φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ทำความรู้จักกับมาเก๊า
เขียนเมื่อ 2019/03/24 19:16
แก้ไขล่าสุด 2022/03/16 10:42
มาเก๊า เป็นหนึ่งในเขตบริหารพิเศษของจีน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะสถานที่เที่ยวและแหล่งพนันชื่อดังระดับโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเพราะเคยเป็นเมืองขึ้นโปรตุเกสมาก่อน

ในบทความนี้จะมาแนะนำให้รู้จักดินแดนที่ชื่อว่ามาเก๊าแห่งนี้



* บทความนี้มีการใช้พินอินเพื่อแทนเสียงอ่านจีนกลาง และหยวิดเพ็งเพื่อแทนเสียงอ่านจีนกวางตุ้ง
หลักการอ่านโดยละเอียดอ่านได้ที่ >>หลักการทับศัพท์จีนกลาง<< และ >>หลักการทับศัพท์จีนกวางตุ้ง<<
ส่วนเสียงอ่านภาษาโปรตุเกสยึดตามสำเนียงบราซิล



ข้อมูลโดยทั่วไป

มาเก๊าตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งของจีน ติดกับเมืองจูไห่ (珠海, zhū hǎi) อยู่ไม่ไกลจากกว่างโจว และฮ่องกง

แผนที่แสดงตำแหน่งของมาเก๊า



เนื่องจากเป็นเขตบริหารพิเศษจึงไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง เช่นเดียวกับฮ่องกงซึ่งเป็นเขตบริหารพิเศษอีกแห่งซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งเหมือนกัน

มาเก๊ามีพื้นที่รวม ๓๐ กว่า ตร.กม. และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการถมทะเล มีประชากร ๖​ แสนกว่าคน จึงความหนาแน่นประมาณ ๒ หมื่นคนต่อตารางกิโลเมตร ถือว่าหนาแน่นมาก จัดเป็นดินแดนที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก

อาคารที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัดแถวย่านอาเรยาเปรตา (Areia Preta) หรือเฮย์ซาหวน (黑沙环, 黑沙環, hēi shā huán) ซึ่งเป็นเขตที่ประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดแห่งหนึ่งในมาเก๊า


หากเทียบกับฮ่องกงซึ่งมีพื้นที่ ๑๑๐๖ ตร.กม. แล้ว ถือว่าเล็กกว่าถึง ๓๐ กว่าเท่า

มาเก๊ามีความสัมพันธ์อันดีกับฮ่องกงมาเป็นเวลานาน เนื่องจากเคยเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกเหมือนกัน และตอนหลังได้กลายมาเป็นเขตบริหารพิเศษเหมือนกัน และต่างก็พูดภาษากวางตุ้งเหมือนกัน

แม้จะเป็นเพียงดินแดนเล็กๆ แต่พื้นที่เล็กๆตรงนี้ก็มีประวัติศาสตร์ที่สำคัซและยาวนาน ชาวโปรตุเกสมาตั้งรกรากและเช่าที่ตรงนี้ตั้งแต่ปี 1557 และเริ่มเข้าปกครองในฐานะเมืองขึ้นตั้งแต่ปี 1887 จนถึงปี 1999 จีนจึงคืนให้ทางจีน

เนื่องจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์เป็นดังนี้ จึงทำให้มาเก๊ากลายมาเป็นเขตบริหารพิเศษของจีน มีการปกครองแยกต่างหากไม่ขึ้นกับรัฐบาลจีนโดยตรง มีวัฒนธรรมแปลกแยกออกมาเป็นของตัวเอง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน

ธงของมาเก๊าเป็นธงพื้นเขียว มีดอกบัวขาวอยู่ตรงกลาง ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์ของมาเก๊า ธงนี้มีชื่อเรียกว่าธงดอกบัวขาว (白蓮花旗)





เกาะและคาบสมุทร

หลายคนเข้าใจว่ามาเก๊าเป็นเกาะ แต่จริงๆมาเก๊าประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นเกาะและที่เป็นคาบสมุทร

ส่วนคาบสมุทรเรียกว่าคาบสมุทรมาเก๊า (澳门半岛, 澳門半島, ào mén bàn dǎo) เป็นส่วนเหนือสุดของมาเก๊า มีพื้นที่ ๙.๓ ตร.กม. ถือเป็น ๑ ใน ๓ ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ว่าเกือบทั้งบริเวณเป็นที่อยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่สร้างเป็นตึกระฟ้า ประชากรส่วนใหญ่อัดกันอยู่ในส่วนนี้

