φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



พิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์และตราไปรษณียากรจีน
เขียนเมื่อ 2015/07/02 18:52
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#พุธ 6 พ.ค. 2015

ในจีนมีพิพิธภัณฑ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่แล้วค่าเข้าไม่แพง หรือไม่ก็เข้าได้โดยไม่เสียตังค์เลย แต่ภายในเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าดูและเต็มไปด้วยข้อมูลความรู้มากมายสามารถได้อะไรมากมายจากในนั้น ดังนั้นจึงเป็นสถานที่เที่ยวที่เหมาะจะแวะมาหากมีเวลา

ครั้งนี้ไปชมพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่สามารถเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม นั่นคือพิพิธภัณฑ์ไปรษณีย์และตราไปรษณียากรจีน (中国邮政邮票博物馆)

พิพิธภัณฑ์นี้เปิดตั้งแต่ปี 2007 ตั้งอยู่ใกล้กับเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门) เป็นสถานที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ไปรษณีย์ของจีน และจัดแสดงแสตมป์ด้วย



การเดินทางมานั้นง่ายดาย นั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีเจี้ยนกั๋วเหมิน (建国门站) แล้วเดินไปทางตะวันตกตามถนนเจี้ยนเน่ย์ (建内大街) แล้วเลี้ยวขวาไปทางทิศเหนือเดินไปตามถนนก้งย่วนซี (贡院西街) สักพักก็ถึง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นตึกสูงอย่างที่เห็นแต่ส่วนที่เปิดจัดแสดงให้คนเข้าชมนั้นคือ ๔ ชั้นล่าง



เมื่อเดินเข้าไป ชั้น ๑ ไม่มีอะไร เป็นแค่ทางผ่าน ส่วนจัดแสดงอยู่ที่ชั้น ๒ ถึง ๔ แต่ถ้าใครเอากระเป๋ามาเขาจะบังคับให้ฝากไว้ชั้นล่าง



เมื่อขึ้นมา ชั้น ๒ เป็นที่จัดแสดงแสตมป์มากมาย แต่เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้ที่ชื่นชอบบการสะสมแสตมป์จึงแค่ดูผ่านๆแล้วรีบเดินต่อขึ้นไปยังชั้น ๓ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด



ชั้น ๓ เป็นส่วนที่จัดแสดงประวัติศาสตร์ของไปรษณีย์จีนตั้งแต่สมัยโบราณ ข้อมูลที่จัดแสดงอยู่ที่นั้นถือว่าละเอียดเยอะมากพอสมควร เราใช้เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในชั้นนี้



เริ่มแรกเริ่มต้นจากพูดถึงว่าการสื่อสารนั้นกำเนิดขึ้นมายังไง การสื่อสารในระยะแรกๆของมนุษย์นั้นใช้สิ่งของต่างๆเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความหมายต่างๆ หรือใช้อุปกรณ์บางอย่างในการสร้างเสียงขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีบางชนเผ่าในจีนที่ยังใช้วิธีการดั้งเดิมนี้อยู่ ในรูปนี้คือใบไม้ชนิดต่างๆที่ใช้แทนสัญลักษณ์ ใช้โดยชาวจิ่งพัว (景颇族) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในจีน ส่วนด้านล่างเป็นกลองของชาวต้ง (侗族) ชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่ม



แล้วก็เริ่มพัฒนามาเป็นใช้ตัวอักษรในการเขียนข้อความเพื่อสื่อสาร ในระยะแรกนั้นอักษรมักเป็นอักษรรูปภาพ ด้านบนเป็นอักษรของชาวน่าซี (纳西族) ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองลี่เจียง อักษรนี้ยังมีการใช้อยู่จนปัจจุบัน กลางซ้ายเป็นอักษรที่พบที่ซากโบราณสถานป้านพัว (半坡) ในเมืองซีอาน (西安) มณฑลส่านซี ซึ่งเป็นซากโบราณสถานสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าจีนเริ่มมีการสร้างตัวอักษรตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว



นี่เป็นอักษรจีนยุคเริ่มแรกๆ ยุคราชวงศ์เซี่ย (夏朝, 21 - 17 ศตวรรษก่อน ค.ศ.)



