φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ฤดูใบไม้ร่วงในสวนเคนโรกุเอง สวนญี่ปุ่นเก่าแก่ชื่อดังกลางเมืองคานาซาวะ
เขียนเมื่อ 2018/11/30 00:15
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
# พฤหัส 1 พ.ย. 2018

หลังจากที่ตอนที่แล้วได้เดินตามรอยฮานะซากุอิโรฮะตามสถานที่ส่วนหนึ่งในเมืองคานาซาวะไป https://phyblas.hinaboshi.com/20181129

ตอนนี้ก็มาเดินต่อ เป้าหมายต่อไปคือที่สวนเคนโรกุเอง (兼六園) และ ปราสาทคานาซาวะ (金沢城)

ตอนแรกก็ยังยังเลว่าควรจะแวะปราสาทคานาซาวะหรือสวนเคนโรกุเองก่อน เพราะอยู่ติดกัน แต่ว่าพอพิจารณาตามตำแหน่งของสถานที่ที่จะไปต่อแล้ว เดินสวนเคนโรกุเองก่อนแล้วค่อยไปทะลุปราสาทน่าจะสะดวกกว่า จึงตัดสินใจแวะก่อน

เคนโรกุเองเป็นสวนญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อของคานาซาวะ มีขนาด ๐.๑๑๗ ตร.กม.เป็นหนึ่งในสามสวนขึ้นชื่อของญี่ปุ่น (日本三名園) ซึ่งอีก ๒ แห่งคือ สวนไครากุเอง (偕楽園) ที่เมืองมิโตะ (水戸市) จังหวัดอิบารากิ (茨城県) และสวนโควรากุเอง (後楽園) ที่ข้างๆปราสาทโอกายามะ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยไปมา https://phyblas.hinaboshi.com/20130203

สวนนี้สร้างขึ้นในปี 1676 โดยมาเอดะ ทสึนาโนริ (前田 綱紀) ผู้ครองแคว้นคางะ (加賀藩) รุ่นที่ ๔ โดยแรกเริ่มสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศซึ่งมีสวนรายล้อม นั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสวนนี้

จนถึงปัจจุบันสวนนี้ก็ยังคงอนุรักษ์ลักษณะของสวนสมัยเอโดะเหลือไว้ให้เห็นอยู่เป็นอย่างดี

ชื่อเคนโรกุเองนั้นคำว่า "เคง" (兼) แปลว่า "มีหลายสิ่งอยู่ด้วยกัน" และ "โรกุ" (六) แปลว่า "หก" ส่วน "เอง" (園) แปลว่า "สวน" ดังนั้นความหมายคือ "สวนที่มีหกสิ่งอยู่ด้วยกัน"

หกสิ่งที่ว่านั้นก็คือ ความไพศาล, ความลึกล้ำ, น้ำพักน้ำแรง, ความโบราณ, น้ำพุ, การชมทิวทัศน์ (宏大・幽邃・人力・蒼古・水泉・眺望) ซึ่งได้ถูกบรรยายไว้ใน "บันทึกสวนมีชื่อแห่งลั่วหยาง" (洛陽名園記) โดยหลี่เก๋อเฟย์ (李格非) กวีสมัยยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋, ปี 960-1127)

ความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของที่นี่ในรอบปี แต่ละฤดูมีเสน่ห์ในตัวเอง ช่วงที่ไปนี้เป็นฤดูใบไม้ร่วงภายในบริเวณจึงกำลังมีใบไม้เปลี่ยนสีสวยงาม น่าเดินมากขึ้นกว่าปกติ

นอกจากนี้ที่นี่ยังมีชื่อเสียงเรื่องความสวยงามในฤดูหนาวด้วย เพราะพื้นที่แถบภูมิภาคนี้หิมะตกง่ายเป็นปกติ เมื่อหิมะตกที่นี่จะสวยงามไปอีกแบบ



เราเดินทางมาจากตะวันออก เมื่อเดินตรงมาเรื่อยๆก็เจอถนนที่คั่นระหว่างปราสาทคานาซาวะและสวนเคนโรกุเอง