พื้นที่ส่วนใหญ่ของมาเก๊าตั้งอยู่บนเกาะ พื้นที่เกาะนั้นเดิมทีประกอบไปด้วย ๒ เกาะใหญ่แยกกัน แต่ว่าตั้งแต่ปี 2000 ได้ถูกถมพื้นที่ตรงกลางรวมเป็นเกาะเดียวกัน

เกาะเหนือชื่อไตปา (Taipa) ภาษาจีนเรียก ต้างไจ่ (氹仔, dàng zǎi) ภาษากวางตุ้งเรียก ถัมไจ๋ (tam5 zai2)

เกาะใต้ชื่อโกโลอานี (Coloane) ภาษาจีนเรียก ลู่หวน (路环, 路環, lù huán) ภาษากวางตุ้งเรียก โหล่วหว่าน (lou6 waan4)

และต่อมาพื้นที่ระหว่าง ๒ เกาะได้ถมมาเป็นเกาะเดียว พื้นที่ที่ได้จากการถมเรียกว่าโกไต (Cotai) ภาษาจีนเรียก ลู่ต้าง (路氹, lù dàng) ภาษากวางตุ้งเรียก โหล่วถัม (lou6 tam5) เป็นแผ่นดินส่วนที่ได้จากการถมทะเล เดิมทีเป็นทะเลระหว่าง ๒ เกาะ

ดินแดนส่วนตรงเกาะนี้มีตึกอยู่เบาบางและประชากรน้อยกว่า ยังเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวมาก

ระหว่างส่วนเกาะและส่วนคาบสมุทรเชื่อมต่อกันด้วยสะพาน ซึ่งมีอยู่ ๓ แห่ง ไล่จากตะวันตกไปตะวันออกคือ

- สะพานอ่าวตะวันตก ภาษาโปรตุเกสเรียก ปงชีไซ้หว่าน (Ponte Sai Van) ภาษาจีนเรียก ซีวานต้าเฉียว (西湾大桥, 西灣大橋, xī wān dà qiáo) สร้างในปี 2002-2005

- สะพานผู้สำเร็จราชการการ์วาลญู ภาษาโปรตุเกสเรียก ปงชีโกเวร์นาโดร์ นอบรี จี การ์วาลญู (Ponte Governador Nobre de Carvalho) ภาษาจีนเรียก เจียเล่อปี้จ่งตูต้าเฉียว (嘉乐庇总督大桥, 嘉樂庇總督大橋, jiā lè bì zǒng dū dà qiáo) หรือนิยมเรียกว่าสะพานใหญ่เก่า (就大桥, 舊大橋, jiù dà qiáo) เป็นสะพานเก่าสุด สร้างในปี 1970-1974

- สะพานมิตรภาพ ภาษาโปรตุเกสเรียก ปงชี จี อามิซาจี (Ponte de Amizade) ภาษาจีนเรียก โหย่วอี้ต้าเฉียว (友谊大桥, 友誼大橋, yǒu yì dà qiáo) สร้างในปี 1990-1994

ทิวทัศน์คาบสมุทรมาเก๊า มองจากสะพานมิตรภาพ


ทางเหนือของคาบสมุทรมาเก๊าคือเมืองจูไห่ ส่วนทางตะวันตกของส่วนเกาะเป็นเกาะเหิงฉิน (横琴, 橫琴, héng qín) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆของเมืองจูไห่ แต่ก็ใหญ่กว่ามาเก๊า แต่ประชากรน้อย

ระหว่างเกาะเหิงฉินกับมาเก๊าเชื่อมต่อกันด้วยสะพานใหญ่ดอกบัว ชื่อจีนคือ เหลียนฮวาต้าเฉียว (莲花大桥, 蓮花大橋, lián huā dà qiáo) ชื่อภาษาโปรตุเกสคือ ปงชี ฟลอร์ จี ลอตุส (Ponte Flor de Lotus)

ในเกาะเหิงฉินยังมีบริเวณวิทยาเขตใหม่มหาวิทยาลัยมาเก๊า (澳门大学新校区, 澳門大學新校區) ถือเป็นบริเวณที่ทางจีนยกให้มาเก๊าไปใช้เป็นพิเศษ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2013 มีอุโมงค์เชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยกับโกไต เป็นทางเข้าออกทางเดียว ในขณะที่บริเวณมหาวิทยาลัยมีขุดคลองกั้นตัดขาดจากส่วนอื่นของเกาะ



การแบ่งเขตในมาเก๊า

มาเก๊าแบ่งออกเป็น ๘ เขต ซึ่งชื่อเรียกเขานั้นโดยหลักจะใช้คำว่า เฟรเกซีอา (freguesia) หมายถึง เขตของศาสนจักร อาจแปลเป็นไทยว่าเขตวัด หรือเขตโบสถ์ ในภาษาจีนเรียก ถางชวี (堂区, 堂區, táng qū)

