φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



เที่ยวจิ่นโจว ๓ วัน ๒ คืน 23 - 25 พ.ค. 2015
เขียนเมื่อ 2015/07/22 18:01
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#23 - 25 พ.ค. 2015

เมื่อตอนหลังจากที่เพิ่งสอบป้องกันวิทยานิพนธ์เสร็จ ตอนนั้นได้ตัดสินใจหนีไปเที่ยวมา ๓ วัน ๒ คืน ที่หมายคราวนี้คือเมืองจิ่นโจว (锦州) เมืองนี้พูดถึงชื่อแล้วคนไทยอาจไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักแต่ความจริงแล้วเป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งเลยทีเดียว



แนะนำสถานที่

จิ่นโจวเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในมณฑลเหลียวหนิงซึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน อยู่ค่อนไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑล มีความสำคัญเพราะเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่จะต้องผ่านหากจะเดินทางไปยังเมืองสำคัญอื่นๆที่อยู่ในภาคอีสาน จิ่นโจวมีรถไฟความเร็วสูงผ่าน หากเดินทางจากปักกิ่งจะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมงครึ่ง

จิ่นโจวและบริเวณรอบๆนั้นประกอบไปด้วยสถานที่หลากหลายแนว ทั้งที่เที่ยวธรรมชาติ และโบราณสถานต่างๆซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์หลายยุคสมัย ทั้งประวัติศาสตร์ยุคโบราณ และประวัติศาสตร์สมัยใหม่ อีกทั้งยังประวัติศาสตร์ยุคดึกดำบรรพค์ด้วย

บริเวณแถวจิ่นโจวเป็นแหล่งขุดฟอสซิลที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน แหล่งขุดฟอสซิลที่สำคัญอยู่ในอำเภออี้เซี่ยน (义县) ที่นี่เป็นสถานที่ที่ขุดพบไดโนเสาร์ที่ชื่อจิ่นโจวเซารุส (Jinzhousaurus) ซึ่งได้รับการตั้งชื่อตามชื่อเมืองจิ่นโจว ซึ่งนั่นทำให้อำเภออี้เซี่ยนรวมทั้งเมืองจิ่นโจวมีชื่อเสียงในเรื่องไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์บรรพชีวินจิ่นโจว (锦州古生物博物馆) ได้รวบรวมฟอสซิลต่างๆที่ขุดพบในบริเวณนี้เอาไว้



นอกจากนี้แล้วอี้เซี่ยนยังมีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นเมืองเก่าที่มีซากโบราณสถานสำคัญ ได้แก่วัดเฟิ่งกั๋ว (奉国寺) ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี 1020 ซึ่งเป็นสมัยราชวงศ์เหลียว (辽朝, ปี 907 - 1125)



และถ้ำหินว่านฝัวถาง (万佛堂石窟) ซึ่งเป็นถ้ำหินแกะสลักที่สร้างขึ้นในปี 499 ในช่วงยุคราชวงศ์เว่ย์เหนือ (北魏, ปี 386 - 534)



นอกจากนี้ยังมีเมืองอื่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นเมืองเป่ย์เจิ้น (北镇) ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของแถบนี้ในสมัยราชวงศ์หมิง อย่างไรก็ตามเนื่องจากอยู่ค่อนข้างไกลจากตัวเมืองจิ่นโจวและเดินทางลำบากเราจึงไม่ได้แวะไปถึงที่นั่น

ส่วนตัวเมืองจิ่นโจวเองนั้นหากใครมีโอกาสได้อ่านประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ละก็อาจจะพอเคยได้ยินชื่อผ่านหูมาบ้าง เพราะที่นี่ถูกใช้เป็นสมรภูมิสำคัญในยุทธการจิ่นโจว (锦州战役) ในปี 1948 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธการเหลียวเสิ่น (辽沈战役) เป็นการต่อสู้ที่สำคัญช่วงท้ายของสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋ง เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์พลิกกลับมาชนะและได้รวมประเทศกลับมาเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง

