φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



เมืองอิงะและพิพิธภัณฑ์นินจา
เขียนเมื่อ 2013/06/22 02:24
แก้ไขล่าสุด 2022/10/20 05:38

#เสาร์ 26 ม.ค. 2013

ต่อจากที่เมื่อคืนนั่งรถเที่ยวกลางคืนจากฮิโรชิมะเพื่อกลับมายังเกียวโต
https://phyblas.hinaboshi.com/20130617


เข้าสู่วันที่ ๑๐ ของการเที่ยวในญี่ปุ่นแล้ว

พอขึ้นรถแล้วไม่นานเราก็หลับ มารู้สึกตัวอีกทีก็ถึงโอซากะแล้ว มีคนจำนวนหนึ่งลงไป แต่เรายังไม่ลง หลังจากนั้นรถก็มุ่งหน้าต่อจนถึงเกียวโต

พอถึงสถานีเกียวโตเราก็นั่งรถเมล์กลับไปยังหอพักของเพื่อนเพื่อเอาของไปเก็บ แต่แล้วเพื่อนก็บอกว่าวันนี้ไม่รีบขอนอนต่อก่อน สายๆค่อยออกเดินทาง ก็เลยกลายเป็นวันที่เที่ยวแบบหลวมๆอีกแล้ว แต่เป้าหมายหลักๆจริงๆก็เหลือแค่ ๓ ที่เท่านั้นถ้าทำเวลาก็พอทันได้ไม่เป็นไร

แล้วเพื่อนก็เข้าไปนอน ส่วนเราก็นั่งหาข้อมูลอะไรไปต่อเรื่อยเปื่อยพร้อมพักผ่อนจนเวลาผ่านไป รู้ตัวอีกทีก็สิบโมงกว่าเข้าไปแล้ว เรารีบปลุกเพื่อนแล้วรีบออกเดินทางจากหอพักเพื่อไปยังสถานีรถไฟ ถ้าออกช้ากว่านี้มากจะไม่ทันเที่ยวตามแผน แต่ที่จริงการที่ออกเอาป่านนี้ก็ทำให้เวลาฉุกละหุกแทบแย่แล้วเหมือนกัน

การเดินทางวันนี้เราได้นำบัตร Kansai thru pass ชนิด ๓ วัน กลับมาใช้ต่อ หลังจากที่ใช้ไปวันแรกเมื่อวันที่ 17 ม.ค. และวันที่สองเมื่อวันที่ 22 ม.ค. และวันนี้เป็นการใช้วันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้าย นับเป็นเรื่องดีมากที่บัตรนี้สามารถใช้เว้นช่วงห่างกันกี่วันก็ได้ ไม่ต้องใช้วันติดกันตลอด แต่ความจริงแล้ววันนี้เราก็ไม่ได้ใช้ Kansai thru pass อย่างคุ้มค่านักเพราะเส้นทางที่เดินทางส่วนใหญ่ของวันนี้ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่ใช้ได้ น่าเสียดายเหมือนกัน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ใช้ เพราะวันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะอยู่ในแถบคันไซแล้ว ยังไงก็ต้องใช้ให้หมด สำหรับเช้านี้เราใช้แค่นั่งรถเมล์ไปกลับระหว่างหอพักกับสถานีเกียวโต ซึ่งค่านั่งครั้งหนึ่งคือ ๒๒๐ เยน จึงประหยัดไปได้ ๔๔๐ เยน

เป้าหมายแรกของวันนี้คือพิพิธภัณฑ์นินจาสำนักอิงะ (伊賀流忍者博物館) ที่เมืองอิงะ (伊賀市) จังหวัดมิเอะ (三重県)

แผนที่จังหวัดมิเอะ แสดงตำแหน่งเมืองอิงะ สีชมพูเข้ม




บริเวณเมืองอิงะในปัจจุบันนี้เมื่อก่อนเป็นแคว้นอิงะ (伊賀国, อิงะโนะคุนิ) เป็นสถานที่ตั้งของสำนักอิงะ (伊賀流) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสำนักนินจาที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น

นินจาสำนักอิงะมีบทบาทในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาอย่างช้านาน ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือฮัตโตริ ฮันโซว (服部半蔵) ซึ่งเป็นนินจาที่คอยรับใช้โชกุนโทกุงาวะ อิเอยาสึ (徳川家康) ในช่วงปลายยุคเซงโงกุจนถึงต้นยุคเอโดะ เขาเลยกลายมาเป็นต้นแบบของนินจาสำนักอิงะ

