φυβλαςのβλογ
บล็อกของ phyblas



ปราสาทอาซึจิ ซากปรักแห่งความรุ่งเรืองในยุคอาซึจิโมโมยามะ
เขียนเมื่อ 2013/02/27 01:09
แก้ไขล่าสุด 2022/10/20 05:38
#จันทร์ 21 ม.ค. 2013

เข้าสู่เช้าวันที่ ๕ ของการเที่ยวญี่ปุ่น หลังจากที่จบการเที่ยวในวันที่ ๔ ไป
https://phyblas.hinaboshi.com/20130225

เช้านี้เรายังคงตื่นแต่เช้ามาขึ้นรถเมล์ตอน 6:13 เพื่อจะไปให้ถึงสถานีรถไฟตอน 6:45 เช่นเคย

การเที่ยววันนี้ก็ยังคงอยู่ในจังหวัดชิงะ (滋賀県) รถไฟขบวนที่ขึ้นวันนี้เหมือนเมื่อวานเป๊ะ คือนั่งรถไฟสายบิวาโกะ (琵琶湖線) เหมือนเดิม แต่รถวันนี้ออกเร็วกว่านิดหน่อยคือออกตอน 6:53 จากที่เมื่อวานเป็น 6:56 เนื่องจากวันนี้เป็นวันจันทร์ เมื่อวานเป็นวันอาทิตย์ รอบรถมีความแตกต่างกันเล็กน้อย



เพียงแต่เป้าหมายต่างจากเมื่อวาน ครั้งนี้ไม่ได้นั่งไปถึงสุดสายที่สถานีไมบาระ (米原駅) แต่จะนั่งไปลงที่สถานีอาซึจิ (安土駅) ในเมืองอาซึจิ (安土町)

สถานที่แรกที่จะไปในวันนี้คือปราสาทอาซึจิ (安土城) ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ซากปรัก แต่ว่ามีคุณค่ามากในทางประวัติศาสตร์เพราะเป็นซากปรักแห่งความรุ่งเรืองในยุคอาซึจิโมโมยามะ (安土桃山時代)

ถ้าจะพูดถึงประวัติของปราสาทนี้คงต้องพูดย้อนยาวไปถึงประวัติศาสตร์ยุคเซงโงกุ (戦国時代)



ยุคสมัยช่วงปี 1336-1573 ที่ญี่ปุ่นเรียกว่าเป็นยุคมุโรมาจิ (室町時代) เป็นสมัยที่บ้านเมืองถูกปกครองโดยรัฐบาลโชกุนอาชิกางะ (足利将軍家)

แต่ช่วงปลายๆยุคการปกครองของรัฐบาลโชกุนได้เสื่อมอำนาจลง ทำให้บรรดาแคว้นต่างๆพากันตั้งตัวเป็นใหญ่ บ้านเมืองเลยตกอยู่ภายใต้ภาวะสงคราม ช่วงยุคนั้นจึงเรียกว่ายุคเซงโงกุ โดยกินเวลาในช่วงท้ายของยุคมุโรมาจิ คือช่วงปี 1467-1573

หนึ่งในบรรดาแคว้นเหล่านั้นก็คือแคว้นโอวาริ (尾張国) ซึ่งก็คือบริเวณเมืองนาโงยะ (名古屋市) ในปัจจุบัน ปกครองโดยโอดะ โนบุนางะ (織田信長)

โนบุนางะได้ใช้ความสามารถในการปราบแคว้นอื่นๆเพื่อสร้างฐานอำนาจที่มั่นคง และในปี 1568 ก็ได้บุกเข้าสู่เมืองหลวงเกียวโตซึ่งเป็นศูนย์กลางที่โชกุนปกครองอยู่และเข้ายึดอำนาจการปกครองจากโชกุน

โนบุนางะได้ถอดโชกุนคนเก่าออกแล้วแต่งตั้งให้อาชิกางะ โยชิเทรุ (足利義昭) เป็นโชกุนคนต่อไปในฐานะหุ่นเชิดของตัวเอง แต่โยชิเทรุก็พยายามขัดขืนอยู่ตลอด จนสุดท้ายในปี 1573 โนบุนางะจึงบังคับให้โยชิเทรุลงจากตำแหน่ง และไล่ออกจากเกียวโต ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคมุโรมาจิและยุคเซงโงกุ

