และขนาดของภาพที่ต้องการจะได้หลังแปลง

ขนาดของภาพในที่นี้เป็นตัวกำหนดขอบเขตของภาพที่จะเหลือหลังแปลง ถ้าแปลงแล้วบริเวณที่อยู่นอกกรอบจะหายไป เพื่อความง่ายอาจกำหนดให้ขนาดเท่ากับภาพเดิม แต่ว่าก็ไม่จำเป็น

นอกจากนี้มีคีย์เวิร์ดที่สามารถใส่เพิ่มเติมได้ คือ flags คือวิธีการประมาณค่าในช่วงใส่เป็นแฟล็กที่ขึ้นต้นด้วย cv2.INTER_ เช่นเดียวกับตอนที่ใช้ cv2.resize()

และ borderMode คือวิธีการเติมขอบ จะใช้แฟล็กที่ขึ้นต้นด้วย cv2.BORDER_ เช่นเดียวกับตอนใช้ cv2.copyMakeBorder()

ถ้าไม่ได้ใส่ borderMode จะได้เป็นพื้นสีดำ

เกี่ยวกับรายละเอียดตัวเลือกแฟล็กรูปแบบขอบและการประมาณค่าในช่วงนั้นดูได้ในบทที่ ๖

ตัวอย่าง


rin07c03.jpg

rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
mat = np.float32([[0.9,0.1,90],
                  [0.2,0.7,50]])
rin = cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))
plt.imshow(rin[:,:,::-1])
plt.show()


ลองเทียบวิธีการเติมขอบในแบบต่างๆ
rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
mat = np.float32([[0.4,-0.1,200],
                  [-0.2,0.5,150]])
title = ['replicate','reflect','reflect101','wrap']
border = [cv2.BORDER_REPLICATE,cv2.BORDER_REFLECT,cv2.BORDER_REFLECT101,cv2.BORDER_WRAP]
plt.figure(figsize=[6,5])
for i in range(4):
    plt.subplot(221+i,title=title[i])
    plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450),borderMode=border[i])[:,:,::-1])
plt.tight_layout()
plt.show()





ตัวอย่างเมทริกซ์แปลงแบบง่ายๆ

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่าใส่เมทริกซ์แล้วภาพก็จะบิดแปลงรูปไปเป็นแบบต่างๆได้ แต่ว่าก็คงจะนึกภาพยากอยู่ว่าใส่ค่าอย่างไรลงไปแล้วจะเป็นการบิดแบบไหน

ดังนั้นต่อไปจะเป็นการยกตัวอย่างแสดงให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่าในการแปลงแต่ละแบบต้องใช้เมทริกซ์ในลักษณะยังไงบ้าง

เริ่มจากการย่อหรือขยายภาพ ใส่แค่ค่า ax กับ by แบบนี้



ผลจะคล้ายกับการใช้ cv2.resize() แต่ขนาดและขอบเขตของภาพที่เหลืออยู่จะขึ้นอยู่กับที่กำหนด

ตัวอย่าง
rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
mat = np.float32([[0.6,0,0],
                  [0,0.4,0]])
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])
plt.tight_layout()
plt.show()


การเลื่อนตำแหน่ง


rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
mat = np.float32([[1,0,-200],
                  [0,1,150]])
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])
plt.tight_layout()

plt.show()


ทั้งเลื่อนตำแหน่งและย่อขยาย


rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
mat = np.float32([[0.5,0,100],
                  [0,0.5,100]])
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])
plt.tight_layout()
plt.show()


สลับกลับแกน x,y


rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
mat = np.float32([[0,1,0],
                  [1,0,0]])
rin = cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))
plt.imshow(rin[:,:,::-1])
plt.tight_layout()
plt.show()


พลิกภาพ คล้ายการใช้ cv2.flip()


rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
plt.figure(figsize=[6,12])

mat = np.float32([[-1,0,600],
                  [0,1,0]])
plt.subplot(311)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])

mat = np.float32([[1,0,0],
                  [0,-1,450]])
plt.subplot(312)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])

mat = np.float32([[-1,0,600],
                  [0,-1,450]])
plt.subplot(313)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])

plt.tight_layout()
plt.show()


