φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



การทำมอนเตการ์โลห่วงโซ่มาร์คอฟ (MCMC) ด้วยวิธีการเมโทรโพลิสแบบอย่างง่าย
เขียนเมื่อ 2020/09/17 20:05
แก้ไขล่าสุด 2022/07/10 20:18




เข้าใจ MCMC แบบรวบรัด

มอนเตการ์โลห่วงโซ่มาร์คอฟ (马尔可夫链蒙特卡洛, Markov chain Monte Carlo) หรือนิยมเรียกย่อๆว่า MCMC เป็นวิธีการสุ่มตัวอย่างชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้อย่างมาก

ในบทความก่อนหน้านี้ได้เขียนถึงเรื่องที่ว่าการสร้างค่าสุ่มให้แจกแจงในแบบที่ต้องการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีวิธีการต่างๆมากมาย ซึ่งที่เป็นพื้นฐานก็ได้แก่

- วิธีการยอมรับและปฏิเสธ (คัดเอาหรือคัดทิ้ง) ซึ่งเข้าใจง่าย ใช้งานได้ทั่วไป แต่มักจะประสิทธิภาพต่ำจนไม่เหมาะใช้งานจริง โดยเฉพาะกับข้อมูลหลายมิติ

- วิธีการแปลงผกผัน ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อใช้กับการแจกแจงแบบต่อเนื่องบางส่วนที่ใช้วิธีนี้ได้ แต่จำเป็นต้องรู้ฟังก์ชันผกผันของความน่าจะเป็นสะสม ซึ่งโดยมากแล้วอาจหาไม่ได้ง่ายๆ จึงไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ทั่วไป

- ถ้าเป็นการแจกแจงในแบบที่พบได้บ่อยถูกใช้มากอยู่แล้วมักมีอยู่ในมอดูล scipy.stats หากมีก็ใช้อันนี้จะเป็นวิธีที่ดีที่สะดวกที่สุด

ส่วน MCMC นั้นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อใช้ในการสร้างค่าสุ่มให้มีการแจกแจงเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งหลังๆมานี้ได้รับความสนใจมากเพราะว่าใช้งานได้ทั่วไป คือใช้กับการแจกแจงแบบไหนก็ได้ขอแค่ทราบฟังก์ชันการแจกแจง และนอกจากนี้ก็มีประสิทธิภาพดีด้วย แม้แต่กับข้อมูลที่มีหลายมิติ

แต่ว่าหลักการของ MCMC นั้นค่อนข้างเข้าใจยากและมีรายละเอียดมาก โดยมีพื้นฐานมาจากวิธีการมอนเตการ์โล (蒙特卡洛方法, Monte Carlo method) และห่วงโซ่มาร์คอฟ (马尔可夫链, Markov chain) ซึ่งวิธีพิสูจน์ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องความน่าจะเป็นพอสมควร

ในบทความนี้จะอธิบายวิธีการใช้ MCMC อย่างง่ายๆโดยยังไม่พูดถึงหลักการว่ามันทำงานยังไง ทำไมทำแบบนี้แล้วถึงได้ค่าสุ่มในแบบที่ต้องการได้ เหมาะกับคนที่ต้องการใช้งาน แต่ไม่ได้คิดจะรู้ลึก เพราะการเข้าใจว่าอะไรใช้งานอย่างไรนั้นมักจะง่ายกว่าการเข้าใจว่ามันทำงานได้อย่างไร

ในที่นี้จะให้มองข้ามรายละเอียดว่า "อะไรคือห่วงโซ่มาร์คอฟ?" "อะไรคือมอนเตการ์โล?" แค่ให้เข้าใจว่ารวมกันแล้วกลายเป็น "มอนเตการ์โลห่วงโซ่มาร์คอฟ" ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการสร้างค่าสุ่ม

และที่จริง MCMC ยังไม่ใช่แค่ตัวสร้างค่าสุ่ม แต่ยังถูกเอาไปประยุกต์ต่อยอดใช้งานมากกว่านั้น รวมถึงในสาขาการเรียนรู้ของเครื่องด้วย

สำหรับรายละเอียดเบื้องลึกเพื่อความเข้าใจโดยละเอียดจริงๆจะอธิบายแยกในบทความหลังจากนี้อีกที




วิธีการเมโทรโพลิส

วิธีการที่เรียกว่า MCMC นั้นจริงๆเป็นวิธีที่เรียกรวมๆหลายวิธี ซึ่งต่างกันไปในรายละเอียด แต่วิธีที่เป็นพื้นฐานและเข้าใจได้ง่ายที่สุดก็คือวิธีการเมโทรโพลิส (梅特罗波利斯方法, Metropolis method) ซึ่งเป็นเป็นกรณีพิเศษของวิธีที่เรียกว่าวิธีการเมโทรโพลิส-เฮสติงส์ (梅特罗波利斯-黑斯廷斯方法, Metropolis–Hastings method) อีกที