อักษรซึ่งพบในแผ่นกระดูกสัตว์หรือกระดองเต่าที่ถูกสลักข้อความต่างๆ ในช่วงยุคราชวงศ์ซาง (商朝, 17 - 11 ศตวรรษก่อน ค.ศ.) เรียกว่าเจี๋ยกู่เหวิน (甲骨文) ขุดพบแถวเมืองอานหยาง (安阳) มณฑลเหอหนาน เคยเล่าถึงไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20120915



ข้อความในเจี๋ยกูเหวินนั้นได้บันทึกเอาไว้ว่ามีการทำงานส่งจดหมายในยุคนั้น จึงนับว่าเป็นยุคแรกสุดที่พบว่ามีระบบไปรษณีย์

ต่อในในยุคราชวงศ์โจว ( 周朝, 1046- 256 ปีก่อน ค.ศ.) ก็มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องระบบส่งจดหมาย ในยุคชุนชิว (春秋, 770 - 476 ปีก่อน ค.ศ.) และ ยุคจ้านกั๋ว (战国, 476 - 221 ปีก่อน ค.ศ.) นั้นนิยมใช้แผ่นไม้ในการเขียนข้อความ

ที่ทำการไปรษณีย์ในยุคแรกนั้นเรียกว่าอี้จ้าน (驿站) อาจแปลว่าสถานีส่งสาร การส่งสารจำกัดอยู่แค่ใช้สำหรับเพื่อรายงานติดต่อราชการต่างๆ นี่เป็นเกวียนที่ใช้ในการขนส่งจดหมายต่างๆในยุคนั้น



ภาพทางซ้ายบนคือร่องรอยซากโบราณของศาลาไปรษณีย์ (邮亭, โหยวถิง) ในยุคราชวงศ์ฉิน (秦朝, 221 - 207 ปีก่อน ค.ศ.)  ในเมืองเกาโหยว (高邮) มณฑลเจียงซู
ส่วนภาพทางขวาบนและข้างล่างคือเส้นทางโบราณสมัยราชวงศ์ฉินซึ่งใช้ในการคมนาคมและรวมถึงการส่งสารด้วย อยู่ที่อำเภอจิ่งสิง (井陉) มณฑลเหอเป่ย์



ตราประทับของทางการที่ใช้ในสมัยก่อน



รูปหล่อสำริดของรถม้าที่ใช้ส่งสารในยุคราชวงศ์ฮั่น (汉朝, 202 ปีก่อน ค.ศ. - ปี 220) ขุดเจอจากหลุมศพเก่าเหลย์ไถ (雷台古墓) ที่เมืองอู่เวย์ (武威) มณฑลกานซู่



รูปปั้นเขียนจดหมาย กับม้าส่งจดหมาย ขุดเจอที่หลุมศพราชวงศ์ฮั่นตะวันตกในมณฑลหูเป่ย์



แผ่นไม้สำหรับเขียนข้อความจดหมายในยุคราชวงศ์ฮั่น แบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ



ป้อมส่งสัญญาณที่เรียกว่าเฟิงซุ่ย (烽燧) เอาไว้สังเกตการณ์ตามชายแดนเพื่อเตือนภัยและใช้สัญญาณไฟเพื่อส่งสาร



อิฐที่ใช้ในการสร้างป้อมเฟิ่งซุ่ยในสมัยราชวงศ์ฮั่น



ภาพคนส่งสารขี่ม้าที่ถูกวาดลงบนอิฐ ขุดพบที่หลุมศพที่ชานเมืองตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเจียยวี่กวาน (嘉峪关) มณฑลกานซู่



แบบจำลองเสวียนเฉวียนจื้อ (悬泉置) สถานีส่งสารโบราณที่เมืองตุนหวงมณฑลกานซู่ ถูกสร้างเมื่อประมาณ 92 ปีก่อน ค.ศ. ช่วงยุคราชวงศ์ฮั่น



จากนั้นเข้าสู่ยุคราชวงศ์สุย (隋朝, ปี 581 - 619) และราชวงศ์ถัง (唐朝, ปี 618 - 907) การไปรษณีย์ก็ขยายออกไปอีก มีการใช้อุปกรณ์หลากหลายขึ้น การควบคุมจัดการเข้มงวดขึ้น



