φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ลุยฝนเที่ยวพม่าภาคกลาง ๑๑ วัน 25 ก.ค. - 4 ส.ค.
เขียนเมื่อ 2015/08/21 04:06
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ห่างหายจากการเที่ยวแบบยาวๆมาปีนึงเต็มๆ คราวนี้กลับมาเที่ยวเต็มที่ใหม่อีกครั้ง เป้าหมายคราวนี้ก็คือประเทศเพื่อนบ้านของเราซึ่งเพิ่งจะเปิดประเทศเมื่อไม่นานมานี้ พม่านั่นเอง



~ที่มาที่ไปและการวางแผนเที่ยว~

จากที่ปีที่แล้วได้มีโอกาสไปเที่ยวเสียมราฐกับหนุ่มแทจ็อนและพี่โคค่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20140804

ซึ่งเราทั้งสามก็ติดใจการเที่ยวครั้งนั้นเป็นอย่างมากก็เลยตั้งใจว่าจะเที่ยวคล้ายๆแบบนั้นอีกที โดยตั้งใจว่าช่วงเวลาเดิมของปี คือเดือนกรกฎาน่าจะเป็นโอกาสเหมาะ

เดิมทีวางแผนไว้ว่าอยากไปเที่ยวกัมพูชาอีก คราวนี้อยากเก็บเมืองอื่นนอกจากเสียมราฐ (សៀមរាប) เช่นเมืองหลวงพนมเปญ (ភ្នំពេញ) แต่ว่าพอใกล้ถึงเวลาพี่โคค่อนเกิดไม่ว่าง ในขณะที่เรากับหนุ่มแทจ็อนยังมีใจอยากเที่ยวกันอยู่ ดังนั้นแผนเที่ยวกัมพูชาส่วนอื่นต่อจึงพับเก็บเอาไว้ก่อนและหาแผนเที่ยวใหม่แทน

สุดท้ายก็เลยมาลงตัวที่พม่า เที่ยวกัน ๒ คน โดยหนุ่มแทจ็อนเป็นคนวางแผนเที่ยวทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ครั้งนี้เราไม่มีส่วนช่วยอะไรเท่าไหร่เลย เป็นแค่ผู้ตามอย่างเดียวเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้บังเอิญว่าเขามีธุระที่ต้องทำที่พม่าพอดี คือไปนำเสนองานวิจัยดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ ดังนั้นจึงจังหวะเหมาะ งานนี้ใช้เวลาแค่ครึ่งวัน ไม่ได้เสียเวลาเที่ยวเท่าไหร่แถมยังเป็นประสบการณ์ที่ดีด้วย ทั้งยังได้รู้จักคนมากขึ้นอีก ทำให้รู้สึกว่าคุ้มกว่าที่มาเที่ยวเฉยๆ

หลายคนที่ไปพม่าอาจจะเริ่มจากเมืองใหญ่สุดอย่างย่างกุ้ง แต่ว่าในเที่ยวนี้ย่างกุ้งไม่ได้อยู่ในแผนเลย เมืองหลักที่เราไปคือมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสอง การเดินทางนั่งเครื่องบินของแอร์เอเชียไปกลับจากเมืองนี้

ในการเที่ยวครั้งนี้เราไปทั้งหมด ๗ เมืองด้วยกัน โดยในจำนวนนี้เป็นเมืองหลักคือเมืองที่ไปนอนค้าง ๓ เมือง ได้แก่
- มัณฑะเลย์ (
မန္တလေးmandalay, มานดะเล) เมืองหลวงเก่าแห่งสุดท้ายของราชวงศ์อลองพญา ปัจจุบันเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของพม่า
- เนปยีดอ (
နေပြည်တော်naypyidaw) เมืองหลวงปัจจุบัน และเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของพม่า
- พุกาม (
ပုဂံbagan, บากัน) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรพุกาม
และเมืองข้างเคียงมัณฑะเลย์อีก ๔ เมืองซึ่งไปเที่ยวแบบไปกลับภายในวันเดียว ได้แก่
- อังวะ (
အင်းဝinwa, อีนวะ) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรอังวะ และของราชวงศ์ตองอูและราชวงศ์อลองพญา
- อมรปุระ (
အမရပူရamarapura, อะมะยาปูยะ) เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์อลองพญา
- ซะไกง์ (
စစ်ကိုင်းsagaing) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรซะไกง์ และของราชวงศ์อลองพญา
- มีนกูน (
မင်းကွန်းmingun) เมืองเล็กๆริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี



สังเกตได้ว่าแต่ละที่ที่ไปมานี้เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของพม่าทั้งนั้นเลยยกเว้นแห่งเดียวคือมีนกูน ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะพม่าเคยย้ายเมืองหลวงบ่อยมากเลยมีหลายเมืองที่เคยเป็นเมืองหลวง บางแห่งเป็นเมืองหลวงแค่ไม่กี่สิบปีเท่านั้นเอง แต่แม้จะเป็นเวลาสั้นก็ตามมันก็ได้หลงเหลืออะไรบางอย่างไว้ซึ่งน่าแวะไปชมกันทั้งนั้น

การเดินทางระหว่างเมืองหลัก ๓ เมืองนี้ใช้รถบัสทั้งหมด เพราะรถไฟในพม่าก็ค่อนข้างแย่เหมือนรถไฟไทย ไม่ค่อยสะดวกที่จะนั่ง ส่วนการเดินทางเที่ยวในตัวเมืองและการเดินทางระหว่างมัณฑะเลย์กับเมืองรอบๆนั้นใช้เหมาแท็กซีเอา ซึ่งหารกัน ๒ คนแล้วก็ไม่ได้แพงเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังมีนั่งเรือด้วยตอนที่ไปมีนกูน และที่อังวะก็ได้นั่งรถม้าด้วย

การวางตารางเที่ยวของเที่ยวนี้เป็นแบบสบายๆรายการไม่แน่นมาก เผื่อเวลาให้ได้หายใจ ดังนั้นจึงไม่เหนื่อยมากแม้จะเที่ยวนานหลายวัน บางวันเที่ยวทั้งวันแต่บางวันก็ว่างสบายๆครึ่งวัน



~รู้จักพม่า~

พม่าน่าสนใจยังไง ทำใมเราถึงจะต้องไปเที่ยวที่นั่นล่ะ?

หลายคนอาจได้ยินเรื่องราวของพม่ามาเยอะ ส่วนใหญ่อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศต่างๆนานาที่เกิดจากรัฐบาลทหาร ทำให้ภาพพจน์ของประเทศนี้ในสายตาคนไทยอาจไม่ค่อยดีนัก

อย่างไรก็ตามตอนนี้พม่ากำลังเริ่มเปิดประเทศอย่างเต็มที่ นักท่องเที่ยวต่างเริ่มพากันเข้ามาเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ไม่ค่อยมีคนไปเที่ยวพม่า นั่นเป็นเรื่องน่าเสียดายมากเพราะพม่ามีที่เที่ยวน่าสนใจเยอะแยะมากมาย

สถานที่เที่ยวส่วนใหญ่ในพม่านั้นมักจะเน้นหนักไปที่โบราณสถาน ซึ่งแต่ละที่ก็ทรงคุณค่าทั้งนั้นเพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และยังสวยงามด้วย

พม่านับถือศาสนาพุทธเหมือนกับไทยทำให้มีวัดมากมาย แต่ว่าวัดของพม่านั้นต่างจากของไทยอยู่พอสมควร เอกลักษณ์ของวัดในพม่าที่เห็นได้ชัดที่สุดคือมักจะมีเจดีย์ ซึ่งมีจำนวนมากที่เป็นสีทอง นอกจากนี้ก็ยังมีสีขาวและสีอื่นๆด้วย แต่ละแห่งก็มีลักษณะเฉพาะต่างกันออกไป น่าลองไปชมดูหลายที่

นอกจากประวัติศาสตร์แล้วก็ยังมีสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติด้วย น่าเสียดายว่าเป้าหมายที่เราไปครั้งนี้แต่ละเมืองนั้นไม่เน้นธรรมชาติ เน้นประวัติศาสตร์มากกว่า

