φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์เมืองไทเป
เขียนเมื่อ 2017/07/20 01:11
แก้ไขล่าสุด 2023/07/01 20:17
# พุธ 5 ก.ค. 2017

ช่วงวันที่ 3-7 มีการประชุมดาราศาสตร์ APRIM ที่ไทเป https://phyblas.hinaboshi.com/20170716

สำหรับวันที่ 5 นั้นการประชุมมีแค่ช่วงเช้า พอถึงช่วงบ่ายจะเป็นช่วงที่มีการจัดทัวร์ไปเที่ยวตามสถานที่เที่ยวสำคัญของไทเป

แต่เนื่องจากพวกเรามีสถานที่ที่อยากไปเที่ยวเองมากกว่าอยู่ ดังนั้นจึงไม่ได้ไปกับกลุ่ม แต่เลือกที่จะไปกันเอง

สถานที่ที่เลือกจะไปเที่ยวเข้าชมก็คือ พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์เมืองไทเป (台北市立天文科學教育館, 台北市立天文科学教育馆, ไถเป่ย์ซื่อลี่เทียนเหวินเคอเสวียเจี้ยวยวี่กว่าน)

ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 และเริ่มเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่ปี 1997

เดิมทีที่นี่มีจุดเริ่มต้นมาจากหอดูดาวมาก่อน โดยอาจย้อนอดีตไปได้ตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันอยู่ หอดูดาวได้ถูกตั้งขึ้นที่หอประชุมสาธารณะไทเป (台北公會堂, 台北公会堂, ไถเป่ย์กงฮุ่ยถาง) ซึ่งปัจจุบันคืออาคารจงซานถาง (中山堂)

ที่นี่ถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆจนถึงปี 1960 จึงเริ่มเตรียมการย้ายที่ เนื่องจากจงซานถางอยู่ที่ใจกลางเมือง มีมลภาวะทางแสง อีกทั้งในปี 1957 ยานสปุตนิกของโซเวียตได้ถูกส่งขึ้นอวกาศ ทำให้ความสนใจดาราศาสตร์ของผู้คนสูงขึ้นอย่างมาก จำเป็นต้องมีการขยับขยาย

หอดูดาวใหม่ถูกตั้งที่เขาหยวนซาน (圓山, 圆山) เรียกว่าหอดูดาวหยวนซาน (圓山天文台, 圆山天文台, หยวนซานเทียนเหวินไถ) ซึ่งตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือของเมือง สร้างเสร็จและใช้ตั้งแต่ปี 1963 และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม

แต่ต่อมาเมืองไทเปขยายตัวขึ้นมาจนถึงหยวนซาน อีกทั้งประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการจึงต้องทำการขยับขยายย้ายที่ไปอีก จึงมีการสร้างหอดูดาวแห่งใหม่ขึ้นในเขตซื่อหลิน (士林) ซึ่งค่อนไปทางเหนือของเมืองมากกว่าหยวนซานอีกหน่อย

ต่อมาในปี 1996 จึงเริ่มสร้างศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ขึ้นที่นั่นด้วย แล้วก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนหอดูดาวเดิมที่หยวนซานได้ถูกปิดตัวลงและรื้อทิ้งไปในปี 2000 เหลือไว้เพียงนาฬิกาแดดเป็นอนุสรณ์



พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์แห่งนี้ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆดังนี้
- ส่วนจัดแสดง (展示場, 展示场) เป็นส่วนที่ใช้อุปกรณ์สื่อต่างๆเพื่อให้ความรู้ทางดาราศาสตร์
- โดมฉายดาว (宇宙劇場, 宇宙剧场) เป็นโดมท้องฟ้าจำลองทรงกลมที่มีเครื่องฉายดาว
- โรงหนังสามมิติ (立體劇場, 立体剧场)
- สถานที่ผจญภัยอวกาศ (宇宙探險設施, 宇宙探险设施) เป็นส่วนที่มีเครื่องเล่นต่างๆให้เล่นสนุกพร้อมเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศไปด้วย
- ที่สังเกตการณ์ (觀測區, 观测区) เป็นส่วนที่มีกล้องดูดาวเปิดให้คนทั่วไปเข้าดูตัวกล้อง และเฉพาะคืนวันเสาร์จะเปิดสาธิตการใช้งานจริง

นอกจากนี้ก็มีส่วนที่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม เช่นพวกห้องทำงานต่างๆ

ในการไปครั้งนี้พวกเราไม่ได้ไปกันแบบธรรมดา เพราะมีโอกาสได้รู้จักกับนักดาราศาตร์ที่ทำงานอยู่ที่นี่จากงาน APRIM เขาเป็นคนพาเดินเที่ยวชม อีกทั้งสามารถให้เราเข้าชมบางส่วนที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าชมได้ ก็เลยดูเหมือนมาในสถานะแขกพิเศษ

