φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



อูโปโปย พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าไอนุแห่งชาติที่เมืองชิราโออิ
เขียนเมื่อ 2023/09/06 22:10
แก้ไขล่าสุด 2023/09/16 11:00
# ศุกร์ 1 ก.ย. 2023

ต่อจากตอนที่แล้วที่มาถึงเมืองโทมาโกไมและเริ่มเช่ารถออกเดินทาง https://phyblas.hinaboshi.com/20230905

ในตอนนี้จะเริ่มเป็นการไปเที่ยวตามสถานที่เที่ยว โดยเริ่มจากสถานที่ที่มีชื่อว่า อูโปโปย (upopoyウポポイ) ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวที่เกี่ยวข้องกับชาวไอนุ ชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของเกาะฮกไกโด

ชื่ออูโปโปยนั้นเป็นภาษาไอนุ หมายถึงการร่วมร้องเพลงด้วยกันหลายคน

ภายในอูโปโปยนั้นประกอบไปด้วยส่วนสำคัญคือ พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าไอนุแห่งชาติ (国立こくりつアイヌ民族博物館みんぞくはくぶつかん) ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับไอนุ การเข้าชมที่นี่ทำให้ได้เห็นและเข้าใจอะไรเกี่ยวกับไอนุขึ้นมามากมาย นอกจากนี้แล้วยังมีบ้านแบบดั้งเดิมของชาวไอนุที่ถูกสร้างจำลองขึ้นมาสามารถเข้าไปชมด้านในได้ด้วย

ในหน้านี้จะมีชื่อต่างๆที่เป็นภาษาไอนุ ซึ่งจะเขียนทับศัพท์ตามที่เขียนเอาไว้ในหน้า หลักการเขียนทับศัพท์ภาษาไอนุ

สำหรับใครที่สนใจภาษาก็สามารถอ่านได้ในหน้านั้น ถ้าจะเที่ยวฮกไกโด รู้ภาษาไอนุไว้ก็เป็นประโยชน์ไม่น้อย ที่มาของชื่อสถานที่ต่างๆในฮกไกโด



อูโปโปยตั้งอยู่ที่ริมทะเลสาบทะเลสาบโปโรโต (ポロト) ในเมืองชิราโออิ (白老町しらおいちょう) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเมืองโทมาโกไมซึ่งเราลงเรือมา เดินทางไม่นานก็ถึง

ชื่อเมืองชิราโออินี้ก็มีที่มาจากภาษาไอนุ โดยมาจากคำว่า "ซีเราโออี" (siraw-o-iシラウオイ) แปลว่า "สถานที่ที่มาเหลือบมาก"

ตำแหน่งเมืองชิราโออิในกิ่งจังหวัดอิบุริบนเกาะฮกไกโด แสดงเป็นสีเหลืองเข้มทางซ้าย






หลังจากได้เช่ารถแล้วขึ้นรถนั่งออกมาจากเมืองโทมาโกไม รถก็วิ่งท่ามกลางสายฝนมาเรื่อยๆจนมาถึงเมืองชิราโออิ แล้วก็เข้ามาจอดรถที่ที่จอดรถหน้าทางเข้าอูโปโปย ที่นี่คิดค่าจอดรถด้วยคือ ๕๐๐ เยน



แล้วก็เดินตากฝนเข้าไปด้านใน




ที่เห็นตั้งเด่นอยู่ตรงหน้าทางเข้านี้คือตัวละครมาสคอตของอูโปโปย ชื่อว่า ตูเร็ปปน (turepponトゥレッポん) มาจากคำว่า ตูเร็ป (turepトゥレㇷ゚) เป็นชื่อพืชชนิดหนึ่งในภาษาไอนุ ส่วนในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่าโออุบายุริ (大姥百合オオウバユリ) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cardiocrinum cordatum



เดินเข้ามาในบริเวณก็มีพวกร้านเล็กๆ



ร้านด้านหน้าสุดนี้ขายพวกขนมและไอศกรีม



ถัดมาร้านคาเฟริมเซ (café rimseカフェ リㇺセ) โดยคำว่า "ริมเซ" นั้นเป็นคำภาษาไอนุหมายถึงการเต้นรำ ร้านนี้ขายอาหารไอนุ



