φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



[python] วิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นด้วยเทคนิคการเคลื่อนลงตามความชัน
เขียนเมื่อ 2016/12/10 18:04
แก้ไขล่าสุด 2022/07/21 15:29
ช่วงนี้เนื่องจากกำลังสนใจศึกษาเรื่องของศาสตร์ในการเรียนรู้ของเครื่องและการสร้างระบบโครงข่ายประสาทเทียมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลโดยอ่านตำราญี่ปุ่นหลายเล่ม ก็เลยเริ่มลองเขียนบล็อกสรุปสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ไป

ศาสตร์นี้มีเรื่องที่น่าเขียนถึงอยู่หลายอย่าง แต่ที่น่าพูดถึงมากที่สุดที่อยากเขียนถึงก็คือการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติก (逻辑回归, logistic regression) และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้น (线性回归, linear regression) ซึ่งใช้งานอย่างกว้างขวางและสามารถต่อยอดไปสู่เทคนิคอื่นๆที่ซับซ้อนขึ้นเช่นการสร้างระบบโครงข่ายประสาทได้

ก่อนหน้านี้ได้มีเขียนบทความแรกคือเรื่องการวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161103

แต่ในนั้นได้ข้ามรายละเอียดอะไรที่ควรเขียนถึงไปหลายอย่าง ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ แต่ไหนแต่ไรแล้ว "การวิเคราะห์การถดถอย" หมายถึงอะไร

ดังนั้นในบทความนี้จะพูดถึงความหมายของการวิเคราะห์ถดถอย พร้อมทั้งทดลองเขียนโค้ดการวิเคราะห์ถดถอยอย่างง่ายสุด นั่นคือการวิเคราะห์ถดถอยแบบเชิงเส้น

การถดถอยเชิงเส้นนั้นนอกจากจะเป็นการถดถอยแบบง่ายที่สุดแล้ว ยังถูกนำไปต่อยอดเพื่อทำอะไรต่างๆได้มาก เช่นการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกเพื่อการแบ่งกลุ่มข้อมูลนั้นที่จริงแล้วก็มีพื้นฐานอยู่บนการถดถอยเชิงเส้น

สำหรับใครที่อ่านบทความเรื่องการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกอันนั้นไปก่อนแล้วจะลืมไปก่อนก็ได้ บทความในหน้านี้ไม่ได้ยืนพื้นจากบทความนั้น ในทางตรงกันข้าม แนะนำให้อ่านหน้านี้ก่อนแล้วค่อยไปอ่านตรงนั้นจะดีกว่า



การวิเคราะห์การถดถอยคืออะไร? อธิบายด้วยคำพูดทันทีอาจเข้าใจยาก ดังนั้นขอเริ่มด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่สามารถใช้เพื่อแก้ปัญหาได้

โจทย์คือ สมมุติว่าซื้อลูกไดโนเสาร์มาตัวหนึ่ง เริ่มเลี้ยงมันตั้งแต่วันแรกที่ซื้อมา ในแต่ละวันไดโนเสาร์จะกินอาหารไปแค่ปริมาณหนึ่งแล้วก็อิ่ม

พอลองจดบันทึกปริมาณอาหารที่มันกินในแต่ละวันโดยบันทึกวันเว้นวันเป็นเวลาเดือนหนึ่งก็ได้ผลออกมาตามนี้



โดยแกนนอนคือเวลาในหน่วยวัน ส่วนแกนตั้งคือน้ำหนักของอาหารที่ต้องให้ในหน่วยกิโลกรัม

คำถามคือพอเห็นแนวโน้มแบบนี้แล้วเราสามารถทำนายได้หรือไม่ว่าวันถัดไปไดโนเสาร์จะกินอาหารกี่ กก.?

อีกทั้งในนี้เรามีการจดบันทึกแค่วันเว้นวัน เราจะบอกได้หรือไม่ว่าวันที่เราไม่ได้จดบันทึกนั้นมันกินอาหารไปกี่ กก.?

