บันทึกการเที่ยวสวีเดน 1-12 พ.ค. 2014
เขียนเมื่อ 2014/05/14 21:25
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ช่วงวันที่ 1-12 พ.ค. ที่ผ่านมีโอกาสได้ไปเที่ยวประเทศสวีเดนมา นี่เป็นการเที่ยวยุโรปเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยจึงมีเรื่องน่าเล่ามากมาย
เริ่มแรกจะขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับการเที่ยวนี้ก่อนที่จะเริ่มเล่าเรื่องราวโดยละเอียดในตอนถัดไป
แผนการเที่ยว
เนื่องจากพี่คนรู้จักได้แต่งงานกับคนสวีเดนและมีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆในอำเภอคริครานสตา (Kristianstad) ในจังหวัดสโกเน (Skåne) ทางใต้สุดของสวีเดน เขาจึงเชิญครอบครัวเราไปเยี่ยมบ้านเขา และจะได้ถือโอกาสเที่ยวสวีเดนไปด้วย
หลังจากที่วางแผนอะไรต่างๆออกมาก็สรุปว่าการเที่ยวครั้งนี้ไปทั้งหมด ๑๒ วัน ช่วงแรกพักบ้านพี่คนรู้จักที่มีบ้านอยู่ที่สวีเดน ต่อมาพักที่เมืองสตอกโฮล์ม (Stockholm) เมืองหลวงของสวีเดน หลังจากนั้นคนอื่นกลับบ้านไปก่อน ส่วนเราคนเดียวเที่ยวต่อโดยไปพักหอพักของเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยอยู่ในเมืองลินเชอปิง (Linköping) หนึ่งคืน จากนั้นก็เดินทางกลับโดยไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ (Helsinki) เมืองหลวงของฟินแลนด์ และได้ถือโอกาสเที่ยวที่นั่นเล็กน้อยก่อนกลับ
ในช่วงครึ่งแรกของการเที่ยวครั้งนี้พักอยู่กับบ้านที่เขาเตรียมไว้ให้เราอยู่ถึง ๕ คืน จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ครอบครัวเขาเองก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี บ้านที่เขาให้อยู่ก็น่าอยู่ดีมาก ตอนขอวีซาเขาก็ได้เขาเป็นคนเขียนจดหมายเชิญเพื่อขอวีซาแบบเยี่ยมเพื่อน
นอกจากจะเที่ยวในสวีเดนแล้วยังมีโอกาสได้ข้ามไปเที่ยวเดนมาร์กด้วยเล็กน้อยเพราะอยู่ใกล้กัน แต่เวลาส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดอยู่ในสวีเดนและได้แวะเดนมาร์กและฟินแลนด์เพียงนิดเดียวเหมือนเป็นตัวเสริมก็เลยถือว่าครั้งนี้เป็นการไปเพื่อเที่ยวสวีเดนเป็นหลัก
สวีเดนเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก มีสถานที่เที่ยวมากมายจนเวลาเพียงแค่ ๑๒ วันสั้นๆไม่มีทางเที่ยวได้พอ ที่เที่ยวไปนี้ก็ถือว่าเป็นเพียงแค่เสี้ยวเดียวของสวีเดนเท่านั้นเอง เก็บส่วนหลักๆ จริงๆแล้วยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่งที่ไม่มีโอกาสได้ไป
เนื่องจากพักอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดนเป็นหลัก สถานที่เที่ยวส่วนใหญ่ที่ได้ไปก็อยู่ในภาคใต้ทั้งนั้น ภาคเหนือไม่ได้ไปเลย แต่ภาคใต้เองก็มีสถานที่เที่ยวเยอะแยะมากมาย เมืองหลักๆส่วนใหญ่ก็อยู่ภาคใต้ทั้งนั้น ภาคเหนือเองก็น่าสนใจหากมีโอกาสไว้สักวันหนึ่งหวังว่าคงมีโอกาสได้ไป
กำหนดการโดยย่อ
