φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



นั่งรถไฟขบวนพิเศษยุเกมุริไปยังอิวาเดยามะ ชมพิพิธภัณฑ์ประสาทสัมผัส
เขียนเมื่อ 2024/02/03 23:32
แก้ไขล่าสุด 2024/02/04 19:07
# เสาร์ 3 ก.พ. 2023

วันนี้ได้ไปเที่ยวที่เมืองโอซากิ (大崎市おおさきし) ทางตอนเหนือของจังหวัดมิยางิ

แผนที่แสดงตำแหน่งเมืองโอซากิในจังหวัดมิยางิ แสดงเป็นสีชมพูเข้มพาดตัวเป็นแนวยาว




เมืองโอซากินี้เป็นเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจากการควบรวมหลายเมืองเข้าด้วยกันในปี 2006 โดยก่อนการควบรวมระหว่าง ๗ เมือง โดยมีใจกลางอยู่ที่เมืองฟุรุกาวะ (古河市ふるかわし) ซึ่งเป็นเมืองหลักใหญ่ที่สุด มีสถานีชิงกันเซงอยู่ด้วย

นอกจากนี้แล้วอีก ๖ เมืองเป็นเมืองเล็กๆ ได้แก่เมืองทาจิริ (田尻町たじりちょう) เมืองซัมบงงิ (三本木町さんぼんぎちょう), เมืองมัตสึยามะ (松山町まつやままち), เมืองคาชิมาได (鹿島台町かしまだいまち), เมืองอิวาเดยามะ (岩出山町いわでやままち) และ เมืองนารุโกะ (鳴子町なるこちょう)

โดยส่วนที่เดิมเป็นเมืองนารุโกะนั้นเป็นสถานที่ชมใบไม้เปลี่ยนสีขึ้นชื่อ เราได้เคยไปเที่ยวมาแล้ว เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20221030

ส่วนครั้งนี้ที่เราไปเที่ยวก็คือในส่วนที่เดิมเป็นเมืองอิวาเดยามะ ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สุดในจำนวนนี้ เพราะเป็นที่ตั้งของปราสาทอิวาเดยามะ (岩出山城いわでやまじょう) ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการปกครองพื้นที่แถบนี้โดยตระกูลดาเตะมาในช่วงยุคเซงโงกุ ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ปราสาทเซนได

ดังนั้นอิวาเดยามะจึงเป็นอีกสถานที่เที่ยวที่น่าสนใจ และนอกจากจะมีปราสาทโบราณอยู่แล้วก็ยังมีสถานที่เที่ยวสมัยใหม่ด้วย นั่นคือพิพิธภัณฑ์ประสาทสัมผัส (感覚かんかくミュージアム) เปิดขึั้นในปี 2000 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องของประสาทสัมผัส ค่าเข้าชม ๖๐๐ เยน

ในการเที่ยวครั้งนี้เรานั่งรถไฟไปลงที่สถานีอิวาเดยามะ (岩出山駅いわでやまえき) ซึ่งเป็นสถานีหลักของเมืองอิวาเดยามะเดิม แล้วก็เดินไปชมพิพิธภัณฑ์ประสาทสัมผัส แล้วจึงไปยังปราสาทอิวาเดยามะ

รถไฟจากเซนไดไปยังอิวาเดยามะนั้นโดยปกติแล้วจะต้องไปต่อรถไฟที่สถานีโคโงตะ (小牛田駅こごたえき) แต่ว่าก็มีขบวนที่ตรงจากเซนไดแล้วพอถึงสถานีโคโงตะก็เลี้ยวแล้ววิ่งต่อไปทางตะวันตกต่อเลย โดยไม่ต้องเปลี่ยนรถ โดยมีขบวนแบบนั้นแค่ขบวนเดียวในวันนึง และมีเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดเท่านั้น เรียกว่าขบวนยุเกมุริ (けむり) เป็นขบวนแบบด่วนซึ่งข้ามสถานีระหว่างทางไปมาก การจะขึ้นต้องจ่ายค่ารถด่วนเพิ่มด้วย

