φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



สิ่งที่ภาษา python กับ ruby ดูจะคล้ายกันแต่ก็ต่างกัน
เขียนเมื่อ 2019/07/03 21:34
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 10:45
ไพธอนกับรูบีเป็นภาษาระดับสูงที่มีอะไรคล้ายกันมาก ดูเผินๆมีลักษณะการเขียนหลายอย่างที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่จริงๆแล้วกลับให้ผลต่างกัน หรือมีกลไกภายในต่างกัน

ในบทความนี้จะลองเปรียบเทียบทั้ง ๒ ภาษา ให้เห็นถึงข้อควรระวังสำหรับคนที่ใช้ภาษานึงจนชินแล้วอาจไปใช้อีกภาษาแล้วเกิดข้อผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจได้

รุ่นที่ใช้เปรียบเทียบในบทความนี้คือ python 3.7 และ ruby 2.6 อย่างไรก็ตาม ขอแค่เป็น python 3.x และ ruby 2.x เหมือนกันโดยรวมแล้วผลที่ได้ก็น่าจะไม่ต่างกัน






สิ่งที่เทียบเท่าหรือคล้ายกัน

ก่อนอื่นเพื่อไม่ให้สับสน ขอเปรียบเทียบสิ่งที่ทั้ง ๒​ ภาษาเหมือนหรือคล้ายกันแต่ใช้ชื่อต่างกัน
ไพธอน รูบี
True true
False false
None nil
int Integer
float Float
list, tuple Array
dict Hash
str String, Symbol
range(a,b) a...b



ลิสต์ ทูเพิล อาเรย์

อาเรย์ในรูบีจะเทียบเคียงได้กับลิสต์ในไพธอน ส่วนทูเพิลในไพธอนนั้นไม่มีสิ่งที่คล้ายกันอยู่ในรูบี

เวลาสร้างจะต่างตรงที่ลิสต์ใช้วงเล็บเหลี่ยม ทูเพิลใช้วงเล็บกลม ส่วนในด้านคุณสมบัตินั้นที่แตกต่างชัดที่สุดคือลิสต์สามารถเขียนแก้ค่าข้างในได้อิสระ ส่วนทูเพิลจะแก้ไขค่าอะไรไม่ได้
# python
a = [1,2]
a[1] = 3
a # [1, 3]
b = (1,2)
b[1] = 3 # TypeError: 'tuple' object does not support item assignment

ส่วนอาเรย์ในรูบีนั้นเขียนทับได้ จึงเหมือนกับลิสต์มากกว่า
# ruby
a = [1,2]
a[1] = 3
a # [1, 3]



สายอักขระและซิมโบล

ในทางตรงกันข้ามกับหัวข้อที่แล้ว ไพธอนมีสิ่งที่เรียกว่าเป็นสายอักขระอยู่แค่แบบเดียว (ใช้ชื่อว่า str) แต่ในรูบีมีสายอักขระ (String) และซิมโบล (Symbol)

ในรูบีข้อแตกต่างระหว่างสายอักขระกับซิมโบลก็คือ สายอักขระเขียนทับได้ แต่ซิมโบลเขียนทับไม่ได้

การสร้างสายอักขระนั้นเหมือนกับภาษาอื่นทั่วไปคือใช้เครื่องหมายคำพูดคร่อม เวลาเข้าถึงค่าก็ใส่เลขดัชนีตามลำดับเช่นเดียวกับในอาเรย์
# ruby
a = 'กขค'
a[1] # "ข"
a[1] = 'ง'
a # "กงค"

ส่วนซิมโบลนั้นแค่ใช้ : นำหน้า
# ruby
s = :กขค
s[1] # "ข"
s[1] = 'ง' # NoMethodError (undefined method `[]=' for :กขค:Symbol)

จะเห็นว่าแก้อักษรในซิมโบลไม่ได้

ส่วนในไพธอนนั้นสายอักขระจะไม่สามารถแก้ค่าได้ เช่นเดียวกับทูเพิล หรือเหมือนกับซิมโบลในรูบี
# python
a = 'กขค'
a[1] # 'ข'
a[1] = 'ง' # TypeError: 'str' object does not support item assignment

อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติอื่นๆส่วนใหญ่ของของสายอักขระในรูบีก็ยังคล้ายสายอักขระในไพธอนมากกว่าซิมโบล เช่นสายอักขระสามารถนำมาบวกต่อกันได้ แต่ซิมโบลทำไม่ได้
# ruby
'ก'+'ข' # "กข"
:ก+:ข # NoMethodError (undefined method `+' for :ก:Symbol)

# python
'ก'+'ข' # 'กข'



เครื่องหมายคำพูดแบบเดี่ยวกับคู่

ทั้งไพธอนและรูบีต่างก็สร้างสายอักขระได้โดยใช้เครื่องหมายคำพูดแบบเดี่ยว '   ' กับแบบคู่ "   " ได้เช่นกัน และไม่มีการแยกอักษรเดี่ยวกับสายอักขระ จะถือเป็นสายอักขระทั้งหมด

ซึ่งต่างจากบางภาษาเช่นภาษาซี ที่มีการแยกอักษรเดี่ยวกับสายอักขระเป็นข้อมูลคนละประเภท โดยใช้เครื่องหมายคำพูดแบบเดี่ยวเพื่อคร่อมอักษรเดี่ยว และแบบคู่เพื่อคร่อมสายอักขระ

อย่างไรก็ตามไพธอนและรูบีมีการใช้เครื่องหมายคำพูดแบบเดี่ยวกับแบบคู่ที่ต่างกันเล็กน้อย

ในไพธอนไม่ว่าจะใช้เครื่องหมายคำพูดแบบไหนก็ไม่มีความแตกต่าง ความหมายเหมือนกัน จะต่างกันแค่ว่ากรณีที่ต้องการให้มี ' อยู่ข้างในก็ควรใช้แบบคู่ ถ้าต้องการให้มี " อยู่ข้างในควรใช้แบบเดี่ยว

แต่ว่าในรูบีนั้นการใช้แบบเดี่ยวกับแบบคู่มีความหมายต่างกัน คือถ้าใช้ ' ' จะไม่มีการตีความพวกสัญลักษณ์พิเศษพวกที่ใช้ \ นำหน้า เช่น \n ที่แทนการขึ้นบรรทัดใหม่
# ruby
'ก\nข' # "ก\\nข"
"ก\nข" # "ก\nข"
'ก\nข'=="ก\nข" # false
'ก\nข'=="ก\\nข" # true

ในไพธอนหากต้องการให้เหมือนกับเครื่องหมายคำพูดแบบเดี่ยวในรูบีจะต้องเติม r นำหน้า
# python
"ก\nข" # 'ก\nข'
r'ก\nข' # 'ก\\nข'
'ก\nข'=="ก\nข" # True
r'ก\nข'=='ก\\nข' # True



การขึ้นบรรทัดใหม่ในเครื่องหมายคำพูด

ในรูบีภายในเครื่องหมายคำพูดสามารถขึ้นบรรทัดใหม่ได้อย่างอิสระ
# ruby
"กขค
งจช"
# "กขค\nงจช"

แต่ในไพธอนเครื่องหมายคำพูดธรรมดาจะทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องใช้เครื่องหมายคำพูดแบบ ๓ อันติดจึงจะทำแบบนั้นได้
# python
"""กขค
งจช"""
# 'กขค\nงจช'

ถ้าจะใช้ \ เพื่อขึ้นบรรทัดใหม่ก็ได้ แต่ก็จะไม่นับเป็นการขึ้นบรรทัดใหม่ แต่เหมือนเขียนต่อเนื่องกันไป
# python
"กขค\
งจช"
# 'กขคงจช'

จะเห็นว่าผลที่ได้ไม่มี \n โผล่มา

ซึ่งอันนี้หากทำในรูบีก็จะให้ผลแบบเดียวกัน
# ruby
"กขค\
งจช"
# 'กขคงจช'



ความจริงเท็จของค่าต่างๆ

ทั้งไพธอนและรูบีนั้นสามารถใช้ค่าที่ไม่ใช่ "จริง" หรือ "เท็จ" (เช่นพวกจำนวนตัวเลขหรือสายอักขระ) แทนลงไปเป็นเงื่อนไขใน if หรือ while แล้วค่าจะถูกตีความเป็นจริงเท็จ

