φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



การใช้ subprocess.Popen ใน python เพื่อควบคุม shell ไปในขณะรันโปรแกรม
เขียนเมื่อ 2020/03/07 21:18
แก้ไขล่าสุด 2024/02/22 10:38


บทความนี้เป็นส่วนเสริมของเนื้อหาเรื่องการใช้มอดูล subprocess https://phyblas.hinaboshi.com/20200306

โดยจะพูดถึงการใช้ subprocess.Popen ซึ่งจะซับซ้อนขึ้นมากว่าการใช้ subprocess.run แต่เหมาะจะใช้ในบางกรณีมากกว่า เช่นเมื่อต้องมีการป้อนค่าเพิ่มเข้าไป หรือเมื่อต้องการสั่งหลายๆคำสั่งพร้อมกันคู่ขนาดกันไป




ว่าด้วยเรื่องคำสั่งที่ต้องมีการป้อนค่าเข้า

ขอเริ่มจากเกริ่นถึงลักษณะของโปรแกรมที่ควรใช้ subprocess.Popen

สมมุติว่ามีโปรแกรมไพธอนอันนึง sanpo.py เขียนไว้แบบนี้
a = float(input())
print(a/11.)

เนื่องจากมีคำสั่ง input ดังนั้นโปรแกรมนี้จะต้องรอรับค่าเพื่อที่จะไปต่อได้ ไม่เช่นนั้นโปรแกรมก็จะไม่มีทางทำงานต่อจนจบ

ในกรณีแบบนี้หากใช้ subprocess.run ละก็ จะไม่ได้
import subprocess
subprocess.run(['python','sanpo.py'])

ได้
Traceback (most recent call last):
  File "sanpo.py", line 1, in <module>
    a = float(input())
EOFError: EOF when reading a line

ในกรณีแบบนี้ก็จะต้องใส่ input เข้าไปใน run ด้วย แบบนี้ ก็จะสามารถรันออกมาได้
import subprocess
subprocess.run(['python','sanpo.py'],input='2',text=True)

ได้
0.18181818181818182

แต่ว่าถ้าหากโปรแกรมต้องการค่าป้อนเข้า ๒ ตัว เช่น
a = int(input())
b = int(input())
print('%d/%d = %s'%(a,b,a/b))

แบบนี้ก็ต้องใส่ค่าเข้าไป ๒ ตัว โดยใช้ \n คั่น
subprocess.run(['python','sanpo.py'],input='2\n3',text=True)

ได้
2/3 = 0.6666666666666666

ปัญหาคือการทำแบบนี้ทำให้ต้องเตรียมข้อมูลป้อนเข้าไว้ตั้งแต่แรกทั้งหมด ถ้ายังมีข้อมูลป้อนเข้าที่ต้องการอีกแต่ไม่มีเตรียมค่าป้อนเข้าไปแล้วก็จะไปต่อไม่ได้ทันที

และปกติแทนที่จะเตรียมข้อมูลป้อนเข้าไว้ทั้งหมดตั้งแต่แรก ปกติจะค่อยๆใส่ลงไปทีละตัวตามลำดับมากกว่า ซึ่งถ้าใช้ subprocess.Popen ก็จะสามารถทำแบบนั้นได้




การใช้ .Popen โดยป้อนค่าผ่าน .stdin

subprocess.Popen นั้นวิธีการใช้จะคล้ายกับ subprocess.run ใช้โดยป้อนคำสั่งที่ต้องการเข้าไปเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันก็คือ subprocess.Popen จะคืนออบเจ็กต์ Popen ซึ่งเป็นตัวกลางที่สามารถใช้เพื่อทำการสื่อสารกับคอมมานด์ไลน์ต่อได้

วิธีการใช้มีความซับซ้อนเล็กน้อย ขอเริ่มจากยกตัวอย่างการใช้

สมมุติมีโปรแกรม sanpo.py ซึ่งมีการใช้ input เพื่อรับค่า ๒ ตัว
a = int(input())
b = int(input())
print('%d×%d = %s'%(a,b,a*b))