- 1 พ.ค. 10:55 ออกจากปักกิ่ง บินไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ ถึงเฮลซิงกิเวลา 14:25 รอจนถึง 17:45 เพื่อไปลงที่โคเปนเฮเกน ถึงโคเปนเฮเกนเวลา 18:25 จากนั้นก็ข้ามไปยังสวีเดน
- 1-5 พ.ค. ค้างอยู่กับบ้านพี่คนรู้จักและเที่ยวเมืองรอบๆซึ่งอยู่ตอนใต้ของสวีเดน
- 6 พ.ค. ตอนกลางคืนนั่งรถไฟจากมาลเมอไปยังสตอกโฮล์ม ค้างคืนบนรถไฟ
- 7-9 พ.ค. ค้างคืนที่สตอกโฮล์ม เที่ยวในเมืองนี้และเมืองรอบๆ
- 10 พ.ค. ไปหาเพื่อนที่เมืองลินเชอปิง และพักค้างคืนในหอพักของเพื่อน
- 11 พ.ค. 17:30 ออกเดินทางจากสตอกโฮล์มไปเปลี่ยนเครื่องที่เฮลซิงกิ ถึงเฮลซิงกิเวลา 19:40 ค้างในเฮลซิงกิหนึ่งคืน
- 12 พ.ค. 17:10 ออกจากเฮลซิงกิเพื่อเดินทางกลับ ไปถึงตอนเช้าวันต่อมาเวลา 7:15
รู้จักกับสวีเดน
ก่อนจะเล่าถึงสวีเดนก็ขออธิบายคร่าวๆเกี่ยวกับประเทศนี้สักหน่อย
ประเทศสวีเดนหรือที่เรียกเป็นภาษาสวีเดนว่าสแวริเย (Sverige) เป็นประเทศที่อยู่ในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป มีเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดคือประเทศนอร์เวย์ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก โดยสวีเดนมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคทั้งเรื่องพื้นที่และประชากร และเมืองหลวงสตอกโฮล์มก็เป็นเมืองหลวงที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคด้วย
มีพื้นที่ ๔๔๙,๙๖๔ ตร.กม. ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าญี่ปุ่นแต่เล็กกว่าไทยอยู่เล็กน้อย แต่ประชากรมีเพียงไม่ถึงสิบล้านคนซึ่งถือว่าเบาบางมาก
ภูมิอากาศหนาวจัดในฤดูหนาว ฤดูร้อนเย็นสบาย โดยปกติคนจะท่องเที่ยวกันมากในฤดูร้อนคือช่วงมิถุนายนถึงสิงหาคม แต่ฤดูหนาวคือเดือนพฤษจิกายนถึงมีนาคมสถานที่เที่ยวส่วนใหญ่จะปิดหมดเพราะหนาวจัด ฤดูในไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วงจะมีสถานที่เที่ยวเปิดแค่บางส่วน
ช่วงที่ไปนั้นคือช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นฤดูใบไม้ผลิซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ที่กำลังเริ่มผลิบานสวยงาม แต่สถานที่เที่ยวต่างๆเปิดแค่บางส่วน และส่วนใหญ่กำลังซ่อมแซมอยู่เนื่องจากอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นทำให้เริ่มจะสามารถทำงานอะไรต่างๆได้ และฤดูร้อนนักท่องเที่ยวจะเยอะกว่าจึงต้องรีบซ่อมแซมสิ่งต่างๆตั้งแต่ช่วงนี้เพื่อรอรับผู้คนที่จะหลั่งไหลเข้ามาเยอะกว่าตอนฤดูร้อน
การแบ่งเขตการปกครองในสวีเดนนั้นเริ่มแบ่งจากหน่วยที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่าแลน (län) ซึ่งอาจเทียบเท่ากับเป็นจังหวัด โดยมีทั้งหมด ๒๑ แลน และภายในแลนจะแยกย่อยออกเป็นคอมมูน (kommun) ซึ่งอาจเทียบเท่ากับเป็นอำเภอ ชื่อของแลนนั้นอาจเหมือนกับชื่อของคอมมูนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแลนนั้นหรือไม่ก็ได้ รวมแล้วมีทั้งหมด ๒๙๐ คอมมูน ภายในคอมมูนจะประกอบไปด้วยเมืองและหมู่บ้านต่างๆ โดยเมืองที่ใหญ่ที่สุดในคอมมูนส่วนใหญ่จะมีชื่อเหมือนกับคอมมูน
