φυβλαςのβλογ
phyblasのブログ



บันทึกความประทับใจ อาเตอลีเยของโรโรนา
เขียนเมื่อ 2014/08/30 21:45
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
>> ตอนที่ ๑ : นักเล่นแร่แปรธาตุฝึกหัด
>> ตอนที่ ๒ : สำรวจเหมืองแร่
>> ตอนที่ ๓ : ตำราโบราณ
>> ตอนที่ ๔ : เทศกาลกะหล่ำปลี
>> ตอนที่ ๕ : กำเนิดโฮมุนคูลุส
>> ตอนที่ ๖ : วิญญาณก็เปิดร้านขายของได้
>> ตอนที่ ๗ : อากาศร้อนแบบนี้ต้องไปเที่ยวทะเลสาบ
>> ตอนที่ ๘ : แข่งขันทำอาหาร
>> ตอนที่ ๙ (รอบแรก) : ระเบิดเป็นวัตถุอันตรายควรระวังในการใช้
>> ตอนที่ ๙ (รอบจริง) : ปราบมังกรหิมะแห่งที่ราบสูง
>> ตอนที่ ๑๐ : สำรวจดินแดนแห่งราตรี
>> ตอนที่ ๑๑ : ศิลานักปราชญ์และพายขั้นสุดยอด
>> ตอนที่ ๑๒ : ที่สุดของวิชาเล่นแร่แปรธาตุ
>> ตอนที่ ๑๓ : โทโทริและเมรุรุปรากฏตัว
>> ตอนที่ ๑๔ : กลับสู่อนาคต



หลังจากที่เขียนบันทึกการเล่นมาจนจบแล้ว คราวนี้ก็เลยอยากเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อเกมสักหน่อย



ที่มาที่ไป

เกมตระกูลอาเตอลีเยนี้ที่จริงรู้จักมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว และรู้สึกว่าน่าสนใจเพราะเป็นเกม RPG แบบที่ชอบและเกี่ยวกับชีวิตของสาวน้อยนักเล่นแร่แปรธาตุ มีเนื้อหาหลักอยู่ที่การออกผจญภัยต่อสู้และหาวัตถุดิบมาสร้างไอเท็ม
เนื้อเรื่องน่าสนใจดีไม่น้อยเลย แต่ไม่ได้ถึงขั้นจะทำให้ตัดสินใจเริ่มเล่นเพราะอยู่ในเครื่อง ps3 ซึ่งยังไงก็ไม่ได้ซื้ออยู่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้มาเริ่มเล่นจริงๆนั้นเริ่มจากที่ได้ดูอนิเมะซึ่งยกภาคเอสกา&โลจีมาทำเป็นครั้งแรก พอดูแล้วติดใจก็เริ่มสนใจมากขึ้น



วันหนึ่งมีโอกาสได้ไปบ้านเพื่อนซึ่งมีเครื่อง ps3 และมีเกมนี้อยู่เลยหยิบมาเล่นดูจึงได้รู้ว่ามันสนุกมาก เป็นเวลานานแล้วที่ไม่มีโอกาสได้เล่นเกมในจอโทรทัศน์แบบนี้

ถึงอย่างนั้นก็มีโอกาสได้เล่นไปเพียงนิดเดียว หากจะเล่นให้จบต้องใช้เวลานานพอสมควร จึงเกิดความคิดว่าอยากจะซื้อมาเล่นบ้าง แต่ที่บ้านตัวเองไม่น่าจะเล่นเครื่องเกมบนจอโทรทัศน์ได้อยู่แล้ว แต่ก็ได้รู้ข่าวดีกว่าเกมตระกูลอาเตอลีเยมีการย้ายไปลงเครื่อง ps vita แล้ว

ในขณะนั้นซึ่งเป็นช่วงที่ภาคเอสกา&โลจีเพิ่งจะฉายจบไปพอดี ตัวเกมตระกูอาเตอลีเยในเครื่อง ps3 ได้ออกมาแล้วทั้งหมด ๕ ภาค

