φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



หอสังเกตการณ์ VLBI มิซึซาวะ กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๒๐ เมตร หอที่ระลึกคิมุระ ฮิซาชิ
เขียนเมื่อ 2023/10/24 22:05
แก้ไขล่าสุด 2023/12/11 09:22
# อาทิตย์ 22 ต.ค. 2023

หอสังเกตการณ์ VLBI มิซึซาวะ (水沢みずさわVLBI観測所かんそくじょ) เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในสังกัดของหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น ที่ตั้งอยู่ในเมืองโอวชู (奥州市おうしゅうし) จังหวัดอิวาเตะ ในภูมิภาคโทวโฮกุ

เมืองที่ตั้งอยู่นี้เดิมชื่อว่าเมืองมิซึซาวะ (水沢市みずさわし) แต่ในปี 2006 ได้มีการควรรวมเมืองนี้เข้ากับเมืองรอบข้างเกิดเป็นเมืองโอวชูขึ้น แต่ชื่อสถานที่นี้ก็ยังคงใช้ชื่อเดิมไม่ได้เปลี่ยนตามชื่อเมือง

ที่นี่แรกเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 1899 ซึ่งถือป็นหนึ่งในสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่น โดยแรกเริ่มนั้นมีชื่อว่าหอสังเกตการณ์ละติจูดมิซึซาวะ (水沢緯度観測所みずさわいどかんそくじょ) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำการวัดความเปลี่ยนแปลงของละติจูดภายใต้โครงการหอสังเกตการณ์ละติจูดนานาชาติ (国際緯度観測所こくさいいどかんそくじょ) ซึ่งร่วมมือกับอีกหลายประเทศ

โดยในโครงการนี้ได้มีการตั้งหอสังเกตการณ์ไว้ที่เส้นละติจูด 39° 08' ทั้งหมด ๖ แห่งทั่วโลกเพื่อทำการสังเกตการณ์ร่วมกันเพื่อเปรียบเทียบดูความเปลี่ยนแปลงของละติจูดที่วัดได้เพื่อศึกษาผลจากการส่ายของแกนหมุนของโลก และทางญี่ปุ่นก็ได้รับอาสาตั้ง ๑ จุดในนั้น โดยที่เมืองมิซึซาวะซึ่งอยู่ในละติจูดนี้ก็ได้รับเลือกเป็นสถานที่ตั้ง และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของที่นี่

ผู้ที่กำหนดเลือกสถานที่นี้เป็นที่ตั้งก็คือ คิมุระ ฮิซาชิ (木村きむら ひさし, ปี 1870-1943) และเขาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการหอสังเกตการณ์แห่งนี้ด้วย โดยเขาได้ทำงานที่นี่ไปจนตลอดชั่วชีวิต ได้มีผลงานสำคัญที่ทำให้เขามีชื่อเสียง และกลายเป็นบุคคลสำคัญของที่นี่ไป ฉะนั้นเมื่อจะเล่าถึงประวัติศาสตร์ของที่นี่ ก็มักจะต้องพูดถึงประวัติของเขาไปด้วย



คิมุระ ฮิซาชิ เกิดที่เมืองคานาซาวะ (金沢市かなざわし) จังหวัดอิชิกาวะ เรียนจบจากภาควิชาดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยหลวงโตเกียว และตั้งแต่ปี 1899 ได้มาทำงานที่หอสังเกตการณ์ละติจูดมิซึซาวะ และจากผลการสังเกตการณ์ที่นั่นทำให้หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้สร้างผลงานสำคัญคือค้นพบสิ่งที่เรียกว่า พจน์ z (zこう, z term) หรือบ้างทีก็ถูกเรียกว่า พจน์คิมุระ (木村項きむらこう) ตามนามสกุลของเขา