เพื่อความสะดวกต่อความเข้าใจ ต่อจากนี้ไปจะเรียกแทนแลนว่าจังหวัด และเรียกแทนคอมมูนว่าอำเภอ
นอกจากการแบ่งเขตอย่างที่ว่านี้แล้วก็ยังมีการแบ่งเขตออกเป็นลันด์สกอป (landskap) ซึ่งเป็นการแบ่งแบบโบราณ แต่ปัจจุบันคนยังพูดถึงและใช้กันอยู่เนื่องจากมีความหมายในทางประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่มีความหมายในด้านการปกครองแล้ว ทั้งสวีเดนแบ่งออกเป็น ๒๕ ลันด์สกอป เขตพื้นที่ของลันด์สกอปนั้นอาจตรงกันหรือต่างกับแลนไม่มากก็น้อย
ตอนใต้ของสวีเดนเมื่อสมัยก่อนเคยเป็นดินแดนของเดนมาร์ก และได้มีการสร้างปราสาทจำนวนมากตั้งแต่สมัยนั้น ปัจจุบันจึงเหลือปราสาทโบราณที่สวยงามอยู่มากมาย
หน่วยเงินที่ใช้ในสวีเดนคือโครนสวีเดน อัตราแลกเปลี่ยนเป็นประมาณ ๕ เท่าของเงินบาท ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดนมาร์กกับนอร์เวย์ก็ใช้เงินโครนเช่นกันแต่เป็นโครนเดนมาร์กกับโครนนอร์เวย์ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนพอๆกันต่างกันเล็กน้อยเวลาเดินทางข้ามประเทศจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเงิน
สวีเดนเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) และอยู่ในกลุ่มประเทศเชงเกน สำหรับรายละเอียดการขอวีซามีเขียนไว้แล้วอ่านได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20140417
ภาษาสวีเดนเบื้องต้นเวลาที่ไปเที่ยวประเทศไหนเพื่อจะเข้าใจอะไรมากขึ้นการรู้ภาษาของที่นั่นไว้บ้างก็เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน
ที่จริงต้องบอกตามตรงว่าเดิมทีไม่เคยรู้ภาษาสวีเดนเลย
ก่อนไปก็ศึกษามาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ระหว่างอยู่สวีเดนก็ได้พยายามฟังมากๆ
และเพื่อให้สามารถสะกดเรียกชื่อต่างๆในภาษาสวีเดนได้ถูกต้องจึงได้ทำการ
ศึกษาหลักการอ่านออกเสียงในภาษาสวีเดนมาจนเข้าใจอย่างดีพอสมควร
และได้เปิดเทียบเสียงใน google ด้วย เพื่อจะได้เรียกให้ถูกต้องยิ่งขึ้น
เพราะเท่าที่เคยอ่านที่คนอื่นเขียนเล่ามักจะอ่านชื่อผิดกันซะเยอะ
ทำให้เวลาไปถามหาสถานที่กับเจ้าของภาษาเขาอาจไม่รู้ว่าเราหมายถึงที่ไหนก็เป็นได้
การเขียนเล่าเรื่องในครั้งนี้ได้พยายามเขียนเสียงอ่านให้ใกล้เคียงกับที่ออกเสียงจริงมากที่สุด
ภาษาสวีเดนเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษายุโรป มีความใกล้เคียงกับภาษาเดนมาร์กและนอร์เวย์ สามารถพอสื่อสารกันได้รู้เรื่อง แต่จะต่างกับภาษาฟินแลนด์ซึ่งไม่ใช่ภาษาในกลุ่มยุโรปแม้จะอยู่ในแถบเดียวกันก็ตาม
นอกจากจะเป็นภาษาราชการในสวีเดนแล้วก็ยังเป็นภาษาราชการในฟินแลนด์ด้วย เนื่องจากฟินแลนด์เคยอยู่ภายใต้การปกครองของสวีเดนมาช้านาน และปัจจุบันก็มีคนสวีเดนอาศัยอยู่ในฟินแลนด์เป็นจำนวนมาก ซึ่งพูดภาษาสวีเดนเป็นภาษาแม่ ป้ายต่างๆภายในฟินแลนด์จะมีเขียงสองภาษาคือภาษาฟินแลนด์กับภาษาสวีเดนอยู่เสมอ
ภาษาสวีเดนมีความใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ ไวยากรณ์ใกล้เคียงกัน แต่ว่ามีการแบ่งเพศทางไวยากรณ์ คำกริยาผันตามกาลแต่ไม่ผันตามประธาน คำนามมีรูปเอกพจน์และพหูพจน์ แต่การแปลงรูปพหูพจน์ค่อนข้างไม่ตายตัว ต้องอาศัยจำเอา
เวลาคำนามหนึ่งไปขยายอีกไปขยายคำนามอีกคำ คำนามที่ขยายจะวางไว้ด้านหน้าและเติม s
และเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ อักษรตัวหนึ่งอาจมีเสียงอ่านสามารถออกเสียงได้หลายแบบต่างกันออกไปตามคำ ไม่ตายตัว อาจต้องจำเอาเป็นคำๆ
อักษรในภาษาสวีเดนเหมือนกับภาษาอังกฤษแต่มีสระเพิ่มเข้ามาสามตัวคือ ä ö å
ä ออกเสียง "แอ"
ö ออกเสียง "เออ"
å ออกเสียง "โอ" หรือ "ออ"
หลักการอ่านออกเสียงบางส่วนที่ควรเน้นเพราะต่างจากภาษาอังกฤษ เช่น
k เมื่อตามด้วยสระ ä e i ö y ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ช" แต่ถ้าตามด้วยพยัญชนะหรือตามด้วยสระ a å o u ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ค" แต่ก็ไม่เสมอไป มีข้อยกเว้นมาก
(เสียง ช ที่ว่านี้ไม่ใช่ ช แบบในภาษาไทย แต่คล้ายเสียง sh ในภาษาญี่ปุ่น หรือเสียง x ในภาษาจีน)
g เมื่อตามด้วยสระ ä e i ö y ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ย" แต่ถ้าตามด้วยพยัญชนะหรือตามด้วยสระ a å o u ส่วนใหญ่จะออกเสียง "ก" แต่ก็ไม่เสมอไป มีข้อยกเว้นมาก
j ออกเสียง "ย"
a อาจออกเสียงเป็น "อา" หรือ "ออ" แล้วแต่คำ แต่จะไม่มีการออกเสียงเป็นสระ "แอ" (ต้องเป็น ä จึงออกเสียง "แอ")
o อาจออกเสียงเป็น "โอ" หรือ "ออ" หรือ "อู" แล้วแต่คำ
y ออกเสียงคล้าย ü ในภาษาเยอรมันหรือภาษาจีน ไม่มีเสียงเทียบเคียงในภาษาไทย ในที่นี้จะขอเขียนแทนด้วยสระ "อือ"
นอกจากนี้ยังมีอีกมากมายที่อ่านไม่เป็นไปตามกฎ และไม่อาจคาดเดาได้
ในภาษาสวีเดนมีเสียงพิเศษอยู่เสียงหนึ่งที่ไม่มีในภาษาอื่น เสียงนี้เขียนด้วย IPA ว่า /ɧ/ และจะปรากฏแบบค่อนข้างสุ่มไม่ตายตัวในบางคำ หากฟังดูแล้วจะฟังดูคล้ายๆ "คร" ในภาษาไทย แต่ที่จริงไม่มีเสียงอะไรเทียบเคียงได้ตรงจริงๆ ในที่นี้จะเขียนแทนด้วย "คร"
เสียงนี้พบมากในชื่อเฉพาะ เช่นเสียง sti ในชื่อเมืองคริครานสตา (Kristianstad) เสียง xj ในชื่อเมืองแว็กเครอ (Växjö) และเสียง sk ในชื่อปราสาทวิตเคริฟเล (Vittskövle) ซึ่งจะมีเล่าถึงต่อไป
ลักษณะเสียงของภาษาสวีเดนนั้นใกล้เคียงกับของภาษาอังกฤษมาก ดังนั้นใหม่ๆฟังเผินๆเราอาจแทบแยกไม่ออกว่าเขาพูดภาษาสวีเดนอยู่หรือภาษาอังกฤษอยู่ บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนว่าเขาพูดภาษาอังกฤษอยู่แต่ทำไมเราฟังไม่ออกเลย ที่แท้คือเขาพูดภาษาสวีเดนอยู่นั่นเอง ฟังไม่ออกไม่แปลก