ในหนังหรืออนิเมะแนวประวัติศาสตร์หลายเรื่องจะมีฮัตโตริ ฮันโซวปรากฏ อย่างอนิเมะที่เพิ่งฉายไปไม่นานอย่างเรื่อง 織田信奈の野望 / oda nobuna no yabou เองก็มีปรากฎตัว




นอกจากนี้นินจาสำนักอิงะยังเป็นต้นแบบของตัวละครในหนังและอนิเมะจำนวนมากมาย ที่คนไทยรู้จักกันมากคือมังงะเรื่องนินจาฮัตโตริ (忍者ハットリくん) ซึ่งมีตัวละครชื่อฮัตโตริ คันโซว (ハットリカンゾウ) และฮัตโตริ ชินโซว (ハットリシンゾウ)




นินจาที่ปรากฏตัวตามหนังหรืออนิเมะมักจะมีความสามารถที่เว่อเกินจริง จนดูเหมือนเป็นเวทมนตร์ แท้จริงแล้วนินจาแม้จะเก่งแค่ไหนก็ยังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่ดี ความสามารถก็มีจำกัด การได้มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ทำให้เราเข้าใจอะไรเกี่ยวกับนินจาได้อย่างดีขึ้น

พิพิธภัณฑ์นินจาสำนักอิงะเปิดมาตั้งแต่ปี 1964 โดยตอนแรกใช้ชื่อว่าคฤหาสน์นินจา (忍者屋敷, นินจายาชิกิ) ต่อมาในปี 1998 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์นินจาสำนักอิงะอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน

สถานที่ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะอุเอโนะ (上野公園) ภายในนี้ยังมีสถานที่เที่ยวอีกหลายอย่าง เช่นปราสาทอุเอโนะ (上野城) ตำหนักไฮเซย์เดง (俳聖殿) หอที่ระลึกผู้เฒ่าบาโชว (芭蕉翁記念館)

 

เมืองอิงะเมื่อก่อนมีชื่อว่าเมืองอุเอโนะ (上野市) แต่ต่อมาในปี 2004 เมืองอุเอโนะได้ผนวกรวมเมืองเล็กๆที่อยู่โดยรอบเข้าด้วยกันแล้วรวมกันแล้วตั้งชื่อใหม่เป็นเมืองอิงะตามชื่อของแคว้นอิงะเมื่อก่อน

แม้ว่าจะเปลี่ยนชื่อแล้วแต่ชื่อสถานีรถไฟศูนย์กลางของเมืองนี้ก็ยังคงเป็นชื่อเมืองอุเอโนะอยู่ สถานีปลายทางที่เราต้องไปนั้นชื่อว่าสถานีอุเอโนะชิ (上野市駅) เป็นสถานีศูนย์กลางของเมืองอิงะ

สำหรับเรื่องการเดินทางนั้นเรียกได้ว่าลำบากทีเดียวหากออกเดินทางจากเกียวโต ต้องต่อรถถึง ๔ ต่อ เป็นการต่อรถไฟที่ยุ่งยากที่สุดของเที่ยวนี้เลย โดยต้องผ่านทางจังหวัดชิงะ (滋賀県) เส้นทางการนั่งรถไฟของเราเป็นดังนี้

11:30 ออกเดินทางจากสถานีเกียวโต นั่งรถไฟของ JR สายบิวาโกะ (琵琶湖線) ไปลงที่สถานีคุซัตสึ (草津駅) ระยะทาง ๒๒.๒ ก.ม. ใช้เวลา ๒๐ นาที ถึงตอนเวลา 11:50
11:57 ต่อรถจากสถานีคุซัตสึ นั่งรถไฟของ JR สายคุซัตสึ (草津線) ไปลงที่สถานีทสึเงะ (柘植駅) ระยะทาง ๓๖.๗ ก.ม. ใช้เวลา ๔๒ นาที ถึงตอนเวลา 12:39
12:42 ต่อรถจากสถานีทสึเงะ นั่งรถไฟของ JR สายหลักคันไซ (関西本線) ไปลงที่สถานีอิงะอุเอโนะ (伊賀上野駅) ระยะทาง ๑๔.๖ ก.ม. ใช้เวลา ๑๖ นาที ถึงตอนเวลา 12:58
13:21 ต่อรถไฟจากสถานีอิงะอุเอโนะ นั่งรถไฟสายอิงะ (伊賀線) ของอิงะเท็ตสึโดว (伊賀鉄道) ไปลงสถานีอุเอโนะชิ ระยะทาง ๓.๙ ก.ม. ใช้เวลา ๗ นาที ถึงตอนเวลา 13:28
โดยรวมแล้วระยะทาง ๗๑ ก.ม. ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ๕๘ นาที

