φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



สอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น ระดับ N1 (1 ธันวาคม 2013) ที่จีน
เขียนเมื่อ 2013/12/01 23:55
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
เขียนบล็อกหน้าแรกประเด็มบล็อกใหม่หลังจากเพิ่งย้ายมาจาก exteen



#อาทิตย์ 1 ธ.ค. 2013

วันนี้ไปสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น ระดับ N1 มาอีกครั้ง หลังจากห่างหายไม่ได้สอบมานาน

เรื่องสอบวัดระดับนี้เราเคยลองพยายามสอบมาหลายครั้งแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นระบบเก่าซึ่งแบ่งเป็น ๔ ระดับคือ 1, 2, 3, 4 อยู่คือในปี 2009 ไปสอบระดับ 1 แบบไม่ได้หวังอะไรมาก เพราะตอนนั้นเพิ่งจะสอบระดับ 2 ผ่านมาได้แค่ปีเดียว แค่อยากลองสนามดู ผลก็ไม่ผ่านตามคาด
https://phyblas.hinaboshi.com/20091206

แล้วพอปี 2010 ระบบการสอบก็เปลี่ยนใหม่เป็น ๕ ระดับ N1, N2, N3, N4, N5 ซึ่งระดับ 1 เก่าก็เทียบได้กับระดับ N1 ใหม่ แต่เหมือนจะยากกว่าเดิม เราได้ไปสอบทั้ง ๒ รอบ ตอนกรกฎาคมและธันวาคม ผลก็คือรู้ว่ายังไงก็ไม่ได้ตั้งแต่ออกจากห้องสอบแล้ว ทั้งสองครั้งเลย
https://phyblas.hinaboshi.com/20100705

หลังจากนั้นปี 2011 รอบกรกฎาคมก็เลยกลับมาสอบระดับ N2 ดูสักครั้ง เพราะคิดว่ายังไง N1 ก็คงยังไม่มีหวังผ่านอยู่แล้ว ก็ปรากฏว่าผ่านสบายๆ และก็ได้เห็นว่าระดับ N1 กับ N2 นั้นความยากมันต่างกันมากราวดวงจันทร์กับตะพาบ
https://phyblas.hinaboshi.com/20110703

ในเดือนธันวาคม 2011 หลังจากย้ายมากอยู่ปักกิ่งแล้วก็ได้ไปสอบมาอีกครั้ง ซึ่งก็ไม่ผ่านอีกเช่นเคย จนรู้สึกว่าเราคงจะไม่มีทางสอบผ่านได้ง่ายๆจริงๆ แล้วก็เลยพักยาวไม่ได้สอบเลยตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
https://phyblas.hinaboshi.com/20111205

จนมาถึงรอบธันวาคม 2013 ก็คือครั้งนี้ หลังจากเว้นหายไป ๒ ปี จึงตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีการไปเรียนกวดวิชาติวมาด้วย ตั้งใจเต็มที่ว่าจะพยายามสอบให้ผ่าน เราเรียนที่สถาบันเว่ย์หมิงเทียนรื่อหยวี่ (未名天日语学校) อยู่ในย่านจงกวานชุน ใกล้กับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่นั่นก็สอนดีใช้ได้ ที่เลือกเรียนเพราะมีเพื่อนเคยไปเรียนแล้วก็แนะนำต่อมาอีกที เรียนทุกวันอาทิตย์ตอนบ่ายถึงค่ำตั้งแต่ช่วงกันยายนจนจบสิ้นเดือนพฤษจิกายน ค่าเรียนไม่แพงเท่าไหร่ พอๆกับเรียนในไทย

ว่าไปแล้วก็รู้สึกแปลกๆดีเหมือนกัน เรียนภาษาญี่ปุ่นโดยใช้ภาษาจีนแบบนี้ ถึงตอนนี้ภาษาจีนจะคล่องกว่าภาษาญี่ปุ่นแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่คล่องเท่าเรียนด้วยภาษาไทยอยู่ดี



แล้วก็มาถึงวันสอบ ครั้งนี้เลือกสนามสอบที่มหาวิทยาลัยชิงหัว (清华大学) มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของจีน ที่จริงในปักกิ่งมีสนามสอบหลายแห่งให้เลือก แต่เลือกสอบที่นี่เพราะอยากลองมาเยี่ยมชมที่นี่สักครั้ง อยู่ปักกิ่งมาสองปียังไม่เคยมีโอกาสแวะมาเลย เพราะไม่ได้มีธุระอะไรกับที่นี่ แล้วก็ไม่ได้มีเพื่อนเรียนอยู่ด้วย