การหาคำตอบของปัญหาเหล่านี้ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่าการวิเคราะห์การถดถอย

การวิเคราะห์การถดถอยก็คือ การวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นกับตัวแปรตาม โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่มีอยู่โดยดูแนวโน้มต่างๆ แล้วทำนายว่าถ้าตัวแปรต้นมีค่าเท่านี้ ตัวแปรตามจะมีค่าเท่าใด

เช่นโจทย์ข้อนี้ ตัวแปรต้นคือเวลา (เดือน) ตัวแปรตามคือน้ำหนักอาหาร (กก.) เราต้องการทำนายว่าในวันไหนไดโนเสาร์จะกินอาหารเท่าไหร่

สำหรับข้อมูลในตัวอย่างนี้ หากลองพิจารณาแนวโน้มดู จะเห็นได้ว่าแม้จะมีขึ้นลงสลับกันไปบ้างแต่โดยรวมแล้วก็คือยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งกินจุขึ้น โดยมีแนวโน้มค่อนข้างเป็นเส้นตรงแน่นอน

ดังนั้นจึงควรจะสามารถเขียนสมการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณอาหารเทียบกับเวลาได้ดังนี้


โดยในที่นี้ x เป็นตัวแปรต้น และ h เป็นตัวแปรตาม ส่วน w ในที่นี้เรียกว่าเป็นค่าน้ำหนักของตัวแปรต้น x และ b เรียกว่าเป็นค่าไบแอส

การพยายามวิเคราะห์ว่าค่า w และ b ในที่นี้ควรจะเป็นเท่าไหร่นั่นก็คือปัญหาที่เรียกว่า "การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้น"

แน่นอนว่าหากแนวโน้มไม่ใช่เส้นตรงแบบนี้ก็ไม่สามารถใช้การถดถอยเชิงเส้นได้ กรณีแบบนั้นก็จะเป็นการถดถอยแบบอื่น ซึ่งก็มีอีกหลากหลายวิธี จะยังไม่กล่าวถึงตรงนี้

การถดถอยเชิงเส้นอาจไม่ได้มีตัวแปรต้นแค่ตัวเดียวแบบนี้ กรณีโจทย์นี้เป็นปัญหาหนึ่งมิติ คือมีตัวแปรต้นตัวเดียวคือ x ดังนั้นจะมีค่า w ที่ต้องหาอยู่แค่ตัวเดียว และมี b อีกตัว

แต่ปัญหาทั่วไปอาจมีตัวแปรต้นหลายตัว ในกรณีแบบนั้นจะเป็น


โดย n เป็นจำนวนมิติ (จำนวนตัวแปรต้น) ของปัญหา

แบบนี้จะมีค่าที่ต้องการหาคือ w1, w2, w3,..., wn และ b ปัญหาจะซับซ้อนขึ้นไปอีก

ในเบื้องต้นขอเริ่มจากปัญหาหนึ่งมิติดังในตัวอย่างที่ยกมานี้ก่อน จึงค่อยต่อยอดไปยังมิติที่สูงขึ้น



ก่อนอื่นขอเฉลยว่าผลการทดลองอันนี้ได้มาจากการเขียนโค้ดดังนี้
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt
x = np.arange(1,31,2)
z = 2.5+x*0.5+np.random.randn(15)*0.5
plt.axes(xlim=[0,31])
plt.xlabel(u'เวลา (วัน)',fontname='Tahoma')
plt.ylabel(u'ปริมาณอาหาร (กก.)',fontname='Tahoma')
plt.scatter(x,z)
plt.show()

ซึ่งหากดูก็จะรู้ทันทีว่าคำตอบของปัญหานี้คือ w = 2.5 และ b = 0.5 นั่นเอง โดยมีค่าสุ่มบวกเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อุณหภูมิและความชื้นในวันนั้นๆ ตรงนี้ถือเป็นคลื่นรบกวน

ปัญหาก็คือจะหาค่า w และ b ในนี้ได้อย่างไรถ้าเราไม่รู้มาก่อนเลย ดูแค่จากรูปเท่านั้น

ถ้าคิดหยาบๆละก็ เราอาจพยายามลองลากเส้นผ่านกลางจุดเหล่านี้แล้วดูว่าเส้นอยู่กึ่งกลางระหว่างจุด แต่ตาคนย่อมมีข้อผิดพลาดไม่อาจกะได้แม่นยำ ดังนั้นจึงต้องทำการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์

ที่จริงคือคำตอบอาจมีอยู่หลากหลายขึ้นอยู่กับเกณฑ์หรือวิธีการที่ใช้

วิธีที่นิยมที่สุดก็คือการพยายามหาค่า w และ b ที่ทำให้คำนวณแล้วได้ค่าความคลาดเคลื่อนต่ำที่สุด