ภายในเมืองจิ่นโจวนั้นได้มีการสร้างหออนุสรณ์ยุทธการเหลียวเสิ่น (辽沈战役纪念馆) ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกการต่อสู้ครั้งนั้นและให้คนทั่วไปได้เข้ามาอ่านประวัติศาสตร์ นี่จึงกลายเป็นสถานที่เที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมือง



ทางด้านโบราณสถานนั้นจิ่นโจวมีหอคอยวัดกว่างจี้ใหญ่ (大广济寺塔) ซึ่งสร้างในปี 1057 สมัยราชวงศ์เหลียว



ที่ว่ามานี้คือความน่าสนใจทางด้านประวัติศาสตร์ของเมืองจิ่นโจวและเมืองในเขตจังหวัดของจิ่นโจว แต่ว่านอกจากเรื่องประวัติศาสตร์แล้วสถานที่เที่ยวธรรมชาติของจิ่นโจวก็ไม่ได้ด้อยเลย

สถานที่เที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดในจิ่นโจวเห็นจะเป็นปี่เจี้ยซาน (笔架山) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆที่มีธรรมชาติอันโดดเด่น คือมีแผ่นดินทอดตัวเป็นทางยาวเชื่อมระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่จนเห็นเป็นทะเลแหวก ดูสวยงามไปอีกแบบหากเทียบกับที่จังหวัดกระบี่ของไทย



นอกจากนี้ก็ยังมีภูเขาอื่นๆอีกเช่นเป๋ย์ผู่ถัวซาน (北普陀山) ซึ่งก็น่าสนใจอยู่ไม่ไกลจากเมืองมากนัก แต่ว่าเราไม่ได้ไปมา

นอกจากนี้ในจิ่นโจวยังมีทั้งแหล่งช็อปปิงและตลาดกลางคืนเหมือนอย่างที่เมืองใหญ่ๆควรจะมี



การเที่ยวครั้งนี้เราใช้เวลาอยู่ในเมืองจิ่นโจว ๒ วันโดยค้าง ๒ คืน และในวันที่ ๓ ก็ออกเดินทางกลับ โดยระหว่างทางยังแวะเที่ยวอีกเมืองซึ่งมีสถานท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่ง นั่นก็คือซิงเฉิง (兴城)



ซิงเฉิงเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในจังหวัดหูหลุเต่า (葫芦岛) ซึ่งอยู่ในมณฑลเหลียวหนิงเช่นกัน สถานที่เที่ยวสำคัญคือเมืองเก่าซิงเฉิง (兴城古城) ซึ่งมีกำแพงเมืองเก่าสมัยราชวงศ์หมิงและยังรักษาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และเคยเป็นสมรภูมิสำคัญในสงครามระหว่างราชวงศ์หมิงกับเผ่าแมนจู



ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งได้แก่มณฑลเหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮย์หลงเจียงนั้นตั้งแต่สมัยโบราณมาเป็นดินแดนที่พวกชนเผ่าต่างๆทางตอนเหนือของจีนผลัดกันครอบครอง แต่เดิมมีชาวจีนฮั่นอาศัยอยู่น้อย

เส้นทางจากแผ่นดินส่วนหลักของจีนไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นโดยทั่วไปจะต้องผ่านบริเวณที่เรียกว่าโถงทางเดินแห่งเหลียวซี (辽西走廊, เหลียวซีโจ่วหลาง) บริเวณนี้ถูกขนาบด้วยเทือกเขาทางตะวันตกและทะเลทางตะวันออกซึ่งก็คืออ่าวเหลียวตง (辽东湾) เส้นทางนี้เริ่มจากเมืองซานไห่กวาน (山海关) ไปสุดที่เมืองจิ่นโจว (锦州)

เส้นทางนี้ยาวประมาณ ๑๘๕ กม. กว้างประมาณ ๘ ถึง ๑๕ กม. ระหว่างเส้นทางนั้นเมืองที่สำคัญที่สุดก็คือหนิงหย่วน (宁远) หรือก็คือเมืองซิงเฉิง (兴城) ในปัจจุบัน

