φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ความน่าจะเป็นเบื้องต้นสำหรับเขียนโปรแกรม บทที่ ๑๑: การแจกแจงเบตากับความน่าจะเป็นของความน่าจะเป็น
เขียนเมื่อ 2020/07/28 22:07
แก้ไขล่าสุด 2024/10/03 19:37

ต่อจาก บทที่ ๑๐

ในบทนี้จะว่าด้วยเรื่องของความน่าจะเป็นแบบเบส์ และนำไปสู่เรื่องของการแจกแจงเบตา ซึ่งเป็นการแจกแจงความน่าจะเป็นของค่าต่อเนื่องอีกแบบหนึ่ง




ความน่าจะเป็นที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิธีคิดแบบเบส์

ก่อนที่จะเข้าเรื่องของการแจกแจงเบตาซึ่งเป็นหัวข้อหลัก ขอเริ่มอธิบายเรื่องความน่าจะเป็นแบบเบส์ ต่อจากที่ได้เขียนถึงไปในบทที่ ๓ โดยเริ่มจากยกตัวอย่าง

สมมุติว่าในโลกแฟนตาซีแห่งหนึ่งมีมังกรอยู่ 3 พันธุ์ ในที่นี้ขอตั้งชื่อว่าพันธุ์ α (อัลฟา), β (เบตา), γ (แกมมา) โดยที่สัดส่วนจำนวนเพศผู้กับเพศเมียต่างกันมาก คือ
  • พันธุ์ α: เพศผู้ 75% เพศเมีย 25%
  • พันธุ์ β: เพศผู้ 50% เพศเมีย 50%
  • พันธุ์ γ: เพศผู้ 25% เพศเมีย 75%
วันหนึ่งนักเดินทางคนหนึ่งกำลังผจญภัยในหุบเขาแล้วไปเจอรังไข่ของมังกรซึ่งมีไข่อยู่หลายใบเข้าโดยไม่รู้ว่าเป็นมังกรพันธุ์อะไร แต่จู่ๆไข่ใบหนึ่งก็ฟักขึ้นมาเป็นมังกรเพศเมีย ถามว่าตัวนี้น่าจะมีความน่าจะเป็นที่จะเป็นมังกรพันธุ์ α,β,γ อยู่แค่ไหน

โดยสมมุติว่าเราไม่มีข้อมูลมาก่อนด้วยว่าแถวนี้มีโอกาสเจอพันธุ์ไหนมากกว่ากัน จึงถือว่ามีโอกาสเจอเท่ากันหมด และทั้งไข่และตัวอ่อนก็หน้าตาเหมือนกันจึงแยกพันธุ์ไม่ออก จึงได้แต่ตัดสินจากเพศของไข่ที่ออกมา

เริ่มจากลองวาดภาพแบ่งพื้นที่ความน่าจะเป็นดูเหมือนอย่างที่แสดงในบทที่ ๓

ตอนแรกเมื่อไม่มีข้อมูลอะไร โอกาสเป็นทั้ง 3 พันธุ์มีเท่ากัน อย่างละ 1/3 ดังนั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน จากนั้นระบายสีตามสัดส่วนของเพศ โดยด้านบนสีน้ำเงินเป็นสัดส่วนของเพศผู้ ด้านล่างสีแดงเป็นของเพศเมีย สีแสดงถึงความน่าจะเป็นที่จะเจอเพศผู้หรือเพศเมีย



จากนั้นพอเราเห็นไข่มังกรออกมาเป็นเพศเมีย ก็ทำให้รู้แล้วว่าเป็นไปตามด้านล่าง ดังนั้นความน่าจะเป็นจึงกลายเป็น
  • พันธุ์ α: 1/3×1/4 = 1/12
  • พันธุ์ β: 1/3×1/2 = 1/6
  • พันธุ์ γ: 1/3×3/4 = 1/4
พื้นที่รวมตอนนี้เหลือแค่ 0.5 ของพื้นที่เดิม จากนั้นปรับความน่าจะเป็นให้รวมกันเป็น 1 โดยหารด้วย 0.5 ก็จะได้
  • พันธุ์ α: 1/6
  • พันธุ์ β: 1/3
  • พันธุ์ γ: 1/2
นำมาวาดภาพโดยปรับพื้นที่ใหม่ ตอนนี้ความน่าจะเป็นที่จะเป็นพันธุ์ γ เพิ่มขึ้นมาจนสูงสุด เพราะมีเพศเมียมากกว่า ส่วนความน่าจะเป็นที่จะเป็นพันธุ์ α ก็ต่ำลงมาก