ในที่นี้จะขอข้ามเรื่องการพิสูจน์ แต่จะมุ่งไปที่การอธิบายขั้นตอนวิธีใช้งาน

สมมุติว่ามีฟังก์ชันการแจกแจงความน่าจะเป็นที่ต้องการ f(x) อยู่ ซึ่งต้องการที่จะสร้างค่าสุ่มให้ได้เป็นไปตามฟังก์ชันนี้ แต่ไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่เรามีการแจกแจงอีกแบบคือ q(x) ซึ่งสุ่มได้ง่ายซึ่งมีวิธีที่จะสุ่มให้เป็นไปตามการแจกแจงนี้ได้และมีความสมมาตร คือค่าขึ้นกับระยะทางเท่านั้น (เช่นการแจกแจงเอกรูปหรือการแจกแจงแบบปกติ)

เราสามารถสร้างค่าสุ่มที่แจกแจงตาม f(x) ได้โดยการสุ่ม q(x) แทนโดยมีขั้นตอนโดยรวมดังนี้

1. กำหนดจุดเริ่มต้น x1 ที่ใดสักแห่ง ซึ่งควรจะให้อยู่ในขอบเขตการแจกแจงของ f(x)

2. สุ่มค่าตำแหน่งเป้าหมายใหม่ x' ตามการแจกแจง q(x) โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่จุด xt (เมื่อ t เป็น 1,2,3,...)

3. คำนวณฟังก์ชันการแจกแจง f ในตำแหน่งเดิม xt และตำแหน่งเป้าหมาย x' แล้วเอามาหารกัน หาค่า

4. พิจารณาค่าว่าจะเอาตำแหน่งเป้าหมายหรือไม่โดยดูจากค่า r

- ถ้า r ≥ 1 ถือว่าเอาตำแหน่งใหม่

- ถ้า r < 1 จะมีโอกาสย้ายไปเป็นตำแหน่งเป้าหมาย x' ด้วยความน่าจะเป็นเท่ากับ r (วิธีการคือสุ่มค่า 0 ถึง 1 แล้วเทียบกับ r ถ้าน้อยกว่า r จึงย้ายสำเร็จ)

5. กำหนดตำแหน่งถัดไป xt+1

- ถ้าเอาตำแหน่งเป้าหมาย

- ถ้าไม่เอาตำแหน่งเป้าหมาย ให้ตำแหน่งใหม่ตรงกับที่เดิม

6. ใช้จุด xt+1 เป็นศูนย์กลางแล้วทำซ้ำขั้นตอน 2. ใหม่

7. ทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบจำนวนครั้งหรือเงื่อนไขที่ต้องการ

จะเห็นว่าในแต่ละรอบมีการสุ่ม ๒ ครั้ง รอบแรกคือสุ่มตำแหน่งเป้าหมาย x' ตามการแจกแจง q(x) โดยมี xt เป็นศูนย์กลาง และอีกครั้งคือกรณีที่ r<1 ให้สุ่มว่าจะเอาหรือทิ้งตำแหน่งเป้าหมาย โดยสุ่มค่า 0 ถึง 1 แล้วมาเทียบกับ r แต่ถ้า r≥1 อยู่แล้วก็ถือว่าย้ายแน่นอน ไม่ต้องทำการสุ่ม

เมื่อทำแบบนี้แล้วจะได้ตำแหน่งใหม่จากการสุ่มไปเรื่อยๆโดยสัดส่วนการแจกแจงที่เป็นไปตาม f(x)

ด้วยวิธีนี้ทำให้แม้ค่าที่เราทำการสุ่มไปจริงๆคือการแจกแจง q(x) ไม่ได้สุ่ม f(x) โดยตรง แต่ผลที่ได้จะออกมามีการแจกแจงเต็มไปตาม f(x)

ที่จริงแล้ว f(x) นั้นได้ถูกใช้แค่ตอนที่พิจารณาค่า r เพื่อตัดสินว่าจะย้ายไปตำแหน่งเป้าหมายหรือไม่

แม้เราจะไม่ได้สุ่มด้วย f(x) โดยตรง แต่การพิจารณาในจุดนี้เองที่เป็นตัวทำให้การแจกแจงเป็นไปตาม f(x) ได้ เพราะยิ่งตำแหน่งที่ f(x) มากก็ยิ่งมีโอกาสย้ายไปถึงมาก แต่ถ้า f(x) น้อย โอกาสไปถึงก็น้อย

