φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



นิปปมบาชิ สวรรค์ของคนชอบอนิเมะแห่งคันไซ
เขียนเมื่อ 2013/03/07 01:23
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
 #จันทร์ 21 ม.ค. 2013

เมื่อตอนที่เรียนภาษาอยู่ที่ปักกิ่งเรามีโอกาสได้เพื่อนเป็นคนชาติต่างๆมากมาย ในจำนวนนั้นก็มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นอยู่ส่วนหนึ่ง

พอมาเที่ยวญี่ปุ่นก็เลยถือโอกาสมาเยี่ยมเพื่อนไปด้วย เพราะตั้งแต่จบก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย ถึงแม้ว่าจะแค่ครึ่งปีก็ตาม

ที่โอซากะเรามีเพื่อนอยู่ ๒ คน เขากำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยโอซากะ (大阪大学) คนหนึ่งเป็นคนจังหวัดโอซากะ อีกคนบ้านอยู่เมืองอื่นไกลแต่ตอนนี้พักอยู่หอมหาวิทยาลัย

เรานัดเจอกันที่สถานีโอซากะ (大阪駅) ซึ่งก่อนหน้านี้เราเคยมีนั่งรถไฟผ่านที่นี่แล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่เคยแวะ

สถานีโอซากะเป็นสถานีกลางของเมืองโอซากะ อยู่ในย่านใจกลางเมืองที่เรียกว่าย่านอุเมดะ (梅田) สถานี้เป็นจุดเปลี่ยนของรถไฟหลายสาย โดยเป็นจุดตัดของสายโทวไกโดว (東海道本線, โทวไกโดวฮนเซง) ซึ่งลากมาจากเกียวโต แล้วผ่านไปยังโควเบะ และสายวงแหวนโอซากะ (大阪環状線, โอซากะคันโจวเซง) ซึ่งเป็นสายรถไฟวนรอบเมืองโอซากะ

และยังเป็นต้นสายของสายฟุกุจิยามะ (福知山線), สายซากุราจิมะ (桜島線), สายฮังวะ (阪和線) และสายหลักคันไซ (関西本線)

และในบริเวณใกล้ๆกันยังมีสถานีอุเมดะ (梅田駅) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟของบริษัทรถไฟเอกชนท้องถิ่น ๓ บริษัท คือ

ฮันชิง (阪神), ฮังกิว (阪急) และรถไฟใต้ดินโอซากะ (大阪市営地下鉄)

สถานีโอซากะกับสถานีอุเมดะอยู่ใกล้กันมากและสามารถเชื่อมถึงกันด้วยทางเดินใต้ดิน จึงถือเป็นสถานีเดียวกันได้ เป็นจุดเปลี่ยนรถไฟที่สำคัญมาก



สำหรับเรื่องแผนการนัดพบเพื่อนในวันนี้ที่จริงแล้วเดิมทีตามแผนเดิมคือจะมาโอซากะในวันที่ 22 เพื่อมาเจอเพื่อนคนญี่ปุ่น ๒ คน และเพื่อนคนไทย ๑ คน ซึ่งทั้งหมดเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโอซากะ ดังนั้นตอนแรกกะจะนัดเจอกันในมหาวิทยาลัย กะว่าจะไปชมมหาวิทยาลัยด้วย แล้วก็เที่ยวด้วยกันในโอซากะทั้งวัน

หลังจากที่นัดกันเสร็จแล้ว พอใกล้วันจริงๆลองถามดูใหม่ เพื่อนคนไทยบอกว่าช่วงนี้กลายเป็นไม่ว่างเลย คงไปเจอกันไม่ได้แล้ว เราก็รู้สึกเสียดาย แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรไว้ค่อยเจอกันในไทยก็ได้

ส่วนเพื่อนคนญี่ปุ่นก็มาบอกว่าเขาติดสอบกระทันหันวันที่ 22 ขอเปลี่ยนเป็นวันอื่นแทน ซึ่งเราเห็นว่าแผนเที่ยววันที่ 21 เราค่อนข้างหลวมอยู่ สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นจึงขอเลื่อนเป็นวันที่ 21 ตอนเย็นแทน แผนอะไรๆก็ต้องมีการเปลี่ยนกระทันหันตาม แต่ก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก

ส่วนวันที่ 22 จากเดิมที่ว่าจะต้องมาโอซากะก็ไม่ต้องมาแล้ว กลายเป็นเที่ยวในเกียวโตทั้งวันแทน ซึ่งคิดแล้วก็อาจจะกลับกลายเป็นเรื่องดีเพราะเกียวโตน่าสนใจกว่าโอซากะเยอะ โอซากะแม้จะเป็นเมืองใหญ่กว่าแต่ก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนมากมาย

สำหรับเราแล้วสถานที่เที่ยวในโอซากะที่อยากไปให้ได้จริงๆก็มีอยู่เพียงแห่งเดียว นั่นคือเดนเดนทาวน์ (でんでんタウン)

เดนเดนทาวน์เป็นย่านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและพวกของเกี่ยวกับมังงะ อนิเมะ และเกมต่างๆ เทียบได้กับอากิฮาบาระ (秋葉原) ของโตเกียว บางครั้งก็ถูกเรียกว่าเป็นอากิฮาบาระแห่งตะวันตก เพียงแต่ว่าไม่ได้ใหญ่ถึงขนาดอากิฮาบาระของโตเกียว

คำว่าเดนเดนทาวน์ก็มาจากคำว่าเดงกิ (電気, でんき) ที่แปลว่าไฟฟ้า กับทาวน์ (タウン) ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ แปลว่าเมือง

เดนเดนทาวน์อยู่ในย่านทางตอนใต้ของโอซากะซึ่งเรียกว่านิปปมบาชิ (日本橋) ดังนั้นปกติคนจะเรียกที่นี่ว่านิปปมบาชิด้วย แม้ว่าเขตของเดนเดนทาวน์จริงๆจะมีส่วนที่กว้างเลยเขตของนิปปมบาชิไปก็ตาม และบางครั้งยังถูกเรียกย่อเป็นปมบาชิ (ポンバシ)

ที่จริงแล้วดูเหมือนชื่อเรียกว่านิปปมบาชิจะถูกใช้กันอย่างแพร่หลายกว่าเดนเดนทาวน์ด้วย เพื่อนคนญี่ปุ่นที่ไปด้วยเขาก็เรียกว่านิปปมบาชิ

ชื่อนิปปมบาชินี้ถ้าเขียนเป็นคันจิก็จะเขียนเหมือนกับคำว่านิฮมบาชิ (日本橋) ซึ่งเป็นชื่อย่านในโตเกียว เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดควรเรียกให้ถูก

สำหรับบริเวณที่มีขายของเกี่ยวกับอนิเมะอย่างหนาแน่นของย่านนี้มีชื่อเรียกเล่นๆว่าโอตาโรด (オタロード) หมายถึงถนนของโอตากุ



จากตอนที่แล้วเราไปเที่ยวศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ (伏見稲荷大社) ในเกียวโตมา https://phyblas.hinaboshi.com/20130305

หลังจากนั้นก็รีบนั่งรถไฟจากเกียวโตมุ่งสู่โอซากะ ในที่สุดก็มาถึงสถานีโอซากะเวลา 15:58 ซึ่งทันเวลาที่นัดไว้สี่โมงพอดี

แต่เพื่อนเรากลับบอกว่าจะมาสายนิดหน่อย เราซึ่งอุตส่าห์รีบแทบตายเพื่อมาให้ทันเวลากลายเป็นต้องรอ

บรรยากาศในสถานีโอซากะ





หลังจากรอสักพักเขาก็โทรมาบอกว่ามาถึงแล้ว แต่หากันไม่เจอสักที ไปๆมาๆกว่าจะได้เจอกันจริงๆก็ประมาณ ๕ โมงกว่าโน่นเลย ซึ่งฟ้าก็เริ่มจะมืดลงแล้ว

เจอกันคราวนี้เราคุยเป็นภาษาญี่ปุ่นกับเขา ซึ่งต่างจากตอนที่เรียนอยู่ที่ปักกิ่งเราคุยกันด้วยภาษาจีน เพราะคิดว่าอยู่ประเทศไหนก็พูดให้ตรงกับภาษาที่นั่นดีกว่า อยู่จีนก็ฝึกภาษาจีนมาเยอะแล้ว พอมาญี่ปุ่นก็ขอฝึกภาษาญี่ปุ่นบ้าง