แต่ตอนสอบรอบปี 2011 นั้นเราต้องไปสอบถึงมหาวิทยาลัยเทียนจินที่เมืองเทียนจินซึ่งอยู่ข้างๆปักกิ่งแทน เนื่องจากสมัครสอบช้า สนามสอบในปักกิ่งเต็มหมด ระบบสมัครสอบที่จีนเป็นอะไรที่แข่งขันกันพอสมควรเนื่องจากคนเยอะ และคนที่เรียนอยู่ในปักกิ่งก็เยอะ ส่วนใหญ่ก็อยากสอบกันทีปักกิ่ง ครั้งนี้เรารู้ทันแล้วจึงรีบสมัครตั้งแต่วันแรกที่เปิดรับสมัครเลย ตอนสมัครก็พบว่าสนามสอบในบางมหาวิทยาลัยในปักกิ่งถูกสมัครเต็มตั้งแต่ไม่กี่นาที น่ากลัวมาก ส่วนมหาวิทยาลัยชิงหัวเองไม่ได้เต็มเร็วนัก อย่างน้อยถ้าสมัครภายในวันแรกละก็ยังไงก็ยังเหลือที่ แต่ถ้าช้ากว่านั้นก็ไม่แน่แล้ว

เรามาที่มหาวิทยาลัยชิงหัวโดยนั่งรถเมล์มาลงที่ป้ายชิงหัวหยวน (清华园) ซึ่งก็จะมาอยู่ที่ประตูใต้ของมหาวิทยาลัย ประตูใต้ดูเรียบๆอย่างที่เห็น



บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยก็ดูร่มรื่น ต้นไม้เต็มไปหมด แม้ตอนนี้จะแทบไม่เหลือใบแล้วก็ตาม



ตึกอาคารต่างๆหลายแห่งดูแล้วสวยดี อย่างตึกนี้คือตึกซินชิงหัวเสวียถาง (新清华学堂)



อันนี้อาคารหอสมุด



ต้องเดินไกลพอสมควรจึงจะไปถึงแถวๆบริเวณอาคารที่สอบ เพราะมหาวิทยาลัยนี้กว้างใหญ่มาก ที่เดินผ่านวันนี้ก็เป็นแค่ส่วนเดียวเท่านั้นเอง วันหลังถ้ามีเวลาว่างก็อยากมาเดินดูอะไรให้ทั่วเหมือนกัน

ตรงนี้คืออาคารเรียนตึก ๓ (第三教室楼) คนที่สอบระดับ N3 ต้องมาสอบที่นี่ พอดีเรามีเพื่อนที่มาด้วยกัน เขาสอบระดับ ๓ ก็เลยแวะมาดูตึกนี้ก่อน



ห้องสอบเป็นแบบนี้



ข้างๆเป็นอาคารเรียนตึก ๖ (第六教室楼)



เดินไปทางตะวันตกอีกหน่อยจะเจออาคารเรียนตึก ๔ (第四教室楼) สำหรับคนที่มาสอบระดับ N2



เดินต่อถัดมาอีกจึงจะเจออาคารเรียนตึก ๕ (第五教室楼) ซึ่งเป็นที่สอบระดับ N1 ที่เราต้องมาสอบนั่นเอง



เหลือบไปเห็นตึกข้างๆสวยดี นี่คืออาคารชิงหัวเสวียถาง (清华学堂)



เข้ามาด้านในอาคารเรียนตึก ๕ ห้องสอบอยู่ที่ห้อง 5101



ตอนที่ไปถึงนั้นเป็นเวลาเที่ยงกว่าแล้ว เห็นมีคนนั่งรออยู่ในห้องพอสมควรแล้วทั้งๆที่เขาให้เข้าห้องสอบตอนบ่ายโมง



เนื่องจากเวลาเหลือ ก่อนจะสอบเราก็แวะไปทานข้าวที่โรงอาหารก่อน โรงอาหารที่ใกล้ที่สุดคือตึกทิงเทาหยวน (听涛园) เป็นโรงอาหารสองชั้น แต่ว่าชั้นหนึ่งต้องใช้บัตรนักเรียนหรือพนักงานที่นี่เพื่อจะทานเท่านั้น เฉพาะชั้นสองใช้เงินสดได้



เราจึงขึ้นไปทานชั้นสอง ก็อร่อยดี



ข้างๆโรงอาหารเป็นคลองเล็กๆสวยมาก เห็นแล้วอยากเดินเล่นอยู่ตรงนี้สักพัก แต่ไม่มีเวลาเพราะเดี๋ยวต้องไปสอบแล้ว



แล้วก็ได้เวลาสอบ การสอบเริ่มตอน 1:30 โดยเริ่มจากส่วนความรู้ตัวภาษาและการอ่าน ใช้เวลา ๑๑๐ นาที จนถึงเวลา 3:20 พัก ๑๐ นาทีแล้วก็เริ่มส่วนการฟังซึ่งใช้เวลา ๑ ชั่วโมง โดยเริ่ม 3:30 แล้วก็เลิกตอน 4:30