หลังจากนั้นในปี 1576 โนบุนางะได้สั่งให้สร้างปราสาทอาซึจิขึ้น โดยสร้างขึ้นอย่างใหญ่โตสวยงามหรูหรา นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่ปฏิวัติสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่นไปเลย

ปราสาทเสร็จสมบูรณ์ในปี 1579 และโนบุนางะก็ได้ย้ายมาอยู่ ยุคนั้นจึงเรียกว่ายุคอาซึจิ (安土時代)

แต่ต่อมาโนบุนางะได้ถูกอาเกจิ มิตสึฮิเดะ (明智光秀) ซึ่งเป็นทหารคนสนิทหักหลังและเสียชีวิตลงในปี 1582 หลังจากนั้นปราสาทอาซึจิก็ได้ถูกไฟไหม้จากภัยสงครามไปด้วย จึงเป็นการปิดฉากปราสาทที่ยิ่งใหญ่นี้ลงทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จและใช้งานเพียง ๓ ปีเท่านั้น

ต่อมาโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (豊臣秀吉) ก็ได้ล้างแค้นให้กับโนบุนางะโดยการกำจัดมิตสึฮิเดะลงได้สำเร็จ ตอนหลังก็ได้ตั้งตัวเองเป็นโชกุนคนใหม่และสร้างปราสาทฟุชิมิ (伏見城) ขึ้นที่เกียวโต ซึ่งต่อมาในยุคเอโดะปราสาทนี้ก็ถูกทิ้งร้างและเปลี่ยนชื่อเป็นโมโมยามะ (桃山) ดังนั้นในสมัยหลังยุคที่ฮิเดโยชิปกครองอยู่นี้จึงถูกเรียกว่ายุคโมโมยามะ

โดยรวมแล้วช่วงยุค 1573 -1603 จึงถูกเรียกว่ายุคอาซึจิโมโมยามะ (安土桃山時代) ที่มาของชื่อยุคก็มาจากชื่อปราสาทสองแห่งนี้เอง



ปัจจุบันปราสาทอาซึจิตั้งอยู่ในเมืองอาซึจิ (安土町) จังหวัดชิงะ แต่ว่าในปี 2010 เมืองอาซึจิได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโอวมิฮาจิมัง (近江八幡市)

ตำแหน่งเมืองอาซึจิ สีเหลืองเข้มในแผนที่




ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโอวมิฮาจิมัง นี่ก็คืออาณาเขตของเมืองโอวมิฮาจิมังปัจจุบันหลังผนวกเมืองอาซึจิเข้าไป แสดงเป็นพื้นที่สีชมพูเข้มในแผนที่



ในตัวเมืองอาซึจินั้นได้มีการสร้างสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์มากมาย มีพิพิธภัณฑ์อยู่หลายแห่ง

เรานั่งรถไฟมาถึงสถานีอาซึจิตอน 7:41



ทางออกที่ตรวจตั๋วมีเขียนว่า 歴史と文化のまち安土 "เมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อาซึจิ"



ด้านนอกตัวสถานีก็มีเขียน



หน้าสถานีมีรูปปั้นโอดะ โนบุนางะ ผู้สั่งให้สร้างปราสาทอาซึจิขึ้น



อาคารนี้ตั้งอยู่ข้างๆสถานี ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าเอาไว้ทำอะไร มารู้เอาตอนหลังว่าเป็นแค่อาคารครอบอุโมงค์ใต้ดินสำหรับเดินลอดใต้ทางรถไฟ



แต่เนื่องจากไม่รู้เราก็เลยเดินอ้อมไกลไปลอดใต้อุโมงค์อีกแห่งซึ่งต้องเดินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไกลนิดหน่อย



เมื่อลอดผ่านมาอีกด้านแล้วก็เห็นตัวชานชลาชัด เขาไม่ได้กั้นสูงนัก


 
ความจริงแล้วตัวปราสาทอาซึจินั้นอยู่ในฝั่งเดียวกับทางออกสถานี คือฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทางรถไฟ เราไม่จำเป็นต้องลอดอุโมงค์ข้ามฝั่งมาก็ได้

