φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



[python] การทำแผนที่โยงก่อร่างตัวเอง (SOM)
เขียนเมื่อ 2018/08/05 00:27
แก้ไขล่าสุด 2022/07/11 12:40
การทำแผนที่โยงก่อร่างตัวเอง (自组织映射, self-organizing maps) หรือนิยมเรียกย่อๆว่า SOM เป็นเทคนิคหนึ่งของการเรียนรู้ของเครื่องแบบไม่มีผู้สอน



แนวคิด

SOM เป็นเทคนิคในการวิเคราะห์โครงสร้างของการกระจายตัวของข้อมูลโดยอัตโนมัติ แล้ววาดออกมาเป็นแผนที่แสดงการจัดเรียงของข้อมูลนั้นในพิกัดของแผนที่ที่ถูกสร้างขึ้น

ตัวอย่างเช่นเรามีข้อมูลที่กระจายตัวในสองมิติอยู่ในลักษณะแบบนี้



เราสามารถใช้ SOM หาโครงสร้างการกระจายของข้อมูลแล้วลากเส้นโค้งผ่านกลุ่มข้อมูลเหล่านั้น



แล้วแสดงข้อมูลเหล่านั้นออกมาใหม่ในรูปหนึ่งมิติแบบนี้



ในที่นี้แกนนอนแสดงดัชนีตำแหน่งบนเส้นโค้งที่ใกล้จุดนั้นๆมากที่สุด ส่วนแนวตั้งเป็นระยะห่างระหว่างจุดนั้นกับจุดบนเส้นที่ใกล้สุด

หรือเช่นข้อมูลที่กระจายในสามมิติแบบนี้



เราสามารถใช้ SOM เพื่อสร้างแผ่นผ้าสี่เหลี่ยมโค้งๆเป็นโครงข่ายแผ่พาดผ่านจุดเหล่านี้



แล้วก็แสดงตำแหน่งจุดเหล่านี้ภายในพิกัดของโครงข่ายแผ่นผ้านั้น



โครงสร้างทั้งหมดนี้ อัลกอริธึมของ SOM สามารถทำการหาให้เราได้โดยอัตโนมัติ

SOM มักถูกใช้กับข้อมูลที่มีจำนวนมิติมาก เพื่อทำแผนที่โครงสร้างของข้อมูลนั้นในมิติที่น้อยลง เป็นการลดมิติของข้อมูล และเป็นการทำให้มองเห็นภาพง่ายขึ้น โดยทั่วไปแล้ว SOM นิยมทำเป็นแผ่นสองมิติ ซึ่งมองแล้วก็จะเหมือนเอาข้อมูลทั้งหมดมาจับวางลงบนกระดาษกลายเป็นเหมือนแผ่นแผนที่ให้เห็นว่ากระจายตัวกันยังไง

เทคนิคนี้คิดค้นในปี 1981 โดย เต็วโวะ โกะโฮะเน็น (Teuvo Kohonen) ชาวฟินแลนด์ บางครั้งจึงถูกเรียกว่า แผนที่โกะโฮะเน็น (Kohonen map)

เทคนิคนี้จัดว่าเป็นโครงข่ายประสาทเทียม (人工神经网络, artificial neural network) ชนิดหนึ่ง เพียงแต่ว่าแนวคิดแตกต่างจากโครงข่ายประสาทเทียมซึ่งคนทั่วไปคุ้นเคยซึ่งมีพื้นฐานมาจากเพอร์เซ็ปตรอน

แนวคิด SOM มีพื้นฐานมาจากการเลียนแบบระบบการทำงานของสมองมนุษย์ เซลล์ประสาทในแต่ละส่วนของเปลือกสมองจะมีความไวต่อสิ่งเร้าในรูปแบบต่างๆไม่เท่ากัน แต่ว่าส่วนที่ใกล้กันจะมีแนวโน้มที่จะไวต่ออะไรที่ใกล้เคียงกัน

เส้นโค้งใน SOM 1 มิติ หรือแผ่นผ้าใน SOM 2 มิตินี้มักถูกเรียกว่าเป็นโครงข่ายประสาท โดยแต่ละจุดบนแผ่นหรือเส้นนั้นเรียกว่าเป็นเซลล์ประสาท (neuron)