ค่าความคลาดเคลื่อนในที่นี้ที่นิยมใช้ก็คือผลรวมความคลาดเคลื่อนกำลังสอง (和方差, sum of squared error, SSE) หรือค่าเฉลี่ยความคลาดเคลื่อนกำลังสอง (均方差, mean sqared error, MSE)

โดย SSE ได้จากการนำเอาผลต่างระหว่างค่าที่ทำนายกับคำตอบจริงของแต่ละตัวอย่างมายกกำลังสอง แล้วนำมาบวกกันทั้งหมด

กรณีหนึ่งมิติอย่างปัญหานี้จะได้ว่า


ในที่นี้ใช้ J แทนค่า SSE โดย z คือคำตอบจริง

ส่วน h คือค่าที่ทำนายจากการคำนวณจากตัวแปรต้นคูณน้ำหนักบวกไบแอส นั่นคือ


โดย (i) เป็นดัชนีชี้ลำดับแถวของข้อมูล ต้องนำความคลาดเคลื่อนที่คิดจากข้อมูลทั้งหมดมารวมกัน

เขียนในไพธอนได้ว่า
h = w*x+b
sse = ((z-h)**2).sum()

ส่วน MSE ก็ได้จากการนำ SSE มาหารจำนวนตัวอย่าง จะใช้ SSE หรือ MSE ก็ให้ผลไม่ต่างกัน ยังไงเป้าหมายก็คือทำยังไงก็ได้ให้ค่าน้อยที่สุด

เราอาจเริ่มจากเดาค่า w และ b มาหลายๆชุด แล้วดูว่าค่าไหนที่ทำให้คำนวณค่าความคลาดเคลื่อนได้น้อยที่สุด

แต่ทำแบบนั้นก็อาจเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ดังนั้นโดยทั่วไปแทนที่จะทำอย่างนั้น พอสุ่มค่า w และ b มาค่าหนึ่งก็ดูแนวโน้มว่าต่อไปควรจะแก้ค่ายังไงเพื่อให้ความคลาดเคลื่อนลดลง และทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆจนไม่น่าจะได้ค่าต่ำไปกว่านี้แล้ว

ลองวาดพื้นผิวสามมิติเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง w, b และ SSE ได้ดังนี้

from mpl_toolkits.mplot3d import Axes3D

plt.figure(figsize=[8,8])
ax = plt.axes([0,0,1,1],projection='3d',xlabel='b',ylabel='w',zlabel='SSE')
mb,mw = np.meshgrid(np.linspace(0,5,41),np.linspace(0,1,41))
sse = ((x*mw.ravel()[:,None]+mb.ravel()[:,None]-z)**2).sum(1).reshape(41,-1)
ax.plot_surface(mb,mw,sse,rstride=1,cstride=1,alpha=0.2)
plt.show()



ผลที่ได้จะบอกว่าถ้า w และ b เป็นเท่าไหร่ จะได้ค่า SSE เท่าไหร่ โดยจะเห็นลักษณะเหมือนเป็นหุบเขา มีร่องอยู่ตรงกลาง ตำแหน่งของคำตอบที่เราต้องการก็อยู่ในร่องนั่นเอง

จากรูปนี้ดูเผินๆอาจเหมือนกับว่าภายในร่องนั้นดูจะมีค่าเท่าๆกันไปหมด แต่ความจริงแล้วก็มีความแตกต่างเล็กๆน้อยๆอยู่ เพื่อให้เห็นความต่างเล็กๆน้อยๆได้ง่ายคราวนี้ลองเปลี่ยนเป็นวาดแผนภาพไล่สีแทน โดยสีแสดงถึงความสูง โดยให้แสดงเป็นมาตราส่วนลอการิธึม
import matplotlib as mpl
mb,mw = np.meshgrid(np.linspace(0,5,201),np.linspace(0,1,201))
sse = ((x*mw.ravel()[:,None]+mb.ravel()[:,None]-z)**2).sum(1).reshape(201,-1)
plt.axes(xlim=[0,5],ylim=[0,1])
plt.pcolormesh(mb,mw,sse,norm=mpl.colors.LogNorm(),cmap='gnuplot')
plt.colorbar(pad=0.01)
plt.show()