แต่ว่านอกจากเป้าหมายหลักคือตัวปราสาทอาซึจิแล้ว ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเราถือโอกาสแวะมาด้วย ซึ่งมันอยู่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทางรถไฟก็เลยต้องลอดข้ามมา แต่ก็อยู่ไม่ไกลเลยเลือกที่จะแวะมาก่อน

สถานที่ที่ว่านั้นก็คือคฤหาสน์เก่าของตระกูลอิบะ (旧伊庭家住宅) ซึ่งถูกใช้เป็นฉากในอนิเมะเรื่อง 中二病でも恋がしたい! (chuunibyou demo koi ga shitai) หรือเรียกย่อๆว่าจูนิเบียว



โดยที่อนิเมะเรื่องนี้ใช้ฉากส่วนใหญ่อยู่ในเมืองโอตสึ (大津市) ซึ่งอยู่ในจังหวะชิงะเช่นเดียวกับที่นี่ แต่ฉากบางส่วนก็มีการใช้ฉากในเมืองอื่นบ้าง เช่นโรงเรียนของพวกตัวเอกก็ใช้ฉากโรงเรียนในเมืองฮิโนะ (日野町) ซึ่งอยู่ในจังหวัดชิงะเช่นกัน

ส่วนคฤหาสน์เก่าของตระกูลอิบะนี้ถูกใช้เป็นฉากบ้านปู่ย่าของริกกะ ซึ่งปรากฏในตอน ๗ และตอน ๑๒

แต่ที่น่าแปลกคือฉากสถานีซึ่งอยู่ใกล้กับที่นี่ซึ่งพวกตัวเอกใช้เดินทางมากลับเป็นสถานีฮิงาชิมิฮามะ (東美浜駅) ซึ่งอยู่ในจังหวัดฟุกุอิ แถมในเรื่อง ไม่ไกลจากบ้านยังมีชายหาดด้วย ทั้งที่จังหวัดชิงะไม่ได้ติดกับทะเลเลย และฉากของทะเลนั่นก็อยู่ในจังหวัดฟุกุอิ



ระหว่างทางเดินไปนั้นเต็มไปด้วยบ้านแบบเก่าสวยๆมากมาย บรรยากาศก็เงียบๆน่าเดิน



 

แล้วก็มาถึงคฤหาสน์เก่าของตระกูลอิบะ



ตึกนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 1913 ออกแบบโดย วิลเลียม แมเรลล์ วอรีซ (ウイリアム・メレル・ヴォーリズ, William Merrell Vories) เช่นเดียวกับอาคารเก่าของโรงเรียนประถมโทโยซาโตะ (豊郷小学校) ซึ่งเคยเล่าถึงไปก่อนหน้า https://phyblas.hinaboshi.com/20130223

ปัจจุบันถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้เข้าชมได้ในบางช่วง แต่ช่วงที่ไปเป็นช่วงที่ปิดฤดูหนาวอยู่ก็เลยเข้าชมไม่ได้ ซึ่งก็น่าเสียดายเพราะว่าข้างในก็ถูกใช้เป็นฉากในอนิเมะเช่นกัน

มองอีกมุมจากด้านข้าง



ที่มีรถจอดอยู่เยอะเป็นเพราะอาคารนี้ตั้งอยู่ข้างๆสถานรับเลี้ยงเด็กอาซึจิ (安土保育園, อาซึจิโฮอิกุเอง) นั่นเอง





ต่อไปมาดูภาพเปรียบเทียบ

==Ⓐ==



ตอนที่ ๗ : ด้านหน้าบ้าน

==Ⓑ==



ตอนที่ ๗ : ประตูด้านหน้า ไม่ได้ถ่ายมุมเดียวกันไว้แต่จะเห็นว่าลักษณะบันไดและประตูเหมือนกัน

==Ⓒ==



ตอนที่ ๗ : ด้านหลังอาคาร ในเรื่องเป็นพุ่มไม้ แต่ของจริงมีแต่รั้ว

==Ⓓ==



ตอนที่ ๑๒ : อีกภาพหลังบ้าน ภาพถ่ายเป็นภาพเดิม
 


หลังจากนั้นเดินกลับไปยังสถานีรถไฟ ตรงใกล้ๆกับด้านหลังสถานีรถไฟก็พบอาคารหลังนี้



ซึ่งก็คืออาคารพิพิธภัณฑ์เค้าโครงปราสาทอาซึจิ (安土城郭資料館)