อนึ่ง อักษร 宁 นั้นอ่านได้ ๒ แบบโดยต่างกันที่วรรณยุกต์ คือ "หนิง" กับ "นิ่ง" โดยทั่วไปแล้วถ้าใช้ตั้งเป็นชื่อเมืองจะอ่านเป็น "หนิง" เช่น เหลียวหนิง (辽宁), หนานหนิง (南宁), กว่างหนิง (广宁) แต่ชื่อ 宁远 นั้นมีคนอ่านว่า "นิ่งหยวน" อ้างอิงจากสารคดีของจีน อย่างไรก็ตามข้อมูลบางแห่งก็บอกว่าอ่านว่า "หนิงหย่วน" ดังนั้นก็ขอยึดตามนี้ เพราะส่วนใหญ่อักษร 宁 ก็อ่านว่า "หนิง" อยู่แล้ว มีข้อยกเว้นจำนวนไม่มากที่จะอ่านว่า "นิ่ง"

ดังนั้นโถงทางเดินแห่งเหลียวซีจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ในสมัยราชวงศ์หมิงบริเวณนี้ถูกเรียกว่าแนวป้องกันกวานหนิงจิ่น (关宁锦防线, กวานหนิงจิ่นฝางเซี่ยน) ซึ่งเป็นการรวมชื่อของทั้ง ๓ เมืองเข้าด้วยกัน

ในช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิงนั้นราชวงศ์หมิงเสื่อมถอยลงมาก ในขณะนั้นชนเผ่าแมนจู (满族, ในขณะนั้นเรียกว่าเผ่าหนวี่เจิน (女真族) เปลี่ยนชื่อเป็นแมนจูในปี 1636) ซึ่งอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนก็ได้เริ่มรวบรวมกำลังขึ้นมาและเข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆภายใต้การนำของผู้นำชื่อหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努尔哈赤)

ในปี 1616 หนูเอ่อร์ฮาชื่อได้รวบรวมพรรคพวกชนเผ่าแมนจูเป็นปึกแผ่นแล้วตั้งราชวงศ์โฮ่วจิน (后金, เปลี่ยนชื่อเป็นราชวงศ์ชิง (清朝) ในปี 1636) เขาเริ่มตีหัวเมืองชายแดนของราชวงศ์หมิงและชนะและยึดดินแดนมาได้โดยตลอด จนในปี 1619 ราชวงศ์หมิงตัดสินใจส่งทัพใหญ่มาโจมตีพวกแมนจู ทำให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ครั้งแรกของทั้งสองฝ่ายขึ้นเรียกว่าสงครามที่ซ่าเอ๋อร์หู่ (萨尔浒之战) แต่ก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ย่อยยับของราชวงศ์หมิง เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

หลังชัยชนะครั้งใหญ่นี้หนูเอ่อร์ฮาชื่อก็รุกคืบต่อมาเรื่อยๆ สามารถตีเมืองสำคัญต่างๆเช่นเสิ่นหยาง (沈阳) เหลียวหยาง (辽阳) กว่างหนิง (广宁, ปัจจุบันคือเมืองเป่ย์เจิ้น (北镇) ในจังหวัดจิ่นโจว) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของแถบนั้นในสมัยนั้นได้

หลังยึดกว่างหนิงมาได้ในปี 1622 หนูเอ่อร์ฮาชื่อก็ไม่ได้เปิดศึกรุกต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะนั้นดินแดนของเขาได้ขยายเข้ามาเรื่อยๆจนถึงบริเวณตอนเหนือของจังหวัดจิ่นโจวในปัจจุบัน เขตแดนของชาวแมนจูได้ขยายมาจรดโถงทางเดินเหลียวซีซึ่งมีเมืองจิ่นโจวเป็นด่านหน้าสุด ในปี 1625 เขาตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เมืองเสิ่นหยาง