เพื่อให้สั้นๆและเข้าใจตรงกัน ต่อจากตรงนี้ไปจะเรียกเส้นหรือแผ่นโครงข่ายนี้ว่า "โครงข่าย" เรียกจุดบนโครงข่ายว่า "เซลล์"



อัลกอริธึม

เป้าหมายของ SOM คือการสร้างเส้นโค้งหรือระนาบโค้งที่ลากผ่านใกล้จุดต่างๆได้โดยอัตโนมัติ

วิธีการก็คือ เริ่มแรกสุ่มตำแหน่งของเซลล์ของเส้นโครงข่ายขึ้นมาก่อนแบบสุ่ม จากนั้นก็ค่อยๆทำการปรับไปเรื่อยๆจนสุดท้ายเซลล์ของเส้นโครงข่ายไปวางตัวอยู่บนจุดของข้อมูล ดังภาพนี้



ขั้นตอนมีดังนี้

1. สร้างอาเรย์ตำแหน่งของจุดข้อมูล
..(1)
โดย n คือจำนวนจุดข้อมูล ส่วน m คือมิติของพิกัดข้อมูล

2. สร้างอาเรย์แสดงตำแหน่งภายในพิกัดข้อมูลเดิมของแต่ละเซลล์ของโครงข่าย
..(2)

โดย ν เป็นจำนวนเซลล์ในโครงข่าย

3. สร้างอาเรย์แสดงตำแหน่งเซลล์ภายในพิกัดโครงข่าย

ถ้าเครือข่ายมีมิติเดียวจะได้ว่า
..(3)

ถ้ามีสองมิติจะได้เป็น
..(4)

โดย ν0 คือจำนวนเซลล์ตามแกนตั้ง ν1 คือจำนวนเซลล์ตามแกนนอน ในที่นี้จำนวนเซลล์รวมทั้งหมดคือ ν = ν0×ν1

4. หยิบจุดข้อมูลจุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณา คำนวณหาระยะทางแล้วดูว่าเซลล์ไหนบนโครงข่ายอยู่ใกล้จุดนั้นมากที่สุด

ระยะทางโดยทั่วไปแล้วคำนวณแบบยูคลิดธรรมดา คือรากที่สองของผลรวมกำลังสอง
..(5)



5. ย้ายเซลล์ที่อยู่ใกล้สุดบนโครงข่ายนั้นให้เข้าไปใกล้จุดที่พิจารณา โดยเซลล์ที่อยู่ใกล้ๆกันก็จะได้รับอิทธิพลทำให้เคลื่อนเข้าใกล้ไปด้วย ยิ่งเป็นเซลล์ที่อยู่ใกล้กันในพิกัดของโครงข่าย (ค่า c ใกล้กัน) ก็ยิ่งเคลื่อนตามไปมาก

การเปลี่ยนแปลงคำนวณตามนี้
..(6)

โดย f เป็นฟังก์ชันที่แสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงโดยค่าจะขึ้นอยู่กับว่าห่างจากเซลล์ใกล้สุดเท่าไหร่ในพิกัดของโครงข่าย

ให้จินตนาการว่าเหมือนเราจับส่วนหนึ่งของเส้นด้ายให้เลื่อนไปบนพื้น ส่วนที่อยู่ใกล้ๆก็จะต้องเลื่อนตามไปด้วย แต่ส่วนไกลๆจะแทบไม่เลื่อนตาม

โดยทั่วไปจะใช้ฟังก์ชันที่ลดลงเรื่อยๆตามระยะห่าง เช่นฟังก์ชันเกาส์
..(7)

โดย c* เป็นตำแหน่งของเซลล์ใกล้สุด

โดย rt เป็นอัตราการลดอิทธิพลตามระยะทาง

ส่วน ηt เป็นอัตราการเรียนรู้

โดยทั่วไปทั้ง rt และ ηt จะไม่คงตัว แต่จะกำหนดให้ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งลดลงไปเรื่อยๆ นั่นหมายถึงยิ่งเวลาผ่านไปการเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งน้อย