เพียงแต่ว่าครั้งนี้ส่วนจัดแสดงหลักถูกปิดปรับปรุงอยู่ ทำให้ไม่ได้ชมในส่วนนั้น ก็ถือว่าได้อย่างเสียอย่าง

ดังนั้นครั้งนี้จะขอไม่เขียนถึงภาพรวมในการเข้ามาชมแบบทั่วไป แต่จะเก็บไว้ครั้งหน้ามาใหม่หลังจากปิดปรับปรุงเสร็จ จะมาใหม่แล้วก็เที่ยวโดยละเอียด

สำหรับครั้งนี้จะเล่าเฉพาะส่วนที่เขาพาไปชมก่อน



การเดินทางไปสามารถทำได้โดยนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีซื่อหลิน (士林站) จากนั้นก็เดินไป

เราลงรถไฟฟ้าที่สถานีซื่อหลินจากนั้นแวะทานข้าวก่อนที่จะไป




จากนั้นก็เดินไปทางตะวันตก ไปตามถนนจงซาน (中山路) จนถึงแยกถนนจีเหอ (基河路) ก็เลี้ยวขวา



แล้วก็มาถึง สิ่งที่เราเห็นก่อนเลยก็คือสภาพอาคารที่อยู่ในสภาพที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว เพราะรู้มาก่อนว่าส่วนจัดแสดงปิดปรับปรุงอยู่



หน้าทางเข้า



ตรงหน้าทางเข้ามีแผนที่ตั้งอยู่





จากนั้นเราก็เข้ามาด้านในแล้วเขาก็เริ่มพาเราเข้าชม เริ่มแรกเขาพาพวกเราชมกล้องดูดาวก่อน โดยที่นี่มีกล้องดูดาวอยู่ ๒ ตัว อยู่ที่ชั้น ๔ ของตัวอาคาร

นี่คือกล้องตัวแรกซึ่งมีขนาดหน้ากล้อง ๔๕ ซม. กล้องตัวนี้ปกติแล้วไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่ใช้ในงานสังเกตการณ์เพื่องานวิจัยเท่านั้น ที่เราได้เข้าชมก็เพราะเขาเป็นคนพาชม หากมาเองจะไม่ได้มาตรงนี้



ที่ใกล้บันไดทางขึ้นไปกล้องดูดาวมีตั้งวางกล้องเก่าที่เลิกใช้ไปแล้วอยู่



จากนั้นเขาก็พาเดินออกมาผ่านดาดฟ้าเพื่อไปยังกล้องดูดาวอีกตัว



ระหว่างทางก็มองเห็นด้านบนของอาคารทรงกลมที่เป็นห้องฉายดาวด้วย



แล้วก็เห็นหลังคาหอดูดาวจากด้านนอก



แล้วก็เดินมาถึงห้องสังเกตการณ์อีกแห่ง ซึ่งมีกล้องอีกตัว



ตัวนี้มีขนาด ๒๐ ซม. เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ ขณะที่เราเข้าไปถึงก็มีคนอื่นกำลังชมอยู่ ต้องรอสักพักให้เขาเสร็จก่อน




ต่อมาเขาก็พาไปที่ห้องฉายดาว ปกติที่นี่จะมีรอบฉายวันละหลายรอบ แต่ช่วงที่ไปพอดีเป็นช่วงพักระหว่างการฉาย จึงได้ดูห้องในสภาพโล่งๆสักพัก



แล้วเขาก็ยังฉายดาวให้ดูนิดหน่อยด้วย



แต่อยู่ได้แป๊บเดียวก็ต้องรีบออกเพราะรอบฉายรอบต่อไปกำลังจะมาถึง



จากนั้นเขาก็พาลงมาด้านล่างซึ่งมีส่วนจัดแสดงเล็กๆ นี่เป็นส่วนเดียวที่ไม่ได้ปิดซ่อม เขายกของบางส่วนจากห้องจัดแสดงหลักที่ปิดไปมาไว้ตรงนี้เพื่อให้อย่างน้อยคนที่มาก็สามารถชมได้บ้าง



แต่เราไม่ได้ดูตรงนี้ต่อเพราะเขาพาเราไปแนะนำสถานที่ต่อไปต่อ

ส่วนต่อมาคือห้องสมุด ซึ่งมีอยู่ ๒ ห้องที่เขาพาไป นี่คือห้องแรกซึ่งเป็นห้องที่เปิดให้คนทั่วไปมาอ่านค้นความรู้ได้