ค่าความจริงเท็จสามารถหาได้โดยการเติม not not ลงไปข้างหน้าเหมือนกัน แต่ในรูบีสามารถใช้ !! ได้ด้วย ส่วนไพธอนก็อาจใช้ bool()
# ruby
not not 7 # true
!!8 # true

# python
not not 7 # True
bool(8) # True

ที่ต้องระวังคือการตีความจริงและเท็จของไพธอนและรูบีมีหลายส่วนที่แตกต่างกัน

ในรูบีค่านอกจาก false และ nil จะถูกตีความเป็นจริงทั้งหมด
# ruby
not not [] # true
not not {} # true
not not '' # true
not not 0 # true
not not false # false
not not nil # false

ในขณะที่ในไพธอน นอกจาก False และ None แล้วก็ยังมีอีกหลายกรณีที่อาจถูกตีความเป็นเท็จได้ เช่นลิสต์ว่าง [], สายอักขระเปล่า "" เลข 0
# python
not not [] # False
not not {} # False
not not '' # False
not not 0 # False
not not False # False
not not None # False



and or not

ในไพธอนและรูบีใช้ and และ or เพื่อผสมส่วนแสดงความจริงเท็จเหมือนกัน และใช้ not เพื่อทำให้ความเป็นจริงเท็จกลายเป็นในทางตรงกันข้ามเหมือนกัน

แต่ในรูบีสามารถใช้ && แทน and ใช้ || แทน or และใช้ ! แทน not ได้

อย่างไรก็ตาม ความหมายของ && || ! กับ and or not นั้นต่างกันเล็กน้อย แต่ขอไม่เขียนถึงตรงนี้เพราะเป็นรายละเอียดของภาษารูบีเอง

อนึ่ง รายละเอียดเรื่องการใช้ and และ or ในไพธอนดังที่กล่าวถึงในบทความนี้ก็สามารถใช้กับรูบีได้เหมือนกัน https://phyblas.hinaboshi.com/20190624

ความแตกต่างอย่างหนึ่งก็คือ ในรูบีเมื่อใช้ && หรือ || แล้วสามารถทำในสิ่งที่ไพธอนไม่สามารถทำได้ นั่นคือการเขียนแบบนี้
# ruby
a = nil
a ||= 5 # a กลายเป็น 5
a = 4
a ||= 5 # a เป็น 4 เหมือนเดิม

ในกรณีนี้หาก a มีค่าเดิมเป็น nil หรือ false แล้ว a จะถูกแทนด้วยค่าใหม่ที่อยู่หลัง ||= แต่ถ้านอกจากนั้นก็จะไม่มีการเปลี่ยนค่า

ให้ผลเหมือนกับการเขียนว่า
# ruby
a = 5 if(!a)

รูปแบบการเขียนแบบนี้หากใช้ or แทนจะเกิดข้อผิดพลาด ส่วนในไพธอนเองก็เช่นกัน ดังนั้นจึงทำแบบนี้ได้แค่ในรูบี

แต่ว่าการเขียนในแบบข้างต้นนั้นมีค่าเท่ากับการเขียนแบบนี้
# ruby
a = nil
a = a || 5
a = 4
a = a || 5

ซึ่งจะใช้ or แทน || ก็ได้เช่นกัน

ดังนั้นในกรณีที่เขียนแบบนี้จึงสามารถทำได้ในไพธอนเหมือนกัน
# python
a = None
a = a or 5 # a กลายเป็น 5
a = 4
a = a or 5 # a เป็น 4 เหมือนเดิม

จะให้ผลเหมือนการเขียนว่า
# python
if(not a): a = 5



การใช้เครื่องหมายเปรียบเทียบซ้อนกัน

ในไพธอนสามารถเอาเครื่องหมายเปรียบเทียบมาวางต่อกันกี่ตัวก็ได้
# python
a = 2
b = b
1 < a <= 3
2 > a >= 1
2 >= a < 3 < b
2 == a != b

ซึ่งจะมีค่าเท่ากับการเขียนโดยใช้ and เชื่อมแบบนี้
# python
1 < a and a <= 3 # True
2 > a and a >= 1 # False
2 >= a and a < 3 and 3 < b # True
2 == a and a != b # True