ในรูปนี้สีเหลืองคือค่าสูง สีดำคือค่าต่ำ จะเห็นว่าจุดที่ดำที่สุดก็คือแถว (2.5,0.5) ซึ่งเป็นคำตอบนั่นเอง



หากดูจากรูปเราก็คงพอเข้าใจคร่าวๆได้ว่าคำตอบที่ควรจะเป็นตรงไหน แต่ทีนี้เราจะเขียนโปรแกรมยังไงให้มันหาคำตอบนั้นเจอได้เอง นั่นคือโจทย์ในตอนนี้

วิธีการหาคำตอบนั้นอาจมีอยู่หลายวิธี แต่ในที่นี้จะแนะนำวิธีที่เรียกว่าการเคลื่อนลงตามความชัน (梯度下降法, gradient descent, GD) ซึ่งนิยมใช้มากที่สุด

สมมุติว่าเราทำเข็มอันหนึ่งตกลงไปในมหาสมุทร แต่เรารู้ว่าของมีน้ำหนักย่อมตกสู่ที่ต่ำ ดังนั้นถ้าจะหาเข็มให้เจอเราก็ต้องหาพื้นใต้สมุทรส่วนที่อยู่ต่ำที่สุด

เราอาจเริ่มจากดำน้ำลงจุดไหนสักจุดก่อนแล้วดูว่าจุดนั้นมีความลาดเอียงแค่ไหน ถ้าจุดที่เราดำน้ำลงมาเจอพื้นนั้นไม่ใช่จุดต่ำที่สุดเราก็จะต้องรู้สึกได้ถึงความลาดเอียงของพื้น แล้วก็จะสามารถคิดได้ว่าหากอยากไปที่ที่ต่ำลงไปก็ต้องเคลื่อนที่ไปตามความลาดเอียงนั้น

นั่นคือแนวคิดของเทคนิคการเคลื่อนลงการตามความชันก็คือหาค่าความชันของตำแหน่งที่อยู่ แล้วใช้มันเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าจะปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปทางไหนต่อ

"ตำแหน่ง" ในที่นี้หมายถึงค่า w และ b ในขณะที่ "ความสูง" คือค่า SSE

"ความชัน" ในที่นี้คืออนุพันธ์ของ SSE โดยคิดเป็นอนุพันธ์ย่อยเทียบกับ w และ b นั่นคือ


จากนั้นเมื่อคำนวณอนุพันธ์ได้แล้ว ต่อมาก็คำนวณค่าน้ำหนัก w และไบแอส b ที่ควรจะเปลี่ยนได้โดย


โดย η คือสิ่งที่เรียกว่า "อัตราการเรียนรู้" เป็นค่าที่กำหนดว่าในแต่ละรอบที่มีการปรับค่าน้ำหนักและไบแอสจะปรับมากแค่ไหน

ค่านี้มีความสำคัญมากต้องกำหนดให้เหมาะกับปัญหา ถ้ามากเกินไปน้ำหนักจะถูกปรับมากเกินจนไม่อาจลู่เข้าสู่คำตอบได้ แต่ถ้าน้อยไปการปรับน้ำหนักก็จะแทบไม่คืบหน้า เรื่องนี้เดี๋ยวจะแสดงให้เห็นต่อไป

ตอนนี้ได้สมการมาแล้ว ดังนั้นลองเริ่มเขียนโค้ด
eta = 0.0002 # อัตราการเรียนรู้
n_thamsam = 10000 # จำนวนครั้งที่ทำซ้ำเพื่อเรียนรู้
w,b = 0,0 # น้ำหนักและไบแอสเริ่มต้น
wi = [w] # ลิสต์บันทึกค่าน้ำหนักและไบแอส
bi = [b]
h = w*x+b # คำนวณคำตอบโดยใช้ w และ b ตอนแรก
for i in range(n_thamsam):
    w += 2*((z-h)*x).sum()*eta # ปรับค่าน้ำหนักและไบแอส
    b += 2*(z-h).sum()*eta
    wi += [w] #  บันทึกค่าน้ำหนักและไบแอสใหม่
    bi += [b]
    h = w*x+b # คำนวณคำตอบโดยใช้ค่า w และ b ใหม่

