φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



เมืองลุนด์ ชมมหาวิทยาลัยชื่อดังและโบสถ์เก่าแก่
เขียนเมื่อ 2014/05/24 09:33
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#เสาร์ 3 พ.ค. 2014

หลังจากที่เมื่อวานเที่ยวภายในเมืองคริครานสตา และชมหมู่บ้านเดเกแบร์ยาแล้ว https://phyblas.hinaboshi.com/20140522

ต่อมาคราวนี้จะเป็นการเที่ยวในเมืองอื่นที่ต้องนั่งรถไฟไป เป้าหมายแรกคือเมืองลุนด์ (Lund)

เมืองนี้เป็นเมืองเก่าแก่มากเมืองหนึ่งของสวีเดน เชื่อว่าเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 990 แล้ว และมีมหาวิหารเก่าแก่ที่สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 1145 และยังมีโบสถ์ที่เก่าแก่มาก คือ
มหาวิหารลุนด์ (Lunds domkyrka)

นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lunds universitet) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1666 หลังจากที่ดินแดนส่วนนี้ได้เปลี่ยนมือจากเดนมาร์กกลายเป็นของสวีเดน

ลุนด์ตั้งอยู่ข้างๆเมืองมาลเมอ (Malmö) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของสวีเดน โดยจากเมืองคริครานสตาที่เราอยู่นั้นจะต้องผ่านลุนด์ก่อน แล้วจึงจะไปถึงมาลเมอ และจากมาลเมอก็สามารถข้ามฝั่งไปยังประเทศเดนมาร์กได้

สำหรับแผนการเที่ยวของเราวันนี้ช่วงเช้าจะไปเที่ยวลุนด์ก่อน จากนั้นก็นั่งรถไฟข้ามไปเที่ยวในประเทศเดนมาร์กตอนบ่าย ยังไม่แวะมาลเมอ



เราออกเดินทางแต่เช้าเพื่อมายังสถานีรถไฟเมืองคริครานสตาซึ่งเป็นเมืองหลักของอำเภอที่เราพักอยู่



สำหรับการขึ้นรถไฟครั้งนี้ตั๋วที่เราซื้อคือตั๋วไปกลับโคเปนเฮเกนของการรถไฟเออเรซุนด์สโทก (Öresundståg)

คำว่าโทก (tåg) แปลว่ารถไฟ ส่วนเออเรซุนด์ (Öresund) เป็นชื่อของช่องแคบที่กั้นระหว่างเดนมาร์กและสวีเดน รถไฟของเออเรซุนด์สโทกนั้นวิ่งตั้งแต่เมืองเฮลซิงเออร์ (Helsingør) ของเดนมาร์กไปยังเมืองต่างๆหลายเมืองทางภาคใต้ของสวีเดน เช่นเมืองเยอเตบอรี (Göteborg) เมืองคาลมาร์ (Kalmar) เมืองคาร์ลสกรูนา (Karlskrona) สำหรับเมืองคริครานสตาที่เราอยู่นี้อยู่บนเส้นทางที่จะไปเมืองคาร์สกรูนา

การที่เราซื้อตั๋วไปกลับโคเปนเฮเกนแบบนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการประหยัด เพราะแผนเราคือไปเที่ยวลุนด์และไปโคเปนเฮเกนต่อแล้วก็กลับมา และลุนด์เป็นทางผ่านสำหรับไปโคเปนเฮเกน เราสามารถใช้ตั๋วนี้เพื่อแวะลุนด์กลางทางแล้วกลับมาขึ้นรถไฟเพื่อไปจนถึงโคเปนเฮเกนแล้วค่อยกลับมาก็ได้