เราสามารถเขียน subprocess.Popen เพื่อควบคุมได้ดังนี้
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True)
po.stdin.write('11\n') # ป้อนค่าตัวแรก
po.stdin.flush() # สิ้นสุดการป้อนตัวแรก
po.stdin.write('12\n') # ป้อนค่าตัวที่สอง
po.stdin.flush() # สิ้นสุดการป้อนตัวที่สอง
po.wait() # รอจนสิ้นสุดโปรแกรม

ได้
11×12 = 132

ในที่นี้เมื่อใช้ subprocess.Popen ก็จะได้ออบเจ็กต์ Popen มาเก็บไว้ในตัวแปร po จากนั้นก็นำมันมาใช้

ในที่นี้จำเป็นต้องระบุ stdin=subprocess.PIPE ลงไปด้วย แล้วจะทำให้ในออบเจ็กต์นี้จะมีตัวกลางสำหรับป้อนค่าเข้า คือ .stdin

วิธีการป้อนค่าจะคล้ายกับเวลาใช้ open เพื่อเปิดไฟล์มาในโหมดเขียน (เช่น open('ชื่อไฟล์','w')) นั่นคือจะใช้เมธอด .write() เพื่อเขียนค่าลงไปได้

ข้อความที่ป้อนเข้าไปต้องปิดท้ายด้วย \n คือแทนการกด enter ด้วย และหลังป้อนข้อมูลไปก็ใช้เมธอด .flush() เพื่อสิ้นสุดการป้อน

และสุดท้ายใช้ .wait() เพื่อให้รอจนสิ้นสุดการทำงานของคำสั่ง

อาจใช้โครงสร้าง with เพื่อให้คำสั่งรอจนสิ้นสุดเองโดยไม่ต้องใช้ .wait()
with subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True) as po:
    po.stdin.write('11\n')
    po.stdin.flush()
    po.stdin.write('12\n')
    po.stdin.flush()

แบบนี้ก็ได้ผลเหมือนกัน โดยส่วนที่อยู่ในโครงสร้าง with คือสิ่งที่จะทำในขณะที่คอมมานด์ไลน์นี้กำลังทำงานอยู่ พอสิ้นสุด with ก็จะรอจนคำสั่งสิ้นสุดลงไป




การเอาผลลัพธ์จาก .stdout และ .stderr เมื่อใช้ .Popen

หากใส่คีย์เวิร์ด stdout=subprocess.PIPE แทนที่ผลลัพธ์จะแสดงออกมาทันทีก็จะเก็บไว้ในออบเจ็กต์ Popen โดยอยู่ใน .stdout

ซึ่ง .stdout นี้จะเป็นตัวกลางสำหรับดึงข้อมูลออกมา การใช้จะเหมือนกับเวลาใช้ open แล้วเปิดโหมดอ่านข้อมูล คือใช้เมธอด .read, .readline, readlines ได้

ตัวอย่างเช่น ถ้าใน sanpo.py เป็น

a = int(input())
print('2^%d = %s'%(a,2**a))

สั่งรันแล้วเอาผลลัพธ์มาแสดงได้โดยเขียนแบบนี้
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,text=True)
po.stdin.write('13\n')
po.stdin.flush()
print(po.stdout.read()) # ได้ 2^13 = 8192

เมื่ออ่านค่าจาก .stdout นั่นหมายความว่าคำสั่งจะต้องถูกทำจนจบและให้ผลลัพธ์ออกมา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ with หรือ .wait()

ถ้าต้องการจะเอาผลลัพธ์ใส่ลงไฟล์ก็ใช้ open ได้เช่นเดียวกันเมื่อตอนใช้ subprocess.run
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=open('xxx.txt','w'),text=True)
po.stdin.write('15\n')
po.stdin.flush()