เมื่อรันโปรแกรมก็จะมีการทำซ้ำหมื่นครั้งเพื่อเรียนรู้และปรับค่า w และ b ไปเรื่อยๆเพื่อให้เข้าใกล้คำตอบที่ต้องการ หากการเรียนรู้ถูกทำอย่างถูกต้องเมื่อสิ้นสุดลงค่า w และ b ก็ควรจะเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น

ลองนำค่า w และ b ที่ได้ท้ายที่สุดมาวาดกราฟเส้นตรงเทียบกับจุดดู
plt.axes(xlim=[0,31])
plt.xlabel(u'เวลา (วัน)',fontname='Tahoma')
plt.ylabel(u'ปริมาณอาหาร (กก.)',fontname='Tahoma')
plt.scatter(x,z)
xsen = np.array([0,31])
ysen = xsen*w+b
plt.plot(xsen,ysen,'b')
plt.show()

จะเห็นว่าคำตอบออกมาอย่างที่ควรจะเป็น



เพื่อให้เห็นความคืบหน้าในการเรียนรู้แต่ละครั้งชัดเจนลองนำค่า w และ b ที่เก็บไว้ในลิสต์ wi และ bi ตอนแรกมาวาดกราฟเทียบกับระนาบของค่า SSE ดู ทั้งภาพสามมิติและแผนภาพไล่สี
bi = np.array(bi)
wi = np.array(wi)
plt.figure(figsize=[8,8])
ax = plt.axes([0,0,1,1],projection='3d',xlabel='b',ylabel='w',zlabel='SSE')
ssei = ((x*wi[:,None]+bi[:,None]-z)**2).sum(1)
ax.plot(bi,wi,ssei,'bo-')
mb,mw = np.meshgrid(np.linspace(0,3,201),np.linspace(0,1.2,201))
sse = ((x*mw.ravel()[:,None]+mb.ravel()[:,None]-z)**2).sum(1).reshape(201,-1)
ax.plot_surface(mb,mw,sse,rstride=5,cstride=5,alpha=0.2,color='b',edgecolor='k')

plt.figure(figsize=[10,5])
plt.pcolormesh(mb,mw,sse,norm=mpl.colors.LogNorm(),cmap='gnuplot')
plt.colorbar(pad=0.01)
plt.plot(bi,wi,'bo-')
plt.show()




จะเห็นว่าเส้นทางค่อยๆไต่ลงสู่พื้นที่ต่ำลงเรื่อยๆ โดยเคลื่อนลงสู่ร่องหุบเขาก่อนอย่างรวดเร็ว จากนั้นยังเคลื่อนที่ภายในร่องต่อ การเคลื่อนที่ในร่องจะเป็นไปอย่างช้าเพราะความต่างของความชันภายในร่องค่อนข้างต่ำ แต่สุดท้ายก็จะลงสู่ส่วนลึกสุดภายในร่อง

จำนวนครั้งที่ทำซ้ำนั้นยิ่งเยอะก็ยิ่งทำให้ค่าเข้าใกล้ส่วนต่ำสุด แต่ยิ่งเข้าใกล้อัตราการเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งลดลง เราอาจจะเขียนโปรแกรมโดยกำหนดให้ทำซ้ำจนกว่าการเปลี่ยนแปลงจะน้อยจนถึงค่าหนึ่งแทนที่จะกำหนดเป็นจำนวนที่ทำซ้ำก็ได้

เราอาจกำหนดเกณฑ์ในการให้หยุดโดยให้หยุดเมื่อค่า SSE เปลี่ยนแปลงน้อยมากก็ได้ แต่ในที่นี้จะใช้การเปลี่ยนแปลงค่า w และ b เป็นตัวกำหนด

เช่น ลองกำหนดให้หยุดเมื่อทั้งค่า w และ b เปลี่ยนแปลงน้อยกว่า 0.0000001 จะเขียนได้แบบนี้
eta = 0.0002
n_thamsam = 100000
d_yut = 1e-7 # ค่าความเปลี่ยนแปลงน้ำหนักและไบแอสสูงสุดที่จะให้หยุดได้
w,b = 0,0
h = w*x+b
for i in range(n_thamsam):
    dw = 2*((z-h)*x).sum()*eta
    db = 2*(z-h).sum()*eta
    w += dw
    b += db
    h = w*x+b
    if(np.abs(dw)and np.abs(db)<d_yut):
        break # หยุดเมื่อทั้ง dw และ db ต่ำกว่า d_yut

print('ทำซ้ำไป %d ครั้ง dw=%.3e, db=%.3e'%(i,dw,db))
# ทำซ้ำไป 7064 ครั้ง dw=-5.006e-09, db=9.993e-08