ภาพนี้แสดงจุดที่พิจารณาและเซลล์ใกล้สุดโดยล้อมด้วยกรอบแดงและเชื่อมด้วยเส้นแดง ส่วนสีของจุดเซลล์บนเส้นโครงข่ายแสดงระดับอิทธิพล ยิ่งอยู่ในลำดับใกล้กับเซลล์ใกล้สุดก็ยิ่งเป็นสีเขียว และจะมีการเลื่อนตำแหน่งมาก รูปล่างแสดงตำแหน่งหลังเลื่อนไปแล้ว




6. ทำซ้ำข้อ 4. ไปเรื่อยๆโดยเปลี่ยนจุดข้อมูลที่พิจารณา



7. พอใช้จุดข้อมูลครบทุกจุดก็วนกลับมาใช้จุดเดิมใหม่ โดยในรอบใหม่นี้อัตราการเรียนรู้จะลดลงเรื่อยๆในแต่ละรอบ แล้วก็ทำซ้ำใหม่ไปเรื่อยๆจนครบจำนวนครั้งที่ต้องการ

rt และ ηt อาจกำหนดให้ลดลงเรื่อยๆแบบเอกซ์โพเนนเชียล
..(8)
..(9)

τ เป็นอัตราการลดค่าตามเวลา



จากขั้นตอนทั้งหมดนี้จะเห็นว่ามีไฮเพอร์พารามิเตอร์ที่ต้องปรับอยู่ ๔ ตัวคือ
- ขนาดของโครงข่าย ν
- อัตราการเรียนรู้ตั้งต้น η
- r
- τ

นอกจากนี้ฟังก์ชัน f เองนอกจากใช้ฟังก์ชันเกาส์แล้วก็อาจจะใช้ฟังก์ชันแบบอื่นอีก อย่างไรก็ตามในที่นี้จะใช้แต่เกาส์เป็นหลัก

ในที่นี้ r อาจกำหนดให้มีค่าเท่ากับความกว้างของแกนที่กว้างที่สุดของโครงข่าย
..(10)

ส่วน τ ให้เป็น
..(11)

ขั้นตอนและสูตรคำนวณที่ว่ามาทั้งหมดนี้หากอ่านวิธีการจากแหล่งต่างๆกันอาจมีความแตกต่างไปในรายละเอียด อาจมีการปรับแต่งให้เหมาะสมกับงานที่ใช้ แต่หลักการโดยภาพรวมก็จะประมาณนี้



เขียนโครงข่ายมิติเดียว

จากขั้นตอนที่อธิบายมาทั้งหมด คราวนี้ลองนำมาใช้เขียนโค้ด เพื่อความเข้าใจง่ายขอเริ่มจากหนึ่งมิติก่อน
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt

# จุดข้อมูลในสองมิติ
x = np.random.uniform(0,5,200)
y = np.random.normal(np.sin(x),0.2)
X = np.array([x,y]).T
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(x,y,c='C7',edgecolor='k',cmap='rainbow')

nu = 25 # จำนวนจุดในโครงข่าย ν
eta = 0.5 # อัตราการเรียนรู้ตั้งต้น
thamsam = 20 # จำนวนครั้งที่ทำซ้ำ
tau = thamsam/np.log(nu) # τ
w = [np.random.uniform(X[:,i].min(),X[:,i].max(),nu) for i in range(X.shape[1])]
w = np.array(w).T # ตำแหน่งจุดของโครงข่ายภายในพิกัดข้อมูลเดิม
c = np.arange(nu) # ตำแหน่งจุดของโครงข่ายภายในพิกัดโครงข่าย
for t in range(thamsam):
    e = np.exp(-t/tau)
    r_t = nu*e
    eta_t = eta*e
    for Xi in np.random.permutation(X):
        Xi_w = Xi-w
        raya2 = (Xi_w**2).sum(1) # ระยะห่างกำลังสองระหว่างแต่ละเซลล์กับจุดที่พิจารณา
        c_klaisut = np.argmin(raya2) # เซลล์ใกล้สุด
        d2 = (c-c_klaisut)**2 # ระยะห่างกำลังสองจากจุดใกล้สุดในพิกัดโครงข่าย
        f = np.exp(-0.5*d2/r_t**2)
        w += (eta_t*f)[:,None] * Xi_w # ปรับค่า w
    
plt.plot(w[:,0],w[:,1],'-or') # วาดจุดโครงข่าย
plt.show()