ตอนนี้ความน่าจะเป็นที่จะเป็นแต่ละพันธุ์ต่าไงจากเดิมแล้ว คราวนี้ถ้าหากมีไข่อีกใบฟักขึ้น ความน่าจะเป็นที่จะออกมาเป็นเพศผู้เพศเมียก็จะกลายเป็นแบ่งแบบนี้



สมมุติว่าใบที่ 2 ฟักได้เพศผู้ คราวนี้ก็เขียนแบ่งพื้นที่ใหม่ตามสัดส่วนของพื้นที่ส่วนสีน้ำเงิน ตอนนี้กลายเป็นว่ามีเพศผู้เพศเมียอย่างละตัวแล้ว พันธุ์ β จึงมีความน่าจะเป็นมากสุดเพราะเป็นพันธุ์ที่มีเพศผู้กับเพศเมียเท่ากัน



ความน่าจะเป็นที่ใบต่อไปจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมียก็เปลี่ยนไปอีก ความน่าจะเป็นของใบที่ 3 จะเป็นแบบนี้



สมมุติว่าใบที่ 3 นี้ออกมาเป็นเพศผู้อีก คราวนี้จะกลายเป็นความน่าจะเป็นของพันธุ์ α สูงสุดแทน



พิจารณาความน่าจะเป็นของใบที่ 4 ต่อไปก็เป็นแบบนี้



สมมุติว่าครั้งที่ 4 นี้ออกมาเป็นตัวเมีย



ดูใบที่ 5 ต่อไป



สมมุติว่าครั้งที่ 5 นี้เป็นเพศเมียอีกแล้ว ความน่าจะเป็นก็เปลี่ยนไปเป็นแบบนี้



ดูความน่าจะเป็นของใบที่ 6 ต่อก็จะได้



สมมุติว่าตัวที่ 6 ฟักออกมาเป็นเพศเมียอีก ความน่าจะเป็นของก็จะกลายเป็นแบบนี้



แล้วก็ทำอย่างนี้ซ้ำๆไปเรื่อยๆเมื่อมีไข่มังกรฟักขึ้นมาอีก

จะเห็นว่าความน่าจะเป็นเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามข้อมูลที่เรามีอยู่ สิ่งที่เรารู้นั้นเปลี่ยนแปลงความน่าจะเป็นจากที่มีอยู่เดิม นี่คือหลักการความน่าจะเป็นของเบส์

อาจลองเขียนโปรแกรมไพธอนจำลองสถานการณ์ได้ดังนี้
# โอกาสที่จะได้เพศเมียของแต่ละพันธุ์
m = {'α':1/4,
     'β':1/2,
     'γ':3/4}

# ความน่าจะเป็นตั้งต้น
p = {'α':1/3,
     'β':1/3,
     'γ':1/3}

# เพศของไข่ที่ฟักออกมาตามลำดับ
khai = [1,0,0,1,1,1] # 0 เพศผู้, 1 เพศเมีย
for i in range(len(khai)):
    # ปรับค่าความน่าจะเป็นใหม่โดยแยกกรณีตามผลที่ได้ว่าเป็นเพศไหน
    if(khai[i]==1): # กรณีได้เพศเมีย
        p['α'] = p['α']*m['α']
        p['β'] = p['β']*m['β']
        p['γ'] = p['γ']*m['γ']
    else: # กรณีได้เพศผู้
        p['α'] = p['α']*(1-m['α'])
        p['β'] = p['β']*(1-m['β'])
        p['γ'] = p['γ']*(1-m['γ'])
    
    ppp = p['α']+p['β']+p['γ'] # ผลรวมใหม่หลังแบ่งใหม่
    # ปรับความน่าจะเป็นให้รวมกันได้ 1
    p['α'] /= ppp
    p['β'] /= ppp
    p['γ'] /= ppp
    print(p) # แสดงความน่าจะเป็นใหม่หลังปรับแล้วในแต่ละรอบ