แต่บางครั้งเขาก็แทรกสำเนียงคันไซมาด้วย โชคดีที่เราพอศึกษาสำเนียงคันไซมาด้วยจากการดูอนิเมะ แต่ก็ได้แค่ฟัง ยังไม่กล้าใช้สำเนียงคันไซพูดตอบ

หลังจากเจอกันเราก็รีบไปที่สถานีรถไฟใต้ดินอุเมดะทันที

รถไฟใต้ดินจากสถานีอุเมดะไปยังสถานีนิปปมบาชิ (日本橋駅) ต้องไปต่อรถที่สถานีนัมบะ (難波駅) ค่าโดยสารรวม ๒๓๐ เยน เราไม่ได้ถ่ายรูประหว่างทางไว้เพราะพอเจอเพื่อนก็มัวแต่คุย ไม่สะดวกถ่ายนัก

พอถึงสถานีนิปปมบาชิก็พบว่าฝนกำลังตกปรอยๆเราจึงรีบหาร้านกินข้าวเพื่อหลบฝนก่อน เพื่อนช่วยหาร้านถูกๆให้ ก็ไปเจอร้านที่มีข้าวหน้าเนื้อวัวราคาชามละ ๒๙๐ ถือว่าถูกมาก



หลังจากทานข้าวด้วยกันเสร็จเพื่อนคนนึงก็ขอตัวกลับไปเพราะมีธุระ อยู่คุยได้แค่แป๊บเดียว ก็เหลือเพื่อนอีกคนยังอยู่เดินด้วยกันต่อ เขาเคยมาเที่ยวที่นี่จึงช่วยพาเดินเที่ยวตามร้านต่างๆในย่านนี้ได้ดี

ฝนยังคงปรอยๆอยู่ไม่หยุด เป็นอุปสรรคในการเดินเที่ยวเหมือนกัน แต่ก็พอไปได้อยู่



แล้วเราก็เดินมาถึงย่านที่มีร้านเกี่ยวกับอนิเมะเต็มไปหมด




เดินเข้าร้านขายมังงะ



ข้างในเต็มไปด้วยมังงะที่ไม่รู้จักเต็มไปหมด



ที่รู้จักก็มีเล็กน้อย อย่างโคนัน ตอนที่ไปนี่มันออกถึงเล่น ๗๘ แล้ว ยาวจริงๆ



อิกะมุสึเมะ 侵略!イカ娘 (shinryaku ikamusume) อยากให้อนิเมะมีต่อจัง



D.C.III ช่วงนี้กำลังมาแรง



แล้วก็ไปที่ร้านขายพวกสินค้าที่เกี่ยวกับอนิเมะ ร้านใหญ่มากทีเดียว















มีตู้กาจาปงของอนิเมะเรื่องต่างๆเพียบเลย



เราลองกดตู้ของ 夏色キセキ (natsuiro kiseki) ๒๐๐ เยน



ข้างนอกฝนก็ยังไม่มีทีท่าจะเบาลง



เดินต่อมาก็เจอร้านนี้ เป็นร้านขายเกมเก่า




เห็นแล้วหวนระลึกมากเลย



แผนเกมเก่าถูกเอามาขายถูกๆมากเลย จะซื้อกลับไปเป็นที่ระลึกก็ยังได้




เดินเข้าร้านต่อไปอีก ร้านนี้มีทั้งขายมังงะ เกม และของที่เกี่ยวข้องมากมาย






มังงะของเรื่องซากิ เพิ่งจะมาเห็น อยากให้อนิเมะทำต่อเร็วๆจัง



little buster กำลังฉายอยู่เลย




rewrite



生徒会の一存 (seitokai no ichizon) เรื่องนี้ก็กำลังฉายอนิเมะภาค ๒ อยู่



มุมวิชวลโนเวล ช่วงนี้ D.C.III กำลังดังจริงๆ



รูปนักพากย์หน้าใหม่ ๒ คนที่ช่วงนี้กำลังดังมาแรงมาก โองุระ ยุย (小倉唯) กับ อิชิฮาระ คาโอริ (石原夏織) จับคู่กันเป็นกลุ่มยุยคาโอริ (ゆいかおり) สองคนนี้กำลังมีผลงานมากมายทั้งคู่ พากย์เรื่องเดียวกันบ่อยครั้งมาก



แล้วก็มีเข้าตึกนี้



ข้างในร้านก็ขายของเกี่ยวกับอนิเมะ เกม และมังงะเต็มไปหมดเช่นกัน





Atelier



ましろ色シンフォニー (mashiro iro symphony)