ซึ่งภายในมีแบบจำลองปราสาทอาซึจิขนาด 1/20 อยู่ด้วย ซึ่งแบบจำลองนี้เป็นแค่สิ่งที่สร้างขึ้นจากจินตนาการโดยได้จากการรวบรวมหลักฐาน ไม่มีใครรู้รูปร่างที่แท้จริงของปราสาทอาซึจิอย่างชัดเจนเพราะถูกทำลายไปนานกว่า ๔๐๐ ปีแล้ว



แต่เราเจอปัญหาว่าวันนี้เป็นวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันหยุดพิพิธภัณฑ์ของสากลโลก พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในญี่ปุ่นก็ปิดวันจันทร์ ที่นี่เองก็เช่นกัน ดังนั้นจึงน่าเสียดายที่เข้าไปไม่ได้

ความจริงแผนเดิมควรจะได้มาที่นี่ในวันอาทิตย์ซึ่งจะไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเปลี่ยนแผนโดยแทรกแผนเที่ยวจังหวัดฟุกุอิไว้วันเสาร์ แผนเที่ยวอาซึจิก็เลยเลื่อนมาวันจันทร์ เลยเจอปัญหาดังนี้เลย แต่มองในแง่ดีคือประหยัดค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ไป เพราะดูแล้วข้างในก็ไม่ได้ใหญ่อะไรมาก

ถึงอย่างนั้นก็สามารถถ่ายภาพภายในอาคารได้จากด้านนอก ก็พอเห็นบางส่วน



แล้วป้ายด้านหน้าสถานีก็มีรูปแบบจำลองปราสาทอาซึจิตั้งแสดงไว้ด้วย ไม่ต้องเข้าไปชมของจริงข้างในได้เห็นแค่นี้ก็ยังดี




ข้างๆกันนั้นมีป้อมซูโม่ (相撲やぐら) ข้างๆมีป้ายอธิบายว่าเมืองอาซึจินี้เป็นต้นกำเนิดของซูโม่สมัยใหม่ ดังนั้นจึงได้สร้างป้อมนี้ไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงประเพณีนี้



ได้เวลาลอดอุโมงค์กลับไปยังฝั่งด้านหน้าสถานีเพื่อเดินต่อไปยังปราสาทอาซึจิแล้ว



ปราสาทอาซึจินั้นอยู่ไกลจากสถานีรถไฟพอสมควร ต้องใช้เวลาเดินประมาณครึ่งชั่วโมงเลยกว่าจะถึง แต่ก็ยังถือว่าเป็นระยะที่เดินได้อยู่ ยังไงก็ต้องเดินเท่านั้นเพราะที่นั่นรถเมล์น้อย ที่สถานีสามารถหยิบแผนที่ได้ ก็เดินตามแผนที่ไปเรื่อยๆ

จะเช่าจักรยานไปก็ได้ แต่ก็คงไม่สะดวกเพราะอยากค่อยๆเดินไปถ่ายรูปไปมากกว่า



ระหว่างทางเดินไป







ตรงนี้คือบริเวณที่เป็นซากสิ่งก่อสร้างของพวกชาวตะวันตกที่มาเผยแพร่ศาสนาซึ่งเคยมาพักอยู่ที่นี่เป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่ปราสาทอาซึจิถูกทำลาย ที่นี่เองก็ได้ถูกทำลายไปด้วย ปัจจุบันก็เป็นสวนสาธารณะอย่างที่เห็น
 



พอเดินผ่านตรงนี้ไปบ้านคนก็ยิ่งเบาบางลง เห็นเป็นทุ่งโล่งๆมากขึ้น





ผ่านตรงนี้มาก็เริ่มเห็นภูเขาที่ปราสาทอาซึจิตั้งอยู่



ป้ายเขียนว่าซากปราสาทอาซึจิ (安土城址)