หนังสือภายในห้องสมุดนี้




ห้องนี้อยู่ชั้น ๒ พอมองลงไปก็เห็นบรรยากาศของห้องโถงชั้นล่างได้ดี



แต่ที่จัดว่าเป็นจุดเด่นของการมาครั้งนี้จริงๆเห็นทีจะเป็นห้องสมุดอีกห้อง ซึ่งปกติไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชม แต่เก็บพวกเอกสารเก่าสำคัญเอาไว้ ใช้สำหรับคนที่ทำงานที่นี่อ่านเท่านั้น



หนังสือเก่าจำนวนมากเป็นหนังสือภาษาญี่ปุ่นซึ่งหลงเหลือจากสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันช่วงปี 1895-1945 แต่หนังสือบางเล่มก็ถูกตีพิมพ์หลังจากช่วงนั้นไป แสดงให้เห็นว่าหลังพ้นช่วงญี่ปุ่นปกครอง นักวิชาการในไต้หวันก็ยังนิยมใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนกันต่อไป เพราะช่วงปลายสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองนั้นไต้หวันใช้ภาษาญี่ปุ่นในการเรียนการสอน






มีลองเปิดบางเล่มขึ้นมาอ่านดู อย่างเล่มนี้เกี่ยวกับสุริยุปราคา



เจอเล่มที่มีภาษาเยอรมันด้วย อันนี้เขายกข้อความของอิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมัน



เราได้เจอหนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า "ฟิสิกส์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร" (物理學はいかに創られたか) ที่เขียนโดยไอน์สไตน์ แปลเป็นภาษาญี่ปุ่นในปี 1939 โดย อ. อิชิวาระ อัตสึชิ (石原 純) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ที่ไปเรียนต่อเยอรมนีและได้เป็นลูกศิษย์ของไอน์สไตน์



เปิดดูด้านใน



ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ก็ยังมีตีพิมพ์ขายอยู่ ดูได้ใน amazon เพียงแต่ว่านี่เป็นฉบับที่ตีพิมพ์ในปี 1963 ซึ่งต่างจากเล่มนี้ https://www.amazon.co.jp/ま/dp/4004000149

จะเห็นได้ว่าหนังสือภาษาญี่ปุ่นสมัยก่อนนั้นมีลักษณะบางอย่างในการเขียนที่ต่างจากสมัยปัจจุบัน เช่น อักษรคันจิที่ใช้จะใช้เป็นตัวเต็ม ในที่นี้ 学 ใช้เป็น 學 แทน

อีกอย่างคือไม่มีการใช้อักษรตัวเล็กที่เรียกว่าสึเตงานะ (捨て仮名) เช่น ちょっと จะเป็น ちよつと เพราะสมัยก่อนการใช้อักษรตัวเล็กยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่มีการประกาศกฎเกณฑ์ให้ใช้อย่างเป็นทางการในปี 1946

หนังสือเล่มนี้เป็นของสำนักพิมพ์อิวานามิโชเตง (岩波書店) ของญี่ปุ่น เป็นสำนักพิมพ์เก่าแก่ ก่อตั้งในปี 1913

ปัจจุบันหน้าปกหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ก็ยังคงลักษณะเดิมไม่เปลี่ยน เรียกได้ว่าหนังสือปกแบบนี้อยู่คู่สังคมญี่ปุ่นมานานข้ามยุคข้ามสมัย

นับว่าเป็นโชคดีจริงๆที่มีโอกาสได้มาดูของเก่าๆแบบนี้ หนังสือพวกนี้นอกจากจะใช้อ่านเอาความรู้ดาราศาสตร์แล้วก็ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้วย



เมื่อดูห้องสมุดเสร็จก็ออกมา เวลานั้นประมาณ ๔ โมง คนกำลังคับคั่งแน่นห้องโถงด้านล่าง



เป้าหมายต่อมาที่เขาพาเราไปก็คือส่วนสถานที่จำลองการผจญภัยในอวกาศ ซึ่งอยู่ที่ชั้น ๔




ตรงนี้จะให้เข้าไปนั่งยานผจญภัยอวกาศ ที่จริงต้องเสียตังค์ด้วย ราคา ๗๐ แต่เนื่องจากเขาพามาจึงให้เราเข้าเล่นฟรีได้



ในการผจญภัยเขาจะให้นั่งรถที่หน้าตาเหมือนยานอวกาศ แล้วรถก็จะวิ่งตามรางไปเรื่อยๆ

ความรู้สึกคล้ายๆกับเครื่องเล่นในสวนสนุก ถ้าใครเคยเล่นมาก่อน เพียงแต่ว่าไม่มีความหวาดเสียวอะไร เพราะเป้าหมายของอันนี้คือการให้ความรู้