แต่ขอย้ำว่าที่ทำแบบนี้ได้ก็เพราะเป็นรถไฟของเออเรซุนด์สโทกเท่านั้น ซึ่งตั๋วรถไฟจะไม่มีระบุเวลาชัดเจน ซื้อแล้วจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ รถไฟของบริษัทอื่นบางอันก็อาจทำแบบนี้ได้ แต่สำหรับของ SJ ซึ่งเป็นบริษัทรถไฟใหญ่ที่สุดของสวีเดนซึ่งบริหารโดยรัฐบาลนั้นไม่สามารถทำแบบนั้นได้เพราะตั๋วจะระบุเวลาชัดเจนซื้อเที่ยวไหนก็ต้องนั่งเที่ยวนั้น

เราเคยเจอปัญหาเพราะพลาดเรื่องนี้มาแล้ว ดังนั้นเลยต้องย้ำตรงนี้สักหน่อย แต่เดี๋ยวจะมาพูดถึงอีกทีตอนที่เล่าถึง

อีกเรื่องที่น่าพูดถึงก็คือสำหรับการเที่ยวในจังหวัดทางภาคใต้ของสวีเดนนั้นมีบัตรหนึ่งที่ควรใช้เพราะว่าคุ้มมากนั่นก็คือบัตรโยโย (Jojo, ไม่ได้อ่านว่า "โจโจ้" นะ) ซึ่งเป็นบัตรเติมเงินของสโกเนทราฟีเกน (Skånetrafiken) ใช้สำหรับขึ้นรถไฟหรือรถเมล์ภายในจังหวัดสโกเนและจังหวัดรอบๆรวมทั้งบางส่วนในภาคตะวันออกของเดนมาร์กด้วย โดยจะได้รับส่วนลดถึง 20%

บัตรนี้สามารถใช้เพื่อซื้อตั๋วรถไฟของเออเรซุนด์สโทกและรถไฟของโพกาโทก (Pågatåg) แต่สำหรับบริษัทรถไฟอื่นเช่น SJ แม้ว่าจะมีการให้บริการในเขตพื้นที่นี้ก็ไม่สามารถใช้บัตรนี้ซื้อได้


สามารถซื้อบัตรนี้ได้ตามสถานีรถไฟ และเติมเงินได้ในที่เดียวกัน ส่วนการใช้งานก็คือตอนที่ไปซื้อตั๋วรถไฟก็ยื่นบัตรนี้ให้คนขายดูแล้วเขาก็จะ หักเงินจากบัตรนี้ หรือจะซื้อเอาเองจากเครื่องขายตั๋วก็ได้เช่นกัน ส่วนเวลาขึ้นรถเมล์ก็ยื่นบัตรนี้ให้คนขับ เขาจะเอาเข้าเครื่องอ่านและหักเงินออกจากบัตร

บัตรนี้มีข้อจำกัดที่ สามารถใช้ได้แค่บริเวณจำกัด แต่ถ้าไปท้องที่อื่นก็จะมีบัตรของแต่ละท้องที่ต่างกันออกไปอีกซึ่งก็คล้ายๆ กัน สำหรับที่สตอกโฮล์มจะเรียกว่าบัตร SL รายละเอียดจะขอไปพูดถึงอีกทีตอนเล่าถึงสตอกโฮล์ม

รถไฟที่เรานั่งเป็นรถไฟที่มีปลายทางอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก โดยผ่านทางมาลเมอ จากภาพนี้จะเห็นว่าเขาเขียนว่าเชอเปินฮัมน์ (Köpenhamn, ย้ำว่า K ในที่นี้อ่านเสียง "ช" ไม่ใช่ "ค") นี่เป็นชื่อภาษาสวีเดนของเมืองโคเปนเฮเกน ที่เราเรียกกันว่าโคเปนเฮเกนนั้นเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ส่วนเดนมาร์กเองเขาเรียกว่าเคิบม์เฮาน์ (København)



ภายในรถไฟเป็นแบบนี้ น่านั่งมากทีเดียว ตามที่นั่งแต่ละที่มีช่องปลั๊กซึ่งสามารถชาร์จไฟได้ด้วย สะดวกมากเพราะเราต้องคอยชาร์จมือถือให้เต็มอยู่เสมอ ไม่ได้เตรียมแบ็ตสำรองไว้



