φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ร่วมงานประชุมวิชาการความร่วมมืองานวิจัยดาราศาสตร์ระหว่างจีนสองฟากฝั่งที่เมืองอูหลู่มู่ฉี ซินเจียง 12-16 ส.ค. 2019
เขียนเมื่อ 2019/08/18 12:07
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
# จันทร์ 12 ส.ค. 2019

ที่มหาวิทยาลัยที่ไต้หวันมีความร่วมมือทางการวิจัยกับทางจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ มักมีการติดต่อประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรื่องงานวิจัยอยู่เสมอ

ครั้งนี้อาจารย์ที่ปรึกษาเราก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนทางดาราศาสตร์ระหว่างสองฝั่ง ซึ่งจัดที่จีนแผ่นดินใหญ่ เลยชวนให้ไปด้วย ไปกับนักศึกษาอีกคนที่เรียนอยู่ด้วยกัน

สถานที่จัดที่เมืองอูหลู่มู่ฉี (乌鲁木齐市wū lǔ mù qí shì) เมืองเอกของเขตปกครองตัวเองซินเจียงอุยกูร์ (新疆维吾尔自治区xīn jiāng wéi wú ěr zì zhì qū)

เวลาคือ 12~16 สิงหาคม 2019 รวม ๕ วัน ๔ คืน แต่ว่าวันแรกเป็นวันเดินทางถึง และวันสุดท้ายเป็นวันเดินทางกลับ กิจกรรมหลักจริงๆคือ ๓​ วันตรงกลาง

งานนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลี่กั๋วติ่ง (利国鼎科技发展基金会lǐ guó dǐng kē jì fā zhǎn jī jīn huì, 李國鼎科技發展基金會ㄌㄧˇㄍㄨㄛˊㄉㄧㄥˇㄈㄚㄓㄢˇㄐㄧㄐㄧㄣㄏㄨㄟˋ) ของไต้หวัน โดยได้รับความร่วมมือกับทางหอดูดาวซินเจียง (新疆天文台xīn jiāng tiān wén tái) ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม

หอดูดาวซินเจียง เป็นองค์กรหนึ่งทางด้านดาราศาสตร์ของจีนแผ่นดินใหญ่ สำนักงานใหญ่หอดูดาวตั้งอยู่ในย่านกลางเมืองอูหลู่มู่ฉี

ตำแหน่งที่ตั้งของหอดูดาวซินเจียง พื้นที่สีส้มคือดินแดนซินเจียงทั้งหมด ส่วนสีแดงคือเมืองอูหลู่มู่ฉี



ส่วนตัวหอดูดาวตั้งอยู่ที่อื่นๆนอกเมืองภายในอาณาบริเวณซินเจียง ซึ่งครั้งนี้เขาก็มีการพาพวกเราไปชมหอดูดาวตรงนั้นด้วย

หอดูดาวที่ได้มีโอกาสไปชมในเที่ยวนี้มี ๒ แห่ง

ที่แรกคือ สถานีสังเกตการณ์หนานซาน (南山观测站nán shān guān cè zhàn) อยู่ทางใต้ของตัวเมืองอูหลู่มู่ฉี ละติจูด ๔๓.๓๗ เหนือ ลองจิจูด ๘๗.๑๘ ตะวันออก

และอีกที่คือ สถานีสังเกตการณ์ฉีไถ (奇台观测站qí tái guān cè zhàn) ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จแต่เขาก็เปิดให้เข้าไปดูสภาพระหว่างก่อสร้าง สถานที่ตั้งอยู่ในอำเภอฉีไถ (奇台县qí tái xiàn) ของจังหวัดปกครองตัวเองชนชาติหุยชางจี๋ (昌吉回族自治州chāng jí huí zú zì zhì zhōu) อยู่ทางตะวันออกของเมืองอูหลู่มู่ฉี

หอดูดาวซินเจียงนี้มีความร่วมมือกับทางไต้หวัน มีนักวิจัยไต้หวันบางคนใช้หอดูดาวที่นี่ และตีพิมพ์ผลงานด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความสามัคคีระหว่างจีนทั้งสองฝั่ง

งานนี้โดยหลักแล้วเป็นการประชุมวิชาการ โดยผู้ร่วมงานออกมาพูดบรรยายนำเสนองานวิจัยของตัวเองคนละ ๔๐ นาที (รวมเวลาถามตอบคำถาม) ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ที่ออกมาพูดนี้เป็นงานที่ร่วมมือกันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน ผู้พูดเป็นคนจากทั้ง ๒ ฝั่ง สลับกันไป

