เมื่อปีเดือนสิงหาคมปี 2018 ได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองเซียงเก๋อหลี่ยา (香格里拉) มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นที่อาศัยของชาวทิเบต ทำให้ตอนนั้นได้เริ่มพยายามศึกษาอักษรทิเบตเพื่อจะได้อ่านออกเสียงได้ถูกเพื่อนำมาเขียนชื่อสถานที่หรือสิ่งต่างๆที่เจอมาเป็นภาษาทิเบตได้ถูกต้อง
แต่ว่าตอนนั้นได้แค่ศึกษาข้อมูลในเว็บ เช่นวิกิพีเดีย ซึ่งก็มีอยู่จำกัด ไม่ได้เข้าใจโดยถูกต้องละเอียดนัก และภาษาทิเบตมีความซับซ้อนพอสมควร จึงยังไม่ได้กำหนดหลักทับศัพท์ที่แน่นอน ไม่อาจทำได้โดยง่าย
แต่พอดีเมื่อตอนที่ไปญี่ปุ่นตอนเดือนมีนาคม 2019 มีโอกาสได้เจอหนังสือเรียนภาษาทิเบต ซึ่งเล่าไว้ใน
https://phyblas.hinaboshi.com/20190315ตอนนั้นก็ได้ซื้อเก็บไว้ แต่ไม่ได้ทีเวลาอ่านจริงจัง ยังไม่สะดวกทำอะไร
แต่ล่าสุดตอนช่วงปีใหม่ 2019-2020 จึงได้ตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง และทำความเข้าใจภาษาทิเบตให้มากขึ้น
อีกทั้งคราวนี้เปิดเจอบทเรียนภาษาทิเบตของไต้หวันใน youtube ด้วย ก็เอามาดูจนจบ เป็นข้อมูลประกอบไปด้วย
https://www.youtube.com/watch?v=rnOKRGUaHVQและบวกกับการที่อ่านข้อมูลจากในวิกิพีเดียและเว็บต่างๆเพิ่มเติม สุดท้ายจึงสรุปหลักการอ่านและเขียนทับศัพท์ภาษาทิเบตออกมาได้สำเร็จ
หลักการเขียนได้รวมรวมไว้ใน
https://phyblas.hinaboshi.com/20200105เพียงแต่ว่าแม้จะพยายามทำความเข้าใจหลักการอ่านแล้ว ก็ยังไม่ใช่ว่าจะทำให้อ่านได้ถูกต้องเสียทีเดียว
อักษรทิเบตถูกสร้างขึ้นมานานเกินกว่าพันปี สะท้อนเสียงอ่านสมัยนั้น แต่ในปัจจุบันเสียงอ่านได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีระบบวรรณยุกต์ที่ยุ่งยากเพิ่มเข้ามา และมีข้อยกเว้นมากมาย
ดังนั้นถ้าไม่ได้ให้เวลาศึกษาคุ้นเคยและมีโอกาสได้ใช้งานจริงๆก็คงไม่อาจมั่นใจได้ว่าจะอ่านได้ถูกต้องตามที่คนทิเบตจริงๆอ่าน
อีกทั้งภาษาทิเบตจริงๆแล้วก็มีหลายสำเนียง แม้จะยึดสำเนียงลาซ่า (拉萨) เป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงก็มีความหลากหลายในตัวสูงอยู่ หลายอย่างเสียงอ่านไม่ได้ตายตัว นักภาษาศาสตร์ก็เห็นไม่ตรงกันเรื่องมาตรฐานภาษาทิเบต
และอักษรทิเบตก็ไม่ได้แค่ถูกใช้เพื่อเขียนภาษาทิเบต แต่ยังมีการใช้เพื่อเขียนภาษาอื่นๆอีกมากมายในกลุ่มเดียวกับภาษาทิเบต เช่นภาษาจงกา (རྫོང་ཁ) หรือที่มักเรียกว่าภาษาภูฏาน ซึ่งเป็นภาษากลางที่ใช้ในประเทศภูฏาน และหลายภาษาของชนกลุ่มน้อยในภูฏาน เนปาล อินเดีย
จึงทำให้อาจได้ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับภาษาทิเบตต่างกันออกไปหลากหลายหากเปิดดูตำราคนละเล่ม หรือแหล่งเรียนรู้คนละที่
หลักการถอดเสียงอ่านที่ใช้เขียนในนี้จึงทำในลักษณะที่เหมาะกับการเรียนรู้ของคนไทยมากที่สุด มองข้ามข้อยกเว้นจุกจิกบางอย่างที่ไม่สำคัญ เลี่ยงความยุ่งยากหลายจุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงยุ่งยากอยู่ดี
แม้ตัวอักษรจะทำความเข้าใจยากพอสมควร แต่ก็เป็นอักษรที่สวยงาม จึงรู้สึกน่าสนใจศึกษาเรียนรู้
อักษรทิเบตวิวัฒนาการมาจากอักษรทางฝั่งอินเดียว เช่นเดียวกับอักษรของภาษาต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง ไทย ลาว เขมร พม่า แต่เทียบกันแล้วมีรูปร่างที่ดูงดงามน่าดึงดูดมากกว่า แต่ก็ยุ่งยากซับซ้อนกว่า
ภาษาทิเบตเป็นภาษากลุ่มใกล้เคียงกับภาษาพม่า จึงมีอะไรๆใกล้เคียงกัน แต่ก็มีความซับซ้อนไปคนละแบบ
ภาษาที่ใช้อักษรในกลุ่มนี้มีอยู่หลากหลาย แต่ละภาษาก็น่าสนใจน่าศึกษามากทีเดียว ถ้ามีโอกาสก็อยากลองเขียนบทความสรุปรวมเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่
บทความที่มีการเขียนภาษาทิเบตไว้ทั้งหมดมีไม่มาก แค่บันทึกเที่ยวเซียงเก๋อหลี่ลา และตอนที่ไปเที่ยวสวนชนเผ่าและพิพิธภัณฑ์ทิเบตในปักกิ่ง
https://phyblas.hinaboshi.com/20150606https://phyblas.hinaboshi.com/20150608https://phyblas.hinaboshi.com/20180426https://phyblas.hinaboshi.com/20180428https://phyblas.hinaboshi.com/20180430ทั้งหมดนี้ได้ย้อนไปอ่านและแก้วิธีการเขียนชื่อต่างๆให้เป็นไปตามหลักการที่กำหนดขึ้นมาใหม่แล้ว
นอกจากนี้ก็ขอเรียบเรียงชื่อทั้งหมดไว้ตรงนี้ เพื่อสะดวกต่อการค้น ตอนนี้ยังมีไม่มากเท่าไหร่ แต่หวังว่าจะมีโอกาสได้ไปเที่ยวลาซ่า ซึ่งเป็นใจกลางทิเบตจริงๆ แล้วคงมีอะไรให้เขียนถึงเยอะกว่านี้อีกมาก