φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ปราสาทฮิโกเนะ หนึ่งในสิบสองปราสาทโบราณที่ยังคงเหลือหอหลักดั้งเดิม
เขียนเมื่อ 2013/02/25 00:43
แก้ไขล่าสุด 2021/09/28 16:42
#อาทิตย์ 20 ม.ค. 2013

จากตอนที่แล้วเราไปเที่ยวที่เมืองโทโยซาโตะ (豊郷町) https://phyblas.hinaboshi.com/20130223

เรายังคงอยู่ที่จังหวัดชิงะ (滋賀県) เช่นเดิม โดยหลังจากออกจากสถานีโทโยซาโตะตอน 14:32 โดยนั่งรถไฟสายหลักโอวมิเท็ตสึโดว (近江鉄道本線) ถัดไปอีก ๕ ป้าย เป็นระยะทาง ๙.๒ ก.ม. โดยใช้เวลา ๑๘ นาที ก็มาถึงสถานีฮิโกเนะ (彦根駅) ในเมืองฮิโกเนะ (彦根市) ตอน 14:50



ตำแหน่งเมืองฮิโกเนะ สีชมพูเข้มในแผนที่




สถานีฮิโกเนะเป็นสถานีเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างรถไฟของ JR สายบิวาโกะ (琵琶湖線) และสายหลักโอวมิเท็ตสึโดวที่เรานั่งมา และขากลับ

เมืองฮิโกเนะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของจังหวัดชิงะ เพราะมีปราสาทฮิโกเนะ (彦根城)



ถ้าใครตามอ่านมาตั้งแต่ต้นอาจจะเริ่มเบื่อว่าทำไมไปเที่ยวแต่ปราสาทเยอะจัง ที่จริงแล้วปราสาทญี่ปุ่นมีอยู่เยอะมากเป็นร้อยๆแห่งเลย เที่ยวเท่าไหร่ก็ไม่หมด

แต่ก็ไม่ใช่ว่าแต่ละแห่งจะเหมือนเดิมซ้ำๆเที่ยวที่ไหนก็เหมือนๆกัน แต่ละแห่งก็มีเอกลักษณ์ต่างกันออกไป ประวัติศาสตร์ก็ต่างกันออกไป ยุคสมัยที่สร้างก็ต่างกัน จึงมีอะไรหลายๆอย่างไม่เหมือนกัน มีค่าควรให้ไปเยือนหลายๆแห่ง

โดยเฉพาะปราสาทฮิโกเนะนี้จะเด่นกว่าปราสาทอื่นตรงที่ว่าเป็นปราสาทดั้งเดิมที่ไม่เคยถูกทำลายและอยู่รอดข้ามยุคข้ามสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

ปราสาทอื่นที่เราเคยไปมาอย่างปราสาทวากายามะ (和歌山城) ปราสาทโอกายามะ (岡山城) ปราสาทโองากิ (大垣城) ต่างก็ถูกทำลายไปในสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารที่เห็นอยู่ตอนนี้คือที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนให้เหมือนของเก่าเท่านั้น

นั่นจึงทำให้ปราสาทฮิโกเนะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก โดยหอหลักได้ับการตั้งให้เป็นสมบัติของชาติ และยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกด้วย แต่ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา

ปราสาทโบราณของญี่ปุ่นที่ตัวหอหลักยังหลงเหลือมาถึงยุคปัจจุบันมีอยู่เพียงแค่ ๑๒ หลังเท่านั้น โดยแห่งที่มีชื่อเสียงที่สุดคือปราสาทฮิเมจิ (姫路城) ในเมืองฮิเมจิ (姫路市) จังหวัดเฮียวโงะ (兵庫県) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

ที่จริงเรามีนั่งชิงกันเซงผ่านเมืองฮิเมจิไปเมื่อวันก่อน https://phyblas.hinaboshi.com/20130203

แต่เนื่องจากปราสาทฮิเมจิตอนนี้กำลังปิดซ่อมอยู่ ถึงไปก็ไม่เห็นอะไรมาก ก็เลยไม่ได้แวะไป ไว้ซ่อมเสร็จเมื่อไหร่ก็เป็นสถานที่เที่ยวที่ต้องไปเยี่ยมชมให้ได้สักครั้งแน่นอน



