φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



นั่งรถไฟจากคารัตสึไปตามสายจิกุฮิกลับฟุกุโอกะ แวะกินราเมงแถวสถานีคิวไดงักเกงโทชิ
เขียนเมื่อ 2025/04/03 20:50
แก้ไขล่าสุด 2025/04/04 04:36
# เสาร์ 29 มี.ค. 2025

บันทึกเรื่องการเที่ยวต่อจากที่ไปเที่ยวถึงเมืองคารัตสึแล้วก็ได้เวลาเดินทางกลับ https://phyblas.hinaboshi.com/20250402

สำหรับขากลับนั้นนั่งรถไฟ ต่างจากตอนขามาที่นั่งรถเมล์ โดยที่สถานีคารัตสึนั้นอยู่บนทางรถไฟสายจิกุฮิ (筑肥線ちくひせん) ซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับรถไฟใต้ดินสายสนามบิน (空港線くうこうせん) ของฟุกุโอกะซึ่งมีปลายทางอยู่ที่สถานีสนามบินฟุกุโอกะ (福岡空港駅ふくおかくうこうえき) ดังนั้นจึงสามารถนั่งรถไฟโดยตรงจากที่นี่ไปถึงสถานีฮากาตะ และไปจนถึงสนามบินฟุกุโอกะได้เลย ถือว่าสะดวกมาก

อย่างไรก็ตาม รถไฟขบวนที่วิ่งตรงระหว่างคารัตสึถึงฮากาตะโดยไม่ต้องเปลี่ยนรถนั้นมีไม่มาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องเปลี่ยนขบวนเอาที่สถานีจิกุเซงมาเอบารุ (筑前前原駅ちくぜんまえばるえき) ซึ่งอยู่ในเมืองอิโตชิมะ (糸島市いとしまし) เมืองทางตะวันตกสุดของจังหวัดฟุกุโอกะ เป็นตัวคั่นระหว่างเมืองคารัตสึกับเมืองฟุกุโอกะ

แต่ก็โชคดีที่ว่าจังหวะที่เราจะเดินทางกลับนั้นเป็นขบวนที่วิ่งถึงโดยตรง จึงไม่ต้องไปเปลี่ยนรถตรงนั้น และรถไฟขบวนที่เชื่อมตรงนั้นเป็นแบบด่วนด้วย จึงข้ามพวกสถานีที่ไม่ค่อยสำคัญไปส่วนหนึ่ง ทำให้ค่อนข้างเร็ว

เพียงแต่ครั้งนี้เราตัดสินใจแวะลงที่สถานีคิวไดงักเกงโทชิ (九大学研都市駅きゅうだいがっけんとしえき) เพื่อหาอะไรกินก่อนกลับ

สถานีนี้ที่จริงแล้วเราเคยแวะมาทีนึงแล้วตอนที่ไปเที่ยวฟุตามิงาอุระ (見ケ浦ふたみがうら) กับเพื่อน เล่าไว้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20241211

ตัวสถานีคิวไดงักเกงโทชินั้นเป็นสถานีที่อยู่เกือบสุดขอบทางตะวันตกสุดของเมืองฟุกุโอกะ แค่ไปอีกนิดก็ข้ามไปเป็นเมืองอิโตชิมะแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นสถานีที่เชื่อมต่อไปสู่มหาวิทยาลัยคิวชูจึงมีความสำคัญและคับคั่งในระดับนึง



รถไฟที่เราได้นั่งนั้นเป็นรถไฟแบบเร็วรอบเวลา 16:02 ปลายทางอยู่ที่สถานีสนามบินฟุกุโอกะ



และข้างๆนั้นยังมีรถไฟที่เตรียมจะออกรอบ 16:12 อยู่ด้วย เป็นรถไฟธรรมดาที่ไปถึงแค่สถานีจิกุเซงมาเอบารุ



ที่หัวขบวนของรถไฟที่จะขึ้น



จากนั้นรถไฟก็ออกตามเวลา มาจอดที่สถานีแรกคือสถานีวาตาดะ (和多田駅わただえき) แถวนี้ยังอยู่ภายในเขตเมืองคารัตสึ



ทิวทัศน์หลังจากออกจากสถานีนี้มาระหว่างที่ข้ามแม่น้ำมัตสึอุระ (松浦川まつうらがわ)



แล้วก็มาจอดที่สถานีฮิงาชิคารัตสึ (東唐津駅ひがしからつえき) ทางตอนตะวันออกของเมืองคารัตสึ



หลังจากนั้นรถไฟก็ผ่านสถานีนิจิโนะมัตสึ (にじ松原駅まつばらえき) แต่ก็ไม่ได้จอดเพราะเป็นรถไฟด่วน

