φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



[python] การวิเคราะห์เส้นโค้งการเรียนรู้เพื่อตรวจดูปัญหาการเรียนรู้เกินหรือเรียนรู้ไม่พอ
เขียนเมื่อ 2017/10/24 20:10
แก้ไขล่าสุด 2022/07/19 06:39
จำนวนของข้อมูลตัวอย่างที่ใช้ในการฝึกมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพในการฝึกแบบจำลองการเรียนรู้ของเครื่อง

หากลองพิจารณาดูผลการทำนายของแบบจำลองที่ได้ข้อมูลฝึกมามากกับน้อยจะพบว่าความแม่นในการทายผลข้อมูลฝึกกับข้อมูลตรวจสอบนั้นต่างกันไป และแนวโน้มตรงนั้นสามารถบอกให้รู้ว่าควรจะปรับปรุงยังไงต่อได้

เราอาจลองใช้แบบจำลองอันหนึ่งเรียนรู้ข้อมูลที่มีจำนวนแตกต่างกันไปแล้ววาดกราฟระหว่างจำนวนข้อมูลกับคะแนนความแม่นในการทายผลข้อมูลฝึกกับข้อมูลตรวจสอบ

กราฟแบบนั้นเรียกว่าเส้นโค้งการเรียนรู้ (learning curve)

ผลของกราฟที่ได้อาจออกมาดังภาพนี้


(จากหนังสือ Python機械学習プログラミング 達人データサイエンティストによる理論と実践 https://www.amazon.co.jp/o-ebook/dp/B01HGIPIAK)

--- เส้นประคือความแม่นยำในการทำนายข้อมูลฝึกฝน
เส้นทึบคือความแม่นยำในการทำนายข้อมูลตรวจสอบ
ㅡ เส้นตรงบางๆแนวนอนคือค่าค่าความแม่นยำที่น่าพอใจ

ซ้ายบนเป็นแบบจำลองที่มีปัญหาความโน้มเอียง (bias) สูง จะเห็นได้ว่าไม่ว่าข้อมูลฝึกฝนหรือข้อมูลตรงสอบก็ทำนายไม่ได้ผลตามที่น่าพอใจ แบบนี้คือการเรียนรู้ไม่พอ (under-learning) ปัญหาที่พิจารณาอยู่มีความซับซ้อนกว่าที่คิด อาจกำลังวิเคราะห์ปัญหาได้ไม่ตรงจุดเท่าที่ควร

อนึ่ง คำว่า bias ในที่นี้คนละเรื่องกับค่าไบแอสที่เป็นพารามิเตอร์ในแบบจำลองการถดถอยโลจิสติก (รายละเอียด https://phyblas.hinaboshi.com/20161103)

ปัญหาแบบนี้ต่อให่้เพิ่มจำนวนตัวอย่างมากแค่ไหนก็จะไม่ทำให้การเรียนรู้คืบหน้าได้

เพื่อที่จะแก้ปัญหาอาจทำได้โดยเพิ่มจำนวนพารามิเตอร์ที่พิจารณาให้มากขึ้น เพราะบางทีปัจจัยที่พิจารณาอยู่อาจจะไม่มากพอ เช่นสมมุติว่าตรวจเลือดคนไข้ว่ามีสาร a และสาร b อยู่ในเลือดเท่าไหร่เพื่อวิเคราะห์ว่ามีโรคหรือไม่ แต่ไม่ได้พิจารณาสาร c ซึ่งอาจจะมีผลด้วยเช่นกัน

หรืออีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้คือหากแบบจำลองมีการเรกูลาไรซ์อยู่ แล้วเรกูลาไรซ์แรงไป เช่นสำหรับการถดถอยโลจิสติกหรือ SVM ก็คือค่า C ต่ำเกินไป (ดูรายละเอียดได้ใน https://phyblas.hinaboshi.com/20171010) กรณีแบบนี้แก้ได้โดยการปรับค่า C ให้สูงขึ้น

ส่วนภาพขวาบนเกิดปัญหาความแปรปรวน (variance) สูง จะเห็นได้ว่าเมื่อข้อมูลน้อยจะทายผลข้อมูลฝึกได้ดีมาก แต่กลับทายผลข้อมูลตรวจสอบได้ไม่แม่นเลย แบบนี้เรียกว่าการเรียนรู้เกิน (over-learning)

คำว่าความแปรปรวนในที่นี้มีความหมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนชุดข้อมูลฝึก

กล่าวคือ หากความแปรปรวนมากจะไวต่อการสุ่ม หมายความว่าพอเปลี่ยนชุดข้อมูลฝึก ผลการทายก็แตกต่างไป

