# จันทร์ 5 พ.ย. 2018ต่อจาก
https://phyblas.hinaboshi.com/20181227ตื่นเช้ามาในโรงแรมที่โทโกโรซาวะ เข้าสู่วันสุดท้ายของการเที่ยวญี่ปุ่น
วันนี้ต้องไปขึ้นเครื่องบินที่
สนามบินนาริตะ (成田空港) ตอนเวลา 13:55 ดังนั้นช่วงเช้ายังมีเวลาเที่ยวอยู่
ถึงอย่างนั้นก็มีเวลาไม่ได้มากนัก จึงเลือกเป้าหมายที่เป็นเส้นทางที่ผ่านไปได้ง่ายและไม่กินเวลา
แล้วก็เลยตัดสินใจแวะไปตามรอยอนิเมะฮานะซากุอิโรฮะต่อ
เป้าหมายมีอยู่ ๒ ที่ ที่แรกคือ
สถานีนิชิโองิกุโบะ (西荻窪駅) ตั้งอยู่ใน
เขตสึงินามิ (杉並区) ของโตเกียว
ตอนเช้าเมื่อพร้อมแล้วก็เก็บข้าวของออกจากโรงแรมเดินทางออกไปขึ้นรถไฟที่สถานีโทโกโระซาวะ
เนื่องจากเก็บเข้าของทั้งหมดออกมาแล้ว และเที่ยวไปเรื่อยๆตามทาง จึงเป็นการแบกสัมภาระไปเดินไป ลำบากอยู่แต่ก็ไม่มีปัญหา
จากโทโกโรซาวะต้องนั่งรถไฟ
สายโคกุบุนจิ (国分寺線) ไปลงที่สถานีโคกุบุนจิ เพื่อต่อรถไฟไปยังสายจูโอวของ JR
ระหว่างทางผ่าน
สถานีโคยงากุโบะ (恋ヶ窪駅) ชื่อสถานีดูน่ารักดี มีคำว่าความรักอยู่ด้วย ดูสะดุดตาจำติดใจ
เปลี่ยนรถที่สถานีโคกุบุนจิเสร็จแล้วก็นั่งสายจูโอวไปทางตะวันออก ๖ สถานีก็ถึงสถานีนิชิโองิกุโบะ
สถานีที่นี่ปรากฏในอนิเมะตอนที่ ๑๒ เป็นฉากด้านในสถานีเลย ก็เลยไม่ต้องออกไปไหน
แต่ก็มีลงไปข้างล่างเพื่อซื้อเครื่องดื่มนิดหน่อย ชาท้อ ๑๕๑ เยน
สำหรับภาพแรกที่เปรียบเทียบคือมุมนี้ ทิวทัศน์ที่มองออกไปจากบนสถานี ดูแล้วใกล้เคียงมาก
อีกมุมนึงคือม้านั่ง มองจากคนละด้านของรางรถไฟ
โอฮานะมาทำอะไรที่สถานีนี้ในเรื่องไม่ได้บอกแน่ชัด เพราะมีแค่ฉากที่สถานี ไม่เห็นฉากบริเวณย่านรอบๆสถานี แต่ดูจากฉากก่อนหน้าเดาได้ว่าเป็นที่ตั้งโรงแรมที่โทรุพักอยู่
หลังจากจบฉากนี้ไปโอฮานะก็ไปหาโควจังที่ร้านหนังสือที่อิเกบุกุโระ
https://phyblas.hinaboshi.com/20181212ส่วนเราครั้งนี้พอได้ถ่ายฉากนี้เสร็จก็ไม่อะไรแล้ว ขึ้นรถไฟต่อไปยัง
สถานีนากาโนะ (中野駅) ใน
เขตนากาโนะ (中野区) อยู่ถัดมาทางตะวันออกอีก ๔ สถานี
อนึ่ง
นากาโนะ (Nakano) เป็นชื่อเขตในโตเกียว ระวังอย่าสับสนกับ
นางาโนะ (Nagano) ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดในภาคกลาง (เล่าถึงไปในนี้
https://phyblas.hinaboshi.com/20181208) เป็นคนละที่กัน
เพียงแต่ว่าหลายคนชอบทับศัพท์ Nagano เป็นนากาโนะ ซึ่งแบบนั้นทำให้สับสนกับชื่อเขต Nakano ได้ง่าย
รถไฟที่ขึ้นมานี้เป็นขบวนรถไฟที่วิ่งในสายของรถไฟใต้ดินโตเกียว
สายโทวไซ (東西線) ซึ่งลากยาวตั้งแต่