เมืองหลวงของพม่าคือเนปยีดอ ซึ่งเพิ่งย้ายเมืองหลวงมาเมื่อปี 2005 ก่อนหน้านี้เมืองหลวงคือเมืองย่างกุ้ง และยังคงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน เมืองใหญ่อันดับสองคือมัณฑะเลย์ ส่วนเนปยีดอในขณะนี้ถือเป็นเมืองใหญ่อันดับสาม

ปัจจุบันเมืองหลักของพม่าที่มีสายการบินนานาชาติไปลงอย่างกว้างขวางก็คือย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ซึ่งก็เป็นเมืองที่มีที่เที่ยวน่าสนใจมากมาย และยังเป็นฐานในการไปเที่ยวเมืองอื่นๆที่อยู่โดยรอบต่อไปได้ด้วย

แม่น้ำสายหลักของพม่าคือแม่น้ำอิรวดี หรือที่เรียกในภาษาพม่าว่า "เอยาวะดีมยิ" (
ဧရာဝတီမြစ်Ayeyarwady myit) ลากผ่านเมืองสำคัญมากมายและเต็มไปด้วยสถานที่เที่ยวมากมายอยู่ตามริมแม่น้ำ การล่องเรือไปตามแม่น้ำสายนี้ก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจเพราะสองข้างฝั่งก็เต็มไปด้วยเมืองที่มีประวัติศาตร์ยาวนาน

แผ่นดินพม่ากว้างใหญ่ไม่ได้มีแต่ชนชาติพม่าแต่ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกมากมาย พม่าถือเป็นประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยมาก ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มในอดีตเคยมีอาณาจักรยิ่งใหญ่แต่ก็ถูกตีจนเป็นเมืองขึ้นและก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของพม่ามาจนปัจจุบัน เช่น มอญ ไทใหญ่ ยะไข่

การเที่ยวคราวนี้มุ่งไปที่ดินแดนส่วนที่ชาวพม่าอยู่เป็นหลัก ซึ่งก็คือตามเมืองใหญ่ๆกลางประเทศ แต่หลังจากนี้ไปหากมีโอกาสอีกละก็อยากลองไปเที่ยวรัฐฉาน (ไทใหญ่) หรือยะไข่ดูบ้างเหมือนกัน ซึ่งก็มีอะไรน่าสนใจให้เที่ยวอยู่เช่นกัน น่าจัดเป็นทริปแยกออกไป



~ประวัติศาสตร์~

พม่าเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานน่าสนใจมากทีเดียว ประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าไทยและผ่านอะไรมามากมาย เคยเป็นถึงประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ดังนั้นจึงมีความหมายน่าศึกษาเป็นอย่างมาก

เนื่องจากประวัติศาสตร์ยาวนานเราคงไม่อาจกล่าวโดยละเอียดได้ ในที่นี้จะขอพูดถึงคร่าวๆโดยเน้นตรงส่วนที่เกี่ยวกับสถานที่ที่ไปในการเที่ยวครั้งนี้

หากแบ่งช่วงประวัติศาสตร์พม่าตามราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองประเทศก็จะแบ่งได้เป็นหลักๆทั้งหมด ๓ ยุค คือราชวงศ์พุกาม ราชวงศ์ตองอู และราชวงศ์อลองพญา

ราชวงศ์พุกาม (ပုဂံခေတ်bagan khit, ปี 849–1297) เป็นราชวงศ์แรกที่รวบรวมแผ่นดินพม่าเป็นปึกแผ่น ตั้งเป็นอาณาจักรพุกาม มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองพุกาม

เมืองพุกามเป็นเมืองหลวงมายาวนานมีความยิ่งใหญ่มาก มีการสร้างอะไรต่างๆมากมาย ซึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจำนวนมากในพุกามนั้นยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน และมันจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการเที่ยวของเราครั้งนี้

อาณาจักรพุกามที่ยิ่งใหญ่ต้องจบสิ้นลงด้วยการบุกโจมตีของจักรวรรดิมองโกลที่นำโดยกุบไลข่าน เมื่อพุกามล่มสลายลงดินแดนต่างๆที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองก็พากันถือโอกาสแยกตัวออกไป แผ่นดินพม่าแตกออกเป็นอาณาจักรน้อยใหญ่มากมาย เช่น ปินยา ซะไกง์ อังวะ และอาณาจักรของชนกลุ่มน้อยเช่น พะโค (หงสาวดี) ยะไข่