ระหว่างทางจากสถานีเกียวโตถึงสถานีอิงะอุเอโนะนั้นนั่งรถไฟ JR คิดค่าโดยสารรวมกันทีเดียว ๑๑๑๐ เยน ส่วนจากสถานีอิงะอุเอโนะถึงสถานีอุเอโนะชิเป็นของรถไฟเอกชนท้องถิ่นอิงะเท็ตสึโดว ต้องจ่ายค่าโดยสารแยกต่างหาก ราคา ๒๕๐ เยน รวมแล้วเป็น ๑๓๖๐ เยน

ตั๋วราคา ๑๑๑๐ เยน จากสถานีเกียวโตไปยังสถานีอิงะอุเอโนะ



ระหว่างทางจากสถานีเกียวโตจนถึงสถานีคุซัตสึนั้นเราไม่ได้ถ่ายรูปอะไรเลย จำไม่ได้ว่าตอนนั้นเผลอหลับไปหรือว่าได้นั่งตำแหน่งที่ไม่เหมาะจะถ่าย ตอนลงมาที่สถานีก็ไม่ได้ถ่าย ไม่ได้เก็บภาพสถานีคุซัตสึไว้เลย

สถานีคุซัตสึตั้งอยู่ในเมืองคุซัตสึ (草津市) เป็นสถานีสำคัญเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อของทางรถไฟสายบิวาโกะกับสายคุซัตสึ เมืองคุซัตสึเองก็มีความสำคัญตรงที่เป็นที่ตั้งของวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยริตสึเมย์กัง (立命館大学) ซึ่งเมื่อก่อนเราเคยมีเพื่อนมาเรียนอยู่ที่นี่ แต่ตอนที่เราไปนั้นเขาเรียนจบและกลับไทยไปแล้ว ไม่งั้นอาจได้แวะไปเยี่ยมด้วย

รู้สึกตัวอีกทีรูปแรกที่ถ่ายในวันนี้คือตอนที่มาถึงสถานีมิกุโมะ (三雲駅) เป็นสถานีหนึ่งของเมืองโคนัง (湖南市) อนึ่ง เมืองนี้ชื่อเขียนเหมือนกับชื่อมณฑลหนึ่งของจีนเลยคือมณฑลหูหนาน (湖南省) แต่ในภาษาญี่ปุ่นจะอ่านว่าโคนัง (ซึ่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับชื่อยอดนักสืบที่ไหนแต่อย่างใด) คำว่าโคนังแปลว่าทางใต้ของทะเลสาบ นั่นเพราะเมืองนี้อยู่ทางใต้ของทะเลสาบบิวะนั่นเอง



สถานีทางผ่านอีกสถานีคือสถานีโควกะ (甲賀駅) เป็นสถานีหลักของเมืองโควกะ (甲賀市) เป็นเมืองที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้สุดของจังหวัดชิงะ



โควกะเป็นถิ่นฐานของสำนักนินจาที่มีชื่อเสียงอีกแห่ง คือสำนักโควกะ (甲賀流) เมืองโควกะกับอิงะนั้นอยู่ห่างกันแค่เพียงข้ามภูเขาไปเท่านั้น

อนึ่ง จะสังเกตว่าชื่อเมืองโควกะและอิงะต่างก็ใช้อักษร แต่อ่านต่างกัน ชื่อโควกะนั้นบ่อยครั้งที่ถูกอ่านว่าโควงะ แต่ชื่อที่เป็นทางการจริงๆกำหนดให้อ่านว่าโควกะ

แล้วก็มาถึงสถานีทสึเงะ สถานีนี้ตั้งอยู่ในเขตเมืองอิงะแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนรถที่สำคัญระหว่างสายคุซัตสึกับสายหลักคันไซ