โดยมีการแบ่งเป็น ๗ เขตโบสถ์ และมีเขตนึงที่ไม่ได้แบ่งเป็นเขตโบสถ์ คือเขตโกไต ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ที่ได้จากการถมทะเล



เลข ชื่อ ภาษาโปรตุเกส จีนตัวย่อ จีนตัวเต็ม อ่านจีนกลาง
1 เขตนอสซา เซญญอรา จี ฟาตีมา Freguesia de Nossa Senhora de Fátima 花地玛堂区 花地瑪堂區 huā dì mǎ táng qū
ฮวาตี้หม่าถางชวี
2 เขตซังตู อังตอนิว Freguesia de Santo António 聖安多尼堂区 聖安多尼堂區 shèng duō ní táng qū
เซิ่งอานตัวหนีถางชวี
3 เขตเซาง์ ลาซารู Freguesia de São Lázaro 望德堂堂区 望德堂區 wàng dé táng qū
ว่างเต๋อถางชวี
4 เขตแซ Freguesia da Sé 大堂区 大堂區 dà táng qū
ต้าถางชวี
5 เขตเซาง์ โลวเรงซู Freguesia de São Lourenço 风顺堂区 風順堂區 fēng shùn táng qū
เฟิงซวิ่นถางชวี
6 เขตนอสซา เซญญอรา ดู การ์มู /
ไตปา
Freguesia de Nossa Senhora do Carmo /
Taipa
嘉模堂区 /
氹仔
嘉模堂區 /
氹仔
jiā mó táng qū
เจียหมัวถางชวี /
dàng zǎi
ต้างไจ่
7 โกไต Cotai 路氹城 lù dàng chéng
ลู่ต้างเฉิง
8 เขตเซาง์ ฟรังซิสกู ซาเวียร์ /
โกโลอานี
Freguesia de São Francisco Xavier /
Coloane
聖方济各堂区 /
路环
聖方濟各堂區 /
路環
shèng fāng jì gè táng qū
เซิ่งฟางจี้เก้อถางชวี /
lù huán
ลู่หวน

ส่วนมหาวิทยาลัยมาเก๊าวิทยาเขตใหม่ที่อยู่บนเกาะเหิงฉินนั้นก็จัดอยู่ในเขตเดียวกับไตปา



ชื่อของมาเก๊า

มาเก๊ามีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า เอ้าเหมิน (澳门, 澳門) แปลว่า "ประตูอ่าว" ในภาษากวางตุ้งเรียกว่า โอวหมุ่น (หยวิดเพ็ง: ou3 mun4) หรือ โอวหมุน (ou3 mun2) โดยที่ "โอวหมุ่น" คือการออกเสียงที่ถูกต้องตามอักษร แต่คนมาเก๊าเองนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า "โอวหมุน"

คำว่า "มาเก๊า" เป็นชื่อเรียกในภาษาโปรตุเกส และกลายมาเป็นชื่อสากลที่คนนอกใช้เรียกที่นี่ ที่มาของชื่อไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือมาจากชื่อวัดที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรมาเก๊า

วัดนั้นคือ วัดอามา (Templo de A-Má) ชื่อภาษาจีนคือ หม่าเก๋อเมี่ยว (妈阁庙, 媽閣廟, mā gé miào) ในภาษากวางตุ้งอ่านว่า ม้ากอกหมิ่ว (ma1 gok3 miu6) เพียงแต่คนในท้องที่นิยมเรียกเพี้ยนเป็น หมากอกหมิ่ว (ma5 gok3 miu6)

วัดอามาถูกสร้างขึ้นในปี 1488 ก่อนที่ชาวโปรตุเกสจะมา พอชาวโปรตุเกสมาถึงก็ขึ้นฝั่งใกล้วัดนี้ คำว่า "ม้ากอก" หรือ "หมากอก" ในภาษากวางตุ้งนี้เองที่คาดว่าเป็นที่มาของคำว่ามาเก๊าที่คนโปรตุเกสเรียก แม้จะไม่สามารถยืนยันได้แน่นอน