ต่อมานำมาสร้างเป็นคลาสให้เป็นระเบียบ
class SOM_1miti:
    def __init__(self,nu=50,eta=0.1):
        self.nu = nu
        self.eta = eta
    
    def rianru(self,X,n_thamsam=100):
        self.tau = n_thamsam/np.log(self.nu)
        w = [np.random.uniform(X[:,i].min(),X[:,i].max(),nu) for i in range(X.shape[1])]
        self.w = w = np.array(w).T
        c = np.arange(self.nu)
        for t in range(thamsam):
            e = np.exp(-t/tau)
            r_t = nu*e
            eta_t = eta*e
            for Xi in np.random.permutation(X):
                Xi_w = Xi-w
                raya2 = (Xi_w**2).sum(1)
                c_klaisut = np.argmin(raya2)
                d2 = (c-c_klaisut)**2
                f = np.exp(-0.5*d2/r_t**2)
                w += (eta_t*f)[:,None] * Xi_w
    
    def plaeng(self,X,ao_rayahang=0):
        if(X.ndim==1):
            x_w = X-self.w
            i = np.argmin((x_w**2).sum(1))
            if(ao_rayahang):
                return i,np.sqrt((x_w[i]**2).sum())
            else:
                return i
        else:
            if(ao_rayahang):
                c_klai = []
                rayahang2 = []
                for x_w_2 in ((X[:,None]-self.w)**2).sum(2):
                    i = np.argmin(x_w_2)
                    c_klai.append(i)
                    rayahang2.append(x_w_2[i])
                rayahang = np.sqrt(np.array(rayahang2))
                return np.array(c_klai),rayahang
            else:
                return np.array([np.argmin(x_w_2) for x_w_2 in ((X[:,None]-self.w)**2).sum(2)])
        
    def plaengklap(self,c=None):
        if(c==None):
            return self.w
        else:
            return self.w[c]
    
    def rianru_plaeng(self,X,n_thamsam=100,ao_rayahang=0):
        self.rianru(X,n_thamsam)
        return self.plaeng(X,ao_rayahang)

เมธอด rianru ไว้ใช้เริ่มการเรียนรู้เพื่อให้โครงข่ายทำการจัดวางตัวลงบนข้อมูลนั้น

เมธอด plaeng จะทำหน้าที่หาว่าค่าจากพิกัดข้อมูลเดิมนั้นจะไปอยู่ตำแหน่งไหนในโครงข่ายของเรา หรือก็คือการหาว่าจุดนั้นอยู่ใกล้ตำแหน่งของเซลล์ไหนที่สุด

โดยถ้าใส่ค่า ao_rayahang=1 จะให้คืนค่าระยะห่างจากตำแหน่งของเซลล์ใกล้สุดนั้นมาด้วย บางครั้งระยะห่างก็จำเป็นต้องนำมาใช้ไม่อาจละทิ้งได้เหมือนกัน

ส่วน plaengklap จะทำการแปลงค่าตำแหน่งในโครงข่ายไปเป็นตำแหน่งในข้อมูลเดิม เพียงแต่ถ้าไม่ได้ป้อนค่าตำแหน่งไปก็ให้เป็นการหาตำแหน่งของทุกเซลล์บนโครงข่าย

เมธอด rianru_plaeng เอาไว้ใช้สำหรับเรียนรู้เสร็จแล้วก็ทำการแปลงข้อมูลที่ใช้เรียนรู้นั้นไปด้วยเลยทันที