จากนั้นปี 1626 หนูเอ่อร์ฮาชื่อได้เริ่มเปิดศึกขึ้นอีกครั้งโดยพยายามที่จะทะลวงผ่านแนวป้องกันกวานหนิงจิ่น ทัพของเขาสามารถผ่านจิ่นโจวมาได้แต่ต้องมาปะทะกับกองทัพของราชวงศ์หมิงที่รออยู่ที่เมืองหนิงหย่วน



ผู้ที่วางแผนตั้งรับที่หนิงหย่วนคือนายพลผู้เก่งกาจชื่อหยวนฉงฮว่าน (袁崇焕) ในขณะที่คนอื่นต่างออกความเห็นกันว่าควรจะละทิ้งหนิงหย่วนแล้วมาตั้งรับที่ซานไห่กวาน แต่หยวนฉงฮว่านยืนยันว่าจะรับศึกที่หนิงหย่วนอีกทั้งยังพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่หนิงหย่วนด้วยเพื่อยืนยันว่าเขามั่นใจในการศึกนี้มาก

ศึกในครั้งนี้เรียกว่าสงครามที่หนิงหย่วน (宁远之战) ด้วยการป้องกันอย่างดีของหยวนฉงฮว่าน หนูเอ่อร์ฮาชื่อเมื่อบุกมาถึงหนิงหย่วนก็พ้ายแพ้ย่อยยับ ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกของเขา ในที่สุดก็ต้องถอยทัพกลับไปยังเสิ่นหยาง หลังจากนั้นไม่นานก็เสียชีวิตลง ซึ่งเชื่อกันเป็นผลกระทบบางอย่างจากสงครามที่หนิงหย่วน

หลังจากนั้นหวงไท่จี๋ (皇太极) ลูกคนที่ ๘ ของหนูเอ่อร์ฮาชื่อก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา ในปี 1627 เขาได้บุกมาโจมตีแนวป้องกันกวานหนิงจิ่นอีกครั้ง สงครามคราวนี้มีชื่อว่าสงครามที่หนิงจิ่น (宁锦之战) โดยบุกจิ่นโจวแล้วทำการปิดล้อมจากนั้นบุกเข้ามาถึงหนิงหย่วนซึ่งหยวนฉงฮว่านเฝ้าอยู่แต่ก็ตีไม่สำเร็จ จึงพยายามจะตีจิ่นโจวแต่ก็ตีไม่สำเร็จอีกจึงถอยทัพกลับ

ความพ่ายแพ้ถึง ๒ ครั้งของทัพแมนจูทำให้หวงไท่จี้ตัดสินใจเปิดเส้นทางใหม่โดยไม่ผ่านแนวป้องกันกวานหนิงจิ่นแต่อ้อมไปทางอื่น ในปี 1629 เขาได้บุกโดยเส้นทางใหม่นี้ทำให้สามารถบุกถึงปักกิ่งได้ แต่ก็บุกไม่สำเร็จเพราะต้องเผชิญกับทัพของหยวนฉงฮว่านที่ยกจากหนิงหย่วนกลับมาเสริม

แม้หวงไท่จี๋จะพ้ายแพ้แต่เขาก็ได้ทำการสร้างสถานการณ์ให้คนเข้าใจผิดว่าหยวนฉงฮว่านให้ความร่วมมือกับตน ทำให้จักรพรรดิระแวงและสั่งประหารหยวนฉงฮว่าน เมื่อเขาตายแล้วราชวงศ์หมิงก็อ่อนแอลงอย่างไม่มีวันหวนคืน

ในปี 1639 ถึงปี 1642 เกิดศึกที่เรียกว่าสงครามที่ซงจิ่น (松锦之战) โดยคำว่าซง (松) หมายถึงซงซาน (松山) คือบริเวณตอนใต้ของจิ่นโจวซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟสถานีใต้จิ่นโจว (锦州南站) โดยทัพแมนจูเข้าตีเมืองจิ่นโจวและบริเวณรอบๆ ผลจบลงโดยทัพแมนจูสามารถเอาชนะได้กองทัพราชวงศ์หมิงพ้ายแพ้เสียหายย่อยยับ จิ่นโจวถูกตีแตก แนวป้องกันกวานหนิงจิ่นพังลง โถงทางเดินเหลียวซีได้ถูกเปิดออกแล้ว