แต่ในที่สุดพม่าก็กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งภายใต้การนำของราชวงศ์ตองอู (တောင်ငူခေတ်taung-u khit, ปี 1510–1752) ซึ่งมีกษัตริย์ที่เก่งกาจอย่างตะเบ็งชเวตี้และบุเรงนอง อีกทั้งยังตียึดอาณาจักรรอบข้างอย่างอยุธยา ล้านนา ล้านช้าง มาได้ด้วย

แต่ราชวงศ์ตองอูก็ต้องล่มสลายลงด้วยการรุกรานของชาวมอญ หลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้กอบกู้ชาติรวบรวมพม่าขึ้นเป็นปึกแผ่นขึ้นอีกครั้ง และตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์คือพระเจ้าอลองพญา แล้วพม่าก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์อลองพญา หรือราชวงศ์โกนบอง (ကုန်းဘောင်ခေတ်konbaung khit, ปี 1752–1885)

แต่ราชวงศ์นี้ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะต้องเจอการรุกรานจากอังกฤษซึ่งเริ่มยึดครองอินเดียได้ก่อนแล้ว พม่าต้องทำสงครามกับอังกฤษครั้งแรกในปี 1824 - 1826 และต้องพ่ายแพ้เสียดินแดนยะไข่และตะนาวศรีไป

แล้วก็ตามมาด้วยสงครามครั้งที่สองในปี 1852 ซึ่งก็แพ้แล้วเสียดินแดนตอนใต้อย่างย่างกุ้งและพะโค จากนั้นสุดท้ายสงครามครั้งที่สามปี 1885 พม่าจึงถูกอังกฤษยึดครองทั้งหมด เมืองหลวงถูกย้ายจากมัณฑะเลย์ไปอยู่ย่างกุ้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองพม่าก็ได้ประกาศตัวเป็นอิสระจากอังกฤษในปี 1948 แต่ไม่นานประเทศก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารซึ่งทำให้เกิดปัญหาอย่างยาวนานต่อมา จนปัจจุบันถึงเริ่มค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ และในปี 2005 พม่าย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งมาอยู่ที่เนปยีดอ

เป้าหมายการเที่ยวในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคอาณาจักรพุกาม คือเมืองพุกาม ไปจนถึงยุคราชวงศ์อลองพญาซึ่งใช้เมืองหลวงหลายแห่งและเกือบทั้งหมดเป็นเมืองที่เราแวะไปในเที่ยวนี้ ได้แก่อังวะ ซะไกง์ อมรปุระ และมัณฑะเลย์

สำหรับประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมและช่วงเผด็จการทหารนั้นคงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเที่ยวนี้มากเพราะไม่ได้ไปย่างกุ้ง แต่จะมาเกี่ยวอีกทีก็คือช่วงสมัยใหม่ที่ย้ายเมืองหลวงไปแห่งใหม่คือเนปยีดอ เพราะเราได้แวะไปเที่ยวเมืองหลวงแห่งใหม่นี้มา และนี่เป็นส่วนเดียวของเที่ยวนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็นสมัยใหม่ นอกจากที่เที่ยวในเนปยีดอแล้วทุกที่เที่ยวที่ไปมาเป็นโบราณสถานทั้งสิ้น



~ภาษาและชื่อต่างๆ~

ปกติเราไปประเทศไหนก็จะพยายามศึกษาภาษาที่นั่นไว้บ้าง สำหรับเที่ยวพม่าครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับที่ไปเที่ยวเขมร นั่นคือแม้จะไม่ได้ศึกษาจนถึงขั้นสื่อสารกันได้ แต่ก็รู้คำพื้นฐาน แล้วก็วิธีการอ่านตัวอักษร

หลักการเขียนชื่อต่างๆภายในบทความนี้ยึดตามหลักของราชบัณฑิต https://th.wikipedia.org/wiki/การทับศัพท์ภาษาพม่า

