φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



maya python เบื้องต้น บทที่ ๓: การจัดวางวัตถุ
เขียนเมื่อ 2016/03/10 16:04
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
ในบทที่แล้วเราได้เรียนรู้วิธีการสร้างวัตถุขึ้นมาแล้ว แต่วัตถุที่สร้างมานั้นทั้งหมดถูกวางอยู่ที่จุดกึ่งกลางจุดเดิมจุดเดียว ทั้งหมด ดังนั้นในบทนี้จะพูดถึงการทำให้วัตถุไปอยู่ที่จุดอื่น

ฟังก์ชันที่ใช้ในการย้ายตำแหน่งวัตถุคือ move()

ขอยกตัวอย่าง โดยเริ่มต้นพิมพ์ตามนี้
import maya.cmds as mc
mc.polyCube(w=2,h=2,d=3)
mc.move(2,5,3)

แบบนี้แล้วก็จะปรากฏทรงสี่เหลี่ยมขนาด (2,2,3) ที่ตำแหน่ง x=2,y=5,z=3



โดยปกติแล้ววัตถุที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุด (0,0,0) คือจุดกึ่งกลาง หรือจุดกำเนิดนั่นเอง ดังนั้นหากต้องการให้มันไปอยู่จุดอื่นก็ต้องย้ายมันหลังจากที่สร้างไปแล้ว อีกที

ฟังก์ชัน move() จะทำการย้ายวัตถุที่เลือกอยู่ไปยังตำแหน่งที่ระบุไว้ ในที่นี่จะทำการย้ายวัตถุที่เพิ่งสร้างเสร็จทันทีเนื่องจากวัตถุที่เพิ่งสร้างเสร็จจะอยู่ในสภาพถูกเลือกอยู่แล้ว

แต่ถ้าใครที่พิมพ์ฟังก์ชัน polyCube() เพื่อสร้างวัตถุขึ้นมาก่อนแล้ว จะพิมพ์ move() ต่อไปเลยก็ได้ เพียงแต่ต้องระวังว่าวัตถุนั้นจะต้องอยู่ในสภาพถูกเลือกอยู่ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการเคลื่อนย้ายใดๆ

สิ่งสำคัญที่น่าสังเกตก็คือ สิ่งที่อยู่ภายในวงเล็บของฟังก์ชันนี้คือค่าตัวเลขซึ่งไม่มีตัวแปร (แฟล็ก) ใดๆ มารองรับ ซึ่งจะแตกต่างจากฟังก์ชัน polyCube() ซึ่งต้องมี w=,h=,d=

ค่าตัวเลขที่อยู่ภายในวงเล็บของฟังก์ชัน move() นั้นเรียกว่าอาร์กิวเมนต์ (argument) เป็นตัวแปรหลักที่ระบุตายตัวอยู่แล้วว่าจะต้องใส่อะไรลงไปบ้าง จึงไม่ต้องมีตัวแปรมาเป็นตัวรับ แต่จะต้องใส่ให้ถูกต้องตามลำดับ จะสลับกันไม่ได้เลย

อย่างกรณีของ move() นั้นอาร์กิวเมนต์ลำดับที่ ๑, ๒, ๓ เป็นตำแหน่งในแกน x, แกน y และ z ตามลำดับ

แต่ไม่ใช่ว่าจะต้องใส่อาร์กิวเมนต์ทั้งหมดจึงจะทำงาน ในแต่ละฟังก์ชันมีกำหนดจำนวนอาร์กิวเมนต์สูงสุดและต่ำสุดอยู่ สำหรับ move() นั้นอาจไม่ต้องมีอาร์กิวเมนต์เลยสักตัวเลยก็ได้ เช่นพิมพ์ mc.move() ผลที่ได้ก็คือวัตถุจะได้ไปอยู่ที่ตำแหน่ง (0,0,0) เพราะอาร์กิวเมนต์ที่ไม่ได้ระบุค่าจะถือว่าได้รับค่าเป็นค่าตั้งต้น ในทีนี้คือ 0

หรือกรณีใส่แค่ตัวเดียวมันจะเป็นการระบุค่าการเคลื่อนที่ในแนวแกน x อย่างเดียวส่วนแนวแกน y และ z จะเป็น 0

และก็ไม่ใช่ว่าฟังก์ชันที่มีอาร์กิวเมนต์แล้วจะไม่มีแฟล็ก ทุกฟังก์ชันล้วนมีแฟล็กอยู่ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะใส่หรือเปล่า ทั้งแฟล็กและอาร์กิวเมนต์เป็นสิ่งที่จะใส่ก็ได้ไม่ใส่ก็ได้ ขึ้นกับเงื่อนไขของฟังก์ชัน