ฟังแล้วอาจชวนให้แปลกใจว่าทำตามวิธีการแบบนี้แล้วจะทำให้ได้ค่าสุ่มตามการแจกแจง f(x) ได้จริงหรือ ซึ่งอันนี้ก็สามารถพิสูจน์ได้ แต่จะยังไม่พูดถึงในที่นี้ ให้เชื่อไปก่อนว่าวิธีนี้ได้ผลจริงๆ




MCMC ในหนึ่งมิติ

หลังจากเข้าใจวิธีการไปแล้ว ขั้นต่อไปก็คือลงมือปฏิบัติโดยเขียนโค้ดจริงๆเพื่อพิสูจน์ว่าวิธีนี้ใช้การได้จริงๆ โดยขอเริ่มจากกรณีมิติเดียวซึ่งเข้าใจได้ง่ายๆก่อน

ก่อนอื่น สมมุติว่าฟังก์ชันแจกแจงที่เป็นเป้าหมายที่ต้องการคือฟังก์ชันที่สร้างยากแบบนี้


ลองสร้างฟังก์ชันขึ้นมาในไพธอนแล้ววาดกราฟดู
import matplotlib.pyplot as plt
import numpy as np

def f_paomai(x):
    return np.where(x>=5,np.where(x<10,(x-10)**2,0),np.where(x>0,x**2,0))/250*3

x = np.linspace(0,10,101)
y = f_paomai(x)
plt.xlabel('x')
plt.plot(x,y,c='#055b25')
plt.grid(ls='--')
plt.show()



ต่อไปก็ฟังก์ชันการแจกแจง q(x) ซึ่งเป็นการแจกแจงที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าพูดถึงสร้างง่ายๆแล้ว แน่นอนว่าคือการแจกแจงเอกรูป ในที่นี้จะใช้ตามนี้


โดย xt เป็นจุดกึ่งกลาง ซึ่งก็คือตำแหน่ง x ปัจจุบันก่อนที่จะย้าย ส่วน σ เป็นค่าความกว้างซึ่งถือเป็นไฮเพอร์พารามิเตอร์ตัวหนึ่งที่ต้องกำหนดขึ้นเองตามความเหมาะสม

ในที่นี้จะให้ σ=2

เขียนโค้ดทำ MCMC เมโทรโพลิสดูได้ดังนี้
# วาดกราฟฟังก์ชัน f(x)
x = np.linspace(0,10,101)
y = f_paomai(x)
plt.xlabel('x')
plt.plot(x,y,c='#553a25')

x = [1] # จุดเริ่มต้น
for _ in range(100000):
    x0 = x[-1] # ตำแหน่ง x เดิม
    x1 = x0 + np.random.uniform(-1,1) # สุ่มตำแหน่ง x เป้าหมาย
    # คำนวณ f(x) ที่จุดเดิมและจุดเป้าหมาย
    f0 = f_paomai(x0)
    f1 = f_paomai(x1)
    r = f1/f0 # คำนวณ r
    # ถ้า r>1 ให้เอาค่าเป้าหมายเป็นค่าใหม่ แต่ถ้า r<1 ให้สุ่มค่าเพื่อตัดสินว่าจะเอาค่าใหม่หรือไม่
    if(r<1 or r>np.random.random()):
        # ถ้าตัดสินใจเอาค่าเป้าหมายเป็นค่าใหม่
        x.append(x1)
    else:
        # ถ้าไม่เอาค่าเป้าหมายก็ใช้ค่าเดิมมาเป็นค่าใหม่ซ้ำต่ออีก
        x.append(x0)

# แสดงการแจกแจงเป็นฮิสโตแกรมความหนาแน่น
plt.hist(x,np.linspace(0,10,61),density=1,fc='#fdde7d',ec='k')
plt.grid(ls='--')
plt.show()



ผลที่ได้จะเห็นว่าการแจกแจงเป็นไปตามการแจกแจงที่ต้องการจริงๆ

แต่ผลที่ได้ก็ไม่ได้ออกมาเป็นไปอย่างที่ต้องการเสมอไป ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่นตำแหน่ง x เริ่มต้น และการแจกแจง q ที่เราเลือกใช้สุ่ม หากผลการสุ่มออกมาไม่เป็นตรงกับที่ควรจะเป็นก็อาจลองปรับตำแหน่งเริ่มต้นหรือฟังก์ชันการแจกแจงดู โดยทั่วไปแล้วควรให้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของการแจกแจง q ใกล้เคียงกับ f จะดีกว่า ไม่ควรให้มากหรือน้อยกว่าจนเกินไป