ตราสัญลักษณ์รูปปลาที่ใช้ติดตัวสำหรับแสดงฐานะผู้ส่งสารในยุคราชวงศ์ถัง



ล้อเกวียนสำหรับส่งสาร



ในยุคราชวงศ์ถังยังนิยมใช้อูฐในการส่งสารด้วย



จากนั้นถึงยุคราชวงศ์ซ่ง (宋朝, ปี 960 - 1279) มีการตั้งระบบที่ใช้ทหารเป็นคนส่งสาร



แผ่นป้ายของคนส่งสารของราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 907 - 1125) ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวชี่ตานที่ปกครองแผ่นดินจีนทางตอนเหนือร่วมสมัยกับราชวงศ์ซ่ง มีภาษาชี่ตานสลักอยู่



ส่วนนี่เป็นแผ่นป้ายของคนส่งสารของราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏, 1038 - 1227) ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินส่วนตะวันตกเฉียงเหนือของจีนอยู่ในช่วงเดียวกับราชวงศ์ซ่งและเหลียว ในแผ่นป้ายมีสลักภาษาซีเซี่ย



จากนั้นก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์หยวน (元朝, ปี 1271 - 1368) ซึ่งปกครองโดยชาวมองโกล นี่เป็นแผนที่เส้นทางส่งสารในยุคนั้น



ตราสัญลักษณ์ของพนักงานประจำสถานีส่งสารซึ่งสลักด้วยอักษรมองโกลสมัยเก่า



แล้วก็มาถึงยุคราชวงศ์หมิง (明朝, ปี 1368 - 1644)



สถานีส่งสารแห่งต่างๆที่ถูกสร้างในช่วงยุคนั้น



แบบจำลองสถานีส่งสารหยวีเฉิง (盂城驿) ในอำเภอเกาโหยว มณฑลเจียงซู ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1375 ซึ่งเป็นต้นราชวงศ์หมิง อาคารถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี ปัจจุบันตัวอาคารกลายเป็นพิพิธภัณฑ์



อานม้าส่งสารสมัยราชวงศ์หมิง



กระดิ่งม้าส่งสาร



จากนั้นก็เป็นยุคราชวงศ์ชิง (清朝, ปี 1636 - 1912) ซึ่งปกครองโดยชาวแมนจู นี่คือตราเคลื่อนทัพของหวงไท่จี๋ (皇太极) ผู้ก่อตั้งราชวงศ์ชิง ในนี้จะเห็นว่ามีสองภาษาคือภาษาจีนและภาษาแมนจู



ตราต่างๆของบุคคลที่ทำหน้าที่ในสถานีส่งสาร



ซองใส่เอกสารทางราชการของราชวงศ์ชิง



แท่นสำหรับขึ้นขี่ม้าที่สถานีส่งสารหยวีหลิน (榆林驿) ในมณฑลส่านซี



ตราประทับที่ด่านเจียยวี่กวานซึ่งเป็นสถานีส่งสารที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในยุคราชวงศ์ชิง



บทกวีต่างๆที่เกี่ยวกับสถานีส่งสารของจีนตั้งเรียงอยู่ตามผนังตรงนี้



จากนั้นตรงนี้เริ่มมีการพูดถึงการส่งสารของภาคเอกชนสำหรับประชาชนทั่วไปบ้าง เนื่องจากการส่งสารตั้งแต่สมัยโบราณมานั้นมีแต่ทางรัฐบาลที่ใช้ได้ ดังนั้นประชาชนจึงต้องหาช่วงทางต่างๆในการส่งสารเอาเอง มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อส่งสาร เรียกว่า ซิ่นเค่อ (信客)



ที่ทำการไปรษณีย์ภาคเอกชนนั้นมีชื่อเรียกย่อๆว่าหมินจวี๋ (民局) เริ่มมีต้นกำเนิดจากเมืองหนิงปัว (宁波) มณฑลเจ้อเจียง ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (永乐, ปี 1402 - 1424) แล้วค่อยๆพัฒนากว้างขวางขึ้น ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถือว่ารุ่งเรืองมากที่สุด ที่ทำการมีลักษณะเหมือนเป็นร้านค้าเล็กๆ นอกจากจะสื่อสารภายในประเทศแล้วในมณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยนยังมีที่ทำการส่งจดหมายติดต่อกับคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพไปอยู่ต่างแดนด้วย



