φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



[python] วิเคราะห์จำแนกประเภทข้อมูลเป็นสองกลุ่มด้วยการถดถอยโลจิสติก
เขียนเมื่อ 2016/11/03 23:54
แก้ไขล่าสุด 2022/07/21 15:23
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้มีโอกาสได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องซึ่งเป็นสาขาที่ช่วงนี้คนกำลังให้ความสนใจอยู่มาก

หลังจากที่ลองซื้อหนังสือมาอ่านๆหลายเล่มอีกทั้งเปิดอ่านตามเว็บต่างๆก็อยากลองเขียนสรุปความรู้ที่ตัวเองได้ลงบล็อกสักหน่อย

เพียงแต่เรื่องนี้เป็นศาสตร์ที่มีรายละเอียดมากมาย หากจะอธิบายตั้งแต่ต้นจริงๆคงต้องรอคนที่เป็นเฉพาะทางมาเขียนมากกว่า (ซึ่งค่อนข้างคาดหวังอยากให้มี เพราะเรื่องนี้ขาดแคลนคนเขียนเป็นภาษาไทยมาก) ในที่นี้คงจะอธิบายละเอียดแค่เท่าที่จะพอทำได้

นี่เป็นบทความแรกที่จะเขียนถึงเรื่องการเรียนรู้ของเครื่อง จากนี้ไปก็ตั้งใจว่าจะเขียนอีกหลายเรื่องต่อไป

เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก แต่ในที่นี้จะเริ่มแนะนำเรื่องของการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก (逻辑回归, logistic regression) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้เพื่อจำแนกประเภทข้อมูลหรือสิ่งของบางอย่างออกเป็นสองกลุ่ม

สำหรับเรื่องที่พื้นฐานกว่านั้นเช่นว่า "การวิเคราะห์ถดถอย" คืออะไร มีเขียนเอาไว้ในบทความเรื่อง "การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นด้วยการเคลื่อนลงตามความชัน" https://phyblas.hinaboshi.com/20161210 ซึ่งเขียนขึ้นมาทีหลัง แนะนำให้อ่านในนั้นก่อนแล้วค่อยมาอ่านหน้านี้อาจจะดีกว่า



ขอเริ่มจากยกปัญหาโดยลองสมมุติสถานการณ์ง่ายๆ

มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง ขนาด 40x30 เมตร อยากทดสอบว่าดินบริเวณไหนอุดมสมบูรณ์ก็เลยลองหว่านเมล็ดถั่วไปพันเมล็ดโดยสุ่มตำแหน่ง ผลปรากฏมาตามนี้



สีเขียวคือต้นถั่วงอก สีเหลืองคือต้นถั่วไม่งอก จะเห็นว่าแบ่งเขตกันชัดเจน ดูด้วยตาก็คงพอกะได้คร่าวๆว่าจะแบ่งเขตยังไงดี

เฉลย... ความจริงแล้วพื้นที่นี้สามารถอธิบายได้ง่ายๆด้วยสมการนี้ นั่นคือเมื่อ x-2y+10>0 ถั่วจะงอก

และภาพนี้ก็ได้มาจากการเขียนโค้ดตามนี้
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt
x_thua = np.random.uniform(0,40,1000) # สุ่มค่า x ตั้งแต่ 0 ถึง 40 มา 1000 ค่า
y_thua = np.random.uniform(0,30,1000) # สุ่มค่า y ตั้งแต่ 0 ถึง 30 มา 1000 ค่า
ngokmai = np.array(x_thua-2*y_thua+10>0,dtype=int) # กำหนดว่าจะงอกมั้ยโดยดูจากค่าตำแหน่งแกน x และ y
plt.axes(aspect=1,xlim=[0,40],ylim=[0,30],xlabel='x',ylabel='y')
plt.scatter(x_thua,y_thua,c=ngokmai,s=50,edgecolor='k',cmap='summer_r')
plt.show()

จะเห็นว่าถ้ารู้สมการแล้วที่เหลือต่อไปนี้เราก็รู้แล้วว่าควรจะปลูกถั่วตรงไหน อย่างไรก็ตามปัญหาก็คือหากเราไม่รู้สมการมาก่อนเราจะทำอย่างไรจึงจะรู้มันได้โดยดูจากแค่ผลของการปลูกถั่วดังในภาพนี้

นั่นล่ะคือหน้าที่ของเทคนิคการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก

สมมุติว่าถ้าเขตของพื้นที่ถูกแบ่งเป็นเส้นตรงชัดเจนอย่างในตัวอย่างนี้ เราอาจกำหนดฟังก์ชันตัดสินขึ้นมา
..(1)