ในตัวอย่างนี้ใช้ฟังก์ชันการแจกแจงเป็นแบบเอกรูป แต่ก็อาจใช้การแจกแจงอื่นๆที่มีความสมมาตรเหมือนกัน ที่นิยมใช้มากคือการแจกแจงแบบปกติ ซึ่งก็เป็นการแจกแจงพื้นฐานอีกอย่างที่สร้างได้ง่ายและใช้อยู่ทั่วไป




การตัดช่วงระยะทดลอง

ปัญหาอย่างหนึ่งของ MCMC ก็คือข้อมูลในช่วงต้นๆที่เริ่มสุ่มนั้นจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งเริ่มต้น การแจกแจงจะยังไม่ได้เป็นไปตามฟังก์ชันเป้าหมาย จนกว่าจะผ่านไปสักระยะหนึ่ง ซึ่งบางครั้งมักจะมีการตัดช่วงต้นนี้ทิ้งไป

ช่วงตรงต้นที่ถูกตัดทิ้งนี้มักถูกเรียกว่า burn-in ซึ่งคำนี้เดิมเป็นศัพท์ที่ใช้เรียกระยะทดลองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องมีช่วงแรกๆเป็นระยะทดลองจนกว่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วเหมาะจะใช้ได้จริงๆ

เพื่อที่จะดูว่าช่วงไหนที่ควรจะต้องตัดทิ้ง อาจลองพิจารณาโดยวาดกราฟแสดงค่าเฉลี่ยของค่าทั้งหมดที่สุ่มได้จนถึงขั้นนั้น

ยกตัวอย่างเช่น MCMC ที่เขียนในตัวอย่างที่แล้ว ถ้าเอาช่วง 10000 ขั้นแรกมาลองวาดกราฟค่าเฉลี่ยดูก็จะได้ดังนี้
n = np.arange(1,10000+1)
plt.xlabel('จำนวนรอบ',family='Tahoma')
plt.ylabel(r'$\bar{x}$')
plt.plot(n,np.cumsum(x[:10000])/n,c='#d9a048')
plt.grid(ls='--')
plt.show()



เนื่องจากเริ่มต้นจาก x=1 ค่าในช่วงแรกจะเอียงไปทางแถวนั้นมาก แต่จะค่อยๆเข้าใกล้ค่าที่เป็นค่าเฉลี่ยของการแจกเข้าไปเรื่อยๆ ในที่นี้คือ x=5 จากในรูปนี้ดูแล้วอาจพิจารณาตัดช่วง 3000 แรกทิ้งไป

แต่จำนวนในช่วงต้นที่ต้องตัดทิ้งนั้นจะมีจำนวนเป็นเท่าไหร่ก็ไม่ใช่อะไรที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันเป้าหมาย แล้วยังขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้นที่ใช้สุ่มด้วย

โดยรวมแล้วการสุ่มด้วย MCMC วิธีการเมโทรโพลิสนี้จะมีการทิ้งข้อมูลที่สุ่มไปจำนวนหนึ่ง ทั้งค่าช่วงต้นในระยะทดลอง และค่าที่คัดทิ้งในตอนที่เคลื่อนไปตำแหน่งที่ความน่าจะเป็นน้อยลง

แต่หากเทียบกับบางวิธีเช่นวิธีการยอมรับและปฏิเสธ (คัดเอาหรือคัดทิ้ง) ซึ่งต้องมีการทิ้งตัวอย่างไปจำนวนมากแล้ว ก็ถือว่าทิ้งน้อยกว่ามาก โดยเฉพาะยิ่งกรณีที่ใช้กับหลายมิติก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างได้ชัดขึ้น




MCMC ในสองมิติ

เมื่อเข้าใจวิธีการทำในหนึ่งมิติแล้ว ต่อมาก็มาดูกรณีหลายมิติ โดยเริ่มจากสองมิติก่อน

วิธีการโดยรวมแล้วเหมือนเดิม แต่ครั้งนี้เปลี่ยนจาก x ที่เป็นมิติเดียวไปเป็น X ซึ่งมีหลายมิติ

ลองให้ฟังก์ชันการแจกแจงความน่าจะเป็นเป็นฟังก์ชันยากๆดังนี้ โดยแจกแจงสองมิติให้ X เป็น x,y