ถ้าเป็นการสอบเมื่อสองปีก่อนละก็ ระหว่างสอบทั้งสองส่วนนี้จะไม่มีการพัก ๑๐ นาทีแบบนี้ ทำให้ครั้งนั้นที่สอบเจอปัญหาเรื่องที่ว่าจะเข้าห้องน้ำแต่ไปเข้าไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องทนจนไม่อาจทำข้อสอบได้ดีเลย

หลังสอบเสร็จก็เดินออกมา ขณะนั้นฟ้าเริ่มมืดลงแล้ว





การสอบครั้งนี้ถ้าเทียบกับครั้งก่อนๆก็ถือว่าทำได้ดีขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่เต็มที่ก็ตาม เป็นครั้งแรกตั้งแต่สอบมาที่ออกมาจากห้องสอบด้วยความรู้สึกว่าพอมีหวัง เพราะครั้งก่อนๆนี่แบบทำไม่ค่อยได้เลย แล้วออกมาแบบสิ้นหวัง ตอนที่ผลสอบมาถึงแทบไม่อยากเปิดดู

แต่ครั้งนี้ทำได้เยอะขึ้น นั่นไม่ได้หมายความว่าน่าจะสอบผ่าน เพียงแต่ไม่ได้สิ้นหวัง ที่จริงก่อนสอบเราคาดหวังไว้ว่าจะทำได้มากกว่านี้ เพราะตอนที่ติวกวดวิชาอยู่นั้นได้มีทำข้อสอบเลียนแบบที่ทำเพื่อทดสอบ แล้วก็พบว่าทำได้ผ่านด้วยคะแนนดีพอสมควร

แต่ว่าข้อสอบเลียนแบบอันนั้นมันง่ายกว่าความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าได้มาตรฐานนัก ถึงจะสอบอันนั้นได้ดีก็ไม่ใช่ว่าสอบจริงจะทำได้ดีเลย เมื่อมาสอบจริงๆพบว่ามันยากไม่ต่างอะไรจากที่เคยสอบมาเมื่อสองสามปีก่อน ความรู้สึกแบบนี้จำได้ดี

การที่ทำข้อสอบได้มากกว่าครั้งก่อนๆก็ทำให้ดีใจในความก้าวหน้าของตัวเอง ช่วงสองปีที่หยุดไปไม่ได้สอบเนี่ยก็ไม่ใช่ว่าอยู่นิ่งเฉย ดูอนิเมะมาตลอด เป็นการฝึกการฟังที่ดี นอกจากนี้ก็มีซื้อนิยายมาอ่านด้วย แม้ว่าจะยังอ่านไม่จบเล่มเลยก็ตาม

แต่การที่ก้าวหน้าขึ้นก็ไม่ใช่ว่าจะถึงขั้นผ่าน ยังรู้สึกว่าตัวเองต้องฝึกอีกมากเลย โดยเฉพาะเรื่องการอ่าน ยังไม่สามารถอ่านเข้าใจได้อย่างดีอย่างรวดเร็วพอ ไม่สามารถทำข้อสอบได้เสร็จทันเวลา ขาดไปเยอะ

ส่วนการฟังนั้นถือว่าพอไปได้ มันไม่ได้ยากนัก เหมือนจะสบายกว่าการอ่านพอสมควรเลย แต่ก็ไม่ได้ง่าย ไอ้ที่ฟังไม่เข้าใจก็มีอยู่เยอะพอดู

โดยรวม ถ้าใครถามว่าสอบครั้งนี้เป็นไงบ้างก็คงตอบง่ายๆว่า พอมีหวังบ้าง ไว้รอลุ้นตอนผลสอบออก



หลังสอบเสร็จเราก็ไปกินซูชิกับเพื่อนที่ร้านเจิงเซียนหุยจว่านโซ่วซือ (争鲜回转寿司) เป็นร้านซูชิจานหมุนของไต้หวันที่มีเปิดสาขาหลากหลายทั้งในไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงฮ่องกงและสิงคโปร์ด้วย



หลังจากสอบภาษาญี่ปุ่นเสร็จก็ได้มาทานอาหารญี่ปุ่นแบบนี้ถือว่าไม่เลวเลย ร้านนี้ไม่แพง จานละ ๖ หยวนทุกจาน เราทานไป ๕ จานก็จ่ายแค่ ๓๐ หยวน ถือว่าคุ้ม





สุดท้ายนี้... รอลุ้นผลช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า หวังว่าจะสอบผ่าน



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- บันทึก
-- ประเทศจีน >> จีนแผ่นดินใหญ่ >> ปักกิ่ง

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文