- อาเตอลีเยของโรโรนา ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งอาร์แลนด์~ (ロロナのアトリエ 〜アーランドの錬金術士〜)
- อาเตอลีเยของโทโทริ ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งอาร์แลนด์~ (トトリのアトリエ 〜アーランドの錬金術士2〜)
- อาเตอลีเยของเมรุรุ ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งอาร์แลนด์~ (メルルのアトリエ 〜アーランドの錬金術士3〜)
- อาเตอลีเยของอาช่า ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งผืนแผ่นดินสายันห์~ (アーシャのアトリエ 〜黄昏の大地の錬金術士〜)
- อาเตอลีเยของเอสกา&โลจี ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งท้องฟ้าสายันห์~ (エスカ&ロジーのアトリエ 〜黄昏の空の錬金術士〜)



และภาคล่าสุดที่ตอนนั้นยังไม่ออกก็คือ อาเตอลีเยของชาลี ~นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งท้องทะเลสายันห์~ (シャリーのアトリエ 〜黄昏の海の錬金術士〜)

โดยที่ ๔ ภาคแรกได้ถูกทำลงเครื่อง ps vita ไปแล้ว แต่ภาคเอสกา&โลจียังไม่ได้ลง และน่าจะต้องรอถึงปีถัดไปเพราะภาคอาช่านั้นเพิ่งจะลง ps vita ไปเอง

ตั้งแต่ภาคโรโรนาถึงเมรุรุเป็นเรื่องราวของอาร์แลนด์ (アーランド) เรื่องราวมีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่พอข้ามมาภาคอาช่าก็จะเป็นแดนสายันห์ (黄昏) ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งฉาก, ตัวละคร, ไอเท็มต่างๆ และระบบการเล่นก็ต่างกันออกไปหมดแม้จะยังมีส่วนคล้ายกันอยู่

ในตอนแรกคิดว่าถ้าให้เลือกเล่นสักภาคก่อนก็อยากจะเล่นภาคอาช่า เพราะเท่าที่รู้เนื้อเรื่องย่อและได้ลองเล่นดูนิดหน่อยก็คิดว่าน่าจะเป็นภาคที่สนุกที่สุดแล้ว

แต่หลังจากกลับไปคิดดูให้ดีแล้วก็พบว่าภาคที่อยากเล่นที่สุดจริงๆก็คือภาคโทโทริ เนื่องจากหาข้อมูลแล้วได้รู้ว่าคนพากย์โทโทริก็คือคุณนาซึกะ คาโอริจากที่ยังลังเลอยู่ว่าจะอุตส่าห์ซื้อเครื่อง ps vita มาใหม่เพื่อเล่นเกมตระกูลนี้โดยเฉพาะหรือเปล่า ก็เลยตัดสินใจได้ทันที

แต่สุดท้ายแล้วพอมาคิดต่อก็ตัดสินใจซื้อภาคโรโรนามาเล่นเก่อน เนื่องจากรู้ว่าเนื้อเรื่องมันต่อกัน ภาคโรโรนาเป็นภาคแรกสุด  และเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งจะต่อไปยังภาคโทโทริได้ ความจริงจะเริ่มเล่นที่ภาคโทโทริเลยก็ได้แต่คิดว่าคงจะสนุกกว่าหากมีโอกาสได้ไล่ตั้งแต่ภาคแรกมาก่อน

ในที่สุดก็ไปเดินหาซื้อจนได้ ps vita มือสองมาในราคา ๔๒๐๐ บาท และการ์ดความจำ ๘ GB อีก ๗๐๐ บาท เสร็จแล้วก็ไปสมัครสมาชิกโซนฮ่องกงเพื่อโหลดอาเตอลีเยของโรโรนามาเล่นทันที ราคา ๓๘๙ เหรียญฮ่องกง



จุดเด่นที่ดึงดูดของเกม


หลังจากที่ได้ดูอนิเมะของภาคเอสกา&โลจีจนจบไปก็ทำให้ได้เห็นลักษณะการดำเนินเนื้อเรื่องและโลกของเกมอาเตอลีเย สิ่งที่ดึงดูดก็คือความเป็นโลกในจินตนาการที่มีบรรยากาศค่อนข้างสดใส เห็นแล้วน่าหลงใหลชวนให้อยากไปอยู่ในนั้นจริงๆ