หากจะใส่แฟล็กลงไปในฟังก์ชันที่มี อาร์กิวเมนต์อยู่แล้ว จะต้องใส่ไว้ข้างหลังต่อจากอาร์กิวเมนต์ตัวสุดท้าย เช่น ในที่นี้จะขอแนะนำแฟล็กที่สำคัญตัวหนึ่งก่อน นั่นคือ r(relative)

เพื่อให้เห็นภาพลองทำตามดูโดยให้กดเลือกวัตถุที่ถูกย้ายตำแหน่งไปแล้วในตัวอย่างข้างต้น (ใครลบไปแล้วก็สร้างใหม่) จากนั้นพิมพ์
mc.move(0,0,2,r=1)

เสร็จ แล้วก็จะพบว่าวัตถุเลื่อนไปตามแนวแกน z อีก ๒ หน่วย หากลองพิมพ์ซ้ำใหม่ก็จะเห็นมันเลื่อนไปอีก ๒ หน่วย ถ้าลองเปลี่ยนเป็น mc.move(0,0,-2, r=1) มันก็จะเลื่อนกลับไป

สามารถใช้วิธีการใช้เมาส์ ลากคลุมโค้ดแล้วค่อยกด ctrl+enter ข้อความจะไม่หายไป กดซ้ำได้เรื่อยๆ แล้วจะเห็นวัตถุเลื่อนไปเรื่อยๆทุกครั้งที่กด

ทีนี้ลองใหม่โดยเปลี่ยนเป็น
mc.move(0,0,2,r=0)

คราวนี้จะพบว่าวัตถุถูกย้ายไปอยู่ตำแหน่ง (0,0,2) แทนที่จะเป็นการย้ายตามแกน z ๒ หน่วย

แฟล็ก r ในที่นี้เป็นตัวระบุว่าเราจะเคลื่อนที่แบบสัมบูรณ์หรือสัมพัทธ์ ถ้าระบุ r=0 จะเป็นสัมบูรณ์ ก็คือย้ายไปยังตำแหน่งที่เทียบกับจุดกึ่งกลาง แต่ถ้า r=1 จะเป็นสัมพัทธ์ คือเทียบกับตำแหน่งเดิม

โดยทั่วไปแล้วหากไม่ระบุ แฟล็ก r มันจะเท่ากับ 0 โดยอัตโนมัติ ดังนั้น r=0 จึงไม่มีความจำเป็นต้องเขียน โดยทั่วไปจะเขียนเมื่อ r=1 เท่านั้น

แฟล็ก ประเภทนี้เป็นประเภทที่รับค่าแค่สองชนิด คือจริงกับเท็จ ถ้าเป็นจริงใส่ 1 ถ้าเป็นเท็จใส่ 0 สำหรับชื่อแฟล็ก r ในที่นี้ย่อมาจาก relative ซึ่งแปลว่าสัมพัทธ์ จึงมีความหมายเป็นการระบุว่าเราต้องการให้มันเคลื่อนที่แบบสัมพันธ์จริงหรือ เปล่า ถ้าเท็จมันก็จะไม่เคลื่อนที่แบบบสัมพัทธ์ ก็คือจะเป็นแบบสัมบูรณ์

อนึ่ง 0 และ 1 นี้ความจริงแล้วใช้เขียนแทนค่าความจริงเท็จ False และ True (ขึ้นต้นตัวพิมพ์ใหญ่เสมอ) จะเขียนแบบไหนก็ได้

ปกติแล้วเลข 0 จะใช้แทน False ส่วน True นั้นจะใช้ตัวเลขอะไรก็ได้นอกจาก 0 แทนได้หมด แต่ที่มักใช้คือ 1
(รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้อ่านในบทเรียนภาษาไพธอนเบื้องต้นบทที่ ๖ https://phyblas.hinaboshi.com/tsuchinoko06)

เพื่อความกะทัดรัดในที่นี้จึงจะใช้ 0 และ 1 ตลอด แทนที่ False และ True

กรณีที่ต้องการให้เคลื่อนที่แค่เฉพาะในแนวแกนบางแกน ก็สามารถใช้แฟล็กระบุได้ โดยแฟล็กที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมด ๖ ตัว ดังนี้
x (moveX)
y (moveY)
z (moveZ)
xy (moveXY)
xz (moveXZ)
yz (moveYZ)