ประวัติศาสตร์ของปราสาทฮิโกเนะต้องย้อนกลับไปในสมัยอาซึจิโมโมยามะถึงสมัยเอโดะ โดยเมื่อก่อนบริเวณเมืองฮิโกเนะนี้เคยมีปราสาทที่ตั้งอยู่ก่อนคือปราสาทซาวายามะ (佐和山城) ซึ่งเดิมเป็นของอิชิดะ มิตสึนาริ (石田三成)

แต่เมื่ออิชิดะ มิตสึนาริพ่ายแพ้ให้กับโทกุงาวะ อิเอยาสึ (徳川家康) ในศึกเซกิงาฮาระ (関が原の戦い) จนต้องคว้านท้องตายไปในปี 1600 และเข้าสู่ยุคเอโดะ อิเอยาสุได้กลายเป็นโชกุนมีอำนาจปกครองทั้งญี่ปุ่น และพื้นที่แถบนี้ถูกตั้งให้เป็นแคว้นซาวายามะ (佐和山藩)

ซึ่งทางรัฐบาลโชกุนก็ได้ส่งผู้ครองแคว้นคนใหม่เข้ามาปกครองคือ อิอิ นาโอมาสะ (井伊直政) แต่เขาไม่ชอบปราสาทซาวายามะแห่งนี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ครองคนเก่า จึงวางแผนสร้างปราสาทใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือปราสาทฮิโกเนะ

แต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำอะไรนาโอมาสะก็เสียชีวิตไปเสียก่อนในปี 1602 ด้วยแผลที่ค้างมาจากสมัยศึกเซกิงาฮาระซึ่งยังรักษาไม่หาย ลูกชายของเขาคืออิอิ นาอตสึงุ (井伊直継) ได้เข้ามาปกครองต่อแทน และได้สานต่อเจตนารมณ์

การก่อสร้างปราสาทใหม่จึงเริ่มขึ้นในปี 1603 และสร้างเสร็จไปส่วนหนึ่งในปี 1606 นาอตสึงุได้ย้ายเข้ามาอยู่ และปราสาทซาวายามะก็ได้ถูกรื้อทิ้ง ซากส่วนหนึ่งก็ถูกนำไปเป็นวัสดุในการสร้างปราสาทฮิโกเนะด้วย

แคว้นซาวายามะได้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแคว้นฮิโกเนะ (彦根藩) หลังจากนั้นปราสาทก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1622

หลังจากนั้นตัวหอหลักก็ได้คงอยู่มาโดยตลอด จนถึงยุคเมย์จิ เมื่อมีคำสั่งทำลายปราสาทต่างๆทั่วประเทศขึ้น ได้มีปราสาทจำนวนมากมายถูกรื้อทิ้ง ปราสาทฮิโกเนะก็เกือบจะถูกสั่งให้รื้อทิ้งเช่นกัน แต่จักรพรรดิได้เดินทางผ่านมาเยี่ยมที่นี่แล้วสั่งว่าให้รักษาเอาไว้ ดังนั้นก็เลยรอดมาได้ในสภาพสมบูรณ์

ส่วนปราสาทซาวายามะปัจจุบันไม่เหลืออะไรนอกจากซากอยู่บนเขา ใครสนใจก็สามารถไปชมได้เช่นกัน แต่อยู่ค่อนข้างจะไกลเดินทางไม่ได้สะดวกนัก



ผิดกับสถานีก่อนๆที่เราผ่านมาในสายหลักโอวมิเท็ตสึซึ่งมีแต่สถานีเล็กๆซึ่งไม่มีคนเฝ้า สถานีฮิโกเนะนี้เป็นสถานีใหญ่ เพราะตั้งอยู่ในเมืองหลักและเป็นจุดเชื่อมไปยังสายรถไฟชอง JR ด้วย




ออกมาด้านนอกสถานี เห็นรูปปั้นของอิอิ นาโอมาสะ ผู้ริเริ่มให้สร้างปราสาทฮิโกเนะก่อนเสียชีวิต