ได้
{'α': 0.16666666666666666, 'β': 0.3333333333333333, 'γ': 0.5}
{'α': 0.30000000000000004, 'β': 0.4, 'γ': 0.30000000000000004}
{'α': 0.45000000000000007, 'β': 0.4, 'γ': 0.15000000000000002}
{'α': 0.2647058823529412, 'β': 0.47058823529411764, 'γ': 0.2647058823529412}
{'α': 0.1323529411764706, 'β': 0.47058823529411764, 'γ': 0.3970588235294118}
{'α': 0.05844155844155844, 'β': 0.4155844155844156, 'γ': 0.5259740259740261}

ผลจากตรงนี้สามารถเอาไปวาดเป็นภาพแบ่งพื้นที่ได้เป็นไปตามภาพข้างบน




ความน่าจะเป็นของความน่าจะเป็น

จากตัวอย่างเรื่องมังกรที่ยกมาข้างต้นนั้นจะเห็นความน่าจะเป็นที่จะได้เพศไหนเปลี่ยนไปตามพันธุ์ของมังกร พอดูผลที่ได้ว่าเป็นเพศไหนก็ทำให้ความน่าจะเป็นที่จะเป็นพันธุ์ไหนเปลี่ยนไปอีก แล้วก็ทำให้ความน่าจะเป็นที่จะเป็นแต่ละเพศเปลี่ยนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างข้างต้นนี้เป็นกรณีที่เรามีรูปแบบของคำตอบเตรียมไว้ในใจอยู่แล้ว คือตั้งต้นมาก็รู้ว่ามีมังกร 3 พันธุ์ที่มีลักษณะแบบนี้

แต่ปัญหาในชีวิตจริงส่วนใหญ่แล้วมักไม่ได้มีตัวเลือกคำตอบอย่างจำกัดแบบนี้ เช่นถ้ามังกรสามารถมีความน่าจะเป็นเพศผู้หรือเพศเมียมากแค่ไหนก็เป็นไปได้เราก็ไม่รู้อะไรมาก่อน แบบนั้นก็อาจจะพิจารณาว่าถ้ามีความน่าจะเป็นอยู่เท่าไหร่จะมีโอกาสได้เพศผู้เพศเมียมากแค่ไหน

แต่จริงๆแล้วความน่าจะเป็นเป็นค่าใดๆก็ได้ เป็นค่าแบบต่อเนื่อง ถ้าจะแบ่งจริงๆก็ควรจะได้เป็นอนันต์ส่วน ดังนั้นถ้าจะแบ่งจริงๆก็จะต้องแยกคิดเป็นอนันต์กรณี ลองนึกภาพว่าค่อยๆแบ่งย่อยละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆแบบนี้ จนเข้าใกล้อนันต์ส่วน



เมื่อลองมาคิดปัญหาเดิมเรื่องเพศของมังกรใหม่ แค่คราวนี้ไม่แบ่งเป็นพันธุ์ α β γ แล้วแต่มองว่าความน่าจะเป็นที่สัดส่วนเพศผู้เพศเมียจะเป็นเท่าไหร่นั้นมีค่าเท่าไหร่

วิธีการคำนวณอาจจะทำแบบเดียวกับตัวอย่างที่แล้วที่แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยคราวนี้แบ่งกรณีความน่าจะเป็นออกเยอะๆเป็นหลายๆค่า

แต่การจะแบ่งคิดเป็นอนันต์แบบนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่เราสามารถจำลองให้เห็นภาพใกล้เคียงโดยใช้การแบ่งเป็นจำนวนเยอะๆ

ในที่นี้ขอแสดงตัวอย่างโดยแบ่งค่าความน่าจะเป็นออกเป็น 0,0.01,0.02,...0.99,1 ทั้งหมด 101 ส่วน

หากลองคิดเหมือนตัวอย่างด้านบน แค่เปลี่ยนเป็นแบ่ง 101 ส่วนตามนี้ อาจเขียนโค้ดจำลองกรณีนี้ได้ดังนี้
n = 100 # จำนวนขีดที่จะแบ่ง
m = [i/n for i in range(n+1)] # สัดส่วนที่จะเป็นเพศเมียของแต่ละตัว
p = [1/(n+1)]*(n+1) # ความน่าจะเป็นตั้งต้นทั้ง 101 ตัว เริ่มแรกให้เท่ากันหมด โดยหารตามจำนวนช่วงที่แบ่ง เป็น 1/101