แต่ในรูบีไม่สามารถเอาเครื่องหมายเปรียบเทียบมาเรียงต่อกันได้ จึงเขียนได้แต่แบบล่างเท่านั้น
# ruby
a = 2
b = 4
1 < a and a <= 3 # true
2 > a and a >= 1 # false
2 >= a and a < 3 and 3 < b # true
2 == a and a != b # true



การแทนค่าเดียวใส่หลายตัวแปรพร้อมกัน

ทั้งในไพธอนและรูบีสามารถแทนค่าเดียวกันให้ตัวแปร ๒ ตัวในเวลาเดียวกันได้
# python และ ruby
a = b = 1

แบบนี้ผลก็คือการป้อนค่า 1 เข้าตัวแปร a และ b พร้อมกัน

เพียงแต่ว่าความหมายของการทำแบบนี้ต่างกันเล็กน้อย

สำหรับในรูบีเวลาที่ป้อนค่าให้ตัวแปรด้วย = จะมีการคืนค่ากลับมาด้วย ถ้าหากมีการใส่ = ไปทางซ้ายต่ออีกก็จะเป็นการป้อนค่าให้อีกตัว การคิดจะไล่จากขวาไปซ้าย

อาจใส่วงเล็บเพื่อให้เห็นภาพง่าย แบบนี้ให้ผลเหมือนเดิม
# ruby
a = (b = 1)

แต่ในไพธอนกลไกจะต่างกันไป ดังนั้นการเขียนแบบนี้จะเกิดข้อผิดพลาด



ใช้คีย์เวิร์ดแทนในฟังก์ชัน

ในไพธอน เวลาป้อนค่าให้ฟังก์ชันจะใส่ในรูปแบบอาร์กิวเมนต์ คือใส่ตามลำดับก็ได้ หรือว่าจะใส่ในรูปคีย์เวิร์ด คือระบุชื่อตัวแปรไปก็ได้
# python
def f(a,b):
    return [a,b]

f(3,4) # [3, 4]
f(4,3) # [4, 3]
f(a=3,b=4) # [3, 4]
f(b=3,a=4) # [4, 3]

จะเห็นว่าถ้าไม่ใส่คีย์เวิร์ดระบุค่าจะถูกป้อนให้ a กับ b ตามลำดับ แต่ถ้าใส่ก็จะไปแทนตามที่ระบุโดยไม่สนลำดับ

แต่ในรูบี หากสร้างฟังก์ชันด้วยวิธีแบบเดียวกันนี้ จะใส่คีย์เวิร์ดไม่ได้ เพียงแต่ว่าต่อให้ใส่ = ไปในลักษณะเดียวกับในไพธอนก็ไม่เกิดข้อผิดพลาด เพียงแต่ค่าจะถูกป้อนลงไปตามลำดับโดยไม่สนตัวที่อยู่ข้างหน้าเครื่องหมาย = อยู่ดี
# ruby
def f(a,b)
  return [a,b]
end

f(3,4) # [3, 4]
f(4,3) # [4, 3]
f(a=3,b=4) # [3, 4]
f(b=3,a=4) # [3, 4]

อย่างไรก็ตาม ที่การใส่แบบนี้ไม่เกิดข้อผิดพลาดก็เพราะคุณสมบัติของรูบีดังที่กล่าวในข้อที่แล้ว นั่นคือเมื่อใช้เครื่องหมาย = เพื่อป้อนค่าเข้าตัวแปรจะเป็นการคืนค่ากลับมา และค่านั้นถูกนำไปใช้ทำอะไรต่อได้

นั่นหมายความว่าการเขียน f(a=3,b=4) แบบนี้กลายเป็นการป้อนค่าให้ตัวแปร a และ b ไปด้วย แล้วยังป้อนให้ฟังก์ชัน f ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ต่างจากไพธอนที่จะตีความว่าเป็นการป้อนให้พารามิเตอร์ a และ b ของฟังก์ชัน f

ดังนั้นต่อให้เขียนแบบนี้ก็ได้ผลแบบเดิมเหมือนกัน
# ruby
f(c=4,d=5) # [4, 5]