รถไฟสายนี้วิ่งจากเซนไดไปยังเมืองชินโจว (新庄市しんじょうし) จังหวัดยามางาตะ โดยออกเวลา 9:37 ไปถึงตอน 12:37 ระหว่างทางผ่านอิวาเดยามะ ถึงตอนเวลา 10:58

ค่าเดินทางปกติจากเซนไดไปอิวาเดยามะคือ ๑๓๔๐ เยน และบวกค่ารถด่วนอีก ๕๓๐ ก็เป็นทั้งหมด ๑๘๗๐ เยน

ที่จริงแล้วครั้งนี้เราขึ้นโดยไม่ได้รู้ว่านี่เป็นรถด่วนที่ต้องจ่ายค่าเพิ่ม ก็เลยซื้อตั๋วธรรมดา แต่พอขึ้นไปนั่งแล้วเจ้าหน้าที่เรียกตรวจตั๋วจึงต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้ารู้ล่วงหน้าก็คงซื้อให้พร้อมตั้งแต่ที่เครื่องขายตั๋วดีกว่า



เริ่มจากตอนเช้าที่สถานีเซนได



ขบวนที่จะขึ้นอยู่ชานชลาหมายเลข ๔



เมื่อมาถึงรถไฟก็มาจอดอยู่แล้ว พอเห็นแล้วจึงได้รู้ว่าเป็นโบกี้แบบพิเศษ ออกแบบต่างจากขบวนรถทั่วไป ถูกทาสีเป็นแบบเก่า แบบนี้เรียกว่า เรโทแรปปิง (レトロラッピング)



ตัวขบวนมีแค่ ๒ โบกี้เท่านั้น เราลองเดินมาถ่ายที่ส่วนต้นขบวน มีเรื่องเล่าว่าระหว่างนั้นเจอคุณลุงคนนึงที่มากับหลานเล็กๆกำลังถ่ายอยู่แล้วไปเผลอบังเขา ทำให้โดนโกรธใส่จึงรีบขอโทษแล้วถอยห่างออกมาทันที เพิ่งเคยเจอแบบนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่อยู่ญี่ปุ่น เพราะปกติคนญี่ปุ่นค่อนข้างใจดี แต่ครั้งนี้เจอคนอารมณ์ฉุนเฉียว ซึ่งก็น่าจะเป็นส่วนน้อยแต่ไม่ว่าที่ไหนก็ย่อมมี ถ้าโชคไม่ดีก็เจอได้เหมือนกัน



จากนั้นรถไฟก็ออกตามเวลา เราก็เข้าไปนั่ง แล้วสักพักก็มีพนักงานเข้ามาตรวจตั๋ว จึงยื่นตั๋วธรรมดาราคา ๑๓๔๐ ให้ดู เขาก็บอกว่านี่เป็นรถด่วน ต้องจ่ายเพิ่มอีก จึงจ่าย ๕๓๐ เยนแล้วก็ได้ตั๋วสำหรับรถด่วนมาด้วย



ระหว่างทางรถก็ข้ามหลายสถานีแล้วก็มาจอดที่สถานีมัตสึชิมะ (松島駅まつしまえき) ในเมืองมัตสึชิมะ (松島町まつしままち) เป็นสถานที่เที่ยวชื่อดังของจังหวัดมิยางิที่เป็นที่รู้จักที่สุด แต่เรายังไม่เคยมีโอกาสได้แวะมาเที่ยวเลยสักที



จากนั้นก็มาจอดที่สถานีโคโงตะ เมืองมิซาโตะ (美里町みさとまち) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะต้องมาเปลี่ยนขบวนรถไฟที่นี่ แต่คราวนี้ไม่ต้อง นั่งบนรถไฟขบวนเดิมต่อไป