ทางเข้าภูเขา



แผนที่บริเวณ



ทางเข้าบริเวณ จะเข้าไปต้องจ่ายค่าเข้า ๕๐๐ เยน



แล้วเขาก็จะให้แผ่นพับซึ่งมีแผนที่พร้อมกับข้อมูลของตัวสถานที่มา




พอเข้าไปก็ต้องปีนบันไดขึ้นไปเรื่อยๆ ทางเดินเป็นบันไดหินซึ่งถูกทำอย่างดีเลยไม่ลำบากมาก แต่ปัญหาคือเรากำลังเจ็บเท้าอยู่อย่างมากจากการเดินเที่ยวมาหลายวัน ก็เลยลำบากไม่น้อยในการเดินขึ้นครั้งนี้





ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆพอหันกลับลงไปมองข้างล่างก็เห็นว่าเราปีนขึ้นมาไม่น้อยแล้ว





ขึ้นมาถึงจุดหนึ่งก็จะเจอทางแยก ทางหนึ่งเป็นทางลง อีกทางหนึ่งไปยังบริเวณอาคารหลักของปราสาท



ซึ่งมันก็เป็นทางเดินขึ้นไปเรื่อยๆต่ออีก แต่ไม่ชันมากไหวอยู่






แล้วก็ขึ้นมาถึงส่วนหอหลักของปราสาท ซึ่งจะเห็นว่ามีแต่ซาก



ตรงนี้เขียนเกี่ยวกับโครงสร้างของอาคารไว้



จากตรงนี้เห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้สวยงาม





ข้างๆหอหลักเป็นวัดที่โทโยโตมิ ฮิเดโยชิมาสร้างขึ้นภายหลังจากที่ปราสาทอาซึจิถูกทำลายไปแล้ว เพื่อเป็นที่ระลึกถึงโอดะ โนบุนางะ




เมื่อชมบริเวณหอหลักเสร็จก็เดินย้อนกลับออกไปแล้วเดินไปตามทางแยกอีกทางเพื่อไปยังทางออก



ระหว่างทางตรงนี้ก็เจอซากสิ่งก่อสร้างอีก นั่นคือวัดโซวเคง (摠見寺)  ซึ่งเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นมาบนภูเขานี้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีปราสาทอาซึจิ และก็ถูกไฟไหม้เสียหายไปก่อนนานแล้ว



แต่ยังคงเหลือเจดีย์ ๓ ชั้นไว้อยู่ ปัจจุบันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญ



แถวนี้ยังเห็นหิมะตกค้างอยู่เลย ถ้ามาสักไม่กี่วันก่อนคงจะได้เห็นเต็มไปด้วยหิมะปกคลุมสวยกว่านี้ ตอนนี้เหลือแค่ตุ๊กตาหิมะที่ไม่รู้ใครมาปั้นทิ้งเอาไว้



จากตรงนี้มองทิวทัศน์ข้างล่างก็สวยงามมาก



ทะเลสาบที่เห็นนี้คือทะเลสาบนิชิ (西の湖) เป็นทะเลสาบที่อยู่ทางทิศตะวันตกของปราสาทอาซึจิ



ถัดไประหว่างทางลงยังเจอซุ้มประตูนิโอว (仁王門) ประตูซึ่งมีเทพยักษ์เฝ้าอยู่ ซึ่งก็เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญเช่นกัน ประตูที่มีเทพยักษ์ในลักษณะอย่างนี้ยังพบตามวัดต่างๆได้อีกหลายแห่งในญี่ปุ่น




แล้วก็เดินกลับลงไปจนถึงทางเข้า เวลานั้นก็ประมาณสิบโมงแล้ว จากนั้นก็ใช้เวลาอีกประมาณครึ่งชั่วโมงกลับถึงสถานีรถไฟราวๆสิบโมงครึ่ง

ที่สถานีมีร้านขายของที่ระลึก แต่ว่าแพงก็เลยไม่ได้ซื้ออะไรเลยเช่นเคย



แล้วเราก็ขึ้นรถไฟเพื่อไปยังเป้าหมายต่อไปคือสถานีโอวมิฮาจิมัง (近江八幡駅) ซึ่งอยู่สถานีข้างๆกันนี้เอง