สายหลักคันไซเป็นสายที่สำคัญมากเพราะเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างนาโงยะกับโอซากะ โดยตัดผ่านจังหวัดมิเอะและนาระ

รถไฟที่วิ่งในสายนี้สีม่วงสวย



ภายในรถไฟ



เราวิ่งบนสายนี้เพียงระยะสั้นๆเพื่อไปถึงสถานีอิงะอุเอโนะเท่านั้น

ทิวทัศน์ระหว่างทาง






สถานีซานางุ (佐那具駅) เป็นสถานีระหว่างทาง



ยังคงเห็นทิวทัศน์สวยตามทางเรื่อยๆ




แล้วก็มาถึงสถานีอิงะอุเอโนะ สถานีเป็นสถานีสำคัญเพราะเป็นจุดเปลี่ยนรถระหว่างสายหลักคันไซกับรถไฟสายอิงะของอิงะเด็นเท็ตสึ ซึ่ง ซึ่งเป็นรถไฟเอกชนท้องถิ่น ไม่ใช่ของ JR จึงต้องออกมาเปลี่ยนตั๋ว



รถไฟสายนี้เป็นสายสั้นๆที่วิ่งภายในเขตเมืองอิงะตลอดสาย โดยลากจากสถานีอิงะอุเอโนะซึ่งอยู่ทางเหนือสุดไปสุดที่สถานีใต้สุดคืออิงะคัมเบะ (伊賀神戸) ระยะทางรวม ๑๖.๖ ก.ม. โดยมีสถานีศูนย์กลางคือสถานีอุเอโนะชิ รถไฟที่ผ่านสถานีนี้จะต้องแวะจอดนานกว่าสถานีอื่น ไม่ก็ต้องมาเปลี่ยนขบวนรถที่นี่ 

สถานีอิงะคัมเบะนั้นเป็นจุดเปลี่ยนเชื่อมกับรถไฟสายโอซากะ (大阪線) ของคินเท็ตสึ (近鉄) นั่นเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่สามารถมาถึงที่นี่ได้ หากมาจากทางโอซากะ

เนื่องจากเราต้องรอรถอยู่ที่นี่นานถึง ๒๓ นาทีรถไฟถึงจะมา ระหว่างนี้ก็ออกมาเดินเล่นข้างนอกได้

ตัวสถานีมองจากด้านนอก



สถานีที่นี่สำคัญแค่เพราะเป็นจุดต่อรถ แต่ไม่ใช่ใจกลางเมือง ใจกลางเมืองอยู่ที่สถานีอุเอโนะชิซึ่งเป็นสถานีเป้าหมายของเรา

ป้ายนี้เขียนว่าสวนสาธารณะอุเอโนะซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราจะไปนั้นอยู่ห่างออกไป ๒.๔ ก.ม.



อาคารห้องน้ำที่สถานีสวยดี



กลับเข้ามาในตัวสถานี ห้องขายตั๋ว



เครื่องขายตั๋วที่นี่ของ JR กับของอิงะเท็ตสึโดวใช้ร่วมกันแม้ว่าจะเป็นคนละบริษัทกัน เวลาใช้ต้องเลือกให้ถูก



แล้วก็ได้ตั๋วมา ราคาแค่ ๒๕๐ เยนเท่านั้น ระยะทางสั้นๆ ๓.๙ ก.ม. ใช้เวลาเดินทางแค่ ๗ นาที



หลังจากรอสักพักรถไฟก็มา รถไฟสายนี้ทุกคันเป็นลายนินจา สมกับที่เมืองอิงะเป็นสำนักนินจาที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น



ด้านข้างรถไฟเป็นแมวเหมียว



ภายในรถไฟ



มีป้ายที่โฆษณาเกี่ยวกับสถานที่เที่ยวเต็มไปหมด



ทิวทัศน์ระหว่างทาง



สถานีนิอิ (新居駅) สถานีเล็กๆระหว่างทาง



ยังคงมีแต่ทุ่งและภูเขา




ถึงสถานีอุเอโนะชิแล้ว




มองไปทางโน้นเห็นรถนินจาอีกคันเป็นสีชมพูด้วย



และเมื่อมาถึงก็มีนินจามารออยู่ที่หน้าสถานี



เดินออกนอกสถานี


ฮัตโตริ คันโซว กับชินโซว?