ตัวอย่างการใช้
n = 300
theta = np.random.normal(np.linspace(0,360,n),25)
r = np.random.normal(1,0.1,n)
x = np.cos(np.radians(theta))*r
y = np.sin(np.radians(theta))*r
X = np.array([x,y]).T
si = np.linspace(0,1,n)

nu = 80 
eta = 0.5
n_thamsam = 100
som = SOM_1miti(nu,eta)
som.rianru(X,n_thamsam) # เรียนรู้
x_,y_ = som.plaeng(X,1) # แปลง โดยให้คืนค่าระยะห่างมาด้วย
# หรือเขียนควบ ๒ ขั้นตอนด้วย x_,y_ = som.rianru_plaeng(X,thamsam,1)
w = som.plaengklap()

plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(x,y,c=si,edgecolor='k',cmap='rainbow') # จุดข้อมูล
plt.plot(w[:,0],w[:,1],'-ok') # จุดโครงข่าย

plt.figure()
plt.scatter(x_,y_,c=si,edgecolor='k',cmap='rainbow') # จุดข้อมูลในพิกัดของโครงข่าย
plt.xlabel(u'ตำแหน่งบนเส้น',family='Tahoma',size=14)
plt.ylabel(u'ระยะห่าง',family='Tahoma',size=14)
plt.show()






เขียนโครงข่ายสองมิติขึ้นไป

ต่อมาคราวนี้จะทำการปรับปรุงโค้ดเดิมให้เป็นแบบที่ใช้ในกี่มิติก็ได้ ความซับซ้อนจะเพิ่มขึ้นมาพอสมควรแต่หลักการทั้งหมดเหมือนเดิม
class SOM:
    def __init__(self,ruprang=(20,20),eta=0.1):
        if(type(ruprang)==int):
            self.ruprang = [ruprang]
        else:
            self.ruprang = ruprang
        self.eta = eta
        self.miti = len(ruprang)
        self.r = max(self.ruprang)
    
    def rianru(self,X,n_thamsam=100):
        self.tau = n_thamsam/np.log(self.r)
        w = [np.random.uniform(X[:,i].min(),X[:,i].max(),np.prod(self.ruprang)) for i in range(X.shape[1])]
        self.w = w = np.array(w).T
        c = np.meshgrid(*[np.arange(i) for i in self.ruprang],indexing='ij')
        self.c = c = np.stack(c,-1).reshape(-1,self.miti)
        for t in range(n_thamsam):
            e = np.exp(-t/self.tau)
            self.r_t = self.r*e
            self.eta_t = self.eta*e
            for x in np.random.permutation(X):
                x_w = x-w
                i = np.argmin((x_w**2).sum(1))
                c_klaisut = self.c[i]
                d2 = ((self.c-c_klaisut)**2).sum(1)
                f = np.exp(-0.5*d2/self.r_t**2)
                w += (self.eta_t*f)[:,None]*x_w
    
    def plaeng(self,X,ao_rayahang=0):
        if(X.ndim==1):
            x_w = X-self.w
            i = np.argmin((x_w**2).sum(1))
            if(ao_rayahang):
                return self.c[i],np.sqrt((x_w[i]**2).sum())
            else:
                return self.c[i]
        else:
            if(ao_rayahang):
                w_klai = []
                rayahang2 = []
                for x_w_2 in ((X[:,None]-self.w)**2).sum(2):
                    i = np.argmin(x_w_2)
                    w_klai.append(self.c[i])
                    rayahang2.append(x_w_2[i])
                rayahang = np.sqrt(np.array(rayahang2))
                return np.array(w_klai),rayahang
            else:
                return np.array([self.c[np.argmin(x_w_2)] for x_w_2 in ((X[:,None]-self.w)**2).sum(2)])
        
    def plaengklap(self,c=None):
        w = self.w.reshape(list(self.ruprang)+[-1])
        if(c==None):
            return w.transpose(np.arange(self.miti-1,-2,-1))
        elif(c.ndim==1):
            return w[tuple(c)]
        else:
            return np.array([w[tuple(ci)] for ci in c])
    
    def rianru_plaeng(self,X,n_thamsam=100,ao_rayahang=0):
        self.rianru(X,n_thamsam)
        return self.plaeng(X,ao_rayahang)