ภาษาพม่ามีลักษณะที่น่าจำอยู่อย่างก็คือว่ามันไม่มีเสียงตัวสะกดที่ชัดเจน เวลาที่เห็นชื่อที่เขียนทับศัพท์ด้วยอักษรโรมันมักจะเห็นลงท้ายด้วย t หรือ k ซึ่งแทนอักษร
တ และ က ซึ่งแทนเสียงแม่กดและแม่กด แต่ว่าในความเป็นจริงไม่มีการออกเสียงชัดเจนจึงเป็นแค่เสียงกักท้ายพยางค์ เช่นคำว่า kyauk (ကျောက်) แปลว่า "หิน" ออกเสียงเป็น "เจา" แล้วท้ายพยางค์ให้หยุดเหมือนมีตัวสะกดปิดท้ายแต่ไม่ต้องออกเสียง ในที่นี้จะเขียนเป็น "เจาะ" ตามหลักการเขียนของราชบัณฑิต

ส่วนตัวสะกดแม่กง กน กม นั้นในภาษาพม่าถูกรวบเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดคือเป็นเสียงแม่กงกึ่งแม่กน คล้ายๆในภาษาญี่ปุ่น ไม่มีการแยกชัดเจนแม้จะมีรูปเขียนที่ต่างกันก็ตาม

ดังนั้นไม่ว่าคำจะลงท้ายด้วย น (န
) ง () หรือ ม () (ทับศัพท์เป็น n ng หรือ m) ก็ตาม ก็ไม่ได้ออกเสียงต่างกัน แต่บางทีอาจมีการถอดเป็นอักษรโรมันเป็น n บ้าง ng บ้าง ซึ่งระบบการทับศัพท์ตามของราชบัณฑิตก็มีการใช้ทั้ง "น" และ "ง" แล้วแต่คำ เช่น kyaung (ကျောင်း) ที่แปลว่า "โรงเรียน" อ่านว่า "จอง"

ที่น่าจำไว้อีกอย่างเพราะอาจเข้าใจผิดได้ง่ายก็คือว่า ky (
ကျ) ในภาษาพม่าอ่านออกเสียงเป็น "จ" ซึ่งถ้าใครไม่รู้มาก่อนคงอ่านผิดแน่ ส่วน gy (ဂျ) นั้นจะอ่านออกเสียงเป็นคล้ายตัว j ในภาษาญี่ปุ่น ในที่นี้เขียนแทนด้วย "จ" เช่นเดียวกับ ky เพราะภาษาไทยไม่มีเสียงนี้ แต่ที่จริงเป็นคนละเสียง

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเสียงที่ไม่มีในภาษาไทย เช่นอักษร
သ ซึ่งมักทับศัพท์เป็น th ไม่ใช่เสียง "ท" แต่เป็นเสียง th แบบในภาษาอังกฤษเลย ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "ธ" ส่วนเสียง "ท" ในภาษาพม่าคือตัว มักจะเขียนเป็น ht และในทำนองเดียวกัน เสียง "พ" คืออักษร ဖ ก็เขียนเป็น hp ไม่ได้เขียนเป็น ph เหมือนในภาษาไทย ลาว เขมร

แล้วก็ยังมีเสียง ny ซึ่งเป็นเสียง น ควบ ย คล้ายๆในภาษาอีสาน (ลาว) ไม่มีในภาษาไทยกลาง ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "ญ"

ชื่อเมืองที่จะเขียนในนี้ทั้งหมดเป็นการเขียนตามเสียงอ่านในภาษาพม่า ยกเว้นชื่อที่คนไทยเรียกมาจนชินคุ้นหูแล้วก็จะใช้ชื่อตามนั้น เช่นชื่อเมืองหลักอย่างมัณฑะเลย์ พุกาม อังวะ ซึ่งจริงๆถ้าเขียนตามหลักก็น่าจะเขียนว่า มานดะเล บากัน อินวะ