แต่หากความแปรปรวนต่ำต่อให้สุ่มชุดข้อมูลฝึกใหม่กี่ครั้งผลที่ได้ก็จะไม่เปลี่ยนไปมากนัก

จะเห็นว่ายิ่งเพิ่มจำนวนตัวอย่างมากขึ้นผลการทำนายชุดข้อมูลฝึกกับข้อมูลตรวจสอบก็ยิ่งใกล้กัน ดังนั้นปัญหานี้แก้ได้ด้วยการเพิ่มตัวอย่างให้มาก

เพียงแต่ว่าหากข้อมูลได้รับผลจากปัจจัยสุ่มบางอย่างที่ไม่แน่นอนเต็มไปหมด หรือเรียนรู้มากจนอิ่มตัวอยู่แล้ว ต่อให้เพิ่มแค่ไหนก็อาจไม่มีประโยชน์

ขวาล่างคือแบบจำลองที่กำลังดี ความโน้มเอียงไม่สูงไป ความแปรปรวนก็ไม่มากไป ไม่มีทั้งปัญหาการเรียนรู้เกินและเรียนรู้ไม่พอ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ



เพื่อให้เห็นภาพชัดลองดูภาพนี้

 
ทางซ้ายคือเรียนรู้ไม่พอ (ความโน้มเอียงสูง) คือแบบจำลองเรียบง่ายเกิน คิดตื้นเกินไป

ส่วนทางขวาคือเรียนรู้เกิน (ความแปรปรวนสูง) คือแบบจำลองซับซ้อนเกิน คิดลึกเกินไป

ส่วนตรงกลางคือกำลังพอดีๆ ไม่ง่ายและไม่ซับซ้อนเกินไป



ต่อไปมาดูตัวอย่างการวาดเส้นโค้งการเรียนรู้

เราอาจใช้วิธีการตรวจสอบค่าแบบไขว้ k-fold เพื่อทดสอบค่าหลายๆครั้งแล้วเอาคะแนนความแม่นมาเฉลี่ยกัน (รายละเอียด https://phyblas.hinaboshi.com/20171018)

โดยตัวอย่างคราวนี้จะใช้เป็นข้อมูลตัวเลข MNIST (รายละเอียด https://phyblas.hinaboshi.com/20170922)

จะทำการวนคำนวณผลความแม่นของแต่ละรอบซึ่งจำนวนข้อมูลที่ใช้จะต่างกันไป ไล่ตั้งแต่ 500 ไปจนถึง 10000 โดยภายในแต่ละรอบจะมีการใช้ StratifiedKFold เพื่อวนเวียนสลับข้อมูลฝึกและตรวจสอบทั้งหมด ๕ ครั้ง

โค้ดนี้อาจใช้เวลารันนานพอสมควร และวนซ้ำหลายรอบ และรอบหลังๆข้อมูลมากถึงหมื่น
import numpy as np
import matplotlib.pyplot as plt
from sklearn import datasets
from sklearn.model_selection import StratifiedKFold
from sklearn.linear_model import LogisticRegression as Lori

mnist = datasets.fetch_mldata('MNIST original')
X,z = mnist.data/255.,mnist.target.astype(int)
sumriang = np.random.permutation(70000)
lori = Lori()
khanaen_fuek = []
khanaen_truat = []
nnn = np.linspace(500,10000,20) # ช่วงจำนวนของตัวอย่างที่ใช้ในแต่ละรอบ
chamnuan_fuek = 0.8*nnn # จำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการฝึก เป็น 0.8 ของข้อมูลทั้งหมด
for s in nnn:
    Xn = X[sumriang[:int(s)]]
    zn = z[sumriang[:int(s)]]
    skf = StratifiedKFold(n_splits=5,shuffle=True)
    k_fuek = []
    k_truat = []
    for f,t in skf.split(Xn,zn):
        X_fuek,z_fuek,X_truat,z_truat = Xn[f],zn[f],Xn[t],zn[t]
        lori.fit(X_fuek,z_fuek)
        k_fuek.append(lori.score(X_fuek,z_fuek))
        k_truat.append(lori.score(X_truat,z_truat))
    khanaen_fuek.append(k_fuek)
    khanaen_truat.append(k_truat)

ค่าตัวเลขจำนวนที่ฝึกจะเป็น 0.8 เท่าของจำนวนข้อมูลที่ใช้ในแต่ละรอบ เนื่องจากแบ่ง 1/5 ไปเป็นข้อมูลตรวจสอบทุกครั้ง