ภาษาเดนมาร์กจะคล้ายภาษาสวีเดนมาก แต่การออกเสียงจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยภาษาเดนมาร์กออกเสียงยากกว่ามากและไม่ตายตัวยิ่งกว่า และอักษร ä จะใช้ æ แทน ทำให้ดูแปลกตาไม่น้อยสำหรับคนที่ไม่เคยเห็น ส่วน ö จะใช้ ø แทน ส่วน å ก็ใช้เหมือนกัน
ข้อควรรู้เพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับสวีเดน
- น้ำประปาที่นี่ดื่มได้ จึงไม่จำเป็นต้องไปซื้อน้ำ แต่ว่าน้ำร้อนไม่สามารถดื่มได้ ต้องเปิดน้ำธรรมดาแล้วต้มเอาเอง
- รถเมล์ไม่สามารถใช้เงินสดจ่ายได้ ต้องใช้บัตรเติมเงินหรือบัตรเครดิตเท่านั้น บางแห่งรับเงินสดแต่จะต้องจ่ายแพงกว่าปกติ
- บัตรเติมเงินใช้สำหรับโดยสารรถเมล์หรือรถไฟท้องถิ่นมักแยกตามจังหวัด ไม่มีบัตรที่ใช้ได้ทั้งประเทศ เช่นที่สตอกโฮล์มมีบัตร SL ใช้ขึ้นรถไฟฟ้า, รถไฟ, รถราง, เรือ และรถเมล์ภายในเมืองสตอกโฮล์มและเมืองรอบๆได้
- บัตรเครดิตสามารถใช้ซื้อของตามตู้อัตโนมัติได้ แต่ต้องมีการใส่รหัส แต่ถ้าซื้อตามเคาน์เตอร์ที่มีคนขายจะใช้การเซ็นชื่อแทน ไม่ต้องใส่รหัส
- รถไฟที่สวีเดนแบ่งเป็นหลายบริษัทและมีกฎการใช้ไม่เหมือนกัน หากซื้อตั๋วรถไฟไหนแล้วไม่สามารถใช้นั่งรถไฟอื่นแทนกันได้แม้ว่าจะมีปลายทางเดียวกันก็ตาม
- รถไฟที่จอดอยู่ที่สถานีสามารถเดินขึ้นไปได้เลยไม่ต้องผ่านตัวสถานีหรือที่ตรวจตั๋ว แต่เมื่อขึ้นไปจะมีคนตรวจตั๋วถ้าหากไม่ซื้อตั๋วมาล่วงหน้าโดนจับได้จะถูกปรับแพงหลายเท่า ดังนั้นต้องระวัง ก่อนขึ้นรถไฟต้องซื้อตั๋ว ไม่มีการขายตั๋วบนรถไฟ
- เป็นการยากที่จะหาห้องน้ำที่เข้าฟรีๆ ส่วนใหญ่จะเจอห้องน้ำแบบหยอดเหรียญ โดยต้องหยอดเหรียญ ๕ โครน แต่บางแห่งอาจเก็บแพงถึง ๑๐ โครน ดังนั้นหากเจอห้องน้ำฟรีที่ไหนควรรีบเข้าเอาไว้ เช่นบนรถไฟ
- ห้องน้ำแบบหยอดเหรียญจ่ายครั้งหนึ่งสามารถเข้าได้หลายรอบ ตราบใดที่ยังไม่มีการปิดประตูจากด้านนอก ดังนั้นหากไม่ต้องการจ่ายก็ให้ดักรอคนอื่นเข้าเสร็จแล้วรีบเข้าตาม ไม่ต้องอายที่จะทำเพราะคนสวีเดนเองก็ทำแบบนี้กัน
- อาหารแพงกว่าในไทยมาก บางอย่างอาจแพงกว่าทานในไทยถึงสิบเท่า เช่นอาหารไทย แต่บางอย่างอาจแพงกว่าในไทยไม่ถึงสองเท่า เช่นแม็กโดนัลด์ ซึ่งถือเป็นของถูกสำหรับที่นี่ และอาจกลายเป็นอาหารหลักของเหล่านักท่องเที่ยวที่อยากประหยัด
- คนสวีเดนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่เป็นอุปสรรคมากนักในการเดินทาง อย่างไรก็ตามคนแก่อาจพูดไม่ได้เลย
- ป้ายต่างๆตามทางเป็นภาษาสวีเดนล้วนๆ แทบไม่มีภาษาอังกฤษ หากแปลไม่ออกก็มีแต่ต้องถามคนรอบข้างเอา
- คนสวีเดนมีน้ำใจดีมีปัญหาอะไรก็สามารถถามได้ แม้ว่าหน้าตาจะดูดุไปสักหน่อย
เริ่มอ่านตอนแรกกันได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20140516
-----------------------------------------
囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧
ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