# เพศของไข่ที่ฟักออกมาตามลำดับ (ให้เหมือนตัวอย่างด้านบน)
khai = [1,0,0,1,1,1]
for i in range(len(khai)):
    # ไล่ปรับค่าความน่าจะเป็นของแต่ละกรณีไปตามผลที่ได้
    for t in range(n+1):
        if(khai[i]==1): # ถ้าได้เพศเมีย
            p[t] = p[t]*m[t]
        else: # ถ้าได้เพศผู้
            p[t] = p[t]*(1-m[t])
    
    p_ruam = sum(p) # รวมความน่าจะเป็นใหม่
    # หารด้วยความน่าจะเป็นรวมเพื่อให้รวมเป็น 1 เหมือนเดิม
    for t in range(n+1):
        p[t] /= p_ruam
    print(p) # แสดงความน่าจะเป็นหลังจากปรับแต่ละรอบ

ผลที่ได้แต่ละรอบจะได้ลิสต์ที่มีตัวเลขแสดงค่าความน่าจะเป็นของทั้ง 101 กรณี ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆในแต่ละรอบ ในที่นี้ขอละไว้ไม่แสดงผลเพราะยาวมาก แต่จะขอเอามาวาดเป็นกราฟแทน

หากเอาผลที่ได้มาวาดเป็นกราฟแสดงการแจกแจงความหนาแน่นของความน่าจะเป็น โดยให้แนวนอนเป็นค่าอัตราส่วนที่เป็นเพศเมีย แนวตั้งคือความน่าจะเป็นที่จะเป็นอัตราส่วนเท่านั้น ดังนั้นเริ่มแรกยังไม่รู้อะไรถือว่าความน่าจะเป็นที่จะเป็นแต่ละเพศมีค่าเท่ากันหมด แต่เมื่อตัวแรกออกมาเป็นเพศเมียก็จะวาดกราฟได้เป็นแบบนี้



ซึ่งก็สมเหตุสมผลว่าในเมื่อผลตัวแรกออกมาเป็นเพศเมีย หมายความว่าความน่าจะเป็นที่นี่จะเป็นมังกรที่มีสัดส่วนเพศเมียมากก็มากกว่า กราฟจึงเอียงไปทางนี้

หลังจากนั้นถ้าไข่ใบที่ 2 ออกมาเป็นเพศผู้ ความน่าจะเป็นก็กลายมาเป็นแบบนี้



หลังจากใบที่ 3 ออกมาเป็นเพศผู้



หลังจากใบที่ 4 ออกมาเป็นเพศเมีย



หลังจากใบที่ 5 ออกมาเป็นเพศเมีย



หลังจากใบที่ 6 ออกมาเป็นเพศเมีย



จะเห็นกราฟการแจกแจงความน่าจะเป็นของแต่ละกรณีความน่าจะเป็นซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามข้อมูลที่มีในแต่ละขั้นหลังจากที่เห็นผลแต่ละครั้ง

การแจกแจงที่ได้ตามตัวอย่างนี้เป็นลักษณะของการแจกแจงแจงเบตา (beta distribution)




การแจกแจงเบตา

เมื่อเราพิจารณาถึงเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่รู้ว่ามีความน่าจะเป็นอยู่เท่าไหร่ โดยดูจากผลลัพธ์ที่ออกมาโดยพิจารณาตามแนวคิดแบบเบส์ ความน่าจะเป็นที่จะมีความน่าจะเป็นเป็นค่านั้นๆจะมีลักษณะการแจกแจงเป็นฟังก์ชันเบตา

โดยเราจะได้ฟังก์ชันความหนาแน่นของความน่าจะเป็นของความน่าจะเป็นเป็นดังนี้


โดยที่ α-1 แทนจำนวนครั้งที่เกิดเหตุการณ์ที่พิจารณาขึ้นสำเร็จ และ β-1 แทนจำนวนครั้งที่เหตุการณ์ตามที่พิจารณานั้นเกิดขึ้นไม่สำเร็จ จากการทำการทดลอง (α-1)+(β-1) ครั้ง