ในช่วงศตวรรษที่ 19 มีบุคคลสำคัญหลายคนที่เสนอว่าจีนควรจะเริ่มใช้ระบบไปรษณีย์แบบสมัยใหม่ โดยเริ่มจากหงเหรินกาน (洪仁玕) หนึ่งในผู้นำกบฏไท่ผิง


หลังจากที่จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นและเปิดประเทศคบหากับชาวตะวันตกมากขึ้นก็เริ่มได้รู้จักระบบไปรษณีย์แบบใหม่และเริ่มเห็นถึงความสะดวก จึงเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อจะเปลี่ยนมาใช้ระบบไปรณ๊ย์แบบใหม่เช่นเดียวกับชาติตะวันตก

ระบบไปรษณีย์สมัยใหม่นั้นเริ่มขึ้นที่ด่านศุลกากรซึ่งเป็นของชาวต่างชาติประเทศต่างๆ ในปี 1878 ได้มีการเริ่มผลิตแสตมป์ชุดแรกของจีนขึ้น เรียกว่าแสตมป์มังกรใหญ่ (大龙邮票, ต้าหลงโหยวเพี่ยว)



หลังสงครามระหว่างจีนกับฝรั่งเศสในปี 1883 ถึงปี 1885 จีนเริ่มเห็นความสำคัญของเกาะใต้หวันจึงจัดตั้งเป็นมณฑลอิสระแยกจากมณฑลฝูเจี้ยน และในปี 1888 เกาะไต้หวันภายใต้การนำของหลิวหมิงฉวาน (刘铭传) ได้เริ่มจัดตั้งไปรษณีย์สมัยใหม่ขึ้นมาโดยแยกเป็นอิสระจากระบบไปรษณีย์ในแผ่นดินใหญ่ซึ่งยังเป็นแบบสมัยเก่าอยู่



และในที่สุดปี 1896 ระบบไปรษณีย์แบบปัจจุบันในจีนก็ก่อตั้งขึ้นสำเร็จ โดยมีชื่อว่าไปรณีย์ต้าชิง (大清邮政, ต้าชิงโหยวเจิ้ง)

แต่เมื่อจัดตั้งขึ้นมาแล้วก็ทำให้ต้องแข่งขันกับไปรษณีย์ของภาคเอกชน บางครั้งก็เกิดการปะทะกัน

นอกจากนี้ยังมีไปรษณีย์ที่บริหารโดยชาวต่างชาติประเทศต่างๆ ซึ่งเรียกว่าเค่อโหยว (客邮) ซึ่งแปลว่าไปรษณีย์ของผู้มาเยือน



ตราประทับของประเทศต่างๆบนไปรษณียบัตร



ไปรษณียบัตรที่ส่งจากเทียนจินไปยังอิตาลีในปี 1902 โดยผ่านทางเค่อโหยวของฝรั่งเศสที่เซี่ยงไฮ้ ข้อความบนนี้เขียนด้วยสองภาษาคือฝรั่งเศสกับเยอรมัน แต่ข้อความที่ผู้ส่งเขียนนั้นเป็นภาษาอิตาลี จะเห็นว่าประทับตราที่เทียนจินวันที่ 27 พ.ค. และไปถึงอิตาลี 5 ก.ค. ใช้เวลามากกว่าเดือนกว่าจะส่งไปถึง



ภาพอาคารที่ทำการไปรษณีย์ต้าชิงสาขาต่างๆ



แบบจำลองขนาดเท่าของจริงของที่ทำการไปรษณีย์ต้าชิง



มองเข้าไปด้านใน



ป้ายท่าเรือไปรษณีย์



ทางซ้ายเป็นไปรษณียบรรณของไปรษณีย์ต้าชิง ทางขวาเป็นจดหมายที่จ่าหน้าเป็นภาษาฝรั่งเศสซึ่งส่งจากเซี่ยงไฮ้ไปโยโกฮามะ แล้วปิดผนึกด้วยตราสีดำของไปรษณีย์ต้าชิง



ตะกร้าใส่จดหมายแบบสะพายหลัง



ชุดของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ต้าชิง



ไปรษณีย์ต้าชิงได้ขยายเส้นทางเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ถึงปี 1911 มีเส้นทางไปรษณีย์ยาวถึงกว่า ๓ แสน กม.