หัวข้อที่ออกมาพูดก็มีอยู่หลากหลาย ทั้งด้านสังเกตการณ์และด้านทฤษฎี สำหรับงานวิจัยที่เราไปนำเสนอครั้งนี้เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ



กำหนดการโดยรวม

- 12 ส.ค. - เดินทางจากไต้หวันถึงอูหลู่มู่ฉีตอนเช้า ตอนบ่ายไปชมสถานีสังเกตการณ์หนานซาน
- 13 ส.ค. - นำเสนองานวิจัย
- 14 ส.ค. - นำเสนองานวิจัย
- 15 ส.ค. - ไปชมสถานีสังเกตการณ์ฉีไถ
- 16 ส.ค. - เดินทางกลับไต้หวัน

งานประชุมจัดที่โรงแรมปิโตรเลียมตะวันตกเฉียงเหนือ (西北石油酒店xī běi shí yóu jiǔ diàn, ซีเป่ย์สือโหยวจิ่วเตี้ยน) อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า สถานีเถี่ยลู่จวี๋ (铁路局站tiě lù jú zhàn) ไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่หอดูดาวซินเจียง

และที่นี่ยังเป็นโรงแรมที่ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เข้าพักด้วย พวกที่มาจากไต้หวันพักที่นี่ทั้งหมด อีกทั้งในโรงแรมมีบริการอาหารทั้ง ๓ มื้อ ดังนั้นจึงแทบไม่ต้องออกไปไหนไกลเลย

โรงแรมนี้เป็นโรงแรมระดับหรู ค่าพักถือว่าแพง แต่ว่าพวกเรามาในนามของนักศึกษาทางมหาวิทยาลัย ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยย่อมออกให้เลยไม่ต้องกังวลนัก

อูหลู่มู่ฉีแม้ว่าจะเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกล แต่ก็เจริญมากเหมือนเมืองหลักๆของจีน สมกับที่เป็นเมืองเอกของเขตปกครอง มีรถไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้สร้างเสร็จไปแล้ว ๑ สาย เชื่อมระหว่างใจกลางเมืองและจุดสำคัญต่างๆ รวมถึงสนามบินนานาชาติ

การเดินทางในครั้งนี้ไปโดยสายการบินจีนใต้ (中国南方航空zhōng guó nán fāng háng kōng) ขาไป 12 ส.ค. 2019 รอบเที่ยวบินตรง ไทเป>อูหลู่มู่ฉี 01:20 ~ 07:15

ส่วนขากลับ 16 ส.ค. 2019 ไม่มีเที่ยวบินตรง ต้องเปลี่ยนเครื่องที่เมืองเจิ้งโจว (郑州市zhèng zhōu shì) มณฑลเหอหนาน เที่ยวบิน อูหลู่มู่ฉี>เจิ้งโจว 09:30 ~ 13:15 และ เจิ้งโจว>ไทเป 18:35 ~ 21:25

ตอนที่เปลี่ยนเครื่องที่เจิ้งโจวมีเวลา ๕ ชั่วโมงกว่า ซึ่งพอที่จะแวะเที่ยวชมเมืองสักพักด้วย



ซินเจียงนั้นมีประชากรส่วนมากเป็นชาวอุยกูร์ (ئۇيغۇر, Уйғур) หรือเรียกในภาษาจีนว่า เหวย์อู๋เอ่อร์ (维吾尔wéi wú ěr) ซึ่งเป็นชนเผ่ากลุ่มเดียวกับประเทศในเอเชียกลาง นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก ทั้งหน้าตาและวัฒนธรรมแตกต่างจากคนจีนทั่วไปมาก มีภาษาของตัวเองคือภาษาอุยกูร์ ซึ่งเขียนด้วยอักษรอาหรับ

แต่เมื่อจีนได้ปกครองดินแดนซินเจียงแห่งนี้ก็มีคนจีนฮั่นและเผ่าอื่นๆเข้ามาอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ ทำให้ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนจีนฮั่น และดูไม่ต่างจากเมืองทั่วๆไปในจีนมากนัก