การนำภาพมาเฉือน


rin = cv2.imread('rin07c03.jpg')
plt.figure(figsize=[6,5])

mat = np.float32([[1,0.5,0],
                  [0,1,0]])
plt.subplot(221)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])

mat = np.float32([[1,0,0],
                  [0.5,1,0]])
plt.subplot(222)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])

mat = np.float32([[1,0.5,0],
                  [0.5,1,0]])
plt.subplot(223)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])

mat = np.float32([[1,-0.5,0],
                  [-0.5,1,0]])
plt.subplot(224)
plt.imshow(cv2.warpAffine(rin,mat,(600,450))[:,:,::-1])
plt.tight_layout()
plt.show()





การสร้างเมทริกซ์สำหรับหมุนภาพ

จากตัวอย่างที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีทั้งภาพที่ถูกบิดแปลงเปลี่ยนรูปไป หรือย่อขยายหรือพลิกกลับ แต่นอกจากนี้แล้ว cv2.warpAffine() สามารถใช้เพื่อหมุนภาพไปทั้งอย่างนั้นได้

กรณีที่ต้องการหมุนภาพ อาจกำหนดเมทริกซ์การแปลงเป็น



โดย θ คือขนาดของมุมที่ต้องการหมุนภาพ ตามเข็มนาฬิกา

เมทริกซ์แบบนี้เรียกว่าเป็น "เมทริกซ์การหมุน" (rotation matrix)

เมื่อใช้ลักษณะของเมทริกซ์การหมุน ทั้ง ๒ แกนจะถูกเฉือนโดยสัมพันธ์กัน ทำให้กลายเป็นการหมุนภาพโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปได้

กรณีที่จุดศูนย์กลางไม่ใช่ (0,0) แต่อยู่ที่ (cx,cy) จะเพิ่มส่วนหลักที่ ๓ ลงไปเพื่อทำการย้ายตำแหน่งให้สัมพันธ์กันด้วย กลายเป็นเมทริกซ์แบบนี้



เมื่อ θ คือขนาดของมุมที่ต้องการหมุนภาพ ตามเข็มนาฬิกา

หากเราจะคำนวณเองเพื่อสร้างให้ได้เมทริกซ์แบบนั้นก็ทำได้ตามสมการข้างต้น แต่ว่าใน opencv ได้เตรียมฟังก์ชันสำหรับหาเมทริกซ์แบบนั้นให้โดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องเขียนเอง นั่นคือ cv2.getRotationMatrix2D()

ค่าที่ต้องใส่เป็นดังนี้

ลำดับ ชื่อ สิ่งที่ต้องใส่ ชนิดข้อมูล
1 center จุดหมุน np.array
2 angle มุม (องศา) float
3 scale สัดส่วน float

เมื่อใช้ฟังก์ชันนี้แล้วก็จะได้เมทริกซ์การแปลงเพื่อหมุนตามแบบที่ต้องการ แล้วก็เอาเมทริกซ์นี้มาใช้กับ cv2.warpAffine() อีกที

ขณะหมุนสามารถย่อหรือขยายภาพไปด้วย ถ้าหากไม่ต้องการเปลี่ยนขนาดก็ให้ใส่ตัวที่ ๓ เป็น 1 ไป

ตัวอย่างการใช้ ลองเอาภาพมาหมุนด้วยมุมต่างๆกันดู


gumi07c01.jpg

gumi = cv2.imread('gumi07c01.jpg')
plt.figure(figsize=[6,4.5])

plt.subplot(221)
mat = cv2.getRotationMatrix2D((300,225),180,1)
plt.imshow(cv2.warpAffine(gumi,mat,(600,450))[:,:,::-1])

plt.subplot(222)
mat = cv2.getRotationMatrix2D((300,225),160,0.8)
plt.imshow(cv2.warpAffine(gumi,mat,(600,450))[:,:,::-1])

plt.subplot(223)
mat = cv2.getRotationMatrix2D((300,225),60,0.7)
plt.imshow(cv2.warpAffine(gumi,mat,(600,450))[:,:,::-1])

plt.subplot(224)
mat = cv2.getRotationMatrix2D((300,225),90,0.6)
plt.imshow(cv2.warpAffine(gumi,mat,(600,450))[:,:,::-1])

plt.tight_layout(0)
plt.show()