อนึ่ง ชื่อวัดนี้คนไทยมักเรียกผิดเป็นวัดอาม่า แต่จริงๆไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับอาม่าที่หมายถึงคุณย่าหรือยาย แต่มาจากคำว่า "มา" (妈, 媽, mā) ที่แปลว่า "แม่" ในที่นี้หมายถึงเทพมาจู่ (妈祖, 媽祖, mā zǔ) หรือ ม้าโจ๋ว (maa1 zou2) ในภาษากวางตุ้ง เทพแห่งท้องทะเลตามความเชื่อของคนจีนตามชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้มาเก๊ายังมีชื่อเรียกในอดีตอีกมากมาย เช่น
- ซูต่าฟู่ (梳打埠, shū dǎ fù) กวางตุ้งอ่าน ซ้อต๋าโป่ว (so1 daa2 bou6)
- เหาจิ้ง (濠镜, 濠鏡, háo jìng) กวางตุ้งอ่าน โห่วแกง (hou4 geng3)
- หม่าเจียว (马交, 馬交, mǎjiāo) กวางตุ้งอ่าน หมาก๊าว (maa5 gaau1)

ชื่ออย่างเป็นทางการของมาเก๊าคือ เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกเป็นภาษาจีนว่า เอ้าเหมินเท่อเปี๋ยสิงเจิ้งชวี (中华人民共和国澳门特别行政区, 中華人民共和國澳門特別行政區, zhōng huá rén mín gòng hé guó aò mén tè bié xíng zhèng qū) กวางตุ้งอ่านว่า จ๊งหว่าหยั่นหมั่นก่งหว่อกวอกโอวหมุนตักปิดหั่งเจ็งโค้ย (zung1 waa4 jan4 man4 gung6 wo4 gwok3 ou3 mun2 dak6 bit6 hang4 zing3 keoi1)

ในภาษาโปรตุเกสเรียกว่า เรเฌียวง์ อัจมีนิสตราติวา อิสเปเซียล จี มาเก๊า ดา เรปูบลีกา โปปูลาร์ ดา ชีนา (Região Administrativa Especial de Macau da República Popular da China)



ประวัติศาสตร์

ชาวโปรตุเกสได้เริ่มออกเดินทะเลเพื่อสำรวจโลกใหม่ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15-16 ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ได้เดินทางมาถึงบริเวณมณฑลกวางตุ้งและในปี 1517 ได้เริ่มเข้ายึดตั้งรกรากบริเวณที่เรียกว่าถุนเหมิน (屯门, 屯門) ซึ่งคาดกันว่าเป็นบริเวณแถวฮ่องกง แต่ตำแหน่งที่แน่ชัดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

ต่อมาทางจีนได้เข้าตีขับไล่เอาถุนเหมินคืนในปี 1521 ทำให้โปรตุเกสต้องหาที่ตั้งรกรากใหม่แทน สุดท้ายก็มาถึงบริเวณที่เป็นคาบสมุทรมาเก๊าและตั้งรกรากได้สำเร็จ โดยทำสัญญากับทางจีนว่าจะจ่ายค่าเช่าที่ให้ เป็นการเช่าดินแดน

ช่วงปี 1580 ถึง 1640 โปรตุเกสตกเป็นเมืองขึ้นของสเปน มาเก๊าจึงกลายเป็นของสเปนไปด้วย

ปี 1601 ฮอลันดาบุกเข้าตีมาเก๊าเพื่อหวังจะยึด แต่ก็ล้มเหลว ปี 1622 พยายามตีอีกครั้งก็ล้มเหลวอีก เลยหันไปยึดครองบริเวณอื่นเช่นเมืองไถหนาน (台南) บนเกาะไต้หวันแทน

ต่อมาเข้าศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่จีนเริ่มตกต่ำลงอย่างมากเพราะเทคโนโลยีตามไม่ทันประเทศตะวันตก จีนพ่ายแพ้สงครามฝิ่นให้กับอังกฤษและเสียฮ่องกงไป

โปรตุเกสเองก็เริ่มยึดครองมาเก๊าในฐานะเมืองขึ้นโดยเลิกการจ่ายค่าเช่าที่ให้กับจีนตั้งแต่ปี 1849

และต่อมาในปี 1851 โปรตุเกสก็เริ่มเข้ายึดครองเกาะไทปา (ต้างไจ่) แล้วตามมาด้วยปี 1864 เข้ายึดเกาะโกโลอานี (ลู่หวน) ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมาเก๊าจนถึงปัจจุบัน

พอถึงปี 1887 ทางจีนได้ยอมทำสัญญายินยอมยกมาเก๊าให้โปรตุเกสอย่างเป็นทางการ โดยไม่มีกำหนดว่าต้องคืนดินแดนให้

เวลาล่วงผ่านมาจนในปี 1974 โปรตุเกสเกิดรัฐประหารยึดอำนาจจากระบบเผด็จการ และผลพวงจากเหตุการณ์นี้ทำให้โปรตุเกสเริ่มปลดปล่อยประเทศอาณานิคมต่างๆให้เป็นอิสระ ทั้งอังโกลา, โมซัมบิก และติมอร์ตะวันออกก็ได้เป็นอิสระจากโปรตุเกส