แต่ถ้าใส่แบบนี้ในไพธอนจะเกิดข้อผิดพลาด เพราะจะตีความเป็นการป้อนค่าให้พารามิเตอร์ c และ d ซึ่งไม่มีอยู่
# python
f(c=4,d=5) # TypeError: f() got an unexpected keyword argument 'c'

ในรูบีหากต้องการสร้างฟังก์ชันที่ป้อนค่าแบบระบุคีย์เวิร์ดจะสร้างแบบนี้ คือเติม : ลงไปหลังชื่อตัวแปรตอนสร้างฟังก์ชัน พอตอนใช้ก็ใส่ในรูป :
# ruby
def f(a:,b:)
  return [a,b]
end

f(a:7,b:8) # [7, 8]

เพียงแต่พอเขียนแบบนี้ก็จะเป็นการบังคับให้ต้องป้อนแบบคีย์เวิร์ดเท่านั้น ไม่สามารถเลือกใส่แบบไหนก็ได้เหมือนอย่างในไพธอน



การละวงเล็บเมื่อสร้างทูเพิลหรืออาเรย์

เวลาสร้างอาเรย์ปกติจะต้องล้อมด้วย [] แต่จริงๆเวลาที่แทนค่าเข้าตัวแปรสามารถละ [] ได้ เช่น ๒​ แบบนี้ใด้ผลเหมือนกัน
# ruby
a = [1,2]
a = 1,2

การสร้างลิสต์ในไพธอนนั้นไม่สามารถละวงเล็บได้ ต้องเขียนวงเล็บเหลี่ยมลงไปชัดเจน
# python
a = [1,2]

หากละวงเล็บแบบเดียวกับที่ทำในรูบีก็ได้ แต่จะกลายเป็นทูเพิล ดังนั้นการเขียน ๒​ แบบนี้มีค่าเท่ากัน
# python
a = (1,2)
a = 1,2



ป้อนค่าตัวแปรหลายตัวพร้อมกัน

ทั้งไพธอนและรูบีเวลาใช้ = เพื่อป้อนค่าให้ตัวแปร หากฝั่งซ้ายมีหลายตัวก็จะยัดค่าทีเดียวพร้อมกันได้
# python หรือ ruby
a,b,c = 3,5,7
a # 3
b # 5
c # 7

อย่างไรก็ตาม กรณีที่จำนวนฝั่งซ้ายขวาไม่เท่ากัน ในไพธอนจะเกิดข้อผิดพลาด
# python
a,b,c = 3,5 # ValueError: not enough values to unpack (expected 3, got 2)
d,e = 3,5,7 # ValueError: too many values to unpack (expected 2)

แต่ในรูบีจะไม่เกิดข้อผิดพลาดใดๆ แค่ถ้าฝั่งซ้ายมากกว่า ตัวที่เกินมาจะเป็น nil
# ruby
a,b,c = 3,5
a # 3
b # 5
c # nil

ส่วนถ้าฝั่งขวามากกว่า ตัวที่เกินมาจะแค่ไม่ถูกนำมาใช้ แต่ก็ไม่เกิดข้อผิดพลาด
# ruby
d,e = 3,5,7
d # 3
e # 5

เพียงแต่ว่ายกเว้นกรณีที่ถ้าหากฝั่งซ้ายมีแค่ตัวเดียวแล้วฝั่งขวามีหลายตัว ในไพธอนจะกลายเป็นทูเพิล ส่วนในรูบีจะกลายเป็นอาเรย์ ดังที่เขียนถึงในหัวข้อก่อนหน้า
# python
z = 8,9
z # (8, 9)
z.__class__ # tuple

# ruby
z = 8,9
z # [8, 9]
z.class # Array



การบวกลบอาเรย์และลิสต์

ลิสต์ในไพธอนและอาเรย์ในรูบีหากนำมาบวกกันก็จะเป็นการเอามาต่อกัน
# python หรือ ruby
a = [1,2,4]
b = [4,5]
a+b # [1, 2, 4, 4, 5]

แต่หากนำมาลบกัน ในไพธอนจะเกิดข้อผิดพลาด เพราะลิสต์ไม่สามารถลบได้ หรือถ้าเป็นทูเพิลก็เช่นเดียวกัน
# python
a-b # TypeError: unsupported operand type(s) for -: 'list' and 'list'