โดยให้จุดที่ฟังก์ชันตัดสิน f(x,y)=0 เป็นเส้นแบ่งเขต และทำการวิเคราะห์เพื่อหาค่า a, b และ c

ในที่นี้ a กับ b จะถูกเรียกว่าสัมประสิทธิ์น้ำหนัก และ c เรียกว่าเป็นไบแอส

น้ำหนักในที่นี้คนละความหมายกับน้ำหนักตัวของคนหรือสิ่งของ แต่มีความหมายทำนองเดียวกับน้ำหนักเวลาคำนวนค่าทางสถิติ คือหมายถึงความสำคัญหรือสิ่งที่จะบอกว่าค่าข้างหลังมันจะส่งผลถึงค่าของฟังก์ชันมากน้อยแค่ไหน มีผลในทิศทางไหน

ส่วนไบแอสคือค่าศูนย์สำหรับยืนพื้น ในที่นี้เป็นตัวกำหนดว่ากราฟเส้นแบ่งจะเลื่อนไปทางซ้ายขวาบนล่างแค่ไหนโดยไม่เกี่ยวกับความชันเส้นแบ่ง ถ้าไบแอสเป็น 0 กราฟก็จะผ่านจุด 0,0

กรณีตัวอย่างนี้ ผลเฉลยค่า a, b และ c ที่ได้นั้นสุดท้ายควรจะมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็น b/a=-2 และ c/a=10

วิธีการที่ใช้กันทั่วไปในการหาค่าเหล่านี้ก็คือ กำหนดค่าเริ่มต้นอะไรก็ได้ไปก่อน แล้วดูว่าผลที่ได้ใกล้เคียงแค่ไหน จากนั้นก็ค่อยๆปรับตัวเลขให้ได้ค่าใกล้เคียงขึ้นไปเรื่อยๆ

การจะดูว่าผลที่ได้นั้นใกล้เคียงแค่ไหน วิธีการง่ายสุดก็คือนับจำนวนที่ทายถูก

เช่น ลองทดสอบโดยเอาข้อมูลผลการปลูกถั่วที่เก็บไว้ในตัวอย่างข้างต้นมาใช้ จากโค้ดที่แล้วข้อมูลถูกเก็บอยู่ใน x_thua, y_thua และ ngokmai เราอาจทำการบันทึกเก็บไว้ก่อนเพื่อนำมาใช้ทีหลัง การบันทึกอาเรย์ทีเดียวหลายตัวเราอาจใช้คำสั่ง np.savez ของ numpy
np.savez('plukthua.npz',x=x_thua,y=y_thua,z=ngokmai)

จากนั้นเราจะดึงไฟล์ .npz ที่บันทึกไว้มาใช้งานได้ด้วยคำสั่ง np.load (รายละเอียดมากกว่านี้อ่านได้ใน numpy เบื้องต้นบทที่ ๓๙)

เช่น ลองสมมุติให้ a=3, b=-15, c=129.3 แล้วลองวาดดูว่าผลเป็นอย่างไร
a = 3
b = -15
c = 129.3

# ดึงข้อมูลผลการปลูกถั่วที่บันทึกไว้มาใช้
plukthua = np.load('plukthua.npz')
x_thua = plukthua['x']
y_thua = plukthua['y']
ngokmai = plukthua['z']

# ทำการทายผลด้วยค่า a,b,c ที่เรากำหนดขึ้นดู
ngokmang = np.array(a*x_thua+b*y_thua+c>0,dtype=int)
# เทียบผลดูว่าถูกไหม
thukmai = np.array(ngokmang==ngokmai,dtype=int)

# วาดเส้นแบ่งเขตและลงสีส่วนล่าง
x_sen = np.array([0,40])
y_sen = -(c+a*x_sen)/b
plt.axes(aspect=1,xlim=[0,40],ylim=[0,30],xlabel='x',ylabel='y')
plt.fill_between(x_sen,y_sen,color='#00aa00')
# วาดจุดที่ทายถูก
plt.scatter(x_thua[thukmai==1],y_thua[thukmai==1],c=ngokmai[thukmai==1],s=50,edgecolor='k',cmap='summer_r')
# วาดจุดที่ทายผิด (ขอบแดง)
plt.scatter(x_thua[thukmai==0],y_thua[thukmai==0],c=ngokmai[thukmai==0],s=50,edgecolor='r',lw=2,cmap='summer_r')
plt.show()
print('ทายถูกทั้งหมด %d จาก 1000'%thukmai.sum())



จากรูปนี้บริเวณที่พื้นสีเขียวคือที่ทำนายว่าจะอุดมสมบูรณ์ (จุดเป็นสีเขียว) โดยจุดที่ขอบสีแดงคือที่ทายผิด จะเห็นว่าส่วนใหญ่ทายถูกแล้ว ดังที่จะเห็นได้ว่าค่าที่ print ออกมาได้คือทายถูก 880 จาก 1000