เนื่องจากภาษาพม่าเป็นภาษาที่ได้อิทธิพลจากภาษาบาลีสันสกฤตเหมือนกันกับไทย ทำให้อักษรมีลักษณะคล้ายอักษรไทย สามารถเทียบเคียงกันได้ ดังนั้นบางชื่อที่นิยมเรียกกันในภาษาไทยนั้นจึงมาจากการเทียบตัวอักษรโดยตรงซะมาก แต่อักษรเดียวกันในสองภาษานี้ก็มีอยู่หลายตัวที่ไม่ได้ออกเสียงเดียวกันในปัจจุบัน ดังนั้นการถอดอักษรจึงไม่ได้ให้เสียงอ่านที่ตรง

เช่น อักษร
စ ในภาษาพม่าซึ่งเทียบเคียงกับ "จ" ในภาษาไทยนั้นอ่านออกเสียงเป็น "ซ" ทำให้คำว่า "เจดีย์" (စေတီ) ในภาษาพม่าอ่านเป็น "เซดี"

ภาษาพม่ามีการใช้คำทับศัพท์จากภาษาบาลีสันสกฤตเยอะเช่นเดียวกับไทย ดังนั้นถ้าหากถอดได้ว่าอักษรไหนเทียบเคียงกับอักษรไทยตัวอะไรก็จะเดาความหมายได้ไม่ยากเลย

ที่สำคัญอีกอย่างคือภาษาพม่าเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ แต่โดยทั่วไปเวลาเขียนทับศัพท์ในภาษาไทยมักถูกละเลย ชื่อภาษาพม่าที่เรียกกันจนชินในภาษาไทยที่มีเขียนรูปวรรณยุกต์นั้นส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้ออกเสียงแบบนั้นจริงๆ

เพื่อลดความยุ่งยาก หลักการเขียนของราชบัณฑิตเองก็ละเรื่องเสียงวรรณยุกต์ ในบทความนี้ก็จะยึดหลักตามนั้น คือไม่มีการใส่รูปวรรณยุกต์ อย่างไรก็ตามขอให้รู้ไว้ว่าในความเป็นจริงภาษาพม่ามีวรรณยุกต์ทั้งหมด ๓ เสียง ถ้าออกเสียงผิดวรรณยุกต์ความหมายก็เปลี่ยนไปด้วย



~เตรียมตัวออกเดินทาง~

ครั้งนี้เป็นการเที่ยวค่อนข้างยาว สัมภาระจึงต้องเตรียมไปเยอะพอสมควร ต้องโหลดของขึ้นเครื่องทำให้ต้องจ่ายเงินค่าโหลดกระเป๋า ต่างจากครั้งเมื่อไปเสียมราฐที่ไปแค่ ๔ วันแบกเป้ใบเดียวเหลือเฟือ

นอกจากพวกเครื่องแต่งกายและเสบียงแล้ว อุปกรณ์ที่เตรียมไปคร่าวๆก็มีดังในรูปนี้



แม็กบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายรูป ไฟสำรอง และ ps vita

กล้องถ่ายรูปนี่คงไม่ต้องพูดถึง เป็นอุปกรณ์ขาดไม่ได้สำหรับการเที่ยวอยู่แล้ว ส่วนมือถือก็เอาไปเพื่อใส่ซิมที่นั่น เผื่อว่าเวลาจ้างรถรับจ้างแล้วต้องมีการโทรตามกัน หรือเผื่อธุระฉุกเฉินอื่นๆ อีกทั้งยังใช้ GPS ดูแผนที่หาตำแหน่งได้ด้วย นอกจากนี้ยังใช้แทนไฟฉายได้ด้วย แล้วก็เป็นกล้องสำรองเวลาไม่สะดวกหยิบกล้องตัวหลักออกมา

ส่วนคอมนั้นที่ต้องเอาไปเพราะอยู่นาน เป็นคนติดคอมไม่อาจห่างหายไปนานเกินไปได้

ไฟสำรองก็เอาไปเผื่อมือถือหรือกล้องแบตหมด แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่เคยใช้จนหมด แต่เผื่อไว้ก็ดีกว่าขาด

ส่วน ps vita นี่เพิ่งเพิ่มเข้ามาตอนหลัง คิดดูแล้วมันเหมาะสำหรับเอาไปใช้ฆ่าเวลาได้ดี อีกทั้งเอาไว้สร้างความทรงจำร่วมระหว่างการท่องเที่ยวจริงๆกับการเที่ยวในโลกของเกม เหมือนอย่างครั้งเมื่อไปเสียมราฐเลย