หรือจะเปลี่ยนจากสำเร็จและล้มเหลวเป็นใช้คำว่าเป็นผลบวกกับผลลบก็ได้ หากเทียบกับในตัวอย่างเรื่องมังกรข้างต้นนี้ α-1 คือจำนวนครั้งที่มังกรออกมาเป็นเพศเมีย ส่วน β-1 คือจำนวนครั้งที่ได้มังกรเพศผู้

* อนึ่ง ให้ระวังว่าสูตรการแจกแจงได้กำหนดให้จำนวนครั้งเป็น α-1, β-1 ไม่ใช่เป็น α, β ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นแรกสุดจำนวนทดลองเป็น 0 ครั้งก็จะเป็น α=1, β=1 ไม่ได้เริ่มที่ 0

* และที่จริงแล้วค่าของ α,β ในการแจกแจงเบตานั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนเต็ม แต่ในที่นี้จะขอพิจารณาในกรณีแค่เป็นจำนวนเต็ม เพราะในที่นี้ α-1 และ β-1 แทนจำนวนครั้ง ซึ่งเป็นจำนวนเต็มอยู่แล้ว

ส่วน B(α,β) ในที่นี้คือฟังก์ชันเบตา ซึ่งเป็นค่าคงตัวที่ขึ้นกับค่าของห α และ β

ค่าของฟังก์ชันเบตาเมื่อ α และ β เป็นจำนวนเต็ม ฟังก์ชันเบตาจะคำนวณได้ว่า


หากลองวาดกราฟการแจกแจงเบตาที่ค่า α และ β ต่างๆจะได้เป็นลักษณะดังนี้



กรณี α=1,β=1 หมายถึงยังไม่ได้เริ่มทดลองอะไรไป กราฟจะเป็นเส้นตรงอยู่ที่ 1 คือทุกค่ามีโอกาสเท่ากันหมด

แต่เมื่อทดลองไปแล้ว 1 ครั้ง สำเร็จ 1 ครั้งก็จะได้ α=2,β=1 ก็เป็นกราฟเส้นตรงที่ไล่จาก 0 ขึ้นไป ในทางกลับกันถ้าล้มเหลวก็จะเป็น α=1,β=2 เป็นกราฟเส้นตรงที่เฉียงไปอีกทาง

จุดสูงสุดของกราฟจะเป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนครั้งที่ได้กับไม่ได้ เช่นถ้าทำ 3 ครั้ง ได้ 1 ครั้ง จุดสูงสุดก็ต้องอยู่ที่ 1/3 ถ้าได้ 2 ครั้งก็จะอยู่ที่ 2/3 เป็นต้น

นั่นคือจุดสูงสุดสามารถคำนวณได้จากค่า α,β เป็นดังนี้


จะเห็นว่ากรณีที่ผลได้ตามที่ต้องการและไม่ต้องการเป็นจำนวนเท่ากัน เช่น α=β=2, α=β=3 ค่าสูงสุดจะอยู่ตรงกลางของกราฟ แสดงว่าโอกาสที่ความน่าจะเป็นนั้นจะเป็น 0.5 มีมากที่สุด แต่การแจกแจงก็ต่างกันไป ยิ่ง α และ β ยิ่งไปกองอยู่ตรงกลางๆมากขึ้น

ส่วนค่าคาดหมายของการแจกแจงเบตาจะคำนวณได้เป็น





ว่าด้วยเรื่องการแจกแจงความน่าจะเป็นตั้งต้น

แนวคิดเรื่องความน่าจะเป็นแบบเบส์นั้นจะพิจารณาถึงเรื่องของความน่าจะเป็นก่อนหน้าและความน่าจะเป็นภายหลัง

ความน่าจะเป็นก่อนหน้าก็คือความน่าจะเป็นที่เรามีอยู่เดิมแล้วก่อนที่จะเริ่มทำการทดลอง

ซึ่งในตัวอย่างที่ผ่านมา ตอนแรกเริ่มไม่มีข้อมูลอะไรเลย จึงมองว่าการแจกแจงความน่าจะเป็นอยู่ที่ 1 เท่ากันทั้งหมด โดยทั่วไปสามารถมองได้ว่าเป็นการคาดการณ์ตั้งต้นที่ดูสมเหตุสมผลที่สุด