ปี 1643 ทัพแมนจูตัดสินใจปล่อยเมืองหนิงหย่วนไว้ไม่บุกแต่อ้อมไปตีเมืองอื่นๆซึ่งอยู่ระหว่างหนิงหย่วนกับซานไห่กวานทำให้หนิงหย่วนกลายเป็นเมืองที่ถูกแยกโดดเดี่ยวอยู่นอกด่านซานไห่กวาน หมดความสำคัญไป

ในช่วงนั้นนอกจากจะต้องคอยรับศึกกับทัพแมนจูแล้วราชวงศ์หมิงยังต้องรับมือกับกบฏต่างๆภายในด้วย ในปี 1644 กบฏชาวนาที่นำโดยหลี่จื้อเฉิง (李自成) ได้บุกเข้าปะชิดปักกิ่ง ทำให้อู๋ซานกุ้ย (吴三桂) ผู้นำเมืองหนิงหย่วนในขณะนั้นต้องตัดสินใจทิ้งเมืองเพื่อไปช่วยป้องกันปักกิ่ง เมืองหนิงหย่วนได้ถูกเผาทิ้งในตอนนั้น โถงทางเดินแห่งเหลียวซีได้ตกเป็นของแมนจูไปทั้งหมดแล้ว

แต่ในขณะที่ทัพของอู๋ซานกุ้ยยังไม่ทันไปถึงปักกิ่ง ในตอนนั้นหลี่จื้อเฉิงก็ได้ตีปักกิ่งแตกและแย่งชิงบรรลังก์มาได้เรียบร้อยแล้ว เขาควรจะได้ปกครองแผ่นดินจีนต่อไปแทนราชวงศ์หมิงแต่ว่าอู๋ซานกุ้ยได้ตัดสินใจแปรพักตร์ไปให้ความร่วมมือกับทางแมนจู ปล่อยให้ทัพแมนจูผ่านด่านซานไห่กวานเข้ามาเพื่อโจมตีหลี่จื้อเฉิง

ทัพแมนจูซึ่งขณะนั้นนำโดยตัวเอ๋อร์กุ่น (多尔衮) น้องของหวงไท่จี๋ ก็ได้บุกข้ามด่านซานไห่กวานมาตีหลี่จื้อเฉิงจนแตกพ่าย ทำให้ราชวงศ์ชิงของพวกแมนจูได้ครอบครองจีนทั้งแผ่นดิน ตั้งแต่นั้นมาจีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์ชิง

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ถึงความสำคัญของจิ่นโจว, ซิงเฉิง (หนิงหย่วน) และซานไห่กวาน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ จนมาถึงปี 1948 บริเวณนี้ก็ได้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญอีกครั้ง คือยุทธการเหลียวเสิ่น สำหรับเรื่องราวตรงนี้จะขอพูดถึงโดยละเอียดในตอนหน้าซึ่งเล่าถึงหออนุสรณ์ยุทธการเหลียวเสิ่น



แผนการเที่ยว

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประวัติศาสตร์คร่าวๆที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจิ่นโจว, ซิงเฉิง (หนิงหย่วน) และซานไห่กวาน สำหรับซานไห่กวานนั้นเราเคยได้ไปเที่ยวมาแล้วและเล่าไปใน https://phyblas.hinaboshi.com/20131029

ดังนั้นคราวนี้ได้เวลาเที่ยวอีกสองเมืองที่เหลือ คือจิ่นโจวและซิงเฉิง แต่ที่จริงแล้วสถานที่เที่ยวส่วนใหญ่ในจิ่นโจวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับประวัติศาสตร์ตรงนี้เพราะไม่ได้เหลือร่องรอยอะไรเด่นชัดขนาดให้เที่ยว ความน่าสนใจของจิ่นโจวอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