มุมนี้เป็นวันพีซทั้งหมดเลย เรื่องนี้ยาวจริงๆคงไม่จบง่ายๆ



หลังจากนั้นยังมีแวะร้านเกมด้วย



ภายในเต็มไปด้วยยูโฟแคทเชอร์ ตู้คีบตุ๊กตา




มาโดกะ



มีตู้กาจาปงด้วย เราเลยหยอดดูอีกตู้ คราวนี้เป็นของเรื่อง この中に1人、妹がいる! (kono naka ni hitori imouto ga iru) ใช้ไปอีก ๒๐๐ เยน



โดยรวมแล้ววันนี้หมดไปกับย่านนี้แค่ ๔๐๐ เยน คือหยอดตู้กาจาปงสองตู้ ได้ของเล็กๆมาสองชิ้น นอกนั้นไม่ได้ซื้ออะไรเพราะแพงเกินไปไม่ไหว แค่ได้มาดูก็พอแล้ว



แล้วก็ยังได้เดินผ่านหรือแวะอีกหลายร้าน





เดินดูไปมาก็ชักดึกทุ่มกว่าแล้ว สุดท้ายก็เดินจนหมดย่านแล้วก็ได้เวลาต้องกลับ ต้องลาจากเพื่อนแต่เพียงเท่านี้แล้ว

เพื่อนเดินกลับไปขึ้นรถไฟใต้ดินที่สถานีใกล้สุด ส่วนเรายังมีสิ่งที่อยากไปต่ออีกหน่อยซึ่งอยู่ใกล้กัน นั่นคือหอคอยทซือเตงกากุ (通天閣) หอคอยซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของโอซากะ

เดินสักพักก็มาถึงถนนด้านหน้าหอคอยทซือเตงกากุ เป็นถนนที่เต็มไปด้วยร้านค่าคับคั่งตลอดทาง แต่เนื่องจากฝนตกก็ทำให้ดูไม่ค่อยมีคน ถ้าเดินตรงต่อไปเรื่อยๆก็จะถึงหอคอยทซือเตงกากุ แต่ว่าฝนตกหนักขึ้นจนไม่อยากเดินต่อแล้วจึงหยุดตรงที่ได้เห็นแค่นี้เป็นมุมที่กำลังดีเลย



ได้เวลาต้องรีบกลับเกียวโตแล้ว เรารีบเข้าไปสถานีรถไฟใต้ดินที่ใกล้ที่สุด คือสถานีเอบิสึโจว (恵美須町駅) โดยจะนั่งไปที่สถานีชินโอซากะ ค่าโดยสารคือ ๒๗๐ เยน



แต่พอขึ้นรถไฟก็พบว่าคนเยอะเบียดเสียดมาก ทั้งไม่มีที่นั่งและอากาศก็ร้อนทรมานมาก ฮีตเตอร์คงทำงานดีเกินไปและคนเยอะก็ยิ่งร้อนด้วย



ตอนนั้นรู้สึกทนไม่ไหวจริงๆก็เลยรีบออกที่สถานีอุเมดะก่อน ซึ่งความจริงค่าโดยสารถึงอุเมดะก็แค่ ๒๓๐ เยน ถูกกว่าอยู่ ๔๐ เยน แต่เรื่องนั้นไม่สำคัญ ขาดทุนก็แค่นิดเดียวเอง

แล้วจากสถานีอุเมดะก็เดินไปขึ้นสถานีโอซากะซึ่งอยู่ใกล้ๆ แล้วค่อยนั่ง JR จากโอซากะไปชินโอซากะอีกที ดูเหมือนเป็นการทำอะไรให้ยุ่งยากขึ้น แต่สุดท้ายก็ไปถึงสถานีชินโอซากะได้เหมือนกัน ไม่ได้เสียตังเพิ่มเพราะยังไงก็ใช้ Kansai WIDE area pass ขึ้น JR ฟรีอยู่แล้ว



ที่เรามาที่สถานีชินโอซากะก็เพื่อขึ้นรถด่วนพิเศษฮารุกะ (特急はるか, ทกกิวฮารุกะ) ซึ่งเป็นรถด่วนพิเศษที่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่เราใช้ Kansai WIDE area pass ก็นั่งได้ฟรีจึงอยากนั่งดู

ก่อนหน้านี้เคยพูดถึงรถด่วนพิเศษฮารุกะไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20130118