ระหว่างอยู่ข้างในจะมีเสียงบรรยาย และที่หน้าจอจะมีเขียนบอกอะไรต่างๆด้วย ซึ่งเราสามารถเลือกได้ ๓ ภาษา คือภาษาจีน, ภาษาไต้หวัน (จีนฮกเกี้ยน) และภาษาอังกฤษ



ระหว่างทางจะมืดๆและก็ขยับหมุนไปมาบ่อยครั้งทำให้เวียนหัวได้ง่ายเหมือนกัน



ตรงนี้อธิบายถึงเอเลียน




จบแล้ว นี่เป็นทางออก



นอกจากเครื่องเล่นตรงนั้นแล้วก็ยังมีพวกเกมต่างๆมากมายอยู่ในชั้นเดียวกันนี้ บรรยากาศจะดูคล้ายร้านเกม แต่เกมพวกนี้ทั้งเล่นสนุกได้แล้วก็แฝงความรู้ไปในตัวด้วย



อย่างเกมตรงนี้เป็นการจำลองการบินผ่านแถบดาวเคราะห์น้อย การเล่นจะให้ไปยืนตรงสัญลักษณ์รูปรอยเท้าแล้วก็ใช้การเคลื่อนไหวมือเป็นตัวควบคุม



ตรงนี้เป็นส่วนที่ให้ลองควบคุมรถแล่นบนดาวอังคาร ยาน curiosity หรือชื่อจีนว่า "เฮ่าฉีเฮ่า" (好奇號, 好奇号) ** อักษร 好 ในที่นี้ไม่ได้อ่านว่า "เห่า" แต่ต้องเป็น "เฮ่า"



หน้าจอควบคุม



ส่วนตรงนี้จำลองศูนย์ควบคุมรถที่แล่นบนดาวอังคาร ในการควบคุมนั้นเวลาที่กดปุ่มไปแล้วจะมีดีเลย์ กว่าที่รถจะเคลื่อนตามนั้น เพราะสัญญาณที่ส่งจากโลกไปถึงดาวอังคารไม่ได้ถึงทันทีนั่นเอง



ส่วนตรงนี้จำลองฐานทัพบนทางอังคาร



แบบจำลองรถแล่นบนดาวอังคารแบบมีมนุษย์ขับ นี่ยังเป็นเพียงแค่จินตนาการ เพราะปัจจุบันยังมีแต่ยานไร้คนขับ การส่งมนุษย์ไปจริงยังเป็นเรื่องยาก แต่สักวันต้องทำได้แน่นอน





หลังจากชมตรงส่วนนี้เสร็จก็ราวๆ 5 โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาปิด สิ้นสุดการเดินชมในวันนี้ เขาพาเราไปนั่งพักที่ห้องรับรองแขกสักพัก จากนั้นจึงออกมาส่งที่ประตูอีกด้านหนึ่งของอาคาร ซึ่งเป็นคนละฝั่งกับตอนขามา



แล้วเขาก็แนะนำให้เราเดินไปขึ้นรถที่หน้าโรงพยาบาลซินกวาง (新光醫院, 新光医院) ซึ่งมีรถฟรีสำหรับบริการรับส่งของโรงพยาบาลเพื่อกลับไปยังสถานี รถไปลงที่สถานีเจี้ยนถาน (劍潭站, 剑潭站) ซึ่งเป็นสถานีที่ถึงหนึ่งสถานีก่อนหน้าสถานีซื่อหลินที่เรามาลงตอนแรก



เรานั่งรถคันนี้ไปลงที่สถานีเจี้ยนถานแล้วก็นั่งรถไฟฟ้ากลับ





สรุปโดยรวมแล้วที่นี่เป็นสถานที่ที่น่าแวะมาเข้าชมแน่นอน สำหรับคนที่สนใจดาราศาสตร์ ลักษณะอาจคล้ายท้องฟ้าจำลองที่เอกมัย แต่ว่าทำออกมาได้ดีกว่า อุปกรณ์ต่างๆดูใหม่ทันสมัยกว่า อีกทั้งมีให้เล่นผจญภัยอวกาศ ซึ่งไม่เคยเจอในท้องฟ้าจำลองที่อื่นๆ

น่าเสียดายแค่ตรงที่ว่าส่วนจัดแสดงปิดอยู่ แต่ถีงจะเปิดอยู่ก็มีเวลาไม่พอเดินอยู่ดี เพราะมีขนาดใหญ่ต้องใช้เวลา

ไว้จะต้องแวะมาที่นี่อีกแน่นอนเมื่อส่วนจัดแสดงปรับปรุงเสร็จ เขาบอกว่าถึงตอนนั้นที่นั่นจะดีกว่าเดิมมาก ต้องอดใจรอสักพัก



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ดาราศาสตร์
-- ประเทศจีน >> ไต้หวัน >> ไทเป
-- ท่องเที่ยว >> ท้องฟ้าจำลอง
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文