เป้าหมายคือการปรับค่าให้จำนวนที่ผิดมีน้อยลง อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วแทนที่จะใช้จำนวนที่ทายถูกเป็นเป้าหมายโดยตรง วิธีที่นิยมกว่ากลับเป็นการคำนวณค่าความคลาดเคลื่อนรวม แล้วพยายามปรับให้ความคลาดเคลื่อนรวมน้อยที่สุด

ค่าความคลาดเคลื่อนรวมมักถูกเรียกว่าเป็นค่าเสียหาย (cost หรือ loss) คือเป็นค่าที่จะยิ่งมากขึ้นเมื่อคำนวณหรือทำนายผิด

ค่าเสียหายที่นิยมใช้คือค่าความคลาดเคลื่อนกำลังสองเฉลี่ย (sum of squared error มักย่อว่า SSE) การนำค่าที่ทำนายได้ (ในที่นี้คือ ngokmai) กับค่าจริงๆ (ในที่นี้คือ ngokmang) มาลบกันแล้วยกกำลังสอง จากนั้นก็คิดค่าของทุกจุดแล้วเอามารวมกัน

สามารถคำนวนความคลาดเคลื่อนกำลังสองของแต่ละตัวได้โดย
print((ngokmang-ngokmai)**2)

จะได้ค่าที่เป็น 0 และ 1 สลับกันไป อันที่เป็น 0 คือที่ทายถูก ที่เป็น 1

ดังนั้นแล้วเราสามารถคำนวณ SSE ได้ด้วยการเอาทุกตัวมารวมกัน
sse = ((ngokmang-ngokmai)**2).sum()

อย่างไรก็ตามการที่ให้ทายถูกแล้วเป็น 0 ทายผิดแล้วเป็น 1 แบบนี้เป็นลักษณะของฟังก์ชันขั้นบันได เป็นการแบ่งที่หยาบไปสักหน่อย ในความเป็นจริงที่เรามักจะเจอกันมากกว่าก็คือให้คะแนนความคลาดเคลื่อนในระดับที่ละเอียดกว่านี้

ลองย้อนกลับไปดูตอนแรกที่เราหาค่า ngokmang นั้นเราใช้ a*x_thua+b*y_thua+c มาเทียบว่ามากกว่า 0 หรือเปล่า ถ้ามากกว่าให้เป็น 1 ถ้าน้อยกว่าเป็น 0

แต่คราวนี้แทนที่จะทำอย่างนั้นเราลองเปลี่ยนเป็นว่าถ้ามากกว่า 0 ไปมากๆจึงจะเข้าใกล้ 1 ถ้าน้อยกว่า 0 มากๆให้เข้าใกล้ 0 แต่ถ้าค่าใกล้ๆ 0 ก็ให้มีค่าที่ประมาณ 0.5

ฟังก์ชันที่มีลักษณะเป็นแบบนี้ที่นิยมใช้คือฟังก์ชันซิกมอยด์ (sigmoid)
..(2)

เพื่อให้เห็นภาพลองเอาฟังก์ชันมาเขียนกราฟ เปรียบเทียบกับกราฟแบบขั้นบันไดที่แบ่ง 0 กับ 1 แบบตัดกันชัดเจนแบบเดิมดูด้วย
def sigmoid(x):
    return 1/(1+np.exp(-x))
x = np.linspace(-8,8,1001)
plt.axes(yticks=np.linspace(0,1,11))
plt.plot(x,x>0)
plt.plot(x,sigmoid(x))
plt.grid()
plt.show()



เส้นสีเขียวคือซิกมอยด์ จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป แต่เมื่อมีค่ามากๆก็จะลู่เข้า 1 และเมื่อน้อยมากๆจะลู่เข้า 0

ที่มักใช้แบบนี้เพราะในปัญหาการจำแนกประเภทโดยทั่วไปถ้าฟังก์ชันคำนวณได้ใกล้ 0 แสดงว่าค่าที่คำนวณได้ก็อยู่ใกล้ขอบเขตแบ่งทำให้จริงๆแล้วมันมีโอกาสที่จะอยู่ฝั่งไหนก็ได้ บางทีแทนที่จะตัดสินตูมเดียวไปเลยว่าเป็น 0 หรือ 1 การตัดสินให้ค่าเป็นตัวเลขอยู่ในช่วงระหว่าง 0 ถึง 1 จะดูประนีประนอมกว่า