ตัวอย่างการใช้ ลองใช้กับข้อมูลสามมิติซึ่งเป็นค่าสี แดง เขียว น้ำเงิน ให้ SOM ลองวางแผ่นโครงข่ายให้แผ่กระจายทั่วดู
X = np.random.random([1000,3])
ruprang = [50,50]
som = SOM(ruprang,0.1)
som.rianru(X,200)
Xsom,h = som.plaeng(X,1)
m = som.plaengklap()

from mpl_toolkits.mplot3d import Axes3D
plt.imshow(m)
plt.figure(figsize=[6,6])
ax = plt.axes([0,0,1,1],projection='3d',xlim=[0,1],ylim=[0,1],zlim=[0,1])
ax.plot_surface(m[:,:,0],m[:,:,1],m[:,:,2],facecolors=m,rstride=1,cstride=1,alpha=0.8,color='b',edgecolor='k')
plt.show()




สีบนแผ่นโครงข่ายแสดงถึงสีที่เกิดจากการผสมของแม่สีทั้งสามตามตำแหน่งนั้นจริงๆ ในระนาบสามมิติของค่าสีจะเห็นว่าโครงข่ายแผ่ม้วนไปมาลากผ่านบริเวณต่างๆจนทั่ว สีตามตำแหน่งนั้นถูกแสดงลงในพิกัดของโครงข่ายด้วย

ลองดูภาพเคลื่อนไหวแสดงลำดับความเปลี่ยนแผลงของแผ่นในแต่ละขั้นได้ในนี้ https://www.facebook.com/ikamiso/videos/1782038691893136



ข้อมูลหลายมิติ

ที่ผ่านมาเพื่อให้เห็นภาพการทำงานของ SOM ชัดเจนจึงใช้กับข้อมูลสองหรือสามมิติเป็นหลัก แต่บ่อยครั้งที่ SOM มีไว้ใช้กับข้อมูลที่มีมิติจำนวนมาก ยุบลงมาให้เหลือสองมิติเพื่อให้มองเห็นภาพได้ง่าย

ต่อไปจะลองใช้ข้อมูลไวน์ซึ่งมี ๑๓ มิติเป็นตัวอย่าง (รายละเอียดชุดข้อมูล https://phyblas.hinaboshi.com/20171207)

เนื่องจากข้อมูลทั้ง ๑๓ เป็นคนละหน่วยกันและมีค่าต่างกันมาก จำเป็นต้องปรับค่าทำให้เป็นมาตรฐานก่อนด้วย
from sklearn import datasets
wine = datasets.load_wine()
X = wine.data
X = (X-X.mean(0))/X.std(0)
Xsom = SOM([100,100],eta=0.1).rianru_plaeng(X,100)
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(Xsom[:,0],Xsom[:,1],c=wine.target,alpha=0.6,edgecolor='k',cmap='jet')
plt.show()



ข้อมูลไวน์ ๑๓ มิติถูกนำมาจัดวางใน ๒ มิติอย่างเรียบร้อย ข้อมูลในแต่ละกลุ่มดูจะวางตัวอยู่ใกล้กันดีแม้จะมีที่หลงกลุ่มอยู่บ้าง



สรุปส่งท้าย

SOM เป็นเทคนิคที่ช่วยแปลงข้อมูลโดยลดมิติจึงมีความคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (主成分分析, principle component Analysis, PCA) (รายละเอียด https://phyblas.hinaboshi.com/20180727) แต่อัลกอริธึมต่างกันมาก และ SOM มักจะจัดข้อมูลให้มีการกระจายทั่วโครงข่าย

และด้วยความที่เป็นการวิเคราะห์และจัดเรียงโครงสร้างภายในของข้อมูล จึงมีความคล้ายคลึงกับพวกเทคนิคการแบ่งกระจุกข้อมูล เช่น วิธีการ k เฉลี่ย (K-平均算法, k-means) (รายละเอียด https://phyblas.hinaboshi.com/20171220)

แต่ต่างกันตรงที่ SOM จะไม่ได้แบ่งข้อมูลออกเป็นกลุ่มๆให้ แค่นำมาจัดเรียงให้อยู่ในหนึ่งหรือสองมิติเพื่อให้เห็นภาพชัด

ข้อมูลในมิติใหม่นี้อาจถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ด้วยเทคนิคต่างๆต่อไปอีกที



อ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> ปัญญาประดิษฐ์
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文