เกมที่พกไปครั้งนี้คือเกม อาเตอลีเยของอาช่า ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งแผ่นดินสายันห์ ~(アーシャのアトリエ 〜黄昏たそがれ大地だいち錬金術士れんきんじゅつし〜, ayesha no atelier ~Tasogare no daichi no renkinjutsushi~)



เรื่องราวเกี่ยวกับสาวน้อยนักเล่นแร่แปรธาตุที่ออกเดินทางผจญภัยสำรวจซากโบราณสถานต่างๆ ซึ่งว่าไปแล้วก็เข้ากันได้ดีกับทริปนี้ซึ่งเน้นเที่ยวโบราณสถานเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งชื่ออาช่านั้นขึ้นต้นด้วย Aye ซึ่งตรงกับชื่อภาษาพม่าของแม่น้ำอิรวดีคือ Ayeyarwady

เรื่องเกี่ยวกับเกมนี้มีเขียนบันทึกไว้แล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20150813

โบราณสถานไม่ว่าโลกไหนก็เป็นสถานที่ที่ดูลึกลับน่าค้นหา เหมาะแก่การมาผจญภัยเพื่อสืบค้นเรื่องราวต่างๆ



ส่วนเรื่องเงินนั้นเราเตรียมเงินไปเป็นดอลลาร์สหรัฐฯแล้วไปแลกเป็นเงินจ๊าดที่นั่นอีกที ที่ต้องทำแบบนี้เพราะจะได้อัตราที่คุ้มกว่าและสะดวกกว่าเพราะเงินบาทแลกเป็นจ๊าดโดยตรงจะโดนคิดอัตราแลกค่อนข้างโหด แต่เงินดอลที่จะเตรียมไปแลกที่พม่าได้มีเงื่อนไขค่อนข้างจำกัดคือต้องห้ามมีรอยยับหรือเปื้อนอะไร ทำให้เวลาไปแลกต้องกำชับกับพนักงานแลกให้ดี

เราไปแลกเงินเมื่อวันที่ 23 ก.ค. อัตราแลกขณะนั้นคือ ๑ ดอลต่อ ๓๔.๘๐ บาท แต่เขาคิดอัตราเพิ่มเป็น ๓๔.๙๐ บาทเนื่องจากเรามีเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าจะต้องเป็นธนบัตรใหม่เอี่ยม ซึ่งพนักงานที่รับแลกเขาก็เหมือนจะรู้และเข้าใจดีอยู่แล้วว่ามีข้อกำหนดยุ่งยากแบบนั้นจริงๆและคนที่จะไปพม่าก็ต้องเรื่องมากแบบนี้ทุกคน



เราเตรียมเงินดอลติดตัวไว้ทั้งหมด ๕๒๕ ดอล ซึ่งถือว่าเยอะเกินที่ใช้จริงไปมาก แต่เผื่อไว้ก่อนไม่มีอะไรเสียหาย

แล้วก็ยังโชคดีที่ว่าช่วงนั้นอัตราแลกเปลี่ยนกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี ค่าเงินดอลถูกลงเรื่อยๆเมื่อเทียบกับเงินบาท คือตอนนั้นซื้อเงินดอลไม่แพง แต่พอกลับมาแล้วจะแลกเงินที่เหลือกลับนั้นกลับได้ราคาดีกว่า เลยกลายเป็นว่าเงินที่แลกไปเกินนั้นเหมือนเป็นการเล่นหุ้นแล้วได้กำไร

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทำวีซา ซึ่งช่วงที่เราไปยังต้องทำวีซาอยู่เพราะไปวันที่ 25 ก.ค. แต่วีซายกเลิกตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. ไปเร็วไปแค่นิดหน่อยเอง รายละเอียดเรื่องวีซาคงจะไม่เขียนถึงเพราะมันทำง่ายมาก แล้วก็ถึงเขียนถึงไปก็คงไม่ได้ใช้แล้วเพราะคงไม่มีความจำเป็นต้องทำอีกต่อไป ยกเว้นอยากจะเที่ยวนานเกิน ๑๔ วัน