ในกรณีตัวอย่างนี้ f(x) = ax+bx+c เป็นฟังก์ชันตัดสินของเรา ซึ่งอาจให้ค่าอะไรก็ได้ตั้งแต่ลบอนันต์ถึงอนันต์ ยิ่งค่ามากยิ่งมีโอกาสเป็นดินดีมาก แต่ถ้าค่าใกล้ 0 ก็อาจก้ำกึ่ง

กรณีนี้ฟังก์ชันเป้าหมายที่ผ่านฟังก์ชันซิกมอยด์แล้วสามารถตีความได้ว่าเป็นความน่าจะเป็นที่บริเวณนั้นจะเป็นดินดี ซึ่งแสดงได้ว่าถ้า sigmoid(0)=0.5 หมายความว่าโอกาสเป็นคือ 50:50

ลองวาดแผนภาพไล่สีดูเปรียบเทียบระหว่างสองแบบ
x,y = np.meshgrid(np.linspace(0,40,160),np.linspace(0,30,120))
plt.figure(figsize=[8,3])
plt.axes([0.05,0.03,0.4,0.95],aspect=1,title='$sigmoid(x-2y+10)$',xlim=[0,40],ylim=[0,30])
plt.pcolormesh(x,y,sigmoid(x-2*y+10),cmap='coolwarm_r')
plt.axes([0.5,0.03,0.4,0.95],aspect=1,title='$x-2y+10>0$',xlim=[0,40],ylim=[0,30])
plt.pcolormesh(x,y,x-2*y+10>0,cmap='coolwarm_r')
plt.colorbar(cax=plt.axes([0.92,0.03,0.03,0.93]))
plt.show()



จะสังเกตได้ว่าต่างกันแค่ที่บริเวณใกล้รอยต่อ ซิกมอยด์จะค่อยๆไล่สี ไม่ได้ตัดเปลี่ยนไปทันทีแบบฟังก์ชันขั้นบันได

ซึ่งหมายความว่าถ้าห่างจากรอยต่อมากๆเราจะตัดสินได้ทันทีว่าอยู่กลุ่มไหน แต่ถ้าอยู่แถวๆรอยต่อค่าก็จะก้ำกึ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะอยู่กลุ่มไหนก็ได้

ฟังก์ชันซิกมอยด์ในที่นี้เรียกว่าทำหน้าที่เป็นฟังก์ชันกระตุ้น (activation function)

ฟังก์ชันกระตุ้นที่นิยมใช้ยังมีอีกหลากหลายแบบ เช่น relu, tanh, ฯลฯ ซึ่งก็เหมาะใช้ในกรณีต่างกันออกไป

ฟังก์ชันกระตุ้นแบบนี้จะใช้เมื่อตอนคำนวณความควรจะเป็นของค่าที่ทำนายได้เท่านั้น แต่ในผลลัพธ์สุดท้ายแล้วค่าจริงมีเพียง 0 กับ 1 ดังนั้นเมื่อจะเทียบกับค่าจริงว่าทายถูกหรือผิดยังไงก็ต้องมาดูว่าค่ามากหรือน้อยกว่า 0.5 เพื่อแบ่งเป็น 0 หรือ 1

สรุปแล้วสิ่งที่ต้องเปลี่ยนตอนนี้คือ เปลี่ยนค่าทำนายจากเดิมมาเป็น
ngokmang = sigmoid(a*x_thua+b*y_thua+c)

พอลองดูค่า ngokmang ที่ได้แล้วก็จะพบว่าค่าส่วนใหญ่จะกองกันอยู่ที่ใกล้ 0 และใกล้ 1 แต่ก็จะไม่เป็น 0 หรือ 1 พอดีซะทีเดียว

จากนั้นก็คำนวณค่าเสียหายใหม่อีกที
sse = ((ngokmai-ngokmang)**2).sum()

ค่าเสียหายนี้ตามหนังสือมักแทนด้วยตัว J หากนำค่าเสียหาย SSE เขียนในรูปสมการคณิตศาสตร์จะได้เป็น
..(3)

โดย n คือจำนวนจุดข้อมูลทั้งหมด z(i) คือค่าคำตอบจริงของแต่ละจุด (เป็น 0 หรือ 1) ส่วน φ(i) คือค่าที่คำนวณได้ในแต่ละจุด ในที่นี้มาจากฟังก์ชันซิกมอยด์
..(4)

ในที่นี้เป็นการเขียนในรูปทั่วไป ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ ๒ มิติ แต่ให้มี m มิติ ฟังก์ชันตัดสิน f(x(i)) = f(x1,(i),x2,(i),...,xm,(i)) จะเขียนใหม่เป็น
..(5)

wj คือค่าน้ำหนักของตัวแปรต้นแต่ละตัว โดยหากเทียบกับสมการ (1) แล้วในที่นี้เรามีตัวแปรต้น ๓ ตัว แบ่งเป็นน้ำหนักในแกน x ในที่นี้คือ w1=wx=a และน้ำหนักแกน y คือ w2=wy=b ส่วนไบแอส c ในที่นี้เขียนแทนด้วย w0 โดยต่อจากนี้จะเขียน a เป็น wx เขียน b เป็น wy และ c เป็น w0 เพื่อความเข้าใจง่าย

ตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่าเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงค่าน้ำหนักและค่าไบแอสให้ค่า SSE นี้น้อยที่สุด เพื่อการนั้นขั้นต่อไปคือต้องใช้วิธีการที่เรียกว่าการเคลื่อนลงตามความชัน (gradient descent, GD)

***หมายเหตุ ส่วนตรงนี้ต้องใช้ความรู้แคลคูลัสระดับมหาวิทยาลัย ใครไม่สนใจคณิตศาสตร์อาจข้ามไปอ่านส่วนของโค้ดได้เลย

หลักการของวิธีนี้คือหาค่าความชันของฟังก์ชันเทียบกับตัวแปรแต่ละตัว หรือก็คืออนุพันธ์ย่อย จากนั้นปรับเปลี่ยนค่าไปในทางที่ตรงกันข้ามกับความชัน

นั่นคือความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักคำนวณโดย
..(6)

หรือเขียนเป็นภาษาพูดได้ว่า
การเปลี่ยนแปลงค่าน้ำหนัก = -อัตราการเรียนรู้ x ความชันของค่าเสียหายเทียบกับค่าน้ำหนักตัวนั้น

อัตราการเรียนรู้ (η) คือค่าที่จะกำหนดว่าในแต่ละรอบที่คำนวณจะมีการปรับเปลี่ยนค่าน้ำหนักไปมากแค่ไหน

ค่านี้เป็นค่าที่ผู้เขียนโปรแกรมจะต้องกำหนดขึ้นเองให้พอเหมาะ ถ้าหากมากไปค่าจะถูกปรับเยอะไปจนอาจเลยค่าที่เหมาะสมและปรับเท่าไหร่ก็ไม่อาจได้ค่าที่ต้องการได้เลย แต่ถ้าน้อยไปก็จะใช้เวลานานมากกว่าจะลู่เข้าสู่คำตอบที่ต้องการ

ค่าความคลาดเคลื่อนในที่นี้ใช้เป็น SSE แต่ในกรณีอื่นก็อาจใช้อย่างอื่นได้อีก ที่จริงแล้วกรณีปัญหาการถดถอยโลจิสติกมักนิยมใช้ค่าที่เรียกว่าเอนโทรปีไขว้ (cross entropy) มากกว่า แต่ในที่นี้ขอใช้ SSE เนื่องจากเข้าใจง่ายกว่า

ความชันของค่าเสียหาย J ในกรณีที่ J เป็น SSE ดังสมการ (3) เมื่อทำการหาอนุพันธ์ย่อยสำหรับ wj และ w0 ออกมาจะได้เป็น
..(7)

และ

..(8)

ซึ่งสมการ (7) สำหรับ wx และ wy ในตัวอย่างนี้จะได้
..(9)

เมื่อแทนค่าสมการ (8) และ (9) ลงในสมการ (6) ก็จะหาค่าความชันที่ควรเปลี่ยนแปลงไปได้เป็น
..(10)

หากใครไม่สามารถเข้าใจกับคณิตศาสตร์ที่อธิบายมาตรงนี้ก็ขอสรุปสั้นๆแค่ว่าสิ่งที่เราต้องการคือสมการ (10) เพื่อไว้ใช้หาค่าการเปลี่ยนแปลงของความชันและไบแอสในแต่ละรอบ

เมื่ออธิบายทฤษฎีคร่าวๆจนพอรู้แนวทางแล้ว ทีนี้มาลองเขียนโค้ดกันดูเลย
def sigmoid(x):
    return 1/(1+np.exp(-x))

eta = 0.0001 # อัตราการเรียนรู้
n_thamsam = 10000 # จำนวนครั้งที่ทำซ้ำเพื่อปรับค่าน้ำหนักและไบแอส

plukthua = np.load('plukthua.npz')
x_thua = plukthua['x']
y_thua = plukthua['y']
ngokmai = plukthua['z']

# ค่าน้ำหนักเริ่มต้น
wx,wy,w0 = 0,0,0

# คำนวณค่าที่ได้จากการทำนายตอนแรกสุด
ngokmang = sigmoid(wx*x_thua+wy*y_thua+w0)

sse = [] # เตรียมลิสต์เก็บค่า sse
thuktong = [] # เตรียมลิสต์เก็บค่าจำนวนครั้งที่ทายถูก