การสร้างเมทริกซ์สำหรับบิดแปลงภาพโดยการกำหนดจุดอ้างอิง

cv2.getAffineTransform() ใช้สร้างเมทริกซ์สำหรับที่จะนำมาใช้ใน cv2.warpAffine() โดยใช้วิธีการกำหนดจุดอ้างอิง ๓ จุดที่ต้องการย้าย

วิธีใช้คือกำหนดจุดอ้างอิงในพิกัดเดิมและพิกัดใหม่ ค่าที่ต้องใส่เป็นดังนี้

ลำดับ ชื่อ สิ่งที่ต้องใส่ ชนิดข้อมูล
1 src จุดเดิม np.array
2 dst จุดใหม่ np.array

ตัวอย่างการใช้ เช่นลองเอาภาพนี้มาบิดโดยกำหนดจุดตรึงเดิมอยู่ที่มุม ๓ มุม แล้วกำหนดให้ย้ายไปอยู่จุดใหม่ที่เปลี่ยนไป

teto07c01.jpg

teto = cv2.imread('teto07c01.jpg')
xy1 = np.float32([[0,0],[0,450],[600,450]]) # จุดตรึงเดิม
xy2 = np.float32([[50,100],[150,400],[550,350]]) # จุดตรึงใหม่
mat = cv2.getAffineTransform(xy1,xy2) # สร้างเมทริกซ์แปลง

plt.figure(figsize=[5,7])
for i in [0,1]:
    if(i==1):
        teto = cv2.warpAffine(teto,mat,(600,450)) # ทำการแปลงภาพ
    plt.subplot(211+i)
    plt.imshow(teto[:,:,::-1])
    plt.scatter(xy1[:,0],xy1[:,1],200,c='r',marker='*') # วาดจุดตรึงเดิม
    plt.scatter(xy2[:,0],xy2[:,1],200,c='g',marker='*') # วาดจุดตรึงใหม่
    
plt.tight_layout(0)
plt.show()


ในที่นี้ภาพบนคือภาพเดิม ภาพล่างคือภาพหลังแปลง จุดสีเขียวแสดงตำแหน่งจุดตรึงเดิม จุดสีแดงแสดงตำแหน่งจุดตรึงใหม่ จะเห็นว่ามุมที่กำหนดย้ายตำแหน่งจากจุดเดิมไปจุดใหม่ และส่วนอื่นก็ถูกแปลงให้สัมพันธ์กันไปตามนั้นด้วย

หรือถ้ามีภาพอะไรที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมแต่ถูกถ่ายมาแบบเอียงๆ สามารถใช้วิธีนี้ปรับให้ตรงได้ ตัวอย่างเช่น

miku07c01.jpg

miku = cv2.imread('miku07c01.jpg')
xy1 = np.float32([[382,295],[545,354],[572,229]])
xy2 = np.float32([[205,300],[440,300],[445,150]])

plt.figure(figsize=[5,7])
ax1 = plt.subplot(211)
plt.imshow(miku[:,:,::-1])
ax2 = plt.subplot(212)
miku = cv2.warpAffine(miku,cv2.getAffineTransform(xy1,xy2),(600,450))
plt.imshow(miku[:,:,::-1])

for (x1,y1),(x2,y2) in zip(xy1,xy2):
    ax1.plot((x1,x2),(y1,y2),'c')
    ax1.scatter((x1,x2),(y1,y2),c=[(1,0.2,1),(0,1,0)],marker='*')
    ax2.scatter([x2],[y2],c=[(0,1,0)],marker='*')

plt.tight_layout(0)
plt.show()





การแปลงภาพเป็นสามมิติหรือแปลงกลับ

ใน opencv มีฟังก์ชันที่ทำงานคล้ายกับ cv2.warpAffine() แต่ซับซ้อนขึ้นกว่า นั่นคือ cv2.warpPerspective()