ป้ายนี้บอกว่ามีจักรยานให้เช่าด้วย ขี่จักรยานเที่ยวก็สะดวกเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ใช้หรอกเพราะเป้าหมายอยู่แค่ใกล้ๆ



ตัวสถานี ถ่ายจากด้านนอก



ระหว่างทางเดินเพื่อไปยังสวนสาธารณะอุเอโนะซึ่งอยู่ไม่ไกล สภาพบ้านเมืองดูแล้วเงียบๆดี เป็นเมืองเล็กๆที่ดูสงบ



ตามพื้นก็มีนินจาอยู่เต็ม ป้ายที่พื้นนี้เขียนว่า เมืองแห่งประวัติศาสตร์ที่อบอวนด้วยกลิ่นอายวัฒนธรรม



ถึงตัวสวนแล้ว ป้ายนี้บอกให้รู้ว่าสถานีที่สำคัญภายในอยู่ตรงไหนบ้าง เป้าหมายแรกของเราคือพิพิธภัณฑ์นินจา อยู่ห่างไป ๓๐๐ เมตร



หน้าทางเข้ามีจุดแนะนำสถานที่เที่ยวด้วย



แผนที่ภายในบริเวณ



ระหว่างทางเจอร้านขายของที่ระลึก แต่ดูแล้วไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ มีร้านขายของกินด้วย แต่เนื่องจากไม่มีเวลาเลยไม่ได้แวะอะไร



แล้วก็มาถึงพิพิธภํณฑ์นินจา



สำหรับการเที่ยวที่นี่ตอนนี้ต้องเรียกว่าเวลาค่อนข้างเร่งพอสมควร เพราะนั่งรถไฟมาถึงสถานีตอนเวลา 13:28 แต่ต้องกลับมาขึ้นรถไฟตอนเวลา 14:48 มีเวลาเพียง ๘๐ นาทีเท่านั้น ถ้าช้ากว่านั้นจะต้องรอรถไฟเที่ยวต่อไปอีกชั่วโมง ซึ่งจะไม่ทันเที่ยวที่ต่อไป จีงไม่มีเวลาได้ทำอะไรมาก นี่เป็นผลจากการที่ตอนเช้าเรื่อยเปื่อยจนออกสาย น่าเสียดายเหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถเที่ยวอย่างสบายๆได้ และต้องพลาดอะไรบางอย่างไปด้วย

ที่หน้าทางเข้าคนเฝ้าสวมชุดนินจาอย่างเท่เลย พอเขารู้ว่าเราเป็นคนต่างชาติเขาก็ถามว่ามาจากที่ไหนด้วย พอบอกไปว่าไทยเขาก็พูดสวัสดีกลับมาเป็นภาษาไทยด้วย แปลกใจเหมือนกัน แสดงว่าคนไทยเองก็มาเที่ยวที่นี่กันเยอะหรือเปล่านะ แต่ก็ไม่ค่อยเห็นมีใครพูดถึงที่นี่เท่าไหร่



ค่าเข้าชม ๗๐๐ เยน

พอเข้ามาถึงจะมีคนมาคอยแนะนำสถานที่ภายในอาคารซึ่งดูเหมือนเป็นค่ายกลของนินจา แต่ละส่วนที่เขาอธิบายจะมีป้ายเขียนอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ แต่เวลาอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ชาวต่างชาติแค่อ่านป้ายตามแล้วดูที่เขาสาธิตประกอบไปก็ได้




ตรงนี้ดูเผินๆเหมือนเป็นกำแพงธรรมดา แต่จริงๆสามารถเปิดออกได้ นินจาสามารถเข้าไปซ่อนตัวข้างในได้ ถ้าเปิดเข้าไปซ่อนอย่างรวดเร็วก็จะดูเหมือนหายตัวหายไปเลย



ส่วนตรงนี้เป็นช่องทางลับ ดูเผินๆเหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆมีบันไดซ่อนอยู่ นินจาสามารถขึ้นไปแอบด้านบนคอยมองศัตรูได้