# เริ่มการทำซ้ำเพื่อปรับค่าน้ำหนัก
for i in range(n_thamsam):
    # ปรับค่าน้ำหนัก
    eee = 2*ngokmang*(1-ngokmang)*(ngokmai-ngokmang)
    wx += (eee*x_thua).sum()*eta
    wy += (eee*y_thua).sum()*eta
    w0 += eee.sum()*eta
    # คำนวณฟังก์ชันกระตุ้น
    ngokmang = sigmoid(wx*x_thua + wy*y_thua + w0)
    # คำนวณ sse แล้วเก็บใส่ลิสต์
    sse += [((ngokmang-ngokmai)**2).sum()]
    # เทียบว่าอันไหนทายถูกบ้าง
    thukmai = np.array(np.abs(ngokmai-ngokmang)<0.5,dtype=int)
    # นับจำนวนว่าถูกกี่อันแล้วเก็บใส่ลิสต์
    thuktong += [thukmai.sum()]

x_sen = np.array([0,40])
y_sen = -(w0+wx*x_sen)/wy
plt.axes(aspect=1,xlim=[0,40],ylim=[0,30],xlabel='x',ylabel='y')
plt.fill_between(x_sen,y_sen,color='#00aa00')
plt.scatter(x_thua[thukmai==1],y_thua[thukmai==1],c=ngokmai[thukmai==1],s=50,edgecolor='k',cmap='summer_r')
plt.scatter(x_thua[thukmai==0],y_thua[thukmai==0],c=ngokmai[thukmai==0],s=50,edgecolor='r',lw=2,cmap='summer_r')
plt.show()

print('ได้สมการเส้นแบ่งเขตเป็น %.3fx%+.3fy%+.3f = 0'%(wx,wy,w0))
print('ทายถูกทั้งหมด %d จาก %d'%(thukmai.sum(),len(x_thua)))

เมื่อรันแล้วก็จะได้ผลออกมาเป็นภาพนี้



ผลที่ได้อาจต่างไปโดยขึ้นกับตำแหน่ง x และ y ของต้นถั่วที่สุ่มมาตอนแรกสุด แต่โดยรวมแล้วแนวโน้มควรจะเหมือนกันคือทายถูกเกือบหมด

สำหรับกรณีของข้อมูลสุ่มชุดนี้ผลที่ได้จะเห็นว่าถูก 994 แสดงว่าผิดแค่ 6 เท่านั้น ดังที่จะเห็นได้ว่ามีจุดขอบแดงอยู่ 6 จุด

สมการที่ได้ก็คือ 0.582x-1.123y+5.066 = 0 ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ควรจะเป็นนั่นคือ wy/wx ประมาณ -2 และ w0/wx ประมาณ 10

ค่าความคลาดเคลื่อนรวมและจำนวนที่ทายถูกในแต่ละขั้นได้ถูกเก็บไว้ในตัวแปร sse และ thuktong ลองเอามาวาดกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงของค่า
ax = plt.subplot(211)
ax.set_title(u'ผลรวมความคลาดเคลื่อนกำลังสอง (SSE)',fontname='Tahoma')
plt.plot(sse)
ax = plt.subplot(212)
ax.set_title(u'จำนวนที่ถูก',fontname='Tahoma')
plt.plot(thuktong)
plt.show()



จะเห็นว่ายิ่งผ่านไปหลายๆรอบความคลาดเคลื่อนรวมยิ่งลดลง และจำนวนครั้งที่ทายถูกก็มากขึ้น



ตอนนี้สามารถเขียนโค้ดสำหรับการเรียนรู้ของเครื่องสำหรับการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วการเขียนโดยใช้วิธีการสร้างคลาสจะสะดวกกว่าและเป็นที่นิยมมาก

ลองเขียนใหม่โดยใช้คลาสดูก็จะได้ประมาณนี้
class ThotthoiLogistic2d:
    def __init__(self,eta):
        self.eta = eta # อัตราการเรียนรู้
    # เรียนรู้
    def rianru(self,x,y,z,n_thamsam):
        self.sse = []
        self.thuktong = []
        # ค่าน้ำหนักเริ่มต้น
        self.wx,self.wy,self.w0 = 0,0,0

        phi = self.ha_sigmoid(x,y)
        for i in range(n_thamsam):
            # ปรับค่าน้ำหนัก
            eee = 2*phi*(1-phi)*(z-phi)
            self.wx += (eee*x_thua).sum()*self.eta
            self.wy += (eee*y_thua).sum()*self.eta
            self.w0 += eee.sum()*self.eta
            phi = self.ha_sigmoid(x,y)
            # บันทึกผลในแต่ละรอบ
            thukmai = np.abs(phi-z)<0.5
            self.thuktong += [thukmai.sum()]
            self.sse += [self.ha_sse(x,y,z)]
    # ทำนายผล
    def thamnai(self,x,y):
        return self.ha_sigmoid(x,y)>0.5
    # ฟังก์ชันกระตุ้น
    def ha_sigmoid(self,x,y):
        return sigmoid(self.wx*x + self.wy*y + self.w0)
    # หาค่าเสียหาย
    def ha_sse(self,x,y,z):
        return ((z-self.ha_sigmoid(x,y))**2).sum()