ผลลัพธ์ที่ผิดพลาดก็เช่นกัน เอาออกมาได้โดยใส่ stderr=subprocess.PIPE แล้วเอา .stderr
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stderr=subprocess.PIPE,text=True)
po.stdin.write('x\n')
po.stdin.flush()
print(po.stderr.read())

ก็จะได้ผลลัพธ์ความผิิดพลาดออกมา
Traceback (most recent call last):
  File "sanpo.py", line 1, in 
    a = int(input())
ValueError: invalid literal for int() with base 10: 'x'

หรือเอาผลลัพธ์ที่ผิดพลาดออกมาใส่ในส่วนของ .stdout ได้โดยใส่ stderr=subprocess.STDOUT
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,stderr=subprocess.STDOUT,text=True)
po.stdin.write('x\n')
po.stdin.flush()
print(po.stdout.read())




การใช้ผลลัพธ​์จากคำสั่งแรกมาป้อนให้อีกคำสั่งทันที

.stdout ที่ได้จากคำสั่งหนึ่งยังเอามาใช้เป็น stdin ของ subprocess.Popen ได้ด้วย

ตัวอย่างเช่น เตรียมโปรแกรม sanpo.py ซึ่งจะรับค่าตัวเลขมาแล้วเอามาคูณ 2
a = int(input())
print(a*2)

ลองสั่งคำสั่งต่อกัน ๒ คำสั่งด้วย subprocess.Popen โดยเอาคำตอบของคำสั่งแรกมาป้อนให้คำสั่งถัดไป
po1 = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,text=True)
po1.stdin.write('7\n')
po1.stdin.flush()

po2 = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=po1.stdout,stdout=subprocess.PIPE,text=True)
print(po2.stdout.read()) # ได้ 28

ค่าที่ป้อนเข้าไปตอนแรกคือ 7 เมื่อเข้าไปในคำสั่ง po1. จะให้ค่า 7×2 เท่ากับ 14 ออกมาทาง .stdout แล้วเมื่อใช้ค่านี้ป้อนให้ po2 ก็จะได้คำตอบออกมาเป็น 14×2 เท่ากับ 28




การป้อนค่าสุดท้ายโดยใช้ .communicate()

สามารถใช้เมธอด .communicate เพื่อทำการป้อนค่าครั้งสุดท้ายและเป็นการจบคำสั่งไปในตัว

สมมุติโค้ดใน sanpo.py เป็นแบบนี้
a = int(input())
b = int(input())
print('%d^%d = %s'%(a,b,a**b))

เนื่องจากมี input รับค่า ๒ ตัว ดังนั้นอาจใช้ .stdin.write ๒ ครั้ง หรืออาจใช้ .communicate เขียนแทนตัวหลังแบบนี้ได้
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True)
po.stdin.write('5\n')
po.communicate('4')

ได้
5^4 = 625

เมื่อใช้ .communicate จะได้ค่าคืนกลับคือทูเพิลของค่า (ผลลัพธ์ปกติ, ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด)

ลองให้ stdout หรือ stderr เป็น subprocess.PIPE ก็จะได้ค่าผลลัพธ์ปกติและผลลัพธ์​ที่ผิดพลาดออกมา เช่น
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,text=True)
po.stdin.write('5\n')
res = po.communicate('4')
print(res) # ได้ ('5^4 = 625\n', None)

po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stderr=subprocess.PIPE,text=True)
po.stdin.write('\n')
res = po.communicate('x')
print(res) # ได้ (None, 'Traceback (most recent call last):\n  File "sanpo.py", line 1, in \n    a = int(input())\nValueError: invalid literal for int() with base 10: \'\'\n')

po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,stderr=subprocess.STDOUT,text=True)
po.stdin.write('\n')
res = po.communicate('x')
print(res) # ได้ ('Traceback (most recent call last):\n  File "sanpo.py", line 1, in \n    a = int(input())\nValueError: invalid literal for int() with base 10: \'\'\n', None)