จากนั้นเดินลึกเข้ามาก็เจอตูเร็ปปนอีก



ส่วนตรงนี้มีร้านอาหาร



ตรงส่วนนี้เป็นศูนย์อาหาร



เนื่องจากเป็นเวลาอาหารเที่ยง พวกเราจึงกินกันก่อนที่จะเข้าไปชมด้านใน โดยได้แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ๔ คนกินอาหารไอนุที่ร้านริมเซ และอีก ๕ คนกินที่ศูนย์อาหาร เราอยู่ในกลุ่มที่เลือกไปกินอาหารไอนุ

นี่เป็นเมนูร้านริมเซ ด้านบนเป็นอาหารพื้นบ้านไอนุ เจ็ปโอเฮา (cep ohawチェㇷ゚オハウ) และ กีนาโอเฮา (kina ohawキナオハウ) โดยคำว่า "เจ็ป", "กีนา", "โอเฮา" เป็นภาษาไอนุ แปลว่า "ปลา", "ผัก", "ซุป" ตามลำดับ ดังนั้นเมนูนี้จึงหมายถึงซุปปลาและซุปผักแบบไอนุนั่นเอง จะอันไหนก็ราคา ๘๐๐ เยน แต่ถ้าสั่งเป็นชุดก็จะเป็น ๑๔๐๐



เราเลือกสั่งเจ็ปโอเฮา นั่นคือซุปปลา ก็อร่อยดีทีเดียว



หลังจากกินเสร็จก็มาเดินดูแถวหน้าทางเข้าอีกหน่อย ตรงนี้มีห้องน้ำ และร้านขายของที่ระลึก



ในร้านขายพวกขนมพื้นเมืองของที่นี่





อันนี้เป็นเจ็ปโอเฮาที่เพิ่งกินไป ซื้อกลับไปทำกินได้ด้วย นอกจากนี้ยังมียุกโอเฮา (yuk ohawユㇰオハウ) คือซุปเนื้อกวาง



ส่วนตรงนี้เป็นพวกของที่ทำเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไอนุ ลวดลายแบบนี้มักวาดลงบนเสื้อผ้าของชาวไอนุ เชื่อว่ามีไว้เพื่อปกป้องจากปีศาจร้าย




อันนี้เป็นถุงเท้า เราได้มีซื้อไปคู่นึงด้วย ราคา ๗๗๐ เยน



ตุ๊กตาตูเร็ปปน น่ารักดี



ในร้านมีเขียนอธิบายเกี่ยวกับตูเร็ปปนไว้ด้วย เห็นหน้าตาแบบนี้จริงๆแล้วดูเหมือนว่าจะเป็นเด็กสาวไวรุ่น



จากนั้นก็ได้เวลาเข้าชมด้านในกัน โดยก่อนอื่นต้องซื้อตั๋วเข้าชมที่เครื่องขายอัตโนมัติ



ตั๋วราคา ๑๒๐๐ เยน



จากนั้นก็เดินเข้าไปชมด้านใน ตอนนั้นเห็นเด็กมาเป็นกลุ่มกำลังเดินเข้าไปชมกันพอดี แม้จะฝนตกแต่ก็มีคนเข้ามเที่ยวที่นี่กันไม่น้อยเลย



เมื่อเข้ามาด้านใน ที่เห็นอยู่ทางซ้ายก็คือโรงละคร โดยในนี้จะมีการฉายหนังอยู่เป็นรอบๆ สามารถเข้าไปขมได้ตามรอบที่กำหนด ตอนที่เราไปถึงนั้นเป็นเวลา 14:05 และรอบต่อไปที่จะฉายคือเวลา 14:30 ทำให้ตัดสินใจไปเดินเล่นในส่วนของพิพิธภัณฑ์จนใกล้เวลาแล้วจึงไปที่โรงละครเพื่อเข้าชม จากนั้นเสร็จแล้วจึงกลับไปชมพิพิธภัณฑ์ต่อ