ใช้เวลาประมาณไม่ถึงชั่วโมงก็มาถึงสถานีลุนด์



ทิวทัศน์รอบๆสถานี เมืองนี้ก็สวยงามไม่แพ้คริครานสตา แต่ถ้าเทียบแล้วมีขนาดใหญ่กว่า




เรามุ่งหน้าไปยังร้านอาหารไทยซึ่งเจ้าของร้านเป็นคนรู้จักของพี่เจ้าของบ้านที่เราอาศัย ร้านนี้อยู่ไม่ไกลจากจตุรัสกลางเมืองนัก



ปรากฏว่าไปถึงพบว่าร้านยังไม่เปิด ปกติร้านเขาเปิดสิบเอ็ดโมง แต่ว่าวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ เขาเปิดเที่ยง แต่ไม่เป็นไรเราไปเดินเที่ยวเล่นในเมืองก่อนได้ ถึงตอนนี้ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปเดินโดยนัดว่ากลับมาเจอกันตอนเที่ยง

จากร้านนั้นเดินไปตามทางนี้เรื่อยๆนิดหน่อยก็จะไปถึงจตุรัสกลางเมือง



จตุรัสกลางเมือง น่าเดินเล่นมาก มีแผงขายของตั้งอยู่ประปราย







จากตรงนั้นเดินต่อไปอีกหน่อยก็จะเจอกับมหาวิหารลุนด์ ขนาดใหญ่โตสวยงามมากจริงๆ ที่สำคัญคือเป็นของเก่าแก่มาก



เลยจากมหาวิหารไปก็จะเป็นสวนสาธารณะลุนดาโกร์ด (Lundagård) เป็นสวนเล็กๆที่อยู่ระหว่างมหาวิหารกับอาคารหลักมหาวิทยาลัยลุนด์



ด้านหลังของมหาวิหาร ถ่ายจากสวน



อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยลุนด์



อาคารนี้ชื่อว่าคุงสฮูเซต (Kungshuset) แปลว่าบ้านของพระราชา ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 1578-1584 ในขณะที่แผ่นดินบริเวณนี้ยังเป็นของเดนมาร์ก ระยะแรกใช้เป็นบ้านของบิช็อปแห่งลุนด์ แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารของคณะปรัชญา



ถัดมาอาคารขาวๆสวยๆนี้เป็นอาคารหลักของมหาวิทยาลัยลุนด์





บ้านสวยๆแถวรอบๆบริเวณนั้น บรรยากาศดีมาก







จากนั้นเราก็เดินมุ่งหน้าต่อไปทางเหนือเพื่อจะไปให้ถึงส่วนหลักของมหาวิทยาลัยลุนด์ซึ่งต้องเลยไปอีกหน่อย




ตรงหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยจะเจอกับโบสถ์อีกแห่งซึ่งไม่ได้ใหญ่เท่ามหาวิหารลุนด์ โบสถ์นี้ชื่อโบสถ์อัลเฮลโกนา (Allhelgonakyrkan) แปลว่าโบสถ์แห่งนักบุญทุกคน



ข้างๆโบสถ์นี้มีประตูเล็กทางเข้ามหาวิทยาลัยอยู่เราก็เดินเข้าไปจากตรงนั้น ไม่ได้เข้าทางประตูใหญ่


ภาพภายในบริเวณมหาวิทยาลัย














นี่เป็นอาคารของภาควิชาดาราศาสตร์ จะเห็นว่ามีหอดูดาวอยู่ด้วย



ตรงตึกเขียนคำว่าอัสโตรโนมี (astronomi) เป็นภาษาสวีเดนแปลว่าดาราศาสตร์



จังหวะนั้นก็พบว่าเวลาเลยเที่ยงมาเสียแล้ว จึงคิดจะหาทางรีบกลับไปที่ร้านอาหรแล้ว ในตอนนั้นก็พอดีว่าเจอป้ายรถเมล์เลยคิดว่าถ้านั่งรถเมล์ไปน่าจะดีจะได้กลับไปถึงเร็ว แต่ปัญหาคือไม่รู้จะนั่งหมายเลขอะไรดี วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ภายในมหาวิทยาลัยจึงค่อนข้างเปลี่ยวไม่ค่อยมีใคร