ตอนนี้เดินอยู่ฝั่งปราสาท ตรงนี้เป็นบ่อปลายโค่ยฝั่งตะวันออกของปราสาท ไม่มีทางให้เดินเข้าไปยังปราสาทจากตรงนี้



เดินมาสักพักก็เห็นสะพานลอยขนาดใหญ่ สะพานนี้คือสะพานอิชิกาวะ (石川橋) เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างสวนและปราสาท ดังนั้นถ้าเดินเที่ยวสวนก่อนเสร็จแล้วก็เดินเข้าปราสาทผ่านทางสะพานนั้นได้



แต่ลองดูแผนที่ซึ่งวางอยู่ตรงนี้แล้วจึงได้รู้ว่าจากบริเวณด้านหน้าปราสาทนี้ไม่มีทางที่จะขึ้นไปด้านบนเพื่อข้ามสะพานได้ ต้องเดินข้ามถนนไป



ระหว่างกำลังข้ามไปก็เห็นคนต่างชาติสองคนที่ค่อนข้างสูงอายุแล้วมาดูแผนที่แล้วสักพักก็เข้ามาถามทาง ตอนแรกใช้เป็นภาษาอังกฤษแต่พอรู้ว่าเป็นคนสิงคโปร์เลยเปลี่ยนมาเป็นภาษาจีน เขาเองก็กำลังหาทางเข้าปราสาทแล้วไม่รู้จะเข้าจากทางไหนเหมือนกัน อาจเข้าใจว่าเราเป็นคนท้องถิ่นเลยถามแต่เราก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจคือหลังจากสนทนากันไม่กี่คำเขาก็มองออกว่าเป็นคนไทย อาจจะเพราะสำเนียงที่พูด

เดินข้ามฝั่งไปทางสวนเคนโรกุเอง



แล้วก็ต้องเดินขึ้นไป ระหว่างทางฝั่งซ้ายเป็นย่านร้านค้า





แล้วก็มาถึงทางเข้าสวน อยู่ทางขวา



ถ้าหันกลับไปฝั่งตรงข้ามก็จะเป็นสะพานอิชิกาวะซึ่งจะพาข้ามไปปราสาทคานาซาวะ ตอนนี้ยังไม่ข้ามเพราะจะเดินในสวนก่อน แต่จะกลับมาข้ามหลังจากนี้



เดินเข้าไปยังทางเข้าสวน



ช่องขายตั๋ว ค่าตั๋วราคา ๓๑๐ เยน



เดินเข้าบริเวณสวน ประตูที่เข้าฝั่งนี้เป็นประตูเหนือ ชื่อว่าประตูคัตสึราซากะ (桂坂口)



เข้ามาแล้วก็เดินตรงมาเรื่อยๆ





ก็เจอสระน้ำกลางสวน ชื่อว่าคาสึมิงะอิเกะ (霞ヶ池)






ต้นไม้ที่นี่มีการกางเชือกไว้แบบนี้เพื่อไม่ให้กิ่งไม้หักเวลาเจอหิมะตอนฤดูหนาว วิธีการแบบนี้เรียกว่า "ยุกิตสึริ" (雪吊) การทำแบบนี้พบได้ทั่วไปในพื้นที่ต่างๆที่มีหิมะตกเยอะ เช่นในภูมิภาคนี้ แต่ยุกิตสึริของสวนเคนโรกุเองนี้มีชื่อเสียงเป็นพิเศษ โดยทั่วไปจะเริ่มกางในเดือนพฤศจิกายน และวันที่เราไปคือวันที่ 1 พ.ย. พอดี และได้ยินว่าเขาเพิ่งจะกางวันนั้นเลย ถือว่าจังหวะดีได้มาเห็น




ส่วนนี่คือเกาะกลางสระคาสึมิงะอิเกะ ชื่อว่าเกาะโฮวไร (蓬莱島)