แต่ในรูบีสามารถลบได้ โดยการลบจะหมายถึงการเอาสมาชิกที่เหมือนกับที่มีอยู่ในตัวทางขวาออกจากตัวซ้าย เหมือนเป็นการลบกันของเซ็ต
# ruby
a-b # [1, 2]



การใช้เซ็ต

ทั้งไพธอนและรูบีต่างก็มีออบเจ็กต์ในคลาสที่เรียกว่า Set อยู่ เอาไว้คำนวณในลักษณะของเซ็ต

จากข้อที่แล้ว ในไพธอนลิสต์และทูเพิลลบกันไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเซ็ตสามารถลบกันได้
# python
a = {1,2,4}
b = {4,5}
a-b # {1, 2}

ในไพธอนแค่คร่อมด้วย {} ก็เป็นการสร้างเซ็ตแล้ว แต่ในรูบีถ้าจะใช้ Set จำเป็นต้อง require เข้ามา แล้วก็ใช้ Set.new
# ruby
require 'set'
a = Set.new([1,2,4])
b = Set.new([4,5])
a-b # #<Set: {1, 2}>

เซ็ตของทั้ง ๒ ภาษาเหมือนกันคือไม่สามารถใส่สมาชิกซ้ำได้ แต่ก็มีข้อแตกต่างคือ ของรูบีมีการคิดลำดับของข้อมูล ในขณะที่ไพธอนไม่มี

เช่นลองเทียบเวลาสร้าง ของไพธอนจะถูกเรียงให้ใหม่ไม่ว่าจะป้อนตัวไหนไปก่อน
# python
s1 = {7,2,5,1}
s1 # {1, 2, 5, 7}
s2 = {5,2,1,7}
s2 # {1, 2, 5, 7}
s1 == s2 # True

แต่ในรูบีจะเห็นเรียงตามลำดับอยู่ เพียงแต่เวลาที่เอามาเทียบกันต่อให้ลำดับไม่เหมือนกันถ้าสมาชิกเหมือนกันก็ได้ true
# ruby
s1 = Set.new([7,2,5,1])
s1 # #<Set: {7, 2, 5, 1}>
s2 = Set.new([5,2,1,7])
s2 # #<Set: {5, 2, 1, 7}>
s1 == s2 # true



การเข้าถึงดัชนีหรือคีย์ที่ไม่มีอยู่

ในไพธอนถ้าพยายามเข้าถึงดัชนีที่ไม่มีอยู่ในลิสต์หรือคีย์ที่ไม่มีอยู่ในดิกชันนารีจะเกิดข้อผิดพลาด
# python
a = [5,6]
a[3] # IndexError: list index out of range
h = {'ก': 1, 'ข': 2}
h['ค'] # KeyError: 'ค'

แต่อาเรย์และแฮชในรูบีถ้าแทนตัวที่ไม่มีก็แค่ได้ nil แต่ไม่เกิดข้อผิดพลาด
# ruby
a = [5,6]
a[3] # nil
h = {"ก"=>1,"ข"=>2}
h["ค"] # nil

อย่างไรก็ตาม ดิกชันนารีไพธอนสามารถใช้ .get แทนได้ กรณีนี้จะให้ผลเหมือนแฮชในรูบี คือถ้าไม่มีก็ให้ None
# python
h.get('ค') # None



การเพิ่มสมาชิกเข้าอาเรย์หรือลิสต์

ในไพธอน ปกติถ้าจะเพิ่มสมาชิกเข้าไปจะต้องใช้ append หรือ extend หรือ +=[]
# python
a = [7,8]
a += [0]
a.append(0)
a.extend([0])
a # [7, 8, 0, 0, 0]

ส่วนในรูบีอาจใช้ push หรือ concat หรือ +=[] หรือ <<
# ruby
a = [7,8]
a += [0]
a.push(0)
a.concat([0])
a << 0
a # [7, 8, 0, 0, 0, 0]

และนอกจากนี้ ในรูบีถ้าแทนค่าลงไปในตำแหน่งที่เดิมทีไม่มีอยู่จะเป็นการใส่ค่าให้ตำแหน่งนั้น ส่วนค่าระหว่างนั้นจะถูกเติม nil ให้เอง
# ruby
a = [0,1]
a[6] = 9
a # [0, 1, nil, nil, nil, nil, 9]