สำหรับมาเก๊า โปรตุเกสประกาศยอมรับว่ามาเก๊าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรตุเกสอีกต่อไปแต่เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่เนื่องจากช่วงนั้นจีนกำลังอยู่ในระหว่างช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจึงยังไม่ได้ทำอะไร รอจนปี 1976 การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงทางโปรตุเกสจึงได้เริ่มติดต่อกับจีนและคุยถึงปัญหาเรื่องมาเก๊า

พอถึงปี 1979 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ทำการตกลงกันว่าให้สถานะของมาเก๊าเปลี่ยนเป็นดินแดนของจีนที่ดูแลโดยโปรตุเกส และโปรตุเกสจะคืนการปกครองมาเก๊าให้จีนในที่สุด แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาแน่ชัด

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็ยังได้ทำการประชุมเจรจาเรื่องมาเก๊ากันอีกหลายครั้ง จนในที่สุดวันที่ 13 เมษายน 1987 จึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะมีการคืนมาเก๊าให้ในวันที่ 22 ธันวาคม 1999

ในที่สุดโปรตุเกสก็ได้คืนมาเก๊าให้จีนโดยสมบูรณ์ตามเวลาที่ตกลงไว้ แล้วมาเก๊าก็กลายมาเป็นเขตบริหารพิเศษเขตที่ ๒ ของจีน ต่อจากฮ่องกงที่ได้รับคืนจากอังกฤษไปในปี 1997

ปัจจุบันมาเก๊าปกครองโดยวิธีการหนึ่งประเทศสองระบบ (一国两制) โดยแม้มาเก๊าถือเป็นส่วนหนึ่งของจีนแต่ก็ถือว่ามีอิสระในการปกครองตัวเอง เสมือนเป็นอีกประเทศ



ภาษาที่ใช้ในมาเก๊า

พื้นที่มาเก๊าอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ดังนั้นคนพื้นเมืองจึงใช้ภาษากวางตุ้งเป็นหลัก

แต่เนื่องจากถูกปกครองโดยโปรตุเกสมาเป็นเวลานาน ดังนั้นภาษาโปรตุเกสจึงมีความสำคัญด้วย

ปัจจุบันภาษาราชการของมาเก๊าคือภาษาจีนและภาษาโปรตุเกส

ในที่นี้ภาษาจีนไม่ได้เจาะจงว่าเป็นจีนกลางหรือกวางตุ้ง แต่ในทางปฏิบัติแล้วใช้กวางตุ้งเป็นภาษาพูด แต่เขียนเป็นจีนกลาง เช่นเดียวกับในฮ่องกง แต่คนมาเก๊าพูดจีนกลางได้ดีกว่าคนฮ่องกง

คนทั่วไปใช้ภาษากวางตุ้งในชีวิตประจำวัน แต่ในย่านท่องเที่ยวจะได้ยินภาษาจีนกลางเป็นหลักเพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากจีนส่วนอื่น

ส่วนภาษาโปรตุเกสนั้นได้เป็นภาษาราชการเนื่องจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ชื่อสถานที่ต่างๆในมาเก๊าจะมีเขียนชื่อภาษาโปรตุเกสคู่กับภาษาจีนเสมอ

แต่ในความเป็นจริงคนมาเก๊าส่วนใหญ่พูดภาษาโปรตุเกสไม่ได้ คนที่จะพูดได้ส่วนใหญ่คือคนที่มีเชื้อสายโปรตุเกส ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสที่อพยพมายังมาเก๊าในยุคที่เป็นเมืองขึ้นโปรตุเกสอยู่ มีแค่ไม่ถึง ๑% ของประชากร

นอกจากนี้ยังมีภาษาที่เรียกว่าภาษามาเก๊า เป็นภาษาผสมที่เกิดจากภาษากวางตุ้งผสมกับภาษาโปรตุเกส เคยมีคนพูดมาในอดีตแต่ปัจจุบันแทบจะไม่มีคนพูดแล้ว

ป้ายต่างๆในมาเก๊ามักจะมี ๒ ภาษาคือภาษาจีนและโปรตุเกส และบางส่วนมีภาษาอังกฤษด้วย

รถเมล์ในมาเก๊าจะพูด ๔ ภาษา กวางตุ้ง, โปรตุเกส, จีนกลาง,​ อังกฤษ ตามลำดับ



เงินของมาเก๊า

แม้จะเป็นแค่ดินแดนเล็กๆ แต่มาเก๊าก็มีหน่วยเงินเป็นของตัวเอง ไม่ได้ใช้เงินหยวนจีน

มาเก๊าใช้หน่วยเงินที่เรียกว่าปาตากามาเก๊า (pataca de Macau) ในภาษาจีนเรียก เอ้าเหมินปี้ (澳门币, 澳門幣)