เดินตรงต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้





รูปปั้นที่เห็นอยู่นี่คือสัญลักษณ์ที่ระลึกเมย์จิ (明治記念之標) เป็นรูปปั้นของยามาโตะ ทาเกรุ (ヤマト タケル) สูง ๕.๕ เมตร สร้างขึ้นในปี 1880 เพื่อเป็นที่ระลึกให้กับทหารที่ตายในสงครามเซย์นัง (西南戦争) ในปี 1877 ซึ่งเกิดจากกลุ่มกบฏในแคว้นซัตสึมะที่ต่อต้านรัฐบาลเมย์จิ



ทิวทัศน์เต็มไปด้วยต้นไม้และสระน้ำ






ตรงนี้เป็นเนิน เรียกว่าเขายามาซากิ (山崎山)




เดินลงจากเนินมาอีกทางเจอทางออกฝั่งตะวันออก เรียกว่าประตูโคดัตสึโนะ (小立野口) แต่เราไม่ได้เดินออกไปจากตรงนี้เพราะยังไม่ได้เดินจนทั่ว



เดินย้อนกลับเข้ามา ใกล้ปากทางออกมีหออุตสาหกรรมและช่างฝีมือพื้นบ้านประจำจังหวัดอิชิกาวะ (石川県立伝統産業工芸館)



ด้านในจัดแสดงผลงานฝีมือต่างๆที่ผลิตในจังหวัดอิชิกาวะ



แต่ว่าที่เปิดให้ชมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายคือชั้นล่างเท่านั้น ถ้าขึ้นไปชั้นบนจะมีค่าชม ก็เลยเดินดูแค่ชั้นล่าง



ตรงนี้จัดแสดงสึซึยากิ (珠洲焼) เป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตในเมืองสึซึ (珠洲市) ซึ่งอยู่สุดปลายคาบสมุทรโนโตะ




เดินย้อนมาอาคารที่อยู่ข้างๆคืออาคารเซย์ซงกากุ (成巽閣) เป็นอาคารเก่าที่สร้างขึ้นในปี 1863 โดยมาเอดะ นาริยาสึ (前田 斉泰) ผู้ครองแคว้นคางะรุ่นที่ ๑๓ เป็นอาคารเก่าที่มีเอกลักษณ์ของตระกูลมาเอดะ



การจะเข้าไปชมมีค่าเข้าชม ๗๐๐ เยนจึงไม่ได้เข้าไป



เดินชมสวนส่วนที่เหลือต่อ





ตรงนี้คือศาลาชิงุเระเตย์ (時雨亭) เป็นสื่งก่อสร้างที่สร้างในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๘ แต่ถูกทำลายในสมัยเมย์จิ และปี 2000 เพิ่งจะสร้างจำลองขึ้นมาแทน



ชิงุเระเตย์มีปรากฏในโปสเตอร์ภาพประกอบอนิเมะฮานะซากุอิโรฮะที่เอาตัวละครมายืนตามสถานที่เที่ยวต่างๆ คนที่ยืนประกอบฉากที่นี่คือนาโกะ เสียดายว่าตอนแรกไม่รู้เลยไม่ได้หามุมถ่ายให้ได้ภาพมุมเดียวกัน ได้แค่พอใกล้เคียง




จากนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษแล้ว จากตรงนี้ก็เดินต่อไปยังประตูคัตสึราซากะซึ่งเป็นประตูเหนือซึ่งเข้ามาตอนแรกเพื่อจะข้ามไปปราสาทคานาซาวะต่อไป

ระหว่างทางก็ยังเดินผ่านบริเวณสวยๆที่ยังไม่ผ่าน









เดินวนรอบสวนจนกลับมาออกประตูเดิมเป็นอันสิ้นสุดการชมสวนสวยๆแห่งนี้ เวลาที่ใช้ไปทั้งหมดคือ ๕๐ นาที ที่จริงสวนก็ไม่ได้ใหญ่มาก แต่เดินเพลินๆชมทิวทัศน์ที่สวยงามไปเรื่อยๆก็กินเวลาถึงขนาดนี้โดยไม่รู้ตัว

ตอนต่อไปจะข้ามไปชมปราสาทคานาซาวะ https://phyblas.hinaboshi.com/20181201



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> อิชิกาวะ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文