สถานีถัดมาที่มาจอดคือสถานีฮามาซากิ (浜崎駅はまさきえき) จากภายในรถไฟมองออกไปก็ยังเห็นซากุระบานสวยอยู่หน้าสถานี



หลังจากนั้นรถไฟก็ออกจากเขตเมืองคารัตสึและจังหวัดซางะ กลับเข้าสู่เขตเมืองอิโตชิมะของจังหวัดฟุกุโอกะ
ต่อมารถไฟก็มาหยุดอยู่ที่สถานีไดนิว (大入駅だいにゅうえき) แต่ไม่ได้เปิดให้ผู้โดยสารขึ้นลง



ระหว่างที่รถไฟจอดอยู่ที่สถานีนี้ก็ลองมองไปเห็นทิวทัศน์รอบๆสวยดี



มองออกไปเห็นฝั่งโน้นมีร้านนางาฮามะราเมง (長浜ながはまラーメン) ด้วย



จากนั้นรถไฟก็มาจอดที่สถานีถัดไปคือสถานีจิกุเซงฟุกาเอะ (筑前深江駅ちくぜんふかええき)



แล้วต่อมาจึงข้ามอีกหลายสถานีแล้วมาจอดที่สถานีจิกุเซงมาเอบารุ ซึ่งเป็นสถานีใจกลางของเมืองอิโตชิมะ และเป็นจุดที่ต้องมาเปลี่ยนขบวนรถไฟถ้าหากที่เรานั่งมาไม่ใช่ขบวนรถไฟด่วน แต่ที่เรานั่งมาคราวนี้เป็นรถไฟด่วนจึงไม่ต้องลงที่นี่ นั่งไปต่อได้เลย



แล้วรถไฟก็ข้ามอีกหลายสถานี เข้ามายังเขตเมืองฟุกุโอกะ แล้วก็จอดที่สถานีต่อไปคือสถานีคิวไดงักเกงโทชิ ซึ่งเป็นสถานีที่เราลง



ออกมาทางฝั่งเหนือของสถานี



ที่ด้านหน้าสถานีก็เห็นซากุระบานอยู่ด้วย



แล้วเดินมาทางตะวันตกเลียบริมทางรถไฟก็มีต้นซากุระเรียงรายอยู่และกำลังบานสวย







แถวต้นซากุระหมดแค่นี้



จากนั้นเดินต่อข้ามไปทางโน้นก็เจอร้านราเมงไดกิจิ (ラーメン大吉だいきち) ซึ่งก็น่ากินเหมือนกันแต่ว่าร้านนี้เปิดแค่ช่วงมื้อเที่ยง ตอนนี้ปิดอยู่



จากนั้นเดินต่อ




ผ่านร้านฟุกุเซงเกี๊ยวซ่า (福泉餃子ふくせんぎょうざ) เป็นร้านอาหารจีน ชื่อร้านว่าเกี๊ยวซ่าแต่ขายหลายอย่าง รวมถึงราเมงด้วย



แล้วก็มาถึงร้านกันโสะอิโตชิมะราเมงโดวระ (元祖糸島がんそいたしまラーメン銅鑼どうら) ซึ่งเป็นร้านเป้าหมายที่เราตั้งใจจะมากินครั้งนี้ ร้านนี้เป็นร้านพี่น้องกับร้านไซตานิยะ (西谷家さいたにや) ซึ่งอยู่ที่ย่านโนกะตะซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มากในเขตนิชิเหมือนกัน แล้วก็มีสาขาที่อยู่ในเมืองอิโตชิมะด้วย



ภายในร้าน ดูกว้างขวางดีทีเดียว



มุมโน้นมีโทรทัศน์กำลังเปิดอยู่ด้วย แล้วระหว่างที่เราอยู่ในร้านก็มีฉายเรื่องแผ่นดินไหว 28 มีนาคมในพม่าที่กระทบมาถึงไทยจนทำตึกถล่มในกรุงเทพฯด้วย พอดีเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานพอดี ต่างชาติก็ให้ความสนใจกับภัยพิบัติคราวนี้อยู่เหมือนกัน



เมนู ดูแล้วมีราเมงหลายชนิดดี ทั้งราเมงกระดูกหมู ราเมงโชวยุ ราเมงเกลือ แล้วก็มีราเมงมิโสะแบบเผ็ด ครั้งนี้เราเลือกสั่งราเมงโชวยุ ราคา ๘๐๐ เยน ในนี้ใช้ชื่อเมนูว่าเป็น อิโตชิมะจูกะโซบะ (糸島中華いとしまちゅうかそば) แต่ก็ไม่ใช่โซบะ เพราะคำว่าจูกะโซบะก็หมายถึงราเมง โดยเฉพาะมักหมายถึงราเมงโชวยุ