รายละเอียดมีเยอะกว่านี้ซึ่งจะเขียนถึงอีกทีตอนเล่าถึงสถานที่แต่ละแห่ง สถานที่น่าสนใจมีเยอะมากมายแต่เราไม่อาจไปได้หมดเพราะเวลาจำกัด ได้แต่เลือกเฉพาะที่คิดว่ายังไงก็ต้องไปให้ได้จริงๆเท่านั้น

เป้าหมายสำคัญที่สุดที่ทำให้เราตั้งใจจะมาจิ่นโจวให้ได้นั้นก็คือปี่เจี้ยซาน ด้วยความที่เป็นสถานที่แปลกหาดูได้ยาก แต่การจะได้เห็นทะเลแหวกนั้นเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดี เพราะหากน้ำขึ้นสูงจะไม่เห็นอะไรเลย และแต่ละวันน้ำขึ้นน้ำลงในเวลาต่างกันจึงต้องเตรียมข้อมูลกะจังหวะดีๆ

แผนเที่ยวนี้เดิมทีวางแผนไว้คร่าวๆตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ไปในตอนนี้ โชคดีว่ามีรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นชาวเมืองจิ่นโจว ญาติของเขาเป็นผู้บริหารโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองนี้ พอเราลองปรึกษาเรื่องที่วางแผนเที่ยวจิ่นโจวเขาก็เสนอให้มาพักที่โรงแรมนั้นฟรี เท่ากับว่าเที่ยวนี้เลยประหยัดค่าที่พักไป ถือว่าโชคดี

การไปเที่ยวครั้งนี้ไปเป็นการเที่ยวคนเดียวลุยเดี่ยว ปกติเราไปเที่ยวคนเดียวมาหลายที่ถ้าเป็นการเที่ยวแบบวันเดียวกลับ แต่จะไม่ค่อยเที่ยวแบบค้างคืนคนเดียวเพราะหากต้องค้างคืนแล้วไม่มีใครไปด้วยมันก็ออกจะเหงาไปหน่อย

แต่ครั้งนี้ก็ไม่ถือว่าโดดเดี่ยวไปทั้งหมด เพราะว่ารุ่นพี่เขากลับไปบ้านที่จิ่นโจวช่วงนี้พอดี เพียงแต่ว่าเขากลับไปเพื่อไปช่วยงานแต่งงานของเพื่อนก็เลยไม่มีเวลาพาเที่ยว ถึงอย่างนั้นเขาก็ไปรับที่สถานีรถไฟตอนที่เดินทางไปถึง แล้วก็พาส่งถึงโรงแรมที่เขาให้พักฟรี แล้วก็ฝากฝังให้พนักงานในโรงแรมช่วยดูแลด้วย ก็ถือว่ายังดี แต่ว่าหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้เจอเขาอีกเลยจนจบการเที่ยวที่นี่



กำหนดการเที่ยว

เสาร์ 23 พ.ค. 2015
- เช้า นั่งรถไฟเที่ยว D29 ออกเดินทางจากสถานีปักกิ่งเวลา 7:00 ไปถึงสถานีใต้จิ่นโจวเวลา 10:31
- เดินทางจากสถานีจิ่นโจวใต้เข้าเมืองจิ่นโจว เอาของไปเก็บที่โรงแรมจิ๋นเถี่ย (锦铁宾馆) แล้วค่อยออกมาเพื่อเริ่มเที่ยว
- เที่ยวหออนุสรณ์ยุทธการเหลียวเสิ่น (辽沈战役纪念馆)
- เที่ยวพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินจิ่นโจว (锦州古生物博物馆)
- เที่ยวปี่เจี้ยซาน (笔架山)
- พักที่โรงแรมในจิ่นโจว