นี่ก็เป็นช่องทางลับ



ตรงพื้นแบบนี้ก็สามารถเปิดออกมาได้ ดูเผินๆเหมือนพื้นธรรมดาดูไม่ออกเลย



ตรงนี้ก็มีช่องทางลับอีก



พอดูค่ายกลเสร็จก็เดินลงมาด้านล่าง



ตรงนี้มีจัดแสดงเกี่ยวกับของต่างๆที่นินจาใช้











กงเล็บของนินจา



เคียว



รองเท้าที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่านินจาใช้เดินบนน้ำ ที่เรียกว่ามิซึงุโมะ (水蜘蛛) แปลตรงๆว่าแมงมุมน้ำ ความจริงแล้วการใช้รองเท้าแบบนี้เดินบนน้ำเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ มีแต่ในตำนานเท่านั้น รองเท้านี้จริงๆมีไว้ใช้เดินบนพื้นโคลนที่ชื้นแฉะซึ่งจะเดินแบบปกติก็ยากจะว่ายเหมือนว่ายน้ำก็ยาก พื้นแบบนี้มักพบตามคูน้ำซึ่งล้อมรอบปราสาทซึ่งถูกปล่อยน้ำออกจนแห้ง



มีหนังให้ดูด้วย เรื่องเกี่ยวกับนินจา



คนพวกนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวเหมือนกัน เขามีชุดนินจาให้เปลี่ยนด้วย



ห้องจัดแสดงตรงนี้ก็มีอยู่แค่นี้ ค่อนข้างเล็กมาก เล็กกว่าที่คิดพอสมควร

พอออกมาก็จะเจออีกอาคารที่จัดแสดงเกี่ยวกับประวัติของนินจา



ภายใน








มีนารุโตะด้วย ช่วงนี้พูดถึงนินจาคนมีคนไม่น้อยนึกถึงเรื่องนี้ 



ตรงนี้เป็นพวกของขาย






มีดาวกระจายที่เป็นพลาสติกขายด้วย แต่ไม่มีของจริงๆ



เราแค่ดููเฉยๆ ไม่ได้ซื้ออะไรกลับไปเลยสักอย่าง เพราะไม่เห็นอะไรน่าสนใจ และก็ค่อนข้างแพงด้วย

ส่วนตรงนี้มีการแสดงการต่อสู้ของนินจา ซึ่งต้องจ่ายเพิ่มอีก ๓๐๐ เยนค่าดู แต่ว่ารอบต่อไปเริ่มบ่ายสองโมงครึ่ง ซึ่งถ้าเรารอชมก็จะไปไม่ทันรถไฟรอบต่อไปตอน 14:48 จึงน่าเสียดายไม่มีโอกาสได้ชม



ส่วนตรงนี้มีให้ทดสอบปาดาวกระจายเล่นด้วย ๕ ดอก ๒๐๐ เยน แต่ไม่ได้ลองเพราะกำลังรีบทำเวลาอยู่



ก็มีอยู่เพียงเท่านี้ สำหรับพิพิธภัณฑ์นินจา ลาก่อนท่านนินจาทั้งหลาย



ข้างๆพิพิธภัณฑ์นินจามีตำหนักไฮเซย์เดง (俳聖殿) อยู่ อาคารนี้สร้างขึ้นในปี 1942 เพื่อเป็นที่ระลึกครบรอบ ๓๐๐ ปีวันเกิดของมัตสึโอะ ฮาโชว (松尾芭蕉) ผู้เป็นปรมาจารย์แห่งบทกวีไฮกุ เขาเกิดเมื่อปี 1644 ที่เมืองอิงะแห่งนี้ เขาได้สร้างสรรค์ผลงานเขียนต่างๆมากมาย



นอกจากอาคารนี้แล้วที่นี่ยังมีหอที่ระลึกผู้เฒ่าบาโชว (芭蕉翁記念館) ด้วย อยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ แต่เราก็ไม่ได้แวะไปแล้วเพราะไม่มีเวลา

เป้าหมายต่อไปตอนนี้คือเดินไปยังปราสาทอุเอโนะ (上野城) ซึ่งอยู่ยอดสุดของสวนสาธารณะแห่งนี้ เส้นทางเดินมีบันไดหินสวยงาม



หอหลักของปราสาท




ตัวปราสาทสามารถขึ้นไปได้ แต่ก็ต้องเสียค่าเข้า ๕๐๐ เยน ซึ่งถือว่าแพงมาก แถมตอนนี้เราไม่มีเวลาแล้วด้วย จึงเป็นปราสาทอีกแห่งที่เราไม่ได้เข้าไป กะว่าต่อให้มีเวลาก็คงไม่ได้เข้าไปด้วยเพราะดูจะไม่คุ้มนัก แค่ได้มาเป็นตัวปราสาทสวยๆจากด้านนอกก็พอแล้ว