สำหรับเรื่องการชมพิพิธภัณฑ์จะเล่าทีเดียวเลย ส่วนตอนนี้จะเล่าถึงโรงละครก่อน



เมื่อเข้ามาด้านใน ภายในห้องชมหนังเป็นแบบนี้



สำหรับหนังที่ฉายนั้นมีอยู่ ๒ เรื่องฉายต่อกันไป เรื่องที่ฉายคือตำนานพื้นบ้านของชาวไอนุที่ได้รับการเล่าขานกันปากต่อปากมา เรียกว่า "ยูการ์" (yukarユカㇻ) เรื่องแรกคือเรื่องของเด็กหนุ่มชาวไอนุ ซึ่งเราสามารถทำความเข้าใจธรรมเนียมความเชื่อและวิถีชีวิตของชาวไอนุได้ผ่านเรื่องราวนี้ ส่วนอีกเรื่องคือตำนานเรื่องล่าเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ จุปกามุย (cup kamuyチュㇷ゚カムイ) กับหมาจิ้งจอกชั่วร้ายที่จับลูกชายของจุปกามุยไป

มีแจกแผ่นพับให้มาอ่านด้วย



หลังจากดูเสร็จไปโดยใช้เวลาไปครึ่งชั่วโมง ต่อมาก็มาชมในส่วนของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหลักที่สำคัญที่สุดของที่นี่



ด้านหน้าทางเข้ามีที่วางร่มซึ่งถูทำไว้เป็นอย่างดีด้วย



ด้านในภายในชั้น ๑



เดินขึ้นมาที่ชั้น ๒



จากตรงนี้มองไปเห็นทิวทัศน์ในบริเวณนี้



เข้ามาชมห้องจัดแสดงหลัก ส่วนจัดแสดงทั้งหมดอยู่ที่ห้องใหญ่ห้องเดียวนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่มีอะไรอยู่มากมาย



นี่เรียกว่า อีเนา (inawイナウ) เป็นของที่ทำขึ้นเพื่อสำหรับใช้บูชาเทพเจ้าของชาวไอนุ



ตรงนี้แสดงเครื่องแต่งกายของชาวไอนุ โดยหลักแล้วเป็นชุดคลุมทำจากผ้าฝ้าย มีวาดลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไอนุ




นี่เป็นชุดสำหรับใส่เมื่อทำพิธี ของผู้ชาย



ชุดของผู้หญิง



นอกจากนี้ก็มีชุดที่ทำจากเส้นใยที่ได้จากต้นอิรากุสะ (刺草イラクサ) พืชจำพวกตำแย



ที่เป็นที่รู้จักดีคือเสื้อผ้าที่ทำผ้าที่ถัดจากเปลือกไม้ต้นโอเฮียว (於瓢オヒョウ) เสื้อผ้าแบบนี้มีชื่อเรียกในภาษาไอนุว่า "อัตตุส" (attusアットゥㇱ)



นอกจากนี้แล้วที่นี่ยังแสดงเสื้อผ้าของชนเผ่าวิลตา (уилтаウィルタ) และเผ่านิฟฮ์ (нивхニヴフ) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บนเกาะซาฮาลิน มีความใกล้ชิดกับไอนุมาก แต่เป็นคนละเผ่ากัน มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป เสื้อผ้าก็มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์คนละแบบกับไอนุ



อุปกรณ์สำหรับจับปลา



อุปกรณ์สำหรับเก็บหาของป่า



งานฝีมือของชาวไอนุ



ตรงนี้เป็นวีดีโอที่บอกเล่าเกี่ยวกับ "กามุย" (kamuy) ซึ่งเป็นคำเฉพาะในภาษาไอนุที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆในธรรมชาติที่ไม่ใช่มนุษย์ บ่อยครั้งมักหมายถึงพระเจ้า แต่ก็ยังใช้เรียกพวกสัตว์ต่างๆหรือรวมถึงวิญญาณด้วย



ตรงนี้อธิบายเกี่ยวกับพิธีกรรมทางจิตวิญญาณของชาวไอนุ



จะเห็นว่าตรงหัวข้อมีเขียนเป็นภาษาไทยด้วย แม้จะแค่เล็กๆ อันนี้เป็นเรื่องของ รามัต (ramatラマッ) ซึ่งหมายถึงจิตวิญญาณ ข้างล่างที่เห็นเป็นคาตากานะล้วนนั้นเป็นภาษาไอนุ ถูกเขียนอยู่ปนกับภาษาอื่น