สถานีมิตากะ (三鷹駅) ใน
เมืองมิตากะ (三鷹市) ทางตะวันตกไปสุดที่
สถานีนิชิฟุนาบาชิ (西船橋駅) ใน
เมืองฟุนาบาชิ (船橋市) จังหวัดจิบะ ทางตะวันออกสุด
เพียงแต่ว่าจริงๆคือตั้งแต่ช่วงสถานีมิตากาถึงนากาโนะนั้นไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟไต้ดินโตเกียว รถไฟแค่วิ่งอยู่บนทางของสายจูโอวของ JR บนดิน ไม่ได้อยู่ใต้ดิน
ตั้งแต่ช่วงถึงก่อนสถานีนากาโนะนี้จึงมีรถไฟของ JR วิ่งปนกับรถไฟของสายใต้ดิน และจะแยกทางกันที่สถานีนากาโนะ ดังนั้นสถานีนากาโนะจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆของรถไฟใต้ดินสายโทวไซ และยังเป็นจุดเปลี่ยนรถไฟที่สำคัญด้วย
ตัวสถานีนากาโนะปรากฏในอนิเมะตอนที่ ๑๒
เริ่มแรก ฉากที่โอฮานะเดินออกมาจากรถไฟ รถไฟที่เห็นแถบสีส้มนี้เป็นรถไฟของ JR
ต่อมา ป้ายของสถานี แต่พยายามลองหาที่หน้าตาเหมือนกันแล้วไม่เจอ ยังไงก็มีแถบสีเหลืองแทรกอยู่ ข้อความก็ไม่เหมือนเดิม มีการเพิ่มภาษาจีนและเกาหลีมาด้วย และใช้อักษรคันจิเป็นหลักแทนฮิรางานะ
แล้วก็ตึกโถงทางเดินที่ดูเด่นอยู่ทางเหนือของสถานี
ถนนร้านค้านากาโนะซันมอล (中野サンモール商店街)ฉากที่โอฮานะยืนร้องไห้อยู่ในสถานี ตำแหน่งถ่ายที่ถูกต้องจริงน่าจะต้องเดินไปอีกหน่อยเพื่อให้ตึกด้านหลังตรงกัน
อีกฉากหนึ่ง หลังโอฮานะร้องไห้เสร็จก็มองไปยังถนนร้านค้า แต่ฉากนี้ไม่สามารถถ่ายเห็นด้านล่างแบบเดียวกันได้เพราะปัจจุบันได้มีการสร้างหลังคาเชื่อมจากสถานีไปถึงตรงนั้นแล้ว
มองจากด้านล่าง
แถวนี้ไม่ได้ถูกใช้เป็นฉากแค่ตรงสถานีเท่านั้น บริเวณรอบๆก็มีปรากฏด้วย จึงเดินออกจากสถานีลงมาด้านล่าง
ระหว่างทางเดินไปทางเหนือ ถนนร้านค้าเป็นโถงทางเดินสวยงาม
เดินมานิดเดียวก็ถึงแล้ว ตึกนี้เองคือตึกที่แม่ของโอฮานะทำงานอยู่
มุมนี้ตรงกับที่ปรากฏในเรื่อง
ส่วนนี่เป็นภาพย่านเมืองใกล้ๆตรงนั้น ปรากฏในตอนที่ ๑๑ ไม่เจอมุมที่เหมือนกันพอดี แต่ดูแล้วมุมนี้องค์ประกอบต่างๆใกล้เคียง
เมื่อชมฉากที่ต้องการเสร็จหมดก็ไม่มีอะไรแล้ว ได้เวลาเดินกลับเข้าสถานี การเที่ยวจบลงเท่านี้ จากนี้ไปคือการเดินทางไปยังสนามบิน
จากนากาโนะไปยังสนามบินนาริตะก็มีทางเลือกอยู่หลายทาง สำหรับตอนนี้เวลากระชั้นชิดเข้ามาแล้วจึงตัดสินใจไปนั่งรถด่วนซึ่งขึ้นที่
สถานีนิปโปริ (日暮里駅) ครั้งก่อนที่มาโตเกียวแล้วกลับไปนาริตะก็ใช้เส้นทางนี้เหมือนกัน
https://phyblas.hinaboshi.com/20140423การจะไปนิปโปริก็มีทางเลือกอยู่หลายทางอีก แต่ที่สั้นที่สุดคือนั่งรถไฟใต้ดินไปต่อรถไฟสายยามาโนเตะที่