โลกแฟนตาซีแบบนี้มีอยู่มากมายเป็นธรรมดาสำหรับอนิเมะหรือเกมญี่ปุ่น ดังนั้นที่จริงแล้วก็มีอีกหลายเกมที่สนใจอยากเล่น แต่รู้สึกติดใจเกมนี้ตรงที่ภาพสวยงามและระบบเกมที่ทำออกมาได้น่าสนใจ

หากพูดถึงเกม RPG แล้วเมื่อก่อนเคยเล่นไฟนัลแฟนตาซีมาหลายภาค รู้สึกติดใจเกมประเภทนี้อยู่แล้ว เกมตระกูลอาเตอลีเยก็เป็น RPG ที่เดินไปตามฉากแล้วมีการเข้าฉากต่อสู้ในลักษณะคล้ายๆกัน แต่จะต่างกันตรงที่เนื้อเรื่องหลักไม่ได้อยู่ที่การต่อสู้ แต่เป็นการเก็บไอเท็มเพื่อนำมาสร้างของต่างๆ

จุดเด่นของเกมนี้คือตัวเอกในทุกภาคสามารถใช้วิชาเล่นแร่แปรธาตุได้และสร้างไอเท็มต่างๆสารพัดขึ้นได้จากหม้อปรุงยา สร้างได้ทุกอย่างจริงๆเลยตั้งแต่สากกะเบือยันชิ้นส่วนเรือ

ไอเท็มที่สร้างขึ้นมาก็ไม่ใช่ว่าสร้างยังไงก็เหมือนกัน แต่ต่างกันไปตามวัตถุดิบที่ใช้ ของชนิดเดียวกันแต่ปรุงด้วยวัตถุดิบที่คุณภาพต่างกันอาจออกมาความสามารถต่างกันไปคนละเรื่องเลย นี่ก็เป็นจุดเด่นอย่างมากของเกมนี้ เพราะเกมส่วนใหญ่จะมองว่าของประเภทเดียวกันเป็นสิ่งเดียวกันเหมือนกันทุกประการ ในความเป็นจริงแล้วแม้แต่ของสิ่งเดียวกันก็ควรจะมีความแตกต่าง แบบนี้จึงจะเรียกได้ว่ามีความสมจริงมากขึ้น

คุณสมบัติของไอเท็มที่เปลี่ยนไปตามวิธีการทำทำให้ต้องใช้ความคิดในการวางแผนเพิ่มขึ้นมาก ต้องกะส่วนผสมให้ดี แต่ก็ทำให้สนุกยิ่งขึ้น

ส่วนเรื่องระบบต่อสู้ก็จะเหมือนเกมไฟนัลแฟนตาซีเลยคือเข้าฉากแล้วยืนประจันหน้ากับมอนสเตอร์แล้วผลัดกันตี มี HP และ MP สามารถใช้สกิลหรือไอเท็ม เป็นระบบง่ายๆที่มีอยู่ดาษดื่น ถึงอย่างนั้นก็มีเสน่ห์ในแบบตัวเอง ภาพเคลื่อนไหวในฉากต่อสู้ทำได้สวยงามสมกับที่อยู่ใน ps3 แม้จะยังดูหยาบไปบ้าง





ข้อดีของการที่เพิ่งมาเล่น

เกมภาคโรโรนานี้ออกมาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว กว่าจะได้เล่นก็ผ่านมาตั้ง ๕ ปีแล้ว แต่ภาค ps vita เพิ่งจะออกมาใหม่เมื่อปี 2013 นี้เอง โดยมีการปรับปรุงใหม่จากภาคเดิมใน ps3 ค่อนข้างมากด้วย ทำให้แม้แต่คนที่เคยเล่นภาคเก่าใน ps3 มาแล้วก็ยังต้องกลับมาเล่นใหม่