แต่จังหวะที่ไปถึงสถานีนั้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ สถานีนี้มีรถไฟผ่านประมาณครึ่งชั่วโมงต่อคัน แต่ตอนที่ไปถึงรถไฟเพิ่งออกไปไม่นาน จึงต้องรอนาน แต่ว่ารถที่ไปในทิศตรงกันข้ามกันกลับเพิ่งมาพอดีจังหวะนั้นเลยนั่งรถไฟเล่นย้อนไปลงที่สถานีข้างๆซึ่งอยู่ทิศตรงกันข้ามนั่นคือสถานีโนโตงาวะ (能登川駅) จากนั้นค่อยรถรถไฟอยู่ที่นั่นแทน เป็นการนั่งรถไฟเล่นที่ไม่มีอะไร แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลา สุดท้ายก็ไปถึงสถานีโอวมิฮาจิมังตอน 10:57 ติดตามอ่านกันต่อได้ https://phyblas.hinaboshi.com/20130301



-----------------------------------------

囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧囧

ดูสถิติของหน้านี้

หมวดหมู่

-- ประเทศญี่ปุ่น >> ชิงะ
-- ท่องเที่ยว >> ตามรอย
-- ท่องเที่ยว >> ปราสาท☑ >> ปราสาทญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> ภูเขา
-- ท่องเที่ยว >> รถไฟ
-- ประวัติศาสตร์ >> ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น
-- ท่องเที่ยว >> ทะเลสาบ

ไม่อนุญาตให้นำเนื้อหาของบทความไปลงที่อื่นโดยไม่ได้ขออนุญาตโดยเด็ดขาด หากต้องการนำบางส่วนไปลงสามารถทำได้โดยต้องไม่ใช่การก๊อปแปะแต่ให้เปลี่ยนคำพูดเป็นของตัวเอง หรือไม่ก็เขียนในลักษณะการยกข้อความอ้างอิง และไม่ว่ากรณีไหนก็ตาม ต้องให้เครดิตพร้อมใส่ลิงก์ของทุกบทความที่มีการใช้เนื้อหาเสมอ

สารบัญ

รวมคำแปลวลีเด็ดจากญี่ปุ่น
มอดูลต่างๆ
-- numpy
-- matplotlib

-- pandas
-- manim
-- opencv
-- pyqt
-- pytorch
การเรียนรู้ของเครื่อง
-- โครงข่าย
     ประสาทเทียม
ภาษา javascript
ภาษา mongol
ภาษาศาสตร์
maya
ความน่าจะเป็น
บันทึกในญี่ปุ่น
บันทึกในจีน
-- บันทึกในปักกิ่ง
-- บันทึกในฮ่องกง
-- บันทึกในมาเก๊า
บันทึกในไต้หวัน
บันทึกในยุโรปเหนือ
บันทึกในประเทศอื่นๆ
qiita
บทความอื่นๆ

บทความแบ่งตามหมวด



ติดตามอัปเดตของบล็อกได้ที่แฟนเพจ

  ค้นหาบทความ

  บทความแนะนำ

ตัวอักษรกรีกและเปรียบเทียบการใช้งานในภาษากรีกโบราณและกรีกสมัยใหม่
ที่มาของอักษรไทยและความเกี่ยวพันกับอักษรอื่นๆในตระกูลอักษรพราหมี
การสร้างแบบจำลองสามมิติเป็นไฟล์ .obj วิธีการอย่างง่ายที่ไม่ว่าใครก็ลองทำได้ทันที
รวมรายชื่อนักร้องเพลงกวางตุ้ง
ภาษาจีนแบ่งเป็นสำเนียงอะไรบ้าง มีความแตกต่างกันมากแค่ไหน
ทำความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยจากประวัติศาสตร์ความเป็นมา
เรียนรู้วิธีการใช้ regular expression (regex)
การใช้ unix shell เบื้องต้น ใน linux และ mac
g ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียง "ก" หรือ "ง" กันแน่
ทำความรู้จักกับปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง
ค้นพบระบบดาวเคราะห์ ๘ ดวง เบื้องหลังความสำเร็จคือปัญญาประดิษฐ์ (AI)
หอดูดาวโบราณปักกิ่ง ตอนที่ ๑: แท่นสังเกตการณ์และสวนดอกไม้
พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณปักกิ่ง
เที่ยวเมืองตานตง ล่องเรือในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
ตระเวนเที่ยวตามรอยฉากของอนิเมะในญี่ปุ่น
เที่ยวชมหอดูดาวที่ฐานสังเกตการณ์ซิงหลง
ทำไมจึงไม่ควรเขียนวรรณยุกต์เวลาทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ไทย

日本語

中文