แฟล็กทั้งหมดนี้รับค่าเป็นตัวแปรชนิดจริงเท็จ คือมีค่าเป็น 1 หรือ 0 (True หรือ False) เท่านั้น

โดยทั่วไปแล้วถ้าไม่ระบุมันจะมีค่าเป็น 0 ซึ่งเป็นค่าตั้งต้นทั้งหมด เวลาที่ใช้งานมักจะใส่แค่อันใดอันหนึ่งให้เป็น 1 ไม่มีการใช้พร้อมกัน

ความหมายของแฟล็กเหล่านี้ก็จะตรงตัวตามอักษร เช่นถ้า y=1 หมายความว่าเราจะเลื่อนแค่ตามแนวแกน y ส่วนแนว x กับ z ไม่ยุ่ง ในขณะที่ถ้า yz=1 จะหมายถึงเลื่อนแกน y กับ z ไม่เลื่อน x

อาร์กิวเมนต์ที่ต้องการจะมีจำนวนเท่ากับจำนวนแนวแกนพิกัดที่ต้องการย้าย เช่นถ้า y=1 จะใส่อาร์กิวเมนต์แค่ตัวเดียว

ดูตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ อาจลองคัดลอกไปรันทีละบรรทัดแล้วดูผลตาม
mc.move(5,z=1) # เลื่อนไปที่ตำแหน่ง z=5  ส่วน x และ y คงเดิม
mc.move(3,7,yz=1)  # เลื่อนไปที่ตำแหน่ง y=3,z=7 ส่วน x คงเดิม
mc.move(3,yz=1)  # เลื่อนไปที่ตำแหน่ง y=3,z=0 ส่วน x คงเดิม (เมื่ออาร์กิวเมนต์ระบุไม่ครบ ค่าที่ขาดจะเท่ากับ 0 ทันที)
mc.move(yz=1)  # เลื่อนไปที่ตำแหน่ง y=0,z=0 ส่วน x คงเดิม (ไม่ระบุอาร์กิวเมนต์เลย ตัวที่เกี่ยวข้องจะเป็น 0 ทั้งหมด)
mc.move(3,7,5,yz=1)  # เลื่อนไปที่ตำแหน่ง y=3,z=7 ส่วน x คงเดิม (อาร์กิวเมนต์ตัวที่ ๓ ไม่ทำงาน จะใส่หรือไม่ก็มีค่าเท่ากัน)
mc.move(4,9,8,y=1) # เลื่อนไปที่ตำแหน่ง y=4 ส่วน x และ z คงเดิม (อาร์กิวเมนต์ตัวที่ ๒ และ ๓ ไม่ทำงาน)

แฟล็กเหล่านี้สามารถใช้ร่วมกับแฟล็ก r ได้ เช่น
mc.move(5,z=1,r=1) # เลื่อนไปตามแนวแกน z เป็นระยะ ๕ หน่วย
mc.move(3,7,yz=1,r=1) # เลื่อนไปตามแนวแกน y เป็นระยะ ๓ หน่วย และ z ๗ หน่วย

อนึ่ง แท้จริงแล้วอาร์กิวเมนต์ของฟังก์ชัน move() ไม่ได้มีแค่ ๓ ตัว ยังมีอีกตัวหนึ่งคือชื่อของวัตถุที่ต้องการเลื่อนซึ่งใช้ในกรณีที่ไม่ได้กด เลือกวัตถุอยู่ แต่จะยังไม่พูดถึง ขอไปพูดถึงในบทที่ ๖

นอกจากนี้ยังมีแฟล็กอยู่อีกหลายตัว ซึ่งก็จะทยอยกล่าวถึงไปเรื่อยๆในบทถัดๆไป ในที่นี้เน้นแค่พื้นฐานที่จำเป็นเพื่อจะไปต่อเรื่องอื่นๆต่อไปได้ก่อน



ผ่านมา ๓ บท ตอนนี้สามารถสร้างวัตถุขึ้นได้ แล้วก็สามารถจัดวางตำแหน่งตามที่ต้องการได้แล้ว

คำสั่งแค่สร้างกับเลื่อนวัตถุนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆโดยไม่จำเป็นต้องมาเขียนโค้ด อย่างไรก็ตาม ตอนหน้าเราจะเริ่มทำในสิ่งที่ต้องใช้วิธีการเขียนโค้ดเท่านั้นจึงจะสามารถ ทำได้โดยง่าย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการทำซ้ำ"

อ้างอิง

<< บทที่แล้ว      บทถัดไป >>
หน้าสารบัญ


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> mayapython
-- คอมพิวเตอร์ >> 3D >> maya

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文