นอกจากนั้นแถวนี้ก็แสดงของที่เกี่ยวกับประเพนีและพิธีกรรมของชาวไอนุอีกหลายอย่าง






เครื่องทอผ้าจากเปลือกไม้



อุปกรณ์สำหรับการกินและทำอาหาร





ตรงนี้จัดแสดงเกี่ยวกับช่วงชีวิตของชาวไอนุตั้งแต่เด็กจนแก่



เครื่องดนตรีไอนุ



แบบจำลองเรือนที่อยู่อาศัยพื้นบ้านของชาวไอนุ แบบนี้เรียกว่า โตยจีเซ (toyciseトイチセ) เป็นบ้านที่มีส่วนที่ขุดลงไปอยู่ใต้ดิน



วิดีโอแสดงโครงสร้างบ้านแบบไอนุ



ตรงนี้จัดแสดงอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับอาหารหรือของใช้ในชีวิตประจำวันของชาวไอนุ จริงๆจะมีคนมายืนบรรยายอยู่ตรงนี้ด้วย แต่จังหวะที่ไปนั้นไม่มีคนอยู่








มีตุ๊กตาใส่เสื้อผ้าลายต่างๆของไอนุให้ลองเปลี่ยนชุดเล่นได้ด้วย



ตรงนี้เป็นวิดีโอเล่าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับไอนุ ที่เห็นอยู่นี้เป็นเรื่องราวของชากุชาอิง (シャクシャイン, ปี 1606-1669) เป็นผู้นำชาวไอนุที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงต้นยุคเอโดะ เนื่องจากช่วงนั้นชาวญี่ปุ่นทั้งกึ่งปกครองฮกไกโดและได้ทำการค้ากับชาวไอนุในฮกไกโดโดยผ่านมัตสึมาเอะฮัง (松前藩まつまえはん) ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่ตั้งอยู่ที่เมืองมัตสึมาเอะ (松前町まつまえちょう) ทางใต้สุดของฮกไกโด แต่การค้าไม่เป็นธรรมจึงเกิดการต่อต้านจากชาวไอนุในปี 1669 ซึ่งก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ และชากุชาอิงก็ถูกสังหาร



การลุกฮือของชาวไอนุเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นอกจากนี้แล้วในวิดีโอกก็ยังมีบรรยายถึงอีกศึกคือศึกคุนาชิริ-เมนาชิ (クナシリ・メナシのたたか) ที่เกิดขึ้นทางตะวันออกของฮกไกโดในปี 1789 ซึ่งก็จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของไอนุ และยิ่งเวลาผ่านไปชาวไอนุในฮกไกโดก็ยิ่งถูกคนญี่ปุ่นเข้าครอบงำ และยิ่งเสียความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองลงไปเรื่อยๆ

ตรงนี้มีอธิบายประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง



ผู้มีส่วนสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ไอนุ



หน้าจอนี้อธิบายเกี่ยวกับผลผลิตที่เก็บในฤดูต่างๆของชาวไอนุ



ตรงส่วนนี้เล่าถึงชาวไอนุคนสำคัญที่ประกอบอาชีพต่างๆ



เช่นนักแสดงชื่อ อุกาจิ ทากาชิ (宇梶うかじ 剛士たかし) เขาเป็นครึ่งไอนุ พ่อเป็นคนญี่ปุ่น ส่วนแม่ของเขาคือ อุกาจิ ชิซึเอะ (宇梶うかじ 静江しずえ) เป็นชาวไอนุคนนึงที่มีบทบาทในการสนับสนุนการอนุรักษ์วัฒนธรรมไอนุ



นี่คือวงดนตรีไอนุที่มีชื่อว่า OKI DUB AINU BAND นำโดยคาโนว โอกิ (加納かのう おき) ซึ่งมีเชื้อสายไอนุ



แบบจำลองเรือแบบต่างๆของไอนุ



นี่เป็นเศษซากเรือที่ขุดเจอที่ทะเลสาบอักเกชิ (厚岸湖あっけしこ) ทางตะวันออกของฮกไกโด เรือแบบนี้เรียกว่า อีตาโอมาจิป (itaomacipイタオマチㇷ゚)