จุดเด่นที่พอจะเห็นได้ในซินเจียงก็คือ ป้ายต่างๆส่วนใหญ่จะกำกับภาษาอุยกูร์ซึ่งเขียนด้วยอักษรอาหรับไว้ เพียงแต่ว่าก็ไม่ได้มีทุกที่ ยังไงภาษาจีนก็ยังมากกว่าและเขียนตัวใหญ่เด่นกว่า

ดังนั้นหากใครหวังว่ามาอูหลู่มู่ฉีแล้วจะได้สัมผัสบรรยากาศวัฒนธรรมชาวอุยกูร์ก็อาจจะผิดหวังสักหน่อย ที่นี่มีความเป็นจีนมากกว่า

สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอุยกูร์ก็มีเช่นกัน แต่ครั้งนี้เราไม่มีเวลาที่จะแวะไปเที่ยวในเมืองเลย เมืองนี้มีขนาดใหญ่และสถานที่เที่ยวหลักก็อยู่ไกลจากโรงแรมที่พัก

ซินเจียงเป็นเขตการปกครองที่ใหญ่ที่สุดในจีน แต่ก็มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ประชากรเบาบาง

บริเวณที่ตั้งเมืองอูหลู่มู่ฉีนั้นเป็นพื้นที่ทางเหนือของทะเลทราย แม้จะค่อนข้างแห้งแล้ง แต่ก็มีความอุดมสมบูรณ์กว่าบริเวณโดยรอบ มีธรรมชาติสวยงาม

ความพิเศษสุดของที่นี่ก็คือการที่ใช้นาฬิกาเวลาเดียวกับจีนฝั่งตะวันออก ทั้งๆที่ลองจิจูดต่างกันมากถึง ๓๐ องศา ซึ่งหมายความว่านาฬิกาเร็วกว่าเวลาที่ควรเป็นจริงๆตามพระอาทิตย์ไป ๒ ชั่วโมง

ซินเจียงนับเป็นสถานที่ที่ใช้นาฬิกาเวลาต่างจากเวลาดวงอาทิตย์จริงมากที่สุดในโลก เวลาเที่ยงจริงๆของพวกเขาคือบ่ายสองโมง

แม้นาฬิกาจะไม่ได้ช้าไปตามพระอาทิตย์ แต่กิจกรรมของมนุษย์นั้นโดยธรรมชาติแล้วก็ยังต้องอ้างอิงพระอาทิตย์เป็นหลัก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้ชีวิตของผู้คน รวมทั้งเวลาทำการของสถานที่ต่างๆที่นี่นั้นจะช้ากว่าปกติไป ๒ ชั่วโมง เช่นกินข้าวเที่ยงตอนบ่ายสองโมง

ดังนั้นการได้มาเยือนซินเจียงครั้งนี้ถือว่าเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ ผู้คนที่นี่ได้แสดงให้เห็นว่าต่อให้เวลาในนาฬิกาจะแปลกประหลาดไปแค่ไหนก็ยังใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ



ไปถึงสนามบินนานาชาติเถาหยวนก่อนห้าทุ่ม เช็กอิน ฝากสัมภาระขนขึ้นเครื่อง แล้วเข้าไปที่ห้องรอเครื่อง

ตอนตรวจสัมภาระติดตัวเพื่อนที่มาด้วยเจอปัญหาเพราะเผลอพกกรรไกรติดไปกับกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง เลยโดนยึดไป ใครเผลอพกของมีคมต้องระวังด้วย ให้ใส่ไว้ในสัมภาระที่ฝากขึ้นเครื่อง พกติดตัวไม่ได้

จากนั้นก็มาขึ้นเครื่อง เครื่องบินออกตรงตามเวลา เข้าไปสั่งสักพักก็มีน้ำและอาหารมาส่ง ตอนแรกก็คิดว่าเวลาแบบนี้ไม่น่าจะมีอาหารแล้ว และที่จริงไม่คิดว่าจำเป็นจะต้องกิน แต่ดูเหมือนว่าแม้จะเป็นเที่ยวบินรอบเวลาดึกแบบนี้ แต่ขึ้นไปถึงก็มีอาหารบนเครื่อง



เครื่องเป็นแบบขนาดใหญ่ ที่นั่งมีหน้าจอสำหรับดูหนังฟังเพลง หรือใช้เพื่อดูเส้นทางการบิน อันนี้เป็นเส้นทางการบินจากไทเปไปยังอูหลู่มู่ฉี ถ่ายตอนกำลังจะถึงแล้ว