ฝึกเสร็จแล้วต่อมาก็วาดกราฟ ขอสร้างเป็นฟังก์ชันไว้สำหรับใช้ตลอดบทความนี้ จากนั้นก็ใช้ดู
def plottare(c,k1,k2):
    plt.figure()
    plt.ylabel(u'คะแนน',family='Tahoma')
    plt.xlabel(u'จำนวนข้อมูลฝึก',family='Tahoma')
    m = np.mean(k1,1)
    s = np.std(k1,1)
    plt.plot(c,m,'o-',color='#771133')
    plt.fill_between(c,m-s,m+s,color='#FFAACC',alpha=0.4)
    m = np.mean(k2,1)
    s = np.std(k2,1)
    plt.plot(c,m,'o-',color='#117733')
    plt.fill_between(c,m-s,m+s,color='#AAFFCC',alpha=0.4)
    plt.legend([u'ฝึกฝน',u'ตรวจสอบ'],prop={'family':'Tahoma'})
    plt.show()

plottare(chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat)

ผลที่ได้จะเห็นได้ว่าผลการทำนายชุดข้อมูลฝึกกับตรวจสอบมีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะเมื่อจำนวนข้อมูลน้อย นั่นคืออยู่ในสภาวะการเรียนรู้เกิน แต่ยิ่งจำนวนข้อมูลมากก็ยิ่งเข้าใกล้กันมากขึ้น



ต่อมาจะแนะนำคำสั่งใน sklearn ที่ช่วยสร้างเส้นโค้งการเรียนรู้โดยง่ายดาย

ที่จริงแล้วขั้นตอนยืดยาวด้านบนทั้งหมดสามารถแทนได้ด้วยการใช้คำสั่ง learning_curve ของ sklearn

คำสั่งนี้จะคล้ายๆกับ validation_curve ที่ได้แนะนำไปแล้วใน https://phyblas.hinaboshi.com/20171020

เพียงแต่ต่างกันตรงที่ validation_curve จะดูผลการเปลี่ยนแปลงไฮเพอร์พารามิเตอร์ ส่วน learning_curve จะดูผลการเปลี่ยนแปลงจำนวนชุดข้อมูลตัวอย่าง

เราอาจเขียนแทนโค้ดข้างต้นได้ดังนี้
from sklearn.model_selection import learning_curve

mnist = datasets.fetch_mldata('MNIST original')
X,z = mnist.data/255.,mnist.target
sumriang = np.random.permutation(70000)
X,z = X[sumriang[:10000]],z[sumriang[:10000]]
chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat = learning_curve(Lori(),X,z,train_sizes=np.linspace(0.1,1,20),cv=5)

plottare(chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat) # วาดกราฟด้วยฟังก์ชันอันเดิมที่สร้างไว้ข้างต้น

train_sizes คือสัดส่วนของจำนวนข้อมูลที่ใช้ในแต่ละครั้งต่อข้อมูลทั้งหมด ในที่นี้กำหนดเป็น np.linspace(0.05,1,20) และข้อมูลมี 10000 หมายความว่ารอบแรกจะมีขนาดเป็น 0.05×10000=500 ต่อมาก็เป็น 0.1×10000=1000 จากนั้นไล่ไปจนถึง 1×10000=10000

ส่วนค่าที่คืนกลับมานั้นจะมีทั้งหมด ๓​ ตัว ตัวแรกคืออาเรย์ของจำนวนข้อมูลทดสอบ

ส่วนตัวที่สองและสามคือคะแนนจากการทำนายชุดข้อมูลฝึกและชุดข้อมูลตรวจสอบ ตามลำดับ



ต่อมาลองพิจารณาอีกปัญหาดู สมมุติว่ามีข้อมูลชุดหนึ่งพิจารณาตัวแปร ๓ ตัว สร้างขึ้นมาแล้ววาดดูดังนี้
n = 500
np.random.seed(5)
s = np.random.permutation(n)
X = np.random.normal(0,1.2,[n,3])
X[:,2] /= 2
X[s[int(n/2):]] += 2
z = np.zeros(n)
z[s[int(n/2):]] = 1

plt.figure(figsize=[6,6])
ax = plt.axes([0,0,1,1],projection='3d',xlim=[X.min(),X.max()],ylim=[X.min(),X.max()])
ax.scatter(X[:,0],X[:,1],X[:,2],c=z,edgecolor='k',cmap='rainbow')
plt.show()