แล้วก็มาถึงสถานีฟุรุกาวะ (古川駅ふるかわえき) ซึ่งเป็นสถานีหลักของเมืองโอซากิ อยู่ใจกลางเมืองฟุรุกาวะเก่า ที่นี่มีชิงกันเซงจอดด้วย เราเคยนั่งผ่านมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยได้ลงที่สถานีนี้เลย ครั้งนี้ก็ไม่มีโอกาสได้แวะสถานีนี้ ได้แค่ผ่านไปเฉยๆ



หลังจากนั้นรถไฟก็มาหยุดนิ่งที่สถานีนิชิฟุรุกาวะ (西古川駅にしふるかわえき) ซึ่งจริงๆไม่ใช่สถานีที่จอดให้ลง แต่ว่ารถไฟมาจอดเพื่อรอสับรางกับรถไฟขบวนอื่นที่สวนมา




ภาพป้ายสถานีพร้อมกับสภาพด้านในขบวน



แล้วก็มาถึงสถานีอิวาเดยามะซึ่งเป็นเป้าหมาย ถ่ายภาพป้ายสถานี เห็นมีหิมะที่ยังตกค้างเหลืออยู่จากที่ตกไปวันก่อนด้วยเล็กน้อย



แผนที่แสดงสถานที่เที่ยวในเมืองนี้



ขบวนรถไฟนี้จอดแวะที่สถานีนี้อยู่สักพักจึงมีเวลาถ่ายภาพขบวนรถคู่กับตัวสถานี



ภาพป้ายสถานีพร้อมกับขบวนรถ



ตรงนี้มีเรื่องเล่าต่ออีกหน่วยว่าบังเอิญว่าลุงที่พาหลานมาคนเมื่อกี้ที่เจอที่สถานีเซนไดก็ลงมาแล้วถ่ายป้ายนี้อยู่ด้วยพอดีแล้วก็เกิดการบังกันขึ้นอีก คราวนี้เขาโกรธมากกว่าเดิมอีกแล้วก็ด่าใส่ด้วย ไม่คิดว่าจะโชคไม่ดีเจอคนเดิม ๒ ครั้ง ที่จริงเวลาเที่ยวแล้วเผลอบังกันตอนถ่ายรูปเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดได้บ่อยมาก น่าเป็นห่วงว่าถ้าต้องมาคอยหัวเสียทุกครั้งแบบนี้เขาจะเที่ยวได้อย่างสนุกหรือ

เรารีบหลีกทางแล้วก็ขอโทษแล้วรอดูอยู่สักพักนึงปรากฏว่าเขากลับขึ้นรถไฟไป ที่จริงแค่ลงมาเพื่อถ่ายภาพในสถานีนี้เท่านั้น ไม่ได้ลงสถานีนี้จริงๆ แบบนั้นก็คงไม่แปลกที่จะดูรีบเร่งฉุนเฉียว ยิ่งพาหลานเล็กๆมาด้วยสิ แต่ละคนก็มีเหตุผลของตัวเองอยู่แหละนะ แต่ถึงยังไงอยู่ดีๆโดนตวาดใส่แบบนั้นทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจก็ทำเอาเสียอารมณ์ไปเหมือนกัน กว่าจะดึงอารมณ์กลับมาได้ก็อีกสักพักใหญ่

หลังจากนั้นเราก็เดินขึ้นมาตรงทางข้ามรางรถไฟเพื่อข้ามไปยังทางออกจากชานชลา ระหว่างนั้นรถไฟก็ยังคงจอดอยู่ จึงสามารถถ่ายภาพขบวนรถไฟพร้อมกับชานชลาสถานี



ตอนที่ลงบันไดมาที่อีกฝั่ง รถไฟก็กำลังออกไปพอดี เลยได้ถ่ายภาพขบวนรถไฟเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะจากไป



จากนั้นก็ออกมาจากอาคารสถานี ภาพถ่ายด้านหน้าสถานี




ตรงนี้ก็มีแผนที่นำเที่ยวที่นี่



จากนั้นก็เดินไปภายในเมืองมุ่งสู่พิพิธภัณฑ์ที่เป็นเป้าหมายแรก



ระหว่างทางเจอแมวด้วย เลยเข้าไปใกล้แล้วถ่ายภาพมาได้ ก่อนที่มันจะวิ่งหนีไป ที่จริงในเซนไดแทบหาแมวไม่ได้เลยล่ะ แต่พอมาที่เมืองนี้กลับพบแมวได้ง่ายกว่า



ที่จริงแล้วเมื่อก่อนตอนที่มาเที่ยวนารุโกะก็เจอแมวเหมือนกัน ถ่ายรูปเก็บไว้ได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20221101

เดินมาไม่นานก็เจอป้ายที่ชี้บอกทางไปยังพิพิธภัณฑ์ประสาทสัมผัส



เดินไปตามทางเรื่อยๆ ระหว่างทางผ่านย่านเมืองแถวนี้ ดูเงียบเหงามาก

















แล้วก็มาถึงที่หมาย อาคารที่เห็นตรงหน้านี้เป็นสถานที่เลี้ยงเด็ก ส่วนตัวพิพิธภัณฑ์อยู่ด้านหลังนี้




ทางเข้า




ตัวอาคารนั้นทำเป็นรูปส่วนของครึ่งวงรี ทางเข้าด้านในอยู่ตรงนี้



ด้านหน้ามีเครื่องเล่นของเด็ก



เข้าไปด้านใน แล้วก็ซื้อตั๋วเข้าชม ๖๐๐ เยน



ภายในห้องโถงเดียวกับห้องขายตั๋วนั้นจัดแสดงพวกเครื่องดนตรีแปลกๆ





แล้วก็พื้นที่สำหรับนั่งเล่น



จากนั้นก็เข้าสู่บริเวณส่วนหลัก ซึ่งไม่สามารถถ่ายรูปได้ ก็เลยไม่สามารถเก็บภาพมาเล่าเรื่องได้ แต่ว่าด้านในก็ไม่ได้น่าสนใจอย่างที่คิด ไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาต้องการสื่อถึงอะไร

หลังจากเดินภายในส่วนจัดแสดงหลักจนจบก็ออกมาด้านนอก โผล่ตรงส่วนทางเดินที่เปิดเห็นด้านนอก โดยมีพื้นน้ำกั้นอยู่




หลังจากนั้นก็ย้อนกลับมาโผล่ที่ส่วนเครื่องดนตรี ในตอนนั้นเห็นคนอื่นเพียบเลย คาดว่าน่าจะมาเป็นกลุ่ม มีเด็กอยู่ด้วย แต่ละคนกำลังเล่นกันอย่างสนุก




นอกจากนี้ก็มีส่วนจัดแสดงงานศิลปะซึ่งเก็บอยู่ภายในลิ้นชักไม้



เปิดออกมาดูทีละลิ้นชักได้



ซูชิ



งู?



การชมภายในนี้ก็หมดแค่นี้ ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก เดินผ่านๆไม่นานก็เสร็จ จากนั้นก็ได้เวลาเดินออกไปเพื่อไปเที่ยวที่อื่นต่อ



มาเดินตรงลางกว้างกลางอาคารแล้วถ่ายตัวอาคารอีกทีก่อนไป



นอกจากนี้ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ยังเห็นแผ่นหินที่เขียนเพลงประจำโรงเรียนมัธยมต้นอิวาเดยามะ (岩出山中学校いわでやまちゅうがっこう) ไว้ด้วย



เสร็จจากตรงนี้เราก็เดินต่อไป เป้าหมายอีกแห่งคือปราสาทอิวาเดยามะ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักจริงๆของการมาเที่ยวที่นี่ https://phyblas.hinaboshi.com/20240204



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประเทศญี่ปุ่น >> มิยางิ
-- ท่องเที่ยว >> หิมะ
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> หอศิลป์
-- ท่องเที่ยว >> แมว

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文