หลังจากกินมื้อดึกเสร็จก็นอนหลับข้ามคืนบนเครื่อง แล้วเครื่องก็บินมาถึงที่หมาย สนามบินนานาชาติอูหลู่มู่ฉีตี้วอพู่ (乌鲁木齐地窝堡国际机场wū lǔ mù qí dì wō pù guó jì jī chǎng) อยู่ในตำบลตี้วอพู่ (地窝堡乡dì wō pù xiāng) ห่างไปทางเหนือของตัวเมืองอูหลู่มู่ฉี อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก แถมยังมีรถไฟฟ้ามาถึงด้วย จึงเดินทางสะดวก

เครื่องไปถึงก่อนเวลามากพอสมควร ตอนที่ไปถึงฟ้ากำลังจะสว่างพอดี



ลงเครื่องมา ก่อนอื่นต้องมาขึ้นรถเพื่อไปยังอาคาร




รอรับกระเป๋าสัมภาระตามสายพาน



เสร็จแล้วก็ออกมาข้างนอก รอคนมารับ เป็นคนจากทางหอดูดาวซินเจียง ออกมาต้อนรับอย่างดี




แล้วก็เดินออกนอกอาคารไปขึ้นรถที่เขาเตรียมมารับ



เดินทางไปโรงแรมปิโตรเลียมตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทั้งโรงแรมที่ให้พัก และเป็นสถานที่จัดงาน



เข้ามาข้างในก็เห็นได้ชัดว่านี่เป็นโรงแรมระดับไม่เบา ด้านในตกแต่งสวยงามดี



เพดานเป็นกระจก มองทะลุขึ้นไปเห็นท้องฟ้าได้



ห้องพักก็อย่างดี ถ้าไม่ใช่ว่าทางมหาวิทยาลัยช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ก็คงไม่สามารถพักในที่แบบนี้ได้เอง



ห้องอยู่ชั้น ๕ มองลงไปพอเห็นทิวทัศน์รอบๆได้



หลังจากเข้าห้องไปวางสัมภาระเสร็จแล้วก็ลงมากินอาหารเช้าที่ร้านอาหารชั้น ๑ ทุกวันตลอดช่วงที่พักอยู่นี่ก็กินที่นี่ทั้งมื้อเช้าและเที่ยง แต่ว่าอาหารจะต่างกันออกไป




มื้อเช้าก็มีพวกขนมปังและปาท่องโก๋เป็นหลัก





พวกอาหารมีชื่อภาษาอังกฤษแปะอยู่ แต่หลายอันแปลภาษาอังกฤษออกมาแปลกๆ เช่นอันนี้คือส่านจึ (馓子sǎn zi) เป็นขนมคล้ายๆปาท่องโก๋





มื้อเที่ยงก็ลงมากินที่โรงอาหารเดิม




อาหารสำหรับมื้อเที่ยงก็ยังเจอพวกที่ชื่อแปลออกมาแปลกๆอีกมากมาย




กานกัวโหยวหยวีซวี (干锅鱿鱼须gān guō yóu yù xū) ปลาหมึกกระทะแห้งต้องเป็น ??



กินเสร็จออกไปเดินเล่นรอบๆแถวๆโรงแรมสักพัก แดดออกจ้า ร้อนอยู่ แต่ก็ไม่ได้ร้อนมาก







เดินเล่นไปสักพักก็กลับมาที่โรงแรมก่อนเวลา 15:30 ที่นัดไว้เล็กน้อย หลังจากนั้นคนจากหอดูดาวซินเจียงก็มาพาไปเยี่ยมชมหอดูดาวที่สถานีสังเกตการณ์หนานซาน ซึ่งจะเล่าถึงต่อในตอนหน้า https://phyblas.hinaboshi.com/20190819



แม้จะสั้นเพียงแค่ ๕ วัน แต่โดยรวมแล้วเป็นประสบการณ์ที่ดีมากทีเดียว

รู้สึกยินดีมากที่ได้มาร่วมงานที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน โดยเราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย ในฐานะผู้ร่วมงานคนเดียวในนี้ที่เป็นคนจีนโพ้นทะเล ทุกคนดูเป็นมิตรกันดี ร่วมมือกันทำงานวิจัย



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ซินเจียง
-- ดาราศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文