ที่ยังต้องกำหนดจำนวนครั้งสูงสุดไว้ก็เผื่อว่าคำตอบจะไม่ลู่เข้า แบบนั้นก็จะกลายเป็นวนทำซ้ำไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะไม่ใช่ว่าการเรียนรู้จะราบรื่นเสมอไป บางทีคำตอบอาจไม่ได้ลู่เข้าก็เป็นได้ เช่นกรณีที่กำหนดค่าอัตราการเรียนรู้สูงเกินไป

เช่น ลองใช้โจทย์ข้อเดิมแต่ปรับ eta ให้สูงขึ้น แล้วลองทำซ้ำดูแค่ ๑๐ ครั้ง จากนั้นดูค่า w, b และ SSE ที่เปลี่ยนแปลงไป
eta = 0.0003
n_thamsam = 10
w,b = 0,0
wi = [w]
bi = [b]
h = w*x+b
for i in range(n_thamsam):
    w += 2*((z-h)*x).sum()*eta
    b += 2*(z-h).sum()*eta
    wi += [w]
    bi += [b]
    h = w*x+b

bi = np.array(bi)
wi = np.array(wi)
plt.figure(figsize=[8,8])
ax = plt.axes([0,0,1,1],projection='3d',xlabel='b',ylabel='w',zlabel='SSE')
ssei = ((x*wi[:,None]+bi[:,None]-z)**2).sum(1)
ax.plot(bi,wi,ssei,'bo-')
mb,mw = np.meshgrid(np.linspace(bi.min(),bi.max(),201),np.linspace(wi.min(),wi.max(),201))
sse = ((x*mw.ravel()[:,None]+mb.ravel()[:,None]-z)**2).sum(1).reshape(201,-1)
ax.plot_surface(mb,mw,sse,rstride=5,cstride=5,alpha=0.2,color='b',edgecolor='k')
plt.show()



จะเห็นว่าคราวนี้ยิ่งทำซ้ำไปค่าก็ยิ่งสูงขึ้น (ภาพนี้จุดเริ่มต้นอยู่ด้านล่างสุด ไม่ใช่ด้านบน)

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะพออัตราการเรียนรู้สูงเกินไปพอปรับค่าน้ำหนักไปทีหนึ่งก็โดดแรงไปจนข้ามร่องไปยังส่วนที่สูงขึ้นของฝั่งตรงข้าม ยิ่งปรับยิ่งโดดข้ามไปข้ามมาจนสูงขึ้นเรื่อยๆแทนที่จะลดลง

ดังนั้นการกำหนดอัตราการเรียนรู้ให้ต่ำเอาไว้อาจปลอดภัยกว่า แต่ก็ทำให้จำนวนครั้งที่ทำซ้ำมากขึ้นตาม ต้องใช้เวลานานในการเข้าถึงคำตอบ

ในเทคนิคการเคลื่อนลงตามความชันแบบธรรมดาดั้งเดิม อัตราการเรียนรู้จะเป็นค่าคงที่ตลอดการเรียนรู้ แต่ปัจจุบันมีคนคิดวิธีการที่ปรับปรุงขึ้นมามากมาย เช่น AdaGrad, AdaDelta, Adam, ฯลฯ ซึ่งก็มีพื้นฐานเหมือนกันคือต้องคำนวณค่าความชันเพื่อปรับค่าน้ำหนักและไบแอส แต่ต่างกันที่ว่าอัตราการเรียนรู้จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยอาศัยวิธีคิดต่างๆ

รายละเอียดตรงนี้จะยังไม่พูดถึง การปรับปรุงวิธีการเคลื่อนลงตามความชันอาจเขียนถึงในโอกาสหน้า



เท่านี้ก็พอจะสามารถแก้ปัญหาการถดถอยเชิงเส้นแบบหนึ่งมิติได้แล้ว ตอนต่อไปจะเขียนต่อยอดไปเป็นการแก้ปัญหาการถดถอยเชิงเส้นแบบหลายมิติต่อไป อ่านต่อได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20161212



อ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> ปัญญาประดิษฐ์
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文