ปาตากามีหน่วยย่อยเรียกว่า อาวู (avo) โดย ๑๐๐ อาวู = ๑ ปาตากา แต่หน่วยย่อยที่สุดคือ ๑๐ อาวู ไม่มีเล็กกว่านั้นแล้ว

คำว่าปาตากาเป็นภาษาโปรตุเกส แต่คนมาเก๊าส่วนใหญ่จะเรียกเป็นภาษาพูดในภาษากวางตุ้งว่า มั้น (蚊, man1)

ส่วนอาวู เรียกในภาษากวางตุ้งว่า ซิ้น (仙, sin1)

นอกจากนี้ยังมีหน่วยโห่ว มาจากภาษากวางตุ้ง 毫 ใช้ในภาษาพูด มีค่าเป็น ๑๐ อาวู นั่นคือ ๑ โห่วเป็นหน่วยเงินเล็กที่สุดในปัจจุบัน

คำว่ามั้น, โห่ว และ ซิ้น จริงๆใช้ในการเรียกเงินในฮ่องกงด้วย

คำว่า avo เทียบเท่ากับคำว่า cen ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเอาไว้เรียกหน่วย ๐.๐๑ ดอลลาร์ ที่จริงคำว่าซิ้นที่เรียกในภาษากวางตุ้งก็มีที่มาจากคำว่า cen นั่นเอง

มูลค่าโดยประมาณของเงินปาตากามาเก๊าเทียบกับเงินบาทแล้วคืออยู่ที่ ๔ เท่าของเงินบาท

เงินมาเก๊าผูกอัตรากับเงินฮ่องกง โดยอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ ๑ มั้นฮ่องกง = ๑.๐๓ มั้นมาเก๊า นั่นคือของมาเก๊ามีค่าต่ำกว่าเล็กน้อย

ในชีวิตประจำวันที่มาเก๊าจึงมีการใช้เงินฮ่องกงไปด้วย ไม่ว่าจะที่ไหนก็ใช้เงินฮ่องกงจ่ายได้ทั้งหมด โดยจะถือว่าราคาเท่ากันไปเลยโดยไม่คิดส่วนต่าง

ดังนั้นเมื่อไปเที่ยวมาเก๊ากับฮ่องกงพร้อมกันหากไม่คิดมากเรื่องส่วนต่างเล็กๆน้อยๆตรงอัตราแลกเปลี่ยนจะแลกเป็นเงินฮ่องกงไปก็ได้ จะได้ใช้ในฮ่องกงได้ด้วย เพราะเงินมาเก๊าอาจใช้ในฮ่องกงไม่ได้ แต่เงินฮ่องกงใช้ในมาเก๊าได้แน่

นอกจากนี้ร้านค้าโดยทั่วไปแล้วยังรับเงินหยวนจีนด้วย แต่มักจะรับโดยไม่คิดอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นจะค่อนข้างขาดทุน เพราะเงินหยวนแพงกว่าเล็กน้อยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ ๕:๔



การคมนาคม

มาเก๊าส่วนคาบสมุทรอยู่ติดกับเมืองจูไห่ของจีนแผ่นดินใหญ่โดยมีการตั้งด่านกั้นไว้ เรียกว่า กวานจ๋า (关闸, 關閘) ในภาษาจีน หรือ ปอร์ตา ดู แซร์กู (Portas do Cerco) ในภาษาโปรตุเกส



การเดินทางไปมาระหว่างจูไห่กับมาเก๊ามักจะต้องผ่านด่านนี้ มีช่องให้ผ่านได้ทั้งคนเดินและรถยนต์

นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางทางเรือไปยังทั้งจูไห่และฮ่องกงได้ ผู้คนสามารถเดินทางไปมาระหว่างฮ่องกงและมาเก๊าได้ง่าย

ได้มีการสร้างสะพานใหญ่ก่างจูเอ้า (港珠澳大桥, 港珠澳大橋, gǎng zhū ào dà qiáo) หรือเรียกว่าสะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Ponte Hong Kong-Zhuhai-Macau) เป็นสะพานใหญ่ที่ใช้เชื่อมระหว่างฮ่องกง, จูไห่ และมาเก๊า เริ่มเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2018 ทำให้การติดต่อไปมาระหว่างมาเก๊ากับฮ่องกงสะดวกขึ้นมาก