สถานีทากาดะโนะบาบะ (高田馬場駅)เพียงแต่ว่าที่จริงยังมีทางอื่นคือนั่งสายจูโอวไปต่อสายยามาโนเตะที่สถานีชินจุกุหรือสถานีคันดะ แบบนี้จะถูกกว่าเล็กน้อยเพราะนั่งแต่รถไฟของ JR ตลอดทาง แต่อ้อมไกลกว่า
ถึงสถานีทากาดะโนะบาบะ ชื่อสถานีนี้จริงๆตอนที่ได้ยินครั้งแรกนึกว่า "บาบะ" หมายถึง ババ ที่แปลว่า "คุณยาย" แต่จริงๆคือ 馬場 ที่แปลว่า "สนามม้า"
ต้องออกมาจากสถานีเพื่อเปลี่ยนรถไฟอยู่แล้ว จึงถือโอกาสเดินเล่นแถวๆนั้นดูนิดนึง
แล้วก็กลับเข้าไปนั่งรถไฟต่อ
ถึงสถานีนิปโปริ
เดินไปยังทางขึ้นรถไฟของเคย์เซย์
ที่ไปขึ้นคือรถด่วนพิเศษ
สไกไลเนอร์ (スカイライナー) เป็นรถไฟด่วนพิเศษที่วิ่งจากสถานีเคย์เซย์อุเอโนะไปยังสนามบินนาริตะ โดยมีแวะจอดแค่ที่สถานีนิปโปริ จากนั้นก็ตรงดิ่งถึงสนามบินเลย
ค่าโดยสารจริงๆจากที่นี่ไปถึงนาริตะราคา ๑๒๓๕ แต่ต้องบวกค่ารถไฟด่วนพิเศษอีก ๑๒๓๐ ทั้งหมดใช้บัตร Suica จ่ายได้ด้วยบัตร Suica ที่เครื่องขายอัตโนมัติ แล้วก็จะได้ตั๋วสำหรับขึ้นรถด่วนพิเศษมา
เวลาเข้าออกสถานีจะยุ่งยากเล็กน้อย เพราะค่าโดยสารระหว่างสถานีจ่ายด้วยบัตร Suica ต้องแตะบัตร เสร็จแล้วก็ต้องสอดตั๋วรถด่วนเข้าเครื่องตรวจด้วย จึงจะผ่านเข้าไปได้ ตอนขาออกก็เหมือนกัน
ทางเข้าไปขึ้นรถด่วน
ระหว่างรอเจอรถไฟด่วนพิเศษอีกชนิดนึง ซึ่งแม้จะเป็นด่วนพิเศษเหมือนกันแต่ไม่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่ม วิ่งกันคนละเส้นทาง เวลาก็ต่างกันเยอะด้วย มีหยุดระหว่างทางหลายสถานี จึงดูไม่ค่อยด่วนจริงๆเท่าไหร่
ส่วนรถไฟที่จะขึ้น ที่ต้องเสียตังค์คือขบวนนี้
ตั๋วรถด่วน
บนรถไฟ
แล้วก็ออกเดินทางตรงดิ่งจากนิปโปริไปสู่สนามบินโดยไม่มีการหยุดพัก จนเดินทางมาถึง
ตอนที่ถึงสถานีดูแล้วยังมีเวลานิดหน่อย เลยลองแวะไปดูที่สถานีของ JR ซึ่งมีเครื่องขายบัตร Suica นอกจากนี้ก็ยังใช้เพื่อดูประวัติการใช้งานด้วย ในเครื่องสามารถแสดงประวัติการใช้ย้อนไปได้จำนวนนึง
นอกจากนี้ก็พิมพ์ออกมาได้ด้วย ที่พิมพ์ออกมานี้สามารถเห็นประวัติไล่ตั้งแต่ซื้อบัตรมา
เสร็จแล้วก็มาที่ส่วนขาออก ดูรอบเที่ยวบิน ยืนยันว่าไม่มีปัญหา
13:55 バンコク นกสกู๊ต XW101 ช่อง B
เช็กอิน
แล้วก็ไปรอขึ้นเครื่อง หน้าตาเครื่องบินของนกสกู๊ตเห็นกี่ทีก็ชวนให้ยิ้มได้