สิ่งที่ฉบับทำใหม่นี้ดีปรับปรุงให้ดีกว่า เช่น
- เพิ่มเนื้อเรื่องหลังจากจบเนื้อเรื่องหลักแล้วขึ้นมา เป็นเนื้อเรื่องที่โทโทริและเมรุรุย้อนเวลากลับมา (เล่าถึงในตอนที่ ๑๓-๑๔) กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ต้องเล่นผ่านเนื้อเรื่องหลักมาก่อน คนที่เคยเล่นแบบเก่าใน ps3 มาก่อนก็ไม่สามารถเอาเซฟเก่ามาใช้ได้ด้วย ทำให้ต้องเล่นใหม่ ดังนั้นการที่เพิ่งมาเริ่มเล่นตั้งแต่ภาคนี้จึงมีข้อดีตรงที่เล่นจบครั้งแรกก็สามารถเล่นเนื้อเรื่องเสริมนี้ต่อได้เลย
- ภาพสวยขึ้น จากที่เดิมทีตัวละครในฉากเป็นแบบ SD คือหัวโตกว่าปกติ ก็เปลี่ยนให้เป็นภาพแบบสัดส่วนปกติ
- สามารถเลือกฉากจบได้ทั้งหมดที่มีการกางธงเอาไว้ ทำให้เล่นเพียงรอบเดียวสามารถมองเห็นฉากจบได้ทั้งหมดหากวางแผนไว้ได้ดีพอ ถ้าเป็นฉบับเก่าจะทำไม่ได้ เช่นเดียวกับภาคโทโทริ ทำให้ต้องเล่นใหม่หลายรอบ ไม่ก็ต้องเซฟจุดแยกไว้ดีๆเพื่อให้สลับเปลี่ยนฉากจบได้ง่าย
- ในเนื้อเรื่องหลักมีตัวละครใหม่ที่สามารถชวนเข้าพวกได้ คือเอสทีและอัสทริด จากที่เดิมทีมีแค่ ๖ คน
- มีระบบห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ทำให้สามารถเปลี่ยนชุดของตัวละครบางคนเวลาที่เดินอยู่ในฉากหรือในฉากต่อสู้ได้
- สามารถเปลี่ยนดนตรีฉากหลังได้โดยมีดนตรีฉากหลังของภาคหลังๆจนถึงภาคเอสกา&โลจีด้วยเพราะออกทีหลัง
- มีระบบบิงโกเข้ามาในภารกิจเสริมแต่ละช่วง คล้ายๆกับในภาคเอสกา&โลจี

นอกจากนี้ก็ยังมีการปรับสมดุลเกมในบางส่วน และเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายจุด

และการที่คนอื่นเขาเล่นกันมาเยอะแล้วทำให้สามารถหาข้อมูลของเกมได้ง่าย มีคนที่เล่นแล้วเขียนข้อมูลลงบล็อกไว้มากมาย เวลามีปัญหาในเกมก็ดูตัวอย่างจากคนอื่นได้ไม่ยาก





กว่าจะเล่นจนจบ

ตั้งแต่ได้เกมมาก็พยายามแบ่งเวลาแล้วเล่นไปเรื่อยๆ เกมค่อนข้างยาวมากเล่นวันละนิดก็ต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะจบ และเสียเวลาเพิ่มอีกหน่อยเพื่อมาเขียนบันทึกไปด้วย

การที่เล่นจบแล้วสามารถเห็นฉากจบได้เกือบหมดก็เพราะวางแผนมาอย่างค่อนข้างจะดีในระหว่างที่เล่น การจะเห็นฉากจบแบบต่างๆได้มีเงื่อนไขต่างกันไป ต้องดำเนินเรื่องให้ถูกทาง

ตัวละครหลักที่ร่วมรู้ด้วยมีทั้งหมด ๖ คน การจะกางธงฉากจบของแต่ละคนได้นั้นต้องผ่านเหตุการณ์ต่างๆตามช่วงเวลาอย่างเป็นขั้นตอนจนถึงเหตุการณ์สุดท้าย บางทีเหตุการณ์ของคนหนึ่งก็ไปซ้อนทับกับอีกคนทำให้ไม่สามารถเกิดพร้อมกันได้ก็มี ดังนั้นจึงต้องจัดเวลาให้ลงตัว