เช่นเดียวกับ .stdout การใช้ .communicate จะทำให้คำสั่งสิ้นสุดและปิดตัวลงอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องใช้คู่กับ with หรือปิดท้ายด้วย .wait()




การใช้ timeout เพื่อจำกัดเวลาใน .communicate()

.communicate สามารถกำหนดเวลาจำกัด timeout ได้เหมือนตอนใช้ subprocess.run ถ้าหลังป้อนค่าไปแล้วคำสั่งเสร็จไม่ทันตามเวลาที่กำหนดก็จะทำให้เกิดข้อผิดพลาด

ตัวอย่างให้ sanpo.py เป็นโปรแกรมที่ใช้ฟังก์ชัน time.sleep เผื่อถ่วงเวลาตามที่ระบุไป
import time
a = float(input())
time.sleep(a)
print('ผ่านไปแล้ว %f วินาที'%a)

ลองใช้ .communicate โดยใส่ timeout ได้ดังนี้
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,text=True)
res,_ = po.communicate('2',timeout=2.2)
print(res) # ได้ ผ่านไปแล้ว 2.000000 วินาที

po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,stdout=subprocess.PIPE,text=True)
res,_ = po.communicate('2.5',timeout=2.2)
print(res) # ได้ TimeoutExpired: Command '['python', 'sanpo.py']' timed out after 2.2 seconds




เมื่อใช้ .Popen หลายตัวพร้อมกัน

เมื่อใช้ subprocess.Popen สั่งคอมมานด์ไลน์ไปแล้ว คำสั่งต่อไปในโค้ดก็จะทำงานทันทีโดยที่ไม่ได้สนว่าคำสั่งในคอมมานด์ไลน์ที่สั่งไปนั้นจะทำเสร็จหรือยัง ยกเว้นว่าจะใช้เมธอด .communicate() หรือดึงเอาผลลัพธ์มาด้วย .stdout.read() ซึ่งจะเป็นการรอจนได้ผลออกมา

นั่นหมายความว่าถ้าใช้ subprocess.Popen ต่อๆกันหลายอันในโปรแกรมเดียว โปรแกรมไม่จำเป็นต้องรอให้ subprocess.Popen ตัวแรกเสร็จจึงจะทำตัวต่อไป สามารถทำคู่ขนานไปพร้อมๆกันได้เลย และตัวที่สั่งไปก่อนก็อาจจะเสร็จทีหลังก็ได้

เช่น ลองเขียน sanpo.py ให้กินเวลาตามค่าที่ใส่เข้าไป แบบนี้
import time
a = int(input())
time.sleep(a)
print('เวลาล่วงไป %s วินาที'%a)

จากนั้นลองสั่งรันโปรแกรมนี้พร้อมกันหลายๆตัวดู
import subprocess,time

po3 = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True)
po3.stdin.write('3\n')
po3.stdin.flush()

po2 = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True)
po2.stdin.write('2\n')
po2.stdin.flush()

po1 = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True)
po1.stdin.write('1\n')
po1.stdin.flush()

time.sleep(4) # รอไปสัก ๔ วินาที ให้ทำเสร็จทั้งหมดก่อน

แบบนี้ผลที่ได้จะออกมาตามลำดับดังนี้
เวลาล่วงไป 1 วินาที
เวลาล่วงไป 2 วินาที
เวลาล่วงไป 3 วินาที

จะเห็นว่าแม้ว่า po3 จะสั่งก่อน แต่มันต้องใช้เวลา ๓ วินาที จึงออกมาลำดับท้ายสุด ในขณะที่ po1 สั่งทีหลังสุด แต่ใช้เวลาแค่ ๑ วินาที จึงเสร็จก่อน