อาทิตย์ 24 พ.ค. 2015
- นั่งรถบัสไปยังอำเภออี้เซี่ยน
- เที่ยวสวนฟอสซิลและธรณีวิทยาจีน-เยอรมัน (中德化石地质公园)
- เที่ยวถ้ำหินว่านฝัวถาง (万佛堂石窟)
- เที่ยววัดเฟิ่งกั๋ว (奉国寺)
- เที่ยวหอฟอสซิลอี๋โจว (宜州化石馆)
- กลับมายังเมืองจิ่นโจว
- เที่ยววัดกว่างจี้ (广济寺)
- เที่ยวพิพิธภัณฑ์เมืองจิ่นโจว (锦州市博物馆)
- เดินเล่นเรื่อยเปื่อยในเมืองจิ่นโจวยามค่ำ เที่ยวตลาดกลางคืนกู๋ถ่า (古塔夜市) และตลาดกลางคืนหลิงเหอ (凌河夜市)
- พักที่โรงแรมในจิ่นโจว

จันทร์ 25 พ.ค. 2015
- เก็บข้าวของออกจากโรงแรม ออกเดินทางออกจากจิ่นโจว นั่งรถบัสไปยังเมืองซิงเฉิง
- เที่ยวเมืองเก่าซิงเฉิง (兴城古城)
- นั่งรถไฟเที่ยว 2590 ออกจากสถานีซิงเฉิงเวลา 15:04 กลับมาถึงสถานีปักกิ่งเวลา 22:00

เนื่องจากไปมาหลายที่และรายละเอียดก็เยอะมากดังนั้นจะแบ่งเล่าเป็นตอนๆ รวมตอนนี้ด้วยก็เป็น ๑๑ ตอน สำหรับในตอนนี้จะเริ่มเล่าจากการเดินทางจากปักกิ่งไปยังจิ่นโจวก่อนเลย

เราไม่อยากให้การเที่ยวกินเวลายาวนานเกินไปก็เลยวางแผนแค่ ๓ วัน เลือกเฉพาะที่สำคัญจริงๆ ความจริงแล้วถ้าใครสนใจละก็จิ่นโจวยังมีที่ให้เที่ยวต่อได้ยาวอีกหลายวัน

นี่คือตั๋วเข้าชมสถานที่ทั้งหมด ยกเว้นบางที่ที่จ่ายค่าเข้าแล้วไม่มีตั๋ว หรือบางที่ก็เข้าฟรีจึงไม่มีตั๋วเช่นกัน





เริ่มต้นการเดินทาง

การเดินทางไปจิ่นโจวครั้งนี้เรานั่งรถไฟหัวจรวดเที่ยว D29 ซึ่งออกจากสถานีปักกิ่งเวลา 7:00 และไปถึงสถานีจิ่นโจวใต้เวลา 10:31

เพื่อที่จะมาขึ้นรถไฟขบวนนี้เราจึงตื่นตั้งแต่ตีสี่และออกจากหอตั้งแต่ตีห้าครึ่ง

ถึงสถานีปักกิ่งราวๆหกโมงครึ่ง



ดูป้ายแสดงรายชื่อขบวนรถ ของเรา D29 เป็นรถไฟที่มีปลายทางอยู่ที่เมืองฮาร์บิน (哈尔滨) ต้องไปขึ้นที่ห้องรอที่ 7 ชั้นสอง



ที่นี่มากี่ทีก็เห็นคนแออัดไม่มีเปลี่ยนเลย



ตอนที่มาถึงได้เวลาที่เขาเริ่มตรวจตั๋วเพื่อเข้าไปนั่งรถไฟได้แล้วก็เลยเข้าไปได้เลย เดินเบียดฝูงชนมหาศาล



ขึ้นไปรถไฟที่จอดรออยู่



แล้วรถก็ออกตอนเจ็ดโมงเป๊ะตรงเวลา พอรถออกเรารีบส่งข้อความในมือถือไปให้รุ่นพี่ที่รออยู่ที่จิ่นโจวรู้ว่าเราออกแล้ว แล้วเจอกันตามเวลาที่นัด