ที่ฐานปราสาทมองลงไปเห็นคลอง



มองออกไปก็เห็นทิวทัศน์ของเมืองนี้สวยงาม





หลังจากเพลินกับทิวทัศน์อยู่ได้สักพักก็ได้เวลาเดินลาจากที่นี่ไปแล้ว ตอนนี้เหลือไม่ถึง ๒๐ นาทีก่อนที่รถไฟจะมา เวลาถือว่าเหลือเฟือแต่ก็ควรจะไปให้ถึงสถานีก่อนเผื่อเวลาไว้

แล้วเราก็มาถึงสถานีก่อนเวลารถไฟออกไม่ถึง ๑๐ นาที ตอนที่มาถึงรถไฟก็จอดรออยู่แล้ว รถไฟที่ขึ้นคราวนี้เป็นนินจาสีฟ้า




สำหรับเป้าหมายต่อไปคือเดินทางไปเมืองนาระ (奈良市) โดยเส้นทางการเดินทางนั้นก็ลำบากอีกเช่นเคย ต้องนั่งรถไฟ ๓ ต่อ เส้นทางเป็นดังนี้

14:48 ออกเดินทางจากสถานีอุเอโนะชิ นั่งรถไฟสายอิงะของอิงะเท็ตสึโดว ไปลงสถานีอิงะอุเอโนะ ระยะทาง ๓.๙ ก.ม. ใช้เวลา ๗ นาที ถึงตอนเวลา 14:55
14:59 ต่อรถจากสถานีอิงะอุเอโนะ นั่งรถไฟของ JR สายหลักคันไซ ไปลงสถานีคาโมะ (加茂駅) ระยะทาง ๒๖.๔ ก.ม.ใช้เวลา ๓๖ นาที ถึงตอนเวลา 15:35
15:39 ต่อรถจากสถานีคาโมะ นั่งรถไฟของ JR สายหลักคันไซต่อไป ไปลงสถานีนาระ (奈良駅) ระยะทาง ๑๓ ก.ม. ใช้เวลา ๑๕ นาที ถึงตอนเวลา 15:54
รวมแล้วระยะทาง ๔๓.๓ ก.ม. ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ๖ นาที

ค่าโดยสารจากสถานีอุเอโนะชิไปยังสถานีอิงะอุเอโนะคือ ๒๕๐ เยนเช่นเดียวกับขามา ส่วนจากสถานีอิงะอุเอโนะถึงสถานีนาระเป็นของ JR ค่าโดยสาร ๖๕๐ รวมทั้งหมดแล้วเป็น ๙๐๐ เยน

แล้วรถก็ออกเพื่อมุ่งหน้ากลับสู่สถานีอิงะอุเอโนะ ระหว่างทางทิวทัศน์ก็เหมือนตอนขามาแต่ดูเหมือนเมฆจะเยอะครึ้มลงจนน่าห่วงว่าฝนจะตก



แล้วก็มาถึงสถานี เนื่องจากมีเวลาเพียง ๔ นาทีเท่านั้นในการเปลี่ยนรถ ทำให้กลัวว่าจะไม่ทันเหมือนกัน พอลงจากรถไฟเราก็รีบเดินไปยังที่ซื้อตั๋วเพื่อซื้อตั๋วของ JR ทันที โชคดีที่ตู้ขายตั๋วของ JR มีตั้งอยู่ในตัวชานชลาบริเวณที่ลงรถ ทำให้ลงมาปุ๊บสามารถกดได้ทันที เขาคงจะเผื่อเอาไว้แล้วสำหรับคนที่ต้องรีบ จะได้ไม่ต้องอุตส่าห์ออกนอกชานชลาไปซื้อตั๋วแล้วค่อยกลับมาใหม่



เสร็จแล้วก็รีบเดินข้ามไปยังชานชลา ๒ ซึ่งไปยังทางฝั่งนาระ โอซากะ ถ้าเป็นชานชลา ๓ จะเป็นรถไฟที่มุ่งหน้าไปนาโงยะ โดยผ่านสถานีทสึเงะที่เราเปลี่ยนรถผ่านมาเมื่อตอนขามา