จากนั้นพอเข้าสู่ปี 1912 ก็เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้ม จีนถูกปกครองโดยรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ไปรษณีย์ต้าชิงก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นไปรษณีย์สาธารณรัฐจีน (中华民国邮政, จงหัวหมินกั๋วโหยวเจิ้ง)

นี่เป็นเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ต่างๆที่ใช้ในยุคแรกๆ



หุ่นจำลองพนักงานขนส่งจดหมายในยุคนั้น และทางซ้ายเป็นตู้ไปรษณีย์



ถุงใส่จดหมายที่ใช้ในเขตเทียนจินและซานซี แล้วก็ท่อนไม้สำหรับแบกของบนไหล่



ตาชั่งที่ใช้ในไปรษณีย์



ตราประทับของแผนผังเขตส่งจดหมายในเซี่ยงไฮ้และหนานจิง



แผนที่แบ่งเขตไปรษณีย์ในตัวเมืองปักกิ่ง (สมัยนั้นชื่อว่าเป่ย์ผิง)



เนื่องจากว่าตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กิจการไปรษณีย์ของจีนในหลายส่วนเป็นของต่างชาติ ดังนั้นตั้งแต่เข้าสู่ยุคของสาธารณรัฐจีนก็ได้พยายามจะเอากิจการเหล่านี้กลับคืนมาเป็นของประเทศชาติ



ระหว่างช่วงที่ทำสงครามกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่นั้นทางกลุ่มผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนได้ตั้งระบบขนส่งจดหมายของตัวเองขึ้น เรียกว่าไปรษณีย์คมนาคม (交通邮政, เจียวทงโหยวเจิ้ง) มีส่วนอย่างมากในติดต่อประสานงานเพื่อการสู้รบกับญี่ปุ่น



หลังจากสงครามกับญี่ปุ่นจบลงระบบไปรษณีย์คมนาคมนี้ก็ได้กลายมาเป็นระบบไปรษณีย์หลักในพื้นที่ครอบครองของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามกลางเมือง เปลี่ยนชื่อใหม่มาเป็นไปรษณีย์ประชาชน (人民邮政, เหรินหมินโยวเจิ้ง) พอพรรคคอมมิวนิสต์ชนะและรวบรวมทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในปี 1949 ก็ได้รวมระบบไปรษณีย์ของทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียว

แสตมป์ที่ถูกใช้ในเขตครอบครองของพรรคคอมมิวนิสต์ อันขวาเป็นรูปเหมาเจ๋อตง





ส่วนจัดแสดงของชั้น ๓ ก็จบลงแต่เพียงเท่านี้ ต่อไปขึ้นไปชั้น ๔ ซึ่งเป็นชั้นบนสุด เป็นส่วนที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ไปรษณีย์จีนในช่วงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีน คือยุคปัจจุบัน



รูปการทำงานของไปรษณีย์จีนท่ามกลางความยากลำบาก น้ำท่วมก็ยังพยายามฝ่าฟันเพื่อจะส่งจดหมายถึงปลายทาง



พาหนะต่างๆที่ใช้ในการขนส่ง



แบบจำลองอาคารจัดการไปรษณีย์สมัยใหม่



แบบจำลองระบบภายในอาคารจัดการไปรษณีย์



ตรงส่วนนี้จัดแสดงเทคโนโลที่ใช้ในระบบไปรษณีย์สมัยใหม่



คอมพิวเตอร์ในยุคเก่า



ค่อยๆพัฒนามาเป็นคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ ใช้จอ LCD



เนื้อหาของชั้น ๔ น้อยกว่าชั้น ๓ มาก ค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกันแล้ว ดูแค่แป๊บเดียวก็จบ ใช้เวลาในชั้น ๔ แค่ ๑๕ นาทีเท่านั้น แต่ใช้เวลาในชั้น ๓ ไปถึงเกือบ ๓ ชั่วโมง โดยรวมทุกชั้นแล้วใช้เวลาไปรวมทั้งหมด ๓ ชั่วโมงกว่า ตอนที่เดินออกมาก็เกือบบ่ายโมงแล้ว

ใช้เวลาไปกับที่นี่นานพอสมควร ได้รับความรู้อย่างเต็มที่ สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์แล้วที่นี่เป็นที่ที่คิดว่าคุ้มกับการแวะมาชม



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文