เครื่องบินที่นี่ไม่มีอาหารให้ แต่ว่าต้องนั่งยาวตั้ง ๖ ชั่วโมงกว่าและไม่ได้เตรียมน้ำเผื่อไป นั่งนานขนาดนี้โดยไม่ดื่มน้ำเลยยังไงก็ไม่ไหว สุดท้ายต้องยอมซื้อน้ำบนเครื่อง ซึ่งแพงมากแต่ก็ต้องยอมไม่งั้นคอแห้งตาย ราคาค่าน้ำเปล่าขวดนึงคิดเป็นเงินไทย ๗๐ บาท แต่พอดีไม่ได้พกเงินบาทเลยจ่ายเป็นเงินญี่ปุ่นแทน คิดเป็นเงิน ๒๐๐ เยน เพียงแต่ว่าเงินเยนต้องจ่ายเป็นธนบัตรเท่านั้น ใช้เศษเหรียญไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องจ่ายธนบัตร ๑๐๐๐ เยนไป แล้วได้ทอนเป็นเงินไทย ๒๐๐ บาท
จริงๆถ้าคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้นแล้ว ๑๐๐๐ เยนก็ควรจะประมาณ ๒๙๐ บาท แสดงว่าอัตราแลกเปลี่ยนก็คิดโหดด้วย เลยเหมือนกับจ่ายไป ๙๐ บาทเพื่อซื้อน้ำขวดเดียวเล็กๆ
ก็เป็นบทเรียนว่าถ้านั่งสายการบินต้นทุนต่ำแบบนี้น่าจะเตรียมน้ำไว้ ซื้อจากสนามบินเอาก็ได้ ยังไงก็ยังถูกกว่าซื้อบนเครื่อง
แล้วเครื่องบินก็กลับถึงสนามบินดอนเมืองอย่างปลอดภัย การเที่ยวครั้งนี้ก็จบลงเท่านี้
สรุปรวมค่าใช้จ่ายวันที่ 5 พ.ย. 2018 ทั้งหมด
- เติมเงิน Suica ที่สถานีโทโกโรซาวะ 2000 เยน
- รถไฟจากโทโกโรซาวะไปโคกุบุนจิ 206 เยน (ใช้ Suica)
- ซื้อชาท้อ ที่สถานีฮิงาชิโองิกุโบะ 151 เยน
- รถไฟจากโคกุบุนจิไปนากาโนะ 302 เยน (ใช้ Suica)
- รถไฟจากนากาโนะไปทากาดะโนะบาบะ 165 เยน (ใช้ Suica)
- รถไฟจากทากาดะโนะบาบะไปนิปโปริ 165 เยน (ใช้ Suica)
- เติมเงิน Suica ที่สถานีนิปโปริ 890 เยน
- รถไฟจากนิปโปริไปสนามบินนาริตะ 1230+1235 เยน (ใช้ Suica)
รวมแล้วจ่ายเงินสด 3041 เยน
สุดท้ายนี้เป็นการสรุปค่าใช้จ่ายเที่ยวนี้ทั้งหมด
ส่วนที่ใช้ใช้บัตรเครดิตจ่ายและคิดเป็นเงินไทย
- ค่าตั๋วเครื่องบิน 8732.75+8023.58 = 16756.33 บาท
- ซิมต่อเน็ต 539.22 บาท
รวม 16756.33+539.22 ≈ 17300 บาท
ส่วนที่ใช้บัตรเครดิตจ่ายและคิดเป็นเงินญี่ปุ่น
- ค่าที่พักแต่ละคืน 3000+2800+2800+5300+3480+3280 = 20660 เยน
- ชิงกันเซง 11460 เยน
ค่าใช้จ่ายเงินสดแต่ละวัน
4100+4624+5968+6130+2510+4230+3041 = 30603 เยน
รวมส่วนที่จ่ายเป็นเงินญี่ปุ่นทั้งหมด 30603+11460+20660 = 62723 เยน
แปลงเป็นเงินไทยได้ประมาณ 18500 บาท
รวมทั้งหมดเบ็ดเสร็จ
18500+17300 = 35800 บาท
บันทึกการเที่ยวครั้งนี้จบลงเท่านี้ รวมทั้งหมดเที่ยว ๗ วัน ยาว ๓๙ ตอน
>>
ย้อนกลับไปอ่านตอนแรกได้ที่นี่นี่เป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งที่ ๓ และได้ความทรงจำที่ประทับใจเช่นเดียวกับครั้งก่อนๆ
ปีหน้าก็จะมีการเที่ยวญี่ปุ่นอีก ติดตามอ่านบันทึกการเดินทางครั้งต่อไปกันได้