ป้าย ようこそ ひこねへ "ขอต้อนรับสู่ฮิโกเนะ"



ตัวสถานี ถ่ายจากด้านนอก ดูเรียบๆ



เส้นทางไปสู่ปราสาทต้องเดินไปตามทางถนนสายนี้ ซึ่งเส้นทางมุ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่ไกลมาก



ระหว่างทางจะเจอไอ้ตัวนี้อยู่เต็มไปหมดเลย ซึ่งนี่คือยุรุเคียระ (ゆるキャラ) ของเมืองฮิโกเนะ ชื่อว่าฮิโกเนียน (ひこにゃん)




ยุรุเคียระคืออะไรอ่านได้ในหน้านี้ มีเขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดทีเดียว http://www.nipponnotsubo.com/culture/culture/01201yurukyara/0120107jn1yurukyara.html

พอเดินจนสุดถนนก็จะเจอทางแยก



แต่ถ้าตรงไปก็จะเป็นศาลเจ้า

 

ที่นี่คือศาลเจ้าโกโกกุ (護国神社) เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาผู้ที่สละชีพเพื่อชาติ ซึ่งมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยมีจังหวัดละอย่างน้อยหนึ่งแห่ง ของจังหวัดชิงะนี้อยู่ที่เมืองฮิโกเนะนี้ นอกจากในญี่ปุ่นแล้วยังมีที่ไต้หวัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นสมัยที่ญี่ปุ่นไปยึดครองอยู่ด้วย และยังมีที่เกาะคาราฟุโตะ (樺太, ในภาษารัสเซียเรียกเกาะนี้ว่าซาฆาริน (Сахалин)) เกาะของรัสเซียซึ่งสมัยก่อนญี่ปุ่นเคยยึดได้



เมื่อทะลุผ่านตัวศาลเจ้าออมาด้านซ้ายก็จะเริ่มเห็นคูชั้นนอกที่ล้อมรอบปราสาท



ซึ่งถ้าเลี้ยวขวาก็จะมีทางเข้าไปยังส่วนด้านในได้ แต่เราเกิดมึนแผนที่ขึ้นมาก็เลยเดินไปทางซ้าย ซึ่งเป็นทางอ้อม



เลยได้เห็นส่วนของคูด้านนอกจากฝั่งทิศใต้



จากนั้นค่อยมาเจอสะพานข้ามคู




มองคูจากบนสะพาน



แม้จะอ้อมสักหน่อย แต่จากสะพานด้านนี้ก็สามารถเข้าไปในบริเวณปราสาทได้เช่นกัน




เดินเข้าไปแล้วตรงไปเรื่อยๆจะเจอกับคูด้านในอีกชั้น แสดงให้เห็นว่าปราสาทนี้ป้องกันหลายชั้นจริงๆ นอกจากล้อมด้วยคูคลองแล้วตัวปราสาทยังตั้งอยู่บนเขาด้วย



ก็ต้องข้ามสะพานไป



ข้ามมาก็จะเจอทางเข้าบริเวณปราสาท ซึ่งต้องจ่ายเงินถึงจะเข้าได้



ซึ่งค่าเข้าบริเวณด้านในแพงถึง ๖๐๐ แต่จำเป็นต้องเข้าเพราะไม่เช่นนั้นจะมองไม่เห็นตัวปราสาทเลย ปราสาทนี้ไม่เหมือนปราสาทอื่นตรงที่ถ้าไม่จ่ายก็จะเข้าใกล้บริเวณตัวปราสาทไม่ได้เลย และจะมองไม่เห็นยอดหอหลักของปราสาทด้วย



ตั๋วเข้าชมหน้าตาเป็นแบบนี้



เมื่อเข้ามาสิ่งแรกที่เห็นคือบันไดหินทางขึ้น ซึ่งต้องเดินขึ้นไปไกลพอสมควร



แล้วก็เริ่มเห็นอาคารของปราสาท แต่ว่านี่ยังไม่ใช่ตัวหอหลัก แต่เป็นป้อมด้านนอกที่ชื่อว่าป้อมเทมบิง (天秤櫓)