วิธีการใช้จะคล้ายกับ cv2.warpAffine() แต่จะเป็นการคูณด้วยอาเรย์ขนาด 3×3 แทน ซึ่งจะทำให้แปลงรูปได้หลากหลายขึ้นกว่าเดิม

การแปลงโดยใช้ cv2.warpAffine() นั้นจะเป็นการเฉือนในลักษณะตรึงจุด ๓ จุดแล้วเลื่อนไป วิธีการนี้อาจสามารถบิดดัดภาพได้หลากหลาย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะรูปสี่เหลี่ยมมี ๔ มุม เมื่อบิดโดยตรึงแค่ ๓ จุดแบบนี้ อีกมุมก็จะถูกกำหนดตายตัวโดยให้มีรูปร่างสมมาตรไป ผลที่ได้จากสี่เหลี่ยมผืนผ้าก็จะเป็นสี่เหลี่ยมด้านขนาน

ในบางกรณีเช่นเมื่อต้องการดัดแปลงภาพให้ดูเหมือนเป็น ๓ มิติจริงๆนั้นจำเป็นต้องใช้จุดตรึง ๔ จุด ซึ่ง cv2.warpPerspective() สามารถทำแบบนั้นได้

เช่นเดียวกับที่ cv2.warpAffine() ใช้ฟังก์ชัน cv2.getAffineTransform() ในการสร้างเมทริกซ์แปลงขึ้นจากจุด ๓ จุด สำหรับ cv2.warpPerspective() เองก็มีฟังก์ชันที่ใช้คู่กันคือ cv2.getPerspectiveTransform() ซึ่งทำงานคล้ายกันแต่จะใช้จุดตรึง ๔ ผลที่ได้อาจออกมาเป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า แล้วแต่ตำแหน่งมุมที่กำหนด จุด

ตัวอย่างการใช้ ลองทำเช่นเดียวกับตอนใช้ cv2.warpAffine() คือเอาภาพมาบิดตามจุดตรึง

teto07c03.jpg

teto = cv2.imread('teto07c03.jpg')
xy1 = np.float32([[0,0],[0,450],[600,450],[600,0]]) # จุดตรึงเดิม
xy2 = np.float32([[100,120],[160,380],[450,350],[440,10]]) # จุดตรึงใหม่
mat = cv2.getPerspectiveTransform(xy1,xy2) # สร้างเมทริกซ์แปลง

plt.figure(figsize=[5,7])
for i in [0,1]:
    if(i==1):
        teto = cv2.warpPerspective(teto,mat,(600,450)) # ทำการแปลงภาพ
    plt.subplot(211+i)
    plt.imshow(teto[:,:,::-1])
    plt.scatter(xy1[:,0],xy1[:,1],200,c='r',marker='*') # วาดจุดตรึงเดิม
    plt.scatter(xy2[:,0],xy2[:,1],200,c='g',marker='*') # วาดจุดตรึงใหม่
    
plt.tight_layout(0)
plt.show()


จะเห็นว่าเมื่อใช้วิธีนี้แล้วจะบิดแปลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมใดๆก็ได้ และแน่นอนว่าในทางกลับกันก็ดัดรูปที่เป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่าให้เป็นสี่เหลี่ยมด้านขนานได้

สุดท้ายลองดูตัวอย่างการนำเอาภาพหน้าจอสี่เหลี่ยมที่ถูกถ่ายในสามมิติมาแปลงกลับเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า

teto07c05.jpg

teto = cv2.imread('teto07c05.jpg')
xy1 = np.float32([[37,122],[116,412],[342,273],[289,55]])
xy2 = np.float32([[0,0],[0,450],[600,450],[600,0]])
mat = cv2.getPerspectiveTransform(xy1,xy2)
cv2.imwrite('teto07c06.jpg',cv2.warpPerspective(teto,mat,(600,450)))
teto07c06.jpg




อ่านบทถัดไป >> บทที่ ๘



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> opencv
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文