แต่จริงๆแล้วความน่าจะเป็นตั้งต้นนี้แล้วแต่คนกำหนด ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากเท่ากันหมดแบบนั้นเสมอไป หากเรามีข้อมูลบางอย่างที่ทำให้คิดว่าความน่าจะเป็นโน้มเอียงไปในทางค่อนข้างมาก การแจกแจงเริ่มต้นก็อาจเริ่มเอียงไปทางฝั่งขวาก่อนก็ได้ ซึ่งการคำนวณก็จะต่างไป

แต่การที่การแจกแจงความน่าจะเป็นจะออกมาในรูปของการแจกแจงเบตาแบบนี้ ความน่าจะเป็นตั้งต้นเองก็ต้องเริ่มจากการแจกแจงเบตา ซึ่งค่าที่แจกแจงเป็น 1 เท่ากันหมดก็คือกรณี α=1,β=1 เป็นการแจกแจงเบตารูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว

เมื่อทำการทดลองเพิ่มขึ้น การแจกแจงที่เปลี่ยนไปตามการทดลองแต่ละครั้งก็ยังคงเป็นฟังก์ชันเบตา โดยค่า α หรือ β ก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆตามจำนวนครั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

ดังนั้นการเริ่มต้นแจกแจงความน่าจะเป็นเท่ากันหมดแบบนี้นอกจากจะคิดง่ายแล้วก็ยังทำให้การแจกแจงหลังจากนั้นเป็นไปตามการแจกแจงเบตา

นอกจากนี้แล้ว แม้จะไม่กำหนดการแจกแจงความน่าจะเป็นตั้งต้นแบบเท่ากันหมด เราก็อาจกำหนดเป็นการแจกแจงเบตาที่ค่าเริ่มต้นที่ไม่ใช่ α=1,β=1 ก็ได้

เช่นถ้าเดิมทีคิดว่าความน่าจะเป็นที่จะสำเร็จได้ควรจะมากกว่าอยู่แล้ว อาจเริ่มจาก α=2,β=1 หรือถ้าคิดว่าโอกาสไม่ได้มากกว่าก็อาจเริ่มจาก α=1,β=2 ซึ่งก็จะเทียบเท่ากับความน่าจะเป็นในกรณีที่ทดลองไปแล้ว 1 ครั้ง แม้ว่าจริงๆเราจะยังไม่เริ่มทดลอง

หรือถ้ามองว่าความน่าจะเป็นที่จะได้กับไม่ได้นั้นควรจะมีพอๆกันอยู่แล้ว ยังไงคงไม่มีทางที่จะเป็น 0 หรือ 1 ไปได้ แบบนั้นอาจเริ่มที่ α=2,β=2 ซึ่งมีค่าสูงสุดที่ 0.5

จากตัวอย่างที่ยกมานี้ ทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าหลักความน่าจะเป็นแบบเบส์นั้นดูเป็นอะไรที่ขึ้นกับมุมมองของคน โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์และข้อมูลที่มี การแจกแจงความน่าจะเป็นตั้งต้นมีผลต่อผลการคำนวณต่อๆไป

ซึ่งตรงนี้จึงทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดความน่าจะเป็นแบบเบส์มองว่าดูเป็นอะไรที่เลื่อนลอย คลุมเครือ

อย่างไรก็ตาม ก็เป็นความจริงที่ว่าแนวคิดความน่าจะเป็นแบบเบส์นั้นถูกใช้เพื่อสรุปผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมเหตุสมผลมาแล้วมากมาย

คนเราวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆจากข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ ยิ่งมีข้อมูลมากก็ยิ่งจะทำนายได้แม่นยำมากขึ้น ในโลกยุคที่เราสามารถค้นข้อมูลข่าวสารมาวิเคราะห์ได้ง่ายเช่นตอนนี้ หลักความน่าจะเป็นแบบเบส์จึงได้ย่ิงแสดงผลงานให้เห็น และผู้คนก็มองเห็นความสำคัญมากยิ่งขึ้น




บทถัดไป >> บทที่ ๑๒



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คณิตศาสตร์ >> ความน่าจะเป็น
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文