มีอยู่ครั้งหนึ่ง คือตอนเช่นช่วงที่ ๙ ถึงกับต้องเล่นช่วงนั้นใหม่หมด เลยต้องลงช่วงที่ ๙ ซ้ำ เนื่องจากว่าพอเล่นไปถึงช่วงที่ ๑๐ เริ่มรู้ตัวว่าสร้างความสัมพันธ์ของสแตร์คกับจีโอได้ช้าเกินไป เหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ฉากจบของจีโอต้องเกิดอย่างช้าคือต้นช่วงที่ ๑๑ และจะต้องไม่อยู่ในระหว่างที่สแตร์คเข้าโรงพยาบาลอยู่เนื่องจากสู้กับมังกรหิมะด้วย โดยสแตร์คต้องเข้าโรงพยาบาลนานถึง ๙ เดือน ดังนั้นจึงควรให้เหตุการณ์นี้เกิดตั้งแต่ช่วงที่ ๙ ถ้ามาเกิดช่วงที่ ๑๐ ก็ถือว่าช้าไปแล้ว



นอกจากครั้งนี้แล้วก็มีครั้งย่อยๆเล็กๆอีกหลายครั้งที่ต้องย้อนเวลาแต่ไม่ได้เขียนถึง

มีฉากจบแบบหนึ่งที่ไม่สามารถทำได้ก็คือฉากจบแบบเศรษฐี ซึ่งจะจบได้ก็ต่อเมื่อเก็บเงินได้ถึงล้าน การจะทำได้ในการเล่นแค่รอบเดียวนั้นยากมาก ที่จริงแล้วเกมนี้สามารถเล่นซ้ำอีกรอบโดยที่เงินจากการเล่นรอบแรกสามารถเอามาใช้ได้ รวมทั้งอะไรๆอีกหลายอย่างก็นำกลับมาใช้ในการเล่นรอบสองได้ ถ้าทำแบบนั้นก็คงจะสามารถจบแบบเศรษฐีได้แน่ แต่ว่าแค่เล่นรอบเดียวก็กินเวลามากแล้ว จะมาเล่นซ้ำเพื่อจะเห็นฉากจบเพิ่มอีกแค่ฉากเดียวก็คงจะไม่คุ้มก็เลยไม่ได้ทำ

แค่ได้เห็นฉากจบแบบอัสทริดก็ถือว่าน่าดีใจมากแล้วเพราะเป็นฉากจบที่ได้มายากที่สุด เพราะต้องกางธงฉากจบของตัวละครหลักทั้ง ๖ ให้ได้พร้อมกัน



ความรู้สึกหลังเล่นจบ

พอได้เล่นจนจบไปก็มีความรู้สึกว่าไม่ผิดหวังเลย โลกในเกมนี้สวยงามอย่างที่คิดไว้ ระหว่างที่เล่นก็รู้สึกผ่อนคลาย มีความสุขดีในขณะที่ดำเนินเรื่อง

แน่ในแง่ของเนื้อเรื่องแล้วอาจต้องยอมรับว่าภาคโรโรนานี้เนื้อเรื่องจะไม่ค่อยมีอะไรมากเท่าไหร่จริงๆ หากเทียบดูกับภาคอื่นแล้ว

การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างค่อนข้างสบายๆ เหมือนเป็นเรื่องราวของการใช้ชีวิตแบบธรมดาไปเรื่อยๆตามปกติ ไม่ได้มีจุดที่สร้างความตื่นเต้นเป็นพิเศษ แม้มีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมายแต่ก็ไม่รุนแรงและจบลงอย่างง่ายดาย ทุกอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมาไม่มีหักมุมอะไรนัก



ดังนั้นจึงอาจเรียกได้ว่าภาคโรโรนานี้เป็นภาคที่สนุกน้อยที่สุดก็ว่าได้ หากเทียบกับภาคอื่นแล้ว เช่นภาคโทโทริจะได้ออกผจญภัยและมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากกว่า