ในไพธอนถ้าแทนตำแหน่งที่ไม่มีอยู่จะเกิดข้อผิดพลาด จึงทำแบบนี้ไม่ได้
# python
a = [0,1]
a[6] = 9 # IndexError: list assignment index out of range

อย่างไรก็ตาม ในรูบีกรณีที่ใช้ดัชนีเป็นค่าลบก็ไม่สามารถป้อนค่าได้เหมือนกัน
# ruby
b = [0,1,2]
b[-4] # nil
b[-4] = 4 # IndexError (index -4 too small for array; minimum: -3)



การเข้าถึงสมาชิกในลิสต์หรืออาเรย์ทีละหลายตัว

ในไพธอนเวลาจะเข้าถึงสมาชิกในลิสต์หรืออาเรย์ที่อยู่ติดกันหลายตัวพร้อมกันได้โดยเขียนเลขตัวเริ่มต้นและตัวหลังสุด คั่นด้วย :
# python
a = list(range(10,20))
a # [10, 11, 12, 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19]
a[3:5] # [13, 14]

การเขียนแบบนี้จะได้ค่าในตำแหน่งที่เริ่มจากตัวเร่ิมต้น แต่ตัวหลังสุดจะไม่ถูกรวมด้วย

ในรูบีมีสิ่งที่ทำได้คล้ายกันคือการเขียนคั่นด้วย ... แต่นอกจากนั้นก็อาจใช้ .. เพื่อให้รวมตัวหลังสุดด้วยได้ นอกจากนั้นอาจใช้ , เพื่อกำหนดจุดเริ่มต้นและจำนวนที่ต้องการ
# ruby
a = (10..19).to_a
a # [10, 11, 12, 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19]
a[3,5] # [13, 14, 15, 16, 17]
a[3..5] # [13, 14, 15]
a[3...5] # [13, 14]

ถ้าหากตัวหน้ามากกว่าตัวหลัง ในไพธอนจะเกิดข้อผิดพลาด
# python
a[4,2] # TypeError: list indices must be integers or slices, not tuple

แต่ในรูบีจะแค่ได้อาเรย์เปล่า
# ruby
a[4..2] # []
a[4...2] # []

สามารถละตัวหน้าหรือตัวหลังได้ ถ้าละตัวหน้าจะหมายถึงไล่ตั้งแต่ตัวแรก ถ้าละตัวหลังจะหมายถึงไล่จนถึงสุดท้าย

ในไพธอนทำแบบนี้ได้ไม่ว่าจะในเวอร์ชันไหน
# python
a[3:] # [13, 14, 15, 16, 17, 18, 19]
a[:5] # [15, 16, 17, 18, 19]

แต่สำหรับในรูบี เพิ่งเริ่มทำแบบนี้ได้ตั้งแต่เวอร์ชัน 2.6 ขึ้นไป ถ้าเป็นรุ่นก่อนหน้านี้จะเกิดข้อผิดพลาด
# ruby 2.6
a[3...] # [13, 14, 15, 16, 17, 18, 19]
a[..5] # [10, 11, 12, 13, 14, 15]

อย่างไรก็ตาม ไพธอนมีวิธีการใช้ที่ยืดหยุ่นกว่า ซึ่งรูบีไม่สามารถทำได้ คือกำหนดขั้นให้โดดข้ามได้ ไม่ต้องเรียงติดกันเสมอไป
# python
a[1:6:2] # [11, 13, 15]
a[::3] # [10, 13, 16, 19]



การใช้ join เชื่อมสายอักขระ

ทั้งไพธอนและรูบีมีคำสั่งในการเชื่อมสายอักขระหลายอันเข้าด้วยกัน ชื่อjoin เหมือนกัน แต่วิธีการใช้กลับตรงกันข้ามกัน

ของไพธอน join จะถูกเรียกโดยสายอักขระที่เป็นตัวเชื่อม
# python
a = 'ก','ข','ค'
'-'.join(a) # ได้ 'ก-ข-ค'

ส่วนในรูบี join จะถูกเรียกจากตัวอาเรย์
# ruby
a = 'ก','ข','ค'
a.join('-') # ได้ "ก-ข-ค"


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> ruby
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文