นอกจากนั้นเปิดดูอีกหน้าก็เจอจัมปงอาหารทะเลด้วย ดูแล้วก็น่าสน แต่ว่าตอนกลางวันเพิ่งกินพวกปลาหมึกมาเลยคิดว่ามื้อนี้กินแค่ราเมงธรรมดาที่ใส่เนื้อหมูดีกว่า นอกจากนี้ก็เลือกสั่งเห็ดหูหนู (キクラゲ) เพิ่ม ราคา ๑๐๐​ เยน



แล้วราเมงก็มา ตามด้วยเห็ดหูหนูที่มาเป็นชามแยกไม่ได้ใส่ลงมาเลย แต่ว่าดูปริมาณแล้วจัดเต็มเยอะมากทีเดียว



ก่อนกินก็เอาเห็ดหูหนูทั้งหมดมาใส่ลงในชาม แล้วก็เติมขิงดองเบนิโชวงะแบบจัดเต็มพร้อมกับโรยหน้างาด้วย พอรวมกับต้นหอมหั่นและหน่อไม้ที่ใส่อยู่แล้วก็ทำให้ชามนี้เต็มไปด้วยของที่ดีต่อสุขภาพทั้งนั้น ทั้งยังอร่อยด้วย ไม่ผิดหว้งที่มากินที่นี่เลย



หลังจากกินเสร็จก็เดินกลับสถานี โดยใช้เส้นทางต่างไปจากตอนขามาเล็กน้อย ระหว่างทางก็ผ่านร้าน MK ด้วย เจอโดยบังเอิญ



ตอนแรกก็ไม่รู้ว่ามี MK อยู่ในที่แบบนี้ด้วย เป็น MK แห่งที่ ๔ ที่เจอในเมืองฟุกุโอกะแล้ว หลังจากที่เคยเจอไป ๓ ที่ ซึ่งเล่าถึงไปแล้ว

- เวสต์คอร์ตเมย์โนฮามะ https://phyblas.hinaboshi.com/20250102
- ย่านโดอิ https://phyblas.hinaboshi.com/20250211
- แบรนช์ฮากาตะ ย่านจิโยะ https://phyblas.hinaboshi.com/20250322

แต่ที่เราไปกินมาจริงๆก็คือแค่ที่สาขาโดอิเท่านั้น ที่อื่นแค่เจอโดยบังเอิญ เช่นเดียวกับครั้งนี้



ตรงนี้มีร้านนางาฮามาราเมงริกิมารุ (長浜ながはまラーメン力◯りきまる) นอกจากนี้ก็ยังมีร้านราเมงร้านอื่นๆอีก แถวนี้ดูแล้วก็เต็มไปด้วยร้านราเมงไม่น้อยเลยทีเดียว ไว้ถ้ามีโอกาสแวะมาอีกก็อยากได้แวะกินร้านอื่นด้วยเหมือนกัน



นอกจากนี้ก็มีร้านสึเกซังอุดง (すけさんうどん) เป็นร้านอุดงชื่อดังที่มีหลายสาขาทั่วฟุกุโอกะ และกำลังจะขยายไปทั่วญี่ปุ่น แต่แถวสถานีฮากาตะกับแถวที่เราอยู่กลับไม่มีสักร้าน



จากนั้นก็มาถึงถนนหน้าสถานี จากตรงนี้ตรงไปก็ถึงสถานี



แล้วก็กลับเข้าสถานีไปนั่งรถไฟเดินทางกลับ



เท่านี้ก็สิ้นสุดการเที่ยวคารัตสึที่ปิดท้ายด้วยร้านราเมงในฟุกุโอกะลง เป็นวันนึงที่ได้เที่ยวสนุกพอใจเต็มที่เลย

ขอปิดท้ายด้วยภาพของกินเล่นที่ซื้อมาจากฟุรุซาโตะไคกังอาร์ปีโนเมืองคารัตสึ แกะกล่องมาข้างในก็มี ๓ ห่อแบบนี้ เอามาเริ่มเปิดกินไปห่อหนึ่งตอนคืนนั้นหลังจากที่กลับมา




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ซางะ
-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฟุกุโอกะ
-- ท่องเที่ยว >> ราเมง
-- ท่องเที่ยว >> ดอกซากุระ
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงและบะหมี่ในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文