จากนั้นเริ่มการใช้งานโดยสร้างออบเจ็กต์จากคลาส จากนั้นใช้เมธอด rianru เพื่อให้ออบเจ็กต์ทำการเรียนรู้และปรับค่าน้ำหนัก
eta = 0.0001 # อัตราการเรียนรู้
n_thamsam = 10000 # จำนวนครั้งที่ทำซ้ำ
# ดึงข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้
plukthua = np.load('plukthua.npz')
x_thua = plukthua['x']
y_thua = plukthua['y']
ngokmai = plukthua['z']

# สร้างออบเจ็กต์
tl = ThotthoiLogistic2d(eta)
# เริ่มการเรียนรู้
tl.rianru(x_thua,y_thua,ngokmai,n_thamsam)

เสร็จแล้วก็นำมาวาดกราฟผลการเรียนรู้ดู โดยค่าจะเก็บอยู่ในแอตทริบิวต์ sse และ thuktong ของออบเจ็กต์ นำมาใช้ได้เลย
ax = plt.subplot(211)
ax.set_title(u'ผลรวมความคลาดเคลื่อนกำลังสอง (SSE)',fontname='Tahoma')
plt.plot(tl.sse)
ax = plt.subplot(212)
ax.set_title(u'จำนวนที่ถูก',fontname='Tahoma')
plt.plot(tl.thuktong)
plt.show()
print('ทายถูกทั้งหมด %d จาก %d'%(tl.thuktong[-1],len(ngokmai)))

ผลที่ได้จะเหมือนกันกับตอนที่ไม่ใช้คลาส

ค่าน้ำหนักก็อยู่ในแอตทริบิวต์ wx,wy,w0 นำมาแสดงผลได้ในลักษณะเดียวกัน
print('ได้สมการเส้นแบ่งเขตเป็น %.3fx%+.3fy%+.3f = 0'%(tl.wx,tl.wy,tl.w0))

ในที่นี้ที่ตั้งชื่อคลาสโดยมีคำว่า 2d ต่อท้ายก็เพราะว่าคลาสนี้ใช้กับกรณีที่ตัวแปรต้นมีแค่ ๒ ตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตามปัญหาการแบ่งหมวดหมู่โดยทั่วไปอาจมีตัวแปรต้นกี่ตัวก็ได้ ดังนั้นเราลองมาปรับแก้อักสักหน่อยให้ใช้กับกี่ตัวแปรก็ได้

กรณีแบบนี้จะเป็นการสะดวกที่จะใช้ฟังก์ชัน np.dot ซึ่งใช้ในการคูณเมทริกซ์ ซึ่งถ้าใครไม่คุ้นเคยแล้วอาจจะเข้าใจยากขึ้นสักหน่อย แต่หากลองเทียบเคียงกับโค้ดในตัวอย่างบนก็จะเข้าใจง่ายขึ้น

ลองปรับแล้วก็จะออกมาแบบนี้
class ThotthoiLogistic:
    def __init__(self,eta):
        self.eta = eta

    def rianru(self,X,z,n_thamsam):
        self.sse = []
        self.thuktong = []
        self.w = np.zeros(X.shape[1]+1)

        phi = self.ha_sigmoid(X)
        for i in range(n_thamsam):
            eee = 2*phi*(1-phi)*(z-phi)
            self.w[1:] += np.dot(X.T,eee)*self.eta
            self.w[0] += eee.sum()*self.eta
            phi = self.ha_sigmoid(X)
            thukmai = np.abs(phi-z)<0.5
            self.thuktong += [thukmai.sum()]
            self.sse += [self.ha_sse(X,z)]

    def thamnai(self,X):
        return self.ha_sigmoid(X)>0.5

    def ha_sigmoid(self,X):
        return sigmoid(np.dot(X,self.w[1:])+self.w[0])

    def ha_sse(self,X,z):
        return ((z-self.ha_sigmoid(X))**2).sum()

# เริ่มการใช้งาน
eta = 0.0001
n_thamsam = 10000
plukthua = np.load('plukthua.npz')
x_thua = plukthua['x']
y_thua = plukthua['y']
ngokmai = plukthua['z']