จะเห็นว่าข้อมูลแยกกันเป็น ๒ ส่วนในสามมิติค่อนข้างชัดเจน

แต่ว่าหากลองพิจารณาแค่สองมิติ คือลองลดมิติที่ ๓ ลงไปดู วาดภาพการกระจายในสองมิติโดยละเลยมิติที่สาม
plt.axes(aspect=1)
plt.scatter(X[:,0],X[:,1],c=z,edgecolor='k',cmap='rainbow')
plt.show()

จะเห็นเป็นแบบนี้



จะเห็นว่ามีการซ้อนทับกันอยู่

หากเราลองพิจารณาข้อมูลแค่สองมิติแล้ววิเคราะห์แบ่งกลุ่มโดยใช้การถดถอยโลจิสติก เมื่อลองวาดกราฟการเรียนรู้ออกมา
chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat = learning_curve(Lori(),X[:,:2],z,train_sizes=np.linspace(0.1,1,10),cv=5)
plottare(chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat)

ก็จะพบว่าผลการเรียนรู้ออกมาแบบนี้



หรือถ้าลองลดมิติลงเหลือแค่หนึ่งแบบนี้
chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat = learning_curve(Lori(),X[:,:1],z,train_sizes=np.linspace(0.1,1,10),cv=5)
plottare(chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat)

ก็จะยิ่งมีความแม่นยำลดลง



นี่เป็นปัญหาเรื่องความโน้มเอียง เกิดจากการที่แบบจำลองมีความซับซ้อนน้อยเกินไป ในที่นี้คือเกิดจากพิจารณาปัจจัย (ตัวแปร) น้อยกว่าที่ควร

ดังนั้นถ้าพิจารณาโดยใช้ตัวแปรทั้งสามครบหมดดู
chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat = learning_curve(Lori(),X,z,train_sizes=np.linspace(0.1,1,10),cv=5)
plottare(chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat)

ก็จะได้ผลออกมาแม่นขึ้นแบบนี้



บางครั้งการแก้ปัญหาไม่ได้ก็เกิดจากการที่เรามองปัญหาไม่รอบด้านพอนั่นเอง เมื่อเพิ่มมิติของปัญหา มองหาปัจจัยเพิ่มเติมจึงแก้ปัญหาได้

เพียงแต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจจะพบว่าเมื่อจำนวนตัวอย่างน้อย มิติสูงจะเกิดปัญหาการเรียนรู้เกินแทน ปัญหานี้อาจเด่นชัดขึ้นเมื่อลองเพิ่มมิติ เช่นลองเพิ่มมิติที่ค่าเป็นการสุ่มล้วน ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำตอบลงไปเลยอีกมิติ
X4 = np.hstack([X,np.random.uniform(0,2,[n,1])])
chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat = learning_curve(Lori(),X4,z,train_sizes=np.linspace(0.1,1,10),cv=5)
plottare(chamnuan_fuek,khanaen_fuek,khanaen_truat)

จะพบว่าความแม่นในชุดข้อมูลฝึกฝนเยอะกว่าชุดข้อมูลตรวจสอบมากในขณะที่จำนวนข้อมูลฝึกน้อย นั่นคือมีอาการของการเรียนรู้เกิน เพียงแต่พอมีจำนวนข้อมูลมากปัญหาก็ลดลง



นี่เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่คิดปัญหาให้ซับซ้อนเกินจริง ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก ไปเอาปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องมาคิดด้วย ทำให้เกิดการเรียนรู้เกิน

แต่หากตัวอย่างมากพอเราจะรู้ได้ว่าปัจจัยที่ดูเผินๆเหมือนจะมีผลนั้นจริงๆแล้วมันกระจายสุ่มๆ ไม่ได้มีผลอะไรเลย ก็จะเลิกให้ความสำคัญไปเอง อย่างในกราฟนี้ทางฝั่งขวาจะเห็นได้ว่าค่าแทบจะเหมือนกับกรณีคิดแค่สามมิติ นั่นคือผลของมิติที่สี่ที่เกินมาหายไปหมด



กล่าวโดยสรุปแล้ว สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ก็คือ ควรพิจารณาปัญหาให้พอดี ไม่เรียบง่ายหรือซับซ้อนเกินไป

เส้นโค้งการเรียนรู้จะเป็นตัวบอกเราได้ว่าควรปรับปรุงแบบจำลองยังไงให้มองปัญหาได้ในแบบพอดีมากขึ้น



อ้างอิง


-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- คอมพิวเตอร์ >> ปัญญาประดิษฐ์
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> numpy
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> matplotlib
-- คอมพิวเตอร์ >> เขียนโปรแกรม >> python >> sklearn

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文