สนามบินนานาชาติมาเก๊า (澳门国际机场, 澳門國際機場, ào mén guó jì jī chǎng) เปิดใช้ในปี 1995 ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะไตปา มีเที่ยวบินจากเมืองต่างๆมากมายทั้งในจีนและต่างชาติ รวมทั้งไทย คนสามารถมาลงหรือมาต่อเครื่องที่มาเก๊าได้

สายการบินมาเก๊า (澳门航空, 澳門航空, ào mén háng kōng) เป็นสายการบินเดียวของมาเก๊า ตั้งขึ้นในปี 1994

การเดินทางภายในบริเวณมาเก๊าใช้รถเมล์เป็นหลัก โดยทั่วไปราคา ๖ ปาตากาตลอดสาย แต่บนรถเมล์ไม่มีการทอนเงิน ต้องเตรียมไปพอดี หรือไม่ก็ใช้บัตรเติมเงินเอาจะสะดวกกว่า

รถในมาเก๊าขับชิดซ้าย มีพวงมาลัยอยู่ขวา เช่นเดียวกับไทย แต่ต่างจากส่วนอื่นของจีน เนื่องจากในอดีตโปรตุเกสและจีนก็ชิดซ้ายและมาเปลี่ยนเป็นชิดขวาตอนหลัง แต่มาเก๊ากับฮ่องกงกลับไม่ได้เปลี่ยนตาม จึงชิดซ้ายจนถึงทุกวันนี้



มรดกโลกในมาเก๊า

มาเก๊ามีประวัติศาสตร์เก่าแก่และสำคัญจนได้รับการตั้งให้เป็นมรดกโลกในชื่อ ศูนย์ประวัติศาสตร์มาเก๊า ภาษาจีนเรียก เอ้าเหมินลี่สื่อเฉิงชวี (澳门历史城区, 澳門歷史城區)

มีสิ่งก่อสร้างต่างๆมากมายที่ชาวโปรตุเกสได้มาสร้างไว้ ปัจจุบันกลายมาเป็นโบราณสถานที่สำคัญ เป็นตัวอย่างที่ดีของศิลปะผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก

รายชื่อสิ่งก่อสร้างที่เป็นโบราณสถาน

สถานที่ ภาษาโปรตุเกส จีนตัวย่อ จีนตัวเต็ม อ่านจีนกลาง
วัดอามา Templo de A-Má 妈阁庙 媽閣廟 mā gé miào
มาเก๋อเมี่ยว
อาคารสำนักงานการท่า Quartel dos Mouros 港务局大楼 港務局大樓 gǎng wù jú dà lóu
ก่างอู้จวี๋ต้าโหลว
บ้านตระกูลเจิ้ง Casa da Cheang 郑家大屋 鄭家大屋 zhèng jiā dà wū
เจิ้งเจียต้าอู
โบสถ์นักบุญโลวเรงซู Igreja de São Lourenço 圣老楞佐堂 聖老楞佐堂 shèng lǎo lèng zuǒ táng
เซิ่งเหล่าเลิ่งจั่วถาง
สามเณราลัยและโบสถ์นักบุญโฌแซ Seminário e Igreja de São José 圣若瑟修院及圣堂 聖若瑟修院及聖堂 shèng ruò sè xiū yuàn jí shèng táng
เซิ่งรั่วเซ่อซิวย่วนจี๋เซิ่งถาง
โรงละครพระเจ้าเปดรูที่ห้า Teatro Dom Pedro V 伯多禄五世剧院 伯多祿五世劇院 bó duō lù wǔ shì jù yuàn
ปั๋วตัวลู่อู่ซื่อจวี้ย่วน
หอสมุดรอเบิร์ต ห่อต๊ง Biblioteca Sir Robert Ho Tung 何东图书馆 何東圖書館 hé dōng tú shū guǎn
เหอตงถูซูกว่าน
โบสถ์นักบุญอาโกสชิญญู Igreja de Santo Agostinho 圣奥思定堂 聖奧斯定堂 shèng ào sī dìng táng
เซิ่งเอ้าซือติ้งถาง
อาคารที่ว่าการเมือง Edifício do Instituto para os Assuntos Municipais 市政署大楼 市政署大樓 shì zhèng shǔ dà lóu
ซื่อเจิ้งสู่ต้าโหลว
วัดซ้ามก๊ายหวุ่ยกุ๋น Pagode Sam Cai Vu Cun 三街会馆 三街會館 sān jiē huì guǎn
ซานเจียฮุ่ยกว่าน
บ้านศักดิ์สิทธิ์แห่งความเมตตา Santa Casa da Misericórdia 仁慈堂大楼 仁慈堂大樓 rén cí táng dà lóu
เหรินฉือถางต้าโหลว
โบสถ์แซ Igreja da Sé 大堂 /
澳门主教座堂
大堂 /
澳門主教座堂
dà táng
ต้าถาง /
ào mén zhǔ jiào zuò táng
เอ้าเหมินจู่เจี้ยวจั้วถาง
คฤหาสน์โหล่วเก๋า Casa de Lou Kau 卢家大屋 盧家大屋 lú jiā dà wū
หลูเจียต้าอู
โบสถ์นักบุญโดมิงกูส Igreja de São Domingos 玫瑰堂 /
圣多明我教堂
玫瑰堂 /
聖多明我教堂
méi guī táng
เหมย์กุยถาง /
shèng duō míng wǒ jiào táng
เซิ่งตัวหมิงหว่อเจี้ยวถาง
ซากอาสนวิหารนักบุญเปาลู Ruínas da Antiga Catedral de São Paulo 大三巴牌坊 /
圣保禄大教堂遗址
大三巴牌坊 /
聖保祿大教堂遺址
dà sān bā pái fāng
ต้าซานปาไผฟาง /
shèng bǎo lù dà jiào táng yí zhǐ
เซิ่งเป่าลู่ต้าเจี้ยวถางอี๋จื่อ
วัดหน่าจา Templo de Na Tcha 哪吒庙 哪吒廟 né zhà miào
แหนจ้าเมี่ยว
ซากกำแพงเมืองเก่า Troço das Antigas Muralhas de Defesa 旧城墙遗址 舊城牆遺址 jiù chéng qiáng yí zhǐ
จิ้วเฉิงเฉียงอี๋จื่อ
ป้อมปืนใหญ่ Fortaleza do Monte 大炮台 dà pào tái
ต้าเพ่าไถ
โบสถ์น้กบุญอันตอนิว Igreja de Santo António 圣安多尼堂 聖安多尼堂 shèng ān duō ní táng
เซิ่งอานตัวหนีถาง
มูลนิธิบูรพาเก่า (กาซาการ์เดน) Casa Garden 东方基金会会址 東方基金會會址 dōng fāng jī jīn huì huì zhǐ
ตงฟางจีจินฮุ่ยฮุ่ยจื่อ
สุสานโปรเตสแตนต์ Cemitério Protestante 基督教坟场 基督教墳場 jī dū jiào fén cháng
จีตูเจี้ยวเฝินฉ่าง
ป้อมปืนใหญ่กีอา Fortaleza da Guia 东望洋炮台 東望洋炮台 dōng wàng yáng pào tái
ตงว่างหยางเพ่าไถ