# สร้างออบเจ็กต์
tl = ThotthoiLogistic(eta)
# ทำการรวมอาเรย์ของ x และ y ได้เป็นอาเรย์สองมิติ
xy_thua = np.stack([x_thua,y_thua],axis=1)
# เริ่มการเรียนรู้
tl.rianru(xy_thua,ngokmai,n_thamsam)
print('ได้สมการเส้นแบ่งเขตเป็น %.3fx%+.3fy%+.3f = 0'%(tl.w[1],tl.w[2],tl.w[0]))
print('ทายถูกทั้งหมด %d จาก %d'%(tl.thuktong[-1],len(ngokmai)))

ในที่นี้ตัวแปร X จะแทนทั้ง x และ y ในโค้ดอันก่อน โดย X ในที่นี้เป็นอาเรย์สองมิติ สามารถสร้างขึ้นจาก x และ y ได้ด้วยฟังก์ชัน np.stack ดังที่เห็น ในตัวอย่างนี้รวมอยู่ในตัวแปรชื่อ xy_thua

พอทำแบบนี้แล้วตัวแปรสำหรับเมธอด rianru ก็จะลดลง แต่ใน X นี้จะแทนตัวแปรต้นกี่ตัวก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะมีได้แค่สอง

ส่วน self.w ในที่นี้จะเก็บค่าน้ำหนักทั้งหมด (เทียบเท่า wx และ wy จากโค้ดที่แล้ว) รวมทั้งค่าไบแอส (เทียบเท่ากับ w0 จากโค้ดที่แล้ว) ด้วย พอเขียนรวมกันเป็นตัวแปรเดียวแบบนี้แล้วดูกะทัดรัดขึ้น



ขอส่งท้ายด้วยการทดสอบเกี่ยวกับอัตราการเรียนรู้ (eta) ซึ่งเป็นค่าที่สำคัญที่ต้องกำหนดให้พอเหมาะ

ลองนำคลาสที่เพิ่งสร้างมาใช้โดยปรับค่า eta ให้ต่างๆกันไป แล้ววาดกราฟเพื่อเปรียบเทียบการเรียนรู้ด้วยค่า eta ต่างๆดู
plt.title(u'จำนวนที่ถูก',fontname='Tahoma')
for eta in [0.01,0.001,0.0001,0.00001]:
    tl = ThotthoiLogistic(eta)
    tl.rianru(xy_thua,ngokmai,10001)
    plt.plot(np.arange(0,10001,100),tl.thuktong[::100],label='%.5f'%eta)
    plt.legend(loc=0)
plt.show()



จากผลที่ได้จะเห็นว่าค่า 0.01 กับ 0.001 มากเกินไปจนทำให้ผลที่ได้แกว่งไปมาไม่อาจลู่เข้าสู่ค่าสูงสุดได้

ส่วน 0.00001 ก็น้อยไปทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปแบบช้ามาก กว่าจะลู่เข้าได้ก็ต้องทำซ้ำไปอีกนาน

ดังนั้นค่าที่เหมาะที่สุดคือ 0.0001

หากจะเขียนให้ซับซ้อนเพิ่มเติมขึ้นไปอีกแล้วอาจลองทำให้อัตราการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม โดยลดลงเรื่อยๆเมื่อทำซ้ำ แบบนี้จะทำให้ช่วงแรกลู่เข้าได้เร็วแล้วช่วงหลังเข้าใกล้ค่าที่ต้องการได้มากที่สุด

สิ่งที่ควรปรับปรุงอีกก็เช่นเปลี่ยนฟังก์ชันค่าเสียหายจาก SSE มาเป็นอย่างอื่นเช่นเอนโทรปีไขว้

ในตัวอย่างทั้งหมดที่เขียนในนี้เป็นแค่พื้นฐานเบื้องต้น ยังมีอะไรๆต้องปรับปรุงอีกมากมายจึงจะเหมาะแก่การใช้งานจริงๆ

ในทางปฏิบัติแล้วปัจจุบันมีมอดูลหลายตัวในไพธอนที่มีฟังก์ชันและคลาสที่สำเร็จรูปเหมาะสำหรับการเรียนรู้ของเครื่อง เช่น sklearn, keras, chainer, ฯลฯ

ดังนั้นขอแค่รู้หลักการพื้นฐานแล้วที่เหลือก็ไปใช้มอดูลซึ่งถูกทำมาไว้ดีแล้ว



การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกนี้โดยพื้นฐานแล้วเอาไว้แบ่งหมวดหมู่ข้อมูลออกเป็นสองหมวด แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดเป็นการแบ่งกี่หมวดก็ได้

และนอกจากนี้แล้วยังมีเทคนิคอื่นๆอีกมากมาย หากมีโอกาสจะเขียนถึงในคราวต่อไป



อ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> ปัญญาประดิษฐ์
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文