หากพูดถึงเกมที่ดำเนินเนื้อเรื่องแบบใช้ชีวิตไปเรื่อยๆพร้อมกับมีเหตุการณ์แทรกเข้ามาตามเวลาแบบนี้ เมื่อสมัยก่อนเคยเล่นเกมฮาร์เวสต์มูน (牧場物語 ハーベストムーン) ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ได้อารมณ์ประมาณคล้ายๆกัน เพียงแต่ชีวิตประจำวันในเกมฮาร์เวสต์มูนเป็นเรื่องของการปลูกผัก และเหตุการณ์ไม่ได้มากนักหากเทียบกับเวลาที่เสียไปกับการใช้ชีวิตตามปกติ

รู้สึกว่าติดใจเกมแนวนี้มาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วเพราะเหมือนได้ไปใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยอยู่ในโลกนั้นจริงๆ ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินไปอีกแบบ ยิ่งเป็นโลกแฟนตาซีที่มีบรรยากาศสวยงามน่าอยู่แบบนั้นก็ยิ่งติดใจ ดังนั้นเลยคิดว่าแม้จะไม่มีเนื้อเรื่องโลดโผนอะไรมากมาย ขอแค่ได้เรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆก็สนุกแล้ว

ส่วนภาคเอสกา&โลจีก็จะคล้ายๆกับภาคนี้ คือใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งหนึ่งอย่างสงบเรียบง่ายแล้วต้องทำภารกิจไปเรื่อยๆตามช่วงเวลา เพียงแต่เนื้อเรื่องดูจะมีอะไรมากกว่าพอสมควร ส่วนภาคโทโทริและภาคอาช่าจะต่างออกไปมาก คือเป็นเรื่องราวการผจญภัยซึ่งดำเนินเรื่องแบบค่อนข้างอิสระ ขอบเขตค่อนข้างกว้าง ซึ่งแบบนั้นก็จะสนุกไปอีกแบบ



การเล่นเกมอาจเป็นอะไรที่เสียเวลา แต่มันก็ช่วยให้ผ่อนคลายจากโลกแห่งความเป็นจริงที่บางทีก็อาจดูธรรมดาน่าเบื่อเกินไป การที่ได้เล่นแล้วมาเขียนเล่าแบบนี้ก็เหมือนกับการที่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศมาแล้วเอามาเล่าซึ่งก็ทำอยู่ประจำ ต่างกันที่เป็นการไปเที่ยวในโลกแห่งจินตนาการ ยังไงก็ต้องขอบคุณผู้สร้างเกมที่อุตส่าห์สร้างโลกที่สวยงามและสนุกสนานมาให้ผู้คนได้ไปเดินเล่นใช้ชีวิตในนั้น

ชีวิตของโรโรนานั้นที่จริงแล้วก็น่าสนใจไม่น้อย วันหนึ่งชีวิตพลิกผัน มีโอกาสได้เรียนวิชาเล่นแร่แปรธาตุ ได้ตั้งใจทำงานเต็มที่เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ได้รู้จักกับผู้คนมากมาย ได้ออกผจญภัยไปยังที่ต่างๆ สุดท้ายก็ได้เติบใหญ่จนกลายเป็นบุคคลสำคัญของประเทศในที่สุด แม้เรื่องราวอาจจะดูเหลือเชื่อไปสักหน่อย แต่ก็ถือเป็นวิถีชีวิตที่น่าเป็นแบบอย่างได้ดีทีเดียว



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- บันเทิง >> เกม >> อาเตอลีเย

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

目次

日本による名言集
モジュール
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
機械学習
-- ニューラル
     ネットワーク
javascript
モンゴル語
言語学
maya
確率論
日本での日記
中国での日記
-- 北京での日記
-- 香港での日記
-- 澳門での日記
台灣での日記
北欧での日記
他の国での日記
qiita
その他の記事

記事の類別



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  記事を検索

  おすすめの記事

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文