การค้นพบพจน์ z นั้นเป็นผลมาจากการวิเคราะห์ผลการสังเกตการณ์ละติจูดตั้งแต่ปี 1899 โดยเมื่อเทียบผลที่ได้จากหอสังเกตการณ์ต่างๆ ๖ แห่งแล้วพบว่าผลจากมิซึซาวะมีความคลาดเคลื่อนที่ทำให้ผลดูไม่น่าเชื่อถือ ทำให้คิรุมะสั่งให้ทำการตรวจสอบเครื่องมือและปัจจัยที่เกี่ยวข้องใหม่ แต่ก็ไม่พบอะไรผิดปกติ เขาจึงมั่นใจว่าต้องมีความคลาดเคลื่อนอะไรบางอย่างจากปัจจัยทางทฤษฎีที่ไม่รู้มาก่อน เขาจึงได้สรุปสิ่งนี้แล้วเผยแพร่เป็นผลงานตีพิมพ์ในปี 1902

นี่ถือเป็นผลงานทางด้านดาราศาสตร์แรกของชาวญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาตินับตั้งแต่ญี่ปุ่นเปิดประเทศในยุคเมย์จิ

โดยแต่เดิมนั้นความเปลี่ยนแปลงของละติจูด Δϕ นั้นถูกเขียนแสดงโดยสมการดังนี้

Δϕ = x cosλ + y sinλ

แต่คิมุระได้เพิ่มพจน์เข้าไปพจน์นึง โดยใช้สัญลักษณ์เป็น z กลายเป็น

Δϕ = x cosλ + y sinλ + z

และเมื่อเพิ่มเข้ามาแล้วก็พบว่าสามารถใช้อธิบายผลจากการสังเกตการณ์ได้เป็นอย่างดี จึงได้รับการยอมรับ และก็กลายเป็นที่มาของชื่อเรียกนี้

อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นที่มาของพจน์ z นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด หลังจากนั้นคิมุระก็ได้ใช้เวลาตลอดช่วงชีวิตที่เหลือของเขาในการทดลองเพื่อจะไขปริศนานี้ แต่ก็ไม่สำเร็จ

แต่แล้วในที่สุดในปี 1970 จึงได้มีงานวิจัยที่สามารถให้คำตอบนี้ได้ โดย วาโกว ยาสึจิโรว (若生わこう 康二郎やすじろう, ปี 1927-2011)

สาเหตุของพจน์ z มาจากการที่ภายในโลกไม่ได้เป็นเป็นของแข็งโดยสมบูรณ์ แต่มีชั้นที่หลอมเหลวอยู่ซึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการหมุน

น่าเสียดายว่าคิมุระได้เสียชีวิตไปก่อนแล้วในปี 1943 ไม่สามารถอยู่จนถึงวันที่เห็นความสำเร็จนี้



หอสังเกตการณ์มิซึซาวะนั้นเดิมทีใช้กล้องโทรทรรศน์เชิงแสงซึ่งสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นเป็นหลัก แต่ในปี 1987 ได้เริ่มมีการนำกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๓ เมตรมาติดตั้งและเริ่มใช้งาน ตามมาด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๑๐ เมตรในปี 1992 ที่นี่จึงกลายเป็นสถานที่สังเกตการณ์คลื่นวิทยุเป็นหลัก

ในปี 1999 ที่นี่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๒๐ เมตร ๔ แห่งในญี่ปุ่นเพื่อประกอบกันเป็น อินเทอร์เฟอโรเมทรีเส้นฐานยาวมาก (超長基線電波干渉法ちょうちょうきせんでんぱかんしょうほう, Very Long Baseline Interferometry) หรือเรียกย่อว่า VLBI โดยชื่อโครงการนี้คือ โครงการสำรวจมาตรดาราศาสตร์วิทยุ VLBI (VLBI Exploration of Radio Astrometry) เรียกย่อเป็น VERA

โดยนอกจากที่มิซึซาวะแล้วยังได้สร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๒๐ ไว้อีก ๓ แห่งคือ
- อิริกิ (入来いりき) จังหวัดคาโงชิมะ
- เกาะจิจิจิมะ (父島) หมู่เกาะโองาซาวาระ (ุ小笠原諸島おがさわらしょとう)
- เกาะอิชิงากิ (石垣島いしがきじま) จังหวัดโอกินาวะ

โดยการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุร่วมกันหลายแห่งแบบนี้ทำให้สามารถส่องสังเกตการณ์อวกาศได้ด้วยกำลังแยกภาพสูง มีส่วนช่วยในการศึกษาโครงสร้างของดาราจักรทางช้างเผือก

กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๒๐ เมตรที่มิซึซาวะสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2002 และหลังจากนั้นที่นี่จึงได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น หอสังเกตการณ์ VERA มิซึซาวะ (水沢みずさわVERA観測所かんそくじょ) ในปี 2006 ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบันในปี 2009



ปัจจุบันที่นี่นอกจากจะเป็นสถานสังเกตการณ์และการทำวิจัยทางดาราศาสตร์แล้ว ก็ยังเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาเที่ยวชมได้ด้วย โดยสามารถชมกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดต่างๆที่ติดตั้งอยู่ภายในนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนั้นแล้วภายในยังมีพิพิธภัณฑ์อวกาศโอวชู (奥州宇宙遊学館おうしゅううちゅうゆうがくかん) ซึ่งจัดแสดงข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับที่นี่ รวมถึงยังให้ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ทั่วไป และบางช่วงก็ยังจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย โดยที่นี่มีค่าเข้าชม ๓๐๐ เยน

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีหอที่ระลึกคิมุระ ฮิซาชิ (木村榮記念館きむらひさしきねんかん) ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับคิมุระ ฮิซาชิ โดยเฉพาะงานวิจัยต่างๆที่เขาทำที่นี่ รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องด้วย การเข้าชมในนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งพิพิธภัณฑ์และหอที่ระลึกเปิดเวลา 9:00-17:00 แต่จะปิดทุกวันอังคาร

การเดินทางมาทำได้โดยนั่งรถไฟมาลงที่สถานีมิซึซาวะ (水沢駅みずさわえき) ซึ่งเป็นสถานีหลักใจกลางเมืองโอวชู แล้วก็เดินจากสถานีมา ระยะทาง ๑.๕ กม.

หรืออาจนั่งชิงกันเซงมาลงสถานีมิซึซาวะเอซาชิ (水沢江刺駅みずさわえさしえき) แล้วนั่งรถเมล์เข้าเมืองมาลงที่ป้ายรถเมล์จูโอวโดริซันโจวเมะ (中央通ちゅうおうどお三丁目さんちょうめ) แล้วเดินประมาณ ๑ กม.



อีกอย่างที่น่าพูดถึงก็คือ ที่นี่มีความเกี่ยวพันกับมิยาซาวะ เคนจิ (宮沢みやざわ 賢治けんじ, ปี 1896-1933) นักแต่งนิยายชื่อดังคนหนึ่งของญี่ปุ่นด้วย

เนื่องจากมิยาซาวะเป็นชาวเมืองฮานามากิ (花巻市はなまきし) ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองมิซึซาวะ และเขาก็มีความสนใจด้านดาราศาสตร์ ดังที่เห็นได้จากผลงานนิยายที่เขาเขียน ช่วงที่เขาทำงานเป็นครูอยู่ในโรงเรียนที่เมืองฮานามากิ เขาได้เดินทางมาเยี่ยมเยือนหอสังเกตการณ์มิซึซาวะอยู่หลายครั้ง

เชื่อกันว่าผลงานชื่อดังของเขาคือเรื่อง รถไฟสายทางช้างเผือก (銀河鉄道ぎんがてつどうよる) ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่นี่เอง

นอกจากนี้ในผลงานเรื่องสั้น ทสึจิงามิโตะคิตสึเนะ (土神つちがみきつね) และ คาเซะโนะมาตาซาบุโรว (かぜ又三郎またさぶろう) ก็มีปรากฏหอสังเกตการณ์มิซึซาวะในเรื่อง และยังมีตัวละครที่ชื่อว่า ดร. คิมุระ (木村博士きむらはかせ) ปรากฏด้วย ซึ่งก็คือคิมุระ ฮิซาชินั่นเอง

ฉะนั้นแล้วตัวละครมาตาซาบุโรว ตัวเอกของเรื่องนี้ ก็เลยได้ถูกนำมาใช้เป็นตัวละครมาสคอตของพิพิธภัณฑ์อวกาศโอวชูไปด้วย