อุปกรณ์สำหรับเคลื่อนไหวบนหิมะ



ที่จริงแล้วที่นี่ยังมีอะไรอีกมาก ไม่อาจกล่าวถึงได้หมด เรามีเวลาเพียงจำกัด ใช้เวลาเดินชมไปชั่วโมงนึงเท่านั้นก็ต้องออกไปแล้ว



หลังจากนั้นก็เดินลงมาชั้น ๑



ตรงนี้มีร้านขายของที่ระลึก



จากนั้นออกจากพิพิธภัณฑ์มา เดินเข้ามาด้านในเลียบริมทะเลสาบต่อก็ยังมีอะไรให้ชมอีก



ตรงนี้มีแผนที่ให้ดูด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์อยู่ด้านล่าง และตอนนี้เรากำลังเดินไปชมส่วนทางขวา



ตรงนี้เรียว่าอีการ์ อูซี (ikar usiイカㇻ ウシ) หมายถึงที่สำหรับทำงานฝีมือ



ภายในมีพวกเสื้อผ้า ของใช้ หรืองานฝีมือที่ชาวไอนุทำขึ้น มีพื้นที่ให้ลองด้วย แต่เราไม่ได้ทำอะไร แค่มาดูผ่านๆแบบรีบๆ





นี่คือรองเท้าทำจากหนังปลา เรียกว่า "เจ็ปเกร์" (cepkerチェㇷ゚ケㇾ)



มีดสั้นของชาวไอนุ เรียกว่า "มากีรี" (makiriマキリ)



มีเสื้อผ้าพื้นเมืองของชาวไอนุ เหมือนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่งไปชมมี แต่อันนี้วางไว้ให้สามารถจับต้องได้ เราก็ได้ลองจับดูสัมผัสเนื้อผ้า



หมีสลักไม้ ชาวไอนุเรียกหมีว่ากีมุนกามุย (kimunkamuyキムンカムイ) นับถือเป็นพระเจ้า



เดินถัดต่อเข้ามาเห็นอาคารสวยๆ นั่นคืออาคารสำนักงานของที่นี่ ไม่ได้เปิดให้เข้าชม ได้แค่เดินผ่านไป



ถัดมาเป็นบ้านหลังเล็กๆแบบไอนุดั้งเดิม เรียกว่า "จีเซ" (ciseチセ)




หลังนี้เรียกว่า "ซีนตจีเซ" (sinot ciseシノッ チセ) ภายในดูเหมือนว่าจะมีจัดกิจกรรมอะไรตามเวลา สามารถเข้าไปได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้เปิดอยู่



บ้านถัดมาเป็นหลังใหญ่ที่เรียกว่า "โปโรจีเซ" (poro ciseポロ チセ) แปลว่า "บ้านหลังใหญ่" สามารถเข้าไปชมด้านในได้



ด้านใน






หลังถัดมาด้านในสุดเรียกว่า "ปนจีเซ" (pon ciseポン チセ) แปลว่า "บ้านหลังเล็ก"



หลังนี้ก็สามารถเข้าไปชมด้านในได้





ถัดจากตรงนี้ไปก็ไม่ใช่บริเวณที่เปิดให้เข้าชมแล้ว การเที่ยวที่นี่จึงจบลงเท่านี้



หลังจากนั้นก็ได้เวลาเดินกลับไปยังทางเข้าและไปยังที่จอดรถเพื่อเดินทางไปต่อ



แม้ว่าจะมีเวลาเที่ยวจำกัด แถมฝนยังตกอยู่ทำให้ลำบากไปบ้าง แต่ก็ได้เที่ยวชมที่นี่อย่างจุใจ ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับไอนุเพิ่มขึ้นมามาก ถือว่าคุ้มค่าจริงๆที่ได้มา

ตอนต่อไปจะเดินทางต่อไปมุ่งสู่ทะเลสาบโทวยะ (洞爺湖とうやこ)



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ท่องเที่ยว >> พิพิธภัณฑ์
-- ประเทศญี่ปุ่น >> ฮกไกโด
-- ท่องเที่ยว >> ทะเลสาบ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文