มีเวลารอรถอยู่ที่สถานีสักพัก



แล้วรถไฟก็มา ได้เวลาออกเดินทางมุ่งหน้าสู่นาระ



การเที่ยวในอิงะของเราก็จบลงเพียงเท่านี้ การได้มาตามรอยประวัติศาสตร์นินจาถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจจริงๆ แต่ก็น่าเสียดายว่าพิพิธภัณฑ์นินจาเล็กไปหน่อย ไม่ได้มีอะไรมากมายอย่างที่คิดไว้ การแสดงค่ายกลของนินจาก็น้อยไปหน่อย และเราก็รีบจนไม่ได้ดูการแสดงต่อสู้ของนินจาด้วย โดยรวมแล้วก็คิดว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ที่ถึงกับแนะนำให้มานักถ้าไม่ได้สนใจนินจา เพราะค่าเข้าชมแพงมากถึง ๗๐๐ เยน และยิ่งจะชมการแสดงก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก แถมการเดินทางลำบากพอสมควร ต้องต่อรถ ค่าเดินทางก็ไม่น้อย ไม่ว่าจะมาจากทางเกียวโตหรือนาโงยะก็ตาม เพราะที่นี่เป็นเมืองเล็กๆกลางหุบเขาลึก เที่ยวรถไฟก็น้อยด้วยทำให้ต้องวางแผนดีๆ

ตอนต่อไปเที่ยวนาระ ติดตามอ่านกันต่อไป https://phyblas.hinaboshi.com/20130626



สรุปเส้นทางเดินทางของวันนี้

Ⓐ สถานีเกียวโต (京都駅)
Ⓑ สถานียามาชินะ (山科駅) จุดเปลี่ยนรถไฟสายบิวาโกะและสายโคเซย์
Ⓒ สถานีโอตสึ (大津駅)
Ⓓ สถานีอิชิยามะ (石山駅) สถานีที่เคยแวะไปเมื่อวันที่ 21 https://phyblas.hinaboshi.com/20130303
Ⓔ สถานีคุซัตสึ (草津駅) จุดเปลี่ยนรถไฟสายบิวาโกะและสายคุซัตสึ
Ⓕ สถานีคิบุกาวะ (貴生川駅) จุดเปลี่ยนรถไฟสายคุซัตสึ สายหลักโอวมิเท็ตสึโดว และสายชิงารากิ
Ⓖ สถานีโควกะ (甲賀駅) สถานีศูนย์กลางของเมืองโควกะ
Ⓗ สถานีทสึเงะ (柘植駅) จุดเปลี่ยนรถไฟสายหลักคันไซและสายคุซัตสึ
Ⓘ สถานีอิงะอุเอโนะ (伊賀上野駅) จุดเปลี่ยนรถไฟสายหลักคันไซและสาย
Ⓙสถานีอุเอโนะชิ (上野市) สถานีศูนย์กลางของเมืองอุเอโนะ ที่ตั้งพิพิธภัณฑ์นินจาสำนักอิงะ
Ⓚ สถานีคาโมะ (加茂駅) สถานีจุดเปลี่ยนรถระหว่างทางสายหลักคันไซ
Ⓛ สถานีนาระ (奈良駅)

เส้นสีชมพูเข้มคือสายบิวาโกะของ JR นั่งจากสถานีเกียวโตไปสถานีคุซัตสึ
เส้นสีม่วงคือสายคุซัตสึของ JR นั่งจากสถานีคุซัตสึไปสถานีทสึเงะ
เส้นสีน้ำเงินคือสายหลักคันไซของ JR นั่งจากสถานีทสึเงะไปลงสถานีอิงะอุเอโนะ แล้วตอนหลังก็นั่งจากสถานีอิงะอุเอโนะต่อไปเปลี่ยนรถที่สถานีคาโมะ และต่อไปสถานีนาระ
เส้นสีเหลืองคือสายอิงะของอิงะเท็ตสึโดว นั่งจจากสถานีอิงะอุเอโนะไปสถานีอุเอโนะชิแล้วก็นั่งกลับ
เส้นสีเลือดหมูคือสายเกียวโตของคินเท็ตสึ นั่งตอนขากลับจากนาระ ตอนนี้ยังเขียนไม่ถึง

 




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> มิเอะ
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文