หลังจากอธิบายถึงภาพรวมของสถานที่นี้เสร็จแล้ว ต่อมาขอเล่าบันทึกการเดินทางมาเยี่ยมชมที่นี่

บทความนี้เขียนต่อจากบันทึกการเที่ยวเมืองโอวชูตอนที่แล้วที่นั่งรถเมล์จากสถานีมิซึซาวะเอซาชิ มาถึงย่านใจกลางเมืองแล้วเดินต่อมาจนถึงที่นี่ https://phyblas.hinaboshi.com/20231023

ด้านหน้าทางเข้าหอสังเกตการณ์ VLBI มิซึซาวะ



เข้ามาถึงก็เจออาคารหลักก่อนเลย นี่เป็นสถานที่ทำงานวิจัย ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้า ดังนั้นก็ให้เดินผ่านไปทางขวาต่อเลย




เมื่อเดินเข้ามาก็จะเจออาคารพิพิธภัณฑ์อวกาศโอวชู ซึ่งสามารถเข้าชมได้ และมองไปด้านหลังก็จะเห็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ๒๐ เมตรตั้งเด่นอยู่



ก่อนอื่นเรายังไม่เข้าไปในพิพิธภัณฑ์ แต่เริ่มจากไปชมส่วนกลางแจ้งก่อนเลย ซึ่งประกอบไปด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดต่างๆ และอุปกรณ์เครื่องมือหรือสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง



เริ่มจากห้องเล็กๆตรงนี้ ภายในบรรจุหลอดไฟ เอาไว้เป็นตัวกำหนดทิศให้กับกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์ละติจูดซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้จากที่นี่ ๑๐๐ เมตรพอดี




ตรงนี้เป็นส่วนของเครื่องจักร ห้ามเข้าใกล้




ส่วนนั้นถูกเชื่อมต่อเข้ากับห้องซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการคำนวณเพื่อการวิจัยของที่นี่



ป้ายอธิบายเกี่ยวกับห้องซูเปอร์คอมพิวเตอร์นี้ โดยที่นี่มีชื่อเล่นว่า อาเตรุย II (アテルイ II) โดยชื่อนี้มีที่มาจากชื่อวีรบุรุษในตำนานของภูมิภาคแถบนี้



ถัดมาตรงนี้คือห้องที่เอาไว้ใช้สังเกตการณ์ละติจูดในช่วงปี 1899-1927 ผลการสังเกตการณ์ที่นำไปสู่การค้นพบพจน์ z ก็มาจากที่นี่เอง โดยตอนสังเกตการณ์หลังคาจะเปิดออกแล้วกล้องโทรทรรศน์ที่ใส่ไว้ด้านในก็ส่องขึ้นฟ้า



และข้างๆนั้นมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๓ เมตรตั้งอยู่ นี่เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุตัวแรกของที่นี่ซึ่งติดตั้งในปี 1987



ป้ายอธิบายเกี่ยวกับเรื่องการสังเกตการณ์ที่ละติจูด 39° 08' ตั้งอยู่ทางตะวันออกของห้องสังเกตการณ์



เดินต่อเข้ามามีแผ่นป้ายอธิบายเกี่ยวกับขนาดของเอกภพ



ส่วนตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับ VERA แสดงตำแหน่งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๒๐ เมตรทั้ง ๔ แห่ง ซึ่งรวมกันทำให้เหมือนเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ ๒๓๐๐ กิโลเมตร



อธิบายการทำแผนที่ดาราจักรทางช้างเผือกโดย VERA



และเดินเข้ามาด้านในสุดก็เข้าใกล้กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๒๐ เมตรซึ่งเป็นจุดเด่นสุดของที่นี่




นักท่องเที่ยวสามารถชมกล้องนี้จากรอบๆได้ แต่ไม่สามารถเข้าไปใกล้ได้



ข้างๆกันนั้นเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด ๑๐ เมตร




ชมด้านในเสร็จหันกลับมามองส่วนอาคารหลักและส่วนอาคารพิพิธภัณฑ์ สามารถถ่ายทั้ง ๒ ตึกนี้เรียงคู่กันได้