แล้วก็เห็นคนแก่คนหนึ่งเหมือนจะมารอรถเมล์ก็เลยลองถามดู แต่ก็ได้คำตอบกลับมาสั้นๆว่า No English ทำเอาเราชะงักไปชั่วขณะ แม้จะได้ยินว่าคนสวีเดนเก่งภาษาอังกฤษพอสมควร แต่สำหรับคนแก่ๆบางคนแล้วอาจพูดไม่ค่อยได้


จังหวะนั้นเห็นอีกคนเดินผ่านมา ดูอายุน้อย น่าจะเป็นนักเรียน ก็เลยถามเขาเรื่องรถเมล์ เขาก็บอกว่าบอกไม่ถูกเหมือนกันแต่ให้ไปดูที่ป้ายหลักหน้ามหาวิทยาลัยดีกว่า ตรงนั้นจะมีรถผ่านเยอะกว่า แล้วเขาก็ชี้ให้เราเดินไป เราก็นึกขึ้นได้ว่าเรายังไม่ได้เห็นเลยว่าด้านหน้ามหาวิทยาลัยเป็นยังไงเพราะตอนเข้ามาเข้าประตูเล็ก เดินไปดูหน่อยก็ดี

ระหว่างทางก็ยังถ่ายภาพมหาวิทยาลัยไปพลางๆเรื่อยๆ








ไม่ช้าก็เดินมาถึงป้ายรถเมล์ ตรงนี้มีคนมารอรถเมล์เยอะเลย แต่พอมาถึงตรงนี้ก็รู้สึกเกิดเปลี่ยนใจขึ้นมา แบบว่าดูแผนที่แล้วเห็นว่าจากที่นี่ถ้าจะกลับไปก็แค่เดินทางไปตามถนนใหญ่ตรงไปเรื่อยๆก็จะกลับทางเดิม ถ้าเราวิ่งไปก็ไม่น่าจะนานเกินไป อาจช้าหน่อยไม่เป็นไร เผลอๆรอรถเมล์ก็อาจจะช้าเหมือนกัน



ว่าแล้วก็รีบวิ่งเพื่อจะกลับไป ไม่ได้เหนื่อยมากนักหรอกเพราะอากาศเย็นสบาย

ไม่นานก็กลับมาถึงลานกว้างกลางเมือง จากนั้นแล้วตรงไปอีกนิดก็กลับถึงร้านอาหารไทยที่นัดกันเอาไว้ เวลานั้นเที่ยงครึ่งแล้ว ช้าไปครึ่งชั่วโมงแต่คนอื่นก็ยังทานกันไม่เสร็จ ไม่เป็นไร



มื้อนี้ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ แต่จำได้ว่าอร่อยมากทีเดียวร้านนี้ แถมดูเหมือนเขาให้เราเยอะเป็นพิเศษด้วยคงเพราะเห็นว่าเป็นคนรู้จักกัน ก็เลยทำให้อิ่มมากเลย

หลังจากนั้นเราก็กลับไปยังสถานีรถไฟเพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังเชอเปินฮัมน์ (โคเปนเฮเกน) ซึ่งจะเล่าถึงในตอนต่อไป เป็นเมืองที่สวยงามมากอีกเมือง https://phyblas.hinaboshi.com/20140526



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> ศาสนสถาน >> โบสถ์
-- ท่องเที่ยว >> มหาวิทยาลัย
-- ต่างแดน >> ยุโรป >> สวีเดน
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文