~กำหนดการ~

วันที่ ๑ : 25 ก.ค.
   ตอนเช้าออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองสู่เมืองมัณฑะเลย์ ตอนบ่ายเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์ท่ามกลางสายฝน
วันที่ ๒ : 26 ก.ค.
   ตอนเช้าไปฟังบรรยายด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ เสร็จแล้วตอนบ่ายไปเที่ยวเนินเขามัณฑะเลย์และวัดในระแวกรอบๆท่ามกลางสายฝน
วันที่ ๓ : 27 ก.ค.
   ตอนเช้าเที่ยววัดที่อยู่ในแถบตะวันตกของเมืองมัณฑะเลย์และพิพิธภัณฑ์มัณฑะเลย์ท่ามกลางสายฝน จากนั้นตอนบ่ายเก็บข้าวของแล้วเดินทางด้วยรถบัสจากมัณฑะเลย์สู่เนปยีดอ ตอนเย็นถึงเนปยีดอแล้วเข้าพักในโรงแรม
วันที่ ๔ : 28 ก.ค.
   เหมารถแท็กซีเที่ยวในเนปยีดอทั้งวันท่ามกลางสายฝน
วันที่ ๕ : 29 ก.ค.
   นั่งรถบัสท่ามกลางสายฝนจากเนปยีดอสู่พุกาม ใช้เวลา ๘ ชั่วโมง ทั้งวันหมดไปกับการเดินทาง ตอนเย็นถึงพุกามและเข้าพักในโรงแรม
วันที่ ๖ : 30 ก.ค.
   เหมารถแท็กซีเที่ยวท่ามกลางสายฝน ชมเจดีย์ ๑๗ แห่งในพุกาม รวมถึงพิพิธภัณฑ์โบราณคดีและปราสาทพุกาม
วันที่ ๗ : 31 ก.ค.
   ตอนเช้าเดินไปชมเจดีย์ชเวซิโกนและวิหารกูบเยาจีท่ามกลางสายฝน ตอนบ่ายพักผ่อนว่างๆ
วันที่ ๘ : 1 ส.ค.
   ตอนเช้าเดินทางจากพุกามสู่มัณฑเลย์ ตอนบ่ายไปถึงแล้วเข้าโรงแรมพักผ่อนว่างๆ กลางคืนไปชมการแสดงละครหุ่นกระบอกพื้นบ้าน
วันที่ ๙ : 2 ส.ค.
   เหมารถแท็กซีทั้งวัน ตอนเช้าเที่ยวเมืองซะไกง์ ตอนบ่ายเที่ยวเมืองอังวะ เสร็จแล้วก็เที่ยวเมืองอมรปุระ อยู่ดูพระอาทิตย์ตกดินที่สะพานอูเบน
วันที่ ๑๐ : 3 ส.ค.
   ตอนเช้านั่งเรือไปเที่ยวเมืองมีนกูน ตอนบ่ายพักผ่อนว่างๆ กลางคืนไปชมการแสดงเต้นพื้นบ้าน
วันที่ ๑๑ : 4 ส.ค.
   เดินทางกลับ

อนึ่ง จะเห็นว่ามีคำว่า "ท่ามกลางสายฝน" เยอะมาก เติมไปแล้วดูสวยดีเพราะดี และในความเป็นจริงมันก็ฝนตกแทบจะตลอดจริงๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้กระทบอะไรมาก เที่ยวจนจบก็ยังไม่เป็นหวัดไม่รู้เหมือนกันว่ารอดมาได้ยังไง



จบการกล่าวนำเกี่ยวกับการเดินทาง ต่อจากนี้ไปจะเล่าเป็นตอนๆพูดถึงสถานที่ต่างๆที่ไปมาทั้งหมดและการเดินทาง ส่วนตอนท้ายสุดจะมีการสรุปอีกที

เริ่มตอนแรกได้เลย https://phyblas.hinaboshi.com/20150823


แก้ไขใหม่ล่าสุด 26 ธันวาคม 2019


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ต่างแดน >> อุษาคเนย์ >> พม่า

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文