ส่วนทางตะวันออกไม่ใช่ส่วนที่เปิดให้คนเข้าชม แต่ไว้สำหรับคนที่ทำงานวิจัยที่นี่



หลังจากชมด้านในเสร็จเราก็ย้อนกลับมาตรงใกล้ทางเข้า ตรงนี้มีหอที่ระลึกคิมุระ ฮิซาชิ ตัวอาคารนี้จริงๆแล้วเป็นอาคารหอสังเกตการณ์เก่าที่ถูกใช้ในช่วงปี 1900-1921 และแน่นอนว่าคิมุระเองก็เคยนั่งทำงานอยู่ที่นี่ด้วย หลังจากที่อาคารหลักย้ายไปที่อื่นแล้วอาคารนี้ก็ยังใช้เป็นห้องทำวิจัยต่อมา และในที่สุดก็ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นหอที่ห้องจัดแสดงจึงถึงปัจจุบัน



ด้านหน้าอาคารมีรูปปั้นของคิมุระอยู่



เดินเข้ามาชมด้านใน



เริ่มจากห้องนี้ เป็นห้องทำงานของผู้อำนวยการ ซึ่งคิมุระเองก็เคยนั่งทำงานอยู่ที่ห้องนี้




กลางห้องเป็นโต๊ะทำงาน พร้อมวางแผ่นกระดาษเขียนร่างงานวิจัยและลูกคิดอยู่




โต๊ะที่อยู่ตรงมุมห้องมีวางกล้องวัดมุม



จากนั้นห้องถัดมาข้างๆกันนั้นเป็นห้องสังเกตการณ์



ตรงกลางห้องวางกล้องโทรทรรศน์ที่เคยใช้สังเกตการณ์ละติจูด



ข้างๆนั้นเป็นแผ่นบันทึกผลการสังเกตการณ์ของคิมุระ



ป้ายนี้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องการสังเกตการณ์ละติจูดที่นี่



ต่อมาเป็นทางเดินระหว่างห้อง



บนผนังก็มีอธิบายเกี่ยวกับการสังเกตการณ์ละติจูดที่หอสังเกตการณ์แห่งต่างๆทั่วโลกที่มิซึซาวะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนั้น



ถัดมาเป็นห้องที่จัดแสดงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเรื่องพจน์ z



ตรงกลางมีเครื่องวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบโอโมริ (大森式おおもりしき地震計じしんけい) ซึ่งคิดขึ้นโดยโอโมริ ฟุซากิจิ (大森おおもり 房吉ふさきち, ปี 1868-1923) นักธรณีวิทยาชาวญี่ปุ่น ที่นี่เองก็มีการติดตั้งอุปกรณ์นี้ไว้เพื่อใช้วัดแผ่นดินไหวด้วย



อธิบายการเคลื่อนที่ของแกนหมุนโลก



กล้องโทรทรรศน์จอมฟ้า



มีหน้าจอที่สามารถกดเปิดดูวิดีโออธิบายประวัติของคิมุระ ฮิซาชิ เรานั่งดูอยู่ตรงนี้ ความยาว ๔ นาทีกว่า



เครื่องวัดความกดอากาศ มีไว้วัดความกดอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่นี่ได้



ถัดมาห้องสุดท้ายนี้เป็นส่วนที่จัดแสดงชีวประวัติของคิมุระ





ตรงนี้มีกล่องที่กดเปิดฟังเสียงของคิมุระดูได้





การชมภายในหอที่ระลึกก็จบเท่านี้ ภายในเล็กนิดเดียวเดินไม่นานก็เสร็จ ต่อมาก็ได้เวลาเข้าชมส่วนพิพิธภัณฑ์อวกาศโอวชู

เนื่องจากยาวมากแล้ว ส่วนของการเข้าชมภายในพิพิธภัณฑ์จะแยกไปเขียนในอีกตอน https://phyblas.hinaboshi.com/20231025



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> อิวาเตะ
-- ดาราศาสตร์
-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์ >> พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文