ทิวทัศน์ระหว่างทาง เป็นรูปเดียวที่ถ่ายไว้ จำไม่ได้ว่าแถวไหน



ถึงสถานีใต้จิ่นโจวแล้ว



เมื่อออกมาจากอาคารสถานีก็เจอกับรุ่นพี่ทันทีตามที่นัดกันไว้ เขาขับรถมารับพร้อมกับมีพ่อกับแม่มาด้วยแล้วก็แนะนำให้เรารู้จัก

ภาพสถานีใต้จิ่นโจวก่อนที่จะนั่งรถจากไป



ปกติแล้วรถไฟความเร็วสูงที่มาจิ่นโจวจะลงที่สถานีใต้ แต่เนื่องจากสถานีจิ่นโจวใต้นั้นอยู่ห่างจากใจกลางเมืองทำให้ต้องใช้เวลาอีกประมาณครึ่งชั่วโมงในการเดินทางเข้าตัวเมือง แต่ก็ไม่ได้ลำบากเพราะมีรถเมล์สะดวกอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้รุ่นพี่มารับก็เลยยิ่งสะดวก

ระหว่างทางผ่านอุโมงค์ที่เจาะผ่านภูเขา ซึ่งเราสังเกตเห็นว่าบนเขานั้นมีแผงผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ด้วย ดูแล้วสวยดี




นอกจากนี้ก็ยังมีกังหันสำหรับผลิตไฟฟ้าจากพลังลมด้วย ดูแล้วประหยัดไฟดี เรียกได้ว่าใช้พลังงานจากธรรมชาติอย่างเต็มที่



เริ่มมองเห็นตัวเมืองแล้ว



รุ่นพี่เขาขอแวะลงกลางทางเพราะบอกว่าต้องรีบไปธุระแล้ว จากนั้นก็ให้พ่อเขาขับต่อเพื่อไปส่งเราถึงโรงแรมจิ๋นเถี่ยซึ่งเขาจะให้พักฟรี โรงแรมนี้อยู่ใกล้กับสถานีจิ่นโจว (锦州站) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักใจกลางเมืองจิ่นโจว

ภาพหน้าโรงแรมนี้ถ่ายตอนเย็นหลังจากที่กลับมาแล้วก็เลยดูมืดๆ



ที่นี่เป็นโรงแรมระดับธรรมดาถูกๆ ห้องที่เราพักอยู่ชั้น 4 ห้อง 417 สภาพห้องเป็นอย่างที่เห็น ก็ถือว่าอยู่ได้ อะไรต่างๆมีพร้อม แม้ว่าอุปกรณ์บางอย่างจะดูโทรมๆไปบ้าง ห้องน้ำก็มีฝักบัวและส้วมชักโครก



แม่ของรุ่นพี่พาเรามาส่งถึงห้องและช่วยแนะนำอะไรต่างๆภายในโรงแรม แล้วก็ยังช่วยฝากฝังให้กับพนักงานที่เคาน์เตอร์ช่วยดูแลต่อด้วย ถ้ามีอะไรอยากถามเกี่ยวกับเรื่องสถานที่เที่ยวหรือการเดินทางก็มาถึงได้ทุกเมื่อ

หลังจากนั้นเราก็เดินออกจากโรงแรมมาหาอะไรกินแถวหน้าสถานีรถไฟ นี่คือหน้าสถานีจิ่นโจว



ก็มาเจอร้านหย่งเหอโต้วเจียง (永和豆浆)



แวะเข้าไปกินข้าวไข่พะโล้ไต้หวัน ๑๕ หยวน



กินเสร็จอิ่มก็ได้เวลาออกเดินทางเพื่อไปยังสถานที่เที่ยวแห่งแรกที่วางแผนไว้นั่นคือหออนุสรณ์ยุทธการเหลียวเสิ่น ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสถานีรถไฟ

การท่องเที่ยวจิ่นโจวอันแสนสนุกก็จะเริ่มขึ้นจากตรงนี้ https://phyblas.hinaboshi.com/20150724



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> เหลียวหนิง
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์จีน

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文