อาจใช้ for วนซ้ำเพื่อรันคำสั่งที่ใช้เวลาต่างกัน
tt = [2,6,5,1]
for t in tt:
    po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'],stdin=subprocess.PIPE,text=True)
    po.stdin.write('%d\n'%t)
    po.stdin.flush()

time.sleep(max(tt)+1) # รอจนทำเสร็จหมด

ก็จะได้ผลออกมาตามลำดับเวลาดังนี้
เวลาล่วงไป 1 วินาที
เวลาล่วงไป 2 วินาที
เวลาล่วงไป 5 วินาที
เวลาล่วงไป 6 วินาที




การตรวจสอบสถานะการรันโดยใช้ .poll()

จากหัวข้อที่แล้วจะเห็นว่าเมื่อใช้ subprocess.Popen ไปแล้วคำสั่งต่อไปจะทำงานโดยไม่รอให้คำสั่งนั้นทำเสร็จ

แบบนั้นแล้วหากคำสั่งต่อไปขึ้นกับคำสั่งที่สั่งก่อนหน้า ผลของคำสั่งต่อไปที่ได้ก็อาจต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับว่าคำสั่งในคอมมานด์ไลน์ไปถึงไหนแล้ว บางครั้งจึงจำเป็นต้องตรวจดูว่าคำสั่งนั้นทำเสร็จไปหรือยัง

ถ้าต้องการจะดูว่าคำสั่งนั้นทำเสร็จสิ้นหรือยังสามารถใช้เมธอด .poll() ถ้าหากว่ายังไม่เสร็จจะได้ค่า None แต่ถ้าเสร็จแล้วก็จะคืนค่า returncode มา (ถ้าไม่เกิดข้อผิดพลาดจะได้ 0)

ตัวอย่าง ลองเตรียมไฟล์ sanpo.py ให้มีการใช้เวลา ๒ วินาทีดังนี้
import time
time.sleep(2)

ลองใช้ subprocess.Popen แล้วใช้ .poll() แล้วดูค่าที่ได้ในจังหวะต่างๆ
import subprocess,time

po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'])
time.sleep(1) # รอสัก 1 วินาที
print(po.poll()) # ได้ None
time.sleep(3) # รอต่ออีก 3 วินาที
print(po.poll()) # ได้ 0

สำหรับ .poll() อันแรกนั้นเพิ่งผ่านไป ๑ วินาที ยังรันไม่เสร็จ จึงได้ None แต่ .poll() ตัวหลังเกินเวลามาแล้วจึงได้ returncode ออกมา ในที่นี้ไม่มีข้อผิดพลาดอะไรจึงให้ค่า 0

อาจใช้ .poll() เป็นเงื่อนไขใน if หรือ while เพื่อให้โปรแกรมเลือกทำโดยดูว่าคำสั่งรันเสร็จหรือยัง เช่น
po = subprocess.Popen(['python','sanpo.py'])
t0 = time.time()
while(po.poll()==None):
    print(f'ผ่านไปแล้ว {time.time()-t0} วินาที')
    time.sleep(0.3)

แบบนี้ก็จะวนซ้ำไปเรื่อยๆใช้เวลารอบละ ๐.๓ วินาที จนกว่าจะเกิน ๒ นาที ได้ผลออกมาดังนี้
ผ่านไปแล้ว 4.696846008300781e-05 วินาที
ผ่านไปแล้ว 0.30647993087768555 วินาที
ผ่านไปแล้ว 0.6083638668060303 วินาที
ผ่านไปแล้ว 0.912254810333252 วินาที
ผ่านไปแล้ว 1.215419054031372 วินาที
ผ่านไปแล้ว 1.5203897953033447 วินาที
ผ่านไปแล้ว 1.8238389492034912 วินาที



ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการใช้ subprocess.Popen เพื่อสั่งคำสั่งไปในคอมมานด์ไลน์จากภายในโปรแกรมไพธอน อาจมีความยุ่งยากสักหน่อย ต้องตั้งใจทำความเข้าใจให้ดี




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python
-- คอมพิวเตอร์ >> shell

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文