รถด่วนขบวนนี้วิ่งจากสนามบินคันไซ (関西空港) ไปสุดปลายทางที่เกียวโต โดยระหว่างทางจอดแค่สองสถานีคือสถานีเทนโนวจิ (天王寺駅) ซึ่งอยู่ที่ย่านใจกลางเมืองของโอซากะ ใกล้ๆกับหอคอยทซือเตงกากุ

กับอีกที่ก็คือสถานีชินโอซากะ นี่เป็นรถไฟชนิดเดียวที่ผ่านเลยสถานีโอซากะไปเลยโดยไม่ได้จอด ดังนั้นจึงต้องมาขึ้นที่สถานีชินโอซากะเท่านั้น ที่จริงจะขึ้นที่สถานีเทนโนวจิก็ได้ อยู่ใกล้กับหอคอยซือเทงกากุนิดเดียว แต่ตอนแรกไม่รู้

รถที่จะขึ้นเป็นรอบ 20:37 ซึ่งดึกพอสมควร เรามาถึงสถานีชินโอซากะตั้งแต่ 20:19 แล้ว ที่จริงถ้าเราไม่ได้กะรอเพื่อขึ้นรถด่วนขบวนนี้ ไปขึ้นรถเร็วธรรมดาจากสถานีโอซากะกลับโดยตรงซึ่งมันมีรอบ 20:15 อยู่ก็จะถึงสถานีเกียวโตเวลา 20:44

แต่เพราะอยากลองนั่งฮารุกะดูก็เลยต้องมาต่อที่สถานีชินโอซากะ และถึงสถานีเกียวโตตอน 21:02 ได้กลับช้าไป ๑๘ นาที แต่ก็ได้ประสบการณ์นั่งรถด่วนเพิ่มขึ้นอีกคิดว่าถือว่าคุ้ม

หลังจากรอสักพักรถด่วนฮารุกะก็วิ่งมาถึง



ภายในรถขณะนั้นว่างมากแทบไม่มีคนเลย ในขณะที่รถไฟใต้ดินและรถเร็วธรรมดาคนเบียดแออัดกันจนแทบไม่มีที่นั่ง ดูเหมือนเราจะคิดถูกที่มารอขึ้นรถด่วนขบวนนี้ เลยทำให้ขากลับได้นั่งพักสบายๆ



ใช้เวลาเพียง ๒๕ นาทีรถด่วนฮารุกะก็พาเรามาถึงสถานีเกียวโตตอน 21:02 ตามเวลา จากนั้นเราก็รีบไปขึ้นรถเมล์เพื่อกลับหอพัก กว่าจะถึงก็ราวๆสี่ทุ่ม นับเป็นวันที่กลับดึกที่สุดวันหนึ่ง





และแล้วก็จบการท่องเที่ยววันที่ ๕ ลง และนี่เป็นวันสุดท้ายแล้วสำหรับการใช้ Kansai WIDE area pass เพื่อขึ้นรถไฟ JR ฟรี

ลองมาสรุปดูว่าวันนี้ประหยัดไปได้เท่าไหร่

เกียวโต > อาซึจิ 740
อาซึจิ > โอวมิฮาจิมัง 180
โอวมิฮาจิมัง > อิชิยามะ 400
อิชิยามะ > อินาริ 320
อินาริ > โอซากะ 820
ชินโอซากะ > เกียวโต 1170 (รถด่วนฮารุกะ)

รวมแล้วประหยัดไป 3630 เยน ซึ่งก็ถือว่าใช้คุ้ม

พอรวมเงินที่ประหยัดไปได้ใน ๔ วันก็เป็น 12520+7050+3190+3630 = 26390

หักลบราคาพาสไป 7000 ก็เท่ากับประหยัดเงินไปถึง 19390 เยน เป็นการใช้พาสได้คุ้มสุดๆ ประหยัดค่ารถไฟไปได้มากจริงๆ

ถึงตรงนี้ก็ได้เวลาบอกลา Kansai WIDE area pass แล้ว วันต่อไปจะเป็นการกลับไปใช้ Kansai thru pass ต่อหลังจากที่เว้นการใช้มา ๔ วันจากวันแรก

อ่านบันทึกการเที่ยววันที่ ๖ ต่อได้
https://phyblas.hinaboshi.com/20130309




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> โอซากะ
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文