* อนึ่ง ฟังก์ชันแจกแจงตัวนี้ให้ค่าที่ยังไม่ได้ทำการนอร์มาไลซ์ให้ความน่าจะเป็นรวมกันแล้วได้ 1 แต่จริงๆแล้วก็ไม่จำเป็น เพราะสิ่งสำคัญคือสัดส่วนว่าความน่าจะเป็นที่ไหนมากหรือน้อยเป็นกี่เท่าของที่ไหน

ลองเขียนโค้ดแสดงคอนทัวร์บอกค่าความหนาแน่นความน่าจะเป็นดูว่าหน้าตาเป็นยังไง
def f_paomai(x,y):
    return np.exp(-(3*x**2+y**2)/20)*(1+np.cos((x**2+2*y**2)/4))*(x**2)

x,y = np.meshgrid(np.linspace(-10,10,101),np.linspace(-10,10,101))
plt.figure(figsize=[6,5])
plt.axes(aspect=1)
plt.contourf(x,y,f_paomai(x,y),100,cmap='plasma')
plt.colorbar(pad=0.01)
plt.show()



ใช้ MCMC เพื่อทำการสุ่มตัวอย่างค่า x,y โดยคราวนี้ก็ใช้ฟังก์ชันการสุ่ม q(x,y) เป็นการแจกแจงแบบเอกรูปเช่นกัน แต่คราวนี้มี ๒​ ตัวแปร กำหนดขอบเขตให้อยู่ใน ±3 ทั้งในแกน x และ y


โดยที่ xt,yt คือจุดที่อยู่ปัจจุบัน ซึ่งให้ใช้เป็นจุดกึ่งกลางของการแจกแจง

เขียนโค้ดทำการสุ่มตัวอย่างโดย MCMC เมโทรโพลิสได้ดังนี้
X = [np.array([2,3])] # จุดเริ่มต้น
for _ in range(100000):
    X0 = X[-1] # ตำแหน่ง x,y เดิม
    X1 = X0 + np.random.uniform(-3,3,2) # สุ่มตำแหน่ง x,y เป้าหมาย
    # คำนวณ f(x,y) ที่จุดเดิมและจุดเป้าหมาย
    f0 = f_paomai(*X0)
    f1 = f_paomai(*X1)
    r = f1/f0 # คำนวณ r
    # ใช้ค่า r ตัดสินว่าจะเอาค่าใหม่หรือไม่
    if(r>1 or r>np.random.random()):
        # ถ้าตัดสินใจเอาค่าเป้าหมายเป็นค่าใหม่
        X.append(X1)
    else:
        # ถ้าไม่เอาค่าเป้าหมายก็ใช้ค่าเดิมมาเป็นค่าใหม่ซ้ำต่ออีก
        X.append(X0)

x,y = np.array(X).T
plt.figure(figsize=[5,6])
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(x,y,s=4,alpha=0.1,c=np.random.random([100001,3]))
plt.tight_layout()
plt.show()



ลักษณะการแจกแจงเป็นไปตามความหนาแน่นดังที่แสดงในคอนทัวร์ดังที่ต้องการ

นี่เป็นตัวอย่างการใช้กับข้อมูลสองมิติ เมื่อเข้าใจหลักการแล้วก็สามารถนำไปใช้กับการแจกแจงในกี่มิติก็ได้ตามที่ต้องการ




สรุปทิ้งท้าย

ในบทความนี้ก็ได้แนะนำการใช้วิธีการมอนเตการ์โลห่วงโซ่มาร์คอฟ MCMC โดยข้ามรายละเอียดต่างๆไปมาก เพื่อแค่ต้องการให้เข้าใจภาพรวมและวิธีใช้เบื้องต้นเป็นหลัก

เกี่ยวกับ MCMC นั้นยังมีรายละเอียดอีกมากมายซึ่งถ้าจะใช้งานจริงๆอาจต้องศึกษาเพิ่มเติม

ยังมีเรื่องอีกมากมายเกี่ยวกับ MCMC ที่ยังจะต้องเขียนถึงต่อจากตรงนี้ไปอีก ทั้งเรื่องหลักการที่อยู่เบื้องหลังของวิธีการนี้ อย่างเรื่องของห่วงโซ่มาร์คอฟ และมิธีการมอนเตการ์โล ทั้งเรื่องวิธีอื่นนอกจากวิธีการเมโทโพลิสซึ่งเป็นวิธีง่ายสุดที่ได้กล่าวไป อีกทั้งยังวิธีการนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆด้วย



---------------

แหล่งอ้างอิง




-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คณิตศาสตร์ >> ความน่าจะเป็น
-- คอมพิวเตอร์ >> การสุ่ม
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

รวมร้านราเมงในเมืองฟุกุโอกะ
ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2025年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文