รายชื่อจตุรัสที่เกี่ยวข้อง

สถานที่ ภาษาโปรตุเกส จีนตัวย่อ จีนตัวเต็ม อ่านจีนกลาง
จตุรัสวัดอามา (ปาโกจี ดา บารา) Largo do Pagode da Barra 妈阁庙前地 媽閣廟前地 ā mā miào qián dì
อามาเมี่ยวเฉียนตี้
จตุรัสลีเลา Largo do Lilau 阿婆井前地 ā pó jǐng qián dì
อาผัวจิ่งเฉียนตี้
จตุรัสนักบุญอาโกสติญญู Largo de Santo Agostinho 岗顶前地 崗頂前地 gāng dǐng qián dì
กางติ่งเฉียนตี้
จตุรัสเซนาดู Largo do Senado 议事亭前地 議事亭前地 yì shì tíng qián dì
อี้ซื่อถิงเฉียนตี้
จรุรัสนักบุญโดมิงกูส Largo do São Domingos 板樟堂前地 bǎn zhāng táng qián dì
ป่านจางถางเฉียนตี้
จตุรัสแซ Largo da Sé 大堂前地 dà táng qián dì
ต้าถางเฉียนตี้
จตุรัสคณะเยซูอิต Largo da Companhia de Jesus 耶稣会纪念广场 耶穌會紀念廣場 yē sū huì jì niàn guǎng chǎng
เยซูฮุ่ยจี้เนี่ยนกว๋างฉ่าง
จตุรัสรังพิราบขาว (ลูอีส จี กาโมอีส) Praça de Luís de Camões 白鸽巢前地 白鴿巢前地 bái gē cháo qián dì
ไป๋เกอเฉาเฉียนตี้


สถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของมาเก๊าก็คือซากอาสนวิหารนักบุญเปาลู หรือที่คนที่นั่นนิยมเรียกว่า ต้าซานปา (大三巴, dà sān bā) เป็นโบสถ์เก่าแก่ สร้างตั้งแต่ปี 1583 แต่เกิดไฟไหม้จนพัง เหลือเพียงผนังด้านหน้าของโบสถ์





อ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศจีน >> มาเก๊า
-- ท่องเที่ยว >> มรดกโลก

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文