ซึ่งจะเห็นว่ามีสะพานอยู่ด้านบนเพื่อข้ามไปยังประตูด้านบน ชื่อสะพานโรวกะ (廊下橋)



ซึ่งก็ต้องปีนบันไดอีกเพื่อจะขึ้นไปด้านบน



พอขึ้นมาถึง ตัวสะพานโรวกะและป้อมเทมบิงก็อยู่ตรงหน้านี้แล้ว ทั้งป้อมและสะพานล้วนเป็นของโบราณดั้งเดิมซึ่งได้รับการตั้งให้เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมสำคัญ



จากสะพานมองลงไปข้างล่างเห็นเส้นทางที่เราปีนผ่านมา



เมื่อทะลุผ่านประตูหอเข้ามาเราก็ยังต้องปีนบันไดต่อไปอีก



ซึ่งด้านบนจะเจอกับป้อมไทโกมง (太鼓門櫓) ซึ่งก็ต้องลอดประตูผ่านไป ป้อมนี้ก็เป็นของเก่าดั้งเดิมซึ่งได้รับการตั้งให้เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมสำคัญเช่นกัน



พอลอดประตูนี้ผ่านไป... ก็ยังต้องปีนต่ออีกหน่อย หนทางช่างลำบากจริงๆ



และแล้วหลังจากที่ปีนขึ้นมาไกล หอหลักของปราสาทก็อยู่ตรงหน้านี้แล้ว




ตัวปราสาทดูภายแล้วไม่ได้ต่างจากปราสาทอื่นๆซึ่งเป็นปราสาทสร้างจำลองใหม่นัก

แต่จะเห็นต่างเมื่อเข้าไปด้านใน



ภายในตัวอาคารจะเห็นโครงสร้างเป็นไม้ที่ดูเก่าๆ บันไดที่นี่สูงชัน

 

ภายในเก็บพวกวัตถุโบราณ แต่มีไม่มาก พื้นที่ส่วนใหญ่โล่งๆ ผิดกับปราสาทอื่นที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่วางของเต็มไปหมด แถมบางแห่งยังติดเครื่องปรับอากาศและลิฟต์อีกด้วย ภายในปราสาทนี้ไม่ได้ห้ามถ่ายรูปก็เลยถ่ายมาได้



ชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิว



มองทิวทัศน์ภายนอกจากบนปราสาท เห็นตัวเมืองชัดเพราะที่นี่อยู่สูง




มองไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเห็นทะเลสาบบิวะชัดเจน



กลับลงมาจากด้านบนปราสาท ด้านข้างปราสาทเป็นที่ขายของที่ระลึก



แต่มันแพงมากทั้งนั้นเลย อย่างตุ๊กตาฮิโกเนียน ตัวไม่ใหญ่ก็ยังราคา ๒๕๐๐ เยน น่ารักดีแต่ซื้อไม่ไหว



จากบริเวณรอบๆปราสาทก็เป็นจุดชมวิวที่ดี





พอชมตัวปราสาทเสร็จก็เดินกลับออกไปโดยทางเข้าอีกฝั่งซึ่งเป็นเส้นทางใกล้ที่ควรจะได้เดินมาตอนแรก



ซึ่งพบว่าเป็นทางที่เดินสะดวกกว่าพอสมควร แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะตอนแรกหลงไปทางไกลก็เลยได้เห็นเส้นทางเลียบคลองสวยๆ (พยายามมองในแง่ดี)



พอกลับมายังบริเวณคลองด้านนอกแล้วมองกลับไปก็พบว่าที่แท้มุมนี้ก็สามารถมองเห็นยอดปราสาทได้ด้วย ตอนแรกไม่ได้สังเกตเลย



ก่อนกลับแวะหาอาหารทานแถวๆปราสาท ที่จริงตอนนั้นเวลาเพิ่งจะสี่โมงกว่าๆ ยังไม่ถึงเวลาทานข้าวเย็น แต่เนื่องจากวันนี้ข้าวเที่ยงก็ยังไม่ได้ทานเพราะก่อนหน้านี้สถานที่ที่ไปมาคือโกกาโชวกับโทโยซาโตะเป็นเมืองเล็กๆในชนบท หาร้านอาหารอะไรทานไม่ได้เลย ก็เลยอดมาจนถึงฮิโกเนะ

แถวใกล้ๆปราสาทก็เจออยู่ร้านเดียวคือตรงนี้



ด้านนอกร้านมีบอกว่าขายอุดง แต่ไม่ได้บอกราคา แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะไม่เห็นร้านอื่นเลย ก็เลยเข้ามา ปรากฏว่าแพงถึง ๖๓๐ เยน แต่ก็เปลี่ยนใจไม่ทันแล้วเพราะว่าเดินเข้าร้านไปแล้วก็เลยต้องยอมทานแพงไป แต่ว่าก็อร่อยเหมือนกัน



เมื่อทานเสร็จก็เดินกลับไปยังสถานีรถไฟเพื่อนั่งรถไฟของ JR กลับเกียวโต






เป็นวันที่เหนื่อยยากลำบากมากวันหนึ่ง เพราะเดินเยอะทั้งๆที่เท้าก็เจ็บอยู่ ตอนที่เดินทางราบปกติไม่เท่าไหร่ แต่พอมาเดินปราสาทฮิโกเนะแล้วต้องปีนเขานั้นเป็นอะไรที่ลำบากพอดู แม้จะซื้อรองเท้าใหม่ที่โองากิแล้วก็แค่ช่วยได้ในระดับนึงเท่านั้น

การเดินหนักในวันนี้ส่งผลต่อวันต่อมาด้วย เพราะต้องตามแผนแล้วต้องมีการเดินเยอะเช่นกัน แถมมีปีนเขาด้วย แต่ขาเจ็บอยู่ก็เลยลำบากไม่น้อย แต่การท่องเที่ยวก็ยังจะต้องดำเนินต่อไป

ตามอ่านของวันต่อไป https://phyblas.hinaboshi.com/20130227



โดยรวมแล้ววันนี้เป็นวันที่ค่าใช้จ่ายเยอะมากเนื่องจากนั่งรถไฟสายที่ไม่สามารถใช้ Kansai WIDE area pass ลองคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมดดู

JR นอกเขตที่ใช้พาสได้ : ไมบาระ > โองากิ 650
JR นอกเขตที่ใช้พาสได้ : โองากิ > โฮซึมิ 190
JR นอกเขตที่ใช้พาสได้ : โฮซึมิ > โนโตงาวะ 140 (ซื้อตั๋วถูกสุดแค่เพื่อกลับเข้าเขตที่ใช้พาสได้)
รถบัส : โนโตงาวะ > โกกาโชวคนโดว 280
โอวมิเท็ตสึโดว : โกกาโชว > โทโยซาโตะ 290
โอวมิเท็ตสึโดว : โทโยซาโตะ > ฮิโกเนะ 400

รวมแล้วเป็น 1950 เยน

แต่ว่าส่วนที่ใช้ Kansai WIDE area pass ได้นั่นคือตอนขามาที่นั่งจากเกียวโตไปไมบาระ และขากลับที่กลับจากฮิโกเนะไปเกียวโต
เกียวโต > ไมบาระ 1110
โฮซึมิ > โนโตงาวะ 1110-140=970 (ราคาจริงคือ 1110 แต่จ่ายแค่ 140)
ฮิโกเนะ > เกียวโต 1110

ดังนั้นจำนวนเงินที่ช่วยประหยัดไปได้รวมแล้วคือ 3190

รวมแล้วดูเหมือนจะไม่ได้ใช้คุ้มมากอย่างวันก่อนๆ เพราะไม่ได้นั่งรถด่วนหรือชิงกันเซงเลย แต่ก็ยังถือว่าคุ้มอยู่เพราะพาสนี้ราคา 7000 ใช้ได้ ๔ วัน ดังนั้นตกราคาเฉลี่ยวันละ 1750 เยน แค่ใช้เกินนี้ก็คุ้มแล้ว



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ชิงะ
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทญี่ปุ่น
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

บทความแต่ละเดือน

2024年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2023年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2022年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2021年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

2020年

1月 2月 3月 4月
5月 6月 7月 8月
9月 10月 11月 12月

ค้นบทความเก่ากว่านั้น

ไทย

日本語

中文